news11/08/07
โพสต์แล้ว: เสาร์ ส.ค. 11, 2007 7:39 pm
โดย chartchai madman
แบงก์ชาติรับมีเลขบาทในใจ - 11/8/2550
ธาริษา ขานรับข้อแนะนำแก้บาท ระบุมีเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยนในใจ ประสาร เห็นด้วยแนวคิด อัมมาร ทำยุทธศาสตร์ค่าเงิน ย้ำแบงก์ชาติต้องไม่กำหนดตัวเลขชัดเจน ขณะที่ตลาดหุ้นไทยยังทรุดตามหุ้นโลก ที่วิตกปัญหาซับไพร์มของมะกันจ่อพัง ธปท.-ตลท.-นักวิเคราะห์กล่อมนักลงทุนอย่าวิตกมากเกินไป มีชัย บอกรัฐไม่เสียหน้าแก้พรบ.ต่างด้าว
เมื่อวันที่ 10 ส.ค.50 นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาระบุว่า ธปท.พร้อมนำเอาข้อเสนอในการอภิปายของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทไปพิจารณา ซึ่งวันที่ 20 ส.ค.นี้ ธปท.จะหารือกับกรทรวงการคลัง เพื่อหาแนวทางพัฒนาเครื่องมือและระบบการจัดการที่จะมาใช้ในการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้มีความเข้มแข็งเพียงพอที่จะรองรับความผันผวนจากตลาดโลกที่มีแนวโน้มจะมีต่อไปอีกในระยะยาว อย่างไรก็ตามทาง ธปท.มีเป้าหมายอัตราแลกเปลี่ยน
ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดของนายอัมมาร สยามวาลา รักษาการประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ที่ต้องการให้ ธปท.และกระทรวงการคลัง กำหนดยุทธศาสตร์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เพราะการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่การกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ที่ระดับใดระดับหนึ่ง แต่ยุทธศาสตร์ด้านอัตราแลกเปลี่ยนคือ การตั้งเป้าหมายว่าไทยจะเกินดุลบัญชีเดินสะพัดหรือขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้มากเพียงใด แล้วดำเนินนโยบายในการดูแลอัตราแลกเลี่ยนเพื่อนำไปสู่เป้าหมายดังกล่าว
ยุทธศาสตร์อัตราแลกเปลี่ยนไม่จำเป็นต้องเปิดเผยรายละเอียดให้ตลาดทราบ แต่ต้องประกาศให้ชัดเจนถึงเป้าหมายว่าจะทำให้ดุลบัญชีฯบวกลบมากแค่ไหน เพื่อที่จะได้ดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องไปในทิศทางนั้น แต่ในช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนว่า ธปท.จะเน้นเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อเพียงอย่างเดียว ซึ่งหากเป็นเช่นนี้จะทำให้ภาคเอกชนไม่สามารถคาดการณ์ทิศทางของอัตราแลกเปลี่ยนได้ และจะกระทบต่อการวางแผนในการทำธุรกิจ นายประสารกล่าว
ขณะที่ นายวรภัค ธันยาวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธนาคารเจพีมอร์แกน และ บล.เจพีมอร์แกนกล่าวว่า การไหลเข้าออกของเงินทุนทั่วโลก เป็นเรื่องที่นักลงทุนตลาดหุ้นกังวล ซึ่งธปท.ควรเตรียมมาตรการรับมือกระแสไหลเข้าออก แต่ไม่เห็นด้วย หาก ธปท.จะเก็บภาษีเงินทุนไหลออก เพราะจะกระทบต่อเม็ดเงินลงทุน ขณะเดียวกันยอมรับว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว กระทบต่อความมั่นใจนักลงทุนต่างชาติ
วันเดียวกัน นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน สนช.กล่าวถึงการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเข้มข้นในคำนิยาม คนต่างด้าวใน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบการธุรกิจคนต่างด้าวว่า เมื่อให้คำนิยามก็ต้องให้ชัดเจนไม่ให้เกิดปัญหาตีความตามมา แม้ สนช.จะลงมติในคำนิยามแล้วและกรรมาธิการฯได้ถอนร่างกลับไปพิจารณา ถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะกลับไปปรับปรุงให้สอดคล้อง ซึ่งหลักการคงแก้ไขไม่ได้แล้ว แต่อาจไปเพิ่มในบทเฉพาะกาลให้อ่อนลงได้ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้ประกอบการรายเดิม หรือไม่มีผลย้อนหลังและให้เริ่มใหม่กับผู้ที่จะเข้ามาประกอบการใหม่ คิดว่าคงใช้เวลาไม่นาน เพราะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาก็เป็นของสนช. แล้วเรื่องดังกล่าวไม่ใช่เรื่องเสียหาย
ขณะที่ภาวะการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันที่ 10 ส.ค.ปิดตลาดดัชนีอยู่ที่ 804.84 จุด ปรับตัวลดลง 6.99 จุด โดยมีมูลค่าการซื้อขายรวม อยู่ที่ 19,574.55 ล้านบาท ส่วนดัชนีหุ้นต่างประเทศเช่น ดัชนี ดาวโจนส์ปิดลบ 387.18 จุด,ดัชนีนิกเกอิ ปิดลบ 406.51 จุด และดัชนีฮั่งเส็ง ปิดลบ 646.65 จุด
นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) กล่าวว่า
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงตั้งแต่เปิดการซื้อขายช่วงเช้าตามดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกที่ปรับลดลง จากความกังวลปัญหาวิกฤตการณ์ตลาดจำนองสำหรับผู้กู้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำของสหรัฐฯ(ซับไพร์ม) ที่เริ่มส่งผลกระทบในวงกว้างไปสู่ภาคเศรษฐกิจประเทศอื่น
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า
เชื่อว่า ปัญหาจากตลาดซับไพร์มของสหรัฐฯจะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เนื่องจากผู้ประกอบการในไทยเข้าไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศประเภท CDO ไม่มากนัก และโดยเฉพาะตราสารหนี้ CDO ที่มีความเกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ในตลาดซับไพร์มยิ่งมีน้อยมาก
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)กล่าวว่า นักลงทุนอย่าได้ตกใจ แม้ดัชนีหุ้นไทยในระยะนี้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติ เพราะตัวเลขการลงทุนของต่างชาติยังซื้อสุทธิอยู่ 110,000 ล้านบาท ที่ดัชนีลดลงมากเป็นผลกระทบจากตลาดหุ้นสหรัฐฯและตลาดหุ้นยุโรป เนื่องจากปัญหาของตลาดในตลาดซับไพรม์ หรือสินเชื่อซื้อบ้านสำหรับผู้มีประวัติการเงินไม่ดีในสหรัฐฯ และแม้บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นจะไม่ค่อยสดใส แต่มั่นใจว่าไม่มีผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียนใหม่ และหุ้นไอพีโอ ที่จะเข้ามาจดทะเบียนใน ตลท.ปีนี้ เนื่องจากภาพรวมของการลงทุนในระยะยาวยังดีอยู่ โดยมั่นใจว่าปีนี้บริษัทจดทะเบียนใหม่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทย 64 แห่งตามเป้าหมาย
นายวิเชฐ ตันติวานิช รองผู้จัดการ ตลท.กล่าวว่า นักลงทุนควรจะเข้าไปลงทุนในหุ้นที่มีพื้นฐานดี และนักลงทุนไม่ควรกู้เงินเพื่อมา ลงทุนในช่วงที่ตลาดหุ้นปรับตัวลงมาก เนื่องจากอาจได้รับผลกระทบ
นายประสาร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทยกล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้นั้น เชื่อว่าจะเกิดผลกระทบทางอ้อมต่อตลาดทุนไทย เพราะเมื่อมีปัญหาซับไพร์มในสหรัฐฯ ย่อมทำให้นักบริหารเงินหรือกองทุนต่างๆ เป็นความเสี่ยง และทำให้มีการปรับพอร์ตการลงทุน รวมทั้งอาจกระทบกับพอร์ตการลงทุนที่มีอยู่ในไทยบ้าง อย่างไรก็ตามปัญหาดังกล่าวจะเป็นสถานการณ์เพียงระยะสั้นเท่านั้น และเชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อตลาดสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในไทย แต่ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ก็พยายามที่จะอัดสภาพคล่องเข้าระบบ เพื่อคลายความวิตกนักลงทุน
ด้านนายวรภัค ธันยาวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มธนาคารเจพีมอร์แกน และ บล.เจพีมอร์แกน กล่าวว่า น่าจะเป็นปัญหาเพียงระยะสั้น 1 เดือนเท่านั้น เพราะสินเชื่อซับไพรม์ มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 15 ของสินเชื่อรวมทั้งหมด ส่วนผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยจากความวิตก จึงมีแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติ แต่มุมมองของต่างชาติต่อตลาดหุ้นไทยยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี
http://www.siamrath.co.th/DetailHeadlin ... wID=179472
news11/08/07
โพสต์แล้ว: เสาร์ ส.ค. 11, 2007 7:59 pm
โดย chartchai madman
วิกฤตตราสารเน่าสหรัฐ ลามถึงไทย
วิกฤตการณ์ตลาดซับไพรม์ที่สะท้านสะเทือนตลาดหุ้นตลาดทุนอยู่ทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งบทที่ฉายภาพความเป็นตลาดเดียว
พลันเมื่อตลาดซับไพรม์ ที่เป็นตลาด ตราสารหนี้ที่หนุนด้วยสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภท ซับไพรม์ ในสหรัฐ ที่เดิมนั้นขยายตัวจากมูลค่าที่มีอยู่ 5.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐในปี 2000 ปรับเพิ่มมาเป็น 5.08 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2005 หรือขยายตัวกว่า 800% พังพาบลง
จากการที่บริษัทจัดอันดับเครดิต ทั้งมูดี้ส์ เอสแอนด์พี ฟิทช์ ที่ได้ทยอยปรับลดเครดิต ตราสารหนี้หลายต่อหลายรุ่น และเตือนให้ นักลงทุนเฝ้าระวัง แต่นั่นคือระฆังแรก
ทว่าพอ บีเอ็นพี ปารีบาส์ กิจการธนาคารจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ประกาศระงับไม่ให้ลูกค้าซื้อหรือ ไถ่ถอนการลงทุน ในหลายๆ กองทุนซึ่งทางธนาคารบริหารอยู่ คิดเป็นมูลค่าราว 1.6 พันล้านยูโร (2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ) สืบเนื่องจากปัญหาในสินเชื่อเคหะประเภท ซับไพรม์ของสหรัฐ ซึ่งกำลังสร้างความปั่นป่วนให้แก่ตลาดการเงินทั่วโลก
แม้กองทุนที่ถูกระงับการเคลื่อนไหวเหล่านี้ คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.5% ของบรรดากองทุนที่บริหารโดยธนาคารฝรั่งเศสแห่งนี้ อันมีฐานะเป็นธนาคารใหญ่อันดับ 2 ของเขตยูโรโซน ด้วยเมื่อคำนวณตามมูลค่า
แต่แรงดีดสะท้อนแรงเกินคาด....
เพราะเงินกู้จำนองด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) เป็นเงินกู้ในภาคอสังหาริมทรัพย์ที่มีความเสี่ยงที่สุด และมักปล่อยกู้ให้กับคนที่มีเครดิตไม่ดี หรือมีปัญหาในการชำระเงิน
ธนาคารหลายแห่งขาดทุนจากการลงทุนในเงินกู้เหล่านี้ ตลาดหุ้นปรับตัวลงไปทั่วโลก
กองทุนเฮดจ์ฟันด์ และกองทุนพญาแร้ง ที่มีการกู้ยืมเงินมาเพื่อการลงทุนสูงมากกระทบหนักต้องเทขายด้วยการนำสินทรัพย์ที่ดีมีคุณภาพออกมาขายในราคาที่ถูกมากเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ทำให้ตลาดตราสารหนี้เกิดความโกลาหลหนักของบรรดากองทุนเฮดจ์ฟันด์
ทั้งนี้ มูลค่าตลาดของซับไพรม์ในตลาดสหรัฐ ประมาณ 1.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 14% ของตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัย ทั้งหมด และในนี้เป็นหนี้เสียอยู่ 8% ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 1.12 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เป็นมูลค่าความเสียหายที่กระจายกันไปสู่ผู้ที่เข้ามาลงทุนในตลาดนี้
ตลาดตราสารหนี้และหลักทรัพย์อื่นๆ ทรุดลงอย่างฮวบฮาบ และเกิดลักษณะของการ แพนนิก เซลส์
นักลงทุนสถาบันทั้งธนาคาร ประกัน และกองทุนต่างๆ พากันขาดทุนหนักแม้มิใช่การขาดทุนที่แท้จริงในตอนนี้ หากแต่เป็นการขาดทุนทางบัญชี แต่ยากที่จะหนีการ ขาดทุน ในอนาคต
ซาล ออปเปนไฮม์ ธนาคารเยอรมัน ก็ได้ประกาศปิดชั่วคราวกองทุนขนาดมูลค่า 750 ล้านยูโร ที่ลงทุนในหลักทรัพย์ซึ่งหนุนหลัง โดยอสังหาริมทรัพย์ ที่ธนาคารเป็นผู้บริหารให้กับ ไฮโป เคเอจี มูลนิธิเพื่อการลงทุนสัญชาติออสเตรีย
เอ็นไอบีซี วาณิชธนกิจสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ได้แถลงชะลอแผนการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์เอาไว้ก่อน ภายหลังประสบการ ขาดทุน 137 ล้านยูโร จากการลงทุนใน ตราสารหนี้ซึ่งพัวพันกับ ซับไพรม์ ในสหรัฐ
ปัญหาซับไพรม์ในสหรัฐลุกลามสู่ตลาดหุ้นทั่วโลก โดยได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อหุ้นกลุ่มการเงิน ซึ่งมีการลงทุนใน CDOs (Collateralized Debt Obligations) คือ ตราสารหนี้ที่หนุนด้วยสินทรัพย์ที่มีการตกลงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย โดยสินทรัพย์ที่อ้างอิง อาจจะเป็นบัญชีลูกหนี้ หรือข้อตกลงการรับประกันความเสี่ยงด้านเครดิต โดยรวมถึงการลงทุนในตลาดสินเชื่อที่อยู่อาศัยของลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (ซับไพรม์)
ธนาคารกลางต่างๆ ต้องดำเนินมาตรการเพื่อคลายความวิตกของนักลงทุน
ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ได้อัดฉีดเงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.30 แสนล้านสหรัฐ เข้าระบบธนาคารเพื่อช่วยคลายความวิตกของตลาด
ธนาคารกลางเยอรมนี จัดการประชุมเพื่อหารือแพ็กเกจกอบกู้ช่วยเหลือ ไอเคบี ธนาคารที่เชี่ยวชาญเรื่องปล่อยกู้แก่บริษัทขนาดเล็ก อีกทั้งมี KFW ของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ โดยที่ ไอเคบีกำลังถูกกระหน่ำจนซวนเซ จากการพัวพันกับวิกฤต ซับไพรม์ เช่นเดียวกัน
พิษร้ายของกระแสเงินของโลกไม่หยุดแค่นั้น สแตนดาร์ดแอนด์พัว ชี้ว่า ทุกอย่างจะสะท้อนออกมาตอนผลประกอบการไตรมาส 3
ผลประกอบการอันแข็งแกร่งของวาณิช ธนกิจสหรัฐจะกลายเป็นอดีตไปแล้ว นั่นเป็นเพราะว่ามีการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น และอัตราการปิดกิจการได้ลุกลามจากตลาด จำนองด้อยคุณภาพไปสู่ตลาดเงินกู้ผู้ที่มีเครดิต ดีแล้ว
แทนยา อาซาร์ซ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมธนาคารของแอสแอนด์พี กล่าวว่า เงินกู้ที่ปล่อยให้บริษัทนำไปซื้อกิจการถูกระงับไว้ประมาณ 2.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ และมีข้อตกลงประมาณ 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่ต้องการเงินไปสนับสนุนในไม่กี่เดือนนี้ถูกระงับลง
แม้แต่สัญญาซื้อขายใหญ่อย่างกลุ่ม เซอร์เบรุส แคปิตอลแมเนจเมนต์ ที่ติดต่อขอเงินกู้เพื่อซื้อไครสเลอร์จากเดมเลอร์ไครสเลอร์วงเงิน 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ก็ถูกดึงไป
นี่คือสภาพของความปั่นป่วนในตลาดทุน ตลาดตราสารหนี้ ตลาดเงิน
ในเมืองไทยมีผู้ประกอบการหลายส่วนเข้าไปลงทุนในตลาดซับไพรม์ ทั้งธนาคาร ประกัน และบริษัทขนาดใหญ่ที่เข้าไปส่งออกและนำเข้า
แม้
ธนาคารจะไปลงทุนเพียงเล็กน้อยใน CDOs ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท ส่วนที่เป็นซับไพรม์มีเพียง 4.6 พันล้านบาท ได้แก่ ธนาคารไทยธนาคาร ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกรุงเทพ ฯลฯ
แต่การที่หุ้นถูกลากดิ่งลงมาอย่างแรงนั้นสะท้อนได้ว่าน่าห่วง...ทั้งตราสารหนี้และสินเชื่อที่เริ่มชะลอ
แม้พีรศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่
ธนาคารไทยธนาคาร บอกว่าลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐแค่ 1.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 6% ของสินทรัพย์ แต่หากพิจารณาพอร์ตลงทุนนั้นพบว่าสูงเกือบ 14-15% ของพอร์ตสินเชื่อที่มีอยู่ 9 หมื่นล้านบาทเศษ มากว่าใครในธนาคารที่ลงทุน
ถ้าการลงทุนเหล่านี้ต้องสำรองและเป็นหนี้เสียชนิดที่ถ้าเสียคือ 100% หมายถึงอะไร
ผีเสื้อซับไพรม์ขยับปีกที่สหรัฐ ป่าละเมาะในเมืองไทยก็ปั่นป่วน...
http://www.posttoday.com/topstories.php?id=184450
news11/08/07
โพสต์แล้ว: เสาร์ ส.ค. 11, 2007 8:27 pm
โดย chartchai madman
หลากหลายความเห็น "หนี้เน่าซับไพรม"
ปัญหาสินเชื่อด้อยมาตรฐาน (subprime loans) สหรัฐอเมริกาส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในหลายประเทศ และพบว่ามีสถาบันการเงินเข้าไปลงทุนในตลาดสินเชื่อประเภทนี้ทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ แมคควอรี ฟอร์เตรส อินเวสต์เมนต์ ของออสเตรเลีย รวมทั้งกลุ่มกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่เริ่มจากกองทุนเฮดจ์ฟันด์ของค่ายแบร์สเติร์น จากนั้นเริ่มขยายวงไปยังเฮดจ์ฟันด์อื่นๆ ทั้งในสหรัฐและประเทศอื่นๆ โดยขาดทุนกันมาก และตอนนี้กองทุนเฮดจ์ฟันด์ลดน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นไทย และหันมาถือเงินสดมากขึ้น เนื่องจากกังวลความเสี่ยงหนี้เสีย สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ซึ่งกระทบบานปลายต่อตลาดหุ้นทั่วโลกจนถึงตลาดหุ้นไทย
"ประชาชาติธุรกิจ" รวบรวมความคิด นักวิเคราะห์ นายแบงก์ นักวิชาการ นักเศรษฐศาสตร์ ต่อสินเชื่อซับไพรมที่กำลัง เป็นปัญหาระดับโลกอยู่ในขณะนี้
ทีดีอาร์ไอห่วง "ส่งออกแย่-บาทแข็งขึ้น"
นายสมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยฝ่ายเศรษฐกิจมหาภาค สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอให้ความเห็นว่า เป็นสิ่งที่น่าห่วงและอาจลุกลามไปสู่ภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด โจทย์ใหญ่ตอนนี้คือ ปัญหานี้จะจำกัดอยู่ในวงแคบแค่สินเชื่อ subprime หรือขยายวงกว้างไปสู่ภาคอสังหา ริมทรัพย์ทั้งหมด เพราะหากเป็นกรณีหลัง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะมีผลทั้งภาคการผลิต ที่แท้จริง และปัญหาเงินทุนเคลื่อนย้าย
"ปัญหาฟองสบู่ในอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐ เป็นเรื่องที่น่าวิตกและต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะถือเป็นความเสี่ยงด้านต่างประเทศที่เพิ่มมากขึ้น ถ้าสหรัฐฟองสบู่แตกประเทศไทยจะ เจอ 2 เด้ง คือ ส่งออกแย่ลง และเงินบาทแข็งค่า แต่ผลที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นปีหน้า ดังนั้นการบริหารเศรษฐกิจของไทยจะยากขึ้นตามไปด้วย" นายสมชัยกล่าว
อย่างไรก็ตาม นายสมชัยหวังว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสหรัฐจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและประเทศอื่นๆ ไม่มากเหมือนในอดีต เพราะปัจจุบันสหรัฐไม่ใช่หัวจักรใหญ่ของเศรษฐกิจโลก แต่มีเศรษฐกิจของประเทศอื่นขึ้นมาทดแทนได้มากช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พยายามดูแลควบคุมปัญหาฟองสบู่ไม่ให้ลุกลามไปภาคอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด เช่น การเพิ่มสภาพคล่องได้รวดเร็วก็จะไม่ขยายวงกว้างออกไป ดังนั้นหากดำเนินการได้ผล ผลกระทบที่เกิดขึ้นไม่น่ารุนแรงมากนัก
ธปท.หวั่นเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้น
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า
หากลุกลามกลายเป็นปัญหาฟองสบู่แตกจะเกิดผลกระทบทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และดอลลาร์อ่อนค่าลงทำให้มีกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายเพิ่มขึ้น
ดังนั้น
ผลกระทบที่ประเทศไทยจะโดน คือ ภาคการส่งออกอาจชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก ส่วนกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายหากไหลเข้ามาในภูมิภาคมากขึ้น อาจทำให้เงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นมาก กรณีนี้หากเป็นในอดีตจะเป็นห่วงค่อนข้างมากว่าจะกระทบเงินบาททำให้แข็งค่ามากขึ้น แต่ปัจจุบันเงินบาทกับเงินเยนไม่ได้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันแล้วนับตั้งแต่ญี่ปุ่นมีการทำ curry trade จึงไม่เป็นห่วงมากนักว่าจะทำให้เงินบาทแข็งค่ามากเกินไป อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องติดตามดู คือ อาจมีเงินไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นของไทยมากขึ้น เพราะมีช่องทางเดียวที่เงินทุนจะไหลเข้าได้โดยไม่ติดเงื่อนไขอะไร
พิษฟองสบู่แตกขยายวงใหญ่
ดร.ไสว บุญมา อดีตนักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกให้ความเห็นว่า
วงการเศรษฐกิจและการเงินต่างเห็นพ้องว่า ฟองสบู่ล่าสุดในสหรัฐอเมริกาซึ่งเกิดในภาคอสังหาริมทรัพย์ปะทุแล้วและมีพิษร้ายถึงขนาดทำให้เกิดความล่มจม
ปัจจัยที่ทำให้เกิดฟองสบู่นั่นคือ ราคาบ้านเพิ่มสูงขึ้นไปจนเกินระดับของรายได้ชนิดต่อกันไม่ติด มีหลายอย่างประกอบกัน จากความคิดพื้นฐานไปจนถึงกระบวนการโลกาภิวัตน์ สังคมอเมริกันถือว่าการเป็นเจ้าของบ้านเป็นเป้าหมายสำคัญยิ่งของชีวิต รัฐบาลส่งเสริมการมีบ้านด้วยมาตราต่างๆ โดยเฉพาะทางภาษี การชิงกันซื้อบ้านในย่านที่มีโรงเรียนชั้นนำทำให้ราคาบ้านในย่านนั้น สูงเกินกว่าที่น่าจะเป็น การหลงเชื่อว่าราคาบ้าน จะไม่มีวันตกทำให้ชาวอเมริกันซื้อบ้านเพื่อเป็นการลงทุนด้วยการแตกของฟองสบู่ในภาคเทคโนโลยีเมื่อ 7 ปีที่แล้ว ทำให้นักลงทุนมองหาแหล่งลงทุนใหม่และทุ่มเงินลงไปในภาคอสังหาริมทรัพย์ หลังจากฟองสบู่ในภาคเทคโนโลยีแตกธนาคารกลางของสหรัฐพยายามลดผลกระทบของมันด้วยการลดดอกเบี้ยลงเหลือแค่ 1% ซึ่งต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์ นักเก็งกำไรกระโดดเข้าไปร่วมวงไพบูลย์ด้วย บริษัทสร้างบ้านคาดการณ์ผิดโดยคิดว่าความต้องการซื้อบ้านจะเพิ่มขึ้นเร็วกว่าความเป็นจริงถึงเกือบสองเท่า
ปัจจัยสุดท้ายซึ่งมีลักษณะคล้ายชนวนของปัญหา ได้แก่ สถาบันการเงิน และบริษัทสร้างบ้านใหม่ให้ผู้ซื้อบ้านกู้เงินด้วยมาตรฐานต่ำแล้ว นำหนี้นั้นไปขายให้ผู้อื่นเพื่อนำเงินมาหมุนต่อไป ผู้ซื้อหนี้ส่วนใหญ่ ได้แก่ วานิชธนกิจ บริษัทประกันภัยและกองทุนเพื่อเก็งกำไรทั้งในและนอกประเทศ นอกจากจะลดมาตรฐานของการให้กู้เงินโดยไม่ตรวจดูและประเมินประวัติและรายได้ของ ผู้กู้อย่างถี่ถ้วนแล้ว ผู้ให้กู้จำพวกนี้ยังมักสร้าง "แรงจูงใจ" ให้ผู้กู้เป็นพิเศษโดยให้พวกเขาจ่ายดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราปกติพร้อมกับไม่ต้องจ่ายเงินต้นในช่วง 2-3 ปีแรกอีกด้วย ที่ร้ายยิ่งกว่านั้น ก็คือ กระบวนการกู้และการให้กู้ที่เกิดจากการสมรู้ร่วมคิดกันระหว่างสองฝ่ายเพื่อใช้ข้อมูลเท็จ
ดร.ไสวกล่าวว่า ชนวนดังกล่าวถูกจุดให้ปะทุขึ้นด้วยปัจจัยหลักๆ 2 อย่างประกอบกันนั่นคือ ธนาคารกลางขึ้นดอกเบี้ยจาก 1% เป็น 5.25% ในระหว่างปี 2547-2549 ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ "แรงจูงใจ" ได้เริ่มหมดลง ทำให้ผู้กู้จำนวนมาก ไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนดได้นำไปสู่การยึดบ้านคืนเพื่อขายทอดตลาด จำนวนบ้านที่รอขายอยู่ในตลาดซึ่งมีมากอยู่แล้วเพิ่มขึ้นแบบกะทันหันทำให้ราคาบ้านตกฮวบฮาบอย่างต่อเนื่อง อันเป็นสัญญาณแห่งการปะทุของฟองสบู่และนำไปสู่การล้มละลายของสถาบันการเงินและบริษัทสร้างบ้านที่ไม่มีสายป่านยาวพอ
แต่ปัญหาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น หากขยายออกไปในวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ สถาบันการเงิน กองทุนเพื่อเก็งกำไรและบริษัทขนาดใหญ่เริ่มประสบกับปัญหาชนิดหนักหนาสาหัสแล้ว เช่น ในช่วงเวลา 2 เดือนที่ผ่านมากองทุนเพื่อเก็งกำไรล้มละลาย ไปแล้วถึง 5 แห่งเพราะการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ยังมีกองทุนเพื่อเก็งกำไร อีกส่วนหนึ่งซึ่งกำลังประสบปัญหา ทว่ายังไม่ถึง ขั้นล้มละลาย รวมทั้งกองทุนที่อยู่ไกลถึง ประเทศออสเตรเลียด้วย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 สิงหาคม) บริษัทขนาดยักษ์ชื่อ American Home Mortgage Corp. ซึ่งมีสินทรัพย์ในรูป ของเงินกู้ซื้อบ้านเกือบ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต้องไปขอความคุ้มครองจากศาลเพื่อพักการชำระหนี้ชั่วคราว ปัญหาของบริษัทนี้ซึ่งไม่มีลูกหนี้ชนิด ด้อยมาตรฐานยืนยันว่าพิษของฟองสบู่ได้ขยายออกไปถึงสถาบันที่ไม่มีกิจการในด้านลดมาตรฐานของการให้กู้เงินแล้ว ยิ่งกว่านั้นเนื่องจากบริษัทนี้เป็นหนี้สถาบันการเงินขนาดใหญ่ทั้งในสหรัฐและต่างประเทศ เช่น JP Morgan Chase & Co., Wilmington Trust Co. และ Deutsch Bank AG พิษของฟองสบู่ย่อมจะกระจายออกไปถึงสถาบันการเงินใหญ่ๆ ทั้งในสหรัฐและต่างประเทศด้วย
"เนื่องจากโลกาภิวัตน์ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่าง ในโลกนี้มีความเกี่ยวพันกันอย่างใกล้ชิด พร้อมกับอาจเป็นโรคติดต่อได้ในชั่วเวลาอันสั้นด้วย ฉะนั้นพิษของฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐต่อภาคธุรกิจอื่นและประเทศอื่นจึงอาจหลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ผลกระทบสลับซับซ้อนมาก จึงจะกล่าวถึงบางอย่างเพียงคร่าวๆ เท่านั้น การตกของราคาบ้านซึ่งผู้อยู่ในวงการคาดกันว่าอาจยืดเยื้อต่อไปอีกราว 2 ปีจะมีผลให้การบริโภคของชาวอเมริกันชะลอตัวลงตามการประเมินของธนาคารกลางของสหรัฐ การชะลอตัวนั้นจะยังผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐลดลงจาก 3% เหลือ 2.5% ซึ่งจะนำไปสู่ การลดลงของการนำเข้าด้วย ผู้ที่ขายของให้สหรัฐย่อมขายได้น้อยลง ภาวะเช่นนี้จะมีปฏิกิริยาลูกโซ่ต่อไปอีกหลายทอด"
นั่นเป็นการประเมินตามหลักวิชาที่นักเศรษฐศาสตร์ร่ำเรียนกันมาจากตำราและเหตุการณ์ในอดีต โลกยุคนี้มีทั้งความสลับซับซ้อนที่สูงขึ้นและสถาบันการเงินกับตลาดที่สามารถปรับตัวได้เร็วขึ้น ฉะนั้นผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งจึงพากันมองว่า ฟองสบู่ครั้งนี้ไม่น่าจะมีพิษรุนแรงถึงขนาดที่อาจคาด ได้ตามตำรา อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจและการเงินผันผวนอีกมาก การทำนายจึงต้องพิจารณาปัจจัยอื่นนอกเหนือจากปัญหา ของภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐด้วย
ตลาดมองต่างมุม
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัยและวางแผน บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)
ให้ความเห็นว่าตลาดมองต่างกัน ฝ่ายหนึ่งมองว่าผลกระทบไม่น่ารุนแรง ต่างคนต่างเจ็บตัวกันคนละนิดคนละหน่อย เนื่องจากปัจจุบันสถาบันการเงินต่างๆ มีทุนที่ค่อนข้างแข็งแรง บริษัทต่างๆ มีกระแสเงินสดมาก รวมทั้งปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกดี ส่วนที่มีปัญหาก็แค่ภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐอเมริกา
แต่อีกฝ่ายหนึ่ง จากเดิมที่ไม่กลัวเรื่องความเสี่ยงเลย ตอนนี้เริ่มกลัวก็หวั่นว่าจะลาม โดย เกรงว่าทุกคนจะติดหวัดกันหมด โดยเฉพาะการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ จึงส่งสัญญาณว่าควร หลีกเลี่ยงการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ ผลก็คือ การลดน้ำหนักการลงทุน
"ตอนนี้ไม่มีใครรู้ว่าบรรดาอินเวสต์เมนต์ แบงกิ้งที่เอาซับไพรมไปต่อยอดออกตราสารอนุพันธ์ต่างๆ นั้น วอลุ่มจริงๆ เท่าไหร่ และมี ใครบ้างที่เข้าไปเล่นกับตราสารอนุพันธ์เหล่านั้น ตอนนี้ต่างคนต่างปิดสถานะของตัวเอง"
ปัญหาตอนนี้อาจจะไม่ไปไกลนัก หนี้ที่ปล่อยกู้ให้คนซื้อบ้านที่มีปัญหาในการชำระหนี้ แต่ถ้าเมื่อใดที่ราคาบ้านซึ่งเป็นหลักประกันราคาตกลง ขณะที่ดอกเบี้ยเงินกู้หลังปีแรกไปแล้ว ดอกเบี้ย จะสูงขึ้นซึ่งเป็นภาระของผู้กู้ ยิ่งราคาบ้านที่เป็นหลักประกันลดลงอีก สถาบันการเงินก็จะให้ลูกค้าต้องผ่อนมากขึ้น นอกจากนี้ถ้าหลักประกันราคาบ้านลดลง ซับไพรมก็ใช้สินทรัพย์อันเดียวกันเป็นหลักประกัน ปัญหาก็จะต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ ปัจจุบันราคาบ้านของสหรัฐปรับลงแค่ 25 ที่คาดกันจะต้องปรับลงประมาณ 10%
ขณะเดียวกันในแง่ของซัพพลายบ้านในสหรัฐ ปัจจุบันมีสต๊อกอยู่ประมาณ 8 เดือนของซัพพลายทั้งระบบ ซึ่งปกติควรที่จะอยู่ในระดับ 3 เดือนของซัพพลายทั้งระบบ
ที่ผ่านมาบริษัทเครดิตเรตติ้งได้ลดความน่า เชื่อถือของตราสารอนุพันธ์เหล่านี้ลง หากเครดิต เรตติ้งต่ำกว่าเกณฑ์การลงทุนของกองทุนต่างๆ กองทุนเหล่านี้ก็จะถือต่อไปไม่ได้ ก็ต้องเทขายทิ้ง นั่นจะเป็นปัญหาตามอีกเช่นกัน
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ตามที่ประธานเฟดได้ยืนยันว่า จำนวนสินเชื่อซับไพรมเมื่อเทียบกับจีดีพีของสหรัฐ ถือว่ามีจำนวนน้อย ดังนั้นเมื่อเกิดปัญหาจึงไม่น่าจะลุกลามไปถึงอุตสาหกรรมและประเทศอื่นมาก แต่กรณีที่มีกองทุนหรือสถาบันไปลงทุนในตราสารที่มีซับไพรมเป็นสินทรัพย์อ้างอิง ในระยะสั้นคงจะมีการขายตราสารนั้นออกมา เพื่อไถ่ถอนเอาเงินออกไปคืนผู้ถือหน่วยลงทุน และสร้างความผันผวนในตลาดระยะหนึ่งก่อน จะเข้าสู่ภาวะปกติ
หนี้เน่าซับไพรมไม่จบง่ายๆ
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ ผู้บริหารสายงานตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ปัญหาซับไพรมจะไม่จบลงง่ายๆ เห็นได้จากปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐเกิดขึ้นมาประมาณ 3 ปี ซึ่งได้สร้างนิสัยการใช้จ่ายเกินตัวของคนสหรัฐ ในอดีตที่คนสหรัฐไม่ห่วงต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นก็ทำการรีไฟแนนซ์สินเชื่ออสังหาฯเพื่อนำเงินออกไปใช้จ่าย ผลที่ตามมาคือส่งออกแต่ละประเทศ รวมถึงไทยยังคงเติบโตได้ดี หากเกิดมาตรการที่ทำให้การบริโภคของคนสหรัฐกลับด้านกับปัจจุบันจะดึงการส่งออกของหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยให้ตกลงไปด้วย
"หนี้เสียกลุ่มนี้จะไม่จบง่ายๆ เพราะตอนนี้ เป็นเพียงการเริ่มต้น ความจริงปัญหามีให้เห็นมา 2-3 เดือน เพียงแต่มันเริ่มมารุนแรงเมื่อ 2-3 สัปดาห์ จะใช้เวลานานแค่ไหนในการจัดการปัญหาก็ขึ้นอยู่กับว่า ทางการเขาจะจัดการให้จบอย่างไร ถ้าจัดการด้วยการปรับราคาอสังหาฯ (reprice) คือถ้าราคามันลด 40-50% ก็อาจจะทำให้เกิดวิกฤตได้ แต่อีกทางหนึ่งก็คือ การทำให้เกิดการกู้แพงขึ้นเรื่อยๆ"
นายทรงพลกล่าวว่า ระยะใกล้นี้ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่มีความเชื่อมโยงกับตลาดโลก คงจะมีความผันผวนจาก 2 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ การ unwind carry trade ที่ก่อนหน้านี้การทำ carry trade ในเงินเยนเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะการที่ทางการญี่ปุ่นอนุญาตให้บุคคลธรรมดา รวมถึงนักลงทุนสถาบันนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้ แต่เมื่อเกิดความผันผวนในตลาดขึ้น การทำ carry trade จะลดลง และจะเกิดการขายสินทรัพย์สกุลอื่นโดยเฉพาะดอลลาร์ แล้วกลับมาถือเงินเยนมากขึ้น
ประเด็นถัดมา คือ การที่สถาบันที่ถือตราสารที่มีซับไพรมเป็นสินทรัพย์อ้างอิงออกไป เนื่องจากสภาพตลาดที่ย่ำแย่ลง ต้องจับตาดูว่าจะมีเงินจำนวนมากเพียงใดที่ลงทุนในตราสารประเภทนี้ ที่จะมีการขายออกมา และเงินเหล่านั้นจะต้องไปสู่จุดที่ปลอดภัยและให้ผลตอบแทนดีกว่า ประกอบกับเงินที่จะมาจากทุนสำรองของจีน ซึ่งเป้าหมายหนึ่งคงเป็นตลาดเอเชียรวมถึงไทย ผลที่ตามมาก็คือการแข็งค่าขึ้นของเงินในภูมิภาคนี้
เตือนอย่าวางใจ-เกาะติดข่าว
นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ วัน จำกัด บริษัทร่วมลงทุนระหว่างบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด กับกองทุนอสังหาริมทรัพย์ ทีเอ็มดับบลิว เอเชีย พร็อพเพอร์ตี้ ฟันด์ 1 (TMW Asia Property Fund 1) ภายใต้การบริหารงานของ ไพรมเมอริกา เรียลเอสเตต อินเวสเตอร์ (Primerica Real Estate Investors) และเป็นส่วนหนึ่งในพรูเดนเชียลไฟแนนเชียล อิงก์ (Prudential Financial Inc.) จากสหรัฐอเมริกา ให้ความเห็นว่า ตลาดอสังหาฯเมืองไทยยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงแต่ผู้ประกอบการหรือ นักลงทุนต้องเพิ่มความระมัดระวังและเกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่าวางใจและอย่าเชื่อข่าวที่ออกมาในเชิงที่ว่าหน่วยที่กำกับดูแลจะสามารถรับมือสถานการณ์ได้
"คิดว่ากรณีที่เกิดขึ้นมีกองทุนหรือสถาบัน การเงินบางแห่งเจ็บตัว แต่โดยธรรมชาติเมื่อ รายเก่าถอนตัวออกไปก็ย่อมมีรายใหม่เข้าเสียบแทนอยู่แล้ว ตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่าสายป่านใครลาก ได้ยาวมากน้อยกว่ากันเท่านั้น จึงไม่ต้องกลัวว่าต่างชาติจะถอนทุนออกจากเมืองไทยไปหมด" นายชานนท์กล่าว
ไทยธนาคารแจงลงทุนซับไพรม
นายพีรศิลป์ ศุภผลศิริ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า ธนาคารได้ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ เช่น ตราสาร Collateralized Debt Obligations (CDOs) ซึ่งการลงทุนดังกล่าวได้พิจารณาเรื่องความเสี่ยงโดยดูการจัดอันดับความเสี่ยงของสถาบันจัดเครดิตเรตติ้ง และตราสารที่ธนาคารลงทุนยังคงอยู่ระดับที่น่าลงทุนทั้งสิ้น
โดยธนาคารมีการลงทุนใน CDO คิดเป็น 6.4% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมด และ subprime CDO ที่ไทยธนาคารลงทุนอยู่มีมูลค่า 0.7% ของสินทรัพย์รวมทั้งหมด และธนาคารมีฐานะเป็น นักลงทุนระยะยาว (hold-to-maturity investor) แตกต่างจาก hedge fund ซึ่งมีการกู้ยืมเพื่อนำเงินมาลงทุน และเมื่อเกิดปัญหาจึงมีการขายสินทรัพย์ที่เป็น subprime CDO รวมถึงสินทรัพย์ดีอื่นๆ ออกมาอย่างรวดเร็วในราคาที่ถูกเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ จึงทำให้ตลาดปั่นป่วน
"ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับไทยธนาคารขณะนี้ ยังไม่รับรู้ผลขาดทุน (unrealize loss) ซึ่งต่าง จากเฮดจ์ฟันด์ที่จะเป็นความเสียหายแบบรับรู้ ผลขาดทุนแล้ว (realize loss) เนื่องจาก CDO ที่ไทยธนาคารถืออยู่เป็นปกติทุกอย่าง มีการชำระดอกเบี้ยตามปกติ ซึ่งตราสารที่ถืออยู่มีกำหนด ที่จะไถ่ถอนปี 2556"
นายพีรศิลป์กล่าวว่า ตามเกณฑ์การสำรองแบบอนุรักษนิยม ธนาคารได้ตั้งสำรองเผื่อค่า unrealized loss ไว้ 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 726 ล้านบาท ซึ่งในอนาคตจะมีการสำรองเพิ่มเติมหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้น หรือว่าทางการต้องการให้สำรองหรือไม่
เศรษฐกิจไทยเสี่ยงมาก
นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ซับไพรมเป็นเสมือนเข็มที่ทิ่มแทงให้ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐเกิดฟองสบู่แตกเร็วขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเห็นในราวปลายปีนี้ถึงช่วงต้นปีหน้า คาดว่าปัญหาลามไปถึงภาคเรียลเซ็กเตอร์ เงินทุนเคลื่อนย้ายของประเทศต่างๆ ด้วยซึ่งจะเป็นผลกระทบลูกโซ่ที่น่าวิตกกังวล เพราะเงินลงทุนต่างชาติในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์มีจำนวนมาก และกองทุนเหล่านี้จะจดทะเบียนอยู่ในตลาดสหรัฐ และตัวบริษัทอสังหาริมทรัพย์ก็จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ด้วย ราคาหุ้นก็ต้องได้รับผลกระทบตกลงตามไปด้วย
"เงินลงทุนต่างชาติจะมีสภาพคล่องล้น มากขึ้น และไม่สามารถหาตลาดลงทุนที่จะดูดซับ สภาพคล่องจำนวนมหาศาลได้ จึงทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากตลาดหุ้นสหรัฐ ญี่ปุ่น และไทยที่หวือหวาตาม เงินไหลเข้าออก ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเป็น อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงว่าจะเกิดความผันผวนรุนแรงมากขึ้นด้วย"
ทั้งนี้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็น่าจะได้เห็นปีหน้าจะทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะค่อนข้างเสี่ยงมาก ทั้งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เรียลเซ็กเตอร์ ตลาดเงินและตลาดทุน ขณะที่การเมืองก็ยัง ไม่แน่ว่าจะมีเลือกตั้งหรือไม่ และจะได้เป็นรัฐบาลผสมหรือไม่ และจะมีนโยบายจัดการปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร ปีหน้าทั้งเศรษฐกิจและการเมืองจะเป็นสุญญากาศ ดังนั้นอยากให้ผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนักสัญญาณเตือนภัยและ รีบดำเนินนโยบายตั้งรับ
http://www.matichon.co.th/prachachat/pr ... ionid=0201
news11/08/07
โพสต์แล้ว: เสาร์ ส.ค. 11, 2007 9:11 pm
โดย chartchai madman
แบงก์ชาติชี้ไตรมาส 3,4 ศก.ดีแน่ [ ฉบับที่ 818 ประจำวันที่ 11-8-2007 ถึง 14-8-2007]
ปัจจัยหลักคือส่งออกกระตุ้นเหมือนเดิม
สมาคมธนาคารไทย เผย ธปท.ระบุเศรษฐกิจในไตรมาส 2 มีทิศทางดีขึ้นเล็กน้อย และคาดว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นต่อไปในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ระบุปัจจัยหลักยังมาจากภาคการส่งออกที่เป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ ชี้เศรษฐกิจปี 2551 จะสดใสกว่าปี 2550
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB) ในฐานะประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับธปท.ว่า สมาคมธนาคาร และสมาชิกธนาคารได้มีการ ประชุมถึงภาพรวมของธุรกิจประจำปี ซึ่งจะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง โดยการประชุมในครั้งนี้ถือเป็นนัดครั้งแรกของปีนี้ โดยเนื้อหาในการ ประชุมในวันนี้ได้มีกล่าวถึงเรื่องใหญ่ๆ 3 เรื่อง คือเรื่องภาวะเศรษฐกิจ และทิศทางภาวะเศรษฐกิจ โดยธปท.ได้รายงานว่า ภาวะเศรษฐกิจในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
มีทิศทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย และเชื่อว่าน่าจะดีขึ้นต่อไปในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 โดยภาคการส่งออกยังเป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจในปี 2551 จะดีขึ้นกว่าปี 2550
ขณะที่การบริโภค การลงทุนก็ยังขยายตัวได้ดี ขณะเดียวกันธปท.ได้รายงานถึงแนวโน้มของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของระบบธนาคารพาณิชย์ว่า ในไตรมาส 2 นี้ NPL ได้ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ NPL ที่เพิ่มขึ้นเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามธปท.ก็ได้กำชับให้ธนาคารพาณิชย์ดูแล และบริหารความเสี่ยงให้ในการปล่อยสินเชื่อ เพื่อไม่ให้เกิด NPL มากเกินไป
ธปท.มองว่า NPL ที่เพิ่มขึ้นนี้ สามารถควบคุมได้ หากธนาคารพาณิชย์สามารถดูแลและบริหารความเสี่ยงได้เป็นอย่างดีก็ไม่น่าจะเกิดปัญหา ซึ่งเรื่องของ NPL เรามองว่าเป้าหมายที่ธปท.จะทำให้ลดเหลือ 2% ของสินเชื่อทั้งระบบคงเป็นไปได้ยาก ส่วนเรื่องหนี้เสียที่มีการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว แต่กลับมาเป็นหนี้เสียใหม่ (Re-Entry) นั้น ก็เห็นว่าเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจขาลง นายอภิศักดิ์ กล่าว
นายอภิศักดิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ก็มีการพูดคุยถึงแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ฉบับที่ 2 (มาสเตอร์แพลน) ที่จะนำมาใช้กับสถาบันการเงิน โดยขอให้ใช้เวลาที่เหลือให้สถาบันการเงินได้มีการเตรียมตัวเพื่อรองรับแผนที่จะประกาศใช้ในระยะต่อไป ที่คาดว่าจะสามารถสรุปแผนที่ชัดเจนได้ในต้นปีหน้า และเริ่มดำเนินการในปี 2551 และ 2552 อย่างไรก็ตามนายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ในการประชุมวันนี้ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องสถานการณ์ค่าเงินบาท แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ตามแผนมาสเตอร์แพลนฉบับที่ 2 จะเน้นให้ระบบสถาบันการเงินมีการเติบโตที่มีประสิทธิภาพ และมีผู้เล่นราย ใหม่มีการแข่งขันมากขึ้น และเพื่อให้สถาบันการเงินสามารถตอบสนองความต้องการทางด้านการบริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น สำหรับสาระสำคัญของมาสเตอร์แพลนฉบับที่ 2 มีด้วยกัน 3 เรื่อง คือ การเพิ่มประสิทธิภาพระบบสถาบันการเงิน โดยสนับสนุนให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ทั้งธนาคารพาณิชย์ไทยและธนาคารต่างชาติ และระหว่างธนาคารพาณิชย์กับบริษัทปล่อยสินเชื่อที่ ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) รวมทั้งการเปิดเสรีของระบบสถาบันการเงิน เช่น การเปิดเสรีขอบเขต ธุรกิจที่สถาบันการเงินสามารถทำได้มากขึ้น เปิด ให้สามารถเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แก่ลูกค้าได้มากขึ้น รวมทั้งเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาในระบบมากขึ้น โดยเฉพาะสถาบันการเงินต่างชาติ
และสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีการบริหารงานที่มีต้นทุนต่ำและมีประสิทธิภาพ ช่วยขจัดอุปสรรคต่างๆ เช่น เรื่องข้อกฎหมาย และระบบภาษี ซึ่งธปท.พยายามดูว่ามีภาษีอะไรบ้างที่ยังเป็นข้อจำกัดในการทำธุรกรรมทางการเงิน รวมทั้งการพัฒนาให้เกิดองค์กรหรือสถาบัน ที่จะช่วยในเรื่องของการตัดสินใจ มีระบบข้อมูลที่ดีในการพัฒนาระบบข้อมูลพื้นฐานการบริหารความเสี่ยง
ด้านนายปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทิสโก้ กล่าวว่า นอกจาก มีการพูดคุยเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น และการบริหารภาพรวมของ ธนาคารพาณิชย์แล้ว ธปท.ได้มีการหารือและสอบถามถึงความพร้อมในการรองรับแผนในการดำเนินการของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ฉบับ 2 และ บาร์เซล 2 ด้วย
http://www.siamturakij.com/home/news/di ... ws_id=5469
news13/08/07
โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 13, 2007 12:53 pm
โดย chartchai madman
เฟดคงอัตราดอกเบี้ย 5.25% แบงก์รุกหนักสินเชื่อส่วนบุคคล - 13/8/2550
เฟดคงอัตราดอกเบี้ย 5.25% แบงก์รุกหนักสินเชื่อส่วนบุคคล
++ ประมวลข่าวความเคลื่อนไหว ธุรกิจตลาดเงิน-ตลาดทุน ระหว่างวันที่ 3-9 ส.ค.2550
สุดท้ายนักวิเคราะห์คงคาดเดาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐได้ถูกต้อง ว่าเฟดจะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจาก 5.25% แน่นอน ทำให้ทิศทางดอกเบี้ยในประเทศไทยอาจจะลดลงได้อีก ดังนั้นนอกจากการระดมทุนไปกับกองทุนเปิดเอฟไอเอฟที่กำลังคึกคักกันอย่างมากแล้ว เห็นจะมีอีกตลาดหนึ่งที่สถาบันการเงินเร่งทำสงครามแย่งชิงลูกค้ากันอย่างสนุก คือ ตลาดสินเชื่อส่วนบุคคล
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ PLC Junior หรือ Personal Line of Credit เป็นสินเชื่อวงเงินสดพร้อมใช้ เจาะกลุ่มลูกค้าที่มีรายได้ 10,000-15,000 บาท หรือจะเป็นสินเชื่อบุคคล ภายใต้ชื่อ 3 ชัวร์ คือ ดอกเบี้ยถูกกว่า รับประกันการอนุมัตสินเชื่อถ้าคุณสมบัติครบ และรับประกันรู้ผลภายใน 3 วันทำการ ด้านธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย เปิดบริการ ทองแลกเงิน โดยให้วงเงินกู้ยืมสูงสุด 1 แสนบาทต่อราย รับจำนำทองโดยคิดดอกเบี้ย 0.99% ต่อเดือน สามารถเลือกระยะเวลาผ่อนได้เอง ตั้งแต่ 2-6 เดือน ส่วนยูโอบี มีแคมเปญ ยูโอบี-โอแคช และบจก.จีอีมันนี่ มีแคมเปญ แคชเมนู ซีรี่ส์ 2 ในขณะที่แบงก์ใหญ่จะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลเป็นพิเศษ เพราะในแต่ละปีมี NPL เกิดขึ้นจากสินเชื่อดังกล่าว 5-7%
อย่างไรก็ตามทุกปัญหาเกิดจากน้ำมือมนุษย์ เมื่อวันที่ 6 ส.ค.50 จึงเกิดองค์กรสำคัญทางการเงิน คือสถาบันนักวางแผนทางการเงินแห่งประเทศไทย (Institute of Financial Planner of Thailand: IFPT) เพื่อเป็นองค์กรที่วางมาตรฐานการอบรม ทดสอบ และออกใบอนุญาต CFP ให้เป็นนักวางแผนการเงินอาชีพ
เทมาเส็กกำไรรูด 29%
รหัสข่าว 10310069: 03/08/50: ผู้จัดการรายวัน/กรุงเทพธุรกิจ/มติชน/ข่าวหุ้น/The Nation/Bangkok Post
นายเอส ธนาบาลาน ปธบ.เทมาเส็ก ระบุว่า ในปีงบการเงินที่สิ้นสุด ณวันที่ 31 มี.ค.50 มีรายได้ 74,600 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ เป็นกำไรสุทธิ 9,100 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 12,800 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือลดลง 29% เนื่องจากการเข้าไปลงทุนในหุ้นชิน คอร์ป ซึ่งบล.เคจีไอ โดยนายอดิศักดิ์ คำมูล กล่าวว่า เป็นการรรับรู้ทางบัญชี ที่เข้าลงทุนหุ้น SHIN เมื่อ ม.ค.49 ราคา 49.25 บาท แต่เมื่อสิ้นมิ.ย.50 หุ้นมาอยู่ที่ 30 บาท ทำให้ขาดทุน 19 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ยังมีหุ้น ADVANCE SATTEL ที่ยังไม่รับรู้รายได้อีก
BT ถูกสอบทุจริตปล่อยกู้เพรซิเดนท์
รหัสข่าว 08100176: 04/08/50: สยามรัฐ 03/08/50: ผู้จัดการรายวัน/ข่าวหุ้น/ไทยโพสต์/กรุงเทพธุรกิจหุ้น/มติชน/คมชัดลึก/เดลินิวส์/ โลกวันนี้/โพสต์ทูเดย์/ไทยรัฐ/แนวหน้า/กระแสหุ้น/Bangkok Post/The Nation
นายสาทร โตโพธิ์ไทย ผอ.สำนักกฎหมายและติดตามหนี้ ฝ่ายจัดการกองทุน ธปท. กล่าวว่า กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ผู้ถือหุ้นใหญ่ ธ.ไทยธนาคาร ได้ตั้งกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการปล่อยสินเชื่อให้แก่ บจก.เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง กรุ๊ป รวมถึงการเข้าลงทุนในตราสารหนี้ตปท.ว่าเ ป็นไปตามจรรยา บรรณในการดำเนินการหรือไม่ โดยต้องสอบให้เสร็จภายใน 30 วัน ซึ่งคาดว่าจะรู้ผล ก.ย.นี้ ในขณะที่ ผอ.อาวุโส สนก.ผู้จัดการใหญ่ เผยว่าได้ทำการยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ DSI แล้ว เมื่อ 9 ก.ค.และได้ยื่นฟ้องคดีเช็ค และฟ้องคดีแพ่งต่อบริษัทเพรซิเดนท์ฯ ควบคู่กันไปด้วย พร้อมนี้ได้ตั้งสำรองไปแล้ว 695 ล้าน ใน Q2
หุ้นดีดกลับเพิ่ม 0.9%
รหัสข่าว 08410019: 04/08/50: ไทยโพสต์/แนวหน้า/Bangkok Post
ภาวะการลงทุนใน ตลท.เมื่อวันที่ 3 ส.ค.50 บรรยากาศคึกคัก ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 19,940.17 ล้านบาท ทำให้หุ้นปิดในแดนบวกที่ระดับ 837.73 จุด เพิ่มขึ้น 7.44 จุด หรือ 0.9% โดยต่างชาติยังขายต่อเนื่องอีก 1,141.42 ล้านบาท นักวิเคราะห์ธนชาติ กล่าวว่า หุ้นไทยรีบาวด์ตามตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากนักวิเคราะห์ต่าง ประเทศออกมา ระบุว่าหนี้เสียอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐจะกระทบหุ้นในเอเชียเล็กน้อยเท่านั้น
แบงก์ไทยเครดิตรุกจำนำทอง
รหัสข่าว 08100181: 05/08/50: ฐานเศรษฐกิจราย 3 วัน 03/08/50: กรุงเทพธุรกิจหุ้น/ผู้จัดการรายวัน/ไทยรัฐ/มติชน/สยามรัฐ/แนวหน้า/The Nation
นายมงคล ลีลาธรรม ปธบ.และกก.ผจก.ธ.ไทยเครดิตเพื่อรายย่อย เผยว่า ธปท.อนุญาตให้ธนาคารรับจำนำทองได้ โดยใช้ชื่อบริการ ทองแลกเงิน ให้วงเงินกู้ยืมไม่เกิน 100,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 0.99% ต่อเดือน ซึ่งลูกค้าจะกำหนดระยะเวลาการผ่อนชำระได้เองตั้งแต่ 2-6 เดือน โดยตั้งเป้าไว้ที่ 90 ล้าน ภายในปีนี้ บริการของธนาคารจะต่างจากโรงรับจำนำตรงที่ กรณีของหลุดจำนำจะมีการขายทอดตลาดเพื่อใช้หนี้ ถ้าเหลือจะคืนให้ผู้กู้ คาดว่าจะเติบโตได้ 20% แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าธุรกิจรับจำนำจะโต 16% หรือ 10.67 หมื่นล้านบาท
สแตนชาร์ดบริการสินเชื่อพันธ์ใหม่
รหัสข่าว 08100180: 06/08/50: ประชาชาติธุรกิจ (ราย 3 วัน) 05/08/50: ฐานเศรษฐกิจ ราย 3 วัน 03/08/50: ผู้จัดการรายวัน/แนวหน้า/ข่าวหุ้น
นายยุทธชัย เตยะราชกุล ผช.กก.ผจก.ใหญ่ ฝ่ายบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคล ธ.สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) เผยว่า ได้เปิดตัวแคมเปญใหม่ด้านสินเชื่อบุคคล 3 ชัวร์ รับประกัน 3 แบบคือ ดอกเบี้ยที่เสนอถูกกว่าสินเชื่อบุคคลประเภทเดียวกันจากสถาบันการเงินอื่น, หากคุณสมบัติผู้สมัครเป็นไปตามเงื่อนไข จะได้รับการอนุมัติสินเชื่อ และผู้สมัครจะรู้ผลการขอสินเชื่อภายใน 3 วันทำการ ซึ่งคุณสมบัติของผู้สมัครจะต้องมีรายได้ขั้นต่ำ 20,000 บาท ไม่มีประวัติผิดนัดชำระหนี้ภายใน 12 เดือน และภาระหนี้รวมกันทุกสถาบันการเงินต้องไม่เกิน 40% ของรายได้ต่อเดือน ทั้งนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อประเภทนี้ไว้ 8,000 ล้าน ขยายตัว 20% ขณะที่มี NPL อยู่ที่ 1.5-2%
แบงก์กสิกร เข้มสินเชื่อบุคคล
รหัสข่าว 08100184: 06/08/50: แนวหน้า/บ้านเมือง/พิมพ์ไทย 05/08/50: ฐานเศรษฐกิจ ราย 3 วัน
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผอ.อาวุโสฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ และการตลาดสินเชื่อผู้บริโภค ธ.กสิกรไทย เผยว่า ธนาคารมีเกณฑ์ในการอนุมัติสินเชื่อที่เข้มงวด ทำให้เอ็นพีแอลอยู่ในระดับต่ำเพียง 5% ไม่เน้นหนักสินเชื่อส่วนบุคคลเพราะมีความเสี่ยงสูง และไม่มีหลักประกัน ซึ่งปัจจุบันยอดรวมสินเชื่อบุคคลคงค้างทั้งระบบของธนาคารอยู่ที่ 4,000 ล้านบาท โดยตั้งเป้าสิ้นปี 50 ปล่อยสินเชื่อได้ 1,200 ล้านบาท ซึ่งครึ่งปีทำได้แล้ว 600 ล้าน
ETF ไม่กระทบกองทุน SET 50
รหัสข่าว 08240036: 06/08/50: โพสต์ทูเดย์
นายสมจินต์ ศรไพศาล กก.ผจก.บลจ.วรรณ กล่าวว่า ThaiDEX SET50 ETF ซึ่งเป็นอิควิตี้ อีทีเอฟ กองแรกของไทย จะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในกองทุนรวม SET50 เนื่องจากผู้ลงทุนจะนำเงินใหม่เข้ามามากกว่า น่าจะเพิ่มขนาดและความนิยมในกองทุนต่างๆ มากขึ้น ด้านนางโชติกา สวนานนท์ กก.ผจก.บลจ.ทหารไทย กล่าวว่า การลงทุนใน SET50 เป็นการลงทุนระยะยาวมากกว่าการซื้อขายแบบเรียลไทม์เหมือน ETF ขณะที่บลจ.เอ็มเอฟซีให้ความเห็นว่าไม่มีความต่างกันมาก แต่ค่าธรรมเนียมของ ETF จะถูกกว่า ส่วนบลจ.ห่วงเรื่องสภาพคล่อง เพราะถ้ามีน้อย การซื้อขายต้องมีดิสเคาต์ ทั้งนี้จะเริ่มขายทั่วไปวันที่ 21-28 ส.ค.นี้ และเทรด 6 ก.ย.50
ทิสโก้ออก TISCO SET50 LINK FUND
รหัสข่าว 08240038: 07/08/50: กรุงเทพธุรกิจหุ้น/ผู้จัดการรายวัน/กระแสหุ้น/ข่าวหุ้น
นายธีรนาถ รุจิเมธาภาส รองกก.ผจก.สายธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล บลจ.ทิสโก้ เผยว่า ระหว่างวันที่ 14-21 ส.ค.50 จะเปิดขายกองทุนเปิดทิสโก้ เซ็ท 50 ลิงค์ฟันด์ อายุโครงการ 1 ปี 9 เดือน 15 วัน มูลค่าโครงการ 2,000 ล้านบาท ลงทุนในตั๋วสัญญาใช้เงินที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง อันดับความน่าเชื่อ ถือA- โดยมีผลตอบแทนอ้างอิงกับอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนี SET50 ทั้งนี้กองทุนจะมีการกำหนดกลไกทำให้ไม่นับอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนี SET50 ในงวดที่ติดลบมาคำนวณ
หุ้นไทยดิ่งเหว 21 จุดต่างชาติทิ้ง
รหัสข่าว 08410021: 07/08/50: แนวหน้า/ผู้จัดการรายวัน/คมชัดลึก/โพสต์ทูเดย์/เดลินิวส์/โลกวันนี้/กรุงเทพธุรกิจหุ้น/ กระแสหุ้น/ทันหุ้น/ข่าวสด/TheNation/Bangkok Post
ภาวะการซื้อขายหลักทรัพย์ในวันที่ 6 ส.ค.50 ดัชนีหุ้นไทยยังคงปรับตัวลงต่อเนื่อง เป็นผลจากการปรับ ตัวลง 281 จุดของดัชนีดาวโจนส์สหรัฐเมื่อวันที่ 3 ส.ค.50 ส่วนหนึ่งมาจากข่าวเอสแอนด์พีลดเกรดอันดับทิศทางของแบร์สเติร์นส วาณิชธนกิจรายใหญ่ในวอลล์สตรีท ว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับตราสารหนี้ที่ค้ำประกันโดยหลัก ทรัพย์ประเภทซับไพร์ม ประกอบกับตัวเลขการจ้างงานที่ประกาศออกมาแย่กว่าที่คาด ฉุดให้ตลาดหุ้นทั่วเอเชียลดลงรุนแรง รวมถึงดัชนีหุ้นไทยด้วยมาปิดตลาดที่ 815.87 จุด ลดลง 21.86 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายรวม 1.8 หมื่นล้าน โดยนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2.69 พันล้าน ซึ่งเริ่มขายสะสมมาตั้งแต่ 31 ก.ค.-ปัจจุบันรวม 1.56 หมื่นล้าน
ไทยเครดิตเปิด 6 เดือนยอดฝาก 1.5 พันล้าน
รหัสข่าว 08100188: 07/08/50: ทันหุ้น 06/08/50: แนวหน้า
นายมงคล ลีลาธรรม ปธบ.และกก.ผจก.ธ.ไทยเครดิตเพื่อรายย่อย หรือ TCR เผยถึงผลประกอบการ 6 เดือนแรกปี 50 มีเงินฝากทั้งสิ้น 1,500 ล้านบาท จากจำนวนลูกค้ากว่า 3,000 ราย เป็นลูกค้ารายย่อยส่วนใหญ่เฉลี่ยบัญชีละ 200,000 บาท ในขณะที่ปล่อยสินเชื่อได้ทั้งสิ้น 1,200 ล้านบาท จากเป้าทั้งปี 3,500 ล้านบาท เป้าหมายปีนี้เปิดสาขาเพิ่ม 3 สาขาจากที่ธปท.อนุมัติไว้ 21 สาขา ส่วนผลิตภัณฑ์จะออกมาเพื่อรายย่อย เช่น เงินฝากออมทรัพย์พิเศษ ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราปกติของตลาด และสินเชื่อทองแลกเงิน คาด 3 ปีถึงจุดคุ้มทุนและเทรดในตลท.ได้
สาขา ธ.กรุงไทย เน้นบริการคุณภาพ
รหัสข่าว 08100182: 07/08/50: กรุงเทพธุรกิจหุ้น 06/08/50: กระแสหุ้น
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กก.ผจก.ธ.กรุงไทย เผยว่า ตั้งแต่วันที่ 6 ส.ค.50 สาขาทั่วประเทศของธนาคารจะรับประกันคุณภาพบริการ 4 ประเภท คือ บริการหน้าเคาเตอร์ไม่เกิน 3 นาที, อนุมัติสินเชื่อกรุงไทยธนวัฏ ภายใน 5 วัน, อนุมัติสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยภายใน 7 วัน และเปิดบัญชีใหม่พร้อมทำบัตรเอทีเอ็มภายใน 10 นาที โดยกำหนดวันที่ 2 ม.ค.51 ทุกสาขาจะบริการเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งหมด ซึ่งลูกค้าจะได้รับการต้อนรับที่อบอุ่น ด้วยธง สวัสดีบริการ ทั้งนี้สาขาบ้านแพ้ว ได้รับรางวัล Star of QA ประจำปี 2549 ที่ได้มาตรฐานบริการมากที่สุด
แบงก์ไทยรับลงทุนซีดีโอ 1.4 หมื่นล้าน
รหัสข่าว 08100195: 08/08/50: กรุงเทพธุรกิจหุ้น/มติชน/โพสต์ทูเดย์/ข่าวหุ้น/ไทยรัฐ/สยามรัฐ/กระแสหุ้น/ไทยโพสต์/ Bangkok Post/The Nation
นายพีรศิลป์ ศุภผลศิริ กก.ผจก.ใหญ่ธ.ไทยธนาคาร กล่าวว่า ได้ศึกษาการลงทุนในตราสารหนี้ตปท.ที่มีสินทรัพย์อ้างอิง CDOs (Collateralized Debt Obligations) ในช่วง 4-5 ปีก่อนโดยคณะกรรมการได้อนุมัติหลักการนำเงินไปลงทุนจำนวน 7 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยง ซึ่งขณะนี้มีการลงทุนในตราสารหนี้ดังกล่าวไป 14,463 ล้านบาทหรือ 6.48%ของสินทรัพย์รวม โดยลงทุนในตราสารซีดีโอ 14 ชนิด ส่วนใหญ่เรทติ้งระดับ BBB+ มีผลตอบแทนสูงกว่า 9% มีเพียง Coriolanus Series 39 จำนวน 50 ล้านดอลลาร์ที่ได้รับผลกระทบจากการเก็งกำไรที่เกี่ยวข้องกับซับไพร์ม ทั้งนี้ธปท.เข้ามาตรวจสอบตลอดการลงทุน และแบงก์ได้ตั้งสำรองไว้แล้ว 276 ล้านบาท แต่ในวันที่ 29 ส.ค.นี้จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการลงทุนดังกล่าว
ตปท.เทขายหุ้น แต่ยังไม่ขนเงินออก
รหัสข่าว 08600019: 08/08/50: คมชัดลึก/ผู้จัดการรายวัน/มติชน/ทันหุ้น/ไทยโพสต์/เดลินิวส์/โลกวันนี้/กรุงเทพธุรกิจ/ The Nation
ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวว่า ได้หารือกับรมช.คลังของสหรัฐก่อนหน้านี้แล้ว ได้รับคำยืนยันว่ารับมือกับผลกระทบการทรุดตัวของตลาดหุ้นนิวยอร์กได้ ซึ่ง ธปท.เองมีเครื่องมือที่ดีพอควบคุมไม่ทำให้ ตลาดผันผวนหนัก และการยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% นั้นต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ด้านน.ส.นิตยา พิบูลย์รัตนกิจ ผช.ผู้ว่าการสายตลาดการเงิน ธปท. เผยว่าแม้ต่างชาติจะขายหุ้นออกมามาก รวม 1.56 หมื่นล้านนั้นดูจากระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ได้อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ย่อมแสดงว่าเงินทุนยังไม่ได้ไหลออกไปจากประเทศ ทั้งนี้หุ้นไทยวันที่ 7 ส.ค.50 ผันผวนตลอดวัน ดัชนีปิดที่ 814.40 จุด ลดลง 1.47 จุดหรือ 0.18% ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 16,937.29 ล้านบาท ซึ่งนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 2,608.83 ล้านบาท
กรุงไทย ดึงฝาก 8 สกุล
รหัสข่าว 08100196: 08/08/50: ผู้จัดการรายวัน/ข่าวหุ้น/สยามรัฐ/กระแสหุ้น/โลกวันนี้
นายสหัส ตรีทิพยบุตร รองกก.ผจก.สายงานบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาด ธ.กรุงไทย เผยว่า ได้เปิดรับฝากเงินต่างประเทศ 8 สกุล เช่น ดอลลาร์สหรัฐ ปอนด์ เยนญี่ปุ่น ออสเตรเลียดอลลาร์ ฯลฯ และเตรียมจัดโปรโมชันพิเศษให้ลูกค้า เช่น ฟรีค่าธรรมเนียมในการโอนเงินสกุลต่างประเทศ 0.25% หรือ 500 บาทต่อรายการ ระหว่างวันที่ 6 ส.ค.-31 ธ.ค.50 ทั้งนี้ได้กำหนดเงินฝากขั้นต่ำไว้ที่ 3,000 ดอลลาร์ จากเดิมที่ 10,000 ดอลลาร์ โดยจะให้ดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินฝากบาท เช่น ดอลลาร์สหรัฐดอกอยู่ที่ 3.4-4.1% ดอลลาร์ออสเตรเลียดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.65-4.7%
ต่างชาติชะลอขาย กองทุนไล่ซื้อ
รหัสข่าว 10330006: 09/08/50: กระแสหุ้น/ผู้จัดการรายวัน/ไทยโพสต์/โพสต์ทูเดย์/Bangkok Post
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เมื่อวันที่ 7 ส.ค.50 มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25% เนื่องจากความกังวลในเรื่องเงินเฟ้อ แม้ว่าจะเป็นช่วงเศรษฐกิจขาลงก็ตาม ในขณะที่หุ้นไทยวันที่ 8 ส.ค. ปิดเพิ่มขึ้น 17.24 จุดที่ 831.64 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายรวม 17,967.22 ล้าน นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 548.53 ล้านบาท ซึ่งนักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 650.35 ล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มพลังงานนำตลาด
แบงก์รับเสียลูกค้า หนีออกหุ้นกู้รีไฟแนนซ์
รหัสข่าว 08100203: 09/08/50: ฐานเศรษฐกิจ ราย 3 วัน
นายบุญพิทักษ์ หวังเจริญ รองกก.ผจก.ธ.กสิกรไทย เผยว่า ในครึ่งปีหลังบริษัทขนาดใหญ่ เช่น บีอีซีแอล ปตท. ปูนซิเมนต์ไทย ฯลฯ ที่เป็นลูกหนี้ของธนาคาร เตรียมออกหุ้นกู้ เพื่อรีไฟแนนซ์ รวมทั้งเพื่อขยายธุรกิจเพิ่ม แต่จะไม่กระทบต่อยอดการขยายตัวสินเชื่อของธนาคาร คาดว่าปีนี้ทั้งปีจะมีการออกหุ้นกู้ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท หลังจากที่ครึ่งแรกปี 50 ได้ออกไปแล้ว 79,800 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นการลดต้นทุนจากดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 7% แต่หุ้นกู้ต้นทุนดอกเบี้ยประมาณ 4-5% เท่านั้น
บล.ฟิลลิป รุกกองทุนผ่านเน็ต
รหัสข่าว 08220022: 09/08/50: โพสต์ทูเดย์/เดลินิวส์/ข่าวหุ้น/ผู้จัดการรายวัน
นายสุชาย สุทัศน์ธรรมกุล กก.ผจก.บล.ฟิลลิป (ไทย) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในกองทุนต่างๆเติบโตขึ้นต่อเนื่อง บริษัทจึงเพิ่มเป้าจำนวนบัญชีลูกค้าซื้อขายหน่วยลงทุนผ่าน Phillip Funds Super Mart ได้ถึง 2 พันบัญชี คิดเป็นมูลค่าซื้อขายหน่วย 2 พันล้านบาทภายในปี 50 ขณะที่ปัจจุบันมีลูกค้า 1,000 บัญชี มีมูลค่าซื้อขายหน่วยลงทุน 1,000 ล้านบาท ทั้งนี้ยังเป็นศูนย์กลางในการซื้อขายสับเปลี่ยนหน่วยลงทุน ภายใต้แนวคิด Shop SmartShop@Phillip Funds SuperMart ที่เปิดบัญชีเพียงครั้งเดียวสามารถซื้อขาย สับเปลี่ยนกองทุนต่าง จาก บลจ.19 แห่ง กว่า 500 กองทุน โดยทำรายการผ่านอินเทอร์เน็ตหรือผ่านเจ้าหน้าที่ทางโทรศัพท์ได้
siamrath
http://www.siamrath.co.th/Economic.asp?ReviewID=179545
news13/08/07
โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 13, 2007 5:09 pm
โดย chartchai madman
บีโอไอชี้ต่างชาติมั่นใจลงทุน7เดือนยอดขอส่งเสริมพุ่ง2.7แสนล.
13 สิงหาคม พ.ศ. 2550 10:49:00
"บีโอไอ" ชี้ยอดขอรับส่งเสริม 7 เดือนสูงกว่า 2.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 29%สะท้อนต่างชาติยังมั่นใจศักยภาพการลงทุนในไทย ระบุ อุตฯปิโตรเคมี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิคส์ และเอทานอล สนใจลงทุนมากสุด โดยญี่ปุ่นครองแชมป์ลงทุนมากอันดับ 1 ยอมรับนักลงทุนยังกังวลปัจจัยการเมืองไทย เตรียมเร่งเดินสายสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ :
นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) เปิดเผยว่า ในช่วง 7เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.) ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุน มีจำนวน 756 โครงการ มูลค่าลงทุน 2.72 แสนล้านบาท เกิดการจ้างงาน 127,149 คน เพิ่มขึ้น 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 728 โครงการมูลค่าลงทุน 211,000 ล้านบาท จ้างงาน 119,977 คน สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนต่างชาติยังมีความเชื่อมั่นศักยภาพการลงทุนในไทย ทำให้การลงทุนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้โครงการลงทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวส่วนใหญ่ เป็นโครงการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงานทดแทน เช่น การผลิตเอทานอล ซึ่งเมื่อแยก 7 ประเภทกิจการลงทุน พบว่า กิจการประเภทบริการ สาธารณูปโภคมีมูลค่าลงทุนสูงสุดประมาณ 6.6 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นอุตสาหกรรมเคมี กระดาษและพลาสติก มูลค่าลงทุน 6.07 หมื่นล้านบาท อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า มูลค่าลงทุน 4.51 หมื่นล้านบาท ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มูลค่าลงทุน 4.21 หมื่นล้านบาท กิจการด้านเกษตรและผลิตผลการเกษตร มูลค่าลงทุน 2.98 หมื่นล้านบาท เหมืองแร่ เซรามิกส์และโลหะขั้นพื้นฐาน มูลค่าลงทุน 2.17 หมื่นล้านบาทและอุตสาหกรรมเบา มูลค่าลงทุน 7,200 ล้านบาท
นายสาธิต กล่าวด้วยว่า นักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง ยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่น จำนวน 199 โครงการ ทุนจดทะเบียน 1.03 หมื่นล้านบาท รองลงมาเป็นสหภาพยุโรปและสิงคโปร์ ส่วนโครงการลงทุนที่คนไทยถือหุ้น 100% มีจำนวน 256 โครงการ มูลค่าลงทุน 8.89 หมื่นล้านบาท โครงการที่ต่างชาติถือหุ้น 100% มีจำนวน 247 โครงการ มูลค่าลงทุน 8.5 หมื่นล้านบาท และโครงการที่คนไทยร่วมทุนกับต่างชาติ มีจำนวน 253 โครงการ มูลค่าลงทุน 9.85 หมื่นล้านบาท
"บรรยากาศการลงทุนโดยรวมของไทยถือว่ายังดีอยู่ ทำให้ต่างชาติมีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาใช้เป็นฐานการลงทุนมากขึ้น ขณะที่ปัจจัยเงินบาทแข็งค่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อนักลงทุนที่ได้บีโอไอ เพราะส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนต่างชาติ มีเพียงกิจการของคนไทยที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลักเท่านั้น เช่นเดียวกับเรื่องของ พ.ร.บ.ประกอบการธุรกิจคนต่างด้าว เพราะนักลงทุนต่างชาติที่ได้บีโอไอสามารถถือหุ้นได้ 100% อยู่แล้วจึงไม่ได้ผลกระทบแม้กฏหมายจะมีปัญหา"นายสาธิตย้ำ
อย่างไรก็ตามต่างชาติยังมีความกังวลต่อปัญหาการเมืองในประเทศ ซึ่งบีโอไอคงจะต้องเร่งเดินสายสร้างความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่ก็มั่นใจว่าหากรัฐรรมนูญผ่านประชามติ และมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น จะช่วยให้บรรยากาศการเมืองมีความชัดเจนและคลี่คลายขึ้น ต่างชาติจะยิ่งมั่นใจศักยภาพการลงทุนในไทยมากขึ้น ทำให้เชื่อว่ายอดการลงทุนในปีนี้จะเป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท เห็นได้จากตัวเลขการลงทุนของแต่ละเดือนที่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับการเดินสายโรดโชว์เพื่อชักจูงการลงทุนจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเชิงรุกแบบเคาะประตูบ้านในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะสร้างความแข็มแข็งของประเทศในอนาคต
http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/1 ... wsid=88950
news13/08/07
โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 13, 2007 6:32 pm
โดย chartchai madman
เริ่มพบสายแร่ทองคำเพิ่ม 2บ.เล็งยื่นผลิตที่พิจิตร-สตูล
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 13 สิงหาคม 2550 11:20 น.
กพร.เผยผลสำรวจสายแร่ทองคำในไทยเริ่มมีเพิ่มขึ้น หลังสำรวจเบื้องต้นพบมีศักยภาพอีก 2 แหล่งในพื้นที่ใหม่ทั้งรอยต่อพิจิตร -เพชรบูรณ์ของบริษัทโกลบอล เวนเจอร์ และจ.สตูลของบริษัทอมันตา คาดเร็วๆ นี้ยื่นขอประทานบัตรผลิต
นายอนุสรณ์ เนื่องผลมาก อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่(กพร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทไทยโกลบอล เวนเจอร์ จำกัด จากออสเตรเลียซึ่งได้รับอาชญาบัตรพิเศษเพื่อสำรวจแร่ในพื้นที่รอยต่อจังหวัดพิจิตรและเพชรบูรณ์จำนวน 13 แปลง และบริษัทอมันตา ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งได้รับอาชญาบัตรฯในพื้นที่ 5 แปลง จ.สตูล กำลังพิจารณาที่จะขอประทานบัตรทำเหมืองทองคำ หลังจากที่ทั้งสองบริษัททำการสำรวจและขุดเจาะหาแร่ทองคำแล้วเบื้องต้นพบว่ามีศักยภาพที่จะสามารถผลิตทองคำได้
สำหรับการขอประทานบัตรเพิ่มเติมของบริษัทอัคราไมนิ่ง จำกัด จำนวน 9 แปลงคิดเป็นพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ซึ่งเป็นเขตรอยต่อจ.พิจิตร และเพชรบูรณ์โดยพื้นที่จะต่อไปทางทิศเหนือจากแหล่งเดิมที่อัคราฯผลิตอยู่แล้วในปัจจุบันนั้น ขณะนี้ได้ส่งเรื่องให้นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎร์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแล้ว
นายอนุสรณ์กล่าวว่า ส่วนกรณีของบริษัทริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครืออัคราไมนิ่งที่ได้รับอาชญาบัตรพิเศษสำรวจ 2-3 แปลงในเขตจ.จันทรบุรีนั้นเบื้องต้นได้ทำการสำรวจผิวดิน และสำรวจทางธรณีวิทยาเท่านั้นยังไม่ถึงขั้นเจาะสำรวจจึงทำให้ยังไม่สามารถบ่งชี้ถึงศักยภาพในการผลิตทองคำได้อย่างชัดเจนคงจะต้องรอเวลาให้การสำรวจมีความคืบหน้าอีกระยะหนึ่งก่อน
ทั้งนี้การสำรวจและผลิตแร่ทองคำของไทยเริ่มมีผู้สนใจมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีตเนื่องจากราคาทองคำมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทำให้มีความคุ้มทุนต่อการผลิตกว่าอดีต ซึ่งจะเห็นว่าราคาทองคำในช่วง 10 ปีหลังของการลอยตัวค่าเงินบาทราคาเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวจากบาทละ 6,000 บาท ขณะนี้เฉลี่ยอยู่ที่บาทละ 10,700-10,800 บาท
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ขณะนี้การจัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ดีบุก และทองคำ แบบใหม่เรียบร้อยแล้ว และกำลังรอประกาศในพระราชกิจจานุเบกษา คาดว่าจะประกาศในช่วงปลายเดือนส.ค.นี้ หรือต้นเดือนก.ย. ซึ่งสาระสำคัญคือปรับปรุงในส่วนของแร่ทองคำ คือปรับจากเดิมที่เก็บค่าภาคหลวงในอัตราเดียวกับ 2.5% ของมูลทองคำ เป็นแบบขั้นบันไดตามราคาทองคำตลาดโลก เมื่อเฉลี่ยแล้วอยู่ที่ 5% ของมูลค่า ซึ่งการปรับปรุงค่าภาคหลวงแร่ทองคำนี้จะสอดคล้องราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้นซึ่งจะมีผลทำให้ค่าภาคหลวงที่เก็บจากทองคำจะเพิ่มขึ้น จากที่เคยเก็บได้ปีละ 60 ล้านบาท ก็จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 110 ล้านบาท เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 50 ล้านบาท
นายชาติ หงส์เทียมจันทร์ ผู้อำนวยสำนักการอนุญาตกพร. กล่าวว่า ปัจจุบันการสำรวจและผลิตทองคำในประเทศไทยมีการขยายตัวมากขึ้นซึ่งล่าสุดเฉลี่ยผลิตปีละ 5-6 ตันทองคำ ซึ่งหากเทียบกับผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกแล้วถือเป็นปริมาณที่น้อยมากก็ตามแต่ก็ถือว่าเป็นธุรกิจหนึ่งที่สร้างงานให้กับคนในชาติและมูลค่าเพิ่มได้สูง ซึ่งปัจจุบันมีการขอยื่นอาชญาบัตรและประทานบัตรเพื่อสำรวจและผลิตทองคำรวมแล้วอย่างน้อย 45,000 ไร่
http://www.manager.co.th/Business/ViewN ... 0000094695
news13/08/07
โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 13, 2007 7:53 pm
โดย chartchai madman
หุ้นไทยยังเป็น''บูมมาร์เก็ต'' ต่างชาติจะวกกลับมาใหม่
โดย ฐานเศรษฐกิจ วัน อาทิตย์ ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2550 04:47 น.
พลังกระแสเงินทุนต่างชาติที่ทะลักเข้าตลาดหุ้นเอเชียรวมตลาดหุ้นไทยเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ผลักให้ทุกตลาดเป็นกระทิง หากในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ภาพพลิกกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ นั่นคือ ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งหนักจากแรงขายของนักลงทุนที่ตื่นตระหนกกับภัยครั้งใหม่จากระบบการเงินของสหรัฐอเมริกาที่มีปัญหาจากภาวะตกต่ำของตลาดสินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือต่ำหรือซับไพร์ม
จากปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งโลกเฝ้าจับตาว่าปัญหาซับไพร์มจะลุกลามกินวงกว้างขนาดไหน และแรงกระเพิ่มที่ตลาดหุ้นไทยจะได้รับมีมากน้อยแค่ไหน ที่สำคัญคือ แล้วที่นักวิเคราะห์ประเมินกันก่อนหน้านี้ว่าเงินลงทุนจากต่างชาติจะผลักให้หุ้นไทยวิ่งไกลถึง 1,000 จุดนั้น จนถึงตอนนี้เสียงเชียร์เงียบงันไปหรือยัง?
ดังนั้นเมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ฐานเศรษฐกิจจึงได้จัดเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง พลังเงินนอก ...ดันหุ้นไทยไปถึงไหน โดยมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น 5 ท่าน ประกอบด้วย นายวิศิษฐ์ องค์พิพัฒนกุล กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายลูกค้าสถาบันและฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทรีนิตี้ จำกัด นายเพิ่มพล ประเสริฐล้ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)พรีมาเวสท์ จำกัด นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ กรรมการผู้จัดการ- หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาการลงทุนส่วนบุคคล บมจ.หลักทรัพย์ ภัทร นายเอกพิทยา เอี่ยมคงเอก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์ บีฟิท และนายวิชชุ จันทาทับ ผู้อำนวยการฝ่ายการลงทุนตราสารทุน บลจ.ไทยพาณิชย์
***นักลงทุนสถาบันไม่ตื่นตระหนก
นายเพิ่มพล กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนสถาบันนั้นมองการลงทุนระยะยาวเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว สำหรับตลาดหุ้นไทยบลจ.พรีมาเวสท์มองในแง่ดี คือ มองพื้นฐานในประเทศโดยยังไม่พูดถึงต่างประเทศ และคิดว่าแนวโน้มปัจจัยพื้นฐานต่างๆน่าจะเริ่มกลับมาชัดเจนขึ้นเมื่อมีการเลือกตั้ง และมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว รวมทั้งดูแนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ ว่ามีแนวโน้มที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆอย่างไร
ตลาดหุ้นเรายังมีพื้นฐานที่ดี อาจจะมีผลกระทบบ้างในระยะสั้นจากปัจจัยต่างประเทศ(ปัญหาซับไพร์ม) ต้องยอมรับเพราะมีเงินจากต่างประเทศไหลเข้ามามากตั้งแต่ต้นปี ทำให้หุ้นปรับขึ้นประมาณ 20% ตั้งแต่ต้นปี เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็ต้องระมัดระวัง ซึ่งเรากำลังดูอยู่ว่าเหตุการณ์ที่เงินเข้ามาง่ายและโอกาสที่จะออกไปเร็วก็มีเหมือนกัน
พร้อมกล่าวว่า ดังนั้นถ้าถามในแง่ของสถาบันอาจไม่กระทบเพราะมองยาว ช่วงนี้หุ้นจะผันผวนก็ผันผวนไป แต่ถ้าเราไม่ได้ขาย เราถืออยู่ ดูจังหวะ และการปรับเปลี่ยนการลงทุน ก็จะช่วยได้
ด้านนายวิชชุ กล่าวว่า เงินที่เข้ามาในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนหนึ่งเป็นในลักษณะของการซื้อระยะยาว อีกส่วนหนึ่ง คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะบอกว่ามีการเก็งกำไรของค่าเงินด้วย แต่ประเด็นที่สังเกตอยู่คือ เรายอมรับแล้วว่าค่าเงินดอลลาร์สหรัฐน่าจะอ่อนจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาเอง ซึ่งพยายามเยียวยามาตลอด ถ้าถามว่าวันนี้เงินออกจากดอลลาร์สหรัฐมาเข้าเงินที่เป็นสกุลอื่นในย่านนี้ทั้งหมด ทั้งอาเซียนและประเทศอื่นๆ เช่น เกาหลี ไต้หวัน ถามว่าถ้าจะมีการยักย้ายเงินไปอยู่ในสกุลอื่นจะอยู่ในรูปไหน
มองในฐานะของนักลงทุนคิดว่าเงินไม่ค่อยมีที่ไปเท่าไรนัก ตราบเท่าที่โอกาสในตลาดย่านนี้ยังยักย้ายถ่ายเทได้ เช่น ตลาดหุ้นเกาหลีขึ้นมาก่อนตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ต้นปี พอตลาดหุ้นเกาหลีเริ่มชะลอลง เงินก็เริ่มเคลื่อนย้ายเข้ามาตลาดหุ้นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย แสดงว่ามีการยักย้ายถ่ายเทมาตลอดถ้าเราดูว่าเกาหลีเป็นแพทเทิร์น(แบบอย่าง)ของการเคลื่อนไหวในตลาด ก็ทำใจไว้ก่อนว่าตลาดจะขึ้นเยอะ
ผมคาดการณ์ไว้นานแล้วว่า ตลาดหุ้นเรามักไม่ค่อยรอดถ้าพี/อีเกิน 12 เท่า
ผู้จัดการกองทุนรายนี้ กล่าวว่า เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าดัชนีหุ้นไทยที่เหมาะกับปัจจัยพื้นฐานของประเทศจะอยู่ที่ 850-860 จุด และถ้าวิ่งขึ้นเกินกว่านี้ถือว่าเป็นแดนที่ไม่แน่นอนมาก ใครจะซื้อตรงนี้ต้องทำใจ
กระแสเงินทุนที่เข้ามาเชื่อว่าจะมีการโยกย้ายออกไป แต่เมื่อออกไปสักพักหนึ่ง เมื่อหาที่ไปไม่ได้ ก็จะกลับเข้ามา เพราะโดยรวมตลาดหุ้นไทยค่อนข้างเหมาะสมในระดับหนึ่ง แม้ว่าอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น(พี/อี เรโช) จะสูง แต่ต้องยอมรับว่าถ้าขึ้นเร็วเกินไปก็จะผันผวนได้
อย่างไรก็ตามวิชชุ กล่าวว่า ถ้าเหตุการณ์ผ่านไปหลังเดือนตุลาคม คนก็จะเริ่มมองเห็นภาพปีหน้าชัดขึ้น โดยเฉพาะมีการรับร่างรัฐธรรมนูญและเลือกตั้งผ่านไป ความเชื่อมั่นก็จะกลับขึ้นมา ดังนั้นจากดัชนีตลาดหุ้นที่ 860-870 จุดที่เราคิดว่าแพง ณ วันนี้ถ้ายืนสถานการณ์ไปได้ถึงสิ้นปีจะเริ่มมองเห็นภาพที่ชัดขึ้น
ผมเชื่อว่าเงินที่เป็นลักษณะ Leverage(การกู้เงินมาลงทุน) ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ แต่เงินพวกนี้จะเข้าแบบอินแอนด์เอาท์ ถ้าออกจะออกแรง แต่ก็มีเงินส่วนที่เข้ามา สังเกตว่าเมื่อตลาดปรับลงมาสักพัก จะมีพวกที่ซื้อระยะยาวเข้ามา พวกนี้จะไม่รีบร้อนซื้อ ค่อยๆซื้อเก็บและเชื่อว่าเงินพวกนี้จะเข้ามารับสถานการณ์เมื่อจังหวะตลาดผันผวน
คาดว่าปีนี้บริษัทจดทะเบียน(บจ.) ทั้งตลาดจะมีกำไรเติบโตจากปีที่แล้ว 7 %ส่วนปีหน้าคาดการณ์ไว้ที่ 14% เพราะฉะนั้นถ้าอัตราการเติบโตของกำไร(บจ.)เป็น 2 หลัก นักลงทุนก็จะรู้สึกว่ามีปัจจัยพื้นฐานเข้ามารองรับ แต่อย่างไรก็ตาม ต้องดูเรื่องรัฐบาลด้วย
-หุ้นไทยยังเป็นบูมมาร์เก็ต
ด้านนายวิศิษฐ์ มองว่าตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงในช่วงนี้เป็นไปตามภูมิภาคเท่านั้นเอง และถ้าเทียบว่าตลาดรอบนี้คือ บูมมาร์เก็ต(ตลาดขาขึ้นหรือภาวะกระทิง) จากสถิติในอดีตจะพบว่าการปรับตัวลงของตลาดที่อยู่ในภาวะกระทิงจะอยู่ที่ประมาณ 12-13% และถ้าเทียบจากดัชนีรอบนี้ที่ขึ้นไปสูงสุด 890จุด หากจะปรับลดลง 12-13% ก็หมายความว่าดัชนีจะลงลึกที่ 700 ปลายๆ
ทั้งนี้นายวิศิษฐ์เชื่อว่า
ตลาดหุ้นรอบนี้เป็นคอลเล็คชั่นในบูมมาร์เก็ต พร้อมกล่าวว่า จากที่ได้ทำการศึกษา คือ มองว่าเมื่อไรก็ตามที่นักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ขายสุทธิขึ้นกับ 3 ปัจจัย
ปัจจัยที่หนึ่ง อัตราแลกเปลี่ยนเยนกับดอลลาร์สหรัฐแข็งขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เมื่อไรก็ตามที่เยนอ่อนต่างชาติจะซื้อสุทธิ สังเกตได้ว่า 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินเยนแข็งขึ้นมาเร็วมากจาก 124 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งขึ้นมาเป็น117 ต่างชาติจะขายสุทธิ ความสัมพันธ์เท่าที่วิเคราะห์ออกมาร่วม 80% ถือว่าสูงมาก
ปัจจัยที่สอง และคิดว่าคงไม่เกิดเร็วๆนี้ คือ Core CPI (อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน)ของอเมริกาเมื่อไรก็ตามที่แตะ 2.7% ต่างชาติจะโชว์ตัวเลขขายสุทธิ แต่ตอนนี้โชคดีหน่อยที่ core CPI อยู่ที่ระดับประมาณ 2% นิดๆ แปลว่าการขายอาจจะไม่รุนแรงมากนัก
ปัจจัยที่ 3 คือ ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูง น่าแปลกใจว่าราคาน้ำมันช่วงนี้ ถึงแม้ว่าเราเคยเห็นราคาน้ำมันที่ 72 -73 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่ดูราคาน้ำมันดิบในตลาดชิคาโก ซึ่งเฮดจ์ฟัน(กองทุนบริหารความเสี่ยง) ยังไม่ได้เข้าไปเก็งกำไรราคาน้ำมันเลย แปลว่าราคาน้ำมันที่ขึ้นมารอบนี้เป็น Real Demand หรือเกิดจากความต้องการจริงๆ ไม่มีการเก็งกำไรเลย
ผมเชื่อว่าตอนนี้เงินทั่วโลกอยู่ 3 Basket(ตลาด) คือ ตลาดบอนด์ ตลาดที่สอง คือ สินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งยังไม่มีเฮดจ์ฟันด์เข้ามาเก็งกำไร ผมเลยคิดว่าถ้าตลาดคอลเล็คชั่นออกตามสถิติเดิมคือ 12% ตรงนั้นอาจจะเป็นจุดหนึ่งในการซื้อเหมือนกัน และเชื่อว่าในระยะยาวจะมีกระแสเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยอีก
นายวิศิษฐ์ กล่าวว่า นักลงทุนในประเทศไม่ควรกลัวฝรั่งมากนัก เพราะปี 2003(พ.ศ.2546 ) ตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นจาก 400 จุดเป็น 800 จุด จะเห็นว่าเป็นคนไทยซื้อล้วนๆ โดยตอนนั้นนักลงทุนในประเทศซื้อสุทธิประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท จะเห็นว่าก็ทำให้หุ้นขึ้นได้
ตอนนี้เงินฝรั่งอยู่ในหุ้นไทยแค่ 3 แสนล้านบาท แต่เงินที่อยู่ในประเทศซึ่งเป็นเงินฝากเรามีร่วม 6 ล้านล้านบาท ฉะนั้นถ้าดึงเข้ามาในตลาดหุ้นแค่ 10% ก็ชนะฝรั่งแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ ทำอย่างไรให้มีเงินเข้ามา ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่ปรับอัตราดอกเบี้ยลงได้อีก จะทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ เงินก็จะไหลเข้าตลาดหุ้น ฉะนั้นภาพสั้นหุ้นไทยอาจจะถูกกระทบจากตลาดโลก แต่ภาพระยะยาวยังดีอยู่
ขณะที่นายเอกพิทยา มองว่าการเกิดปรากฏการณ์แรงขายของนักลงทุนต่างชาติ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะเดิมราคาหุ้นบ้านเราสูงผิดปกติ ที่ผ่านมา ทุกคนก็พยายามมองโลกในแง่ดี นักวิเคราะห์บางส่วน ใช้เป้าหมายของราคาหุ้นของประมาณการผลการดำเนินงานปี 2551 ซึ่งตอนนั้นช่วงหุ้นขึ้นใหม่ ๆตอนนั้นผลประกอบการไตรมาส 2 ยังไม่ประกาศ ถ้าดูไปอาจจะเร็วไปนิดเพราะเป้าหมายของดัชนีทะลุเป้าไปแล้ว นอกจากนี้การเกิดภาพกระแสเงินไหลเข้า ซึ่งเป็นกระแสของธรรมชาติ พอเกิดเป็นระดับเท่านั้นเท่านี้ก็จะมีแรงขายอยู่แล้ว
อีกทั้งทุกคนเป็นห่วงเรื่องซับไพร์ม และเรื่อง เยน แครี่ เทรด ซึ่งเอกพิทยากล่าวว่า เขาเองก็เป็นห่วงแต่จากการสังเกตการณ์วิวัฒนาการของเศรษฐกิจโลก และคนที่ดูแลเศรษฐกิจโลก ในทุกๆวิกฤติการณ์ จะเห็นว่าการเข้าไปแก้ปัญหาและการควบคุมจะเห็นว่ามันเร็วขึ้นเรื่อย ๆ คือ ทุกคนไม่ต้องการให้เป็นโดมิโน มิฉะนั้นมันจะล้มกันไปหมด
ผมอาจจะมองโลกในแง่ดี ผมไม่เชื่อว่าปัญหาเหล่านี้จะลามไม่มาก
เอกพิทยา กล่าวว่า พีอีของตลาดหุ้นไทย ณ จุดนี้อยู่ที่ 11.2 เท่า ขึ้นอยู่กับราคาตลาด ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่จะแสดงให้เห็นว่าจากจุดนี้ไปแล้วจะเกิดวิกฤตการณ์แรง ๆแน่นอนผมเชื่อว่าถ้าเงินต่างชาติไม่เข้ามาโอกาสที่จะตลาดขึ้นแรง ๆเหมือนรอบที่แล้วก็จะน้อยลง แต่ไม่ได้แปลว่าจากจุดนี้แล้วมันจะแย่ไปเลย ในทางตรงข้ามจากสถิติเรื่องการเมือง จากในอดีตที่เกิดขึ้น เมื่อมีปัจจัยการเมืองเข้ามากระทบหุ้นเคยลง 13.88 % ซึ่งถ้าเราคำนวณมาเป็นดัชนี ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราตั้งที่เท่าไหร่ เช่น ถ้าตั้งต้นที่ 800 จุด ก็จะเป็น 900 จุด
สิ่งต่าง ๆเหล่านี้ผมกลับมองว่ารอบนี้มันเป็นธรรมชาติของการเกิดแรงขายทำกำไรแน่นอนการเกิดปัญหา หรือการล็อกความเสี่ยงมันเกิดขึ้นอยู่แล้วไม่ต้องคิดอะไรมาก
พร้อมกล่าวว่า ถ้าการเมืองในประเทศดี โอกาสที่พีอี ตลาดหุ้นไทยจะสวิงขึ้นไปได้ที่ 14-16 เท่ามีแน่นอน ส่วนคาดการณ์ดัชนีปีนี้หากดูจากพีอี 12 เท่า ดัชนีมีโอกาสปรับขึ้นไปที่ระดับ 905 จุด และในปี 2551 หากไม่มีปัจจัยลบการเมืองเข้ามากระทบ หุ้นไทยอาจปรับขึ้นไปที่ระดับ 1,080-1,112 จุด จากเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นช่วงดีๆพีอีหุ้นไทยเคยปรับขึ้นไปใกล้ระดับ 30 เท่า
ด้านนายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นเรายังพอมีความหวังจากการที่เศรษฐกิจเอเชียจะเติบโตต่อไป ขณะที่มีบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ที่จะได้อานิสงค์จากเศรษฐกิจในเอเชียที่เติบโต โดยบล.ภัทรและเมอร์ริล ลินช์ เรียกว่ารีจินอลไรเซชั่น ก็คือ การสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคแล้วก็อาศัยการเติบโตของภูมิภาคขึ้นไปเป็นการเติบโตของเราด้วย และถ้าบริษัทจดทะเบียนสามารถปรับตัวได้โตตามการเติบโตของอุตสาหกรรมก็จะน่าจะมีโอกาสในการเติบโตได้เช่นกัน
ดังนั้นถ้าจะเรามีตระกร้าของบริษัทดี ๆที่เป็นระดับภูมิภาค ก็สามารถลงทุนได้ เช่น บมจ.บ้านปู ซึ่งมีโรงถ่านหินในอินโดนีเซีย มีโรงถ่านหินในจีน นอกจากนี้มีบมจ.ไมเนอร์ คอร์ปอเรชั่น และบมจ.ท่าอากาศยานไทย ซึ่งภัทรได้ปรับประมาณผลการดำเนินงานขึ้น เนื่องจากเชื่อว่ากระแสการเดินทางคนในเอเชียและยุโรปจะมีอีกมหาศาล
ถ้าเรามองเรื่องการระบาดของโรคซาร์ส ซึ่งเป็นโรคระบาดครั้งสุดท้าย จะเห็นว่าผู้จัดการกองทุนใช้เป็นโอกาสในการซื้อ แต่ระยะเวลาในการรอผลตอบแทนก็ต้องระยะหนึ่ง เพราะฉะนั้นคนก็หวังว่าถ้าปัญหาเรื่องซับไพร์มสหรัฐควบคุมได้ เศรษฐกิจเอเชียดี และยุโรปดีอาจจะเป็นโอกาสในการลงทุนก็ได้ และถ้ารอได้ระดับหนึ่งก็จะถือว่าหุ้นจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่น่าพอใจ
ในฐานะที่เป็น
ที่ปรึกษาด้านการลงทุนจิรวัฒน์แนะนำกลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ว่า สำหรับนักลงทุนที่ชอบลงทุนในหุ้นอย่างเดียวเรื่องหุ้นอย่างเดียว หากยังเชื่อมั่นเศรษฐกิจของเอเชียและยุโรปว่าดี ดังนั้นการทยอยซื้อหุ้นที่เติบโตไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจเหล่านี้ เชื่อว่าการลงทุนใน1-2 ปีข้างหน้ามีโอกาสให้ผลตอบแทนที่ดี
นอกเหนือจากหุ้นแล้วมีสินทรัพย์ที่น่าสนใจลงทุน 2-3 ประเภทคือ กองทุนตราสารหนี้ที่อาจจะได้โอกาสจากการที่ค่าเงินในเอเชียปรับตัวขึ้น จากค่าเงินเยนที่ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้น และค่าเงินหยวนจะต้องสูงขึ้นด้วย เพราะฉะนั้นการลงทุนในสกุลเงินเอเชีย ก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดี
บทสรุปของการเสวนาครั้งนี้ ชัดเจนอยู่แล้วว่า ทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกระแสเงินทุนต่างชาติ นักวิเคราะห์ นักลงทุนสถาบันและที่ปรึกษาด้านการลงทุนไม่ได้ตื่นตระหนกกับปัญหาซับไพร์ม และยังคาดว่ากระแสเงินทุนไหลเข้าจะยังวกกลับมาตลาดหุ้นไทยอีกเพียงแต่อาจจะดีเลย์ภาวะกระทิงออกไปก็เท่านั้นเอง! http://news.sanook.com/economic/economic_167908.php
news13/08/07
โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 13, 2007 7:58 pm
โดย chartchai madman
เจบิกห่วงดบ.สูญ ตั้งแง่ไม่รับคืนหนี้ ก่อนกำหนดชำระ
แผนคืนหนี้นอกแก้บาทแข็ง เจออุปสรรคเพียบ "คลัง"ยอมรับ "เจบิก"ตั้งแง่ไม่ยอมรับคืนก่อนกำหนด ห่วงสูญรายได้จากดอกเบี้ย ขณะที่ รฟม.มีแต่เงินต้นไม่มีดอกเบี้ยจ่ายคืน ต้องของบเพิ่มกว่าพันล้าน
แหล่งข่าว กระทรวงการคลัง กล่าวว่า การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจ ด้วยการกู้เงินบาทไปชำระคืนหนี้ต่างประเทศนั้น ยังมีปัญหาติดขัดอยู่มาก โดย เฉพาะในส่วนของการคืนเงินกู้ต่างประเทศของ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)มูลหนี้ 1,247 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 4 หมื่นล้านบาท พบว่าจะต้องจ่ายดอก เบี้ยเพิ่ม 1.2 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างรอการแปรญัตติของบประมาณในส่วนนี้เพิ่ม
โดยขณะนี้พบว่ายังมีหน่วยงานอื่นๆขอ แปรญัตติของบประมาณเพิ่ม 1.2 หมื่นล้าน บาท ขณะที่เงินงบประมาณมีอยู่จำนวนไม่กี่พันล้านบาท
"หากแปรญัตติได้ก็คืนเงินกู้ต่างประเทศได้ หากไม่ได้งบเพิ่มก็คืนไม่ได้ ซึ่งเป็นเรื่อง ที่ต้องยอมรับ" แหล่งข่าวกล่าว
ทั้งนี้ การคืนเงินกู้ต่างประเทศของ รฟม. เป็น 1 ใน 7 โครงการ ที่รัฐบาลจะเร่งชำระคืน เพื่อทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง โดยที่เหลืออีก 6 โครงการ ประกอบด้วย 1 เงินกู้รัฐบาล 690 ล้านเหรียญสหรัฐ , 2 เงินกู้ก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ของ บริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด(มหาชน)(ทอท.) จำนวน 564 ล้านเหรียญสหรัฐ, 3 เงินกู้พัฒนารถไฟของ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) 235 ล้านเหรียญสหรัฐ, 4 เงินกู้ บริษัท ทีโอที จำกัด(มหาชน)วงเงิน 99 ล้านเหรียญสหรัฐ, 5 เงินกู้ของ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.)วงเงินจำนวน 75 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 6 เงินกู้ซื้อเครื่องบิน 2 ลำ ของ บริษัทการบินไทย จำกัด(มหาชน)จำนวน 264 ล้านเหรียญสหรัฐ
แหล่งข่าว กล่าวว่า เงินกู้ทั้ง 7 โครงการเป็นเงินกู้จาก ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (เจบิก) ซึ่งการใช้วิธีการชำระคืนเป็นจำนวนมาก เริ่มมีปัญหา เพราะผู้ให้กู้ก็ไม่ต้องการเงินต้นคืน เพราะต้องการรายได้จากดอกเบี้ย โดยก่อนหน้านี้ต้นเดือนมิถุนายน 2550 รัฐ บาลได้คืนเงินกู้ให้เจบิกไปแล้ว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1 หมื่นล้านบาท และหากคืนเงินกู้ในส่วนของ รฟม. ได้อีกจะเป็นเงินถึง 4 หมื่นล้านบาท
นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการแลกเปลี่ยนเงินตราหรือ สวอป ขณะนี้ก็เริ่มมีปัญหาหลังจากคลังเข้าไปทำสวอปหนี้ของ บริษัทการท่าอากาศยานจำนวน 340 ล้านเหรียญ จาก หนี้ที่ตั้งเป้าไว้ 564 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ค่า สวอป (สวอปเรท) ในตลาดกระโดดขึ้นสูงจาก 4.5% เป็น 4.9% ทำให้ต้นทุนของการทำสวอปหนี้เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงคลังยังตั้งเป้าบริหารหนี้ทั้ง 7 โครงการ จำนวนประมาณ 1 แสนล้านบาท โดยการเร่งชำระคืนและทำการสวอปเป็นเงินบาทให้ได้ทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ โดยจะ ต้องทยอยทำตอนที่ค่าเงินบาทนิ่ง อัตราดอกเบี้ยไม่วิ่ง เพื่อให้แน่ใจว่าได้ต้นทุนต่ำสุด
http://www.naewna.com/news.asp?ID=71188
news15/08/07
โพสต์แล้ว: พุธ ส.ค. 15, 2007 3:44 pm
โดย chartchai madman
ไฟเขียวรัฐวิสาหกิจเบิกงบยาว ดัมพ์เงินเฉียด2หมื่นล้านสิ้นปี
โพสต์ทูเดย์ ครม.หวั่นเศรษฐกิจซึม เบิกจ่ายงบไม่ได้ตามเป้ากว่า 1.86 หมื่นล้านบาท ยอมให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจก่อหนี้ผูกพันได้ถึง 30 ก.ย.นี้
นายโชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วิตกกังวลเกี่ยวกับประสิทธิภาพการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2550 รวมถึงการทำสัญญาและก่อหนี้ผูกพันของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ 258 หน่วยงาน เนื่องจากวงเงินที่ขอไว้ 2.69 แสนล้านบาท ปรากฏว่ามีส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ที่สามารถเสนอโครงการเพื่ออนุมัติเบิกจ่ายได้ 2.51 แสนล้านบาท คิดเป็น 93.1% ของงบประมาณทั้งหมด
ขณะที่มีส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง แต่ยังไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ทันภายในวันที่ 31 ก.ค. 2550 ตามกำหนด เป็นวงเงินถึง 1.86 หมื่นล้านบาท
งบประมาณที่ยังเบิกไม่หมดดังกล่าวเป็นของส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจ 1.42 หมื่นล้านบาท งบกลาง จำนวน 337 ล้านบาท และเงินกันเหลื่อมปีอีก 4.06 พันล้านบาท
ดังนั้น ครม.จึงเห็นว่าอาจจะ เกิดปัญหาล่าช้าต่อการเบิกจ่ายงบประมาณ ดังนั้นจึงมีมติให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจที่มีความจำเป็นต้องดำเนินโครงการ ต่อให้เสนอเรื่องต่อกระทรวง เพื่อขออนุมัติจากรัฐมนตรีที่กำกับดูแล เพื่อรายงานให้สำนักงบประมาณรับทราบโดยตรง เพื่อขยายเวลาในการทำสัญญาและก่อหนี้ผูกพันภายในวันที่ 31 ส.ค. 2550 และลงนามสัญญาให้เสร็จภายในวันที่ 30 ก.ย.นี้
อย่างไรก็ดี ครม.ยังเชื่อมั่นว่าการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายด้านการลงทุนปี 2550 จะทำได้ตามเป้าหมายที่ 73% ของงบลงทุนทั้งหมดและเบิกจ่ายได้ 93% ของงบประมาณรายจ่ายปี 2550
แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า เงินเกือบ 2 หมื่นล้านบาทของรัฐวิสาหกิจจะช่วยกู้เศรษฐกิจได้ระดับหนึ่งและในสิ้นปีงบประมาณนั้นเชื่อว่าจะเบิกจ่ายได้ไม่น้อยกว่า 93.5% และในแง่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจถือว่าเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทยยังดีมาก ยังแข็งแกร่งดูจากตัวเลขการว่างงานอยู่ที่ 1.7% อัตราเงินเฟ้อยังต่ำ กว่า 2.0% ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศสูงกว่า 7 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=185060
news16/08/07
โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ส.ค. 16, 2007 1:25 pm
โดย chartchai madman
ดันพันธบัตร ดอก 4.4-5%
ธปท.ออกพันธบัตรออมทรัพย์ 4 หมื่นล้าน อายุ 4-7 ปี จ่ายดอกเบี้ยเฉลี่ย 4.47-5.12%
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ออกพันธบัตร ธปท. ประเภทออมทรัพย์วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท 2 ประเภท อายุ 4 ปี และ 7 ปี โดยเสนอขายให้เฉพาะบุคคลธรรมดา สหกรณ์มูลนิธิ และองค์กรสาธารณะที่ไม่มุ่งหวังกำไร เป็นครั้งแรก
พันธบัตรออมทรัพย์ชุดนี้ กำหนดวงเงินซื้อขั้นต่ำ 5 หมื่นบาท เปิดจองซื้อวันที่ 27 ส.ค.-4 ก.ย. 2550 ส่วนอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรนั้นจะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์นั้นจะอิงกับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล บวกส่วนต่างไม่เกิน 15% ของผลตอบแทน โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลอายุ 4 ปี อยู่ที่ 3.89% ถ้ารวมส่วนต่างไม่เกิน 15% ของผลตอบแทน อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์จะอยู่ที่ 4.47%
สำหรับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรอายุ 7 ปี ปัจจุบันอยู่ที่ 4.45% ถ้า รวมส่วนต่างผลตอบแทนแล้วอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรออมทรัพย์จะ อยู่ที่ 5.12%
อย่างไรก็ตาม จะมีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นทางการอีกครั้งในวันที่ 20 ส.ค.
การออกพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.ครั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับการไถ่ถอนพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติที่กระทรวงการคลังเป็นผู้ออกที่จะครบกำหนดการไถ่ถอนในเดือน ก.ย.นี้ จำนวน 4.4 หมื่นล้านบาท และเป็นการเพิ่มทางเลือกการออมและการลงทุน ที่มีความเสี่ยงต่ำ และผลตอบแทนที่ดีสำหรับรายย่อย ผู้มีรายได้ประจำ รวมถึงผู้ที่เกษียณอายุ นางธาริษา กล่าว
นอกจากนี้ ยังเป็นการส่งเสริมการออมระยะยาว และรองรับสถาบันประกันเงินฝากที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการ สายเสถียรภาพการเงิน ธปท. กล่าวว่า เหตุผลที่ต้องบวกส่วนต่าง 15% ของผลตอบแทน เพราะต้องช่วยแบ่งเบาภาระภาษีให้กับนักลงทุนรายย่อย ส่วนจะแบ่งวงเงินพันธบัตรอายุ 4 หรือ 7 ปี จำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับความต้องการจองซื้อ
ทั้งนี้ ธปท.อาจจะมีการออกพันธบัตรออมทรัพย์เพิ่มอีกหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับสภาพคล่องในระบบด้วย
อย่างไรก็ตาม การออกพันธบัตรครั้งนี้ไม่ได้เป็นการส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ย ซึ่งการพิจารณาปรับดอกเบี้ยเป็นนโยบายของแต่ละธนาคารเอง
ทั้งนี้ ประชาชนสามารถจองซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ได้ที่ธนาคารพาณิชย์ 8 ธนาคาร คือ ธนาคารกรุงไทย กรุงเทพ กสิกรไทย ซิตี้แบงก์ ไทยพาณิชย์ ยูโอบี สแตนด์ดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้แบงกิ้งคอร์ปอเรชั่น โดยจัดสรรขายตามยอดเงินฝากของแต่ละธนาคาร
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า การที่พันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.มีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร ไม่ได้เป็นการกดดันหรือส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับดอกเบี้ย เนื่องจากขณะนี้สภาพคล่องในระบบยังเหลืออีกมาก
นางกรรณิการ์ ชลิตอาภรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ได้รับจัดสรรขายพันธบัตรออมทรัพย์ ธปท.ครั้งนี้ 7 พันล้านบาท เชื่อมั่นว่าจะขายได้หมด
ทั้งนี้ ธปท.เพิ่งได้รับการอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้ออกพันธบัตรเพื่อชดเชยความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูฯ ได้ 2 แสนล้านบาท
http://www.msnth.com/msn/money2/content ... 255&ch=222
news16/08/07
โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ส.ค. 16, 2007 1:41 pm
โดย chartchai madman
หุ้นร่วงหนัก 31.64 จุด
หุ้นปิดตลาดช่วงเช้า ร่วงหนักกว่า 4 %หรือ 31.64 จุด ปิดที่ 742.28 จุด ตามตลาดหุ้นทั่วโลก เหตุปัญหาซับไพร์มลุกลามไปหลายประเทศ
ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ช่วงเช้าปิดที่ระดับ 742.28 จุด ลดลง 31.64 จุด(-4.09%) มูลค่าการซื้อขาย 11,611.31 ล้านบาท นักวิเคราะห์ฯเผยตลาดหุ้นไทยร่วงเช้านี้ ตามตลาดหุ้นทั่วโลก เหตุจากซับไพร์มลุกลามไปหลายประเทศมากขึ้น โดย 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาร่วงไปแล้วกว่า 10% เป็นการปรับตัวลงที่ค่อนข้างหนัก แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนได้หดไปในช่วงนี้ แต่เชื่อนักลงทุนบางส่วนยังรอหาจังหวะซื้อหุ้น หากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 ส.ค.นี้ผ่านไปได้ ช่วงบ่ายคาดปรับตัวลงต่อ แต่อาจจะจำกัดแนวรับที่ 740 จุด หากยืนไม่ได้ก็มีโอกาสทดสอบแนวเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันที่ระดับ 725 จุด
ตลาดหลักทรัพย์ปิดตลาดช่วงเช้าวันนี้ที่ระดับ 742.28 จุด ลดลง 31.64 จุด(-4.09%) มูลค่าการซื้อขาย 11,611.31 ล้านบาท
การซื้อขายหุ้นช่วงเช้าวันนี้ ดัชนีหุ้นไทยร่วงแรงตั้งแต่เปิดเทรด และอยู่ในแดนลบตลอดช่วงเช้า โดยแตะจุดสูงสุดของช่วงเช้าที่ 756.01 จุด และทรุดตัวลงหนักแตะจุดต่ำสุดของช่วงเช้าที่ระดับ 741.64 จุด
นายวีระชัย ครองสามสี ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า
ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ร่วงแรง ตามตลาดหุ้นทั่วโลก เหตุจากซับไพร์มลุกลามไปหลายประเทศมากขึ้น โดยล่าสุดธนาคารมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป อิงค์ สถาบันการเงินของญี่ปุ่น ได้ขาดทุน 42.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลจากซับไพรม์ด้วย และกองทุนเซนนิเทล เมเนจเมนท์ ได้แจ้งลูกค้าให้ชะลอการไถ่ถอนหน่วยลงทุน ซึ่งมีผู้มาขอไถ่ถอนถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
นอกจากนี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ)ได้อัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดเงิน 4 แสนล้านเยนในวันนี้ ทั้งนี้ หลายประเทศได้ทำการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเพื่อช่วยเหลือแต่ก็ยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นได้ ที่จริงเรื่องของซับไพร์มไม่ได้มีการขยายไปในวงกว้างมากนัก แต่ในแง่ของจิตวิทยาได้ส่งผลกระทบทำให้คนวิตกแล้วไปไถ่ถอนหน่วยลงทุนกันมาก ทำให้กองทุนขายหุ้นออกมา ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกทรุดตัวรุนแรง อย่างดาวโจน์ก็ได้หลุดระดับ 13,000 จุดก็เป็นผลในแง่ลบต่อการลงทุน
นายวีระชัย กล่าวอีกว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาได้ปรับตัวลง 150 จุดหรือกว่า 10% แล้ว จากระดับ 895 จุด ลงมาเหลือ 744 จุดในปัจจุบัน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงที่ค่อนข้างหนัก แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนได้หดไปในช่วงนี้ แต่เชื่อว่านักลงทุนบางส่วนยังรอหาจังหวะซื้อหุ้น หากการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 ส.ค.นี้ผ่านไปได้
สำหรับแนวโน้มการลงทุนในช่วงบ่ายนี้ คาดว่าตลาดฯยังปรับตัวลงต่อได้ โดยการปรับตัวลงอาจจะจำกัดบ้างแล้ว ซึ่งมองแนวรับที่ 740 จุดเป็นจุดที่น่าซื้อหุ้นได้บางส่วน แต่หากตลาดฯยืนไม่ได้ที่ระดับ 740 จุด ก็มีโอกาสที่จะปรับตัวลงไปทดสอบแนวเส้นค่าเฉลี่ย 200 วันที่ระดับ 725 จุด
ด้านนายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้บังคับบัญชาสายงานวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.พัฒนสิน กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ร่วงแรง ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ เนื่องจากความวิตกกังวลเกี่ยวกับซับไพร์ม ทำให้คนไปไถ่ถอนหน่วยลงทุนกันมาก ส่งผลให้บรรดากองทุนจะต้องขายหุ้นออกมาเพื่อที่จะได้ถือครองเงินสดมากเพียงพอที่จะรองรับการไถ่ถอนหน่วยลงทุนของผู้ลงทุน
ทั้งนี้ เชื่อว่าในช่วงบ่ายนี้ตลาดหุ้นไทยจะยังคงปรับตัวลงต่อ พร้อมแนะนำไม่ต้องรีบร้อนซื้อหุ้นในช่วงนี้
ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์ ได้แก่ PTT มูลค่าการซื้อขาย 1,144.41 ล้านบาท ปิดที่ 264.00 บาท ลดลง 10.00 บาท TTA มูลค่าการซื้อขาย 703.43 ล้านบาท ปิดที่ 41.25 บาท ลดลง 4.50 บาท BANPU มูลค่าการซื้อขาย 589.91 ล้านบาท ปิดที่ 244.00 บาท ลดลง 16.00 บาท RRC มูลค่าการซื้อขาย 532.55 ล้านบาท ปิดที่ 22.20 บาท ลดลง 0.50 บาท TOP มูลค่าการซื้อขาย 501.87 ล้านบาท ปิดที่ 72.00 บาท ลดลง 2.50 บาท
ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง
ขณะที่ ตลาดหุ้นเอเชียนำโดยตลาดหุ้นกรุงโตเกียว พากันปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ในทันทีที่เปิดตลาด เพราะนักลงทุนพากันเทขายหุ้น เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่อด้อยคุณภาพภาคอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ซึ่งนักลงทุนเชื่อว่าจะมีข่าวร้ายจากตลาดสินเชื่อของสหรัฐเข้ามาอีก นักลงทุนจึงพากันย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อย เพราะเชื่อว่าวิกฤติสินเชื่อในสหรัฐจะรุนแรงและลุกลามมากขึ้น
ปัจจัยนี้ ทำให้ดัชนีนิกเคอิของตลาดหุ้นกรุงโตเกียว ในช่วงการซื้อขายทรุดลงไปต่ำกว่าระดับ 16,000 จุด เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 9 เดือน โดยลงไปมากถึง 616 จุด หรือ 3.74% ก่อนจะดีดตัวขึ้นเล็กน้อยไปอยู่ที่ระดับ 15,911 จุด หุ้นที่ตกหนักที่สุดคือ หุ้นธนาคาร
ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือบีโอเจ ประกาศหลังตลาดหุ้นเปิดไม่นานว่า จะทุ่มเงินเข้าระบบธนาคาร 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสกัดไม่ให้อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น แต่ก็ไม่สามารถฉุดให้ตลาดหุ้นดีดขึ้นได้มากนัก
ตลาดหุ้นเกาหลีใต้ เป็นตลาดหุ้นในเอเชีย ที่ตกมากที่สุดในช่วงการซื้อขายเช้านี้ โดยดัชนี KOSPI ตกไป 116 จุด หรือ 6.35% ไปอยู่ที่ 1,702 จุด ตามแรงฉุดของตลาดหุ้นวอลล์สตรีท
ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ฮ่องกง สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ก็ล้วนปรับตัวลงอย่างรุนแรงเช่นกัน
http://www.posttoday.com/topstories.php?id=185430
news16/08/07
โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ส.ค. 16, 2007 7:29 pm
โดย chartchai madman
บัวหลวงเชื่อส่งออกขยายตัว 15%ชี้ผู้ประกอบการกระจายความเสี่ยง [ ฉบับที่ 819 ประจำวันที่ 15-8-2007 ถึง 17-8-2007]
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ธนาคารกรุง เทพ
คาดภาวะการส่งออกของไทยในปีนี้จะสามารถฟันฝ่าภาวะ เศรษฐกิจที่ซบเซาไปได้ โดยคาด ว่าจะขยายตัวประมาณ 15% เนื่องจากมีปัจจัยหนุนจากการส่ง ออกไปยังตลาดที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าสูง, การขยายตลาดใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง และสินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็น supply chain ของญี่ปุ่น แม้ตลาดส่งออกหลักของไทยอย่างสหรัฐอเมริกาจะมีภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซา และเผชิญปัญหาเงินบาทผันผวนแข็ง ค่าอย่างต่อเนื่อง
การส่งออกเป็นเพียงกลไกเดียวที่สามารถฝ่าด่านเศรษฐกิจซบได้อย่างแน่นอน ใน ครึ่งหลังของปียังคงขยายตัว อย่างต่อเนื่องจากครึ่งแรกของปี แต่น้อยกว่าประมาณ 12-14% จาก 18.6% ในครึ่งปีแรก โดยคาดว่าตลอดทั้งปีจะขยายตัวประมาณ 15%
สาเหตุที่การส่งออกของไทยยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจาก สามารถขยายการส่งออกไปยังประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าสูง และสกุลเงินท้องถิ่นปรับตัวในช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีนและญี่ปุ่น ตลาดสำคัญรองมาคือ มาเลเซีย, ออสเตรเลีย, อินโดนีเซีย, อังกฤษ, เยอรมนี, อินเดีย, อิตาลี เป็นต้น แต่ผู้ส่งออกของไทยต้องระวังเพราะทั้งจีนและญี่ปุ่นต่างพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง หากเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในภาวะซบเซากว่าที่คาดอาจจะส่งผลกระทบต่อเนื่องมาถึงไทย
นอกจากนี้การขยายตลาด ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องทำให้ผู้ส่งออกสามารถกระจายตลาดได้มากขึ้น และได้ราคาดีกว่าในตลาดหลักแม้ปริมาณการสั่งซื้อแต่ละครั้งจะมีปริมาณน้อยกว่า โดยตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ ได้แก่ เอเชียใต้, ตะวันออกกลาง, ยุโรป ตะวันออก, อเมริกาใต้ และทวีป แอฟริกา เป็นต้น
โดยสินค้าส่งออกหลักส่วน ใหญ่เป็น Supply Chain ของญี่ปุ่น โดยกระจุกตัวอยู่ในสินค้า ที่ใช้เทคโนโลยีสูง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์, อุปกรณ์และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า และ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ซึ่งทั้ง 3 ราย การมียอดการส่งออกสูงถึง 24.6% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
การส่งออกจึงขึ้นอยู่กับทิศทางเศรษฐกิจและการค้าของญี่ปุ่นเป็นสำคัญ ซึ่งมีแนวโน้ม ปรับตัวดีขึ้น และจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของตลาดสหรัฐฯ ไม่มากนัก เนื่องจากมีการกระจายไปยังตลาดที่มีศักยภาพสูง
สำหรับสินค้าที่เติบโตได้ดีในภาวะบาทแข็ง ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, แผงวงจรไฟฟ้า, เม็ดพลาสติก, เคมีภัณฑ์, เครื่อง จักรกลและส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์พลาสติก, ข้าว, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น แต่มีบางสินค้าที่ยังมีความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาด สหรัฐฯ สูง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน, เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, กุ้งสดแช่เย็น แช่แข็ง, รองเท้าและชิ้นส่วน, เครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือน, แผงสวิตช์และแผงควบคุมกระแสไฟฟ้า เป็นต้น
ส่วนอุตสาหกรรมส่งออกที่อยู่ในจุดเสี่ยงสูงส่วนใหญ่จะมีลักษณะรับจ้างผลิต, ทำธุรกิจแบบผูกขาดกับการส่งออกจนเกินความจำเป็น โดยเฉพาะผูกขาดการส่งออกกับประเทศใดประเทศหนึ่ง แต่หากส่งออกไปยังหลายประเทศ จะช่วยกระจายความเสี่ยงเรื่องค่าเงินได้, ธุรกิจ ที่ผลิตสินค้าเพียงตัวเดียว และใช้วัตถุดิบภาย ในประเทศสูง
อุตสาหกรรมที่มีลักษณะดังกล่าวจะมีการแข่งขันด้านต้นทุนเป็นหลักโดยเฉพาะค่าจ้างแรงงาน ซึ่งผู้ซื้อหลักจะมีอำนาจสูงในการกำหนดราคาและกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ผูกโยงกับส่ง ออก และหากมีประเทศอื่นที่สามารถผลิตสินค้า ในแบบเดียวกันได้ถูกกว่าก็จะย้ายไปจ้างแทน
อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยมีประเด็นน่าเป็นห่วง 3 ประการ คือ ผู้ประกอบการไทยและภาครัฐปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยน แปลง, ขาดความชัดเจนในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของประเทศ และมีปัญหาการบริหารจัดการ ทั้งด้านการผลิต การตลาดและ การบริหารความเสี่ยงทางการเงิน
http://www.siamturakij.com/home/news/di ... ws_id=5580
news16/08/07
โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ส.ค. 16, 2007 9:27 pm
โดย chartchai madman
ต่างชาติเทขายไม่ยั้งตื่นโดมิโน ซับไพร์ม โดย กระแสหุ้น
ต่างชาติขายหุ้นอย่างหนักตระหนก ซับไพร์ม ลาม ฉุดตลาดหุ้นไทยดิ่งเหวต่อ ประเมินแนวโน้มดัชนีฯยังแกว่งลง จากลดพอร์ตลงทุน ด้านขุนคลัง ฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ ลั่นดูแลใกล้ชิด รับกระทบทั่วโลก ด้านธ.ชาติยุโรปวอนนักลงทุนอย่าแตกตื่น
ผู้สื่อข่าวรายงานจากตลาดหลักทรัพย์ฯว่าบรรยากาศการลงทุน (15 ส.ค.) ทิศทางตลาดหุ้นไทยยังได้รับแรงกดดันแรงเทขายหุ้นของต่างชาติ ที่ไม่คลายวิตกปัญหาหนี้เสียด้านอสังหาริมทรัพย์ฯสหรัฐฯ (ซับไพร์ม) กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก ฉุดดัชนีลงมาปิดที่ระดับ 773.92 จุด ลดลง 19.90 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 16,489.42 ล้าน
ทั้งนี้นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 5,220.29 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 1,048.60 ล้านบาท นักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิ 4,171.69 ล้านบาท
นายฉลองภพ สุสังกรกาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงภาวะความผันผวนของตลาดทุนไทยในขณะนี้ ว่า ความผันผวนที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องปกติ เพราะไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทยประเทศเดียว แต่ประเทศทั่วโลกก็ได้รับความผันผวนนี้เช่นกัน เนื่องจากความผันผวนเกิดขึ้นเร็วและแรง ทั้งนี้ ในส่วนของตลาดทุนไทยเองก็จำเป็นต้องปล่อยให้เป็นไปตามกลไกของตลาด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติแต่ก็ควรที่จะดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อตลาดทุนไทย
ดังนั้น ควรปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้ความผันผวนที่เกิดขึ้นกระทบตลาดหุ้นไทยได้
มองทิศทางดัชนีปรับลงพักฐาน
นายอภิศักดิ์ ลิมป์ธำรงกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ นครหลวงไทย จำกัด ประเมินแนวโน้มตลาด (16 ส.ค.) คาดดัชนีน่าจะอยู่ในช่วงปรับฐาน โดยตลาดยังคงอิงกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เรื่องของหนี้เสียในส่วนของสินเชื่อซื้อบ้านในอเมริกา เนื่องจากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ เฟด ที่ผ่านมายังไม่กล้ากำหนดกรอบความเสียหายว่าจะมีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน ทำให้หลายฝ่ายออกมาคาดการณ์ว่า ปัญหาจะขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆเป็นลูกโซ่ ทั้งนี้ในส่วนของนักลงทุนต่างชาติมองว่า ยังลดพอร์ตการลงทุนอยู่ ประเมินแนวรับที่ 770 จุด แนวต้านที่ 783 จุด
ธ.ชาติยุโรปวอนอย่าแตกตื่น
นายฌอง คล็อด ทริเชต์ ประธานธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เปิดเผยว่า ขอเรียกร้องให้นักลงทุนให้อยู่ในความสงบ อย่างแตกตื่นกับตลาดซับไพร์ม ขณะนี้ธนาคารกลางต่างๆทั่วโลกได้เข้าดูดซับเงินสดที่อัดฉีดเข้าสู่ตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะตื่นตระหนกทางการเงิน
ทั้งนี้ปัญหาต่างๆยังไม่สิ้นสุด โดยทรัสต์เพื่อการลงทุนของแคนาดา จำนวน 17 แห่งได้ขอให้บรรดาธนาคารของแคนาดา ช่วยชำระคืนเงินกู้ที่ครบกำหนด ขณะเดียวกัน บริษัท เลห์แมน บราเธอร์สและบริษัท แบร์ สเติร์น ซึ่งเป็นวนิชธนกิจของสหรัฐฯได้รับผลกระทบจากความวิตกที่บริษัทมีความเสี่ยงอย่างมากต่อตลาดจำนองของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตามมีรายงานว่า ตลาดหุ้นมีความตื่นตระหนกอย่างมาก และนักลงทุนได้พากันเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลซึ่งเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย ปัญหาหนี้เสียของสหรัฐฯในขณะนี้กำลังรุกลามไปสู่แคนาดา และทั่วทั้งยุโรป
http://www.settrade.com/S17_ContentDisp ... okerId=IPO
news16/08/07
โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ส.ค. 16, 2007 9:36 pm
โดย chartchai madman
ความไม่เชื่อมั่นต่อปัญหาซับไพร์ม จะกดดันดัชนีให้ปรับลงต่อ
16 สิงหาคม พ.ศ. 2550 16:16:00
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : ราคาน้ำมันเริ่มผงกหัวขึ้น
ปัญหาสินเชื่อ sub-prime ยังกดดันบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง
แรงขายนักลงทุนต่างชาติยังไม่หมด ความวิตกต่อปัญหาสินเชื่อในตลาด sub-prime ซึ่งเริ่มลุกลามไปทั้งตลาดยุโรป และแคนาดา เป็นปัจจัยสำคัญกดดันบรรยากาศการลงทุนในประเทศ จากสถิติในอดีต การขายของนักลงทุนต่างชาติจะมีอัตราประมาณ 40-50% ของยอดซื้อสะสมในแต่ละรอบ โดยรอบล่าสุด การขายเริ่มมาตั้งแต่ปลายเดือน ก.ค. รวมแล้วกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นเพียง 20% ของยอดซื้อสะสมหลังมาตรการกันสำรอง 30% ดังนั้น จึงมีโอกาสที่นักลงทุนต่างชาติจะขายต่อเนื่อง และกดดันดัชนีให้อ่อนตัวลงต่อ โดยมีแนวรับที่เส้นค่าเฉลี่ย 25 สัปดาห์บริเวณ 760 จุด
ต่ำกว่า 790 จุด น่าสนใจสำหรับนักลงทุนระยะกลาง เราประเมินที่ระดับดัชนีต่ำกว่า 790 จุดลงมา เป็นบริเวณที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุนระยะกลาง ในลักษณะของการทยอยเพิ่มพอร์ต เพราะความเสี่ยงความผันผวนของตลาดสูง เนื่องจากเป็นระดับที่ trailing PER ที่ 11.4 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นไทยนับตั้งแต่เปิดการซื้อขาย อีกทั้ง ณ ระดับดังกล่าว ยังมิได้สะท้อนคาดการณ์การเติบโตของผลการดำเนินงาน 18% ในปี 51 ซึ่งจะดึง forward PER ลงมาเหลือเพียงแค่ 8 เท่า ซึ่งเป็น PER เฉลี่ยด้านต่ำของตลาด (average lowest PER) เราเชื่อว่า น่าจะสะท้อนความเสี่ยงของตลาดแล้ว
กลยุทธ์การลงทุน เน้นหุ้นปลอดภัย ภายใต้ความผันผวนของตลาด หุ้นที่ให้ปันผลดี น่าจะเป็นปกป้องความเสี่ยงได้ดีระดับหนึ่ง อาทิ CSL, MFEC, TISCO ผลตอบแทน 8%, KK, SPALI, MODERN ผลตอบแทน 7%
กังวลพายุ ฉุดราคาน้ำมันขึ้น ราคาน้ำมันดิบล่วงหน้าในตลาดไนเม็กซ์ดีดตัวขึ้นมาที่ระดับ 73.33 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล (เบรนท์ 71.64 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล) หลังศูนย์ เฮริเคนแห่งชาติของสหรัฐรายงานว่า พายุโซนร้อนเอรินจะบุกขึ้นฝั่งในอ่าวเม็กซิโกวันนี้ จึงเกรงกันว่า อาจกระทบต่อโรงงานน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งทางใต้ของรัฐเท็กซัส รวมถึงสต็อคน้ำมันดิบสัปดาห์ล่าสุดยังลดลงอีก 5.2 ล้านบาร์เรล เหลือเพียง 335.2 ล้านบาร์เรล
กังวลปัญหาสินเชื่อลุกลามฉุดตลาดหุ้นทั่วโลก ดัชนีดาวโจนส์ปรับลดลงมาแล้วกว่า 6% จากความวิตกต่อปัญหาการลุกลามของสินเชื่อสหรัฐ ล่าสุดมีข่าวลือว่า บริษัท Countrywide Financial Corp ซึ่งเป็นบริษัทปล่อยกู้จำนองอันดับ 1 ของสหรัฐ กำลังเผชิญกับปัญหาคุณภาพสินเชื่อถดถอย อาจไม่สามารถระดมทุนได้ และต้องเผชิญกับความเสี่ยงการล้มละลาย และมีแนวโน้มจะลุกลามไปยังภูมิภาคอื่น ฉุดนักลงทุนพากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่อง
ที่มา : บล.ซีมิโก้ http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/1 ... wsid=89701
news17/08/07
โพสต์แล้ว: ศุกร์ ส.ค. 17, 2007 3:00 pm
โดย chartchai madman
รมว.คลังชี้ ซับไพรม์กระทบ "การบริโภค-ส่งออก" สั่งจับตาเงินทุนไหลออก
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 17 สิงหาคม 2550 12:01 น.
รมว.คลัง เข้ารายงานค่าเงินบาท เช้าวันนี้ ระบุ "สุรยุทธ์" พอใจการแก้ปัญหาของ ธปท. ยันไม่ออกมาตรการใหม่ ส่วนผลกระทบซับไพรม์ต่อศก.ไทย เชื่อการบริโภค-ส่งออกหดตัว พร้อมสั่งเตรียมแผนรับมือเงินทุนไหลออก
วันนี้(17 ส.ค. 50) นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง กล่าวภายหลังการเข้ารายงานสถานการณ์ค่าเงินบาทต่อนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แสดงความพอใจการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อย่างไรก็ตาม คงต้องดูแลไม่ให้มีความผันผวนต่อไป
ส่วนมาตรการ 6 มาตรการที่ออกไปก่อนหน้านี้ คงยังไม่จำเป็นตั้องทบทวน และมีการติดตามดูแลใกล้ชิดอยู่แล้ว
สำหรับกรณีที่ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งสัปดาห์นั้น รมว.คลัง กล่าวว่า เกิดจากปัญหาซับไพร์มที่ทำให้นักลงทุนสถาบันต่างชาติขายหุ้นออกมาเพื่อนำเงินไปเสริมสภาพคล่อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทยโดยตรง แต่ก็มีผลกระทบทางอ้อมบ้าง
นายฉลองภพ ย้ำถึงผลกระทบต่อไปที่จะต้องเตรียมรับมือ ได้แก่ กรณีการบริโภคในประเทศลดจากตลาดหุ้นตก และกรณีการบริโภคประเทศคู่ค้าลด เพราะความต้องการสินค้าลดลง และจะต้องรับมืออีกทางหนึ่งกรณีตลาดหุ้นตีกลับขึ้นมา เพราะหุ้นลงมาก ซึ่งเป็นโอกาสที่คนจะกลับมาช้อน และตีกลับโดยมีเงินไหลเข้ามา
"เราต้องเตรียมความพร้อมที่จะดูแลไม่ให้ผันผวนในอัตราแลกเปลี่ยน โดยต้องเตรียมแผนรองรับไว้ในกรณีที่เงินทุนซึ่งไหลออกไปในขณะนี้ อาจจะกลับเข้ามาในไทยอีกครั้ง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนได้" นายฉลองภพ กล่าวสรุปทิ้งท้าย
http://www.manager.co.th/StockMarket/Vi ... 0000096672
news17/08/07
โพสต์แล้ว: ศุกร์ ส.ค. 17, 2007 7:59 pm
โดย chartchai madman
"สุรยุทธ์ สั่งทีมเศรษฐกิจจับตาตลาดหุ้น-ซับไพร์มสหรัฐ
17 สิงหาคม พ.ศ. 2550 13:50:00
"สุรยุทธ์ สั่งทีมเศรษฐกิจจับตาสถานการณ์ตลาดหุ้น-ปัญหาซับไพร์มหลังดัชนีหุ้นตกต่อเนื่อง โฆสิต ย้ำยังไม่มีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ : นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าพบพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานสถานการเศรษฐกิจ และภาวะค่าเงินบาทประจำสัปดาห์ ซึ่งการพบกันในครั้งนี้ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง
นายโฆสิต กล่าวหลังการหารือว่า ได้รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจให้นายกฯรับทราบ โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดสถานการณ์ดังกล่าวก็เนื่องมาจากเหตุการณ์ในต่างประเทศ และขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลหรือเหตุปัจจัยใดที่จะมีผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงของไทย ทั้งนี้ นายกฯได้ขอให้ทุกฝ่ายช่วยกันติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ซึ่งเราก็เฝ้าระวังอยู่แล้ว
เหตุที่เกิดขึ้นนั้น ไม่มีใครทราบว่ายอดรวมของความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงการถือครองสินทรัพย์จากตลาดหุ้นออกไปยังส่วนอื่นๆ และเมื่อไม่มีใครทราบ ก็ไม่มีใครพูดได้มากนักว่าการไถ่ถอนสินทรัพย์จากตลาดหุ้นทั่วโลกจะใช้เวลาอีกนานเท่าใดนายโฆสิตกล่าว
ส่วนการปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลงของดัชนีตลาดหลักทรัพย์นั้นเป็นเรื่องปกติวิสัย และเมื่อเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นมาแล้วดัชนีก็อาจปรับตัวลดลงเกินพอดีก็ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าดัชนีจะปรับตัวลดลงอย่างเดียวเท่านั้น เพราะเมื่อมีลงก็ต้องมีขึ้นได้ และเวลาจะขึ้นก็ขึ้นเกิดพอดีก็เป็นได้ นอกจากนี้ การที่ดัชนีจะปรับขึ้นหรือลงนั้นก็มีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยไม่ใช่ปัจจัยเดียว
นายโฆสิต ระบุว่า การเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากประเทศไทยนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาท โดยทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงตามที่หลายฝ่ายต้องการ ในขณะที่สภาพคล่องทางการเงินของประเทศนั้น ธปท.ยืนยันว่าขณะนี้สภาพคล่องของประเทศยังมีเหลือเฟือ และยังไม่มีความจำเป็นใดๆที่จะออกมาตรการดูแลค่าเงินเพิ่มเติม ส่วนในภาคเศรษฐกิจที่แท้จริงก็มีคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวมดูแลอยู่
http://www.bangkokbiznews.com/2007/08/1 ... wsid=89876
news17/08/07
โพสต์แล้ว: ศุกร์ ส.ค. 17, 2007 8:17 pm
โดย chartchai madman
ผลกม.เงินตรา ช่วยแบงก์ชาติ ส่งเงินคืนคลัง
โพสต์ทูเดย์ ธาริษา ยอมรับ พ.ร.บ.เงินตรา ช่วยส่งเงินคืนคลังเร็วขึ้น
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า พ.ร.บ.เงินตรา ฉบับใหม่ จะทำให้มีการส่งเงินให้กระทรวงการคลังได้เร็วขึ้น หลังมีการแยกบัญชีผลกำไรขาดทุน พร้อมยืนยันว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อล้าง ผลขาดทุนสะสมของ ธปท.
ทั้งนี้ การที่ พ.ร.บ.เงินตรา ต้องเลื่อนการเข้าที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกไปไม่มีปัญหาอะไร และไม่กระทบกับกฎหมายการเงินฉบับอื่นๆ เป็นเรื่องที่อธิบายได้
รายงานข่าวแจ้งว่า ตาม พ.ร.บ. เงินตรา ฉบับใหม่ จะมีการเปลี่ยนแปลงรอบเวลาการตีราคาสินทรัพย์ จากเดิมปีละครั้ง เป็นเดือนละครั้ง, การนำเงินในบัญชีทุนสำรองพิเศษ หรือเงินคลังหลวง เอามารวมกับบัญชีสำรองเงินตราได้ เพื่อให้ ธปท.สามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้หมุนเวียน
นางธาริษา กล่าวว่า ค่าเงินบาทในตลาดซื้อขายเงินบาทต่างประเทศและในประเทศมีช่วงห่างลดลงเหลือ 1.40 บาทต่อเหรียญสหรัฐ เกิดจากมาตรการที่ ธปท.อนุญาตให้นักลงทุนสามารถย้ายการซื้อประกันความเสี่ยงจากตลาดออฟชอร์มาปิดสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า (สวอป) ในตลาดเงินบาทในประเทศได้
นายสุชาติ สักการโกศล ผู้อำนวยฝ่ายกำกับแลกเปลี่ยนเงินและสินเชื่อ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.อนุญาตให้นักลงทุนย้ายประกันความเสี่ยงมาตลาดออนชอร์แล้ว 2.5 หมื่นล้านบาท
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=185499
news17/08/07
โพสต์แล้ว: ศุกร์ ส.ค. 17, 2007 8:24 pm
โดย chartchai madman
อุ๋ยแนะขึง30%สู้ซับไพรม์ เผลอเมื่อไหร่ไทยอาจไม่รอด
โพสต์ทูเดย์ หม่อมอุ๋ย เสนอแนะธปท.ไม่ควรเลิกมาตรการกันสำรอง 30% อ้างป้องกันผลกระทบจาก ซับไพรม์ ชี้ตลาดหุ้นต่างชาติครอบงำ
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีต ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอดีตรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง เปิดเผยว่า การติดตามดูแลอัตราแลกเปลี่ยนของ ธปท. ในปัจจุบันถือว่ามีความเหมาะสมแล้วโดยเฉพาะการคงมาตรการสำรอง เงินตราต่างประเทศ 30% ซึ่งใช้ควบคู่กับมาตรการเลือกซื้อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับจำนวนเงิน 100% และระยะเวลาการลงทุน (Fully Hedge) แทนการหักสำรอง 30%
มาตรการทั้งสองจะมีผลทางด้านจิตวิทยาต่อนักลงทุนต่างชาติเพื่อเป็นการสกัดเงินทุนที่ไหลเข้ามาเก็งกำไรในช่วงที่ค่าเงินบาทผันผวน
อย่าเพิ่งไว้วางใจปัญหาซับไพรม์ของสหรัฐ หากปัญหาเกิดขึ้นแล้วมัน จะลุกลามไปยังภาคการเงิน ซึ่งมีความสำคัญและมีขนาดใหญ่และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกได้ หากเกิดขึ้นจริงประเทศไทยก็ไม่รอด จงอย่าประมาท ให้เก็บมาตรการทั้งสองไว้ก่อนอย่าเพิ่งไปยกเลิกมัน เพราะวันหนึ่งอาจมีประโยชน์มากกว่าที่คิดได้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
อดีตผู้ว่าฯ ธปท. กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนายอัมมาร สยามวาลา สนช. ที่เสนอให้ควบคุมค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดหรือเกินดุลไม่เกิน 2% ของอัตราการ เจริญเติบโตทางเศรษฐกิจนั้น คงเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่สามารถควบคุมเงินดุลบัญชีเดินสะพัดได้
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ส่วน จุดอ่อนของประเทศไทยในขณะนี้คือตลาดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของไทยในปัจจุบันถูกครอบงำโดยชาวต่างชาติ โดยปัจจุบันอัตราการถือครองหุ้นเป็นของคนไทย 60-70% ชาวต่าง ชาติ 30-40% แต่คนไทยไม่ค่อยมีการซื้อขายหุ้นกัน ปริมาณการซื้อขายส่วนใหญ่เป็นของชาวต่างชาติเกือบทั้งสิ้น
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=185501
news18/08/07
โพสต์แล้ว: เสาร์ ส.ค. 18, 2007 11:46 am
โดย chartchai madman
หลักทรัพย์ SET
หัวข้อข่าว SET News : ครึ่งปีแรก 2550 บริษัทจดทะเบียนกำไรรวมกว่าสอง...
วันที่/เวลา 17 ส.ค. 2550 19:20:02
ข่าว SET ฉบับที่ 150 / 2550
17 สิงหาคม 2550
ครึ่งปีแรก 2550 บริษัทจดทะเบียนกำไรรวมกว่าสองแสนสองหมื่นล้านบาท
บริษัทจดทะเบียนประกาศผลการดำเนินงาน 6 เดือนแรกของปี มีผลกำไรรวม 229,403 ล้านบาท โดยมียอดขายรวม 2,864,809 ล้าน
บาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยบริษัทจดทะเบียนร้อยละ 78 มีกำไรสุทธิ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรม 3 อันดับแรก
ที่กำไรสุทธิรวมสูงสุดได้แก่ กลุ่มทรัพยากร กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มธุรกิจการเงิน บริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรสุทธิสูง
สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ PTT, SCC, PTTEP, TOP และ BBL
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนประจำงวด
6 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2550 ว่า บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ จำนวน 469 บริษัทที่นำส่งงบการเงินจากบริษัทจดทะเบียน
ทั้งหมด 492 บริษัท รวมกองทุนอสังหาริมทรัพย์ มีกำไรสุทธิรวม 229,403 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 47,674 ล้านบาท หรือ
ลดลงร้อยละ 17 โดยมีบริษัทที่มีกำไรสุทธิ 367 บริษัท และขาดทุนสุทธิ 102 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 78 ต่อ 22 ในขณะที่ผลการดำเนินงานโดยรวม
ในงวดไตรมาส 2 ปี 2550 มีกำไรสุทธิ 114,578 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน
นางภัทรียากล่าวว่า "สาเหตุหลักที่ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนงวด 6 เดือนแรกของปี 50 ลดลงจากงวด เดียวกันของปีก่อน มาจาก
ต้นทุนขายเพิ่มขึ้น ประกอบกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกลุ่มธนาคาร
พาณิชย์และบริษัทเงินทุนมีการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้สอดคล้องกับมาตร
ฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS 39) อย่างไรก็ตามหากพิจารณายอดขายรวมงวด 6 เดือน ปี 2550 เท่ากับ 2,864,809 ล้านบาท เพิ่มร้อยละ 5
จากงวดเดียวกันของปีก่อน "
สำหรับบริษัทในกลุ่ม SET100 มีกำไรสุทธิ 206,330 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 90 ของกำไรสุทธิรวม ลดลงร้อยละ 13 ส่วนยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 แต่
มีต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ทำให้กำไรขั้นต้นลดลงจากร้อยละ 27 เป็นร้อยละ 25ส่วนบริษัทจดทะเบียนในกลุ่ม SET50 กำไรสุทธิ 188,650 ล้านบาท
คิดเป็นร้อยละ 82 ของกำไรสุทธิรวม ลดลงร้อยละ 16 โดยมี ยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 8 ทำให้กำไรขั้นต้นลดลงจากร้อย
ละ 27 เป็นร้อยละ 25 เช่นเดียวกัน
สำหรับบริษัทที่มีมูลค่ากำไรสุทธิรวมสูงสุด 5 อันดับแรกคือ บมจ.ปตท. (PTT) บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม
(PTTEP) บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL)
ด้านผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม (Industry Group ) ไม่รวมบริษัทในกลุ่ม NC( Non-Compliance) และ NPG
(Non - Performing Group ) มียอดขายเพิ่มเกือบทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ยกเว้นกลุ่มเทคโนโลยี และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โดยมีอัตรากำไรขั้น
ต้นร้อยละ 20 ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตรากำไรขั้นต้นร้อยละ 21 โดย มีผลดำเนินงานเรียงตามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีกำไรสุทธิสูงสุด
ดังนี้
1. กลุ่มทรัพยากร ประกอบด้วยหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค และหมวดเหมืองแร่มีกำไรสุทธิ 105,452 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกัน
ของปีก่อน ร้อยละ 8 และยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เนื่องจากราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับตัวสูงขึ้น แต่มีต้นทุนขายเพิ่มขึ้น ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง และ
ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่องทำให้มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน
2. กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง ประกอบด้วยหมวดพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ หมวดวัสดุก่อสร้างและ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มีกำไรสุทธิ
41,179 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29 จากงวดเดียวกันของปีก่อน
3.กลุ่มธุรกิจการเงิน ประกอบด้วยหมวดธนาคาร หมวดเงินทุนและหลักทรัพย์ และหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไรสุทธิรวม 26,742
ล้านบาท ลดลงร้อยละ 48 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย
สำหรับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ 13 แห่ง มีกำไรสุทธิรวม 20,970 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 54 โดยมีสาเหตุ
หลักจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มตามเกณฑ์ใหม่ของธปท. เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IAS 39)
ด้านบริษัทในหมวดเงินทุนและธุรกิจหลักทรัพย์ (ไม่รวมบริษัทที่ประกอบธุรกิจเช่าซื้อและลีสซิ่ง) 19 บริษัท มีกำไรสุทธิ 1,804 ล้านบาท ลด
ลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 26 เนื่องจากบริษัทเงินทุนมีหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการตั้งสำรองตามเกณฑ์ใหม่
ของธปท. เพื่อให้สอดคล้องกับ IAS 39 เช่นเดียวกับธนาคาร ส่วนหมวดประกันภัยและประกันชีวิต มีกำไรสุทธิรวม 2,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9
4. กลุ่มบริการ ประกอบด้วยหมวดพาณิชย์ หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ หมวดการแพทย์ หมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ หมวดบริการเฉพาะ
กิจ และหมวดขนส่งและโลจิสติกส์ มีกำไรสุทธิ 23,872 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 23 โดยยอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 โดยหมวดที่มีกำไรเพิ่มขึ้น ได้แก่
หมวดสื่อและสิ่งพิมพ์ กำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 32
5. กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม ประกอบด้วยหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ หมวดวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร หมวดบรรจุภัณฑ์ หมวด
กระดาษและวัสดุการพิมพ์ และหมวดยานยนต์ มีกำไรสุทธิ 17,985 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 โดยมียอดขายและต้นทุนขายเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกันร้อย
ละ 9 ในขณะที่กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง
6.กลุ่มเทคโนโลยี ประกอบด้วยหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และหมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีกำไรสุทธิ 11,663
ล้านบาท ลดลงร้อยละ 46 อย่างไรก็ตาม หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มีกำไรสุทธิสูงขึ้นร้อยละ 26 โดยมีผลกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ในขณะที่งวด
เดียวกันของปีก่อนมีผลขาดทุน
7. กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ประกอบด้วยหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดธุรกิจการเกษตร มีกำไรสุทธิ 3,873 ล้านบาท ลด
ลงร้อยละ 44 โดยปัจจัยหลักมาจากภาวะตกต่ำของราคาเนื้อสัตว์ในประเทศและการส่งออกได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาท รวมทั้งต้นทุนวัตถุดิบปรับ
เพิ่มขึ้น
8. กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ประกอบด้วยหมวดของใช้ในครัวเรือน หมวดของใช้ส่วนตัวและเวชภัณฑ์ หมวดแฟชั่น มีกำไรสุทธิ 2,328
ล้านบาท ลดลงร้อยละ 31
เอกสารแนบประกอบข่าวตลาดหลักทรัพย์ฯ ฉบับที่ 150/2550 วันที่ 17 สิงหาคม 2550
กลุ่ม อสังหาริมทรัพย์ สินค้า ทรัพยากร บริการ สินค้า เกษตรและ เทคโนโล ธุรกิจการ
อุตสาห (RESOURC) (SERVICE) อุปโภค อุตสาหกรรม ยี เงิน
และก่อสร้าง กรรม บริโภค อาหาร (TECH) (FINCIAL)
(PROPCON) (INDUS) (CONSUMP) (AGRO)
อัตราการเติบโต 29 7 (8) (23) (31) (44) (46) (48)
ของกำไรสุทธิ
(%)
หมวดอุตสาหกรรมที่มีกำไรสูงสุด 5 อันดับแรก (ไม่รวมสถาบันการเงินและกลุ่ม NC และ NPG)
หมวด กำไรสุทธิ (ลบ.) อัตราการเติบ สัดส่วนต่อ บจ. ทั้ง สัดส่วนต่อกลุ่มอุตสาห
6 เดือน ปี 6 เดือน โต (%) หมด (%) กรรม (%)
50 ปี 49
1. พลังงานและ
สาธารณูปโภค 104,910 114,221 (8%) 46% 99%
2. วัสดุก่อสร้าง 22,566 21,847 3% 10% 55%
3. พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 18,613 10,055 85% 8% 45%
4. ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 13,543 12,524 8% 6% 75%
5. ขนส่งและโลจิสติกส์ 12,175 17,550 (31%) 5% 51%
เอกสารแนบประกอบข่าวตลาดหลักทรัพย์ฯ ฉบับที่ 150/2550 วันที่ 17 สิงหาคม 2550
บริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรสุทธิ ยอดขาย สินทรัพย์สูงสุด 20 อันดับแรก เฉพาะ 7 กลุ่มอุตสาหกรรม
(ไม่รวมสถาบันการเงิน กลุ่ม NC และ NPG กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ และบริษัทจดทะเบียนใน mai)
หน่วย : ล้านบาท
ยอดขาย สินทรัพย์
ชื่อย่อ กำไรสุทธิ ชื่อย่อ ชื่อย่อ
6 เดือน 6 เดือน 6 เดือน 6 เดือน 30 มิ.ย. 31 ธ.ค.
50 49 50 49 2550 2549
PTT 48,862 55,381 PTT 666,317 583,622 PTT 850,732 751,453
1
SCC 17,028 17,178 TOP 136,498 139,579 THAI 262,937 262,862
2
PTTEP 13,930 15,116 SCC 128,949 127,892 SCC 241,638 226,264
3
TOP 12,046 11,033 IRPC 105,827 108,168 PTTEP 173,604 157,813
4
IRPC 8,022 7,008 THAI 94,126 88,223 AOT 142,772 145,656
5
ADVANC 7,647 9,415 RRC 77,230 91,145 TOP 137,213 125,200
6
BLAND 6,384 -132 CPF 63,826 59,325 ADVANC 131,126 134,301
7
ATC 5,623 1,437 CP7-11 53,769 48,593 PTTCH 124,601 123,094
8
PTTCH 5,410 8,321 ADVANC 46,177 47,196 TRUE 124,306 122,170
9
RRC 5,159 5,759 BCP 44,078 50,933 IRPC 115,588 127,828
10
EGCO 5,025 3,652 PTTEP 43,035 44,869 DTAC 101,781 95,086
11
THAI 4,301 6,678 CCET 41,042 33,023 CPF 97,897 95,735
12
RATCH 4,189 3,393 ATC 37,855 32,271 RRC 75,954 70,132
13
PSL 2,966 1,658 DTAC 32,212 23,725 SHIN 75,848 84,780
14
BANPU 2,952 1,551 BIGC 30,268 28,486 RATCH 73,015 72,105
15
DTAC 2,892 2,433 TRUE 30,242 25,688 TPIPL 68,295 68,458
16
TTA 2,682 1,755 MAKRO 29,636 27,233 ATC 60,114 56,051
17
GLOW 2,602 2,916 PTTCH 29,457 34,893 GLOW 54,721 54,609
18
SCCC 2,085 2,198 TUF 26,530 26,907 BANPU 53,589 49,387
19
TPIPL 1,647 1,472 STA 24,105 21,479 EGCO 52,588 50,461
20
161,452 158,222 1,741,17 1,643,2 3,018,319 2,873,445
รวม รวม 9 50 รวม
% ของกำไร 79.85 70.02 % ของยอด 67.19 66.38 %ของสินทรัพย์ 58.35 57.46
สุทธิรวม ขายรวม รวม
กำไรสุทธิรวม 202,199 225,969 ยอดขายรวม 2,591,48 2,475,7 สินทรัพย์รวมทั้ง 5,173,137 5,001,030
ทั้งหมด ทั้งหมด 1 00 หมด
news20/08/07
โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 20, 2007 2:13 pm
โดย chartchai madman
เฟ้นหุ้นปันผลให้เลือก
โพสต์ทูเดย์ หุ้นไทยยังเสี่ยงสูง เชียร์ซื้อหุ้นปันผลสูงและราคาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง สมาคมนักวิเคราะห์แจก 8 ตัว บล.ไทยพาณิชย์ให้ 10 บริษัท ยก BSBM สุดยอด
แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะใช้ยาขนานใหม่ในการจัดการกับปัญหาซับไพรม์ลุกลาม โดยประกาศลดดอกเบี้ยมาตรฐานที่เฟดปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารพาณิชย์ลง 0.5% เหลือ 5.75% ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐตอบรับข่าวดีนี้ทันที เมื่อวันศุกร์ ดัชนีดาวโจนส์พุ่งแรง 233.30 จุด หรือ 1.82% ซึ่งน่าจะช่วยทำให้บรรยากาศตลาดหุ้นไทยและเอเชียดีขึ้นด้วยในวันนี้ รวมถึงในประเทศยังมีข่าวดีเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ไทยและต่างประเทศคาดการณ์ตรงกันว่าดอกเบี้ยที่ลดลงรอบนี้เป็นการบรรเทาอาการเท่านั้น แต่แก้ปัญหาซับไพรม์ที่ลุกลามไปทั่วโลกไม่ได้ ทำให้สถานการณ์ตลาดหุ้นดีเพียงช่วงสั้นๆ เท่านั้น
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวว่า ในช่วงนี้นักลงทุนควรเลือกซื้อหุ้นที่ปลอดภัย เช่น บริษัทที่คาดว่าจะจ่ายเงินปันผลสูงๆ หรือหุ้นที่ราคาปรับตัวลงมาต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมากๆ โดยสมาคมได้
คัดเลือกหุ้นตัวใหญ่ที่มีคุณสมบัติที่ว่านั้นออกมาจำนวน 8 บริษัท เช่น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) แม้จะจ่ายเงินปันผลไม่สูงมากแต่ราคาก็มีส่วนต่างจากปัจจัยพื้นฐานถึง 23%
สำหรับปัญหาซับไพรม์จะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยเพียงใดนั้น นายสมบัติ กล่าวว่า ประมาณปลายเดือน ส.ค.นี้ สมาคมจะมีการสำรวจความคิดเห็นของนักวิเคราะห์อีกครึ่งหนึ่ง แม้ว่าจะเร็วเกินไปและอาจจะเห็นภาพชัดเจนไม่ทั้งหมด แต่ก็ช่วยให้นักลงทุนมีข้อมูลว่าสิ่งที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ขณะนี้ยังมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดหุ้นที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง และราคาหุ้นหลายตัวลงมามาก นักลงทุนต้องกลับมาพิจารณาเรื่องอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล และสัดส่วนราคาต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี) เพื่อเลือกซื้อหุ้นลงทุน
ด้าน
บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) ยกให้บริษัทบางสะพานบาร์มิล (BSBM) เป็นหุ้นที่แจกอัตราผลตอบแทนเงินปันผลสูงที่สุดในปี 2550 ถึง 9.4% เมื่อพิจารณาจากหุ้นที่บริษัทวิเคราะห์เท่านั้น
บล.พัฒนสิน แนะนักลงทุนซื้อหุ้นปันหุ้นที่จ่ายปันผลระหว่างกาล บริษัท ยูนิวานิชน้ำมันปาล์ม (UVAN) บริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF) บริษัท เอ็ม.ซี.เอส.สตีล (MCS) บริษัท เหมราชพัฒนาที่ดิน (HEMRAJ) บริษัท ศุภาลัย (SPALI) บริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส์ (HANA) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC)
นายพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการตลาด บล.ธนชาต กล่าวว่า ตอนนี้ควรเลือกซื้อหุ้นที่มีหนี้น้อย โดยพิจารณาจากสัดส่วนหนี้สินต่อทุนหรือดี/อี ต่ำ หรือพิจารณาจากอีบิตดาต่อดอกเบี้ยจ่าย
ส่วนเรื่องเงินปันผลคิดว่าเป็นของแถม
แต่ควรเลือกหุ้นที่ให้อัตราผลตอบแทนปันผลอย่างน้อย 5% ซึ่งสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร โดยแนะนำให้ซื้อหุ้นบริษัท บ้านปู (BANPU) คาดว่าจะแจก 4.2% และบริษัท ปตท. (PTT) น่าจะได้ 3.9% สำหรับผลกำไรทั้งปี 2550
นายพิชัย กล่าวว่า แนวโน้มตลาดหุ้นคงจะผันผวนและปรับตัวลงได้อีก จึงไม่ควรรีบซื้อหุ้น แต่หากใครต้องการจะลงทุน ก็แนะนำให้ทยอยเก็บ โดยใช้สูตร 2-3-5
ผมแนะนำให้ทยอยซื้อ 20% ของพอร์ตก่อน ถ้าหุ้นลงมาอีก 3% ให้ซื้อเพิ่ม 30% และหากยังลงอีก 5% ให้ซื้อ 50% ที่เหลือ เพื่อเฉลี่ยต้นทุนให้ต่ำลง นายพิชัย กล่าว
http://www.posttoday.com/newsdet.php?se ... &id=186105
news20/08/07
โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 20, 2007 7:47 pm
โดย chartchai madman
ประชามติผ่านฉลุย เอกชนมั่นใจการเมืองนิ่งเศรษฐกิจฟื้น
โดย เดลินิวส์ วัน จันทร์ ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2550 08:51 น.
ประวัติศาสตร์หน้าแรก ในระบอบประชาธิปไตย ที่ประเทศไทยยามอยู่ใต้การปกครองของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่กลับผลักดันคนไทยทั้งประเทศให้มีสิทธิมีเสียงเลือกระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เสียงของคนไทยส่วนใหญ่ ต้องการให้ประชาธิปไตยเบ่งบานเต็มใบอย่างแท้จริงเพื่อรอคอย รัฐบาล ที่มาจากการเลือกตั้ง นำพาการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และประเทศไทยกลับสู่วิถีปกติ!! ดั่งเช่นผู้คนทุกวงการที่ออกมาขานรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยความหวัง
โอกาสนี้
เดลินิวส์จึงขอถ่ายทอดบางความคิดเห็นต่อสาธารณชน เริ่มจาก....
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกฯและ รมว. อุตสาหกรรม ซึ่งเป็นแม่ทัพใหญ่ด้านเศรษฐกิจ ได้ระบุว่า ไม่ว่าผลของการลงประชามติจะออกมาอย่างไร รัฐบาลไม่จำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกแล้ว เพราะการที่ประชาชนออกมาใช้สิทธิรับร่างรัฐธรรมนูญ จะทำให้สถานการณ์ทางการเมืองชัดเจนขึ้น และทำให้นักลงทุนเกิดความมั่นใจต่อภาวะเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ประชาชนเกิดความรู้สึกสบายใจ กล้าออกมาจับจ่ายใช้สอย รวมถึงนักลงทุนจะกล้ากลับมาลงทุนในไทยเช่นกัน
ขณะที่ขุนคลังมือใหม่ มาดนัก วิชาการ อย่าง
ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ เชื่อมั่นว่า การลงประชามติครั้งนี้สามารถผ่านไปได้ด้วยดี และส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจไทยไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะเท่ากับว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นตามระบอบประชาธิปไตย ทำให้ความเชื่อมั่นทั้ง ในและต่างประเทศกลับคืนมา ยิ่งทำให้การบริโภคการลงทุนฟื้นตัวขึ้น ขณะเดียวกันภาครัฐได้เร่งการใช้จ่าย เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัว แม้มีปัจจัยภายนอกเข้ามากระทบบ้าง แต่เศรษฐกิจไทยยังสามารถขยายตัวได้ดี
เช่นเดียวกับ ขิงแก่ อย่าง สมหมาย ภาษี รมช.คลัง ระบุเช่นเดียวกันว่า ในแง่ของการเมืองแล้วการลงประชามติ คือการส่งสัญญาณว่า เราจะมีรัฐธรรมนูญ เราจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เปรียบเหมือนกับ ซันไรซ์ ที่ทุกคนฝากความหวังไว้และต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่ารัฐบาลใหม่จะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างไร ส่วนบรรดานักธุรกิจที่ทำธุรกิจอยู่แล้วก็รู้อยู่แล้วว่าต้องดำเนินธุรกิจอย่างไรต่อไป แต่เวลานี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือเรื่องการปรับตัวของนักธุรกิจ ที่มีผลต่อปัญหาแรงงานที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรงมากกว่าเรื่องหุ้นขึ้นหรือ หุ้นลง
ส่วนอดีตแม่ทัพเศรษฐ กิจของขิงแก่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่มองข้ามช็อตไปแล้วว่าไม่ว่าประชาชน จะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็เกิดการเลือกตั้งขึ้นแน่นอน
ทางด้าน
ภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ก็ให้ความเห็นว่า การเห็นชอบรับร่างรัฐธรรมนูญจะส่งผลดีให้การลงทุนมีความชัดเจนขึ้น เพราะการเลือกตั้งมีขึ้นตามกำหนดของรัฐบาลปลายปีนี้ ซึ่งช่วยกระตุ้นการลงทุนให้คึกคัก ส่วนปัญหาซับไพร์มที่กดดันต่อการลงทุนนั้น คาดว่าในระยะเวลาอันสั้นจะเห็นความชัดเจนถึงผลกระทบ และจะทำให้มีแรงซื้อกลับเข้า มาจากราคาหุ้นที่ปรับลงมาต่ำมาก
สอดคล้องกับแนวคิด ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ที่เชื่อว่าการลงประชามติครั้งนี้จะส่งผลดีต่อตลาดหุ้นไทยทำให้เห็นความชัดเจนการเมืองของไทยในอนาคต โดยตลาดหุ้นยังมีปัญหาซับไพร์มที่กดดันการลงทุน ซึ่งคลี่คลายลงภายใน 1 เดือนข้างหน้า แต่สิ่งที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนมากที่สุดคือ จัดเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่รัฐบาลสัญญาไว้ มีนโยบายพลิกเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวได้ดีขึ้น เพราะรัฐบาลรักษาการยังไม่มีนโยบายเศรษฐกิจที่ชัดเจนมากนัก เช่นเดียวกับ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการผู้จัดการ บล.ทิสโก้ จำกัด ที่มั่นใจว่า การลงประชามติครั้งนี้จะทำให้ความเสี่ยงที่เกิดเหตุรุนแรงทางการเมืองลดลงไป และเพิ่มความเชื่อมั่นของต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย
ด้าน นางสุวภา เจริญยิ่ง กรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาติ จำกัด ก็เชื่อว่าการที่เสียงส่วนใหญ่เห็นชอบกับร่างฯ นี้ ได้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยก้าวหน้าไปอีกหนึ่งขั้น กำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งในปลายปีนี้ ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นไทยที่กระตุ้นให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นมากขึ้น เพราะอนาคตจะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามา บริหารประเทศ ปัจจัยทางการเมืองที่เคยกดดันตลาดหุ้นจึงหมดไป หลังจากชะลอการลงทุนจากปัญหาซับไพร์ม
เหมือนกับ พิชิต อัคราทิตย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เอ็มเอฟซี ที่ระบุ การเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน ส่งผลดีต่อภาพรวมของไทยที่ความเสี่ยงทางการเมืองลดลง ไม่มีความขัดแย้งอื่น ๆ ตามมาอีก และเห็นภาพ การเมือง หลังเลือกตั้งว่าจะออกมาในรูปแบบใด ทำให้เศรษฐกิจกลับมาขยายตัวดี และกระตุ้นต่อเนื่องไปถึงตลาดหุ้นที่ปรับตัวดีขึ้น เพราะประเทศไทยกำลังเดินหน้าไปสู่การเลือกตั้ง แสดงว่าอำนาจประชาธิปไตยกำลังคืนสู่ประชาชน ส่วนแรงกดดันจากปัญหาซับไพร์มจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นในช่วงสั้น 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือนเท่านั้น และไม่มีผลที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจ เพราะธนาคารกลางสหรัฐจะควบคุมปัญหาได้แน่นอน จึงไม่มีผลกระทบที่รุนแรงต่อตลาดหุ้นทั่วโลก
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการธนา คารกรุงไทย เห็นว่า ไม่ว่าคะแนนจะออกมาอย่างไร ก็เป็นผลของการออกเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ของประ เทศ สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือ ต่อไปจะเป็นเช่นไร จะออกมาในรูปแบบไหน และจากที่ได้หารือกับนักธุรกิจต่าง ๆ หลายฝ่ายมองว่าอยากเห็นการเลือกตั้งโดยเร็ว มีรัฐบาลใหม่ที่ชัดเจน มีนโยบาย มีการบริหารประเทศในระยะยาว ด้านนักลงทุนก็พร้อมที่จะเข้ามาลงทุน หากมีรัฐบาลใหม่ที่แน่นอน และต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว ซึ่งเชื่อว่าหากมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
นายนิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี ระบุว่า การจะรับร่างฯ หรือไม่ หรือจะมีการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่ปัญหาขณะนี้คือรัฐธรรมนูญถูกบิดเบือน เพราะสิ่งที่ขาดคือ ผู้บริหารประเทศยังไม่สามารถมองปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแตกฉาน ยังมองไม่ออกว่าด้วยสภาพแวดล้อมขณะนี้ผู้บริหารประเทศจะมีศักยภาพเพียงพอสามารถยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ทัดเทียมกับต่างประเทศได้อย่างไร เช่นเดียวกัน ขณะนี้ที่ทั้งประเทศกังวลกับปัญหาการแข็งค่าของเงินบาทจะกระทบส่งออก ทำให้โรงงานปิดกิจการ โดยลืมไปว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นทุกปี แต่ก็ไม่มีนโยบายใดของรัฐบาลที่เป็นรูปธรรมในการส่งเสริมให้คนไทยบริโภคของที่ผลิตในประเทศ ดังนั้นก็ยังคงวนเวียนอยู่กับปัญหาเดิม ๆ เช่นนี้ ต้องพึ่งพาเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก
ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสภาวะที่จะบริหารเศรษฐกิจได้อย่างแข็งแรงเลย ต้องขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจโลกไม่ดี ไทยก็แย่ไปด้วย อีกทั้งปัจจุบันโครงสร้างผู้บริหารประเทศไม่มีความสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการส่งออก ให้ต่ำกว่า 70% ได้ ดังนั้น เมื่อเศรษฐกิจโลกเกิดปัญหา ไทยก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งปีนี้ ก็มองว่าเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร แต่ก็ไม่เลวร้ายจนเกินไปนัก
ฟากนักธุรกิจเอกชนต่างเชื่อมั่นว่า การรับร่างรัฐธรรมนูญ จะเป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยจนทำให้ชีวิตดำเนินต่อไปได้อย่างเป็นสุข โดย สันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยืนยันหนักแน่นว่า ภาคเอกชนต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่าน เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปตามกำหนดเวลาที่วางไว้ที่ปลายปีนี้ เพราะจะทำให้เงินในระบบสะพัด, มีการเบิกจ่าย งบประมาณปี 50-51 ซึ่งถือว่าดีต่อประเทศโดยรวม
ขณะที่ นายดุสิต นนทะ นาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย มองว่า ในสายตานักลงทุนแล้วการรับหรือไม่รับร่างฯ ไม่มีผลกระทบอะไรมาก เพราะท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่นักลงทุนต้องการมากที่สุด คือ การเมืองที่มีเสถียรภาพ มีความนิ่ง นำไปสู่การเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งขณะนี้อยากให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาครัฐ ต้องช่วยกันเร่งทำงาน เบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นโดยเร็ว เพราะขณะนี้แนวโน้มเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลมองว่าไตรมาส 3 จะดีขึ้น ยังไม่เห็นว่า จะมีอะไรมาทำให้ดีขึ้นเลย
ตอนนี้คำตอบสุดท้ายของนักลงทุน คือการเลือกตั้ง และการเมืองนิ่งเท่านั้น เพื่อให้นักลงทุนมีความมั่นใจ เพราะเรื่องรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่เห็นว่า เป็นผลดี หรือผลเสียอะไร
ขณะที่เจ้าพ่อมาม่า พิพัฒ พะเนียงเวทย์ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ. ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ ยอมรับว่า เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 50 นี้ แล้วจะส่งผลดีและเห็นความชัดเจนในทุกด้าน เพราะจะมีการเลือกตั้งรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้ประชาชนเริ่มมั่นใจในการใช้จ่าย ขณะที่นักธุรกิจก็มีความมั่นใจในการลงทุนมากขึ้น เนื่องจากมองว่า ถ้าสถานการณ์ทางการเมืองนิ่งแล้ว กำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังมีปัญหาหลัก คือกำลังซื้อลดลง โดยเฉพาะระดับรากแก้ว ทำให้โรงงานบางแห่งต้องปิดกิจการลง ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงต้องหันหน้าเข้าหากัน เพื่อร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น
ด้าน สมเชาว์ ตันฑเทอดธรรม นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย ก็ระบุว่า การรับร่างรัฐธรรมนูญได้ส่งผลดีต่อทุกอย่าง เพราะจะมีการเลือกตั้งตามมา และมีรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้สถานการณ์การเมืองเริ่มชัดเจนมากขึ้น รวมถึงทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจในการขยายการลงทุน โดยเฉพาะหากมีการเลือกตั้งเร็ว จะส่งผลให้เศรษฐกิจทุกอย่างดีขึ้นด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจขึ้นกับความมั่นใจของประชาชนเป็นหลัก
นายกงกฤช หิรัญกิจ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เห็นว่า การออกเสียงรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญคงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายที่จะปลดล็อกปัญหาทางการเมืองไทย เพราะในที่สุด จะต้องรอจนถึงตอนเลือกตั้งอยู่ดี แต่ยอมรับว่าหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติได้ จะช่วยคลี่คลายความสับสนในบ้านเมืองได้อีกระดับหนึ่ง เพราะในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ วางเงื่อนไขเวลา และกระบวนการไปสู่การเลือกตั้งที่ชัดเจนคือไม่เกินสิ้นปีนี้ ซึ่งช่วยสร้างความชัดเจนให้สังคมและความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวได้มากกว่าได้อย่างมาก และภาพการท่องเที่ยวน่าจะฟื้นคืนได้ตั้งแต่ปลายปีนี้หรือปีหน้า
ปิดท้ายด้วยความเห็นของ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ ก็เห็นว่า เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับร่างฯ เชื่อว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ยังเหมือนเดิมคือ ไม่ ดีขึ้นแบบทันตาเห็น แต่อย่างไรก็ตามในภาพรวมจะสร้างความชัดเจนแก่นักลงทุนและภาคการบริโภคได้ดีในระดับหนึ่ง แต่ก็คงไม่มาก เพราะว่าเศรษฐกิจโลกโดยรวมยังอยู่ในภาวะที่ชะลอตัวลง
ขณะที่ นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ไม่ว่าผลจะออกมาว่าประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจมากนัก เพราะถึงอย่างไรก็มีการเลือกตั้ง เพียงแต่ถ้าผลออกมารับร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการเลือกตั้งตามเวลา
ท้ายที่สุดแล้วการรับร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ เสมือนบันไดขั้นแรก ที่นำไปสู่การเลือกตั้งปลายปีนี้ เพื่อนำประเทศไทย กลับไปสู่การยอมรับ และความเชื่อมั่นในสายตานานาประเทศอีกครั้ง.
http://news.sanook.com/economic/economic_171230.php
news20/08/07
โพสต์แล้ว: จันทร์ ส.ค. 20, 2007 8:10 pm
โดย chartchai madman
คลังส่งสัญญาณหุ้นฟื้น รับทุนนอกไหลกลับเข้าตลาด "เฟด"ลดดอก-การเมืองชัดเจน
รมว.คลัง แนะรับมือการกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยของต่างชาติอีกครั้ง ขณะที่โบรกเกอร์ ชี้หุ้นสดใสรับ ธนาคารกลางสหรัฐ ลดดอกเบี้ย พร้อมประสานเสียงยุ "แมลงเม่า"ช้อนซื้อหุ้น "บิ๊ก แคป"อาทิ หุ้นพลังงาน-แบงก์ หลังฝรั่งเทขายอย่างหนัก
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รมว.คลัง แนะให้ทุกฝ่ายต้องเตรียมรับมือให้พร้อมกับการกลับเข้ามาซื้อหุ้นในตลาดหุ้นไทยของต่างชาติอีกครั้ง เพราะเมื่อถึงจุดที่นักลงทุนต่างชาติที่เคยลงทุนในตลาดหุ้นไทยก็ได้ขายหุ้นเพื่อทำกำไรไปหมดแล้ว ก็กลับเข้ามาซื้อหุ้นอีกครั้ง เนื่องจากอัตราส่วนผลตอบแทนต่อหุ้น หรือค่าพีอีในตลาดหุ้นไทยที่ต่ำมาก ก็ถือเป็นแรงดึงดูดที่สำคัญที่นักลงทุนจะกลับมาให้ความสนใจในตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง
นางวิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ ธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) 0.50%ได้ส่งผลให้ตลาดหุ้นมีแรงรีบาวน์เกิดขึ้นแล้วในปลายสัปดาห์ที่แล้ว ประกอบกับทิศทางของตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียก็เริ่มปรับตัวเป็นบวก ซึ่งจะส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ปรับตัวขึ้นบวกตามได้ ประกอบกับมีการรับร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่เข้ามาหนุนตลาดหุ้นไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ตลาดหลักทรัพย์ฯว่า ตลาดหุ้นไทยตลอด 15วันทำการที่ผ่านมา หรือตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคมถึง 16 สิงหาคม 2550 ตลาดหุ้นไทยได้รับผลกระทบในเรื่องของการปล่อยสินเชื่อที่คาดว่าจะมีความเสี่ยงสูง(ซับไพร์ม โลน)ให้แก่อสังริมทรัพย์สหรัฐอเมริกานั้น ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นปรับลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดมาอยู่ที่ระดับ758.42จุด
ขณะที่มูลค่าทางการตลาดขนาดใหญ่(บิ๊กแคป)ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง จากแรงเทขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ โดยพบว่า หุ้นบิ๊กแคปที่มีการซื้อขายสูงสุด 10 อันดับแรก ที่ได้รับผลกระทบประกอบ ด้วย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)( PTT) ทีมีมูลค่าการซื้อขาย 28,070.35 ล้านบาท หุ้นบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)(TOP) มูลค่าการซื้อขาย18,312.09 ล้านบาท บริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน)(RRC) มูลค่าการซื้อขาย 17,602.03 ล้านบาทบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) มูลค่าการซื้อขาย 16,035.59 ล้านบาท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) มูลค่าการซื้อขาย 10,479.79 ล้านบาท บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) (SCC) มูลค่าการซื้อขาย 9,515.80 ล้านบาท
บริษัทโทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) (TTA ) มูลค่าการซื้อขาย 8,951.10 ล้านบาท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)(KBANK) มูลค่าการซื้อขาย 8,828.85 ล้านบาท บริษัทบ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) มูลค่าการซื้อขาย 8,639.72 ล้านบาท บริษัทอะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (ATC) มูลค่าการซื้อขาย 8,547.84 ล้านบาท
นายกัมปนาท โลหเจริญวนิช กรรมการอำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ทรีนิตี้ จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า
ในช่วงที่ราคาหุ้นขนาดใหญ่ปรับตัวลดลงจากแรงเทขายของต่างชาตินี้ ถือเป็นจังหวะที่ดีของนักลงทุนระยะยาวจะ ที่ต้องการซื้อเพื่อรับผลตอบแทนจากเงินปันผล จะสามารถทยอยซื้อสะสมได้ โดยการเข้าซื้อในลักษณะดังกล่าวเนื่องจากมองว่าในระยะต่อจากนี้อาจมีเหตุการณ์อื่นที่ไม่สามารถคาดเดาได้โดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศ เข้ามากระทบต่อตลาดหุ้นไทยอีก
"ถ้าผู้ลงทุนระยะยาวที่หวังเงินปันผล และไม่ได้มองผลตอบแทนจากแคปปิตอลเกน(ส่วนต่างราคาหุ้น) ก็ถือว่าระดับราคาหุ้นตอนนี้น่าเข้าซื้อแล้ว แต่เป็นลักษณะทยอยสะสม เพราะเรายังไม่รู้ว่าจะมีเหตุการณ์ภายนอกอะไรเข้ามากระทบตลาดหุ้นไทยอีก"นายกัมปนาทกล่าว
นอกจากนี้มองว่าจากผลกระทบดังกล่าว ทำให้ไม่แน่ใจว่าจะดัชนีตลดาหุ้นไทยจะไปถึงระดับประมาณ 900 จุด ตามที่ประเมินไว้ล่าสุดหรือไม่ อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการรอดูปัจจัยจากต่างประเทศที่จะเข้ามากระทบ ต่อตลาดหุ้นไทยในเรื่องของ ซับไพร์มโลน รวมถึงเหตุการณ์ในประเทศ หลังจากลงมติร่างรัฐธรรมนูญว่าจะมีความรุนแรงเกิดขึ้นกดดันดัชนีอีกหรือไม่
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการผู้อำนวยการ บล. เอเชีย พลัส จำกัด(มหาชน)(ASP)กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนระยะยาวถือว่าการปรับตัวลดลงในครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญที่จะสามารถเข้าลงทุนได้ เนื่องจากราคาของหุ้นขนาดใหญ่หลายตัว ได้ปรับลดลงมากจากความกังวลเรื่องซับไพร์มในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามยอมรับว่าบล.เตรียมที่จะปรับประมาณการดัชนีหุ้นไทยในช่วงปลายปีที่ประเมิณว่าล่าสุดที่ประมาณ 900 จุดลงอย่างแน่นอน แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะลดลงเหลือเท่าไหร่ เพราะต้องรอผลสรุปจากเหตุการณ์ซับไพร์มโลน ให้นิ่งก่อน รวมถึงการกู้เงินเยนเพื่อ มาลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่น(เยนแครีเทรด)ว่า จะมีผลต่อตลาดหุ้นไทยอย่างไรบ้าง
http://www.naewna.com/news.asp?ID=72028