โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 22 เม.ย. 55
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว วอเร็น บัฟเฟตต์ ออกมาให้ข่าวว่าเขาเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรก เขาบอกต่อว่ามันไม่ได้ลามไปจุดอื่นและไม่อันตรายถึงชีวิตและจะยังคงทำงานต่อไปตามปกติ แพทย์และผู้เชี่ยวชาญต่างก็ลงความเห็นว่าเขาคงไม่เป็นอะไร เพราะมะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกนั้นสามารถรักษาและประคองไม่ให้ลุกลามไปได้ยาวนานนับเป็นสิบ ๆ ปี ส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็นมักจะตายก่อนด้วยโรคอื่น เหนือสิ่งอื่นใด บัฟเฟตต์เองนั้นอายุ 81 ปีแล้ว ด้วยความเชื่อและเหตุผลดังกล่าว หุ้นเบิกไชร์แฮททะเวย์จึงแทบไม่ถูกกระทบเลย ราคาหุ้นลดลงไปเพียง 1.3% ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์เองก็ลดลงประมาณ 0.63% อยู่แล้วในวันนั้น
คำถามที่หลายคนอาจจะนึกขึ้นมาได้ก็คือ ถ้ามะเร็งที่พบนั้นไม่ใช่มะเร็งต่อมลูกหมากระยะที่หนึ่งแต่มันกลายเป็นมะเร็งตับระยะที่ 3 หรือ 4 และแพทย์ลงความเห็นว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่เกิน 6 เดือนล่ะหุ้นเบิกไชร์จะตกลงมาแค่ไหน? เหตุผลก็คือผู้คนต่างก็เชื่อว่าบัฟเฟตต์กับเบิกไชร์นั้นแทบจะเป็น “สิ่งเดียวกัน” แทบจะใช้คำแทนกันได้ เพราะบัฟเฟตต์เป็นคนที่พลิกฟื้นเบิกไชร์จากธุรกิจสิ่งทอที่กำลัง “ตาย” กลายเป็น “บริษัทลงทุน” ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกและสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ถือหุ้นมากอย่างที่น้อยบริษัทจะสามารถทำได้ในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้น ถ้าบัฟเฟตต์ตาย หุ้นเบิกไชร์จะเหลืออะไร? เหนือสิ่งอื่นใด บริษัทเบิกไชร์เองนั้นมีคนเพียงสิบกว่าคน และนอกจากบัฟเฟตต์เองแล้ว ที่เหลือก็เป็นพนักงานด้าน “ธุรการ” ที่ไม่ได้มีความสามารถอะไรในการลงทุนที่ได้รับการพิสูจน์ว่าเก่งใกล้เคียง วอเร็น บัฟเฟตต์ ดังนั้น ถ้า บัฟเฟตต์ ตาย บริษัทเบิกไชร์จะ “เหลืออะไร?” และราคาหุ้นของเบิกไชร์ที่ซื้อขายในราคาหุ้นละประมาณ 121,310 เหรียญในวันนั้นหรือประมาณหุ้นละ 3.8 ล้านบาท จะตกลงมาเท่าไร?
ในการตอบคำถามนั้น ผมอยากให้เรามาดูตัวอย่างของหุ้นแอบเปิลคอมพิวเตอร์ที่น่าจะมีเรื่องราวที่ใกล้เคียงกันมากในวันที่มีการประกาศหรือวันที่รับรู้กันว่าผู้บริหารสูงสุด “กำลังจะตาย” ด้วยโรคร้าย ประการแรกก็คือ สตีป จอบส์ ซึ่งเป็นผู้นำหรือผู้บริหารสูงสุดนั้น มีความสำคัญต่อบริษัทอย่างยิ่งยวดและคนเชื่อว่าสตีป จอบส์ ก็คือแอบเปิล และแอบเปิลก็คือ สตีบ จอบส์ สองคำนี้แทบจะ “ใช้แทนกันได้” เพราะ สตีป จอบส์ นั้น เป็นคนที่พลิกฟื้นธุรกิจของแอบเปิลจากบริษัทที่กำลัง “พ่ายแพ้” ทุกด้าน กลายเป็นบริษัทไฮเท็คมือหนึ่งของโลกที่สร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่คนทั้งโลกต่างก็คลั่งใคล้อยากได้ไว้เป็นเจ้าของ ดังนั้น ถ้า สตีป จอบส์ ตาย แอบเปิลจะเหลืออะไร?
เรื่องราวต่อมาก็คือ สตีป จอบส์ เองได้สร้างความมั่งคั่งมโหฬารให้แก่ผู้ถือหุ้นแอบเปิลอย่างที่น้อยบริษัทในตลาดหุ้นจะทำได้มาก่อนในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกับที่บัฟเฟตต์ทำให้กับผู้ถือหุ้นเบิกไชร์ ในช่วงเวลาประมาณ 46 ปี นับจากปี 1966 ถึงปัจจุบัน ราคาหุ้นเบิกไชร์ปรับตัวขึ้นจากราคา 17.5 เหรียญเป็นกว่า 120,000 เหรียญ คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นปีละถึง 21.2% และทำให้ผู้ถือหุ้นจำนวนมากที่ถือหุ้นบริษัทมาตลอดกลายเป็น “มหาเศรษฐีเบิกไชร์” โดยที่ไม่ต้องทำอะไรเลย ส่วนในกรณีของแอบเปิลเองนั้น ในช่วงประมาณ 8 ปี นับจากที่ สตีป จอบส์ กลับเข้ามาบริหารแอบเปิลที่ “กำลังจะตาย” อีกครั้งหนึ่งในช่วงกลางปี 2546 ถึงกลางปี 2554 ในช่วงที่เขา “กำลังจะตาย” หุ้นแอบเปิลปรับตัวขึ้นจากราคาประมาณ 7 เหรียญ เป็น 374 เหรียญ หรือเป็นการเพิ่มขึ้นถึง กว่า 50 เท่า คิดเป็นผลตอบแทนทบต้นถึงปีละประมาณ 77% คนที่ถือหุ้นแอบเปิลโดยไม่ขายเลยน่าจะต้องกลายเป็น “มหาเศรษฐีแอบเปิล” จำนวนไม่น้อยจากราคาหุ้นที่ขึ้นไป ที่น่าสังเกตยิ่งกว่านั้นก็คือ ทั้งหุ้นเบิกไชร์และแอบเปิลเองนั้น ต่างก็ไม่จ่ายปันผลเลยตลอดช่วงเวลาอันยาวนานดังกล่าวแม้ว่าธุรกิจจะได้กำไรมหาศาลทุกปี
วันที่ สตีป จอบส์ ตายในวันที่ 5 ตุลาคม 2554 หุ้นแอบเปิลแทบไม่ตกลงมาเลยจากราคา 378 เหรียญต่อหุ้น จริงอยู่ ข่าวความเจ็บป่วยของจอบส์นั้นได้ออกมาเป็นระยะ ๆ และตลาดอาจจะรับรู้ข่าวมาตลอด ดังนั้น ราคาหุ้นก็อาจจะสะท้อนมาตลอดอยู่แล้ว แต่กรณีนี้ก็น่าจะเป็นแบบเดียวกับหุ้นเบิกไชร์เช่นกัน เพราะแม้ว่าจะไม่เคยมีข่าวว่าบัฟเฟตต์เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายใด ๆ แต่ด้วยอายุที่ขึ้นต้นด้วยเลข 8 บัฟเฟตต์ก็อาจจะต้องตายในไม่ช้าอย่างแน่นอน หรือไม่อย่างนั้นเขาก็อาจจะต้องปลดเกษียณเพราะทำงานไม่ไหวได้ในเวลาอาจจะไม่เกิน 10 ปี ดังนั้น การที่หุ้นเบิกไชร์แทบไม่กระทบกระเทือนเลยในวันที่เขาให้ข่าวเรื่องมะเร็ง จึงเป็นเรื่อง “ปกติ” เหมือนกับหุ้นแอบเปิลในวันที่จอบส์ตาย
ประเด็นต่อมาที่น่าสนใจก็คือ เบิกไชร์จะเหลืออะไรถ้าไม่มีบัฟเฟตต์ นี่ก็อาจจะคล้าย ๆ กับแอบเปิลที่ไม่มี สตีป จอบส์ หลังจาก จอบส์ ตายหรือกำลังจะตาย ทิม คุก คือคนที่มาแทน เขาอาจจะไม่มีบารมีหรือความสามารถเท่าจอบส์ แต่เขาไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ เขาเริ่มต้นเมื่อบริษัทแอบเปิล “มีทุกอย่างยกเว้นจอบส์” ดังนั้น การทำงานของเขาก็ง่ายขึ้นเยอะ เขาสามารถออกผลิตภัณฑ์ที่ “ทุกคนรอคอย” ได้แบบเดียวกับที่จอบส์ทำ สินค้าของแอบเปิลขายดีเหมือนเดิม ว่าที่จริงขายดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ กำไรไม่ต้องพูดถึง ดีขึ้นมาก ตอนนี้ แอบเปิลก็คือแอบเปิล มันไม่จำเป็นต้องมีจอบส์หรือทิมคุก มันแข็งแกร่งและดีพอที่จะต่อสู้และเอาชนะคู่แข่งได้โดยที่ผู้บริหารสูงสุดไม่จำเป็นที่จะต้องโดดเด่นอีกต่อไป และผมเองก็เชื่อว่าในวันที่บัฟเฟตต์ไม่อยู่แล้ว เบิกไชร์ก็จะยังยิ่งใหญ่อยู่เหมือนเดิม เพราะเบิกไชร์ในวันนั้นจะ “มีทุกอย่างยกเว้นบัฟเฟตต์” เบิกไชร์ยังมีหุ้นของบริษัทที่เป็นซุปเปอร์คอมพานีหรือซุปเปอร์สต็อกระดับโลกที่จะยังสร้างผลงานโดดเด่นไปอีกนานเท่านาน นอกจากนั้น เบิกไชร์ก็จะยังสามารถหาบริษัทที่โดดเด่นลงทุนเพิ่มได้ตลอดเพราะชื่อเสียงและเม็ดเงินมหาศาลที่เบิกไชร์ควบคุมอยู่ที่จะดึงดูดให้บริษัทที่ต้องการเงินเข้ามาหา และด้วยปรัชญาและแนวทางการลงทุนที่ถูกกำหนดและปฏิบัติมานานโดยบัฟเฟตต์ ผมคิดว่าเบิกไชร์น่าจะยังสามารถรักษาผลงานของตนเองไปได้อีกนานแม้ไม่มีบัฟเฟตต์แล้ว
ราคาหุ้นของแอบเปิลหลังจากจอบส์ตายจนถึงวันนี้เป็นเวลาประมาณกว่า 6 เดือน ได้ปรับตัวขึ้นจาก 378 เป็น 573 เหรียญหรือเพิ่มขึ้นราว 52% ในขณะที่ดัชนีดาวโจนส์ปรับเพิ่มขึ้นเพียง 19% ในเวลาเดียวกันและทำให้หุ้นแอบเปิลเป็นหุ้นที่มีมูลค่าตลาดสูงที่สุดในโลกทิ้งห่างอันดับสองไปมาก นี่เป็นเครื่องยืนยันว่าธุรกิจที่ดีเยี่ยมและเป็นซุปเปอร์สต็อกนั้น มันไม่ได้ขึ้นอยู่กับผู้บริหารมากนัก แม้ว่าการที่บริษัทกลายเป็นซุปเปอร์สต็อกได้นั้น ก็เพราะมีผู้บริหารที่ดีสุดยอดที่สามารถสร้างบริษัทขึ้นมาเหนือคู่แข่งทั้งมวล โดยนัยนี้ ผมก็คิดว่าหากบัฟเฟตต์เป็นอะไรไป ราคาหุ้นเบิกไชร์ก็อาจจะไม่ถูกกระทบมากนัก ดังนั้น ใครที่ถือหุ้นเบิกไชร์ก็ไม่ต้องกลัวว่าบัฟเฟตต์จะเป็นอะไร เพราะเขาต้องเป็นแน่ในวันใดวันหนึ่ง แต่หุ้นเบิกไชร์นั้นอาจจะไม่เป็นอะไร และก็ แน่นอน เรื่องทั้งหมดนี้ สามารถประยุกต์ใช้ได้กับหุ้นในทุกตลาดรวมถึงตลาดหุ้นไทยด้วย โดยข้อสรุปรวบยอดของผมก็คือ ในช่วงที่บริษัทยังเล็ก และ/หรือ อ่อนด้อยอยู่ ฝีมือของผู้บริหารสูงสุดนั้นอาจจะมีความสำคัญชี้เป็นชี้ตายได้ แต่เมื่อบริษัทก้าวหน้ามาจนถึงจุดสุดยอดหนึ่งแล้ว มันก็สามารถเดินได้ด้วยตนเอง และความสามารถของผู้บริหารเองก็อาจจะไม่ได้สร้างความแตกต่างมากนัก