ปปง.หารือผู้ประกอบการทำธุรกรรมเกิน4แสนต้องแจ้ง
โดย ทีมข่าวอาชญากรรม ผู้จัดการออนไลน์ 18 มีนาคม 2548 16:42 น.
ป.ป.ง.หารือผู้ประกอบการร้านค้าอัญมณี ทอง โรงรับจำนำ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ รถจักรยานยนต์ หากผู้ต้องสงสัยมาซื้อรถต้องแจ้งป.ป.ง.ตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินทุกครั้ง เพื่อเตรียมดันเข้าพ.ร.บ.การฟอกเงิน
วันนี้ ( 17 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น. ที่โรงแรมใบหยก พล.ต.ต.พีรพันธุ์ เปรมภูติ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือป.ป.ง. เป็นประธานการประชุมสัมนาเรื่องแนวทางในการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลในการรายงานธุรกรรมของภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยมีตัวแทนจากองค์ธุรกิจภาคเอกชน สภาหอการค้าไทย สมาคมผู้ค้าทองคำและอัญมณี สถานรับจำนำ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ เข้าร่วมประมาณ 70 คนจากทั้งหมด 9 สมาคม
หลังจากนั้น พล.ต.ต.พีรพันธุ์ แถลงว่า ป.ป.ง.ได้เชิญตัวแทนผู้ประกอบการจากองค์กรธุรกิจภาคเอกชน ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมาเพื่อสัมมนารับฟังความคิดเห็น ผลกระทบและข้อเสนอแนะ กรณีที่ปปง.จะกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน ต้องรายงานการทำธุรกรรมทางการเงิน ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 4 แสนบาทขึ้นไป เพื่อประกอบการยกร่าง พระราชบัญญัติหรือ พรบ.การฟอกเงิน
เนื่องจาก ปปง.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้หน่วยงานเตรียมความพร้อม เพื่อปฏิบัติตามกฎหมายการฟอกเงินระหว่างประเทศ ขององค์กรต่อต้านอาชญากรรมทางการเงินหรือ FATF โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ ให้การปฏิบัติงานของหน่วยงานปปง.มีความโปร่งใส การรายงานธุรกรรมทางการเงินของภาคธุรกิจทางการเงินและภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันทางการเงิน
เลขาธิการปปง.กล่าวว่า ได้เชิญให้ร้านค้า เพชรพลอย อัญมณีและทองคำตลอดจนสถานรับจำนำ ตัวแทนการซื้อขายรถยนต์ มาร่วมหารือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังข้อเสนอจากสมาคม ชมรมและภาคธุรกิจเพื่อกำหนดแนวทาง ระเบียบและวางกรอบ การยกร่างกฎกระทรวง ประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องในการรายงานการทำธุรกรรมต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน
พล.ต.ต.พีรพันธุ์กล่าวว่า ธุรกรรมที่จะต้องรายงาน คือ มีการซื้อขายกันด้วยเงินสดตามจำนวนที่กำหนดไว้ ซึ่งจะต้องมีการร่วมพูดคุยหารือกันอีกครั้ง ธุรกรรมที่ต้องสงสัย เช่นบุคคลหรือลูกค้ามีลักษณะที่ต้องสงสัย เช่น การแต่งกายหรือเห็นไม่น่าฐานะทางการเงินที่สามารถทำธุรกรรมกับทางร้านค้าผู้ประกอบการได้ ซึ่งน่าสงสัยว่าจะเป็นการฟอกเงินหรือได้เงินจากธุรกิจผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเงินที่ได้จากการค้ายาเสพติด การทุจริต ลักลอบขนสินค้าหนีภาษี หรือธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จากประสบการณ์ที่ผ่านมาของเจ้าหน้าที่ปปง. พบว่าคนร้ายมักจะนำเงินไปลงทุนในธุรกิจหรือนำเงินไปซื้อ อัญมณี เพชรพลอย ทองคำหรือสินค้าประเภทรถยนต์แทนการฝากบัญชีธนาคารมากขึ้น พยายามปกปิดหรือหลีกเลี่ยงม่ให้เจ้าหน้าทีตำรวจ ปปส. หรือปปง. ติดตามไปยึดทรัพย์ นอกจากนนี้ตั้งแต่ปปง.ดำเนินงานมา เกือบ 5 ปี ขณะนี้มีการยึดทรัพย์สินจากการฟ้องเงินทั้งสิ้นประมาณ 4 พันล้านบาท พบว่ามีทรัพย์สิน พวกอัญมณี ทองคำและรถยนต์ ที่ไม่ใช่เงินสดหรือบัญชีเงินฝากประมาณ 2 พันล้านบาท ขณะเดียวกันแนวโน้มการยึดทรัพย์ที่เป็นเงินในบัญชีธนาคารของคนร้ายมีจำนวนลดลง เพราะมีการเปลี่ยนวิธีการโดยนำเงินที่ได้จากการธุรกิจผิดกฎหมายไปซื้อ สินค้าพวกเพชรพลอย อัญมณี ทองคำมากขึ้น
ด้านนายวิชัย อัศรัสกร ประธานคณะกรรมการอัญมณีและเครื่องประดับ เปิดเผยว่าช่วงแรกที่มีข่าวว่าปปง.จะกำหนดให้ผู้ประกอบการ ร้านค้าเพชรพลอย อัญมณี ต้องแจ้งการทำธุรกรรมทางการเงินที่มีมูลค่า 4 แสนบาทขึ้นไป ก็รู้สึกตื่นตระหนกเช่นกัน เพราะจะส่งผลกระทบอย่างแน่นอน เนื่องจากปัจจุบันการค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าค่อนข้างสูง เฉพาะการส่งออกโดยตรงมีมูลค่าประมาณ 1 แสน 1 หมื่นล้านบาท ไม่นับรวมถึงการค้าขาย อัญมณี เพชรพลอย ทองคำ ให้นักท่องเที่ยวภายในประเทศรวมประมาณ 1 แสนล้านบาท ตัวเลขรวมกันทั้ง 2 ส่วนเกือบ 2 แสนล้านบาท ซึ่งได้รับการเปิดเผยจากกระทรวงพานิชย์ว่าปีนี้ตลาดอัญมณีและเครื่องประดับจะมีอัตราการเติบโตประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากจะมีกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงินขึ้นมาควบคุม เราก็เป็นห่วง แต่หลังได้ร่วมประชุมหารือแล้วก็เข้าใจว่า ไม่ต้องรายงานการทำธุรกรรมทุกอย่าง แต่รายงานในกรณีที่พบว่าลูกค้าหรือผู้ซื้อมีพฤติกรรมต้องสงสัย และเป็นการขอความร่วมมือมากกว่า ส่วนวงเงินที่กำหนดไว้ 4 แสนบาทก็สามารถมาทบทวนหารือเพื่อหาวงเงินที่เหมาะสมได้ ทำให้มีความสบายใจมากขึ้น
วันนี้เพิ่งหารือกันเป็นครั้งแรก เดิมเริ่มแรก ทุกคนเข้าใจว่าจะต้องรายงานทุกทุรกรรมที่เกิน 4 แสนบาท เฉพาะทองคำหนึ่งกิโลกรัมเดียวก็ 5 แสนกว่าแล้ว เพราะฉะนั้นเรียกว่าเกือบจะต้องรายงานตลอดและการค้าในวงการอัญมณี หลายส่วนจะต้องใช้เงินสดค่อนข้างเยอะ ยกเว้นการส่งออกที่อาจจะผ่านแบงค์นายวิชัยกล่าว
นอกจากนี้ทางผู้ประกอบการสงสัยและถามว่ากรณีที่ลูกค้าหรือผู้ซื้อมีพฤติกรรมต้องสงสัย แล้วไม่ได้แจ้งหรือแจ้งย้อนหลัง ทางผู้ประกอบการจะมีความผิดด้วยหรือไม่ ท่านพีรพันธ์ก็ยืนยันว่าเป็นการขอความร่วมมือกับทางผู้ประกอบการ ซึ่งไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญที่จะต้องสอดส่องหาผู้ก่อการร้าย จึงไม่ไม่มีความผิด แต่คงต้องมีการประสานงานกับทางป.ป.ง.ในเชิงที่เป็นมิตรหรือพาสเนอร์กันทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตามในฝ่ายของ พ่อค้า ผู้ประกอบการ ก็ไม่เห็นด้วยกับการการก่อการร้ายหรือธุรกิจที่ผิดกฎหมาย แต่ทั้งนี้การออกระเบียบต่างๆ ทางสภาหอการค้าไทยและสามาคมที่เกี่ยวข้องขอมีส่วนร่วมในพิจารณารายละเอียดด้วย เพราะว่าหลายฝ่ายก็เป็นห่วงในเรื่องของผลกระทบในภาพรวม แต่เมื่อเข้าใจว่าเป็นการขอความร่วมมือคิดว่าคงจะรับได้
นายสว่าง ธัญธีรธรรม นายกสมาคมเพชรพลอยทองกิตติมศักดิ์ เปิดเผยว่า ที่ปปง.กำหนดวงเงิน 4 แสนบาทนั้นคงเป็นการเข้าใจผิดกัน ส่วนใหญ่คิดว่าต้องรายงานการทำธุรกรรม ทุกครั้ง ที่มีเงินหมุนเวียนผ่านเข้าออก แต่จริงๆ แล้วเป็นกรณีที่มีการซื้อขายสินค้า ราคาตั้งแต่ 4 แสนบาทขึ้นไป และเป็นผู้ซื้อที่ไม่ได้เป็นลูกค้าประจำ หรือ รู้จักกัน ส่วนลูกค้าที่เรารู้จักสนิทสนมกัน ไม่มีมีลักษณะที่น่าสงสัย ก็ไม่จำเป็นต้องรายงาน ทำให้ไม่ส่งผลกระทบมาก เนื่องจากในการซื้อขายเพชรพลอย ลูกค้าส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นคนรู้จักกันหมด ดังนั้นระเบียบ ข้อกำหนดต่างๆ ก็ให้เป็นไปตามกติกาที่ ทางป.ป.ง.กำหนด
ด้านนายจิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี นายกสมาคมค้าทองคำ เปิดเผยว่า สำหรับเรื่องนี้คิดว่าส่งผลกระทบโดยตรง ที่ท่านเลขาฯ ปปง.ให้ข่าวไปก่อนหน้านี้อาจจะยังไม่ชัดเจน แต่วันนี้ฟังแล้วสบายใจขึ้น เนื่องจากว่าธุรกิจทางคำส่วนใหญ่จะไม่มีการซื้อขายผ่านเช็คธนาคารอยู่แล้ว โดยเฉพาะบริษัทคู่ค้า ที่อยู่ต่างประเทศและมีหลายบริษัท เพราะว่าทองคำเมื่อมีการซื้อขาย เปลี่ยนมือกัน ก็สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินได้ทันที ลูกค้าหรือร้านค้าที่มาซื้อเราจะต้องใช้เงินสดทั้งหมด ไม่นิยมซ้อขายผ่านเช็คธนาคาร เพราะถ้าเช็คเด้งขึ้นมาก็จะเกิดความเดือดร้อน ไม่สามารถติดตามเงินคืนได้ ซึ่งหากปปง.ขอความร่วมมือทางสมาคมก็ยินดีจะให้ความร่วมมือ คงจะต้องปรึกษา หารือในรายละเอียดปลีกย่อย ทำความเข้าใจกัน ทางสมาคมเองก็ไม่อยากให้เกิดปัญหาขึ้น คาดว่าจะใช้เวลาสักระยะหนึ่ง
พล.ต.ต.พีรพันธ์กล่าวเพิ่มเติม ถึงลักษณะพฤติกรรมที่ต้องสงสัยว่า ตามกฎหมายการฟอกเงินนั้นกำหนดให้ สถาบันการเงินและภาคธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินรายงานพฤติกรรมต้องสงสัย ซึ่งกำหนดว่า ต้องเป็นลักษณะการทำธุรกรรมที่มีความสลับซับซ้อน ขาดความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ เช่น นายก.ไม่เป็นที่รู้จักของร้านค้า และการแต่งกายที่แสดงหรือบ่งชี้ ว่าไม่น่าจะเป็นคนผู้ที่มีฐานะหรือเงินสดจำนวนมาก และไม่ยอมบอก ชื่อหรือประวัติ การทำงาน พยายามจะปกปิดหรือทำธุรกรรมที่มีความสลับซับซ้อนเกินกว่าปกติ เจตนาที่จะเลี่ยงการถูกรายงานการทำธุรกรรม รวมทั้งธุรกรรมที่ต้องสงสัยอื่นๆ ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดเจน ในกฎหมายของปปง.