พิษดอลล์อ่อนลากบาทแข็ง2ปี รร.พลิกเกมขายต่างชาติเป็นบาท
ภาคเอกชน-การเงิน ทำใจ 6 มาตรการแก้ปัญหาค่าบาทของรัฐบาลไม่ถึงขั้นยาแรง คาดดึงบาทอ่อนแค่ช่วงสั้น ก่อนจะดีดกลับแข็งค่าอีกครั้ง ด้านนักวิชาการประสานเสียง ทิศทางดอลลาร์ซึ่งมีแนวโน้มซึมยาวในอีก 2 ปีข้างหน้าคือ "ตัวแปรสำคัญ" ทำบาทแข็งค่าไม่เลิก "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ทำนาย 4 ปีนับจากนี้ เลิกหวังเห็นบาทอ่อน ตราบใดเงินสหรัฐยังมีช่องอ่อนค่าลงได้อีกถึง 10% ขณะ "เอกกมล คีรีวัฒน์" แนะแบงก์ชาติแทรกแซงแบบไม่มีลิมิต ออกมาตรการหักภาษี ณ ที่จ่าย กับบัญชีน็อนเรซิเดนต์
แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยและรัฐบาลจะร่วมกันจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทออกมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ตามความเห็นของนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ค่าเงินจากหลายสถาบันในประเทศไทย ต่างมองทิศทางของเงินบาทว่ามีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อเนื่อง จากปัจจัยการอ่อนค่าของเงินสหรัฐเป็นสำคัญ ซึ่งมีการวิเคราะห์คาดการณ์แนวโน้มว่าอาจจะแข็งค่าต่อเนื่องต่อไป อย่างน้อยในอีก 2 ปีข้างหน้า
ดังข้อสังเกตของ ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด ซึ่งระบุว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ได้เคลื่อนไหวไปตามการเคลื่อนไหวของดอลลาร์ ดังนั้น จึงเป็นเหตุผลโดยปริยายที่ธนาคารแห่งประเทศไทย จะไม่สามารถดำเนินมาตรการอะไรได้มากนัก
ดร.เศรษฐพุฒิยังวิเคราะห์มาตรการดอกเบี้ยด้วยว่า การลดดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาไม่มีผลต่อทิศทางของค่าเงินบาท โดยอธิบายว่า ปัจจุบันเงินฝากที่เป็นดอลลาร์สหรัฐได้ดอกเบี้ยประมาณ 5% ขณะที่เงินฝากของไทยให้ดอกเบี้ยประมาณ 2% ดังนั้น ต้องดูว่าธนาคารพาณิชย์จะให้ดอกเบี้ยเท่าไรที่จะจูงใจให้คนมาฝาก จึงมองว่าไม่น่าจะมีผลมากนักที่จะทำให้เงินทุนต่างประเทศไหลออก
ด้วยเหตุนี้ ดร.เศรษฐพุฒิคาดการณ์ถึงแนวโน้มค่าเงินบาทว่า ในระยะสั้นมีโอกาสที่จะกลับมาแตะที่ 34 บาทได้ แต่เป็นเพียงชั่วคราว โดยมีแนวโน้มว่าปลายปีอาจจะอยู่ที่ 33 บาท/ดอลลาร์ แต่ถ้าดูจากความสัมพันธ์ที่เปรียบเทียบการเคลื่อนไหวค่าเงินบาทกับดอลลาร์จะไปในแนวเดียวกัน คือ ดอลลาร์อ่อน บาทแข็ง และแนวโน้มดอลลาร์ยังอ่อนค่าต่อ เพราะปัจจุบันสหรัฐอเมริกาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดประมาณ 6% ของจีดีพี และคนที่ช่วยเติมน้ำในตุ่มให้สหรัฐก็คือประเทศในเอเชียที่เข้าไปลงทุนซื้อพันธบัตร เห็นได้จากญี่ปุ่นที่นำเงินทุนสำรองของประเทศไปลงทุนในพันธบัตรสหรัฐจำนวนมาก และปัจจุบันเอเชียเริ่มปรับตัวไม่ค่อยเอาเงินไปใส่ตุ่มให้สหรัฐ
"คำตอบว่า ค่าบาทจะเป็นอย่างไรให้ดูดอลลาร์เป็นหลัก บาทจะแข็งเท่าไรก็ให้ดูว่าดอลลาร์จะอ่อนเท่าไร และมีความเป็นไปได้ที่ดอลลาร์อาจจะอ่อนค่าลงไปได้ถึง 10% นั่นหมายถึงบาทก็จะแข็งค่าไปเรื่อยๆ แต่อันนี้เป็นแนวโน้ม ซึ่งคาดว่าจะค่อยๆ แข็งค่าอย่างต่อเนื่องในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าตามค่าเงินดอลลาร์" ดร.เศรษฐพุฒิกล่าว
"เอกกมล" แนะใช้ "ภาษี" ไล่เงินนอก
นายเอกกมล คีรีวัฒน์ อดีตรองผู้ว่าการสายงานดูแลนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งขึ้นเป็นผลจากเงินต่างชาติที่ไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย ไม่ต้องกันสำรอง 30% ตามเกณฑ์ ธปท. ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งในการย้ายเงินเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์
"ตอนนี้เงินไหลเข้าน่ากลัวมากๆ หนักขึ้นเรื่อยๆ หลักเศรษฐศาสตร์เงินไหลเข้าต้องมาจากการค้าขาย แต่นี่เป็นเงินเล่นหุ้น ทำให้บาทเราแข็ง ถ้าไม่อยากให้บาทแข็ง ก็ต้องเข้าไปแทรกแซงซื้อดอลลาร์จนถึงระดับที่ทำให้บาทอ่อนมาที่ระดับพอใจของแบงก์ชาติ ก็ยันไว้ระดับนั้น การแทรกแซงนี้เป็นวิธีที่ง่าย แต่ถ้าแบงก์ชาติบอกไม่แทรกแซง ก็ต้องหามาตรการไล่เงินออก เช่น ออกมาตรการหักภาษี ณ ที่จ่ายของเงินต่างชาติเลย ไล่เงินออกเลย ถ้าลงทุนครบกำหนดแล้วไม่ออก จะฝากเงินต้องจ่ายดอกเบี้ยให้เรา ซึ่งมาตรการนี้จะทำให้เงินไหลออก บาทก็จะอ่อนได้"
ดีลเลอร์จากแบงก์ใหญ่รายหนึ่ง กล่าวว่า ช่วงนี้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังคงเข้าแทรกแซงอย่างหนักและต่อเนื่อง ซึ่งล่าสุดวันนี้ก็เข้าแทรกแซงจนค่าเงินบาทอ่อนลงมาอยู่ที่ 33.57/63 ต่อดอลลาร์ ซึ่งหากไม่เข้าแทรกแซงค่าเงินบาทน่าจะแข็งขึ้นไปไม่ต่ำกว่า 33.55 ต่อดอลลาร์แล้ว แนวโน้มค่าเงินบาทยังคงแข็งค่าขึ้นไปจนถึงสิ้นปีนี้เลย โดยมีโอกาสที่จะแข็งขึ้นไปถึง 32.5 ต่อดอลลาร์ได้ เนื่องจากประเทศไทยยังมีเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมาก ขณะที่ภาคส่งออกก็ยังโต ตลาดหุ้นจึงยังคงเป็นขาขึ้นอีก
"แบงก์ชาติตอนนี้แทรกแซงอย่างหนักเลย รับซื้อดอลลาร์เยอะมากเรื่อยๆ เห็นเวลาบาทเหวี่ยงเยอะๆ ก็รัฐอนุมัติให้ออกพันธบัตรแล้ว แล้วรัฐก็โดนกดดันจากเรื่องโรงงานปิด การเมืองเข้าแทรก แซง ยิ่งใกล้ช่วงรับร่างประชามติ รัฐก็ยิ่งต้องเอาใจประชานิยม ทำให้บาทอ่อนแต่ก็ทำได้เล็กน้อย แนวโน้มบาทระยะยาวก็ยังแข็งเหมือนเดิม มองไปถึงสิ้นปีนี้บาทขึ้นไปแถวๆ 32.5" ดีลเลอร์กล่าว
เทรนด์ดอลลาร์อ่อนยาว 2 ปี
สถานการณ์การเคลื่อนไหวของเงินสหรัฐ ดอลลาร์ยังอ่อนค่าต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับเงินเยนของญี่ปุ่น และยูโรของสหภาพยุโรป โดยล่าสุดดอลลาร์/เยนอยู่ที่ระดับ 120.58 เยนต่อดอลลาร์ อ่อนค่าจาก 120.99 เยนต่อดอลลาร์ของวันก่อน ขณะที่ดอลลาร์/ยูโรอยู่ที่ 1.3816 ดอลลาร์ต่อยูโร แข็งค่าขึ้นจาก 1.3810 ดอลลาร์ต่อยูโร
ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์สองสัปดาห์ที่ผ่านมา มาจากปัญหาสินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้กับกลุ่มคนที่มีคุณสมบัติต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย หรือลงทุนในตลาดอสังหาริมทรัพย์ หรือ subprime loan หลังจากสินเชื่อประเภทนี้เริ่มมีปัญหาเป็นผลกระทบลูกโซ่จากภาวะชะลอตัวต่อเนื่องของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐ ที่ขยายวงสู่ตลาดตราสารหนี้ประเภทต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อ subprime รวมถึงสถาบันการเงินและธนาคารที่ทำธุรกรรม เกี่ยวเนื่อง จนสร้างพันธะผูกพันไว้มหาศาล
ดังกรณีล่าสุดของธนาคาร CIBC หรือแคนาเดียน อิมพีเรียล แบงก์ ออฟ คอมเมิร์ซ อาจจะต้องแทงหนี้สูญมากถึง 100 ล้านดอลลาร์ในไตรมาสนี้ เนื่องจากปัญหา subprime loan
ในระยะยาวดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักมาจากปัญหาโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยปัญหาการขาดดุลแฝดของสหรัฐ ที่ขาดดุลทั้งดุลบัญชีเดินสะพัด และดุลงบประมาณ ซึ่งส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์รางวัล โนเบลหลายท่าน ที่ติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์ พบว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช จูเนียร์ มีเหตุผลที่จะไม่เข้าไปแทรก แซงการอ่อนค่าของดอลลาร์ ดังความเห็นของนายพอล ซามวลสัน นักเศรษฐศาสตร์โนเบลปี 1970 ที่สรุปว่า แม้ในทางการทูต รัฐบาลบุชจะสนับสนุนนโยบายดอลลาร์แข็ง แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปในทางตรงกัน
เห็นได้จากในอดีต ย้อนหลังไปจนถึงปี 2520 กระทรวงการคลังในเกือบทุกรัฐบาลของสหรัฐ ล้วนแต่เข้าแทรกแซงตลาดอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อซื้อเงินดอลลาร์ ยกเว้นรัฐบาลบุช ยิ่งกว่านั้น ตัวเลขสถิติโดยเฉพาะการส่งออก พบว่า การอ่อนค่าของดอลลาร์ ได้ส่งผลให้ยอดการส่งออกเดือนพฤษภาคมของสหรัฐสูงเป็นประวัติการณ์ 1.32 แสนล้านดอลลาร์ และที่ผ่านมาได้ช่วยลดปัญหาการขาดดุลการค้า เห็นได้จากการลดลงของตัวเลขขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสแรก จากระดับ 7% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เหลือ 5.7%
หนังสือพิมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล เฮรัลด์ ทรีบูน อ้างดัชนีและสถิติของธนาคารกลางสหรัฐ ที่ติดตามการเคลื่อนไหวค่าเงินดอลลาร์เทียบกับเงินสกุลประเทศคู่ค้า 38 ราย รวมถึงเยอรมนี ญี่ปุ่น และแคนาดา พบว่า ค่าเงินดอลลาร์ในสมัยของประธานาธิบดีบุช อ่อนค่าลง 13.2% เมื่อเทียบกับสมัยของประธานาธิบดีคลินตันที่แข็งค่าขึ้น 18.3%
นายริชาร์ด แคลริดา นักยุทธศาสตร์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของพิมโกคาดการณ์ว่าดอลลาร์มีแนวโน้มจะอ่อนค่าต่อเนื่องไปอย่างน้อย 2 ปี
ดีลเลอร์คาด 6 มาตรการดึงบาทอ่อนช่วงสั้น
จากการประมวลเสียงสะท้อนของภาคธุรกิจเอกชนทั้งจากสายการเงิน ธนาคาร และบริษัทเอกชน ต่อมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทของรัฐบาล ในมุมของดีลเลอร์ค้าเงินตรามองว่า อาจจะช่วยเงินบาทอ่อนลงเล็กน้อยช่วงเวลาสั้นเท่านั้น ซึ่งเรียกว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่ปัญหาใหญ่ตอนนี้อยู่ที่คนไม่อยากถือเงินสกุลดอลลาร์ แม้แต่ผู้ส่งออกเองก็ยังเทขายดอลลาร์กันมากในตลาด แม้แบงก์ชาติจะอนุญาตให้ถือดอลลาร์ยาวขึ้น หรือให้เปิดบัญชีฝากเงินตราต่างประเทศ FCD แต่ผู้ส่งออกไม่กล้าเสี่ยง เพราะมองเห็นแต่แนวโน้มดอลลาร์อ่อนค่า หากฝากในบัญชีนี้ก็มีโอกาสขาดทุนหนักขึ้น
นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบีเคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ช่วงนี้ตลาดหุ้นไทยยังปรับตัวขึ้นแรง เนื่องจากเงินต่างชาติยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทย หลังจากมองดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่า ส่วนค่าเงินบาทก็เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบอ่อนค่าเล็กน้อยจนถึงทรงตัว หลังจากที่รัฐออกมาตรการแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่า โดยเฉพาะวันนี้หุ้นขึ้นแรงยังเป็นหุ้นขนาดใหญ่กลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี และแบงก์ โดยมูลค่าซื้อขายหนาแน่นมาก แต่คาดว่าตลาดหุ้นขึ้นแรงในช่วงระยะสั้นๆ นี้จนถึงช่วงต้นสิงหาคมซึ่งจะเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นพิจารณาขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้แนวโน้มค่าเงินเยนแข็งขึ้น น่าจะมีโอกาสเห็นเงินต่างชาติไหลเข้าญี่ปุ่นมากขึ้น และชะลอในไทย
"หุ้นขึ้นช่วงสั้นๆ มากกว่า ขึ้นแรงอย่างนี้ปกติจะมีขายทำกำไรแล้ว คิดว่าน่าจะเห็นใกล้ๆ 900 จุด ก็น่าจะก่อนที่ญี่ปุ่นมีการประชุมดอกเบี้ย เพราะพวกต่างชาติที่ยืมเงินเยนมา พวกต่างชาติที่เงินเขาทำ carry trade มาลงทุน เขาจะมีต้นทุนดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตามดอกเบี้ยญี่ปุ่นที่ขึ้น เพราะฉะนั้นเขาต้องรีบขายทำกำไรออกมาก่อนเพื่อเอาไปคืนหนี้ จึงทำให้มีโอกาสที่เงินจะไหลออกจากไทย จึงเชื่อว่าบาทน่าจะอ่อนได้บ้าง แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นกับเงินต่างชาติที่กู้แคร์รี่เทรดมามีต้นทุนเท่าไหร่ด้วย ถ้าคนที่ต้นทุนต่ำ 0% ก็ไม่กระเทือน แต่คนที่กู้มาช่วงที่ 0.25.-050% หากญี่ปุ่นขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ก็จะทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้น เขาก็ต้องมาดูว่าจะขายทำกำไรดีหรือถือต่อแล้วได้กำไรคุ้มค่าอยู่"
นายโกสินทร์กล่าวอีกว่า ในช่วงนี้ค่าเงินบาทไม่น่าแข็งขึ้นมาก หลังจากทางการออกมาตรการดูแลค่าเงินบาท โดยจะเห็นว่าเงินบาททั้งตลาดในประเทศ (onshore) และตลาดต่างประเทศ (offshore) วันนี้เริ่มอ่อนค่าลงมาอยู่ที่ 33.50 และ 30 บาทต่อดอลลาร์ตามลำดับ แต่เงินบาทก็ยังมีโอกาสที่จะแข็งขึ้นอีกจากปัจจัยทิศทางดอลลาร์อ่อนค่าอยู่ เพียงแต่ว่าเงินต่างชาติที่จะไหลเข้ามาในช่วงนี้ไม่น่าจะมากมายและรวดเร็วเหมือนช่วงก่อนหน้า
"ถ้าวันนี้รัฐยังไม่มีมาตรการอะไรออกมา คิดว่าเงินบาทอาจหลุดไปที่ 32 บาทกว่าก็ได้ จากที่อยู่ 33 บาทเศษ ซึ่งช่วงนี้เงินก็ยังไหลเข้าเอเชียอยู่ ค่าเงินคนอื่นแข็งขึ้นกัน แต่เงินบาทเราไม่แข็ง แต่ก็ไม่อ่อนมาก ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากมาตรการ ส่วนตลาดหุ้นเราที่ยังขึ้นแรงได้ ก็เพราะเงินต่างชาติยังหมุนอยู่ในตลาดเราเยอะ เขายังไม่ไหลออก เพราะเชื่อเศรษฐกิจภูมิภาคนี้มีแนวโน้มขยายตัว การเมืองก็ดีขึ้น และดอลลาร์อ่อนค่า แต่ข้างหน้าก็มีโอกาสที่จะไหลออก จากปัจจัยดอกเบี้ยญี่ปุ่นขึ้น"
ด้านนางวิริยา ลาภพรมรัตน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน กล่าวว่า สาเหตุที่ตลาดหุ้นกลับมาขึ้นแรงในสัปดาห์นี้อีกครั้งเนื่องจากมีปัจจัยใหม่มากระตุ้น คือ ข่าวการควบรวมกิจการของ บมจ.โรงกลั่นระยองเพียว (RRC) และ บมจ.อะโรเมติกส์ (ATC) จึงทำให้นักลงทุนคาดหมายผลการควบรวมกิจการดังกล่าวจะทำให้เกิดซินเนอร์ยีขึ้นในกลุ่มธุรกิจของ ปตท.ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ จึงทำให้หุ้นในกลุ่ม ปตท.รวมไปถึงกลุ่มพลังงานปรับตัวขึ้นสูง
ครม.ไฟเขียว 6 มาตรการ
สำหรับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2550 ได้อนุมัติมาตรการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาท 6 ข้อ ตามข้อเสนอของธนาคารแห่งประเทศไทยร่วมกับกระทรวงการคลัง ซึ่งประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การลงทุนโดยตรงในกรณีที่บริษัทไทยลงทุนในต่างประเทศ จะผ่อนผันให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯสามารถลงทุนได้ไม่เกิน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ และลดแรงกดดันค่าเงินบาท
มาตรการที่ 2 การฝากเงินสกุลต่างประเทศ ในประเทศมี 2 กลุ่ม คือ กรณีมีการส่งเงินตราต่างประเทศจากต่างประเทศที่เป็นเงินรายได้จากการส่งออก หรือกู้เงินต่างประเทศ ในกรณีมีภาระผูกพันสามารถแสดงได้ภายใน 1 ปี มียอดคงค้างไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรณีไม่มีภาระผูกพัน ยอดคงค้างรวมทุกบัญชี ของบุคคลธรรมดาไม่เกิน 1 แสนดอลลาร์สหรัฐ ส่วนนิติบุคคลไม่เกิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
กรณีที่การกู้ยืมเงินตราต่างประเทศในประเทศไทย โดยการนำเงินบาทซื้อหรือแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินตราต่างประเทศแล้วนำเงินไปฝากสถาบันการเงินในประเทศได้ โดยมีหลักเกณฑ์ คือ กรณีที่มีภาระผูกพัน ต้องแสดงภาระภายใน 1 ปี หากเป็นบุคคลธรรมดาต้องมียอดคงค้างรวมไม่เกิน 5 แสนดอลลาร์สหรัฐ ส่วนนิติบุคคล 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนกรณีที่ไม่มีภาระผูกพัน สำหรับบุคคลธรรมดาต้องมียอดคงค้างทุกบัญชีไม่เกิน 5 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ส่วนนิติบุคคล 2 แสนดอลลาร์สหรัฐ
มาตรการที่ 3 การโอนเงินต่างๆ ได้มีการปรับให้สอดคล้อง ยืดหยุ่น กรณีการโอนเงินให้ญาติที่มีที่อยู่ถาวรในต่างประเทศ หรือการโอนเงินเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือโอนเพื่อวัตถุประสงค์อื่น สามารถโอนได้ในแต่ละวัตถุประสงค์ไม่เกิน 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
มาตรการที่ 4 เงินที่ได้จากการขายสินค้า ที่นำเข้ามาในประเทศ จะเปิดกว้างโดยขยายเวลา การนำเงินเข้าจาก 120 วัน เป็น 360 วัน ในทุกกรณี ส่วนมาตรการที่ 5 คือ ยกเลิกข้อกำหนดให้บุคคลในประเทศที่ได้รับเงินตราต่างประเทศ ต้องขาย หรือขายฝากภายใน 15 วัน โดยไม่มีข้อจำกัด และมาตรการที่ 6 ให้การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการฝากเงินตราในต่างประเทศ สามารถทำได้ โดยไม่ต้องขออนุญาต
นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า มาตรการนี้จะมีผลบังคับใช้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง โดย ธปท.จะประเมินผลเพื่อปรับปรุงนโยบายได้ ซึ่ง ธปท.ได้มีการเปิดฮอตไลน์เพื่อสอบถามเรื่องมาตรการนี้ด้วย ที่เบอร์โทรศัพท์ 0-2283-6000
เครือปูนจี้รัฐสกัดค่าเงิน
นายปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด ในเครือซิเมนต์ไทย (SCG) เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจาก 35 เป็น 33 บาทเศษ/ดอลลาร์ ส่งผลกระทบต่อรายได้จากส่งออกพอสมควร แต่ไม่รุนแรงเท่าปีที่ผ่านมา ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นปัญหาระดับประเทศ ต้องอาศัยนโยบายจากรัฐบาลออกมาตรการระยะสั้นสกัดเงินบาทไม่ให้แข็งค่าขึ้นไปกว่านี้
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจปูนซีเมนต์ SCG นั้น ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนส่งออกปูนซีเมนต์ 20% ต่อปี หรือประมาณ 8,000 ล้านบาท และเพื่อให้มีปริมาณการผลิตมากพอที่จะมาถัวเฉลี่ยให้ต้นทุนต่ำลง ไม่ได้หวังว่าต้องมีกำไรจากการส่งออก โดยเฉพาะในปีนี้เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกว่า 1 บาททำให้รายได้จากการส่งออกปูนซีเมนต์ของบริษัทช่วงครึ่งปีแรกหายไปประมาณ 100 ล้านบาท แต่คงไม่สามารถทำอะไรได้ ส่วนการใช้วิธีชะลอส่งมอบสินค้าออกไป บริษัทมองว่าไม่ใช่ทางออก
โรงแรมพลิกกลับมาขายห้องเป็นเงินบาท
รายงานข่าวจากสมาคมโรงแรมไทยระบุว่า โรงแรมในเมืองไทยเริ่มปรับกลยุทธ์จากที่เคยขายเป็นดอลลาร์กลับมาขายเป็นเงินบาทอีกครั้ง หลังจากปี 2540 เป็นต้นมาที่ปรับไปใช้การขายด้วยดอลลาร์แทนเงินบาท และมั่นใจว่าลูกค้าโดยทั่วไปสามารถรับได้ เนื่องจากการท่องเที่ยวในเมืองไทยถูกกว่าคู่แข่งอีกหลายๆ ประเทศ
นายวัลลภ พุกกะณะสุต รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้วางกลยุทธ์ทั้งรับและรุกต่อสถานการณ์ค่าเงินบาทตั้งแต่ปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากกระทบต่อการขายตั๋วเครื่องบินทั้งขาเข้าและขาออก
ที่ผ่านมาขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนไปแล้วประมาณ 800 ล้านบาท ผู้โดยสารเฉลี่ย (load factor) จากต่างประเทศที่ลดลงมากที่สุดคือญี่ปุ่น จึงทำกิจกรรมการขายเชิงรุกด้วยการเพิ่มส่วนแบ่งตลาดคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศ (outbound) ให้เพิ่มขึ้นเดือนละ 10-12% โดยแต่ละเส้นทางจะมีผู้โดยสารเอาต์บาวนด์สูงถึง 50% จากปัจจุบันมีเพียง 38-40%
http://www.matichon.co.th/prachachat/pr ... ionid=0201