โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 15 กรกฎาคม 54
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
หุ้นกลุ่มหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ที่แทบไม่เคยสร้างความผิดหวังให้แก่นักลงทุนระยะยาวเลยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาก็คือ หุ้นค้าปลีกสมัยใหม่ที่เรียกว่า Modern Trade เนื่องจากหุ้นในกลุ่มนี้แทบทุกตัวให้ผลตอบแทนที่น่าพอใจทั้งในด้านของเงินปันผลและราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นเรื่อย ๆ ต่อเนื่องมาตลอด ที่สำคัญ แม้ในยามที่ตลาดหุ้นเกิดวิกฤติ หุ้นส่วนใหญ่มีราคาตกลงมามากมาย หุ้นกลุ่มค้าปลีกก็ไม่ได้ตกลงมามากนัก และเมื่อภาวะวิกฤติผ่านไป ราคาก็กลับมาที่เดิมและปรับตัวสูงขึ้นไปอีก ถ้าจะพูดไป หุ้นค้าปลีกในช่วงเร็ว ๆ นี้ เป็นทั้งหุ้น Defensive หรือหุ้นที่ทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจที่เลวร้าย และเป็นหุ้น Growth หรือหุ้นที่เติบโต อยู่ในตัวเดียวกัน นอกจากนั้น หุ้นหลายตัวในกลุ่มเองก็ให้ปันผลในอัตราที่สูงและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กลายเป็น Dividend Stock หรือ “หุ้นปันผล” ที่จ่ายปันผลงดงามทุกไตรมาศ และนี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้หุ้นกลุ่ม Modern Trade ส่วนใหญ่มีราคาที่สูงเมื่อเทียบกับกำไรของบริษัท หรือมี PE สูงมากโดยเฉพาะในช่วงหลัง ๆ
ก่อนที่ผมจะพูดว่าทำไมหุ้นค้าปลีกสมัยใหม่จึงได้ราคาที่สูงกว่าหุ้นในกลุ่มอื่น ๆ ผมอยากจะทำความเข้าใจก่อนว่าหุ้นที่อยู่ในข่าย Modern Trade คือหุ้นในกลุ่มไหน เนื่องจากหลายคนอาจจะบอกว่านี่คือหุ้นในกลุ่มพาณิชย์ แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะหุ้นค้าปลีกสมัยใหม่ในนิยามของผมนั้น จะต้องเป็นหุ้นของบริษัทที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภคแก่ประชาชนทั่วไปทั้งประเทศ การขายจะขายผ่านเครือข่ายร้านสาขาที่มีอยู่ทั่วประเทศ ราคาสินค้าที่ขายก็มักจะเท่ากันไม่ว่าจะขายในร้านหรูในกรุงเทพหรือร้านค้าที่อยู่ต่างจังหวัด ตัวสินค้าเองก็มีความหลากหลายและใกล้เคียงกันในแต่ละสาขา ระบบการทำงานของสาขาทั้งหมดมักจะต่อถึงกันผ่านสำนักงานใหญ่ ดังนั้น ข้อมูลการขายสินค้าจะเป็นระบบรวมศูนย์ที่ทำให้การบริหารงานขายมักเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเทียบกับร้านค้าแบบ “ดั้งเดิม” ที่มักจะมีร้านเพียงร้านเดียวหรือมีสาขาน้อยมาก
หุ้นค้าปลีกสมัยใหม่ส่วนใหญ่มักจะอยู่ในหุ้นกลุ่มพาณิชย์เริ่มตั้งแต่หุ้น BIGC ซึ่งขายสินค้าอุปโภคบริโภคในราคาถูกที่เรียกว่า Discount Store แบบที่เป็นร้านค้าขนาดใหญ่มากที่ขายสินค้าที่ต้องกินต้องใช้ประจำวันและสินค้าราคาถูกอื่น ๆ อีกมาก หุ้น CPALL เจ้าของร้านสะดวกซื้อ 7-11 ที่ขายสินค้าปริมาณเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เน้นความสะดวกเนื่องจากอยู่ใกล้ชุมชน หุ้น HMPRO ซึ่งขายสินค้าปรับปรุงและตกแต่งบ้าน หุ้น GLOBAL ซึ่งขายวัสดุก่อสร้าง หุ้น IT ซึ่งขายสินค้าคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ไฮเท็คต่าง ๆ หุ้น MAKRO ซึ่งขายสินค้าให้กับร้านค้าโชห่วยและกิจการอื่น ๆ เช่นร้านอาหารหรือโรงแรม หุ้น ROBINS ซึ่งทำห้างสรรพสินค้าโรบินสัน นอกจากนี้ยังมีหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มพาณิชย์เช่น หุ้น SE-ED ซึ่งเป็นร้านขายหนังสือ หุ้น JMART ที่ขายโทรศัพท์มือถือ นอกจากนี้ยังมีหุ้นที่อาจจะเรียกว่าเป็น Modern Trade ได้เหมือนกันแต่ขายเฉพาะสินค้าจากโรงงานหรือบริษัทของตนเองเป็นหลัก อย่างหุ้น DCC ซึ่งขายกระเบื้องก่อสร้าง หุ้น JUBILY ขายเครื่องประดับเพชร และหุ้น BGT ซึ่งขายเสื้อผ้า เป็นต้น
จุดเด่นของกิจการค้าปลีกสมัยใหม่นั้น มีหลายประการ เริ่มตั้งแต่ข้อแรกคือ มักเป็นกิจการที่มีความสม่ำเสมอของผลการดำเนินงานทั้งยอดขายและกำไร เหตุผลก็คือ บริษัทมีการขายสินค้าให้กับคนจำนวนมาก มักจะเป็นแสนหรือล้าน ๆ ราย ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของยอดขายในแต่ละปีจะไม่มาก สินค้าที่ขายก็มักจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของคนซึ่งมักจะไม่เปลี่ยนแปลงในระยะเวลาอันสั้น นอกจากนั้น บริษัทสามารถกำหนดราคาขายให้อิงกับต้นทุนของบริษัทได้ค่อนข้างจะทันที เพราะเป็นกิจการที่ซื้อมา-ขายไป ทำให้กำไรของบริษัทผันแปรไปตามยอดขายเสมอ
ข้อสอง กิจการ Modern Trade มักมีความเสี่ยงในการล้มละลายต่ำเนื่องจากบริษัทขายสินค้าเป็นเงินสด แต่จ่ายค่าสินค้าเป็นเงินเชื่อหลายเดือน ทำให้บริษัทมีเงินสดมากในขณะที่มักจะมีหนี้เงินกู้น้อย หลายบริษัทไม่มีหนี้เงินกู้จากธนาคารเลยและทำให้บริษัทสามารถจ่ายปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้สูงเมื่อเทียบกับกำไรที่ทำได้ บางบริษัทจ่ายถึง 100% และจ่ายทุกไตรมาศ
ข้อสาม เนื่องจากกิจการ Modern Trade ในตลาดหลักทรัพย์มักจะเป็นผู้นำในกลุ่มสินค้าที่ตนเองขาย เป็นกิจการที่มีขนาดใหญ่ ดังนั้น บริษัทจึงมีความได้เปรียบคู่แข่งโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับร้านค้าแบบดั้งเดิม บริษัทจึงมักจะได้ส่วนแบ่งทางการตลาดของสินค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้บริษัทสามารถจะเติบโตไปได้เรื่อย ๆ อย่างยาวนานทั้ง ๆ ที่ตัวอุตสาหกรรมโดยรวมก็อาจจะไม่ได้เติบโตมากนัก การเติบโตของกิจการค้าปลีกสมัยใหม่นั้น นอกจากจะเติบโตจากร้านสาขาเดิมแล้ว ยังมักจะเติบโตจากการเปิดสาขาใหม่ด้วย ดังนั้น หุ้นในกลุ่มนี้หลาย ๆ ตัวจึงเป็นหุ้นที่ “เติบโต” ระยะยาว แม้ว่าอัตราการเติบโตของบางบริษัทอาจจะไม่สูงนัก
หุ้นค้าปลีกนั้น มีผลงานที่ดีและให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างดีมาตลอด แต่ในช่วงเร็ว ๆ นี้ดูเหมือนว่าจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นไปอีกหลังจากที่ประเทศไทยผ่านการเลือกตั้งและกำลังมีรัฐบาลที่มีนโยบายในการเพิ่มรายได้ให้กับคนมีรายได้ต่ำโดยการเพิ่มเงินเดือนและการ “ประกัน” ราคาสินค้าการเกษตรในระดับที่สูง ผลจากนโยบายนี้จะทำให้การบริโภคภายในประเทศเพิ่มขึ้นพร้อม ๆ กับอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อยอดขายของกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ให้เพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ นอกจากนั้น การลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ในเวลาเดียวกันก็จะช่วยลดต้นทุนของบริษัทลง จริงอยู่ที่ต้นทุนค่าแรงของบริษัทอาจจะเพิ่มขึ้น แต่บริษัทก็น่าจะส่งผ่านต้นทุนนี้ให้กับผู้ซื้อสินค้าได้ เพราะทุกบริษัทก็ต้องจ่ายค่าแรงที่เพิ่มขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น หากเป็นไปตามภาพดังกล่าวนี้ กิจการค้าปลีกสมัยใหม่ส่วนใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็น่าจะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น และนี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มนี้ปรับตัวขึ้นในช่วงนี้
ประเด็นที่ต้องคำนึงสำหรับหุ้นในกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องของผลประกอบการหรือความเข้มแข็งของตัวธุรกิจ แต่น่าจะอยู่ที่ราคาหุ้นที่มีการปรับตัวขึ้นมามากและทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีราคาที่ “ไม่ถูก” แล้ว ว่าที่จริง ถ้ามองจากค่า PE และค่า PB ผมคิดว่าน่าจะเป็นหุ้นกลุ่มที่ “แพงที่สุด” ในตลาดหลักทรัพย์ อย่างไรก็ตาม ก็อาจจะพูดได้เหมือนกันว่ามันเป็นหุ้นกลุ่มที่ “ดีที่สุด” ในตลาดหลักทรัพย์ได้เช่นกัน ดังนั้น การลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ในช่วงเวลานี้จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ในความคิดของผม หุ้นกลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ในเวลานี้ ถ้าจะลงทุนก็คงไม่ใช่แนวทางแบบ เบน เกรแฮม ที่เน้นหาหุ้นถูกเป็นหลัก แต่อาจจะเป็นแนวทางแบบ วอเร็น บัฟเฟตต์ ที่เน้นลงทุนในหุ้นแบบ “ซุปเปอร์สต็อก” คือลงทุนในหุ้นที่ดีสุดยอด ในราคาที่ยุติธรรม ว่าที่จริง บัฟเฟตต์เองก็ซื้อหุ้น วอลมาร์ท ซึ่งเป็นร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อไม่นานมานี้ ในราคาที่ไม่ถูกเลย