ตลาดหุ้นปี 51 โอกาสบนความเสี่ยง
Posted on Monday, January 21, 2008
ในงานสัมมนาทิศทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นปี 51 : โอกาสหรือความเสี่ยง ของงานมหกรรมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ 2551 ปีที่ 6 ผู้เชี่ยวชาญจากสำนักต่าง ๆ เห็นตรงกันว่า ตลาดหุ้นไทยและตลาดหุ้นทั่วโลกปีนี้ยังคงได้รับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจสหรัฐฯชะลอตัว แต่ไทยควรอาศัยจังหวะเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ดึงเม็ดเงินเข้ามาในไทย
เมื่อโลกหมุนกลับข้างก้าวเข้าสู่ยุค แฮมเบอร์เกอร์ Crisis ที่ต้องอาศัยเศรษฐกิจเอเชียพยุงชาติตะวันตก
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทหลักทรัพย์เอเซียพลัส กล่าวว่า ความเสียหายจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (Subprime) ได้สร้างความเสียหายมากกว่าที่คาดกันไว้เดิมว่าน่าจะรุนแรงที่สุดในปลายปี 2550 แต่กลับต่อเนื่องมาจนถึงปี 2551 และส่งผลกระทบไปยังตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น Hamburger Crisis ซึ่งตรงกันข้ามกับในปี 2540 ที่เปลี่ยนจากการที่ชาติตะวันตกต้องนำเงินเข้ามาอุดหนุนเศรษฐกิจของเอเชีย มาเป็นการอัดฉีดเงินจากญี่ปุ่นและตะวันออกกลางเข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินของสหรัฐฯแทน คาดกันว่าในปี 2551 นี้ เศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวได้ถึง 7-8% ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วอยู่ที่ไม่ถึง 2% และของสหรัฐฯน่าจะอยู่ที่ 1%
มูลค่าตลาด (Market Cap) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯเดิมมีสัดส่วน 44% ของตลาดหุ้นทั้งโลก แต่ ณ สิ้นปี 2550 สัดส่วนลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3 เช่นเดียวกับมูลค่าการซื้อขายที่ลดลงจสก 56% เหลือ 42% ขณะที่มูลค่าการระดมทุนของบริษัทที่เข้าจดทะเบียนใหม่ (IPO) สูงสุดของโลก 20 ตัว เดิมเคยกระจุกตัวอยู่ในสหรัฐฯ ถึง 8 ใน 20 แต่ในปี 2550 ก็กลับไม่มีหุ้น IPO ที่น่าสนใจเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ
แม้ว่าเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ในช่วงขาลง แต่เงินลงทุนจากทั่วโลกยังคงมีอยู่ และคอยมองหาการลงทุนที่ปลอดภัยและให้ผลตอบแทนสูง จึงนับเป็นโอกาสสำคัญของตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ภูมิภาคที่มีสัดส่วนผลผลิต 30% ของโลก มีส่วนขับเคลื่อนให้ GDP ของโลกเติบโต ประมาณครึ่งหนึ่ง ใช้พลังงานครึ่งหนึ่งของโลก เพื่อเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุด และยังมีเงินสดสำรองสูงถึง 75% ของทั้งโลก ที่จะดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ โดยในปีที่แล้วเงินลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกอยู่ที่ 3.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินที่ลงทุนในเอชีย (ไม่นับญี่ปุ่น) 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ผู้บริหารบล.เอเซียพลัสยังฝากถึงรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีนโยบายที่ถูกใจคนไทยและต่างชาติเพื่อที่จะดึงเงินมาลงทุนในประเทศได้ และต้องเป็นนโยบายที่รวดเร็วพูดแล้วทได้จริง มีการผลักดันอย่างมีประสิทธิภาพ
เงินไหลออกจากตลาดหุ้นไทยช่วงสั้นเพราะ Yen Carry Trade เชื่อยังมีโอกาสกลับมาในระยะยาว
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กล่าวว่า อยากจะมองว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะ ชะลอตัว มากกว่าคำว่า ถดถอย โดยการคาดการณ์การเติบโตของ GDP สหรัฐฯ จากสำนักต่าง ๆ เฉลี่ยปีนี้อยู่ที่ 0.8% ผลกระทบของการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีต่อยุโรปมากกว่าในเอเชีย ดังนั้น สกุลเงินต่าง ๆ ของเอเชียเชียจึงแข็งค่ามากกว่าเงินยุโรปเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่แนวโน้มของสินค้าโภคภัณฑ์และสินค้าเกษตรมีความเป็นไปได้ที่จะสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม สาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินจากนักลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นไทยในปีนี้น่าจะมาจากการที่กองทุนเพื่อการเก็งกำไร (Hedge Fund) ที่กู้เงินจากญี่ปุ่น (Yen Carry Trade) ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยถูกเพื่อไปลงทุน ครบกำหนดการชำระเงิน อีกทั้งค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นมากว่า 10% ภายในเวลาเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น ทำให้ต้องมีการขายหุ้นในตลาดหุ้นไทย ประกอบกับการดึงเงินส่วนหนึ่งกลับไปยังสหรัฐฯเพื่อเพิ่มทุนให้กับธนาคารและสถาบันการเงินของสหรัฐฯที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากวิกฤติ Subprime
เลขาธิการกบข. มองว่า การประชุมของคณะกรรมการนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯที่จะมีขึ้นในวันที่ 30 ม.ค. 51 มีความเป็นไปได้ที่จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% หรือ 0.75%
ปัญหา Subprime ระเบิดเวลาที่รอเวลาระเบิดครั้งใหญ่ในปีนี้
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ มองว่า ปัญหา Subprime ที่ทุกฝ่ายประเมินไว้ว่าน่าจะเริ่มดีขึ้นได้ในปีนี้ กลับปรากฏผลที่รุนแรงกว่าที่คิด วงเงินสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่รอการปะทุขึ้นในปีนี้ยังมีมูลค่าสูงถึง 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่กำไรของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะสถาบันการเงินชั้นนำต่าง ๆ ก็ลดลงอย่างมาก และมีความพยายามของทางการสหรัฐฯที่จะอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯในปีนี้น่าจะลดลงจาก 4.25% เหลือ 3.0-3.25% ในช่วงปลายปี ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันกับอัตราดอกเบี้ยของไทย ทำให้ไม่สามารถปรับขึ้นได้ในเร็ววัน และมีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อของไทยซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมัน จะสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร R/P 1 วัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตในช่วงปี 2546-2549 และอาจเป็นผลกดดันให้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องลดอัตราดอกเบี้ย R/P ของไทยลงตามไปด้วยก็เป็นได้
ปัญหา Suprime ไม่กินเวลานาน แต่อาจทำให้หลายฝ่ายเจ็บปวด
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต มองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ในอัตรา 4 - 4.5% โดยนับจากนี้ไปปัจจัยสำคัญที่จะเข้ามาเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจแทนการส่งออกคือ การลงทุน ที่รัฐบาลชุดใหม่จะต้องเร่งผลักดันหลังจากที่ปัญหาการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่ปกคลุมประเทศมานานถึง 2 ปี เริ่มคลี่คลายลงไปตามครรลองของหลักประชาธิปไตย ที่มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล และนับเป็นโจทย์สำคัญที่รัฐบาลจะต้องทำให้เศรษฐกิจของประเทศฟื้นให้ได้ พร้อมกันนี้ยังไม่เห็นด้วยกับคำพูดที่ว่า เศรษฐกิจไทยปีที่แล้วเผาหลอก ปีนี้เผาจริง โดยเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวในระดับที่พอใช้ได้ภายใต้ค่าครองชีพที่สูงขึ้นในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น
สำหรับการชะลอตัวของเศรษฐกิจของสหรัฐฯเป็นสิ่งที่จะต้องใช้เวลาในการปรับตัวอีกสักระยะ โดยมีความพยายามของทางการสหรัฐฯ ในการอัดฉีดสภาพคล่องเพื่อไม่ให้มูลค่าของสินทรัพย์ลดลงเร็วเกินไป แต่เชื่อว่าการชะลอตัวนี้จะใช้เวลาไม่นานและน่าจะไม่ถดถอยจนทำให้เศรษฐกิจของโลกต้องทรุดตาม เพราะเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีความยืนหยุ่นสูง เพียงแต่ว่าในช่วงเวลาของการปรับตัวนี้อาจทำให้หลายฝ่ายต้องเจ็บปวดอยู่มาก
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตยังเตือนให้จับตามองการปรับตัวของบรรษัทข้ามชาติหรือสถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศรวมทั้งไทยที่จะต้องมีการปลดพนักงงานในเดือนมีนาคม เมษายนน 2551 นี้ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติสภาพคล่องในครั้งนี้
http://www.moneychannel.co.th/Menu6/Tra ... fault.aspx
แฮมเบอร์เกอร์ Crisis คำพูดเท่ห์ๆ ของก้องเกียรติ
-
- Verified User
- โพสต์: 7514
- ผู้ติดตาม: 0