โค้ด: เลือกทั้งหมด
โลกในมุมมองของ Value Investor 13 กุมภาพันธ์ 54
ดร. นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ตั้งแต่เด็กผมเป็นคนที่มองหาลู่ทางในการทำเงินมาตลอด ความยากจนและความกลัวว่า “พรุ่งนี้เราจะมีอะไรกินไหม” ทำให้ผมเป็นคนประหยัดขณะเดียวกันก็พยายามหา “หนทางแห่งความร่ำรวย” ซึ่งในสมัยก่อนดูเหมือนว่าจะมีทางเดียวนั่นคือ “ทำธุรกิจ”
ผมขายขนมตั้งแต่ยังอยู่ชั้นประถมนั่นเป็นธุรกิจแรก ๆ ที่ผมทำและทำได้สำเร็จ แต่นั่นก็เป็นธุรกิจเล่น ๆ ที่ทำในตอนปิดเทอมเสียมากกว่า ต่อมาเมื่อผมเรียนในมหาวิทยาลัย ความคิดก็ก้าวหน้าขึ้น ธุรกิจที่ผมเริ่มคิดทำส่วนใหญ่อยู่ในเรื่องของการเกษตรทั้งที่ผมเรียนวิศวกรรม เหตุผลคงเป็นเพราะว่าในขณะนั้น ประเทศไทยเริ่มจะมีการพัฒนาในเรื่องของการเกษตรที่เป็นธุรกิจ มีการใช้วิชาการเพื่อผลิตสินค้าการเกษตรแบบก้าวหน้า อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ การทำการเกษตรนั้น ใช้เงินลงทุนน้อยมากโดยเฉพาะในตอนเริ่มต้น ผมอาศัยสวนของเพื่อนแถวถนนจันทร์เป็นที่ทดลอง ดังนั้นต้นทุนเรื่องสถานที่ก็ไม่มี ส่วนเงินในการซื้ออุปกรณ์ต่าง ๆ นั้น ผมอาศัยเงินที่บางส่วนมาจาก “ทุนการศึกษาเด็กยากจน” ที่ผมได้รับมาเกือบตลอดสี่ปีที่เรียนมหาวิทยาลัย
ธุรกิจแรกดูเหมือนจะเป็นการเลี้ยงกุ้งก้ามกรามซึ่งกำลังฮือฮากันในช่วงนั้นซึ่งก็คือประมาณปี 2516-17 นี่เป็นธุรกิจที่ถ้าทำได้สำเร็จก็น่าจะทำกำไรได้งดงาม เพราะกุ้งมีราคาสูงมากและบริโภคกันในหมู่คนมีเงิน เหนือสิ่งอื่นใด กุ้งส่วนใหญ่ต้องจับจากแม่น้ำซึ่งหายากขึ้นเรื่อย ๆ ผมตัดสินใจทำโดยอาศัยท้องร่องสวนหมากของเพื่อน กั้นท้องร่องด้วยตาข่าย จัดการกับปลาที่อาจจะมีอยู่ แล้วก็ซื้อลูกกุ้งมาปล่อย ให้อาหารสำเร็จ จากนั้นก็รอมันโต ผลก็คือ กุ้งนั้นแทบไม่เหลือ แต่ปลากลับชุกชุมขึ้น บทเรียนก็คือ การจัดการกับปลาในท้องร่องสวนไม่ใช่เรื่องง่ายโดยเฉพาะเวลาฝนตกที่ปลามันสามารถผ่านตาข่ายมากินกุ้งตัวเล็ก ๆ ได้
ธุรกิจต่อมาดูเหมือนจะเป็นเห็ดฟาง นี่ก็เป็นผลิตภัณฑ์การเกษตรตัวใหม่ที่เริ่มร้อนแรง ผมเดินทางไป “ดูงาน” ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และซื้อเชื้อเห็ดฟางซึ่งเขาบรรจุอยู่ในกระป๋องนมผงเด็กขาย “โรงเพาะเห็ด” ของผมก็ เช่นเคย อยู่ในสวนหมากของเพื่อน ผมซื้อฟางและพลาสติกคลุมเพื่อรักษาอุณหภูมิ การเพาะเห็ดเริ่มขึ้น แต่เมื่อถึงเวลาที่เห็ดควรโต ผมกลับพบเชื้อราเป็นส่วนใหญ่ บทเรียนก็คือ การควบคุมความสะอาดของฟางและการรักษาความชื้นและอุณหภูมิของโรงเพาะคงไม่ใช่เรื่องง่าย
ผมจำได้ว่ายังเคยลองทำการเพาะลูกน้ำหรือก็คือลูกยุงที่ยังอยู่ในน้ำที่เอาไว้ใช้เลี้ยงปลาสวยงาม วิธีการก็คือ เอาถาดน้ำไปรองรับมูลไก่เพื่อล่อให้ยุงมาวางไข่ หลังจากนั้นก็เอากระชอนไปตักลูกน้ำขายได้ ธุรกิจนี้ก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะลูกน้ำบางส่วนได้โตกลายเป็นยุงไปรบกวนเจ้าของบ้าน ผมจบความพยายามในการทำธุรกิจในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยพร้อมกับความล้มเหลว ส่วนหนึ่งหรือส่วนใหญ่อยู่ที่การไม่มีเวลาเพียงพอเนื่องจากการเรียนที่หนักและการทำกิจกรรมนักศึกษาที่ผมใช้เวลาค่อนข้างมาก
ผมยังเคยทำงาน “รับเหมา” ก่อสร้างเล็ก ๆ น้อย ๆ ในช่วงที่เป็นวิศวกรโรงงาน นี่คือการรับงานจาก “เถ้าแก่” ที่เป็น “หลงจู๊” ของโรงงาน เป็นการหารายได้เสริมในบางช่วงบางตอน หลังจากนั้นผมก็ไปเรียนต่างประเทศในสายการเงินและกลับมาทำงานในแวดวงการเงิน แต่ความคิดของการทำธุรกิจไม่เคยหมดไป ผมเริ่มทำธุรกิจที่ใหญ่และเป็นมืออาชีพมากขึ้น นั่นคือช่วงประมาณปี 2528-2529
ธุรกิจแรกที่ทำก็คือ การตั้งโรงเรียนสอนคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลซึ่งกำลังเริ่มมีการใช้มากขึ้น ธุรกิจนี้มีเพื่อนเข้าร่วมลงทุนกันหลายคน ผมคิดว่าถ้าสำเร็จก็คงขยายตัวไปได้มหาศาล เหนือสิ่งอื่นใด เรามีคนสอนที่มีความรู้และความสามารถระดับ “ท็อป ๆ ของประเทศ” แต่เนื่องจากเป็นการลงทุนที่น้อย เราจึงตั้งโรงเรียนอยู่ในตลาดที่คนทั่วไปมองไม่เห็น การหานักเรียนเราต้องโฆษณาย่อยในหนังสือพิมพ์ ทุกครั้งที่โฆษณาก็จะได้นักเรียนมาจำนวนหนึ่ง แต่พอโฆษณาหมดนักเรียนก็หาย คนเรียนคอมพิวเตอร์นั้นเรียนกันสั้นมากเพียง 1-2 เดือนก็เลิกแล้ว ดังนั้น การทำการตลาดจึงแพงมาก ในที่สุดโรงเรียนก็ปิดตัวลงทั้ง ๆ ที่เราเป็นรายแรก ๆ ที่เข้ามาในวงการนี้ บทเรียนก็คือ การตลาดสู่ผู้บริโภคในวงกว้างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย
ธุรกิจต่อมาก็คือ การเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจ “ไฮเท็ค” ที่ถึงวันนี้ผมก็จำไม่ได้แล้วว่าเขาจะทำอะไร แต่ในช่วงนั้นกระแส “สมองไหลกลับ” กำลังมาแรง เป็นช่วงที่เมืองไทยกำลัง “โชติช่วงชัชวาล” เศรษฐกิจโตระดับสิบเปอร์เซ็นต์ต่อปี มีคนไทยที่โตที่อเมริกาและทำงานเป็นวิศวกรในธุรกิจไฮเท็คกลับมาลงทุนทำธุรกิจในเมืองไทย โดยจะตั้งโรงงานและผลิตสินค้ากลับไปขายที่อเมริกา เขามาระดมทุนจากคนในวงการ ผมเองก็ “ฝัน” ว่าธุรกิจน่าจะประสบความสำเร็จและถ้าเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ได้ก็น่าจะได้ผลตอบแทนมหาศาล ผลก็คือ ผมจ่ายเงินเป็นแสนบาทและได้ใบหุ้นมาเก็บไว้ หลังจากนั้นผมก็ได้ข่าวกระท่อนกระแท่นและสุดท้ายทุกอย่างก็เงียบหายไป ผมคิดว่าการตั้งโรงงานคงไม่สำเร็จ อาจจะเป็นเพราะเงินไม่เพียงพอหรืออะไรก็สุดจะเดา บทเรียนก็คือ ความฝันนั้น เป็นเรื่องที่อันตรายที่สุดสำหรับการลงทุน
ธุรกิจลำดับต่อมานั้น ผมเริ่มมีประสบการณ์มากขึ้น มองหา “เนื้อหนัง” มากขึ้น เป็นธุรกิจที่ดำเนินงานอยู่แล้วแต่กำลังมีโครงการระดับ “เปลี่ยนพื้นฐาน” ของกิจการ ผมคิดว่าถ้าสำเร็จก็น่าจะ “รับเละ” เป็นธุรกิจเรือเฟอร์รี่ที่กำลังมีโครงการใหญ่ แนวคิดก็คือ จะ “ปฏิวัติ” การขนส่งที่ลงไปทางใต้ของประเทศ นั่นก็คือ แทนที่รถสิบล้อจากกรุงเทพจะต้องวิ่งไปส่งสินค้าถึงภาคใต้เช่นหาดใหญ่ เขาจะให้รถวิ่งไปลงเรือเฟอร์รี่ที่สามารถรับรถได้หลายสิบคันที่ชลบุรี แล้วเรือก็แล่นไปหาดใหญ่ จากนั้นรถก็จะวิ่งขึ้นจากเรือไปส่งของต่อ วิธีนี้จะประหยัดค่าน้ำมันมหาศาล ดังนั้น ถ้าสำเร็จธุรกิจก็น่าจะกำไรมาก ผมลงทุนไปหลายแสนบาทและเงินต้องสูญเหลือแต่ใบหุ้น บทเรียนก็คือ มันมีอะไรบางอย่างที่ทำให้ความคิดแบบ “ปฏิวัติ” มักจะไม่สำเร็จ อย่าฝัน
สุดท้ายที่ผมจะพูดถึงก็คือ การฝันแบบ “ฟองสบู่” นี่คือการซื้อหุ้นที่หวังว่าเมื่อเข้าตลาดหุ้นได้ หุ้นก็จะมีค่ามากขึ้น อาจจะเป็นหลายเท่าตัว โดยไม่คำนึงถึง “มูลค่าพื้นฐาน” ของกิจการ นี่คือกรณีของการลงทุนซื้อหุ้นก่อนเข้าตลาดหลักทรัพย์ในยามที่ตลาดหุ้นกำลังบูมสุด ๆ ก่อนวิกฤติในปี 2540 สามสี่ปี มันเป็นธุรกิจโรงแรมใหม่กลางเมืองที่เพิ่งเขียนแปลนเสร็จ เขาขายหุ้นและผมก็ไปซื้อไว้ ด้วยเหตุมากมาย บริษัทไม่สามารถเข้าตลาดหุ้นได้และตลาดหุ้นก็ “วาย” ไปก่อน บริษัทมีปัญหาทางการเงินและต้องปรับเปลี่ยนผู้ถือหุ้น ทุกวันนี้โรงแรมก็เปิดดำเนินการอยู่ แต่ผมไม่เคยได้รับการติดต่อและไม่รู้ว่าใบหุ้นของผมเป็นเจ้าของโรงแรมหรือไม่ แต่ผมคิดว่าคงมีค่าเป็นศูนย์ไปแล้ว บทเรียนก็คือ อย่าไปหวังว่าฟองสบู่หุ้นจะช่วยให้คุณรวย ความเสี่ยงมีมากเหลือเกิน ดังนั้น จะลงทุนอะไรต้องมองที่พื้นฐานของกิจการเป็นหลัก และนั่นก็คือธุรกิจสุดท้ายที่ผมทำก่อนที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเต็มตัว