กราบสวัสดีปีใหม่ปี 2562 พี่น้องชาวสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่าทุกท่าน กราบสวัสดีอาจารย์ ดร.นิเวศน์ อ.ไพบูลย์ พี่ปรัชญา พี่ครรชิต ลุงขวด เฮียคลายเครียด พี่หมอ jfk พี่กะละมัง พี่พี พี่วัฒน์ พี่หมอพงศ์ศักดิ์ พี่หลิน พี่หนิง พี่กุ๊ก พี่หมอสามัญชน พี่พรรณ พี่ไก่ พี่มน พี่บู พี่วิบูลย์ พี่นัน พี่ตี้ พี่จรัญ พี่แมว พี่บัวดิน หมอหนึ่ง พี่เวป พี่ฉัตร พี่ชาย พีเจ๋ง พี่ประชา พี่นริศ พี่โดม พี่พอใจ พี่นุช พี่อมร พี่วรรณ พี่หน่อง พี่เล็ก น้องๆ ทีวีไอทุกคน ขอคุณพระศรีรัตนตรัย คุ้มครองให้ทุกท่านปลอดภัย มีความสุขกาย สบายใจ ตลอดปี ไม่ว่าตลาดหุ้นจะเป็นเช่นไรครับ
แค่วันแรกที่เปิดซื้อขายหุ้นของปี 2561 ตลาดหุ้นไทยก็สามารถทำลายสถิติปิดสูงสุดตลอดกาลที่ 1753.73 จุด ได้อย่างง่ายดาย และยังคงเดินหน้าต่อจนสามารถทำจุดสุงสุดใหม่ตลอดกาลที่
1852.51จุด ในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะค่อยๆย่อตัวลงจนแตะ 1600 จุดในช่วงกลางปี แล้วเด้งขึ้นเกือบๆ แตะ 1800 จุดอีกครั้งในต้นเดือนตุลาคม ก่อนกลับมาตกหนักอีกครั้งในช่วงปลายปี โดยเฉพาะเดือนธันวาคมที่ปกติจะไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวมาก แต่ปี 2561 ดัชนีกลับตกหนัก สำหรับนักลงทุนปีนี้ ใกล้สิ้นปี ความรู้สึกเหมือนใกล้จะสิ้นใจ จบปีดัชนี SET ปิดที่
1563.88 จุด ลดลง 190 จุดหรือ 10.82 % หากคิดรวมปันผล หรือวัดจาก SET TRI ให้ผลตอบแทนติดลบ
8.08 % ส่วนดัชนีตลาดหุ้น MAI ซึ่งเป็นหุ้นขนาดเล็กลดลงถึง
34.04 % เมื่อดูในรายละเอียดจากหุ้นประมาณ 698 ตัวในตลาด มีหุ้นที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวกแค่ 16 % เท่านั้น ที่เหลือขาดทุนหมด ไม่มากก็น้อย และหากสังเกตสักนิดหุ้นที่มีน้ำหนักต่อดัชนีสูงบางตัวเช่น PTT PTTEP HMPRO BDMS GULF ให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก แต่ดัชนีหุ้นรวมกลับติดลบ 10.82 % นี่แสดงว่าหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดลดลงมากกว่าดัชนีมาก
สาเหตุที่ทำให้ปี 2561 ตลาดหุ้นให้ผลตอบแทนไม่ดี มีปัจจัยจกดดันทั้งจากภายนอกประเทศนั่นคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาที่เปิดฉากโดยประธานาธิบดี Donald Trump กับประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศจีน รวมถึงกระแสเงินต้นทุนถูกเริ่มหมดไป Fed เริ่มมีการปรับขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงการลดเลิก QE ของธนาคารกลางต่าง ๆ นอกจากนั้นตลาดหุ้นไทยยังเผชิญแรงเทขายเกือบๆ 3 แสนล้านจากนักลงทุนต่างประเทศ แต่ยังดีที่มีแรงรับจากกองทุนและนักลงทุนรายย่อย ทำให้ดัชนีไม่ติดลบไปมากกว่านี้
มีหุ้น IPO เข้าใหม่ในปีนี้ลดลงเหลือประมาณ 18 บริษัท และมูลค่าตลาดรวม Market capital ณ.วันสิ้นปีของตลาดหุ้นไทยทั้งตลาด SET และ MAI รวมกันประมาณ
16.24 ล้านล้านบาท
เปรียบเทียบกับตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ ปี 2561 เป็นปีที่ไม่ดีสำหรับนักลงทุน ดัชนีทั่วโลกตกพร้อมเพรียงกัน แต่อัตราการตกไม่เท่ากัน บางประเทศที่มีปัจจัยกระทบเฉพาะตัวเช่น จีน อินเดีย ตุรกี ดัชนีจะตกมากกว่าประเทศอื่น โดยเฉพาะตลาดหุ้นจีน รวมถึงตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลงถึง 24 % และ 15 % ตามลำดับจากประเด็นสงครามการค้ากับอเมริกา และนี่ทำให้กองทุนไทยที่ไปลงทุนในประเทศเหล่านี้มีผลการดำเนินงานที่แย่ตามไปด้วย ส่วนผลการดำเนินงานของกองทุนรวมไทย กองทุนที่มีผลดำเนินการดีไปหาแย่ตามลำดับดังนี้
กองทุนอสังหา> กองทุนตราสารหนี้> กองทุน set 50 >กองทุนต่างประเทศ > กองทุนหุ้นขนาดกลางและเล็ก
เศรษกิจไทยในปี 2561 ขยายตัวในระดับที่ดีมากในรอบหลายๆ ปี โดย GDP ขยายตัวประมาณร้อยละ
4.2 แต่การขยายตัวยังกระจุกตัวในบางกลุ่ม ธุรกิจที่ไปได้ดีเช่น ธุรกิจยานยนต์ การส่งออก ส่วนธุรกิจท่องเที่ยวยังเติบโตแต่ในอัตราที่ชะลอตัวลง จากปัญหานักท่องเที่ยวจีนลดลงจากปัญหาเรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต ส่วนกลุ่มที่ยังไม่ดีคือสินค้าเกษตร ราคาพืชผลหลายตัวยังตกต่ำ เช่น ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อย ทำให้กำลังซื้อในต่างจังหวัดย่ำแย่ ส่วนการลงทุนภาครัฐซึ่งเป็นความหวังในการกระตุ้นเศรษกิจเริ่มส่งผลต่อปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์บ้าง แต่โดยรวมการใช้จ่ายงบประมาณยังล่าช้ากว่าแผนงานมาก ทั้งที่จะเกิดการเลือกตั้งใหม่ในปี 2562 ซึ่งอาจทำให้แผนงานเหล่านี้ล่าช้าไปอีก
พอร์ตลงทุนส่วนตัวผม ให้ผลขาดทุนในปี 2561 โดยแพ้ผลตอบแทนตลาดรวมหรือ SET TRI เล็กน้อย (ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปผมจะใช้ SET TRI เป็น Benchmark เปรียบเทียบผลการลงทุน ) ซึ่งนับว่าน่าพอใจ เมื่อพิจารณาจากความจริงที่ว่า หุ้นขนาดกลางและเล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผมลงทุนมาตลอดหลายปี ราคาลดลงอย่างมาก หลายๆตัวลดลง 70 % การลดลง 40-50 % เป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ดัชนี SET ลดลงแค่ 10.82 % เท่านั้น เหตุผลที่พอร์ตลดลงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งเพราะผมได้กระจายการลงทุนไปต่างประเทศประมาณ 10 % ส่วนหนึ่งเกิดจากการถือหุ้นที่ P/E ต่ำกว่าตลาดมากอยู่แล้ว ทำให้ราคาไม่ลดลงมาก และสุดท้ายคือหุ้นที่ถือบางตัวยังให้ผลตอบแทนที่เป็นบวก ชดเชยกับหุ้นตัวที่ขาดทุนได้ ทั้งพอร์ตมีหุ้นประมาณ 45 บริษัท เป็นบริษัทกลางและเล็กเหมือนเช่นเคย กระจายตัวอยู่ในกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ market cap 4-5 หมื่นล้าน จนต่ำสุด 200 กว่าล้าน
สำหรับพอร์ตลงทุนต่างประเทศ ส่วนใหญ่คือตลาดเวียดนาม ปี 2561 ที่ผ่านมา ผมได้เพิ่มเงินลงทุนในตลาดเวียดนามอีกเล็กน้อย และยังเน้นลงทุนหุ้นขนาดกลางและเล็กเช่นเดิม แต่พยายามเลือกลงทุนในหุ้นที่มีความแน่นอนสูงมากขึ้น มีการเติบโตที่แน่นอน แต่ก็ยังมีหุ้นถูกๆ P/E ต่ำปันผลสูง ด้วยเช่นกัน จำนวนหุ้นที่ลงทุน 23 ตัว ระดับ P/E เฉลี่ยประมาณ 8 เท่า ซึ่งต่ำกว่ากลุ่มหุ้น VN30 ที่ P/E ประมาณ 14-15 เท่าโดยผลตอบแทนส่วนตัวในปีที่ผ่านมา
เท่ากับ 0 ไม่ขาดทุนหรือกำไร เมื่อไม่คิดผลจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่เมื่อแปลงเป็นเงินบาท จะขาดทุนประมาณ 3 % เนื่องจากเงินด่องอ่อนตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเงินบาท 3 % เช่นกัน ผลที่ได้น่าพอใจเมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามที่ลดลงเกือบๆ 10 % นี่แสดงเช่นกันว่าหุ้นที่ผมลงทุนมีความสัมพันธ์กับดัชนีหุ้นเวียดนามค่อนข้างต่ำ ปี 2562 คาดหวังว่ากลยุทธ์ลงทุนที่เน้นความรอบคอบ คัดสรรมากขึ้น น่าจะผลิดอกออกผล ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าตลาดรวมครับ ส่วนการลงทุนในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยลงทุนในหุ้นแค่ตัวเดียว ให้ผลขาดทุนเกือบๆ 50 %
ในปี 2561 มีทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการลงทุนในตลาดหุ้นเวียดนาม โดยที่ไม่ต้องเปิดบัญชีหุ้นต่างประเทศ หรือโอนเงินไปมาให้ยุ่งยาก นั่นคือการเปิดซื้อขาย
DR (Depositary Receipt) หรือตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ มีชื่อย่อในการซื้อขายในตลาดหุ้นว่า E1VFVN3001 ออกโดยหลักทรัพย์บัวหลวง มีหลักทรัพย์รับฝากเป็นกองทุนรวม ETF ที่อ้างอิงดัชนี VN30 เป็นตัวแทนของหุ้นชั้นนำ 30 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์โฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม นักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดเวียดนามจะเติบโต การซื้อ DR ตัวนี้ซึ่งเป็นตัวแทนของเวียดนาม และถือไว้ระยะยาว น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีและค่อนข้างสะดวกสบาย เพราะซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเสมือนหุ้นตัวหนึ่ง
การลงทุนเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุด เพราะทุกอย่างไม่เคยเที่ยง ทุกสิ่งล้วนแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจทุกวันนี้ เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพราะเทคโนโลยี สิ่งใหม่ทำลายล้างสิ่งเก่า แม้กระทั่งสิ่งใหม่ก็รอวันที่จะถูกแทนที่ด้วยสิ่งที่ใหม่กว่า การซื้อหุ้นสักตัวและถือยาวนานเป็น 10 ปี ดูจะเป็นสิ่งที่ไม่เข้ากับยุคสมัย เรามาดูกันว่าปี 2561 นักลงทุนได้เผชิญกับอะไร และเราสามารถเรียนรู้อะไรได้บ้าง
เมื่อ disruptive เริ่มถึงจุด critical mass
กระแส disruptive technology ที่ถูกพูดถึงบ่อยๆ ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เริ่มเดินทางมาถึงจุดที่แสดงผลลัพธ์ของมันบ้างแล้ว แน่นอนว่า มันได้สร้างสิ่งใหม่ๆ และทดแทนสิ่งเก่าที่ล้าสมัย ดังนั้นย่อมมีทั้งคนที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ในช่วงปี 2561 กระแสการปิดตัวของสื่อบางประเภทเกิดขึ้นในอัตราเร่ง โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และแน่นอนว่ามันจะไม่หยุดแค่นี้เพียงแค่กลุ่มสื่อ แต่มันจะขยายออกไป เราจะเริ่มรับรู้ผลกระทบของมันอย่างต่อเนื่อง ในฐานะนักลงทุนเราจะรับมืออย่างไร หากมองในแง่บวก นักลงทุนยังมีข้อได้เปรียบอยู่มาก เราสามารถซื้อหรือขายหุ้นได้ตลอดเวลา เรามีความยืดหยุ่น หากบริษัทมีแนวโน้มที่จะได้รับผลบวก เราซื้อ บริษัทใดที่รับผลกระทบ เราขาย ไม่เหมือนกับเจ้าของบริษัทที่ถือหุ้นใหญ่ ที่มีข้อจำกัดในการซื้อและขายมากกว่า เราจะมีข้อได้เปรียบจากกระบวนการ disruptive อย่างเต็มที่ก็ต่อเมื่อ เราต้องอย่ายึดติดกับสิ่งเดิมๆ โลกที่คุ้นเคย ทุกวันนี้โลกหมุนเร็วกว่าที่เคยเป็นเพราะมีการปฏิวัติทางไอที การที่นักลงทุนจะถือหุ้นตัวหนึ่งอย่างยาวนาน อาจไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำอีกต่อไป ในเมื่อธุรกิจที่ทำอยู่ อาจถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีใหม่อยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งที่นักลงทุนต้องตัดสินใจคือแนวโน้มบางอย่าง ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วข้ามวัน แต่กระบวนการเปลี่ยนผ่าน อาจกินเวลาหลายปี หรือเป็นสิบปี การรีบขายหุ้นเร็วไป อาจไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ ในเมื่อเรายังสามารถเก็บเกี่ยวผลกำไร ปันผล ได้อีกนาน กว่าที่มันจะตาย
ข่าวที่ค่อนข้างช็อคสำหรับนักลงทุนส่งท้ายปีคือข่าวการปิดตัวของบริษัทแฟมมิลี่ โนฮาว เจ้าของ
Money Channel และนิตยสาร
มันนี่ แอนด์ เวลท์ ที่น่าแปลกใจเพราะนี่คือสื่อทีวีแทบจะช่องเดียวเกี่ยวกับหุ้น และมีหน่วยงานรัฐเป็นเจ้าของครึ่งหนึ่ง อ่านจากเหตุผลอธิบายการปิดตัวของบริษัท นอกเหนือจากโดน disrupt จากช่องทางอื่นแล้ว คงเป็นเพราะตลท.ต้องควักเนื้อทุกปี เพื่อให้บริษัทอยู่ได้ การฝืนทำเช่นนี้ทุกปี คงไม่สามารถทำได้ในระยะยาว ผลกระทบทันทีนอกจากนักลงทุนขาดสื่อหลักแล้ว คือพนักงานนับร้อยคน ที่ตกงานแบบไม่ทันตั้งเนื้อตั้งตัว แน่นอนว่านี่คงไม่ใช่กลุ่มสุดท้าย โลกธุรกิจที่หมุนเร็วเช่นทุกวันนี้ บริษัทที่ถูกทำลายจะโผล่ออกมาเรื่อย ๆ คนที่ทำงานประจำควรเอาเป็นอุทาหรณ์เตือนใจ ความไม่สอดคล้องกันของรายรับและรายจ่าย รายจ่ายนั้นค่อนข้างตายตัวแน่นอน มากหรือน้อย แต่รายได้กลับแน่นอนน้อยกว่ามาก วันดีคืนร้ายหากตกงาน และไม่มีรายได้ทางอื่น รายได้หายไปทั้งหมด แต่รายจ่ายที่ผูกผันไว้กลับเท่าเดิม ปัญหาย่อมเกิด ดังนั้นชีวิตควรมีการเผื่อเหลือเผื่อขาด มีเงินเก็บบ้างไว้ไม่ใช่เรื่องเสียหาย หนุ่มสาวยุคนี้หลายคนใช้เงินราวกับจะไม่มีวันพรุ่งนี้ ได้มาเท่าไหร่ ต้องรับใช้ให้หมด โดยเฉพาะรายจ่ายท่องเที่ยว เที่ยวเท่าไหร่ ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยพอ กว่าเราจะรู้ว่าเงินนั้นสำคัญ ก็ต่อเมื่อถึงวันที่เราไม่มีมัน
5 อันดับแรกหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดปีนี้
ล้วนเป็นหุ้นน่าสงสัยว่าถูกปั่นราคา นี่ย่อมฉายภาพของตลาดหุ้นไทย สะท้อนการบังคับใช้กฎหมายของ ตลท.และ กลต. ตลาดทุนซึ่งควรที่จะให้รางวัลกับบริษัทที่ดี แต่สิ่งที่ปรากฏ กลับตรงกันข้าม กระเบื่องเฟื่องฟูลอย น้ำเต้าน้อยกลับถอยจม หากเหตุการณ์เหล่านี้เกิดต่อเนื่องกันหลายๆ ปี ตลาดหุ้นจะไม่สามารถทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมที่มีประสิทธิภาพได้ เพราะนักลงทุนจะแห่ไปเล่นหุ้นปั่น แทนที่จะซื้อหุ้นพื้นฐานดี แม้ระยะหลังโดยเฉพาะยุคสมัยคุณ รพี สุจริตกุล ดำรงตำแหน่งเลขา กลต.มีการกล่าวโทษ นักปั่นหุ้นมากที่สุด เท่าที่ผมจำความได้ แต่ทั้งหมดล้วนเป็นการดำเนินการหลังจากกระบวนปั่นเสร็จสิ้นไปแล้ว ความเสียหายกับนักลงทุนได้เกิดไปแล้ว การกล่าวโทษเหล่านี้ล้วนไม่ทันการณ์ เสมือนวัวหายแล้วล้อมคอก กระบวนการลงโทษส่วนใหญ่เป็นกระบวนการทางแพ่ง ที่ได้เงินคืนภาครัฐ แต่นักลงทุนที่เสียหายจากหุ้นเหล่านี้ ไม่เคยได้รับการเยียวยาเลย นอกจากคำปลอบประโลมสวยหรูที่ว่า
“การลงทุนมีความเสี่ยง” และเท่าที่ผมจำความได้ไม่เคยมีนักปั่นหุ้นต้องโทษจำคุก ส่วนใหญ่จะยอมรับโทษทางแพ่ง ยอมเสียค่าปรับ มีส่วนน้อยที่ไม่ยอมชำระ ซึ่งกลต.จะส่งเรื่องให้อัยการสั่งฟ้อง แต่ความจริงที่น่าแปลกใจคือ
ประเทศตรูไม่เคยมีนักปั่นหุ้นถูกจำคุก น่าสงสัยว่ามีอะไรเกิดขึ้น ทั้งที่ กลต.ได้ส่งเรื่องถึงอัยการหลายครั้ง ผมไม่แน่ใจว่าอัยการได้ส่งฟ้องศาลหรือไม่ หรือมีเหตุอันใดเกิดขึ้น ทำให้เรื่องที่กลต.ส่งไป จบที่อัยการ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายควรตรวจสอบ มีอะไรเกิดขึ้นกับทั้งสองหน่วยงานหรือเปล่า หวังว่า ท่าน
รื่นวดี สุวรรณมงคล ว่าที่เลขา กลต.คนใหม่ จะมีความกล้าหาญทางจริยธรรม ปฎิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด เพื่อทำให้ตลาดหุ้นเป็นแหล่งระดุมทุนอย่างที่ควรจะเป็น ไม่ใช่แหล่งต้มตุ๋น เช่นที่ผ่านมา นักลงทุนขอเป็นกำลังใจให้กับท่าน
ปี 2561 กลต.ได้กล่าวโทษการปั่นหุ้นและเรียกร้องให้ชำระค่าปรับ น่าจะสูงสุดในประวัติศาสตร์ โดยมีกรณีใหญ่ๆคือต้นปีมีการกล่าวโทษ 25 นักปั่นพร้อมให้ชำระค่าปรับ 890 ล้าน กับการปั่นหุ้นที่เกี่ยวข้องกับสื่อ 6 ตัว และในปลายปีได้กล่าวโทษ 40 คนที่สมคบคิดปั่นหุ้น AJD พร้อมให้ชำระค่าปรับจำนวนมหาศาล 1727 ล้านบาท นักลงทุนต้องจับตาว่าทั้ง 2 กรณีจะมีจุดจบเช่นเดิมหรือไม่ ส่วนนักลงทุนรายย่อยพึงสังเกต
หุ้นที่เคลื่อนไหวผิดปกติทุกตัว ล้วนมีอาชญากรรม (อยู่เบื้องหลัง)
ฟองสบู่ทยอยแตก
สิ่งที่แน่นอนที่สุดของฟองสบู่คือมันจะต้องแตกสักวัน ไม่ช้าก็เร็ว สถานการณ์ในปี 2561 ที่ตลาดตกต่ำ ได้เปิดเผยสิ่งที่ถูกปกปิดเอาไว้ในยามตลาดดีๆ เหมือนน้ำที่ลด ย่อมทำให้ตอเริ่มผุด ภาวะฟองสบู่ที่เกิดขึ้นและเริ่มแตกในปีที่ผ่านมาได้แก่
ฟองสบู่หุ้นไอพีโอ ภาวะที่รุ่งเรืองติดต่อมาหลายปีของหุ้นไอพีโอ เดินทางมาถึงจุดที่ไปต่อไม่ได้ ภาพที่บริษัทต่างๆ แห่แหนเข้าตลาดหุ้น หรือมีแผนเข้าตลาดหุ้น หุ้นไอพีโอเป็นของมีค่า เป็นที่ต้องการของรายย่อยแทบทุกคน โบรคเกอร์ใช้หุ้นไอพีโอดึงดูดลูกค้า ราคาขายของหุ้นไอพีโอทุกตัวสูงมาก เมื่อเปรียบเทียบกับหุ้นที่มีอยู่ในตลาด เมื่อเปิดซื้อขายวันแรก ราคาหุ้นยังสามารถสูงขึ้นไปอีก จากราคาที่แพงอยู่แล้ว กลายเป็นหุ้นที่ราคาแพงมาก ภาวะเช่นนี้เกิดขึ้น 2-3 ปี ติดต่อกัน แต่ในที่สุดตลาดก็เริ่มกลับมามีเหตุผล ในเมื่อมีหุ้นดีๆ ราคาถูกกว่ามาก อยู่ ในตลาดอยู่แล้ว ทำไมต้องไปซื้อหุ้นเข้าใหม่ ที่ราคาแพงแบบไร้เหตุผล นี่ทำให้หุ้นไอพีโอส่วนใหญ่เริ่มมีราคาลดลง หลายตัวราคาลดลงจนต่ำกว่าราคาไอพีโอ แต่จุดจบที่แท้จริงคือในช่วงหลัง หุ้นไอพีโอแทบทุกตัวเปิดซื้อขายที่ราคาต่ำกว่าราคาไอพีโอ เมื่อถึงจุดนี้ ใครจะกล้าซื้อหุ้นไอพีโออีกล่ะ ? คนที่สมควรรับผิดชอบต่อฟองสบู่ไอพีโอที่แตก ควรเป็นทุกฝ่าย เจ้าของเดิมที่อยากขายแพงๆ ได้เงินเข้าบริษัทที่สุด ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้รับประกันการจัดจำหน่าย ที่อยากได้ค่าธรรมเนียม อยากได้หุ้นไอพีโอมาจูงใจลูกค้า คนจองหุ้นไอพีโอที่ผลักดันด้วยความโลภอยากได้กำไรง่ายๆ ไม่ต้องลงทุนลงแรงศึกษา ขอแค่เป็นหุ้นไอพีโอ แต่หากจะให้ชี้ชัดลงไป ผมเชื่อว่า
ราคาขายหุ้นไอพีโอที่แพงเกินไป เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้มีจุดจบเช่นนี้
ฟองสบู่หุ้นโรงไฟฟ้า หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่เป็นที่นิยมอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขอให้เป็นหุ้นโรงไฟฟ้า นักลงทุนยินดีไล่ราคาจนสูงลิบลิ่ว แต่เมื่อถึงปี 2560 ต่อเนื่องถึงปี 2561 หุ้นไฟฟ้าเริ่มเดินทางใครทางมัน คู่ควรกับพื้นฐานที่ควรจะเป็นของแต่ละตัว หุ้นโรงไฟฟ้าที่ราคาแพงอย่างไร้เหตุผล คุณภาพไม่ดี สุดท้ายตลาดก็เริ่มฉลาดและให้ราคาลดลง ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่พื้นฐานดี มีโอกาสเติบโต ราคายังไม่แพง สามารถยืนหรือราคาขึ้นไปได้อีก นี่เป็นบทเรียนว่าทุกกระแสการแห่ตามในตลาดหุ้น ล้วนมีจุดจบไม่สวย คุณจะหาซื้อหุ้นที่มีคุณสมบัติอยู่ในกระแส และราคาถูก พร้อมกันไม่ได้ เพราะถ้ามันอยู่ในกระแส ราคามันต้องแพงสะท้อนกระแสนั้นไปแล้ว
ฟองสบู่หุ้นเติบโต ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดในตลาดหุ้นไทย น่าจะเป็นหุ้นเติบโต หุ้นเหล่านี้ถูกซื้อขายกันที่ราคา ระดับ P/E สูงลิ่ว สะท้อนความคาดหวังว่าจะมีการเติบโตของผลกำไรสูง หุ้นเหล่านี้มักเป็นหุ้นค้าปลีก มีสตอรี่การขยายตัวไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งมีประชากรกำลังซื้อสูง นักลงทุนคาดว่า หากหุ้นเหล่านี้ประสบความสำเร็จในประเทศจีน อาจจะทำให้หุ้นขึ้นไปได้หลายเท่า ซึ่งฟังดูก็มีเหตุมีผลจริง นักลงทุนที่เข้าไปซื้อหุ้นกลุ่มนี้ไว้ก่อนเนิ่นๆ ได้กำไรอย่างงามเป็นกอบเป็นกำ หลายเท่าตัว แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มไม่เป็นไปตามคาด การเติบโตน้อยกว่าความคาดหวังมาก ตลาดจีนที่หวังเอาไว้ ทำไม่ได้ตามคาด ตลาดในประเทศก็ตกต่ำ หุ้นบางตัวกำไรนอกจากไม่โต ยังลดลงด้วย และนี่เองทำให้ฟองสบู่เริ่มแตก เริ่มจากหุ้นที่อ่อนแอที่สุด ลุกลามไปหุ้นไปแข็งแกร่งปานกลาง ราคาหุ้นหลายตัวลดลงมาก จนเป็นหายนะของคนถือ กำไรที่เคยทำได้หลายปี ถูกเอาคืนภายในเวลาไม่กี่เดือน แทบทุกตัวราคาลดลงมากกว่า 50 % ปัจจัยหลักที่ทำให้ฟองสบู่แตก ประเด็นแรกเกิดจากตัวบริษัทเองที่ทำการเติบโตของ EPS ได้ลดลง ส่งผลต่อเนื่องให้ระดับ P/E ที่นักลงทุนให้สะท้อนความคาดหวังลดลง รวมถึงสภาวะตลาดรวมที่ P/E ถูกปรับลดลงด้วย บทเรียนครั้งนี้พิสูจน์อีกครั้งว่า ความเชื่อที่ว่า หุ้นคุณภาพดี มีอัตราการเติบโตสูง สามารถซื้อที่ราคาเท่าไหร่ก็ได้ ไม่ต้องดู P/E เป็นเรื่องไม่จริง ในความเป็นจริงการเติบโตอย่างถาวร ต่อเนื่องยาวนาน จนทำให้ P/E ลดลงมากๆ นั้น เกิดขึ้นน้อยมาก ส่วนใหญ่มักเป็นการเติบโตชั่วครั้งชั่วคราว ที่นักลงทุนหลงคิดไปเองว่าจะยั่งยืน หุ้นที่พื้นฐานไม่ดี กับราคาที่แพง สุดท้ายก็เหมือนปราสาททราย ที่ทะลายเพียงแค่คลื่นซัดมา สิ่งที่ดูเหมือนนักลงทุนหุ้นเติบโตละเลยไปคือ margin of safety..
in MOS we trust.
ปัจจุบันยังมีฟองสบู่หลงเหลืออยู่ในหุ้นกลุ่มใดบ้าง คำตอบน่าจะเป็นกลุ่มโรงพยาบาล หุ้นในกลุ่มนี้แทบทุกตัวซื้อขายกันที่ระดับ P/E ค่อนข้างสูง โดยมีเหตุผลสนับสนุนจากแนวโน้มสังคมที่จะมีคนแก่มากขึ้น และต้องการการรักษาพยาบาล แน่นอนว่านี่เป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นจริง แต่จะยาวนานแค่ไหน ไม่มีใครรู้
วิกฤติศรัทธาหุ้นขนาดกลางเล็ก
ผมมีความเชื่อมาตลอดว่า หุ้นขนาดเล็กและขนาดกลางจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าในระยะยาว เพราะจากตัวเลขและสถิติทำให้เชื่อเช่นนั้น ตลอด 19 ปีที่ลงทุน ผมลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้เป็นส่วนใหญ่ และได้ผลตอบแทนที่ดีกว่าปกติจริง แต่ปี 2561 นี้เอง ผมได้เห็น
อีกด้านของหุ้นกลางและเล็ก นั่นคือความเสี่ยงที่มากับธรรมชาติของมัน หุ้นเหล่านี้มีภูมิต้านทานต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ด้อยกว่าหุ้นขนาดใหญ่ เมื่อไหร่ที่เศรษกิจไม่ดี หุ้นเหล่านี้จะถูกกระทบเป็นอันดับแรก และนั่นคือสิ่งที่ผมพบเจอในปีที่ผ่านมา นั่นยังไม่พอ เมื่อกำไรบริษัทถูกกระทบ ภาพภาวะเศรษกิจที่ไม่แน่นอน นักลงทุนก็เริ่มปรับลด P/E ของตลาดรวม เป็นอีกดาบที่ทำให้ราคาหุ้นกลางและเล็กลดลงอย่างรวดเร็ว และตามด้วยดาบต่อมา หุ้นกลางและเล็กมักถือโดยนักลงทุนรายย่อย ซึ่งอ่อนไหวต่อข่าวสารที่เข้ามากระทบมากกว่านักลงทุนสถาบัน และในปีที่ผ่านมา เกือบทั้งหมดเป็นข่าวร้าย ทำให้มีแรงขายหุ้นกลุ่มนี้ออกมามาก และดาบสุดท้าย ด้วยธรรมชาติของหุ้นกลางและเล็ก มักมีสภาพคล่องการซื้อขายน้อยกว่าหุ้นขนาดใหญ่ เมื่อมีแรงขายมากกว่าปกติ แต่ไม่มีแรงซื้อ ราคาสามารถลดลงได้อย่างมาก จากแรงขายเพียงน้อยนิด ตลอดทั้งปี เราจะเห็นว่าบางวันราคาของหุ้นกลางและเล็กบางตัวลดลงกว่าตลาดมาก ทั้งที่ดัชนีลดลงนิดเดียว นั่นเพราะมีแรงขายแต่ไม่มีแรงรับ แรงขายเพียงไม่กี่แสนบาท ทำให้ราคาลดลงได้มากกว่า 5 % บางครั้งมีนักลงทุนรายใหญ่หน่อยปรับพอร์ต ขายหุ้นออกมา หุ้นตัวนั้นปรับตัวลดลงเหมือนหลอมละลาย แต่ทั้งหมด ไม่ได้ทำให้ผมเลิกความเชื่อว่าที่ว่าหุ้นกลางและเล็กให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าในระยะยาว เพียงแต่ทำให้ผมเห็นความเสี่ยงอีกด้าน ที่ถูกปกปิดตลอดมา และเผยให้เห็นในปีที่ผ่านมา ผมยังคงเน้นลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ ด้วยความรอบคอบและระวังมากขึ้น มีกลยุทธ์ที่ดีกว่านี้ และสุดท้ายคือเข้าใจธรรมชาติของมัน วันนี้อาจไม่ใช่วันของผม แต่ผมรู้ว่ามันต้องมี
สงครามการค้า
ประเด็นที่นักลงทุนวิตก และรบกวนจิตใจตลาดปี 2561 คือสงครามการค้า ทีเปิดฉากโดยประธานาธิบดี โดนัล ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา กับประเทศจีน ซึ่งนี่เป็นจุดขายที่ทรัมป์ใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง จนได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดี นักลงทุนอาจจะโทษทรัมป์ว่าเป็นสาเหตุหลักที่ป่วนตลาดหุ้นทั้งโลกในปีที่ผ่านมา ผมเองไม่แน่ใจว่าเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ แต่คิดว่ามีส่วนอยู่บ้าง เพราะก็มีปัจจัยอื่นที่ประจวบเหมาะเข้ามากระทบพร้อมๆ กันด้วย เช่นการยกเลิกมาตรการอันฉีดการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกหรือ QE กระแสการเพิ่มของดอกเบี้ย ซึ่งเกิดพร้อมกันทั้งโลก หลังจากธุรกิจเอนจอยเงินต้นทุนถูกมาหลายปี แต่ผมเชื่อว่าสงครามการค้า เป็นสิ่งที่ไม่มีใครชนะ ดังนั้นผมไม่เชื่อว่าทรัมป์จะดื้อดึงเอาสิ่งที่ตัวเองต้องการโดยไม่สนอะไรทิ้งสิ้น ที่เป็นไปได้มากคือยื่นข้อเสนอขอ(จีนหรือคู่ค้า)ให้มากที่สุด ต่อรองกันไปมาก สุดท้ายได้มากหรือน้อย ย่อมดีกว่าไม่ได้ เมื่อต่อรองได้ตามที่ต้องการ ปัญหาจะจบอย่างเร็ว เหมือนกรณีปัญหานิวเคลียกับเกาหลีเหนือ ที่ตอนต้นปีข่มขู่กันไปมาจนโลกตระหนก ก่อนจะมาจับมือโอบกอดกัน ไม่กี่เดือนให้หลัง แบบงงๆ กันทั้งโลก
บทบาทของกองทุนรวมต่อตลาดหุ้น
ในปัจจุบันต้องยอมรับว่ากลุ่มนักลงทุนที่มีบทบาทชี้นำมากที่สุดในตลาดหุ้นคือกองทุนรวม จากในอดีตที่เป็นนักลงทุนต่างชาติ ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยแม้มีสัดส่วนเยอะที่สุด แต่กลับไม่มีพลังเพราะต่างคนต่างซื้อต่างขาย ปัจจุบันกองทุนรวมหุ้นมีมูลค่ารวมประมาณ 1.5 ล้านล้าน จากมูลค่าอุตสาหกรรมกองทุนรวมทั้งหมด 4.9 ล้านล้าน ปีที่ผ่านมาถือว่ากองทุนเป็นพระเอกที่ช่วยรับแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ ร่วมกับนักลงทุนรายย่อย แต่หลายครั้งการซื้อและขายหุ้นบางตัวของกองทุน ถูกตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ แม้แต่ภาครัฐ (เลขา กลต.คุณรพี สุจริตกุล) ตั้งคำถามหลายเป็นประเด็นที่ชวนคิด อาทิ..
* กองทุนรวมเป็นผู้ไล่ราคาซื้อและขายเสียเอง ความหมายคือกองทุนเป็นจ้าวมือหุ้นเสียเอง ดูได้จากผลตอบแทนหุ้นที่กองทุนถือ สูงกว่าผลตอบแทนกองทุนมาก นั่นแสดงว่าที่ราคาหุ้นขึ้นเพราะกองทุนไล่ซื้อ และราคาหุ้นลงเพราะกองทุนไล่ขาย สะท้อนว่ากองทุนอาจเป็นผู้เข้าซื้อหรือขายจนเป็นการไล่ราคา แต่ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่
* กองทุนรวมสร้างผลตอบแทนไม่คุ้มค่าธรรมเนียม โดยเฉพาะกองที่มีนโยบาย active เก็บค่าธรรมเนียมบริหารรายปีสูง แต่ไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหน่วยได้คุ้มค่า เทียบกับกองทุนที่บริหารแบบ passive เก็บค่าธรรมเนียมต่ำกว่า แต่กลับสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหรือเท่ากัน
ความจริงอีกประการ ที่ผู้จัดการกองทุนอาจไม่ต้องการให้คนส่วนใหญ่รู้คือ ในอดีตกองทุนมักใช้ตัวเทียบวัด (Benchmark) เป็นดัชนี SET แต่นับแต่ปี 2560 กลต.ได้บังคับให้ใช้
SET TRI เป็นตัวเทียบวัด ซึ่งดัชนีสองตัวนี้ต่างกันเท่ากับเงินปันผลหรือปีละประมาณ 3 % นี่เป็นสาเหตุที่ในอดีตกองทุนมักอ้างว่าชนะดัชนีเพราะใช้ตัวเทียบวัดที่ไม่ถูกต้อง แต่ กลต.ก็ไม่ได้บังคับให้แก้ไขตัวเลขย้อนหลัง ดังนั้นหากใครที่ดูผลตอบแทนกองทุนรวมย้อนหลัง ต้องระวังในจุดนี้ด้วย ที่พูดมาไม่ได้หมายความว่าผมมีอคติกับกองทุนรวม แต่ตรงข้าม ผมสนับสนุนกองทุนรวม เพราะนี่คือแหล่งออมเงินเพื่อการเกษียณที่ดีที่สุดในระยะยาว สำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป ที่ไม่ได้มีความรู้ที่จะลงทุนเองในหุ้น
ในปี 2562 จะเป็นปีสุดท้ายที่จะมีกองทุนประหยัดภาษี
LTF เพราะภาครัฐต้องสูญเสียรายได้จากการยกเว้นภาษีปีละเกือบๆ 1 หมื่นล้านบาท และคนที่ได้รับประโยชน์จากกองทุน LTF คือคนที่ฐานภาษีสูงหรือกลายเป็นกลุ่มคนมีรายได้สูงได้ประโยชน์ที่สุด ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นทางเลือกทดแทนที่ดูจะเหมาะสมกว่าในปัจจุบันคือการซื้อกองทุน RMF ซึ่งคล้ายคลึงกัน แต่มีเงื่อนไขที่เข้มงวดกว่า ยกเว้นแต่ภาครัฐจะออกเป็นกองทุนประหยัดภาษีแบบใหม่ เพื่อป้องกันการเทขายของเงินทุน LTF เดิมที่ครบอายุ เงินเหล่านี้อาจจะออกจากตลาดไปเลย หากไม่มีกองทุนมาทดแทน
ภาวะตลาดในปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าได้สั่นคลอนความเชื่อของนักลงทุนหลายคน ความฝันที่จะลงทุนแบบวีไอและมีอิสรภาพทางการเงินดูเลือนลางออกไป บางคนขาดทุนหนักจนมองแทบไม่เห็นแสงสว่าง แต่นี่ไม่ใช่จุดจบ แต่เป็นจุดเริ่มต้น วันที่เราอ่อนแอที่สุด อาจจะเป็นวันที่เราแข็งแกร่งที่สุด เมื่อเราผ่านมันไปได้ นี่ไม่ใช่ปีแรกที่ผมขาดทุน และคงไม่ใช่ปีสุดท้าย ทุกคนย่อมรู้ดีอยู่แล้วว่า ไม่มีใครจะกำไรทุกปี หรือชนะตลาดทุกปี หากใครทำได้นั่นย่อมเป็นคนแรกของโลก การเดินทางไกล ย่อมมีเหนื่อย มีพักบ้าง เป็นเรื่องแสนธรรมดา ไม่มีใครที่จะวิ่งได้ตลอดเวลา เวลาท้อแท้ หลายคนอาจจะถอดใจ จะเลิกจะถอยอย่างไร แต่คนสำเร็จย่อมไม่คิดอย่างนั้น ความล้มเหลวไม่ได้แย่เสียทีเดียว อย่างน้อยมันให้บทเรียน ทำให้เราตัวเล็กลง ไม่หยิ่งผยอง ทำให้ต้องรู้จักปรับตัว ยืดหยุ่น เพราะโลกเปลี่ยนไปทุกวัน เราขาดทุนปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะขาดทุนตลอดไป เราย่อมรู้ดีว่า
ไม่ว่าตลาดหมีหรือตลาดกระทิง ยิ่งมันดำเนินไปเท่าไหร่ มันจะทำลายตัวมันเองมากขึ้นเท่านั้น สปริงค์ที่ยิ่งกด มันกลับยิ่งสร้างแรงดีดกลับ ..
ฝากบทกวีของเพลง
“สู่เส้นชัย” มาฝากทุกท่าน
“ ทางข้างหน้าลางเลือนเหมือนว่างเปล่า
แดดจะเผาผิวผ่องเธอหมองไหม้
ที่ตรงโน้นมีหุบเหวมีเปลวไฟ
ถ้าอ่อนแอจะก้าวไปอย่างไรกัน
อนาคตนั้นช่างคดเคี้ยว
มันลดเลี้ยวเลี้ยวไปใช่สุขสันต์
ยากลำบากใช่เพียงแค่ชั่ววัน
แต่จะต้องฝ่าฟันจนวันตาย
บนหนทางแม้มีสิ่งใดขวาง
ไม่อาจกางกั้นฉันและเธอได้
หนทางนี้สัญญาอย่างมั่นใจ
ด้วยพลังยิ่งใหญ่ในศรัทธา
จะขอฝ่าฟันข้ามความทุกข์ยาก
จะลำบากเราสู้ดูเถิดหนา
จะร่วมแรงร่วมกันด้วยศรัทธา
ทางข้างหน้าสู่ชัยที่หมายปอง”
กับอีกบทกวีคลาสสิคของ Rudyard Kipling ที่วอเรนต์ บัฟเฟตต์ นำบางส่วนมาเขียนในจดหมายถึงผู้ถือหุ้น ปี 2017
if you can keep your head when all about you are losing theirs ...
If you can wait and not be tired by waiting ...
If you can think – and not make thoughts your aim ...
If you can trust yourself when all men doubt you ...
Yours is the Earth and everything that's in it.
ท่านจะทำดังเช่นนี้ได้หรือไม่
เวลาจะเป็นผู้ให้คำตอบ..
สวัสดีปีใหม่ ขอให้ MOS คุ้มครองทุกท่าน
(กระทู้นี้อ่านได้แต่ตอบไม่ได้)