เสาร์ ต.ค. 01, 2011 9:01 pm | 0 คอมเมนต์
น้ำท่วมศก.พังยับ5หมื่นล้าน จี้รัฐอัดฉีด3แสนล้านดึงจีดีพี
น้ำท่วมทั่วไทยส่งผลกระทบเศรษฐกิจหนัก หอการค้าฯประเมินความเสียหายรอบนี้ 5 หมื่นล้านบาท ตัวเลขจีดีพีหดตัว 0.5% ชี้ 2 ปี ภัยธรรมชาติสร้างความเสียหายไปแล้วแสนล้านบาท แนะรัฐเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบ 3 แสนล้านบาท เพื่อเยียวยาไร่นา อุตสาหกรรม และแหล่งท่องเที่ยว ส่วนระยะยาวต้องเดินหน้าแผนเพิ่มรายได้นโยบายประกัน อัดฉีดกองทุนหมู่บ้านและพัฒนา 25 ลุ่มน้ำให้เร็วที่สุด
สถานการณ์น้ำท่วมในประเทศยังคงวิกฤตและไม่มีวี่แววจะคลี่คลาย ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาเกิดน้ำท่วมฉับพลันในอีกหลายจังหวัด ซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้น เมื่อกรมชลประทานประกาศแจ้งเตือนการเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ที่ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำถึง 267 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 102 ของความจุอ่างทั้งหมด
จากนั้นเพียงไม่ถึง 6 ช.ม. ระดับน้ำในแม่น้ำปิงได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ทันที โดยระดับน้ำที่สถานี P.1 สะพานนวรัฐวัดได้ 4.74 เมตร หรือสูงกว่าตลิ่ง 1.04 เมตร เกิดน้ำท่วมในเขตเทศบาลทันที และน้ำจำนวนนี้กำลังไหลบ่าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำปิงในเขตจังหวัดลำพูน ก่อนจะไปเพิ่มปริมาตรน้ำให้กับเขื่อนภูมิพลที่จะต้องเร่งระบายน้ำลงสู่พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมยังคงส่งผลกระทบหนักต่อเนื่องไปถึง "ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" จากการเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่นเนสาต (NESAT) ที่เคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งประเทศเวียดนาม ด้านกรุงฮานอย ทำให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นบริเวณกว้างในภาคอีสาน จากปัจจุบันได้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ที่ติดกับแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลอยู่แล้ว ยิ่งพายุเข้ามาอีกจะเป็นการซ้ำเติมและเพิ่มปริมาณน้ำให้สูงขึ้นอีก
18 อ่างเก็บน้ำวิกฤตหนัก
รายงานข่าวระบุว่า สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศ ล้วนมีปริมาตรน้ำเกินกว่า 100% ของความจุอ่างแล้ว อาทิ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล, แม่กวงอุดมธารา, น้ำอูน, น้ำพุง, จุฬาภรณ์, อุบลรัตน์, ลำปาว, ป่าสักชลสิทธิ์, คลองสียัด, หนองปลาไหล และประแสร์
ส่วนอ่างเก็บน้ำที่มีระดับน้ำเกินกว่าร้อยละ 90 ของความจุ ได้แก่ อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ซึ่งสัปดาห์นี้จะมีปริมาตรน้ำก้อนใหม่ไหลทบลงมาจากเชียงใหม่อีก, สิริกิติ์, กิ่วคอหมา, แควน้อยบำรุงแดน, ลำตะคอง, ลำพระเพลิง, มูลบน, ลำแซะและสิรินธร
หอการค้าชี้เสียหาย 5 หมื่นล้าน
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากอุทกภัยที่มีความรุนแรงครั้งนี้ เบื้องต้นคาดว่าความเสียหายจะมีมูลค่ามากถึง 40,000-50,000 ล้านบาท กระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ราว 0.5% เป็นมูลค่าที่มากกว่าผลสำรวจครั้งที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม-22 กันยายน 2554 ที่พบความเสียหาย 32,419.30 ล้านบาท โดยความเสียหายครอบคลุมทั้งพื้นที่เกษตรกรรม ท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมในจังหวัดต่าง ๆ
"ช่วง 1-2 ปีนี้ภัยธรรมชาติสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่าราว 100,000 ล้านบาท กระทบต่อจีดีพี 1% ทำให้ไม่ถึง 4% ตามเป้าหมาย ซ้ำยังมีผลต่อการตั้งเป้าการเติบโตของจีดีพีในปีหน้าอีก ยิ่งรวมกับภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก ความเสียหายในไทยจะเพิ่มเป็น 2 เท่า เพราะไทยพึ่งการส่งออกกว่า 50% ของจีดีพี หากเศรษฐกิจโลกทรุด ประเทศไทยจะยิ่งแย่ จีดีพีปีหน้าอาจเหลือเพียง 2-3%" นายธนวรรธน์กล่าว
จากผลประเมินครั้งแรกพบความเสียหาย 32,419.30 ล้านบาท แบ่งเป็นความเสียหายต่อพืช 16,037.70 ล้านบาท รองลงมาเป็นสิ่งของสาธารณะ 5,872.20 ล้านบาท, ภาคการค้า 4,716.10 ล้านบาท, บ้านเรือน 1,820.30 ล้านบาท, ประมง 1,455.10 ล้านบาท, ปศุสัตว์ 1,153.90 ล้านบาท, ท่องเที่ยว 648 ล้านบาท, อุตสาหกรรม 391.8 ล้านบาท และอื่น ๆ อีก 324.1 ล้านบาท เมื่อรวมพื้นที่ภาคใต้ช่วงกลางปี 2554 ที่มีมูลค่าความเสียหายราว 26,075.3 ล้านบาทนั้น เท่ากับว่าผลกระทบใน 2 ปีนี้มีทั้งหมด 58,494.6 ล้านบาท หรือทำให้จีดีพีลดลง 0.5-0.7%
"รัฐต้องเร่งอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 300,000 ล้านบาท เพื่อ เยียวยาพื้นที่ไร่นา อุตสาหกรรมและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ หากชดเชยเร็วจะทำให้เม็ดเงินไหลกลับสู่ระบบเร็วขึ้น ถ้าช้าจะมีผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชน"
ส่วนมาตรการระยะยาว รัฐต้องเดินหน้าแผนเพิ่มรายได้เงินเดือน 15,000 บาท ค่าแรง 300 บาท และนโยบายประกันรายได้ให้เร็วที่สุด เพื่อเสริมกำลังซื้อในประเทศ และต้องให้หน่วยงานท้องถิ่น เช่น อบจ. อบต.เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เร่งเดินหน้าโครงการกองทุนหมู่บ้านและพัฒนา 25 ลุ่มน้ำให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
3 นิคมอยุธยาเตรียมรับมือ
นายนราพจน์ ทิวถนอม รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า นิคมที่เป็นจุดเสี่ยงจะอยู่ในพื้นที่พระนครศรีอยุธยา 3 นิคม ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร, นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) รวมแล้วมีโรงงานอยู่ 250 แห่ง แต่ขณะนี้น้ำยังไม่ท่วม เนื่องจากนิคมใช้ถนนรอบนิคมเป็นแนวกันน้ำและก่อคันดินสูงกว่า 1 เมตร โดยมี 2 ประตูน้ำช่วยป้องกันไว้คือ ประตูระบายน้ำคลองเปรมและคลองจิก
"เราติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมปฏิบัติการป้องกันน้ำที่จะเข้าสู่นิคมได้ทันที"
ศก.เชียงใหม่สูญ 5 พันล้าน
สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่นั้น แม้ปริมาณน้ำจะเริ่มลดระดับลงแล้ว แต่หลายพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมขังสูง 1-2 เมตร ซึ่งจังหวัดกำลังเตรียมการฟื้นฟู เพื่อรับฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่นที่จะเริ่มในเดือนตุลาคมนี้
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ความเสียหายประเมินเบื้องต้นไม่ต่ำกว่า 240 ล้านบาท แต่ในเขตเมืองและเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ จะต้องสรุปอีกครั้ง
นายณรงค์ คองประเสริฐ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า หอการค้าประเมินร่วมกับทางจังหวัดคาดว่าความเสียหายด้านเศรษฐกิจมีไม่ต่ำกว่า 5,000 ล้านบาท เพราะน้ำท่วมรุนแรงกว่าปี 2548 ในส่วนโรงแรมและบริการก็ถูกยกเลิกการจองไปกว่า 10-15% ส่วนโรงแรมระดับ 3-5 ดาวบนถนนช้างคลาน และถนนเจริญประเทศ ที่รับลูกค้ากลุ่มสัมมนาก็ถูกยกเลิกเช่นกัน
นายวิศว วิศวชัยวัฒน์ ประธานหอการค้าจังหวัดพิษณุโลก ประเมินว่า น้ำท่วมปีนี้ส่งผลกระทบมาก เนื่องจากน้ำท่วมนาข้าวที่ใกล้เก็บเกี่ยวกว่า 1 แสนไร่ คิดเป็นเม็ดเงินที่หายไป 800-1,000 ล้านบาท
นายสาธิต เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดชัยนาท ระบุว่า ความเสียหายยังไม่สามารถประเมินได้ แต่รายได้ของชัยนาทกว่า 80-90% มาจากการเกษตรและนาข้าว เมื่อภาคการผลิตเสียหาย เศรษฐกิจจะยิ่งชะลอตัว
"น้ำท่วม" ดันเงินเฟ้อพุ่ง
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้ประเมินผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมยังไม่สิ้นสุด ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าและเงินเฟ้อในระยะสั้นเท่านั้น โดยเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ส.ค.อยู่ที่ 4.29% และ 2.85% ซึ่งยังต้องติดตามว่าจะยังสูงต่อเนื่องหรือไม่ ผลสำรวจผู้ประกอบการพบว่า มีการคาดการณ์เงินเฟ้อใน 12 เดือนข้างหน้าที่อ่อนตัวลงมาอยู่ที่ 3.8% เทียบกับ 4% ในเดือนก่อนหน้า
"สถานการณ์น้ำท่วมคงกระทบต่อการบริโภคในระยะต่อไปบ้าง แต่ยังมีปัจจัยที่สนับสนุนการบริโภค ทั้งรายได้การเกษตร การจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง และยังมีมาตรการภาครัฐที่ยังอยู่ในโหมดกระตุ้นเศรษฐกิจ"
นายเมธีกล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเดือน ส.ค.มีการขยายตัวดี ภาคการผลิตและภาคเกษตรกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ขณะที่อุปสงค์ในประเทศทั้งการลงทุนและบริโภคยังขยายตัวดีที่ 5.4% และ 8.3% ตามลำดับ
ทุบตลาดไอที Q3 วูบ 30%
นายถกล นิยมไทย ผู้จัดการประจำประเทศไทยฝ่ายธุรกิจเทคโนโลยี บริษัท โตชิบาไทยแลนด์ จำกัด กล่าวว่า น้ำท่วมส่งผลต่อกำลังซื้อคอมพิวเตอร์ในตลาดคอนซูเมอร์เช่นกัน ประเมินว่า ช่วง 1-2 เดือนนี้ ยอดขายจะลดลง 10-30% ซึ่งดีลเลอร์ต่างจังหวัดชะลอการสั่งซื้อแล้ว ขณะที่บางรายขอยืดเครดิต 15-30 วัน
ทั้งคาดการณ์ว่า ปลายเดือนกันยายนเป็นต้นไป การแข่งขันด้านราคาจะยิ่งรุนแรง เพราะทุกค่ายจำเป็นต้องเคลียร์สต๊อก บวกกับปลายปีเป็นช่วงเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ทำให้ทุก แบรนด์ต้องจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขาย
นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กล่าวว่า น่ากังวลสำหรับการทำตลาดในไตรมาส 3 เพราะฐานลูกค้าเอไอเอสมีลูกค้าต่างจังหวัดในภาคเกษตรค่อนข้างมาก ทำให้มีผลกระทบต่อการเติบโตของตลาด ซึ่งบริษัทกำลังประชุมเพื่อติดตามสถาน การณ์และรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้น
ชาตินี้เป็นที่สุดแล้ว บัดนี้ไม่มีความเกิดอีก