กฎแห่งกรรม : Valueway โดยวิบูลย์ พึงประเสริฐ

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

โพสต์ โพสต์
PERFECT LUCKY
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 795
ผู้ติดตาม: 0

กฎแห่งกรรม : Valueway โดยวิบูลย์ พึงประเสริฐ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

Value Way ฉบับวันที่ 29 กันยายน 2551
โดยวิบูลย์ พึงประเสริฐ
กฏแห่งกรรม

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ไม่มีข่าวใดโด่งดังและมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นทั่วโลกได้เท่ากับการล้มละลายของบริษัทเลแมนบราเดอร์อีกแล้ว หลังจากที่ข่าวการล้มละลายของบริษัทเลแมนบราเดอร์ได้รับการยืนยัน วันรุ่งขึ้นดัชนีดาวโจน์ลดลงกว่า 500 จุดในวันเดียว ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งตามดาวโจน์ไปด้วยทั้งตลาดยุโรปและตลาดหุ้นเอเซีย รวมถึงตลาดหุ้นไทยก็หลีกหนีจากเหตุการณ์ครั้งนี้ไปไม่พ้น

ดัชนีหุ้นไทยลดลงในระหว่างการเทรดช่วงเช้าของวันที่ 18 กันยายนถึง 30 จุดหรือประมาณ 5% ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักในประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นไทย จากดัชนี 605 จุดลดงเหลือดัชนี 570 จุดในเวลาเพียงครึ่งวันทำการ แรงขายของต่างชาติบวกกับการถูกบังคับขายจากบัญชีกู้ยืมทำให้ดัชนีลดลงอย่างฮวบอาบ แต่อย่างไรก็ตามในช่วงบ่ายของวันเดียวกัน มีแรงซื้อกลับเข้ามาในตลาดหุ้นเอเซียเกือบทั้งหมด รวมถึงตลาดหุ้นไทย ดัชนีตลาดหุ้นดีดกลับมาปิดที่เหนือระดับ 600 จุดอีกครั้งเมื่อหมดเวลาทำการในวันเดียวกัน

ถ้าใครติดตามการเปลี่ยนแปลงของดัชนีหุ้นไทยในวันนั้นจะพบว่าเป็นเรื่องที่เหนือความคาดคิดของนักลงทุนและนักวิเคาระห์เป็นอย่างมากที่ดัชนีหุ้นลดลง 5% สามารถดีดกลับได้ภายในวันเดียว นักลงทุนที่ขายหุ้นไปในวันนั้นส่วนใหญ่จะเกิดจากอาการตกใจกลัวกับเหตุการณ์การล้มละลายของบริษัทเลแมนบราเดอร์ รวมถึงคาดว่าจะทำให้สถาบันการเงินแห่งอื่นๆล้มตามไปด้วย

บริษัทเลแมนบราเดอร์เป็นวาณิชธนกิจหนึ่งในห้าที่ใหญ่ที่สุดในอเมริกา มีอายุกว่าร้อยปี และดำเนินธุรกิจมีกำไรมาตลอดอายุของบริษัท สิ่งที่ทำให้บริษัทต้องประสบกับปัญหาการล้มละลายเนื่องจากบริษัทกู้ยืมเงินเพื่อนำมาลงทุน เป็นจำนวนมาก เมื่อประสบกับปัญหาซัพไพร์ม เงินลงทุนของบริษัทที่ลงทุนในตราสารเหล่านี้ลดลงเป็นอย่างมาก ทำให้บริษัทเกิดภาวะขาดทุน ขาดสภาพคล่องจนต้องขอล้มละลาย

บริษัทอย่างเลแมนบราเดอร์ต้องประสบกับเหตุการณ์เช่นนี้ เนื่องมากจากความต้องการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนให้ได้มากๆในเวลาอันรวดเร็ว ตราสารทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับซัพไพร์มนั้นมีความเสี่ยงสูง ขณะเดียวกันก็ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตรของรัฐบาลอย่างมาก บริษัทที่อยากได้กำไรมากๆ จึงลงทุนในตราสารเหล่านี้ ทั้งๆที่รู้ว่ามีความเสี่ยงจากการลงทุนมากก็จำเป็นต้องทำ เพราะถ้าไม่ลงทุนแต่บริษัทอื่นลงทุนแล้วได้ผลตอบแทนดีกว่าจะทำให้สู้คู่แข่งไม่ได้

เป็นสิ่งที่น่าสงสัยถึงจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทเลแมนบราเดอร์ว่ามีมากน้อยเพียงใด ถ้ายังจำกันได้ ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2540 ขณะนั้นไทยมีปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถาบันทางการเงินจนต้องลอยตัวค่าเงินบาท แบงค์และบริษัทเงินทุนหลายรายต่างล้มละลาย รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ขึ้นมาเพื่อจัดการกับหนี้เสียที่เกิดขึ้นในสถาบันการเงินเหล่านี้ ปรส.ได้เลือกบริษัทเลแมนบราเดอร์ เป็นที่ปรึกษาในการดำเนินงานขององค์กร

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือบริษัทเลแมนบราเดอร์ได้เสนอให้ปรส.ทำการนำทรัพย์สินต่างๆมาประมูลขายเป็นล๊อตใหญ่ จากนั้นบริษัทได้นำบริษัทลูกของตนเองมาประมูลทรัพย์สินของปรส.และชนะการประมูลไปหลายรายการ ซึ่งจริงๆแล้วการทำหน้าที่ที่ปรึกษานั้นได้รับทราบข้อมูลภายในของหนี้เสียต่างๆที่เกิดขึ้นว่าแต่ละแห่งเป็นอย่างไร การเข้าประมูลทรัพย์สินที่บริษัทตนเองเป็นที่ปรึกษานั้นไม่สมควรเป็นอย่างยิ่ง ถ้าบริษัทมีจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจเพียงพอ

ถึงทุกวันนี้ด้วยการดำเนินธุรกิจที่ต่ำกว่ามาตรฐานและความโลภทำให้บริษัทเลแมนบราเดอร์ต้องล้มละลาย ถ้าตามหลักพุทธศาสนาคงเรียกว่าเป็นกฏแห่งกรรม กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นคืนสนอง
Miracle Happens Everyday !
"ปาฎิหารย์คือการเดินบนผืนดินและมีความสุขในทุกย่างก้าว" :)
โพสต์โพสต์