VIB007 เขียน:
อ่านดูดีๆ
พี่ฉัตรขาดทุนนา
คอลัมน์: มันนี่ทิปส์: อวสาน Value Investor!!
โพสต์ทูเดย SECTION A 07/03/2009 07:34:06
สวลี ตันกุลรัตน์
สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง แล้วนับประสาอะไรกับชายสูงอายุอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะไม่รู้จักกับคำว่า ขาดทุน (อีกครั้ง) เพราะในปี 2551 บริษัท เบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ ของเขา มูลค่าหุ้นลดลง 9.6% จากปี 2550 นับเป็นการขาดทุนครั้งที่ 2 และเป็นครั้งที่ย่ำแย่ที่สุดในรอบ 44 ปี (ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2544 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ช็อกโลก 9/11 เบิร์กไชร์ฯ ขาดทุน 6.2%)
นอกจากนี้ บัฟเฟตต์ ประธานบริษัท เบิร์กไชร์ฯ ในฐานะนักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ในโลก การลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investing) และสุดยอด ปรมาจารย์ของนักลงทุนที่เรียกตัวเองว่า Value Investor ยังยอมรับ (ในสารถึงผู้ถือหุ้น) ด้วยว่า ในปี 2551 ผมทำบางอย่างที่ซื่อบื้อ ผมทำผิดพลาดครั้งใหญ่อย่างน้อยหนึ่งอย่าง และยังมีความผิด เล็กๆ น้อยๆ อีกหลายอย่าง ที่สร้างความเสียหายเช่นเดียวกัน
ตราบาปที่บัฟเฟตต์ต้องก้มหัวยอมรับความผิดพลาดที่เขาทำคือ เขาซื้อหุ้นบริษัท โคโนโคฟิลลิปส์ (บริษัทด้านพลังงานขนาดใหญ่) ในช่วงที่ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติพุ่งขึ้นเกือบแตะจุดสูงสุด ด้วยความเชื่อว่าราคาน้ำมันสูงๆ จะเป็นผลดีกับบริษัท แต่เขากลับทำให้เบิร์กไชร์ฯ เสียหายไปหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ เพราะนอกจากราคาน้ำมันจะไม่วิ่งต่อแล้ว ยังปักหัวลงอย่างรุนแรงอีกด้วย
ไม่เฉพาะปรมาจารย์ของ Value Investor เท่านั้น ที่ออกอาการเป๋ๆ ในปีที่ผ่านมา แต่นักลงทุนในแนว Value Investing หรือที่เรียกว่า VI ในประเทศไทยหลายคนก็อ่วมไปไม่น้อย โดยเฉพาะถ้าวัดจากดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง 10 ปีผ่านไป วันนี้ก็ยังย่ำอยู่แถวๆ 400 จุด
ผู้จัดการกองทุนหุ้นหลายคนยังยอมรับว่า ปีนี้อาจจะไม่ใช่ปีของแนว Buy and Hold เพราะราคาหุ้นย่ำอยู่กับที่ ขึ้นไปได้สักหน่อยก็ถอยหลังกลับมาอยู่ที่เดิม ทำให้ต้องหันมาซื้อๆ ขายๆ ทำกำไรจากความผันผวนของราคาให้มากขึ้น
หรือนี่จะเป็นจุดจบของ Value Investor!
อย่าปล่อยความสงสัยให้ค้างคาใจ ต้องไปถาม Value Investor ตัวจริงเสียงจริงว่า ในวันนี้พวกเขายัง สบายดี อยู่ไหม
แต่ก็ยังสบาย
เรารู้จัก โย หรือ YOYO สมาชิกในเว็บไซต์ thaivi.com ที่รวบรวมคนรักการลงทุนในแนวทาง Value Investing เขาตั้งแต่ยังเป็น Value Investor รุ่นเยาว์ ที่โดดเด่นด้วยผลตอบแทนที่เขาได้รับจากการลงทุนตามวิถีทางของ Value Investor เพราะเขาทำให้เงินลงทุน 1.7 ล้านบาท กระโดดขึ้นมาเป็น 17 ล้านบาท ภายในเวลาเพียง 4 ปี
แต่ในปี 2551 เขาก็ไม่ได้ต่างไปจากนักลงทุนคนอื่นๆ เพราะเขาขาดทุน 50%
ปีที่แล้วก็ลดลงไปตามตลาด แต่ก็ยังสบายๆ อยู่ ไม่ได้เดือดร้อนอะไร และเพื่อนๆ หลายคนที่ลงทุนในแนว Value Investing ก็ไม่มีใครเดือดร้อน แม้ว่ามูลค่าพอร์ตจะลดลงไป 30-40% แต่ไม่ว่าจะปรับลดลงอย่างไร ก็ยังมีกำไรสะสมอยู่
นอกจากนี้ เขายังรื่นรมย์อยู่กับอัตราเงินปันผล เพราะในปี 2551 อัตราเงินปันผลเฉลี่ยอยู่ประมาณ 10% แต่ปีนี้ที่ราคาหุ้นลดลง อัตราเงินปันผลก็ขึ้นไปถึง 15% ไปเจอบางตัวได้ถึง 20% ซึ่งความไม่ สมเหตุสมผลของตลาดก็ทำให้อัตราเงินปันผลเพิ่มขึ้น
เขาบอกว่า สิ่งที่ทำให้เขายัง สบายๆ อยู่ เป็นเพราะการลงทุนในแนวของ Value Investing จะคัดเลือกธุรกิจที่น่าจะดี และพอเกิดวิกฤตพวกหุ้นที่ถือไว้ก็อาจจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่บางบริษัทยังสามารถทำกำไรได้เหมือนเดิม และถ้าตัวใดได้รับผลกระทบมากหน่อยก็อาจจะขายออกไปบ้าง
ช่วงที่หุ้นมีการเปลี่ยนแปลงมากๆ ก็ทำให้เกิดโอกาส เพราะแม้ว่าราคาหุ้นที่ถืออยู่ปรับลดลง แต่บางครั้งหุ้นที่เล็งเอาไว้ แต่ราคาแพงมาก พอราคาลดลงมาแรงก็เข้าไปซื้อเก็บไว้ เพราะนับจากนี้ไปอีก 3-5 ปี คนที่ลงทุนวันนี้น่าจะได้ผลตอบแทนดีเหมือนคนที่ลงทุนในช่วงวิกฤตปี 2540
ล้างพอร์ตเก็บเงินสด
นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ ผู้เขียนหนังสือเรื่อง วัดมูลค่าหุ้นด้วยตัวคุณเอง ที่แม้จะออกตัวว่า เขาไม่ใช่นักลงทุนมืออาชีพ เพียงแต่ชอบออมเงินไว้ในหุ้นเท่านั้น และไม่ได้เรียกตัวเองว่า Value Investor ได้อย่างเต็มปากเต็มคำนัก แต่เขาก็เป็นคนหนึ่งที่ลงทุนตามแบบ Value Investing และไม่เห็นด้วยกับการซื้อขายเก็งกำไร
ผมขายหุ้นออกไปหมดแล้วตั้งแต่เดือนมิ.ย. 2551 ออกไปลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ และเป็นครั้งแรกในชีวิตที่เปิดบัญชีเงินฝากประจำ
นรินทร์ เล่าว่า โชคอยู่ข้างเขา เพราะเขาตัดสินใจขายหุ้นที่มีการเคลื่อนไหวตามตลาดมากๆ ออกไป เมื่อตอนที่มีข่าวว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 200 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราเงินเฟ้อจะมากกว่า 10%
จำได้ว่าเวลาเงินเฟ้อเป็นตัวเลข 2 หลัก ตลาดหุ้นจะอยู่ไม่ได้ ก็เลยขายหุ้นบางส่วนออกไป และอีกส่วนหนึ่งถือไว้ จนกระทั่งรู้สึกว่าเศรษฐกิจจะแย่ลงจึงตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นโชคของผม เพราะแม้ว่าตลาดหุ้นจะไม่ได้ลดลงจากเหตุผลที่ผมคิด แต่สิ่งที่ตัดสินใจทำไป ผลที่ออกมากลายเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
และตอนนี้เขาเริ่มหันกลับมามองตลาดหุ้นอีกครั้ง เพียงแต่ยังไม่รีบร้อน เพราะเชื่อว่าความเสี่ยงในตลาดหุ้นยังมีอยู่มาก
ภาพเศรษฐกิจที่ชัดเจนยังไม่เผยออกมา เพราะฉะนั้นถ้าจะเข้าไปซื้อเต็มตัวตอนนี้ก็ยังเสี่ยงอยู่ นรินทร์ กล่าว
ชีวิตยังเหมือนเดิม
ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ Value Investor ที่ดำรงชีวิตด้วยเงินปันผลจากหุ้นเพียงตัวเดียวที่เขาเลือกลงทุนมานานกว่า 7 ปี และวันนี้เขาก็ยังสบายใจกับหุ้นตัวเดิม แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจะไม่เหมือนเดิม
ผมยังถือหุ้นตัวเดิม จำนวนหุ้นเท่าเดิม และใช้ชีวิตเป็นปกติเหมือนเดิม
พร้อมกับบอกว่า เงินปันผลจากผลประกอบการในปี 2551 ยังดีอยู่ และมากกว่าเงินปันผลในปี 2550 อีก เพราะในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2551 บริษัทเขาทำไว้ดีมาก เพราะฉะนั้นในไตรมาส 4 ที่ยอดขายตกลงมาบ้าง ก็ไม่มีผล ขณะที่ราคาหุ้นปรับลดลงไป 5 บาท แต่ได้เงินปันผล 3.65 บาท เพราะฉะนั้นเท่ากับว่ามูลค่าลดลงไปแค่บาทเศษเท่านั้น
บริษัทก็ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจบ้าง อาจจะลด 10-15% เป็นไปได้ แต่ไม่ได้รับผลกระทบมากจนติดลบ และก็ยังไม่คิดที่จะขายหุ้นออกไป เพราะราคาที่ลงทุนยังต่ำกว่าราคาในกระดาน และเงินปันผลที่ประมาณ 4 บาท ก็คิดเป็นอัตราเงินปันผลเกือบ 10% เศรษฐกิจแย่ แต่บริษัทก็ยังมั่นคง เลยไม่ได้สนใจอะไร
นอกจากนี้ ฉัตรชัย ยังแถมท้ายด้วยว่า โทรศัพท์ไปคุยกับพนักงานบริษัทแล้ว เสียง (พนักงาน) ยังดีอยู่ แปลว่ายังโอเค
มองหาหุ้นดีๆ ทุกวัน
อนุรักษ์ บุญแสวง ที่บอกว่า เขาเป็น Value Investor ทั้งวิธีการลงทุนและวิถีชีวิต
ตอนต้นปี 2551 ทำกำไรไว้เกือบ 60% เพราะฉะนั้นปีที่แล้วทั้งปีก็เลยมีกำไรอยู่นิดหน่อย ประมาณ 3% และอาจจะมีโชคอยู่บ้าง เพราะซื้อหุ้นถูกตัว
อนุรักษ์ บอกว่า ตอนนี้เขายังเก็บเงินสดส่วนหนึ่งไว้รอความชัดเจนของตลาด
ตอนนี้ผมก็ยังทำเหมือนเดิม คือ พยายามทำการบ้าน ไปค้นหา ไปมองหาหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรเป็น มองหาหุ้นดีๆ อยู่ทุกวัน ซึ่งพบว่ามันมีอยู่เยอะมาก แต่ในตลาดยังมีความไม่ชัดเจนอยู่เยอะ
เขาพบว่า หลักการของ Value Investing ไม่ได้ Perfect สำหรับทุกสถานการณ์ เพราะมันมีจุดอ่อน ซึ่งเมื่อเข้าใจจุดอ่อนของมันแล้วเราก็ต้องพยายามหลีกเลี่ยง
จุดอ่อนที่อนุรักษ์พบ คือ การลงทุนในแบบ Value Investing จะถือหุ้นไว้ 100% ทำให้เมื่อเกิดภาวะตื่นตระหนกในตลาดหุ้นจะเจ็บตัว เพราะออกไม่ทัน ทำให้เกิดความเสียหายสูง เงินจม แต่จะหลีกเลี่ยงเหตุการณ์แบบนี้ได้หรือไม่ ก็คงยาก เพราะถ้าเรารอจังหวะซื้อๆ ขายๆ มันมีความไม่แน่นอนสูง
เขาบอกว่า ในอนาคตอาจจะไม่ทุ่มสุดตัว ไม่มองโลกในแง่ดีเกินไป จะเก็บเงินสดไว้เผื่อทางหนีทีไล่เอาไว้บ้าง
นอกจากนี้ อนุรักษ์ยังฝากถึง Value Investor รุ่นใหม่ๆ ว่า ในชีวิตการลงทุนมันต้องมีพายุฝนบ้าง เป็นฤดูกาล แต่ถ้าเราเข้าใจ ไม่ทุกข์ไม่ร้อน รอจนกระทั่งเหตุการณ์ผ่านไป ทุกอย่างจะกลับมาเหมือนเดิม
ความผิดเพียงครั้ง
ดูเหมือนว่า Value Investor ทั้ง 4 คน ที่แม้จะมีวิธีปฏิบัติแตกต่างกัน แต่ทุกคนก็อยู่รอดได้อย่างสบายๆ แม้ว่าหลายๆ คนในตลาดหุ้นจะไม่ค่อยสบาย และทั้ง 4 คนก็พร้อมที่จะปกป้อง ความผิดพลาด ของบัฟเฟตต์ ในฐานะที่บัฟเฟตต์เป็นคน ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่ต้องมีการผิดพลาดบ้าง
ถ้าไปดูตัวเลขจะเห็นว่าเขาขาดทุนน้อยมาก เมื่อเทียบกับดัชนี S&P 500 เพราะฉะนั้นเขายังชนะตลาดอยู่มาก และเขาก็เป็นเหมือนคนทั่วๆ ไป ที่ต้องมีผิดพลาดบ้าง แต่ภาพใหญ่ของเขายังไม่ผิดพลาด ยังเหมือนเดิม และวิกฤตครั้งนี้อาจจะทำให้บัฟเฟตต์โดดเด่นขึ้นมากกว่าเดิมก็ได้ เพราะเขายังสามารถยืนหยัดอยู่ได้ในขณะที่คนอื่นๆ ขาดทุนหนักกว่า อนุรักษ์ กล่าว
เช่นเดียวกับ ฉัตรชัย ที่บอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเบิร์กไชร์ฯ ในปีที่ผ่านมาเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ซึ่งเทียบไม่ได้เลยกับตลอดระยะเวลา 44 ปีที่ผ่านมา
เป็นใครก็มีโอกาสพลาดได้ แต่โดยเฉลี่ยแล้ว Value Investing เป็นแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด ฉัตรชัย ยืนยัน
วิธีการลงทุนของเขายังใช้ได้ ต้องดูกันระยะยาว เขาเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก จะมามองกันปีเดียว แล้วบอกว่าเขาผิดไม่ได้ และจะมีสักกี่คนที่มั่นคงอย่างบัฟเฟตต์ นรินทร์ กล่าว
พร้อมกับยกย่องบัฟเฟตต์ว่า ถ้าเขาคิดว่าเขาคิดผิด เขาจะยอมรับออกมาตรงๆ
และคงไม่ใช่แค่ 4 คนนี้เท่านั้นที่จะมองข้ามความผิดพลาดของบัฟเฟตต์ แต่หากเราเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นของเบิร์กไชร์ฯ ที่มองที่ผลตอบแทนสะสม (รายละเอียดตามตาราง) เราก็จะรู้ว่า Value Investing คือคำตอบสำหรับการลงทุนระยะยาวจริงๆ
นี่คือจุดเริ่มต้น ไม่ใช่จุดจบ
อนุรักษ์ บอกว่า ถ้าดูจากประวัติศาสตร์จะพบว่า ช่วงที่ตลาดหุ้นปรับลดลงมากๆ ใน 4-5 ปีต่อจากนั้นจะสร้างเศรษฐีใหม่ขึ้นมามากมาย เช่นเดียวกันในเวลานี้ ที่มีหุ้นดีๆ ในสายตาของ Value Investor จำนวนมาก
อย่ามองว่าขาดทุนแล้วจะขาดความมั่นใจ เหมือนที่คนส่วนใหญ่มอง เพราะจะทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ และถ้ามาขายหุ้นตอนนี้มันก็คือจุดจบจริงๆ เพราะจะไม่เหมือนอะไรเลย ทั้งๆ ที่ถ้าอดทนถือหุ้นดีๆ ไปอีก 3-4 ปี หุ้นก็จะกลับมาที่เดิม และอีกสักพักก็อาจจะได้กำไรเยอะแยะ
หลักการของ Value Investing คือ หาหุ้นที่ราคาต่ำๆ และห้ามขาย ซึ่งมันต้องอดทน แต่มันมีคนทำได้ไม่มาก เพราะมันฝืนธรรมชาติของมนุษย์ ที่มีความกลัว เพราะฉะนั้น Value Investor ที่จะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับการควบคุมสภาพจิตใจ
บัฟเฟตต์ เปรียบเทียบภาวะการลงทุนในปีที่ผ่านมาว่า นักลงทุนต่างชุ่มโชกไปด้วยเลือดและเต็มไปด้วยความสับสน เหมือน นกตัวจ้อย ที่พลัดหลงเข้ามาในสนามแบดมินตันที่กำลังขับเคี่ยวกันอย่างเมามัน
แต่ถ้าเราเป็น นกตัวจ้อย ที่มองการแข่งขันอยู่บนขอบหลังคาสนามแบดมินตัน นี่จะไม่ใช่จุดจบของเรา แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่สวยงามต่างหาก