หน้า 5 จากทั้งหมด 5

คิดแล้ว ptt ดีที่สุด ณ เวลานี้

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ม.ค. 11, 2007 10:17 am
โดย ซากทัพ
เรื่องฟ้องร้อง ptt ดูรายละเอียด เทียบกับกรณีการเข้าตลาดของกฟผ. แล้วแตกต่างกันบางอย่าง  ptt ตั้งกรรมการถูกต้อง ส่วนกฟผ.มีประโยชน์ทับซ้อนของกรรมการบางท่าน
แต่ในแง่สินทรัพย์สินบางอย่าง คือท่อส่งก๊าซ ที่ปัจจุบันปตท.จะ loss มากหากแยกออกมา เช่นเดียวกับสายส่งของกฟผ.เป๊เลย ส่วนนี้ เท่าที่ผู้คนวิจารณ์ ตีความตลอด ว่าเป็นของสาธารณะ
ก็คงรอศาลพิจารณาครับ ระหว่างความถูกต้องกับผลกระทบ....

โดยส่วนตัวแล้วผมไม่ชอบการกระทำธุรกิจของปตท. กรณีการแบ่งกำไรในการขายน้ำมันครับ แทนที่จะให้ค่าการตลาดในการขายที่หน้าปั๊มให้อยู่ได้ครับ ตัวปตท.มีกำไร แต่ปั๊มน้ำมันยิ่งขายยิ่งเจ๊ง ยุติธรรมไหมครับ ทั้งที่ต้องอาศัยปั๊มในการขายของ ถือว่าขาดธรรมาภิบาลไหมครับ

คิดแล้ว ptt ดีที่สุด ณ เวลานี้

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ม.ค. 11, 2007 10:18 am
โดย Jeng

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ต้องดูถึงความเหมาะสมเพื่อให้มีผลต่อต้นทุนน้อยที่สุด และยอดขายของ ปตท.ปีนี้จะขยายตัวเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว 10% ซึ่งปลายปีนี้ ปตท.จะสามารถนำหุ้นของโรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียมรีไฟน์นิ่ง ที่ ปตท.ถือหุ้นร่วมกับเชฟรอนเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯได้.
เดี๋ยวก็บอกไม่โต

พอหุ้นลงมากก็บอกโต 10 %

อืม

แต่อย่างไรก็น่าซื้ออยู่ดี ptt

คิดแล้ว ptt ดีที่สุด ณ เวลานี้

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ม.ค. 11, 2007 10:20 am
โดย phobenius
แล้วพี่เจ๋งซื้อแล้วหรือยังครับ ซื้อเมื่อไหร่บอกผมด้วยนะ ได้ซื้อตาม

ถ้าน่าซื้อแปลว่าก็ยังไม่ซื้ออยู่ดี

จะได้รอไปก่อนตอนนี้

คิดแล้ว ptt ดีที่สุด ณ เวลานี้

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ม.ค. 11, 2007 10:21 am
โดย Jeng
พี่ไม่ได้เล่นหุ้นครับ ดูเฉยๆ พี่เอาเงินมาทำกิจการของพี่ ได้กำไรมากกว่า เล่นหุ้นคับ

อยากซื้อก็ซื้อไปเลย ไม่ต้องรอครับ

คิดแล้ว ptt ดีที่สุด ณ เวลานี้

โพสต์แล้ว: พฤหัสฯ. ม.ค. 11, 2007 1:22 pm
โดย ply33
ความเห็นส่วนตัวนะครับ

ก่อนหน้านี้มั่นใจว่ายังไงก็ตาม PTT ก็ไม่มีทางออกจากตลาดได้ เพราะยากเหลือเกิน อย่างมากก็อาจจะโดนสั่งให้แยกบริษัทก้าสและท่อออกมาซึ่งแค่นั้นก็กระทบหนักมากๆแล้วสำหรับ PTT

แต่เมื่อมีนโยบายต่างๆจากกระทรวงการคลังออกมาเรื่อยๆ เลยคิดว่าสำหรับรัฐบาลนี้ตอนนี้เหตุการณ์ต่างๆนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้นครับ ความไม่แน่นอนสูงเหลือเกิน

แต่คิดกลับกันถ้าไม่มีประเด็นนี้ก็ยังมีประเด็นการหาแหล่งเงินทุนของ PTTที่ต้องนำมาลงทุนใหม่อีกซึ่งติดประเด็นที่จะกู้จากต่างประเทศที่ต้องโดนหัก 30% ของเงินนำเข้าไว้ครับ

สรุปแล้ว "กลัวครับ"

คิดแล้ว ptt ดีที่สุด ณ เวลานี้

โพสต์แล้ว: พุธ ม.ค. 17, 2007 1:48 pm
โดย ply33
อยากถามว่าถ้า PTT โดนฟ้องให้แยก กิจการก้าซออกมาโดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลชั่วคราว แบบที่โดนร้องนั้น จะมีผลกระทบต่อ PTT และ/หรือ PTTEP หรือไม่อย่างไรครับ

คิดแล้ว ptt ดีที่สุด ณ เวลานี้

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ม.ค. 19, 2007 10:15 pm
โดย BenjaMinburee

โค้ด: เลือกทั้งหมด

PTT มีธุรกิจผูกขาดอยู่ในมือจำนวนหนึ่ง ซึ่งถ้าจะมีปัญหาเรื่องการเมือง 
ก็เรื่องนี้แหละครับ 

ธุรกิจที่ผูกขาด ควรเป็นของรัฐ 100% เพราะไม่เช่นนั้น 
จะผิดกฎหมายการค้าซึ่งเพิ่งออกก่อนทรท.ชนะการเลือกตั้งไม่นาน 

กฎหมายฉบับนี้ (พรบ.ป้องกันการผูกขาดทางการค้า) 
effective แล้ว แต่ไม่เคยเกิดคดีฟ้องถึงศาลแม้แต่คดีเดียว 
เพราะอดีตผู้นำดองเอาไว้ ด้วยเหตุผลใดก็คงพอจะเดากันได้ 

ถ้ากฎหมายนี้ รัฐบาลรื้อขึ้นมาใช้จริงๆ จังๆ เมื่อไหร่ 
PTT อาจจะต้อง split เอาธุรกิจผูกขาดเหล่านี้ 
กลับเข้าไปเป็นของรัฐ ถึงแม้ว่า PTT จะไม่ต้อง delist 

ธุรกิจผูกขาดนี้ ผมจำได้ว่ามีท่อส่งก๊าซอันหนึ่ง 
และสัมปทานการขายก๊าซธรรมชาติอันหนึ่ง 
(ที่กดซื้อจาก pttep มา แล้วมาขายต่อทำกำไรง่าย) 

มีอะไรอีกหรือเปล่าครับ? 

กรณีแยกธุรกิจ ผมว่ามีโอกาสเกิดสูงมาก 
ถ้าเกิดจริง กำไรปตท. จะหดไปเท่าไหร่นะ
ผมเคยได้รับเอกสารเกี่ยวกับการแปรรูปมา ทางปตท.ได้แจงว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนของ พรบ. ทุนรัฐวิสาหกิจปี 2542 โดย เอกสารปตท.แจงว่าปตท.จะได้รับอำนาจ และ
สิทธิเดิม มายังบ.ใหม่เท่าที่จำเป็นต่อการดำเนินงานที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม
ตาม พรบ.ทุน และสิทธิจะหมดไปเมื่อ ปตท.ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ (รัฐถือหุ้นน้อยกว่า 50%)
ตรงนี้ผมไม่มีความรู้เกี่ยวกับ พรบ.เลย หรือว่ามีการออก  (พรบ.ป้องกันการผูกขาดทางการค้า) ขึ้นมาใหม่ครับ ขอความรุ้ด้วยนะครับ :?

คิดแล้ว ptt ดีที่สุด ณ เวลานี้

โพสต์แล้ว: ศุกร์ ม.ค. 19, 2007 10:25 pm
โดย BenjaMinburee
ฝ่ายประชาสัมพัธ์ ปตท.
025372159-60
FAX 025372174
www.pttplc.com
email:  [email protected]

คิดแล้ว ptt ดีที่สุด ณ เวลานี้

โพสต์แล้ว: อาทิตย์ ม.ค. 21, 2007 8:44 pm
โดย BenjaMinburee
คำฟ้อง       คดีหมายเลขดำที่          /๒๕๔๙

          ศาลปกครองสูงสุด

      วันที่ ๓๑ สิงหาคม  ๒๕๔๙
                           
           มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ ๑ กับพวกรวม   ๕   คน                      ผู้ฟ้องคดี

ระหว่าง                      
คณะรัฐมนตรี ที่ ๑ , นายกรัฐมนตรี ที่ ๒ ,             รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ ๓                ผู้ถูกฟ้องคดี

ข้าพเจ้า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ ๑ ,กับพวกรวม   ๕   คน  (รายละเอียดชื่อ อายุ อาชีพ และที่อยู่ของผู้ฟ้องคดี ปรากฏตามบัญชีรายชื่อผู้ฟ้องคดี ที่แนบท้ายคำฟ้องนี้)
มีความประสงค์จะขอฟ้อง คณะรัฐมนตรี ที่ ๑ , นายกรัฐมนตรีที่ ๒ กับพวกรวม ๓ คน (รายละเอียดปรากฏตามบัญชีรายชื่อผู้ถูกฟ้องคดี ท้ายฟ้องฉบับนี้)
โดยมีรายละเอียดการกระทำ ข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ดังมีข้อความต่อไปนี้
ข้อ ๑. ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ เป็นนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ใช้ชื่อว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยมี นางสาวจิราพร ลิ้มปานานนท์ เป็นประธาน  รายละเอียดข้อบังคับ วัตถุประสงค์ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ปรากฏตามสำเนาเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๑.
ในการฟ้องคดีนี้ผู้ฟ้องคดีที่ ๑ ได้มอบอำนาจให้ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กรรมการและผู้จัดการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นผู้ดำเนินการฟ้องคดี รายละเอียดปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจ เอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๒.
ผู้ฟ้องคดีที่ ๒ ที่ ๕ เป็นประชาชนผู้ใช้น้ำมันและก๊าซของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งต่อมาแปรรูปเป็น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
ในการฟ้องคดีนี้ ผู้ฟ้องคดีทั้ง ๕ ได้มอบอำนาจให้ นายนิติธร ล้ำเหลือ นายนคร  ชมพูชาติ และ นายชัยรัตน์  แสงอรุณ เป็นผู้ฟ้องคดีแทน  รายละเอียดปรากฏตามหนังสือมอบอำนาจ เอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๓.
ผู้ฟ้องคดีทั้งหมดเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรืออาจจะเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการที่คณะรัฐมนตรีและพวกผู้ถูกฟ้องคดีรวม ๓ ราย ที่ได้ดำเนินการยกเลิกและแปรสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการพลังงานในปัจจุบันไปเป็นบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยใช้อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ในฐานะคณะรัฐมนตรี ตราพระราชกฤษฎีกาจำนวน ๒ ฉบับ คือ
ฉบับที่ ๑ พระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔
ฉบับที่ ๒ พระราชกฤษฎีกา กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๔
รายละเอียดปรากฏตามสำเนาเอกสารท้ายคำฟ้องหมายเลข ๔. และหมายเลข ๕. ตามลำดับ
ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด เห็นว่าการตราพระราชกฤษฎีกาทั้ง ๒ ฉบับขัดกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๕๔๐ และ พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ โดยเป็นการตราพระราชกฤษฎีกาที่ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนและเนื้อหาอันเป็นสาระสำคัญตามที่กฎหมายกำหนดไว้ อีกทั้งยังเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เหมาะสมและไม่ถูกต้อง ในการเลือกรัฐวิสาหกิจดังกล่าวมาแปรรูปซึ่งทำให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายต่อผู้ฟ้องคดีรวมทั้งประชาชนและประเทศชาติในฐานะผู้บริโภคตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยมีรายละเอียดดังจะกล่าวต่อไปนี้
                                ข้อ ๑.  กระบวนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเป็นบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ขัดกับพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ ตั้งแต่เริ่มต้น:  เนื่องจากพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดกระบวนการเปลี่ยนสถานะของรัฐวิสาหกิจประเภทองค์กรของรัฐตามที่กฎหมายจัดตั้งขึ้นให้เป็นรูปแบบของบริษัท โดยมีบทบัญญัติที่กำหนดขั้นตอนที่เป็นสาระสำคัญไว้ตาม มาตรา ๔ ที่กำหนดว่าในกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะนำทุนบางส่วนหรือทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจใดมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัท ให้กระทำได้ตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งเมื่อรัฐบาลมีนโยบายแล้ว การดำเนินการเริ่มต้นแปรรูปรัฐวิสาหกิจขั้นตอนแรกตามมาตรา ๑๓ กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ ในการเสนอความคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติในหลักการและแนวทางให้ดำเนินการนำทุนของรัฐวิสาหกิจมาเปลี่ยนสภาพเป็นหุ้นในรูปแบบของบริษัท หลังจากนั้น  คณะรัฐมนตรีจึงจะอนุมัติในหลักการให้เปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นรูปแบบของบริษัทตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ และเมื่อคณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการแล้วจึงไปสู่ขั้นตอนต่อไปคือ การแต่งตั้ง และการดำเนินการของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ซึ่งรวมถึงการแต่งตั้งและดำเนินการของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
   แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจได้จัดประชุมครั้งที่           ๑/๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการแปรรูปโดยการนำการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยหรือ ปตท.  ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจทั้งองค์กรมาแปลงสภาพเป็นบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการแปรสภาพ ปตท.เป็นบริษัทมหาชน(จำกัด)  ตามมติคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจดังกล่าวข้างต้น จึงถือได้ว่าการเริ่มต้นกระบวนการแปรสภาพ ปตท.นั้นต้องเริ่มขึ้นจากวันที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ โดยให้มีการแต่งตั้งและการดำเนินการของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท .จำกัด(มหาชน) แต่ปรากฏว่า ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท. ดำเนินการประชุมพิจารณาเรื่องต่างๆ และดำเนินการอื่นๆ ตั้งแต่วันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๔ ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้มีการแปรสภาพ การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยประการสำคัญการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ดังกล่าวก็เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เนื่องจากคณะกรรมการดังกล่าวไม่มีคุณสมบัติตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งบัญญัติให้คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทประกอบด้วยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน ๓ คน โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะต้องแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านการเงินและการบัญชี และในกิจการหรือการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจที่จะเปลี่ยนทุนเป็นหุ้นอย่างน้อยด้านละ ๑ คน โดยนัยนี้หมายความว่าจะต้องมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอย่างน้อย ๒ คน ในข้อเท็จจริงปรากฏว่าคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท. มีผู้ทรงคุณวุฒิเพียงคนเดียวเท่านั้นคือ นายธีระ วิภูชนิน รองกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย
                        นอกจากนี้กรรมการบางคนในคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ และคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) คือ นายวิเศษ จูภิบาล อดีตกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และนายมนู เลียวไพโรจน์ อดีตประธานกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ได้ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๑๒ และมาตรา๑๘ ซึ่งบัญญัติห้ามกรรมการในคณะกรรมการทั้งสองชุดนี้เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นโดยการเปลี่ยนทุนของรัฐวิสาหกิจเป็นหุ้นของบริษัทนั้นมิได้  แต่บุคคลทั้ง ๒ รายได้กระทำผิดตามกฎหมายดังกล่าวและถูกกลุ่มพิทักษ์เสรีภาพของประชาชนได้ดำเนินการกล่าวโทษต่อผู้บังคับการกองปราบปรามให้ดำเนินคดีตามกฎหมายกับ นายวิเศษ จูภิบาล และนายมนู เลียวไพโรจน์ ฐานกระทำความผิดตามมาตรา ๑๘ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ รายละเอียดตามเอกสารประกอบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๖.  
                         ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าทั้งคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจและคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เป็นองค์กรที่มีความสำคัญในการแปรรูปและยุบเลิกการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปเป็น บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เพราะได้รับอำนาจพิเศษตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ ซึ่งมีผลเท่ากับการที่ฝ่ายนิติบัญญัติมอบหมายให้คณะกรรมการทั้งสองชุดเป็นผู้ดำเนินการยกเลิกการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายโดยไม่ต้องเสนอฝ่ายนิติบัญญัติยกเลิกอีก ดังนั้น การแต่งตั้งคณะกรรมการทั้งสองชุด จึงต้องมีการดำเนินการแต่งตั้งและตรวจสอบประวัติคุณสมบัติต่าง ๆ โดยเคร่งครัดตามขั้นตอนและสาระสำคัญของพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ ที่ได้กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด  แต่จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่าการแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวได้กระทำไปโดยไม่ถูกต้องตามคุณสมบัติและขั้นตอนที่กฎหมายไว้ จึงมีผลทำให้การดำเนินการใด ๆ ของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีผลให้ พระราชกฤษฎีกากำหนด อำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.๒๕๔๔ และ พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ เสียไปด้วยเช่นกัน
                     ข้อ ๒. การตราพระราชพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับไม่เป็นไปตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ และรัฐธรรมนูญกำหนดไว้: เนื่องพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๑๓ และมาตรา ๑๙ วรรคหนึ่งได้กำหนดขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจว่าต้องมีการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการที่รัฐบาลจะเลือกแปรรูปรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ประกอบกับบทบัญญัติตามมาตรา ๕๙ ของรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไว้ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูลคำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ ก่อนการดำเนินโครงการหรือกิจการใดที่อาจมีผลกระทบหรือมีส่วนได้เสียอื่นใดที่เกี่ยวกับตน และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของประชาชนในเรื่องดังกล่าว  แต่ข้อเท็จจริงปรากฎว่าคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่แต่งตั้งโดยคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยไม่ถูกต้องไม่เปิดเผย และไม่เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวางตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดไว้แต่อย่างใดตามรายละเอียดคำฟ้องหมายเลข ๗. ดังนี้
(๑) คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้จัดให้มีการ   ประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพียงครั้งเดียวเมื่อวันที่ ๘ กันยายน  ๒๕๔๔ และจัดเพียงแห่งเดียวที่กรุงเทพมหานคร
(๒) จำนวนผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นมีจำนวนน้อยมาก โดยปรากฏในหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๔ ก่อนวันรับฟังเพียงวันเดียว ประกาศรายชื่อผู้ที่ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมจำนวน ๑,๑๗๓ คน รายละเอียดปรากฏตามสำเนาเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๘.  ทั้งนี้ยังปรากฏว่าการจัดการรับฟังครั้งนี้มีการตั้งข้อจำกัดเรื่องจำนวนคนเข้าร่วมรับฟังตั้งแต่แรก โดยลงประกาศในหนังสือพิมพ์เชิญประชาชนเข้าร่วมมีข้อความว่า สถานที่ประชุมมีที่นั่งเพียง ๒,๕๐๐ ที่นั่ง
(๓) การจัดทำประกาศมิได้ดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.๒๕๔๓ ซึ่งกำหนดให้คณะกรรมการจัดทำประกาศโดยสรุปเรื่องที่จะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุโทรทัศน์ และประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทยที่มีการจำหน่ายเผยแพร่ติดต่อกันไม่น้อยกว่า ๓ วัน ในฉบับเดียวกัน  ข้อเท็จจริงปรากฏว่าได้มีการประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันเพียงฉบับละ ๑ วันเท่านั้น โดยประกาศในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ เพียงวันเดียว และในหนังสือพิมพ์มติชนวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๔๔ เพียงวันเดียว
(๔)  การจัดทำประกาศในหนังสือพิมพ์มิได้สรุปเรื่องที่จะจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน  แต่ประกาศเพียงเฉพาะหัวข้อที่จะรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น ขัดกับหลักกฎหมายว่าด้วย การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ๒๕๔๓
(๕)  บุคคลผู้ชี้แจงข้อมูล คณะกรรมการได้จัดให้มาเฉพาะจากหน่วยงานที่ต้องการผลักดันให้มีการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจเป็นบริษัทเท่านั้น ไม่มีบุคคลซึ่งมีความอิสระและเป็นกลางร่วมอยู่ด้วยเลย
                         นอกจากนี้กระบวนการดำเนินการของคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.  จำกัด(มหาชน)ไม่โปร่งใส ไม่ปรากฏว่าได้มีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารใดๆ ที่คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัทจัดทำขึ้นต่อสาธารณชน ตามบทบัญญัติมาตรา ๑๙ (๑๐) แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ แต่อย่างใดโดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่มีความจำเป็นที่สาธารณชนควรรับรู้ด้วยคือ
- รายงานการประชุมคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท
- รายงานผลการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
- การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ตามมาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ และรายงานการประชุมของคณะอนุกรรมการ
- รายละเอียดของทรัพย์สิน อำนาจ สิทธิ และผลประโยชน์ของ ปตท.ที่โอนไปให้บริษัทปตท. จำกัด(มหาชน)
- รายละเอียดหนี้สินและคดีต่างๆ ที่ยังผูกพันกับบุคคลภายนอก
                     ดังนั้นจึงเห็นได้ว่ากระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในการแปลงสภาพการ ปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยไปเป็นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นั้น เป็นขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ทั้งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกำหนดไว้ จึงต้องดำเนินการโดยเคร่งครัดทุกขั้นตอน เมื่อข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นปรากฎว่าคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)และคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายไว้อย่างครบถ้วน จึงทำให้การจัดตั้งบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ตามพระราชกฤษฎีกากำหนด อำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.๒๕๔๔ และ พระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๔  เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายประกอบกับการที่คณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ได้มีคำสั่งที่ ๓/๒๕๔๔ ลงวันที่ ๒ สิงหาคม ๒๕๔๔ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ก็เป็นการแต่งตั้งก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติเห็นชอบให้มีการแปรรูปการปิโตรเลี่ยมแห่งประเทศไทยในวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๔ ดังนั้น คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการดังกล่าวนี้จึงไม่มีผลทางกฎหมายจึงมีผลให้คณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน  
ข้อ ๓. การตราพระราชพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับขัดกับหลักประกันสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคตามรัฐธรรมนูญ: เนื่องจากการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.๒๕๔๔และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๔ ของผู้ถูกฟ้องคดี นั้นมีผลให้มีการโอนทรัพย์สิน และสิทธิ ซึ่งเดิมเป็นของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิใช้สอยร่วมกัน ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ซึ่งทรัพย์สินเดิมของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยหลายรายการเป็น ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นส่วนควบของที่ดินนั้น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้มาโดยการเวนคืนซึ่งเป็นการใช้อำนาจมหาชนของรัฐเพื่อใช้ในกิจการสาธารณประโยชน์ แต่เมื่อมีการโอนทรัพย์สินและสิทธิดังกล่าวมาให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน จึงเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักความเสมอภาค หลักความเท่าเทียมกันอย่างเป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ ตามมาตรา ๓๐ และมาตรา ๕๐ แห่งรัฐธรรมนูญ ประกอบกับมาตรา ๒๖ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ และไม่สอดคล้องกันมาตรา ๘๗ แห่งรัฐธรรมนูญด้วย ดังเช่น ที่ดินที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้เวนคืนมาก่อนการแปลงสภาพเป็นบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้แก่  ที่ดินคลังน้ำมันซึ่งเดิมเป็นองค์การเชื้อเพลิงที่ได้มาจากการเวนคืนโดยกระทรวงกลาโหมและได้โอนให้การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตามมาตรา ๖๑ แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑  และ  ที่ดินตามแนวท่อก๊าซธรรมชาติสายประธาน จากจังหวัดระยองมายังจังหวัดสมุทรปราการ ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๙. รวมทั้งอสังหาริมทรัพย์(ทั้งที่มีอยู่เดิมและสร้างขึ้นใหม่) อันเป็นส่วนควบของที่ดินดังกล่าว ได้แก่ โรงงานแยกก๊าซ สถานีควบคุมระบบส่งก๊าซ และท่อก๊าซฝังใต้ดิน ทั้งที่ดินและอสังหาริมทรัพย์อันเป็นส่วนควบเหล่านี้ล้วนเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินตามมาตรา ๑๓๐๔ (๓) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ.๒๕๑๘
               นอกจากนี้ได้มีการโอนสิทธิการใช้ที่ดินรวมทั้งระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติอันเป็นทรัพย์สิทธิติดอยู่กับที่ดินใน ๓ โครงการ ได้แก่ โครงการท่อบางปะกง-วังน้อย, โครงการท่อจากชายแดนไทยและพม่า-ราชบุรี และโครงการท่อราชบุรี-วังน้อย ปรากฏตามเอกสารแนบท้ายคำฟ้องหมายเลข ๑๐.
                                 จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นได้ว่าการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจสิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.๒๕๔๔และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๔  ที่มีผลทำให้มีการโอนทรัพย์สินซึ่งได้แก่ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปให้บริษัทปตท.จำกัด (มหาชน)ที่มีฐานะเป็นบริษัทเอกชนประเภทหนึ่ง จึงทำให้บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ได้รับเอกสิทธิ์เหนือสาธารณชนทั่วไปโดยไม่ได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดซึ่งการได้รับเอกสิทธิ์ดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเกินกว่าความจำเป็นที่กำหนดไว้ตามรัฐธรรมนูญ  ดังนั้นการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นการกระทำที่ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ข้อ ๔. การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ.๒๕๔๔ ขัดต่อสาระสำคัญพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจและรัฐธรรมนูญ : ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๒๖ วรรคสอง กำหนดว่า ในการดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาให้บริษัทคงมีอำนาจ สิทธิ หรือประโยชน์เพียงเท่าที่จำเป็นแก่การดำเนินงานที่จะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ การควบคุมให้การใช้อำนาจกฎหมายเป็นไปโดยถูกต้อง และการรักษาผลประโยชน์ของรัฐซึ่งสอดคล้องกับหลัดการของรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๐ มาตรา ๕๐ และมาตรา ๘๗ ซึ่งมีสาระสำคัญในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกันในการประกอบอาชีพตามกฎหมาย
       แต่ในการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ของผู้ถูกฟ้องคดี ตามมาตรา ๔ ได้กำหนดให้บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) มีอำนาจได้รับยกเว้น มีสิทธิพิเศษหรือได้รับความคุ้มครอง ทั้งหมด ตามกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย  ทั้งๆที่บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) มีสถานะเป็นนิติบุคคลเอกชน แต่กลับมีอำนาจมหาชนของรัฐได้แก่  อำนาจเวนคืนที่ดิน อำนาจในการประกาศเขต และรอนสิทธิเหนือพื้นดินของเอกชน ตามมาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๒-๓๖  และมาตรา ๓๘ ของพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑  
นอกจากนี้ยังปรากฏว่าบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ยังได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เช่นเดียวกับที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้รับอยู่เดิม โดยมิได้มีการจำกัดสิทธิใดๆ ตามหลักการในมาตรา ๒๖ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒  ซึ่งสิทธิประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)ที่ได้รับจากผลของการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) พ.ศ ๒๕๔๔ ของผู้ถูกฟ้องคดี ทำให้บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) มีสทธิเหนือบริษัทเอกชนอื่นๆคือ
        (๑) สิทธิประโยชน์เสมือนเป็นผู้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียมตาม            มาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๒๑
(๒)  สิทธิรับซื้อปิโตรเลียมที่ผลิตได้เป็นอันดับแรก (Right of First Refusal)  จากผู้รับสัมปทาน
(๓)  สิทธิผูกขาดก๊าซธรรมชาติ
(๔)  สิทธิผูกขาดขายน้ำมันราชการ
(๕)  สิทธิในการยกเว้นการเสียภาษีป้าย
(๖)  หนี้สิน/พันธะผูกพันใด ๆ ที่โอนไปยัง บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) ที่ กระทรวงการคลังค้ำประกัน ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันต่อไป โดยไม่มี ค่าธรรมเนียมค้ำประกัน
(๗)  สิทธิในการยกเว้นการวางหนังสือค้ำประกันธนาคารต่อกรมศุลกากรในการ ดำเนินการคลังสินค้าทัณฑ์บน
(๘)  สิทธิได้รับการผ่อนผันตามระเบียบศุลกากรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานพิธีการ ศุลกากรสำหรับหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจ
(๙)  สิทธิในการเช่า หรือ ใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุได้ไม่ว่าด้วยวิธีการใด ๆ โดยคง เงื่อนไขสัญญา ค่าเช่า ค่าตอบแทนการใช้ที่ดินตามเงื่อนไขเดิม
(๑๐) สิทธิในการยกเว้นค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม/ค่าตอบแทนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ การดำเนินการออก/โอนใบอนุญาตหรือหนังสือต่าง ๆ หรือรับจดทะเบียนที่ เกี่ยวข้องต่อการดำเนินกิจการ
                      ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการตราพระราชกฤษฎีกำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔ ของผู้ถูกฟ้องคดีดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประกอบอาชีพของประชาชนตามระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและไม่เป็นการรักษาผลประโยชน์ของสาธารณชนตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๔๐ และเป็นกระทำที่ขัดต่อพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔
ข้อ ๕. การตราพระราชพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ถูกต้องทำให้ประชาชนได้รับความเสียหายไม่เป็นไปตามเจตนารมย์ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ:จากผลของการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ ซึ่งทำให้เกิดการแปลงสภาพการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจเต็มรูปแบบ  ไปเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งมีเอกชนในตลาดหลักทรัพย์เป็นเจ้าของนั้น ได้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและความเสียหายแก่ประชาชนเป็นอย่างมาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบังคับให้กระทรวงการคลัง มีหน้าที่ต้องค้ำประกัน หนี้ ของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยเดิม  ซึ่งโอนไปเป็นของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)  ทั้งๆ ที่บรรดากิจการ สิทธิประโยชน์ สินทรัพย์ รวมทั้งการใช้ประโยชน์จากสาธารณสมบัติของแผ่นดินทั้งหลายทั้งหมด ได้ถูกถ่ายโอนไปให้แก่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จนหมดสิ้น  เรียกได้ว่ามีการบังคับให้ถ่ายโอนทรัพย์สินกิจการลักษณะผูกขาดทางธุรกิจ สิทธิ ประโยชน์ และทุกอย่างที่เคยเป็น สมบัติชาติ ภายใต้การดูแลใช้ประโยชน์ และถือว่าทุกอย่างเป็นของ รัฐ ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์ คือ ประชาชนตลอดมาให้ตกไปเป็นของเอกชนในตลาดหลักทรัพย์  แต่ขณะเดียวกัน กลับบังคับให้กระทรวงคลังต้องค้ำประกัน หนี้ ที่มีอยู่แต่เดิมและเปลี่ยนไปเป็นของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จึงไม่เป็นธรรมอย่างยิ่งที่รัฐจะเอาเงินจากภาษีอากรของประชาชนไปค้ำประกันหนี้ของบริษัท ซึ่งไม่ใช่ของ รัฐ อีกต่อไป จึงถือว่าการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นไปโดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและประชาชน ในขณะที่เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อเอกชนและนายทุนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งรวมถึงนายทุนต่างชาติด้วยอย่างเห็นได้ชัดอีกทั้งยังไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตพลังงานเชื้อเพลิงต่างๆราคาถูกลงแต่อย่างใด
              การกำหนดราคาหุ้นและการจัดสรรหุ้น การกระจายหุ้น มิได้ดำเนินการอย่างเป็นธรรมไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนคนไทยมิสิทธิในการเข้าถึงการเป็นเจ้าของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยการซื้อหุ้น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้อย่างเท่าเทียมกัน ขัดกับการประชาสัมพันธ์ ของปตท. ก่อนการแปรรูป ในทำนองว่าเพื่อให้คนไทยทุกคนได้มีโอกาสเป็นเจ้าของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ร่วมกันได้อย่างทั่วถึง แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าประชาชนที่มีโอกาสได้เป็นเจ้าของ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) อย่างแน่นอนคือ ประชาชนที่เป็นพนักงานของ ปตท. เดิม กล่าวคือ พนักงาน ปตท. ทุกคนสามารถซื้อหุ้น บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ได้ในราคาพาร์ (๑๐ บาท/หุ้น) โดยสามารถซื้อได้ถึงจำนวน ๘ เท่า ของอัตราเงินเดือน ซึ่งการได้มาดังกล่าวเป็นการจัดสรรหุ้นให้พนักงาน ปตท. นอกจากได้อภิสิทธิในการซื้อหุ้นดังกล่าวแล้ว ยังมีโอกาสใช้สิทธิในการซื้อหุ้นรอบสองที่ต้องการขายหุ้นให้กับประชาชนโดยทั่วไปอีกด้วย วิธีการกระจายหุ้นของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) มิได้มีโอกาสสร้างให้กับประชาชนโดยทั่วไปเพื่อเข้าถึงการซื้อหุ้นได้อย่างเท่าเทียมกัน ดังปรากฏข้อเท็จจริงว่าเมื่อเปิดให้มีการจองหุ้นในวันแรก หุ้นทั้งหมดถูกจองหมดเกลี้ยงภายในเวลา ๑ นาที ๗ วินาที เท่านั้น และปรากฏว่าหุ้นดังกล่าวกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏดังกล่าวย่อมสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิด วิธีการ ที่เสมือนหนึ่งไม่ต้องการให้เกิดการกระจายหุ้นไปสู่ประชาชนโดยทั่วไปอย่างทั่วถึงเป็นธรรม นอกจากนี้ การประเมินราคาทรัพย์สินของ ปตท. อันมีส่วนสัมพันธ์กับการกำหนดราคาหุ้นของ ปตท. จำกัด(มหาชน) รวมตลอดถึงการจัดสรรหุ้นให้กับพนักงาน ปตท. การกระจายหุ้นให้กับประชาชนไทย และชาวต่างชาติซึ่งมีข้อเท็จจริงที่น่าเคลือแคลงสงสัยอีกหลายประการที่แสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรม ก่อให้เกิดผลกระทบความเสียหายต่อประชาชน ประเทศชาติ ซึ่งผู้ฟ้องคดีจะได้เสนอข้อมูลต่อศาลในชั้นพิจารณาต่อไป จากการแปรรูป ปตท. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายมีผลให้ประชาชนต้องใช้น้ำมันราคาแพงเกินควรอย่างมาก เนื่องจากการแปรรูป ปตท. ส่งผลให้เปลี่ยนแปลงผู้ผูกขาดธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันภายในประเทศจากเดิมโดยรัฐ เป็นผูกขาดโดยบริษัทเอกชน โดยประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมันทั้งหมดรวม ๗ แห่ง โดยบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ๋ในโรงกลั่นน้ำมันเหล่านี้ถึง ๕ แห่ง จึงทำให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) มีอำนาจในการควบคุมตลาดเสมือนการผูกขาดในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน ดังนั้น การแปรรูป ปตท. เป็น บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับการกำหนดราคาหุ้น การจัดสรรหุ้น การกระจายหุ้น ไม่เป็นธรรมจึงทำให้บุคคลกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นส่วนน้อยของประเทศได้ไปซึ่งสิทธิประโยชน์อันมิควรได้ จากการกำกับดูแล การกำหนดราคาน้ำมันที่ส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้น้ำมันต้องรับภาระเกินควรจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น โดยผู้ฟ้องคดีขอนำเสนอข้อเท็จจริงโดยสรุปดังนี้ (๑)  กำไรของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ๙ เท่า ใน ๓ ปี โดยในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ ก่อนการแปรรูป ปตท.  และบริษัทโรงกลั่นน้ำมัน ๗ แห่งมีกำไรรวมกัน ๒๐,๓๓๐ ล้านบาท (สองหมื่นสามร้อยสามสิบล้านบาท) และในปีพ.ศ. ๒๕๔๕ มีกำไร ๒๒,๐๙๓ ล้านบาท (สองหมื่นสองพันเก้าสิบสามล้านบาท) ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นต้นมากำไรของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ มีกำไรรวมกัน ๑๙๕,๘๕๓ ล้านบาท (หนึ่งแสนเก้าหมื่นห้าพันแปดร้อยห้าสิบล้านบาท) กำไรสูงขึ้นเป็น ๙ เท่า เป็นเงินจำนวน ๑๗๓,๗๕๔ ล้านบาท (หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นสามพันเจ็ดร้อยห้าสิบสี่ล้านบาท) (๒)  บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และโรงกลั่นน้ำมัน กำหนดวิธีการคิดราคาหน้าโรงกลั่นน้ำมัน ที่ทำให้ราคาสูงเกินควรไปอย่างน้อยลิตรละ ๓.๐๐ บาท ทำให้น้ำมันเบนซินและน้ำมันดีเซลที่คนไทยใช้อยู่ปีละ ๒๘,๐๐๐ ล้านลิตร มีราคาแพงเกินควรไปประมาณปีละ ๘๔,๐๐๐ ล้านบาท (แปดหมื่นสี่พันล้านบาท) ทำให้ผู้บริโภคน้ำมันต้องรับภาระหนักเกินควร ก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายโดยมิอาจคัดค้านหรือต่อรองใด ๆ ได้ ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการที่บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ต้องการให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้นโดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนและประเทศชาติ นอกจากการกำหนดราคาขายน้ำมันที่ไม่เป็นธรรมแล้ว ส่งผลให้บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) และโรงกลั่นน้ำมันในเครือมีกำไรอย่างมากแล้ว กำไรอีกส่วนหนึ่งของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) มาจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ซึ่งผูกขาดโดยบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เช่นเดียวกัน โดยส่วนก๊าซธรรมชาติยังขาดการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ขาดการถ่วงดุล ไม่มีการแข่งขันจากผู้ประกอบการรายอื่น ไม่คำนึงถึงการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงจากผลกำไรของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ตามเอกสารแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี (แบบ๕๖-๑) ที่บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ยื่นต่อสำนักงาน กลต. ปรากฏว่ากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคาของธูรกิจก๊อซธรรมชาติในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เท่ากับ ๙๒,๑๖๑ ล้านบาท (เก้าหมื่นสองพันหนึ่งร้อยหกสิบเอ็ดล้านบาท) เทียบกับผลกำไรในปี พ.ศ. ๒๕๔๔ จำนวน ๔๕,๗๓๑ ล้านบาท (สี่หมื่นหกพันสี่ร้อยสามสิบล้านบาท) กำไรที่เพิ่มขึ้นนี้ก็คือภาระของผู้บริโภคที่ต้องจ่ายแพงขึ้น โดยเห็นได้จากภาระค่าไฟฟ้า ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้นรวมกันถึงปีละกว่า ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการค้ากำไรเกินควร
รายละเอียดข้อมูลประเด็นในประเด็นที่กล่าวมา ผู้ฟ้องคดีจะนำเสนอข้อมูลต่อศาลในชั้นพิจารณาต่อไป นอกจากนี้การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวข้างต้น มีผลทำให้ รัฐ ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ ต้องสูญเสียอำนาจการควบคุมและต่อรองในกิจการของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ไปอย่างเป็นการถาวร  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยปี ๒๕๒๑ ได้แก่ การรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมโดยเฉพาะอย่างยิ่งการควบคุมราคาน้ำมันและราคาก๊าซธรรมชาติอันเป็นต้นทุนหลักของค่าไฟฟ้าและการจัดให้มีการสาธารณูปโภค เพราะการดำเนินกิจการของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) คงจะต้องยึดกลไกและกติกา รวมทั้งกระแสการตลาดในตลาดหลักทรัพย์และผู้ถือหุ้นเป็นหลัก นอกจากนั้น ยังจะทำให้ รัฐ และกลไกการตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบความโปร่งใส และการทุจริตภายในองค์กรได้อย่างเต็มที่  เพราะบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) มิใช่หน่วยงานของรัฐ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ รัฐ และการตรวจสอบโดยกลไกตามรัฐธรรมนูญอีกต่อไป
                  จากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจึงเห็นได้ว่าการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔และพระราชกฤษฎีกา กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ.๒๕๔๔ ของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังนี้
                   ๑. พระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับขัดต่อหลักการตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๓๐ และมาตรา ๘๗  เพราะทำให้เกิดการผูกขาดโดยองค์กรเอกชนในรูปแบบบริษัทมหาชนรวมทั้งเป็นการกระทำที่มีผลกระทบกระเทือนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนส่วนใหญ่เกินกว่าความจำเป็นซึ่งขัดกับมาตรา ๒๙ และมาตรา ๕๐ แห่งรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย
                  ๒. การตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับมีผลทำให้มีการนำทรัพย์สินบางอย่างที่มีลักษณะเป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินที่ไม่สามารถซื้อขายได้ไปขายหรือไปอยู่ในการถือครองขององค์กรเอกชนที่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรเป็นการกระทำที่กับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญโดยมีเจตนาที่ไม่สุจริตในการตราพระราชกฤษฎีกาทั้ง ๒ ฉบับทำให้บุคคลบางกลุ่มและพวกพ้องของผู้ถูกฟ้องคดีได้รับประโยชน์จากการใช้สาธารณสมบัติของแผ่นดินมากกว่าประชาชนทั่วไป
                          ๓. ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้ปฎิบัติตามขั้นตอนอันเป็นสาระสำคัญของกฎหมายในการตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวโดยผู้ถูกฟ้องคดีได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนไม่ถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ประกอบกับการแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)และคณะกรรมการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องทำหน้าที่ในการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับนั้น ก็เป็นการแต่งตั้งที่ไม่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้แต่อย่างใด
                           ๔. ผู้ถูกฟ้องคดีใช้ดุลยพินิจที่ไม่ชอบด้วยหลักการและเจตนารมย์ของพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.๒๕๔๒ ในการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิและประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔ และพระราชกฤษฎีกา กำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ ทำให้ประชาชนผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริงจากการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับ
ผู้ฟ้องคดีทุกคนขอยืนยันว่า ผู้ฟ้องคดีทุกคนเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายได้รับผลกระทบอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จากการตราพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทุกคน ประกอยกับการฟ้องคดีนี้เป็นไปเพื่อการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะมีผลกระทบต่อส่วนได้เสียของประชาชน ประเทศชาติ ดังนั้น เพื่อให้การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นบริการสาธารณะไม่เปลี่ยนสภาพไปเป็นบริษัทเอกชนที่มีลักษณะผูกขาดและเปิดโอกาสให้เอกชนบางกลุ่มที่เป็นนายทุนในประเทศและต่างประเทศเข้ามาครอบครองกิจการอันเป็นสาธารณะสมบัติของชาติ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและความสงบสุขของประชาชนตลอดจนขัดกับรัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ ผู้ฟ้องคดีจึงขออาศัยอำนาจของศาลปกครองสูงสุดในการปกป้องสาธารณสมบัติของประเทศชาติและประชาชนได้โปรดมีคำพิพากษาให้ยกเลิกและเพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิประโยชน์ของ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) พ.ศ. ๒๕๔๔ และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. ๒๕๔๔ ต่อไปด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง                  

                      จึงกราบเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาด้วยจักเป็นพระคุณยิ่ง
                                   
                                         ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
                             
                         
                       
           ลงชื่อ                                                            ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี
                                              ( นายนิติธร  ล้ำเหลือ )
 

ลงชื่อ                                                            ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี              
                                              ( นายนคร ชมพูชาติ )


ลงชื่อ                                                            ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ฟ้องคดี
                                              ( นายชัยรัตน์ แสงอรุณ )

รายชื่อผู้ฟ้องคดี  
1. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  โดยนางสาวสารี  อ๋องสมหวัง
2. นางสาวรสนา  โตสิตระกูล
3. นางสาวสายรุ้ง   ทองปลอน
4. นางภินันท์  โชติรสเศรณี
5. นางสาวบุญยืน  ศิริธรรม