จากค่าปรับ 4 แสนเป็น 20 ล้านบาท แก้ปัญหา แพทย์ขาดแคลน ได้หรือไม่?
Thu, 2011-07-14 02:14
นพ.พิทักษ์ วชิระศักดิ์มงคล
[email protected]
จากการที่ นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกมาเปิดเผย ตัวเลขอันน่าตกใจเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2554 ว่า ตามแผนแม่บทกำลังคนด้านสาธารณสุข ปี 2554 ทั่วประเทศ มีความต้องการแพทย์ 40,620 คน โดยในส่วนของ สธ.ต้องการแพทย์ 22,855 คน ปัจจุบันมีแพทย์แล้ว 13,083 คน ยังขาดอีก 9,772 คน โดยขณะนี้แพทย์ 1 คน ดูแลประชากรเฉลี่ย 7,000 คน ทำให้เกิดกระแสตื่นกลัวการขาดแคลนแพทย์ และนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ได้เขียนบทความเรื่อง"เพิ่มค่าปรับ...แพทย์หนีใช้ทุน 20 ล้านบาท?" นำเสนอทางมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ทำให้มีผู้สงสัยว่า การเพิ่มค่าปรับแรงๆแบบนี้ จะแก้ปัญหา แพทย์ขาดแคลน ได้จริงหรือไม่ ? ผมขอแสดงทรรศนะส่วนตัวต่อคำถามนี้ เผื่อผู้ที่คิดนโยบายของรัฐบาลใหม่ ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาไม่นานนี้ จะได้นำไปพิจารณา
แพทย์ในระบบราชการขาดแคลนจริงหรือ?
ตามข่าวที่ท่านโฆษกแถลงว่าจำนวนแพทย์มีอยู่ 13,083 คน ยังขาดแพทย์อยู่อีก 9,772 คน ตัวเลขที่อ้างถึง เป็นตัวเลขที่อ้างอิงจากการคำนวณตามระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System-GIS) เฉพาะของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น มิได้นับรวมของกระทรวงทบวงกรมอื่นๆ (กลาโหม, ทบวงมหาวิทยาลัย, สถานพยาบาลของส่วนท้องถิ่น,และของรัฐวิสาหกิจต่างๆ) อีกทั้งก็มิได้รวมสถานพยาบาลเอกชน ประเภทต่างๆเข้าไปด้วย ฉะนั้นการที่นับเฉลี่ยว่ามีแพทย์ 1 คน ดูแลประชากร 7,000 คนนั้น อาจจะไม่เป็นความจริง และในความเป็นจริงนั้น ตำแหน่งแพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปในจังหวัดใหญ่ๆ ส่วนมากเต็ม ไม่สามารถรับแพทย์เข้ารับราชการได้อีก ที่ขาดนั้นส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็กและโรงพยาบาลชุมชนชายแดนที่ห่างไกล กันดาร
เพิ่มค่าปรับ 4 แสนเป็น 20 ล้านบาท แก้ปัญหา แพทย์ขาดแคลน ได้จริงหรือ?
คำตอบของผมคือ "ได้" แต่จะมีผลเสียตามมามากมายดังต่อไปนี้คือ
นักเรียนที่มีศักยภาพสูงๆ อาจไม่นิยมเรียนแพทย์ต่อไป เพราะไม่มั่นใจในอนาคตตนเองว่า เรียนจบแล้ว จะต้องไปอยู่ป่าดง หรือชายแดนที่ไหน ทำให้มาตรฐานความรู้ความสามารถของแพทย์ไทยด้อยลงไป
มีการทำงานแบบอยู่แต่ตัว ไม่มีจิตวิญญาณ ทำงานแบบไม่ตั้งใจ ไม่ขยัน ไม่เอาจริงเอาจัง ซึ่งหากมีแพทย์เพียงบางคนที่เป็นแบบนี้ ยิ่งจะทำให้บรรยากาศการทำงานแย่ไปอีก เพราะผู้ที่ตั้งใจทำงาน จะรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ และหมดกำลังใจไปด้วย
พอชดใช้ทุนหมด จะรีบหนี เพราะความรู้สึกจะเหมือนติดคุก เมื่อพ้นโทษ ก็จะต้องรีบหนีไปทันที
โรงพยาบาลห่างไกลที่อยู่ชายแดน ทุรกันดาร จะมีแต่หมอจบใหม่ ไม่มีประสบการณ์
อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าค่าปรับควรจะเป็น 4 แสนเท่าเดิม อาจเพิ่มขึ้นบ้างก็ได้ แต่ต้องไม่มากจนรู้สึกว่า เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือสัญญาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อย่างไรก็ตาม การจูงใจให้แพทย์ยอมอยู่ในระบบราชการโดยสมัครใจ น่าจะดี และได้ผลกว่าในระยะยาว
แพทย์ไม่อยากอยู่ในระบบราชการ เพราะค่าตอบแทนน้อย จริงหรือ?
สำหรับแพทย์จบใหม่ (แพทย์ใช้ทุน) แม้ว่า การรับราชการจะมีรายได้น้อยกว่าอยู่ภาคเอกชนถึงเกือบเท่าตัว แต่ก็มีข้อได้เปรียบเอกชนหลายอย่างได้แก่
มีบ้านพักในโรงพยาบาล ไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน ใช้น้ำไฟ ฟรี
ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่ายในการเดินทาง
สวัสดิการการรักษาพยาบาลทั้งบุตร, สามี, ภรรยา, บิดา, มารดา แถมยังเป็นสวัสดิการข้าราชการ ซึ่งมีสิทธิประโยชน์มากกว่าสิทธิประกันสังคมของภาคเอกชน
สามารถไปฝึกอบรม ดูงานระยะสั้นได้ โดยไม่ถือเป็นวันลา ทั้งยังเบิกเบี้ยเลี้ยง และค่าเดินทางได้ด้วย
สามารถไต่เต้าขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับต่างๆได้
มีสถานะในสังคมสูง
สามารถหาทุนไปเรียนต่อเป็นแพทย์เฉพาะทางในสาขาที่ต้องการได้ง่ายกว่า
มีความรู้สึกภาคภูมิใจในการทำงาน เพราะในภาครัฐ แพทย์เปรียบเหมือน "ผู้ให้" การรักษาแก่ผู้ป่วย ต่างจากภาคเอกชน ที่แพทย์เปรียบเหมือน "ผู้รับจ้าง" รักษาพยาบาล ผู้ป่วยในสถานพยาบาลเอกชน มีสถานะเป็นผู้ว่าจ้าง หรือ "ลูกค้า" ซึ่งในระบบทุนนิยมแล้ว ลูกค้าคือพระเจ้า
จะเห็นว่าระบบราชการมีจุดแข็งเป็นจำนวนมาก จุดอ่อนเพียงอย่างเดียวคือการบริหารจัดการ ถ้าสามารถพัฒนาระบบให้ดี ต่อให้ไม่บังคับว่าต้องใช้ทุน ก็อาจมีแพทย์ที่ต้องการเข้าสู่ระบบราชการอีกเป็นจำนวนมาก
อะไรคือปัญหาของระบบบริการสาธารณสุขในปัจจุบัน ?
ก่อนยุค 30 บาทฯ สถานพยาบาลของรัฐคิดราคาจากผู้มารับการรักษาตามจริง แต่ถูกกว่าราคาท้องตลาด เพราะรัฐอุดหนุนอยู่ส่วนหนึ่ง ผู้ใดที่เจ็บป่วย แต่ไม่มีเงิน หรือมีไม่พอ สถานพยาบาลของรัฐก็จะลดราคา หรืองดเก็บค่ารักษาพยาบาล โดยใช้หน่วยงานสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาลเป็นผู้พิจารณา ปัญหาของยุคก่อน 30 บาทฯก็คือ กระบวนการพิจารณาให้การสงเคราะห์ที่มักจะค่อนข้างเข้มงวด ทำให้ผู้ป่วยที่ยากจนต้องเริ่มต้นจากการใช้สมุนไพร รากไม้ ถ้าไม่หายก็ใช้บริการร้านขายยา หมอเถื่อน คลินิกแพทย์ เป็นลำดับต่อไป ถ้าโชคดียังไม่ตาย แต่อาการหนักจริงๆ จึงจะเข้าโรงพยาบาล เมื่อเข้าโรงพยาบาลแล้ว เจอค่ารักษาแพงๆ และกระบวนการสังคมสงเคราะห์ที่เข้มงวด บางคนก็ถอดใจ ขอไปตายบ้าน บางคนก็ฮึดสู้ ขายวัวควาย จำนองไร่นา หมดเนื้อหมดตัว กันไป การมาของโครงการ"สามสิบบาทรักษาทุกโรค" จากความคิดริเริ่มของคุณหมอสงวน นิตยารัมพงศ์ ที่ให้สิทธิประชาชนกำเงิน 30 บาท ยืดอกโดยไม่ต้องพกถุง เข้าโรงพยาบาลได้อย่างสะดวก จึงได้ใจจากชาวชนบทอย่างท่วมท้น
อย่างไรก็ตาม เหรียญย่อมมีสองด้าน ถ้าสถานพยาบาลของรัฐทั่วประเทศเป็นเหมือนร้านอาหาร เดิมร้านนี้คิดราคาตามจริง แม้จะถูกกว่าท้องตลาด แต่ก็ยังแพงเกินไปสำหรับฐานะของคนชนบทส่วนใหญ่ ผู้มาใช้บริการจึงไม่ค่อยมาก พ่อครัว เด็กเสิร์ฟ คนล้างจาน ก็งานไม่หนักมาก โครงการ 30 บาทฯ เปรียบเสมือนลดราคาอาหารทุกชนิด เหลือจานละ 5 บาท ผู้คนที่เคยใช้สมุนไพร, รากไม้, ร้านขายยา, หมอเถื่อน ฯลฯ ต่างก็แห่มากินที่ร้านนี้ เจ้าของร้านก็หน้าบานรับคำสรรเสริญ เยินยอ ผู้มาทานอาหารก็พอใจ เพราะประหยัด และไม่ต้องเสียความรู้สึกกับกระบวนการสังคมสงเคราะห์แบบเดิม แต่ถ้าลองนึกถึงบรรดาพ่อครัว เด็กเสิร์ฟ คนล้างจาน ฯลฯ ที่จู่ๆ งานของเขาก็เพิ่มขึ้นเป็นหลายเท่าตัว โดยเจ้าของร้านบอกว่าหาพ่อครัวไม่ได้ ส่วนเด็กเสิร์ฟคนล้างจานนั้น เป็นนโยบายระดับชาติ นอกจากห้ามจ้างเพิ่ม ยังจะต้องลดจำนวนลงอีก โดยเปลี่ยนจากจ้างประจำ เป็นจ้างชั่วคราว ลดสิทธิประโยชน์ของคนเหล่านั้นลง ใครที่ชอบดูทีวีคงจะเห็นนักการเมืองออกมาประกาศเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ประชาชนไม่อั้น สามสิบบาท ก็ไม่ต้องเสีย บัตรทองก็ไม่ต้องพก บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกโรค โรคนั้นก็ฟรี โรคนี้ก็ฟรี ที่เขาพูดได้ ก็เพราะเขาไม่ต้องลงมาทำ มีหน้าที่เพียงออกทีวี โฆษณาว่าทุกอย่าง ล้วนเป็นผลงานของเขา
ปัจจุบันนี้ แพทย์ในโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป ยังต้องทำงานอย่างหนัก ส่วนผู้ป่วยก็จะต้องรอตรวจ รักษา ผ่าตัดเป็นเวลานาน ทั้งๆที่มีแพทย์ประสงค์จะเข้ารับราชการจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มีตำแหน่งให้ ไม่เพียงแต่แพทย์เท่านั้น พยาบาลดูจะประสบชะตากรรมที่เลวร้ายกว่าแพทย์เสียอีก เพราะนอกจากจะไม่ขยายตำแหน่งแล้ว ยังยุบตำแหน่งเดิมที่มีผู้เกษียณออกไปอีกด้วย พยาบาลบรรจุใหม่ ต้องรับเงินเดือนและสวัสดิการในฐานะลูกจ้างชั่วคราว จึงเกิดปัญหาสมองไหลอย่างรุนแรง การขาดแคลนบุคลากรที่ "รุนแรงมากที่สุด" ไม่ใช่แพทย์ แต่เป็นพยาบาล เพราะการทำงานของแพทย์ ต้องอาศัยพยาบาลเป็นผู้ช่วยที่สำคัญ มีหลายโรงพยาบาลที่แม้มีตึก แต่ไม่สามารถเปิดรับผู้ป่วยในได้ เพราะไม่มีพยาบาลประจำตึก การผ่าตัดนอกเวลาราชการทำไม่ได้ เพราะมีพยาบาลช่วยผ่าตัด และส่งเครื่องมือไม่เพียงพอ นโยบายแบบนี้คล้ายกับการตีสองหน้า คือด้านหนึ่งโหมโฆษณาว่ารักษาฟรีทุกโรค แต่อีกด้านหนึ่ง ให้ทรัพยากรอย่างจำกัด
การทุ่มเทพัฒนาการด้านคุณภาพก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้การรักษาพยาบาลยุ่งยากมากขึ้น ในสถานการณ์ที่ขาดแคลน ควรคำนึงถึงประสิทธิภาพมากกว่า เมื่อความขาดแคลนลดลง จึงค่อยพัฒนาเชิงคุณภาพ
วิธีจูงใจให้แพทย์ยอมอยู่ในระบบราชการโดยสมัครใจ จะทำได้อย่างไร?
ผู้เสียสละไปอยู่ที่เสี่ยงภัย ห่างไกล ทุรกันดาร ต้องได้รับผลตอบแทนที่ดี เช่นการขอทุนไปเรียนต่อ เบี้ยเลี้ยง ความเจริญก้าวหน้า ฯลฯ
ควรลดงานของแพทย์ ที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลโดยตรงลงบ้าง เช่นการประชุม, การพัฒนาคุณภาพที่ไม่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาล, การต้อนรับผู้หลักผู้ใหญ่ ฯลฯ เพื่อให้แพทย์มีเวลาตรวจรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มที่ และมีเวลาพักผ่อนบ้าง
ค่าตอบแทน ควรระบุให้ชัดว่าจะได้เท่าใด, ได้เมื่อไหร่ ขณะนี้ค่าตอบแทนบางอย่างต้องครม.อนุมัติทุกปี, บางอย่างต้องจ่ายจากเงินบำรุง ทำให้เกิดความไม่แน่นอนว่าปีนี้จะได้ไหม? ได้เท่าใด? และจะได้เมื่อใด?
โครงการ ผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท จำนวน 3 โครงการ โครงการแรกได้รับผลผลิตแพทย์ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๔ ถึงปี ๒๕๕๕ รวม ๓,๐๐๐ คน, โครงการ 2 ได้ผลผลิตแพทย์ตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ ถึงปี ๒๕๕๘ รวม ๒,๗๙๘ คน และโครงการสุดท้าย ได้ผลผลิตแพทย์ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๒ ถึงปี พ.ศ. ๒๕๖๒ รวม ๓,๘๐๗ คน รวมทั้งสามโครงการ น่าจะได้แพทย์เติมเข้ามาในระบบอีกเกือบหมื่นคน และแพทย์เหล่านี้ พื้นเพเป็นคนต่างจังหวัด ได้รับการบรรจุใกล้ภูมิลำเนาเดิม อัตราการสูญเสียจากระบบราชการน่าจะไม่มากนัก ถ้ามีโครงการแบบนี้ต่อไปอีก และเน้นรับนักศึกษาจากระดับชนบทจริงๆ ก็จะยิ่งดีกว่านี้ เนื่องจากโครงการแรกๆนั้น ส่วนใหญ่ผู้ได้รับคัดเลือก มักเป็นผู้ที่อยู่ในเมือง เสียมากกว่า
การแต่งตั้ง โยกย้ายผู้บริหาร ควรใช้แพทย์ ที่สามารถผูกใจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำงานด้วยอย่างสบายใจ เต็มใจ และมีความสุข ยกตัวอย่างจังหวัดน่าน สมัยนพ.บุญยงค์ วงศ์รักมิตร ซึ่งแม้จะเป็นจังหวัดชายแดนห่างไกลทุรกันดาร แต่ก็มีแพทย์จำนวนมากนิยมไปอยู่ และอยู่กันนานๆ ทำงานอย่างทุ่มเท มีคุณภาพ มีแพทย์ที่ได้รับรางวัลแพทย์ดีเด่นจำนวนมาก ที่เจริญก้าวหน้าไปเป็นนักบริหารที่มีคุณภาพก็มากมาย ควรจะต้องศึกษาว่าท่านทำได้อย่างไร
น่าเสียดายที่การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการสมัยนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองโดยแท้ แทนที่จะเห็นแก่ประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ ตัวอย่างในกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเร็วๆนี้ ก็มีเป็นข่าวฮือฮา โดยย้ายผู้อำนวยการ โรงพยาบาลศูนย์ขนาดใหญ่ (มากกว่าพันเตียง) ไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ขนาดเล็ก (หกร้อยเตียง) มิหนำซ้ำก่อนเกษียณเพียงหกเดือน ถูกย้ายไปเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลทั่วไป(สี่ร้อยเตียง) ทั้งหมดนี้ก็เนื่องจาก"ไม่ประจบ" ท่านผู้ยิ่งใหญ่เท่านั้นเอง ยิ่งถ้าดูการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการทั้งระบบด้วยแล้ว ยิ่งหดหู่และเศร้าใจ ไม่ว่าจะกรณีพลตำรวจเอกสมเพียร, กรณีอธิบดีกรมการปกครอง, การสอบเข้าโรงเรียนนายอำเภอ, การแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ยิ่งถ้านับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ไม่สามารถแต่งตั้งผู้บริหารสูงสุดได้ ต้องรักษาการไปจนเกษียณแล้ว ยิ่งหมดหวังกับระบบราชการไทย