วิพากษ์ CSR ร่วมสมัย
.
ดร.โสภณ พรโชคชัย*
.
ผมรู้สึกว่าประชาชาติธุรกิจเป็นหนังสือพิมพ์ที่เสนอแนวคิด CSR มากที่สุดแห่งหนึ่ง และนับเป็นคุณูปการสำคัญในการนำแนวคิดนี้มาใช้ แต่แนวคิดนี้ที่มีผู้นำเสนอดูออกผิดแผกไปบ้าง ผมจึงเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อวิพากษ์แนวคิด CSR ร่วมสมัยโดยอาศัยข้อเขียนในประชาชาติธุรกิจฉบับวันที่ 6-8 ตุลาคม และ 13-15 ตุลาคมศกนี้เป็นกรณีศึกษา
.
.
เอ็นจีโอกับ CSR
.
เอ็นจีโอหรือสมาคม/มูลนิธิที่ดูแรงๆ ก็อาจมาเกี่ยวข้องกับ CSR ในแง่ที่วิสาหกิจเอกชนที่ต้องการทำดีมาจับมือกับตน จะสังเกตได้ว่าในช่วงแรก วิสาหกิจเอกชนช่วยเอ็นจีโอมาก แต่พอวิสาหกิจเหล่านี้ ปีกกล้าขาแข็ง ก็มักตั้งมูลนิธิของตนเองมาทำเอง วิสาหกิจข้ามชาติบางแห่งก็ชอบญาติดีกับเอ็นจีโอเหมือนกัน นัยหนึ่งก็เพื่อป้องกันไม่ให้เอ็นจีโอต่อต้านธุรกิจของตน
.
อย่างไรก็ตามถ้าเอ็นจีโอใดทำงานเข้าตาสังคมก็สามารถอยู่รอดและเติบโตได้เองโดยไม่ต้องพึ่งบริษัทต่างชาติหรือรับการอุปถัมภ์จากวิสาหกิจเอกชนใดโดยเฉพาะเพราะสังคมจะโอบอุ้มเอง เช่น มูลนิธิปอเต็กตึ๊ง มูลนิธิร่วมกตัญญู เป็นต้น
.
.
CSR เป็นของทุกคน
.
มีคำถามว่าองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs) ควรทำ CSR หรือไม่ ซึ่งย่อมมีคำตอบว่า ควร เพราะ CSR เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องเริ่มต้นที่การมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่ละเมิดผู้บริโภค เช่น แม่ค้าขายขนมจีนจะเอาทิชชูใส่น้ำยาไม่ได้ ที่รองลงมาก็คือ SMEs ต้องมีจรรยาบรรณ หรือ Soft Laws เช่น มรรยาททนาย จรรยาบรรณแพทย์ เป็นต้น
.
และสุดท้ายจึงค่อยเป็นการบริจาค ผมเคยศึกษาว่าปีหนึ่งคนทั่วไปบริจาคเป็นเงิน 3% ของรายได้ ถ้าเช่นนั้นบริษัทใหญ่เล็กก็บริจาคไม่ต่างกัน เผลอๆ บริษัทใหญ่ที่ดูมีข่าวบริจาคหรือทำ CSR ครึกโครม ก็อาจใช้เงินในสัดส่วนที่น้อยกว่าบริษัทเล็กด้วยซ้ำ
.
.
การดิ้นรนของเอ็นจีโอ
.
ในข่าวเรื่องเอ็นจีโอจากต่างประเทศที่มาสร้างบ้านให้ผู้ไร้บ้าน เอ็นจีโอประเภทนี้คงได้รับความสำเร็จในอาฟริกา แต่ไม่ใช่ในไทยเพราะคนไทยไม่ยากจนปานนั้น และรัฐบาลก็สร้างบ้านเอื้ออาทรมากมาย เอ็นจีโอนี้จึงเน้นไปช่วยผู้ประสบภัย เช่น ภัยสึนามิ ภัยดินถล่ม เป็นต้น ตอนเกิดสึนามิสารพัดเอ็นจีโอก็ยกทัพไปช่วยกันใหญ่ประหนึ่ง ว่างงาน มานาน!
.
ข้อพึงสังวรหนึ่งก็คือในการสร้างบ้านให้ประชาชนที่ประสบภัยนั้น หากเป็นบ้านถาวร ควรพิจารณาถึงสิทธิในที่ดินด้วยเพราะอาจไปละเมิดสิทธิการถือครองที่ดินของผู้อื่น หรือเป็นการบุกรุกที่ดินสาธารณะซึ่งประชาชนทั่วประเทศเป็นเจ้าของร่วมกัน
.
.
CSR ไม่ใช่การให้
.
ในบทสัมภาษณ์บริษัทโทรคมนาคมขนาดใหญ่ ที่ว่า การทำในสิ่งที่เชี่ยวชาญ ผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เช่นบริษัทโทรคมนาคมเน้นการช่วยเหลือสังคมในแนวทางด้านการสื่อสารที่ตนถนัดอย่างน่าชื่นชม
.
แต่การนี้ยังเป็นในรูปการให้ซึ่งเป็นเรื่องรอง บริษัทนี้ในฐานะองค์กรบริหารที่เป็นเลิศควรเสนอให้สังคมได้รู้เป็นแบบอย่างว่าการทำ CSR ในแง่มุมหลักคือความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ลูกจ้าง ลูกค้า คู่ค้า ชุมชนโดยรอบ สังคมและการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นธรรมนั้น ทำอย่างไร
.
.
CSR กับการสร้างแบรนด์
.
ยังมีความตะขิดตะขวงใจระหว่างการทำดี (โดยนึกว่าคือ CSR) กับการโฆษณา ซึ่งดูคล้ายเรื่องผิดบาป ผมอยากเรียนว่า การทำ CSR นั้นทำให้ชื่อเสียงกิจการดีขึ้น เพราะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือกับวิสาหกิจโดยตรง
.
ชื่อเสียงนั้นไม่ได้เกิดจากการไปให้ ไปบริจาคหรือไปทำอะไรน่ารักน่าชัง เช่น ปลูกป่า ชื่อเสียงเกิดจากความรับผิดชอบต่อลูกค้า ลูกจ้าง คู่ค้าและอื่น ๆ แสดงออกในแง่คุณภาพของสินค้าและบริการ ท่านทราบหรือไม่ว่ายี่ห้อง โค๊ก มีราคาถึง 2.6 ล้านล้านบาทหรือมากกว่างบประมาณแผ่นดินไทยเสียอีก เพราะเขามี CSR ในแง่สาระ ไม่ใช่ในแง่บริจาคแต่อย่างใด
.
.
ธนาคารกับ CSR
.
ผมเห็นบทความสถานบันการเงินแห่งหนึ่งส่งเสริมให้พนักงานไปอาสาทำความดี ซึ่งเป็นกิจกรรมที่น่าส่งเสริม จะทำให้พนักงานไม่มุ่งแต่หาผลประโยชน์หรือความสุขใส่ตัว สามารถที่จะเอื้ออาทรความสุขให้ผู้อื่นบ้าง
.
อย่างไรก็ตามหน้าที่สำคัญตาม CSR และจะเป็นการสร้างแบรนด์ให้สถาบันการเงินอย่างยั่งยืนก็คือการปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่ละเมิดต่อผู้ฝากเงิน ไม่ ล้มบนฟูก ยามเกิดวิกฤติและที่สำคัญพนักงานระดับสูงไม่รับเงินใต้โต๊ะยามมีผู้ไปขอกู้เงิน ถ้าสถาบันการเงินดูแลพนักงานจนทำให้ลูกค้าประจักษ์ได้เช่นนี้ สถาบันการเงินแห่งนั้นก็มี CSR และมีแบรนด์ที่ดีจริง
.
.
CSR ในลมหายใจเข้าออก
.
ผมอยากสรุปว่าเราควรส่งเสริม CSR ตามมาตรฐานสากลที่ธุรกิจใหญ่น้อยต้องปฏิบัติ โดยจะละเมิด เอาเปรียบผู้บริโภค ลูกจ้าง หรือชุมชนไม่ได้ ส่วนใครจะทำดีก็เป็น ของแถม ถ้าเราจะเดินสายให้ความรู้กับประชาชน ก็ควรบอกประชาชนมีส่วนร่วมคอยตรวจสอบดูว่าบริษัทไหนผลิตสินค้าหรือบริการที่รับผิดชอบต่อสังคมจริง จึงจะทำให้ CSR ยั่งยืน
.
เราไม่ควรบิดเบือน CSR ให้กลายเป็นการสอนศาสนา ยิ่งเอาคำบาลีมาใช้ อาจทำให้ผู้นับถือศาสนาอื่นน้อยใจได้ เราสามารถอธิบายความดีได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องยกศาสนามาอ้าง เช่น ทุกคนก็รู้ว่า ทำดีได้ดี ยิ่งให้ ยิ่งได้ หรืออย่า ด้านได้อายอด เป็นต้น
.
เราไม่ควรมองเน้นกิจกรรม CSR ไปในเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมหรือการปลูกป่า ซึ่งเป็นเพียง กระพี้ เพราะปีหนึ่ง ๆ ปลูกป่าได้แค่หมื่นไร่ (แล้วล้มตายไปเท่าไหร่ก็ไม่รู้) แต่ปีหนึ่งๆ ป่าถูกทำลายไปนับแสนๆ ไร่ สังคมที่เดือดร้อนอยู่ทุกวันนี้ ไม่ใช่เป็นเพราะคนทำดีน้อยไป แต่อยู่ที่การไม่อาจควบคุมคนทำผิดกฎหมายซึ่งมีอิทธิพลมากต่างหาก
.
CSR เป็นสิ่งที่พึงปฏิบัติโดยไม่ละเมิดกฎหมาย ไม่ละเมิดจรรยาบรรณและร่วมกันทำความดี เพื่อความเป็นมงคลและยั่งยืนในธุรกิจของเราเอง
.
.
* ดร.โสภณ พรโชคชัย เป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ CSR ที่แท้ บริหารกิจการเอกชนคือ ศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ AREA จนได้รับรางวัลจรรยาบรรณดีเด่น เกียรติบัตรปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นสมาชิก UN Global Compact (CSR) และประธานกรรมการมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินไทย เป็นกรรมการหอการค้าไทยสาขาจรรยาบรรณและอสังหาริมทรัพย์ Email: [email protected]
.
.
ประชาชาติธุรกิจ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 32 ฉบับที่ 4048 หน้า 34