เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได้"
ผมกลับพบว่าผมทำงาน "ได้งานมากขึ้น" จากการเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายและ "การไม่ทำอะไร" เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกว่าในแต่ละวันผมมีเวลาเหลือเฟือ ผมป็นอิสระจาก "เส้นตาย" (Deadline) และหลุดไปจากการเป็น "ทาสของเวลา" แบบที่ไม่รู้ตัว
______________________
คอลัมน์ จับจิตด้วยใจ
โดย วิธาน ฐานะวุฑฒ์ [email protected]
ผมจำได้อย่างแม่นยำเลยว่าเมื่อประมาณเกือบสามสิบปีก่อน ในสมัยที่ผมยังเรียนชั้นมัธยมศึกษาและจะต้องแข่งขันกันเพื่อเตรียมตัวสอบเอ็นทรานซ์นั้น ชีวิตผม "ไม่เคยอยู่ว่าง" หรืออยู่ห่างจากหนังสือเลย
ในสมัยนั้นแม้แต่ในช่วงเวลาที่ต้องเดินทางไปโรงเรียน บนรถเมล์ในกรุงเทพมหานครที่ไม่ว่าจะแน่นแสนแน่นยังไง ผมจะมีแผนการสำรองไว้เรียบร้อยสามแผน ถ้ารถเมล์ไม่แน่นมากและมีที่นั่งผมจะเตรียมหนังสือไว้อ่านเล่มหนึ่ง ถ้ารถเมล์แน่นมากไม่มีที่นั่งแต่พอจะยังมีที่ยืนสบายๆ ผมจะเตรียมหนังสืออีกแบบหนึ่งที่ถือง่ายๆ ไว้อ่าน แต่ถ้ารถเมล์แน่นมากจนกระทั่งต้องเบียดเสียดกันมาก แผนขั้นสามของก็คือผมฉีกดิคชันนารีเล่มเก่าๆ เป็นแผ่นใส่กระเป๋าเสื้อเพื่อเอาไว้ท่องศัพท์ภาษาอังกฤษ เรียกได้ว่าตลอดเวลาทุกลมหายใจของผม "ไม่เคยปล่อยเวลาให้ว่าง" ไม่เคยปล่อยเวลาให้เปล่าประโยชน์ใดๆ เลย ต่างๆ เหล่านี้ทำให้ผมปวดท้องเป็นโรคกระเพาะตั้งแต่ยังไม่ทันสอบเอ็นทรานซ์
นิสัยแบบนี้ติดตัวมาตลอดชีวิตผม เพราะแม้จะเรียนจบมหาวิทยาลัยและมาทำงานแล้ว ผมก็จะกลายเป็นคนที่ไม่เคยปล่อยเวลาว่างให้เปล่าประโยชน์ "เดินเร็ว" "ขับรถเร็ว" "ตรวจคนไข้เร็ว" "ผ่าตัดเร็ว" และนำไปสู่นิสัยที่ "คอยไม่เป็น" เพราะมักจะคิดเสมอว่า "เวลามีค่า" ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วถ้าพิจารณาดูดีๆ ผมก็พบว่า "บางทีชีวิตผมก็มีเวลาเหลือเยอะแยะ" เหมือนกันนะแต่เมื่อ "มีเวลาว่างเหลือเยอะ" เข้าจริงๆ ผมก็กลับหงุดหงิดและพยายาม "หาอะไรมาทำ" เพื่อ "ฆ่าเวลา" ไม่ให้ตัวเองว่าง
ทรรศนะในเรื่องเวลาแบบนี้ของผมสอดคล้องได้ดีเป็นอย่างยิ่งกับ "วัฒนธรรมการแข่งขัน" ของทุนนิยม ที่มอง "เวลาเป็นเงินเป็นทอง" คนที่เจ๋งสุดก็คือคนที่ใช้เวลาน้อยที่สุดในการทำเงินให้ได้มากที่สุด ผมเคยอ่านหนังสือเรื่องการบริหารเวลาหลายเล่ม เวลาอ่านหนังสือเหล่านั้นแล้วจำได้ว่า รู้สึกเหมือนกับหายใจไม่ทัน อ่านแล้วรู้สึกลนลาน อ่านแล้วรู้สึกถึงความเร่งรีบเพราะดูเหมือนกับว่าแม้แต่ "จำนวนของเวลา" ในขณะที่เรากำลังอ่านหนังสือเล่มนั้นอยู่มันก็มีค่าเหมือนกัน
ในช่วงนั้นผมพบว่า ตัวผมเองมีอาการเข้าใกล้โรคของคนสมัยใหม่โรคหนึ่งที่เรียกว่า "Hurry Sickness" หรือเข้าใกล้ "โรคบ้างาน" เข้าเต็มทีคือรู้สึกเหมือนกับว่า "ทำงานไม่ทัน" ตรวจคนไข้เท่าไรก็ไม่หมดสักที ผ่าตัดเท่าไรก็ไม่หมดเสียที บางทีอยากจะให้ในแต่ละวันมีเวลาสักสี่สิบแปดชั่วโมงแทนที่จะมีแค่ยี่สิบสี่
ห้าหกปีที่ผ่านมา การหักเหของชีวิตทำให้ผมได้เข้าใจในเรื่องของ "สภาวะแห่งความเป็นปกติ" แบบต่างๆ ที่ผมได้ทยอยเขียนถึงมาในคอลัมน์นี้ ทำให้ผมได้มองเห็นว่าดูเหมือนว่าชีวิตที่ผ่านมาของผมที่เคยคิดว่าเจ๋งแล้วนั้น ดูจะ "ไม่ค่อยเป็นปกติ" สักเท่าไรนัก
เป็นชีวิตที่ไม่มีการผ่อนคลายเอาเสียเลย เป็นชีวิตที่ใส่เกียร์ห้าตลอดเวลา
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
โพสต์ที่ 1
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
โพสต์ที่ 2
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเดินทางโดยเครื่องบินบ่อยมาก อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่าแม้ว่าการเดินทางโดยเครื่องบินจะทำให้ประหยัดเวลาได้มากก็จริง แต่เราก็จะพบว่าการเดินทางโดยเครื่องบินก็ยังมี "ช่องว่างของเวลา" อยู่มากนับตั้งแต่การต้องเดินทางไปถึงสนามบินก่อนเวลา เมื่อเช็คที่นั่งแล้วก็จะต้อง "รอเพื่อขึ้นเครื่อง" เมื่อขึ้นเครื่องไปแล้ว "ก็จะต้องนั่งอยู่บนเครื่อง" เป็นเวลานานไม่น้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงเต็มๆ เมื่อลงจากเครื่องบินแล้วก็จะต้องใช้เวลาในรถแท็กซี่อีกอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงกว่าจะถึงที่พัก รวมๆ แล้วในการเดินทางโดยเครื่องบินแต่ละครั้งจะทำให้ "เกิดเวลาว่าง" ขึ้นจำนวนมากมาย นับเป็นจำนวนหลายๆ ชั่วโมงเลยทีเดียว
ผมมองเห็นผู้โดยสารส่วนใหญ่ 70-80% และอาจจะถึง 90% กระมังที่หากเป็นผู้โดยสารที่ยังอยู่ในวัยทำงานก็จะ "ไม่ยอมปล่อยเวลาให้ว่าง" หลายคนนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ หลายคนนั่งอ่านหนังสืออื่นๆ และแม้แต่หลายๆ คนเอางานมานั่งทำ ทั้งในระหว่างที่นั่งรอและในระหว่างที่นั่งบนเครื่องบิน เรื่องราวแบบนี้กลายมาเป็นวัฒนธรรมปกติไปแล้วทั้งๆ ที่เมื่อเกือบสามสิบปีก่อนผมเหมือนเป็นตัวประหลาดที่อ่านหนังสือบนรถเมล์
ในครั้งหนึ่งผมรู้สึกเหมือนกับว่าผมกำลังมองเห็นตัวผมเองเมื่อประมาณเกือบสามสิบปีก่อน ที่ชีวิตของผมช่างเหมือนกับบทความที่ไม่มีช่องว่าง มันดูอึดอัดยัดเยียดเบียดเสียดและบางครั้งทำให้ทุรนทุรายไม่ผ่อนคลาย
การกลับมาสู่ "สภาวะแห่งความเป็นปกติ" ด้วยความผ่อนคลายได้ช่วยทำให้ตัวผมมองเห็น "ช่องว่างระหว่างบรรทัด" ในชีวิตเหล่านี้ ผมได้เรียนรู้ "ศิลปะของการไม่ทำอะไรเลย" (The Art of Doing Nothing) ได้เยอะมากในช่วงของการเดินทางแบบนี้
เดี๋ยวนี้ผมเตรียมเพียงกระดาษเปล่าๆ และปากกาไว้แทนที่จะเตรียมหนังสือต่างๆ ไว้อ่านหรือบางทีก็ไม่ได้เตรียมอะไรเลย การนั่งเฝ้าดูและสังเกตตัวเองไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ เฝ้าดูความคิด เฝ้าดูอารมณ์และเฝ้าดูประสาทสัมผัสต่างๆ ทำให้เราสามารถดำรงตัวอยู่ในความเป็นปัจจุบันขณะได้อย่างเต็มๆ "กระดาษเปล่าๆ" นั้นเตรียมไว้เพียงเผื่อว่าจะต้องบันทึก "ความคิดดีๆ" ที่ "ผลุดโผล่" ออกมาในระหว่างที่ผมกำลังผ่อนคลายและอยู่กับความเป็นปกติและความเป็นปัจจุบันในแต่ละขณะนั้นๆ เท่านั้น
ในระยะสี่ห้าปีหลังที่มีงานของการเป็นนักเขียนเพิ่มเข้ามานั้น ทำให้ผมต้องมีงานอ่านงานเขียนเพิ่มเข้ามาเป็นจำนวนมาก การเขียนหนังสือแต่ละเล่มโดยเฉลี่ยทั่วไปผมจะต้องอ่านหนังสือต่างประเทศไม่น้อยกว่ายี่สิบถึงสามสิบเล่ม หรือบางเล่มที่เขียนหนาหน่อยผมต้องอ่านเป็นร้อยเล่มขึ้นไป <b>ผมกลับพบว่าผมทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น "ได้งานมากขึ้น" จากการเรียนรู้ที่จะผ่อนคลายและ "การไม่ทำอะไร" เดี๋ยวนี้ผมรู้สึกว่าในแต่ละวันผมมีเวลาเหลือเฟือ ผมรู้สึกว่าผมสามารถเป็นอิสระไปจาก "เส้นตาย" (Deadline) ต่างๆ และหลุดไปจากการเป็น "ทาสของเวลา" แบบที่ไม่รู้ตัว นอกจากนี้โรคกระเพาะอาหารอักเสบของผมหายไปโดยที่ไม่ต้องกินยาอะไรเลยมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว
เหมือนเช่นเคยนะครับ ที่เขียนเล่ามานี้ไม่ได้มีเจตนาเพื่อจะโอ้อวดใดๆ ไม่มีเจตนาที่จะชี้ว่าเรื่องใดผิดเรื่องใดถูก เพียงอยากจะเล่าถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ ในชีวิตผมเท่านั้น ความเข้าใจผิดเรื่องเวลาแบบที่ผมเคยประสบมานั้นทำให้ผมต้องอยู่ในสภาวะที่ร้อนรนเร่งรีบจับจด
เพียงแค่ความเข้าใจเรื่องของความผ่อนคลายและอ่อนโยนต่อชีวิต ก็อาจจะสามารถช่วยพลิกฟื้นให้เราสามารถทำงานได้งานมากขึ้นกว่าเดิม งานดีกว่าเดิมและโดยที่ไม่จำเป็นต้องเคร่งเครียด "บ้างาน" แล้วไปทำร้ายจิตใจและร่างกายของเราใดๆ เลยได้อย่างน่าอัศจรรย์ยิ่ง
___________________
มติชน วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10319
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
โพสต์ที่ 3
เพราะอะไรถึงต้องช้าลง
วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10368
คอลัมน์ จับจิตด้วยใจ
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ [email protected]
คํ าถามหนึ่งที่เกิดขึ้นเสมอๆ เมื่อ อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู ผมหรือคนอื่นๆ ในทีมกระบวนกรที่เชียงรายไปทำเวิร์กช็อปก็คือคำถามที่ว่า "เพราะอะไรถึงต้องช้า?" เพราะกิจกรรมทุกอย่างที่พวกเราทำเป็นกิจกรรมที่ช้าๆ สบายๆ ผ่อนคลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันแรกๆ ของการทำเวิร์กช็อป ไม่ว่าจะเป็นการหายใจให้ช้าลง การพูดให้ช้าลง ฟังกันให้มากขึ้นและอื่นๆ
คือว่าถ้าจะตอบคำถามนี้แบบกำปั้นทุบดินก็คงจะตอบได้ว่า "ก็เพราะว่ามันเร็วเกินไปนะสิ" ทุกอย่างในสังคมโลกาภิวัตน์ทุกวันนี้มันเร็วเกินไปเสียจนพวกเราส่วนใหญ่เคยชินกับความเร็ว (ที่ผิดปกติ) เหล่านั้น
พวกเราพบว่าเรื่อง "ความช้า" นี้เป็นเรื่องหนึ่งในหลายๆ เรื่องที่ผู้คนทั่วไปในสังคมยุคปัจจุบันไม่คุ้นเคย และมักจะมอง "ความช้า" นี้ไปเข้ากันได้กับความ "ไร้ประสิทธิภาพ" หรือมองความช้าเป็นเรื่องลบ
แน่นอนว่าการเขียนบทความชิ้นนี้ของผมคงจะไม่สามารถอธิบายเรื่องราวได้ทั้งหมด เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวที่ไม่สามารถบอกเล่าได้ (Tacit) เหมือนกับเวลาที่ให้เราลองอธิบายวิธีการขี่จักรยานก็จะไม่สามารถอธิบายได้ทั้งหมด หรืออธิบายแล้วคนฟังก็ยังคงไม่สามารถขี่จักรยานได้เองตราบเท่าที่ยังไม่ได้ลองขี่เอง
ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนมากรู้สึกหงุดหงิดในช่วงแรกๆ ของกิจกรรม และดูเหมือนว่าพวกเราที่เป็นกระบวนกรเองก็ไม่ได้พยายามอธิบายอะไรมากมายในช่วงต้นๆ ของเวิร์กช็อปนั้นๆ ว่า "ทำไมถึงต้องช้า" แต่ก็พยายามที่จะเชื้อเชิญให้ผู้เข้าร่วมลองใส่ใจกับกิจกรรมที่ดำเนินไปทีละขั้นทีละตอนมากกว่า เหมือนกับว่าคุณก็ลองขี่จักรยานดูด้วยตัวเองสิ ถึงจะเข้าใจว่าขี่อย่างไรให้เป็น ให้ใครต่อใครอธิบายมากมายก็ไม่มีทางขี่ได้หรอก อะไรประมาณนั้น ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็จะค่อยๆ สามารถเข้าใจได้เองเมื่อเวลาผ่านไประยะเวลาหนึ่งเหมือนกับว่าได้ลองขี่จักรยานด้วยตัวเองแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในบทความชิ้นนี้ ผมอยากจะเขียนถึง "ประสิทธิภาพของความช้า" "ด้านบวกของความช้า" หรืออาจจะประมาณว่า "ประโยชน์ของความช้า"
เมื่อหลายปีก่อน อ.วิศิษฐ์ เคยบอกไว้ในวงสุนทรียสนทนาครั้งหนึ่งว่า ในช่วงเวลาที่เราจะต้องรีบเร่งทำอะไรให้เสร็จทันเวลาและรู้สึกร้อนรน ให้ลองทำอะไรต่างๆ ให้ช้าลงดูสิ แล้วคุณก็จะพบกับความมหัศจรรย์เมื่อพบว่า งานของคุณเสร็จเร็วขึ้นเมื่อลองทำงานช้าลงในสภาวะรีบเร่งและร้อนรนแบบนั้น
ในสังคมบริโภคนิยม "ความช้า" ถูกนิยามให้คู่กับ "ความไร้ประสิทธิภาพ" ในกระบวนการคิดแบบนิวตันหรือวิทยาศาสตร์เก่านั้น เราถูกทำให้เชื่อเฉพาะกับสิ่งที่ปรากฏเป็นวัตถุที่จับต้องได้ และเราก็ถูกทำให้เชื่อตามหลักกลศาสตร์ว่า ถ้าต้องการให้วัตถุเคลื่อนที่เร็วมากขึ้นเท่าไร เราก็จะต้องออกแรงให้มากขึ้นเท่านั้น (F=ma)
"ตรรกะ" แบบนี้ย่อมมองไม่เห็นประโยชน์ของความช้า
"ตรรกะ" แบบนี้ย่อมนำไปสู่การพัฒนาด้านความเร็ว ซึ่งในที่สุดก็จะเชื่อว่าเร็วที่สุดดีที่สุด แต่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่อย่างควอนตัมพิสูจน์ให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า กลศาสตร์แบบนิวตันนั้นไม่สามารถใช้ได้กับทุกสิ่ง ไม่สามารถใช้ได้กับสิ่งเล็กๆ อย่างอะตอม ไม่สามารถใช้ได้กับสิ่งใหญ่ๆ อย่างเช่นระบบดวงดาว กาแล็กซี่และจักรวาล
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
โพสต์ที่ 4
เรื่องราวหนึ่งที่เป็นข้อมูลหรือองค์ความรู้สำคัญที่อาจจะเป็นภาพสะท้อนให้เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนก็คือจะเป็นประโยชน์มากในเรื่องของความช้าก็คือ "ความช้าลงของคลื่นสมอง"
งานวิจัยทางสมองพบว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่มีคลื่นสมองเป็นแบบเบต้าเวฟ ซึ่งเป็นคลื่นสมองที่มีความถี่แบบ "เร็วที่สุด" ในบรรดาคลื่นสมองสี่ชนิดที่มนุษย์มี (ประมาณตั้งแต่ 14 Hz ขึ้นไปและอาจจะเร็วไปได้ถึง 40 Hz) และน่าจะเชื่อได้ว่าคนไทยยุคใหม่ยุคปัจจุบันก็คงจะมีคลื่นสมองที่ "ไม่ช้า" ไปกว่าคนอเมริกันเท่าไรนัก พวกเราคิดเร็ว พวกเราทำเร็ว และพวกเรามักจะตัดสินอะไรๆ "เร็วเกินไป"
การที่มีคลื่นสมองแบบเบต้าไม่ใช่เป็นเรื่องไม่ดีเสียทีเดียวหรอกนะเพราะคลื่นเบต้าเป็นคลื่นสมองที่มีเฉพาะในมนุษย์ที่เป็นเรื่องของความคิด แต่ปัญหาคือความที่ "เร็วเกินไป" แบบเบต้าอย่างเดียวนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ดีนัก เพราะทำให้ไม่มีโอกาสได้เข้าใจความรู้หรือข้อมูลที่อยู่ภายในจิตใจของเราเอง เราควรจะมี "คลื่นเบต้า" ที่ช้าลงบ้างและช้าลงจนกระทั่งสามารถกลายเป็นคลื่นสมองแบบอื่นในการที่จะนำพาตัวเองเข้าไปสู่ "ความรู้ที่แท้จริง" หรือ "ข้อมูลที่มากมายมหาศาล" ทั้งของตัวเราเองและทั้งของจักรวาลนั้นจะต้องอาศัย "ความช้าของคลื่นสมอง" ด้วยเพราะข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นถูกเก็บไปไว้ในระดับของ "จิตใต้สำนึก" (แสดงออกด้วยคลื่นสมองแบบเธต้าที่ความถี่ประมาณ 4-7 Hz) และในระดับของ "จิตไร้สำนึก" (แสดงออกด้วยคลื่นสมองแบบเดลต้าที่มีความถี่ประมาณ 0.5-4 Hz)
การช้าลงด้วยความผ่อนคลาย รวมไปถึงการใช้จินตนาการต่างๆ นั้นเป็นการสร้างคลื่นสมองที่เรียกว่า "อัลฟ่าเวฟ" ที่มีความถี่ประมาณที่ 7-14 Hz ซึ่งเมื่อเราได้ลองลำดับ "ความช้าเร็ว" ของคลื่นสมองแล้วเราก็จะเห็นได้เลยว่า เราจำเป็นที่จะต้องสร้างความช้าให้กับคลื่นสมองให้ลงมาที่ระดับของอัลฟ่าเวฟให้ได้ก่อน เราถึงจะสามารถทำให้คลื่นสมองช้าลงไปถึงระดับของเธต้าและเดลต้าได้
คลื่นสมองแบบ "อัลฟ่า" จึงเสมือนเป็น "ประตู" เข้าไปสู่ "แหล่งข้อมูลมหาศาล" ที่อยู่ภายในสมองของเราและรวมไปถึงสมองของคนอื่นด้วยในกรณีของเดลต้า
นอกจากการใช้จินตนาการในเรื่องของภาพที่เห็น เสียงที่ได้ยิน กลิ่น รส และสัมผัสทางกายแล้ว ในงานวิจัยของแอนนา ไวซ์ เธอแนะนำว่า พวกเรายังสามารถสร้างคลื่นสมองแบบ "อัลฟ่า" ได้ด้วยการหลับตาสบายๆ กลอกตาขึ้นบนและผ่อนคลายกล้ามเนื้อลิ้น
นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของโลกที่ "คิดอะไรดีๆ ได้" ไม่ว่าจะเป็น อะคิมิดิส เอดิสัน นิวตัน ไอน์สไตน์ ล้วนแล้วแต่คิดออกมาได้ในจังหวะที่คลื่นสมองมีองค์ประกอบของความช้าด้วยทั้งสิ้น คือจะต้องเป็นจังหวะที่มีคลื่นสมอง "ครบทั้งสี่คลื่น" คือ เบต้า อัลฟ่า เธต้า และเดลต้า
คุณชวัลนุช ผู้เข้าร่วมกิจกรรมคนหนึ่งจากสงขลาได้เคยสะท้อนไว้ว่า เธอรู้สึกว่ากิจกรรมที่พวกเราทำในวันแรกนั้นดูจะไหลช้าๆ เอื่อยๆ เหมือนกับแม่น้ำกกตรงส่วนที่อยู่ติดกับรีสอร์ทที่จัดเวิร์กช็อปนั้น แต่เป็นการไหลเอื่อยๆ ที่ทรงพลังมากเหมือนกับพลังของแม่น้ำกกเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอทำความเข้าใจอีกครั้งนะครับว่า "ความช้า" แบบที่เล่ามาในบทความนี้ "ไม่ใช่" เป็นความช้าแบบอู้งาน ความช้าแบบไม่มั่นใจหรือความช้าแบบไร้ประสิทธิภาพ
เรื่องแบบนี้ผลของงานหรือประสิทธิภาพของงานที่ออกมาก็คงพอจะเป็นตัวชี้วัดได้เองกระมังว่าบางทีการช้าลงบ้างก็อาจจะสามารถทำให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นมาได้เช่นเดียวกันถ้าเราสามารถเข้าใจ "ประสิทธิภาพของความช้าลง" เช่นเดียวกันกับที่สมองของเราได้เข้าใจมาก่อนแล้ว
-
- Verified User
- โพสต์: 5786
- ผู้ติดตาม: 0
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
โพสต์ที่ 6
ขอบคุณครับป๋า ... :D
"Winners never quit, and quitters never win."
-
- Verified User
- โพสต์: 857
- ผู้ติดตาม: 0
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
โพสต์ที่ 7
เยี่ยมครับ แนวความคิดแบบนี้ผมก็เพิ่งเริ่มตระหนักเมื่ออายุมากขึ้น ชีวิตสมัยใหม่เรามักจะอยู่กับการ optimize ชีวิตตลอดเวลา คนเก่งมีประสิทธิภาพคือสามารถทำเรื่องหลาย ๆ อย่างเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว ใช้เวลาในชีวิตกับการทำสิ่งต่าง ๆ ตลอดเวลา ที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ยิ่งทำอะไรมากขึ้นก็ยิ่งรู้สึกว่ามีอะไรรอให้ทำตลอดเวลา จนบางทีก็ต้องหวนกลับมาคิดว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่เราทำมันเป็นสิ่งที่จำเป็นและคุ้มค่ากับเวลาในชีวิตช่วงสั้น ๆ ไม่กี่สิบปีแน่หรือเปล่า
แนวคิดของการเฝ้าดูและสังเกตสิ่งต่าง ๆ ของตัวเองที่จริงทางพุทธก็คือ "การตื่น" อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่ตื่นอยู่เสมอ บางทีบางที่เรามีอะไรวิ่งอยู่ในหัวตลอดเวลาทำให้เราไม่เคยสังเกตสิ่งรอบข้าง จมอยู่ในห้วงความคิดความฝันตลอดเวลา นาน ๆ เราก็ตื่นขึ้นมามองสิ่งรอบ ๆ ตัวซักที ในขณะที่ทางพุทธจะเน้นให้เรารู้สึกตัวตื่นและดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันมากกว่า
แนวคิดของการเฝ้าดูและสังเกตสิ่งต่าง ๆ ของตัวเองที่จริงทางพุทธก็คือ "การตื่น" อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ที่ตื่นอยู่เสมอ บางทีบางที่เรามีอะไรวิ่งอยู่ในหัวตลอดเวลาทำให้เราไม่เคยสังเกตสิ่งรอบข้าง จมอยู่ในห้วงความคิดความฝันตลอดเวลา นาน ๆ เราก็ตื่นขึ้นมามองสิ่งรอบ ๆ ตัวซักที ในขณะที่ทางพุทธจะเน้นให้เรารู้สึกตัวตื่นและดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันมากกว่า
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
โพสต์ที่ 8
การสื่อสารกับเซลล์ในร่างกายของคุณ
คอลัมน์ จับจิตด้วยใจ
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ [email protected]
"We have been all the way to the moon and back, but have trouble crossing the street to meet the new neighbor." His Holiness The Dalai Lama
ผมได้เขียนถึงความสำคัญของการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์มาหลายตอนมากแล้วในคอลัมน์นี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญในเรื่องของการฟังกันอย่างลึกซึ้งรวมไปถึงความสำคัญของสุนทรียสนทนาซึ่งจะเป็นกระบวนการที่สำคัญมากในการที่จะทำให้เกิดการสื่อสารที่ดีขึ้นมาได้ ในบทความชิ้นนี้ผมอยากจะเขียนลงลึกไปถึงความสำคัญของการสื่อสารภายในร่างกายของเราเอง การสื่อสารระหว่างเรากับเซลล์ต่างๆ ของเรา
เมื่อหลายปีก่อน ผมเคยสอนให้คนไข้พูดคุยกับแผลเป็นของตัวเอง บอกเขาว่า คุณเคยเลี้ยงสุนัขหรือแมวมั้ย ให้ลองพูดคุยกับแผลเป็นของคุณเหมือนกับที่คุณพูดคุยกับสุนัขหรือแมวของคุณ ให้รู้สึกถึงความรักความหวังดีกับแผลเป็นของคุณเหมือนกับที่คุณมีกับสุนัขหรือแมวของคุณ คนไข้ส่วนใหญ่จะมองหน้าผมด้วยความประหลาดใจ และในใจก็คงจะนึกว่า "ผมเพี้ยนไปแล้ว หมออะไรให้คนไข้พูดคุยกับแผลเป็น"
ในบทความชิ้นก่อนๆ ก็ยังมีเรื่องราวที่ผมเขียนถึง "โฮโลแกรม" เขียนถึง การเป็นส่วนเสี้ยวแบบ "กะหล่ำดอก" ซึ่งจะเป็นความหมายที่ให้เข้าใจถึง "ความเป็นองค์รวม" ในความหมายที่ "วิทยาศาสตร์ใหม่" ได้พูดถึงไว้ในขณะที่วิทยาศาสตร์แบบกลไกของนิวตันไม่สามารถอธิบายเรื่องราวความเป็นจริงแบบนี้ได้
ความเข้าใจเรื่องส่วนเสี้ยวและองค์รวมนี้แหละ เมื่อรวมกับความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความสำคัญของการสื่อสารระหว่างกันในรูปแบบของพลังงานระดับลึกที่ซ่อนเร้นอยู่ (tacit) ก็จะทำให้เราพอจะเข้าใจได้ว่า เราสามารถสื่อสารกับเซลล์ต่างๆ ของร่างกายของเราได้เพราะแท้ที่จริงแล้วในระบบร่างกายของมนุษย์เรานั้น เซลล์ทั้ง 75 ล้านล้านเซลล์นั้นมีการสื่อสารระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา ไม่จำเพาะแต่เฉพาะเซลล์ของสมองเท่านั้นที่จะเป็นตัวสื่อสารให้กับเซลล์ต่างๆ ของร่างกายทั้งหมด เซลล์ตับกับเซลล์และยิ่งเมื่อเราได้เข้าใจเรื่องของทฤษฎีเซลล์แบบใหม่ของบรู๊ซ ลิปตัน (www.brucelipton.com) ด้วยแล้ว เราก็จะยิ่งไม่สงสัยเลยว่าทำไมเซลล์ต่างๆ ถึงสามารถสื่อสารถึงกันและกันได้มากมายและรวดเร็วขนาดนั้น
อย่างสั้นที่สุดที่ได้จากงานของบรู๊ซ ลิปตัน คือ ในวิทยาศาสตร์การแพทย์แบบเก่าเรามักจะนึกถึงโมเดลของการสื่อสารระหว่างเซลล์เฉพาะที่อยู่ในรูปแบบของปฏิกิริยาทางชีวเคมีเท่านั้น ซึ่งการสื่อสารแบบนี้มักจะเป็นการสื่อสารแบบเส้นตรงคือหมายความว่า จากเซลล์ที่หนึ่งไปเซลล์ที่สิบจะต้องอาศัยขั้นตอนจากหนึ่งไปสองไปสามไปสี่...จึงจะค่อยไปถึงเซลล์ที่สิบได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นเซลล์ที่ต่างแผนกกันหรือดูเหมือนจะไม่มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกัน ตัวอย่างเช่นเซลล์หัวแม่เท้ากับเซลล์ของตับ ในแนวคิดแบบเก่านี้ก็จะไม่ได้คิดว่ามีหรือให้ความสำคัญใดๆ ต่อการสื่อสารต่างแผนกแบบนี้
แต่ในวิทยาศาสตร์การแพทย์แบบใหม่ที่เข้าใจเรื่องการทำงานของเซลล์ที่ไม่ได้ใช้เฉพาะแต่เพียงปฏิกิริยาทางชีวเคมีเท่านั้น แต่การสื่อสารระหว่างเซลล์จะเป็นเรื่องของ "สนามพลังแบบควอนตัม" ด้วย ลิปตันบอกว่า ที่ผนังของเซลล์จะมีโครงสร้างที่ทำงานเหมือนกับเสาอากาศที่สามารถรับคลื่นได้ในรูปแบบของสนามพลัง ซึ่งหมายความว่าเซลล์สามารถสื่อสารถึงกันเป็นแบบเชิงซ้อน ซึ่งทำให้เครือข่ายการสื่อสารของเซลล์เป็นเครือข่ายที่ซับซ้อนมากกว่าเครือข่ายของโทรศัพท์มือถือหลายล้านเท่าเสียอีก การสื่อสารจากเซลล์ที่หนึ่งไม่จำเป็นต้องผ่านไปเซลล์ที่สองที่สามที่สี่จนไปถึงเซลล์ที่สิบ แต่เซลล์ที่หนึ่งจะสามารถสื่อสารโดยตรงได้กับเซลล์ที่สิบเลย และยังสามารถสื่อสารกับเซลล์อื่นๆ ทุกๆ เซลล์ในร่างกายได้พร้อมๆ กันไปอีกด้วย
ในสังคมปัจจุบันแม้ว่าเราจะมีเทคโนโลยีต่างๆ มากมายในการสื่อสารที่ทำให้เราสามารถสื่อสารพูดคุยกันข้ามทวีปได้ทุกหนทุกแห่งที่อยู่ในโลกใบนี้ รวมไปถึงเรายังมีเทคโนโลยีที่สามารถสื่อสารออกไปนอกโลก ตัวอย่างเช่นการสื่อสารกับนักบินอวกาศที่โคจรอยู่ในอวกาศได้อีกด้วย แต่ในความเป็นจริงเราก็จะพบว่าทุกวันนี้คนในสังคมเกิดสภาวะที่เรียกว่า "การสื่อสารล้มเหลว" เพราะแม้เราจะคุยกันแต่เรามักจะไม่เข้าใจกัน เรามักจะขัดแย้งกันจนทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย กลายเป็นว่าเทคโนโลยีไม่ว่าจะทันสมัยแค่ไหนก็ตาม ไม่ได้ช่วยให้มนุษย์ทำความเข้าใจกันได้ดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นเลย เรายังทะเลาะกัน เรายังไม่เข้าใจกันแม้แต่ในหน่วยเล็กๆ อย่างครอบครัว โดยที่ยังไม่ต้องไปพูดถึงระดับสังคมใหญ่เช่นสังคมประเทศหรือสังคมโลก
"การสื่อสารล้มเหลว" ในระดับของสังคมนี้ เมื่อมองโดยอาศัยทฤษฎีส่วนเสี้ยวหรือความเป็นองค์รวมแล้ว ก็พอจะทำให้เรามองเห็นได้ว่าเป็นไปได้หรือไม่ว่า "การสื่อสารล้มเหลว" อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับเฉพาะในระดับของสังคมเท่านั้น แต่เกิดขึ้นใน "ระดับของร่างกายของมนุษย์" ด้วย และนี่หรือเปล่าที่อาจจะเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งของโรคมะเร็งที่นับวันเราก็จะพบผู้ป่วยมะเร็งมากขึ้น
นักวิทยาศาสตร์พบว่า เซลล์มะเร็งก็คือเซลล์ที่ "ไม่สามารถสื่อสาร" กับเซลล์อื่นๆ ได้ มันจึงแบ่งตัวเอาแบ่งตัวเอา สูบกินอาหารและทรัพยากรต่างๆ ที่อยู่ในบริเวณนั้นจนเบียดบังเซลล์ปกติ ใช่ครับ เซลล์มะเร็งก็คือเซลล์ที่ตกอยู่ใน "สภาวะการสื่อสารล้มเหลว"
แน่นอนว่า สมมติฐานเรื่องสาเหตุของมะเร็งอาจจะมีได้หลายอย่าง รวมไปถึงอาหารการกินและสภาพแวดล้อมที่เป็นมลภาวะต่างๆ ย่อมจะส่งผลถึงการก่อให้เกิดเซลล์มะเร็งได้ แต่ถ้าสมมติฐานเรื่อง "การสื่อสารที่ล้มเหลว" นี้เป็นจริงอยู่บ้างไม่ว่าจะมากน้อยสักเพียงไร การปรับแต่งหรือการเรียนรู้ในเรื่องกระบวนการสื่อสารระหว่างกันของเราก็น่าจะสามารถช่วยทำให้อัตราการเกิดโรคมะเร็งลดน้อยลงได้หรือไม่?
ในหนังสือที่ชื่อ Power Healing ที่เขียนขึ้นโดยคุณหมอชิกางชาได้ยกตัวอย่างวิธีพูดคุยกับตับในกรณีของคนไข้ที่เป็นมะเร็งตับว่า "ผมรักตับของผม เซลล์ของตับกำลังมีการสั่นสะเทือน จงทำตับให้สะอาด จงเพิ่มพลังความต้านทานในตัวคุณ ตับที่มีความสุข ตับที่สมบูรณ์ ผมรักตับของผม จงช่วยปรับพลังงานภายนอกและภายในของคุณให้สมดุล โปรดให้ตับที่สมบูรณ์กับผมเพื่อสุขภาพที่ดีของผม เซลล์ตับที่สมบูรณ์ เซลล์ตับที่แสนชาญฉลาด เซลล์ตับที่สะอาดหมดจด โปรดให้ความรักความอ่อนโยนและเมตตากับเซลล์ตับของผมด้วย ผมรักตับของผม ผมรักตับของผม ผมรักตับของผม ขอบคุณ ขอบคุณและขอบคุณ" (ให้ซ้ำในวลีที่ต้องการได้ )
น่าประหลาดใจมากที่ศาสตร์โบราณต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโยคะ ชี่กงไท้เก็ก ล้วนแล้วแต่มีเรื่องราวที่พูดถึง "การสื่อสารกับเซลล์" ต่างเหล่านี้อยู่แล้ว เช่นในไท้เก็ก อ.ฌาณเดช พ่วงจีน จะสอนให้ลูกศิษย์กล่าวคำขอบคุณเซลล์ทั้งหมดของร่างกายและโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอวัยวะทั้งห้าคือตับไตหัวใจปอดและม้ามทุกครั้งที่เสร็จสิ้นการรำมวยจีน
น่าสนใจมากนะครับว่า การสื่อสารที่มี่คุณภาพดีขึ้นแบบนี้จะสามารถลดช่องว่างและทำให้การสื่อสารของเซลล์ที่เป็นมะเร็งนั้นกลับมาสื่อสารกันอีกได้หรือไม่อย่างไร?? และที่สำคัญที่สุดก็คือผมอยากจะตั้งคำถามว่าทำไมพวกเราถึงไม่ลองสื่อสารกับเซลล์ต่างๆ ของเราก่อนที่เราจะป่วยกันล่ะ?
- Raphin Phraiwal
- Verified User
- โพสต์: 1342
- ผู้ติดตาม: 0
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
โพสต์ที่ 9
ขอบคุณครับ
ข้อคิดดีๆเยอะเลยครับ :D
ข้อคิดดีๆเยอะเลยครับ :D
รักในหลวงครับ
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
โพสต์ที่ 10
ร้านคุณลุงกับความผูกพันที่มองไม่เห็น
คอลัมน์ จับจิตด้วยใจ
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ [email protected]
ครั้งหนึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ผมเดินทางออกจากบ้านคุณแม่ที่กรุงเทพมหานคร เพื่อจะไปทำธุระพร้อมกับคุณแม่และน้องสาว ปรากฏว่าเมื่อน้องสาวขับรถออกจากบ้านมาแล้ว คุณแม่ของผมท่านลืมขี้ผึ้งสำหรับทาปากยี่ห้อหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องใช้และเป็นยี่ห้อธรรมดาๆ ที่น่าจะมีขายตามร้านทั่วไป แต่ปรากฏว่ากว่าจะหาซื้อขี้ผึ้งตลับเล็กๆ สำหรับทาปากสักตลับ น้องสาวของผมต้องลงทุนขับรถไปถึงห้างใหญ่ห้างหนึ่งเพียงเพื่อเดินเข้าไปซื้อขี้ผึ้งตลับเดียว เพราะหาร้านเล็กๆ ไม่เจอเลยในวันนั้น
ผมรู้สึกว่าชีวิตคนในเมืองใหญ่ชักจะไม่ธรรมดาเสียแล้ว
มานึกถึงชีวิตของตัวเองที่เชียงราย ห้างใหญ่ๆ ไปเปิดตามต่างจังหวัดเกือบทุกจังหวัด ชีวิตคนต่างจังหวัดก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เดี๋ยวนี้เวลาซื้อของก็มักจะต้องไปซื้อตามห้างใหญ่ๆ เพราะ "คิดไปเอง" หรือ "ถูกทำให้เชื่อ" ว่า เวลาซื้อของที่ห้างใหญ่ๆ ของมักจะถูกกว่าซื้อปลีกตามร้านเล็กๆ ไม่นับว่าร้านเล็กๆ ในต่างจังหวัดเองก็เริ่มหายากขึ้นทุกที เหมือนกับประสบการณ์ที่ผมเจอในกรุงเทพฯ ในวันนั้นซึ่งบางทีก็ไม่จริงเลย บ่อยครั้งที่ผมซื้อของจากร้านเล็กๆ ได้ราคาถูกกว่าห้างใหญ่หรือร้านสะดวกซื้อของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้วยซ้ำไป แต่เรื่องราคาสินค้าไม่ใช่ประเด็นที่ผมอยากจะเขียนถึงในบทความนี้
เวลาที่เราไปซื้อของที่ห้างใหญ่ๆ แต่ละครั้ง เราก็มักจะต้องซื้อทีละมากๆ ซื้อหลายๆ แพคไปตุนไว้ แถมเมื่อกลับมาถึงบ้านยังต้องแบกของเหล่านี้ขึ้นไปไว้บนบ้านที่อยู่บนตึกแถวชั้นที่สามชั้นที่สี่ เวลาแบกนมสด ชาเขียว หรือเครื่องดื่มอื่นๆ หลายๆ แพค ต้องใช้แรงไม่น้อยเลยนะ
แถมในบางครั้ง ซื้อมาเยอะเกินไป ของที่ซื้อมาก็หมดอายุเสียก่อน เหลือทิ้งไปก็บ่อย นอกจากนั้น การซื้อแพคใหญ่ๆ แบบนั้น นอกจากจะทำให้เราต้อง "ติดกับดักในเรื่องการสะสม" แล้ว ก็ยังจะทำให้เราต้อง "จ่ายแบบไม่รู้ตัว" ไปค่อนข้างมาก เดินลากรถเข็นไปๆ มาๆ โดยที่ไม่ได้ตั้งใจจะซื้ออะไรมากมาย แต่ก็มักจะต้องจ่ายเป็นหลักพันโดยไม่รู้ตัว
โดยปกติเวลาที่ผมซื้อผลไม้ ผมมักจะชอบไปเดินซื้อในตลาดสดมากกว่าซื้อในห้างใหญ่ สำหรับผลไม้นั้น ราคาในห้างใหญ่ถูกกว่าราคาที่ตลาดสดนะครับ แถมคุณภาพของโดยทั่วไปยังดีกว่า เวลาที่ซื้อเงาะในตลาด ผมมักจะปล่อยให้แม่ค้าเป็นคนหยิบเงาะให้ทั้งสองกิโลกรัม ทั้งๆ ที่แม่ค้าก็มักจะให้สิทธิในการเลือกเงาะได้ เวลากลับมาที่บ้านก็มักจะพบว่ามีเงาะเน่าๆ ปะปนมาด้วยเสมอ
หลายคนอาจจะคิดว่า การซื้อของแบบนั้นผู้ซื้อจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบหรือขาดทุน
แต่ผมก็พบว่าเวลาที่เจอเงาะเน่าๆ แถมราคาต่อกิโลกรัมยังสูงกว่าเงาะในห้างใหญ่ๆ นั้นเป็นช่วงเวลาที่ดีมากในการทำความเข้าใจกับตัวเองในหลายเรื่อง บางทีการที่เราถูกเอาเปรียบบ้างก็เป็นเรื่องที่ดี เป็นเรื่องที่เราจะได้เรียนรู้ "ความรู้สึก" ของตัวเอง เพราะในความเป็นจริงแล้ว โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว ตัวเราเองก็เอาเปรียบคนอื่นได้บ่อยๆ เหมือนกัน
ณัฐฬส วังวิญญู เคยเล่าให้ฟังถึงเพื่อนชาวอเมริกันกลุ่มหนึ่งของเขาที่ "ตั้งใจที่จะไม่ต่อราคาแม่ค้า" ทั้งๆ ที่รู้ว่า เมื่อตัวเองเป็นฝรั่งมาซื้อของในเมืองไทยก็มักจะถูกเรียกราคาสูงกว่าปกติเสมอ ด้วยจิตสำนึกที่ไม่สนใจว่าตัวเองจะถูกเอารัดเอาเปรียบหรือไม่
เพราะบางที การยอมให้ผู้อื่นเอารัดเอาเปรียบบ้าง อาจจะก่อให้เกิดอะไรดีๆ ขึ้นมาอย่างนึกไม่ถึงได้เหมือนกัน
เมื่อไม่นานมานี้ ข้างๆ บ้านของผมที่เชียงราย มีคุณลุงคุณป้าคู่หนึ่งมาเปิดร้านขายของชำเล็กๆ ของที่ขายมีหลายอย่างตั้งแต่เครื่องดื่ม ขนม นม ของใช้เล็กๆ น้อยๆ จิปาถะ
ผมพบว่าผมมีความสะดวกมากในการเดินไปซื้อของที่ร้านคุณลุง นมสดสักสองสามกล่อง ชาเขียวสองสามขวด ซื้อเพียงพอกิน ถ้าหมดก็เดินไปซื้อใหม่ ไม่ยากเลย
นอกจากราคาที่คุณลุงขายให้ผมจะถูกกว่าร้านสะดวกซื้อ และยังมาทราบทีหลังอีกด้วยว่า สินค้าที่คุณลุงขายให้ในร้านยังถูกกว่าราคาที่ห้างใหญ่ซึ่งคุยนักคุยหนาในเรื่องสินค้าราคาถูก นอกจากนั้นในบางครั้ง คุณลุงยังจะลดราคาปัดเศษสตางค์ให้อีกด้วย ซึ่งผมยืนยันกับคุณลุงว่าไม่ต้องลดราคาให้แล้ว เพราะประเด็นของผมที่มาอุดหนุนร้านค้าของคุณลุงไม่ใช่เรื่องราคาสินค้า
อภิชาติ ไสวดี หรือ "นาโก๊ะลี" เจ้าของบทกวีที่มีคุณค่ามากมาย เจ้าของการบรรยายนิทานของชนเผ่าปากะญอที่ชื่อว่า "คนขี้เกียจ" และตอนนี้มาเป็นกวีของพวกเราที่เชียงราย เคยเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเมื่อเขาไปเป็นครูดอยสอนนักเรียนชาวเขา มีร้านขายเหล้าของคุณป้าท่านหนึ่ง เวลาที่มีคนไปซื้อเหล้าดื่มบ่อยๆ เข้า คุณป้าก็จะคอยเตือนคอยถามไถ่เสมอว่า ทำไมต้องดื่มเยอะ ทำไมต้องดื่มบ่อยๆ อะไรทำนองนี้ หรือถ้าเป็นเด็กๆ อายุน้อยๆ ไปซื้อเหล้าคุณป้าก็จะไม่ขายให้ บางทีก็ถามไถ่ทุกข์สุขกันไปมา เพราะการซื้อเหล้าไม่ใช่แค่การซื้อเหล้า
ผมคิดว่าเวลาซื้อของที่ร้านเล็กๆ ใกล้ๆ บ้านนั้น เรื่องราวจึงไม่ใช่เป็นเพียงแค่เรื่องการซื้อของเหมือนอย่างที่หลายๆ คนคิด เวลาที่เราซื้อของที่ร้านเล็กๆ ของคุณลุงคุณป้านั้น มันจะมี "ความผูกพันที่มองไม่เห็น" สอดแทรกเข้าไปด้วยเสมอ
และเราจะไม่พบกับเรื่อง "ความผูกพันที่มองไม่เห็น" เหล่านี้ เมื่อเราซื้อของจากห้างใหญ่ๆ หรือร้านสะดวกซื้อซึ่งผมเชื่อว่าหลายคนจะรู้สึกเหมือนกับเจอ "หุ่นยนต์" มากขึ้นไปทุกที เพราะในห้างใหญ่ๆ นั้นเขาตั้งใจแค่ขายของและเขาก็เพียงแต่ "ตีค่า" สินค้าไปตามกลไกของตลาดที่ผมไม่คิดว่ากลไกตลาดเหล่านั้นจะมองเห็น "คุณค่า" ของ "ความผูกพันที่มองไม่เห็น" เหล่านี้
แน่นอนว่า "คุณค่า" แห่ง "ความผูกพันที่มองไม่เห็น" นี้ เราในฐานะผู้ซื้อก็อาจจะไม่ได้รับจากทุกๆ ร้านที่เป็นร้านค้าย่อย แต่ผมเชื่อว่า มี "ความเป็นไปได้" สูง มากกว่าที่เราจะได้รับความผูกพันแบบนี้เป็นของแถม เมื่อเราซื้อสินค้าจากร้านค้าย่อยของชาวบ้าน
ผมเขียนบทความชิ้นนี้ไม่ได้มีเจตนาจะไปยุ่งเกี่ยวกับ "กลไกตลาด" เพราะผมไม่ใช่ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐศาสตร์ว่า "กลไกตลาด" ควรจะเป็นอย่างไร หรือควรจะเปิดเสรี ปล่อยให้มีห้างต่างชาติใหญ่มาเปิดมากๆ แบบที่เป็นอยู่หรือไม่ แต่ผมคิดในฐานะผู้ซื้อที่คิดว่า บางทีผู้ซื้อส่วนใหญ่ก็อาจจะยังมองไม่เห็น "ประโยชน์" ของการอุดหนุนร้านค้าเล็กๆ และในฐานะที่เป็นนักเขียนที่ศึกษาเรื่องราวของ "วิทยาศาสตร์ใหม่" ผมอยากจะนำเสนอเรื่องราวที่เป็นตัวอย่างของ "สิ่งที่ซ่อนเร้น-Tacit" แบบนี้เท่าที่ทำได้
เพราะบางทีเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ก็อาจจะเป็นเรื่องที่เราไม่ควรจะมองข้ามไป หากเราต้องการจะเข้าใจ "วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่" เพราะเป็นเรื่องราวที่ "วิทยาศาสตร์แบบเก่า" ที่ให้ความสำคัญเฉพาะกับสิ่งที่จับต้องได้ ซึ่งในกรณีนี้ก็ได้แก่ราคาสินค้าที่คิดว่าซื้อห้างใหญ่ถูกกว่าดีกว่า และ "วิทยาศาสตร์แบบเก่า" จึงมองไม่เห็นความสำคัญของ "ความผูกพันดีๆ" ที่มีให้กันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ เมื่อเราซื้อของจากร้านค้าย่อยของชาวบ้าน
.แบบเดียวกันกับที่ผมได้พบจากการมาซื้อของในร้านคุณลุง
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
โพสต์ที่ 11
ความกลัวไม่ได้เป็นเรื่องของเหตุผล
คอลัมน์ จับจิตด้วยใจ
โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์ [email protected]
อาชีพศัลยแพทย์ของผมทำให้ผมได้มีโอกาสพบกับผู้คนที่จะต้องเผชิญหน้ากับความกลัวอยู่ทุกวี่ทุกวัน ในสมัยเมื่อหลายปีก่อนที่ยังทำการผ่าตัดใหญ่ๆ นั้นผมไม่ค่อยสนใจเรื่องความกลัวของคนไข้สักเท่าไร และมักจะยกหน้าที่ให้กับวิสัญญีแพทย์ที่จะทำการดมยาสลบคนไข้เหล่านั้น อย่างมากผมก็จะบอกกับคนไข้ว่า "ไม่ต้องกลัวอะไรหรอก"
ในระยะหลังๆ นี้ด้วยเหตุผลบางอย่างผมเลิกทำผ่าตัดใหญ่ๆ เหลือเพียงการผ่าตัดเล็กๆ ซึ่งสามารถใช้ยาชาผ่าตัดได้เหมือนกับการถอนฟัน ผมก็ไม่ได้คิดว่าสำหรับคนไข้แล้ว "ความกลัวผ่าตัด" แบบเล็กๆ นั้นบางครั้งจะเหมือนหรือมากกว่าการกลัวผ่าตัดใหญ่ๆ เสียอีก
ด้วย "การคิดเชิงเหตุผล" ในตอนนั้นทำให้ผมไม่เข้าใจว่า "ทำไมจะต้องกลัวด้วย" ก็กับแค่การผ่าตัดเล็กๆ แบบที่บางครั้งการถอนฟันยังเจ็บมากกว่าเสียอีก เออ...ถ้าคุณกลัวผ่าตัดใหญ่ก็ไม่แปลกเพราะมีความเสี่ยงอะไรมากมาย แต่การผ่าตัดเล็กๆ อย่างเช่นการตัดไฝสักเม็ดสองเม็ดก็ไม่เห็นจะต้องกลัวอะไรเลย
แต่ผมก็ต้องเผชิญหน้ากับคนไข้ที่ "กลัวผ่าตัด" เสมอๆ เรียกได้ว่ามากกว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
การเลิกใช้บริการของวิสัญญีแพทย์ทำให้ผมต้องรับหน้าเสื่อในการดูแลเรื่อง "ความกลัวผ่าตัด" ของคนไข้ด้วยตัวเอง ในช่วงนั้นใหม่ๆ ผมก็มักจะพึ่งพิงการใช้ "ยานอนหลับ" เพื่อช่วยกล่อมให้คนไข้หลับก่อนที่จะฉีดยาชาในรายที่ต้องผ่าตัดนานกว่ายี่สิบหรือสามสิบนาที แต่ผมก็พบว่ากับคนไข้ที่กลัวจริงๆ "ยานอนหลับขนานเด็ด" ของผมนั้นใช้ไม่ได้ผลเลย คนไข้มักจะกลับไปหลับที่บ้านมากกว่าหลับตอนที่จะทำการผ่าตัด
ต่อๆ มาผมก็เริ่มพยายามที่จะ "ใช้เหตุผล" กับคนไข้และพยายามให้คนไข้ "ลองแยก" ความกลัวกับความเจ็บออกจากกันว่าคุณกลัวอะไรกันแน่ ส่วนใหญ่คนไข้ก็จะตกหลุมผมเพราะส่วนใหญ่จะบอกว่า "กลัวเจ็บ" และเมื่อผมสามารถทำการฉีดยาชาแบบที่คนไข้ไม่ค่อยเจ็บเรียบร้อยแล้ว ผมก็ยังงงเป็นไก่ตาแตกเมื่อพบว่า
"คนไข้ส่วนใหญ่ที่ไม่เจ็บแล้วก็ยังกลัวอยู่ ตราบเท่าที่การผ่าตัดยังไม่เสร็จหรือใกล้จะเสร็จ" ผมจำได้ว่าบางครั้งผมก็อดไม่ได้ที่จะถามเหตุผลและไล่บี้กับคนไข้ไปว่า "เอ๊ะ...ก็คุณบอกผมเองว่ากลัวเจ็บ แต่ตอนนี้ไม่เจ็บแล้วคุณยังกลัวอะไรอยู่เหรอ?
ถึงผมจะ "เถียงชนะ" ในเชิงเหตุผล แต่คนไข้ก็ยังคงกลัวอยู่เหมือนเดิม ผมเองก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่า "เหตุผลใช้ไม่ได้เสมอไป" ความจริงในช่วงนั้นผมได้เรียนรู้และเขียนเรื่องของการนำปัญญาอารมณ์มาใช้ให้มากขึ้นตามที่ท่านผู้อ่านก็คงจะได้เคยอ่านบทความเหล่านั้นมาบ้างแล้ว
แต่ปรากฏการณ์ที่ทำให้ผม "คลิก" และพบว่าตัวผมเองยังไม่ได้นำเรื่องของอารมณ์มาใช้ได้อย่างครบถ้วนในชีวิตจริงๆ เลย อย่างน้อยก็ในเรื่องของการดูแลคนไข้ก่อนผ่าตัดของผมนั้นก็คือในช่วงเดือนมีนาคม 2550 นี้เองที่ในวงสุนทรียสนทนาของพวกเราครั้งหนึ่งที่เชียงรายมีคุณหมอสกล สิงหะแห่งคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์มาร่วมแจมด้วย พวกเราพูดคุยกันถึงเรื่องทั่วๆ ไปอย่างอื่น คุณหมอสกลเล่าถึงงานวิจัยจากรัสเซียชิ้นหนึ่งไว้ว่า มนุษย์ใช้อารมณ์ในชีวิตเป็นส่วนใหญ่ถึง 96% ใช้เหตุผลเพียงแค่ 4%
คำพูดของคุณหมอสกลในเรื่องนี้ทำให้ผมคลิกไปถึงเรื่องคนไข้ของผมได้อย่างประหลาด ผมเพิ่งสังเกตว่า แม้ผมจะพยายามนำ "ปัญญาอารมณ์" มาใช้เพิ่มมากขึ้นจากเดิมสักเพียงใดก็ตาม ในแง่กับคนไข้ก่อนผ่าตัดของผม ที่ผ่านมาผมยังใช้เหตุและผลมากมายเสียเหลือเกิน
หลังจากที่ "ได้คลิก" ในเรื่องนี้แล้ว
เมื่อผมจะทำการผ่าตัดคนไข้แต่ละราย ผมจะถามพวกเราเหล่านั้นเหมือนเช่นเคยก่อนว่า "รู้สึกอย่างไรบ้างครับ" ซึ่งแน่นอนว่าคนไข้ส่วนใหญ่ก็จะตอบว่ากลัวหรือตื่นเต้น
ถ้าเป็นเมื่อก่อนผมก็จะใช้เหตุผลอธิบายว่า "ไม่ต้องกลัวนะครับ ไม่มีอันตรายอะไรหรอก" หรือแม้แต่พยายามที่จะคาดคั้นเหตุผลกับคนไข้ตามที่เล่ามาข้างต้น
แต่ตอนนี้ผมจะบอกเขาเหล่านั้นว่า "อ๋อ กลัวเหรอครับ ดีครับ ไม่ต้องพยายามที่จะไม่กลัว" คือเปิดโอกาสใช้คนไข้ได้แสดงอารมณ์กลัว โดยที่ไม่ต้องพยายามไปกดแต่สิ่งสำคัญที่จะต้องฝึกให้กับคนไข้ก็คือ "การรับรู้" ว่า "ตัวเองกำลังกลัว"
"คนที่กำลังกลัว" กับ "คนที่รับรู้ว่าตัวเองกำลังกลัว" นั้นจะแตกต่างกันอย่างมาก คนที่กำลังกลัวโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองกลัวนั้นจะแก้ปัญหาได้ยากมาก แต่คนที่รับรู้ว่าตัวเองกำลังกลัวนั้นก็ไม่แตกต่างไปจากคนที่ "กำลังตื่นรู้" กับสภาวะที่เป็นปัจจุบัน ณ ขณะนั้น
ในทางปฏิบัติเมื่อคนไข้ขึ้นมานอนที่เตียงผ่าตัดแล้ว ผมมักจะให้คนไข้ "ลองสังเกตความกลัว" ของตัวเขาเองว่า "ใหญ่ขนาดไหน" ถ้าเต็มสิบจะประมาณสักเท่าไร อาจจะลองมองเห็นเป็นสเกลแบบหน้าปัดเวลาขับรถยนต์ก็ได้ แล้วขอให้ลองเฝ้าดู
ในขั้นต้น ให้ลองสังเกตและรับรู้เฉยๆ ยังไม่ต้องพยายามไปทำอะไรกับความกลัว อาจจะสอนการหายใจด้วยท้อง หรือนำพาทำบอดี้สแกนให้กับคนไข้ คือให้คนไข้ลองหันมาสนใจกับร่างกาย สังเกตร่างกายว่าตอนที่กลัวนั้นร่างกายมีปฏิกิริยาอย่างไรโดยที่ให้ชายตามองความกลัวอยู่
ในบางรายผมยังบอกพวกเขาพวกเธอเหล่านี้ด้วยว่า ไม่ต้องพยายามที่จะกล้าหรือไม่กลัวแต่ขอให้ยอมรับอารมณ์กลัวที่เกิดขึ้น ศิโรราบต่อมัน ลองเดินเข้าไปอยู่ตรงกลางความกลัวที่ใหญ่ก้อนนั้นและให้นำพาเรื่องราวผู้คนเหตุผลต่างๆ ออกไปไว้ที่ขอบนอก คุณลองนั่งอยู่กับความกลัวตรงใจกลางของมัน แล้วคุณจะพบว่าที่ใจกลางของความกลัวนั้นช่างเหมือนกับใจกลางของพายุหมุนที่เป็นความนิ่งสงบจริงๆ
ผมพบกับความมหัศจรรย์ครับว่า วิธีการนี้ได้ผลดีกว่าวิธีการใช้เหตุผลเป็นอย่างมาก เพียงแค่ปล่อยให้คนไข้ได้อยู่กับอารมณ์ที่ตัวเองกำลังเผชิญจริงๆ "ด้วยการเฝ้าสังเกต" ที่แม้จะเป็นอารมณ์ที่ไม่ค่อยดีนักอย่างความกลัว ก็สามารถทำให้ "สเกลหน้าปัดแห่งความกลัว" นั้นลดลงมาอย่างรวดเร็ว
คนไข้ส่วนใหญ่ที่กลัวแปดถึงเก้าในสิบนั้น เพียงแค่เฝ้าดูความกลัวของตัวเองสักสองสามรอบลมหายใจ ความกลัวก็ลดลงมาอยู่ที่สี่หรือห้าได้เองโดยที่ไม่ต้องทำอะไร ไม่ต้องมีเหตุผลใดๆ
บางทีความกลัวก็ไม่ใช่เรื่องที่เราจะต้องมาใช้เหตุผลอะไรกัน ยอมรับมันและดำรงอยู่กับความกลัวน่าจะเป็นเรื่องที่น่าทดลองฝึกฝนดูไม่น้อยกระมัง?
ที่มา : มติชน วันที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2550 ปีที่ 30 ฉบับที่ 10676
- Ryuga
- Verified User
- โพสต์: 1771
- ผู้ติดตาม: 0
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
โพสต์ที่ 14
ภาษิตจีนว่า ยิ่งรีบยิ่งช้า
แหม นึกถึงที่หลายๆ ท่านเรียกหุ้นเต่า => Slow but Sure
บางทีคนเราก็วุ่นวายกลัวไปว่าหุ้นจะขึ้น หรือกลัวว่าหุ้นจะตก(อาจจะน่ากลัวกว่าการผ่าตัด ) ใช้เทคนิคคุณหมอน่าจะช่วยได้ :lol:
แหม นึกถึงที่หลายๆ ท่านเรียกหุ้นเต่า => Slow but Sure
บางทีคนเราก็วุ่นวายกลัวไปว่าหุ้นจะขึ้น หรือกลัวว่าหุ้นจะตก(อาจจะน่ากลัวกว่าการผ่าตัด ) ใช้เทคนิคคุณหมอน่าจะช่วยได้ :lol:
Low Profile High Profit
หมากล้อมเย้ยยุทธจักร
หมากล้อมเย้ยยุทธจักร
- สามัญชน
- สมาชิกกิตติมศักดิ์
- โพสต์: 5162
- ผู้ติดตาม: 0
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
โพสต์ที่ 17
นึกขึ้นได้หลังจากอ่านบทความดีๆจากท่านมหาชน
ชีวิตของคนเราถ้าเปรียบเทียบง่ายๆกับการปั้นถ้วยชากระเบื้องเคลือบอาจจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น
ชีวิตคุณหมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์ เริ่มต้นจากการเร่งรีบในวัยเด็ก ทั้งอ่านหนังสือบนรถเมล์และ"ไม่เคยปล่อยเวลาให้ว่าง" จนผลกรรมส่งให้สอบได้คณะแพทยศาสตร์ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายนักสำหรับเด็กนักเรียนทั่วๆไป
จบมาเป็นหมอก็ยังเร่งรีบผ่าตัด เร่งรีบตรวจคนไข้ให้ได้มากๆ จนบั้นปลายชีวิตเร่มค้นพบ "ประโยชน์ของความช้า" ก็นับว่าเป็นไปตามครรลองที่ถูกต้องและมีประโยชน์ต่อสังคม
แต่.........คำถามก็คือ.......
ชีวิตของคนเราถ้าเปรียบเทียบง่ายๆกับการปั้นถ้วยชากระเบื้องเคลือบอาจจะทำให้เข้าใจง่ายขึ้น
ชีวิตคุณหมอวิธาน ฐานะวุฑฒ์ เริ่มต้นจากการเร่งรีบในวัยเด็ก ทั้งอ่านหนังสือบนรถเมล์และ"ไม่เคยปล่อยเวลาให้ว่าง" จนผลกรรมส่งให้สอบได้คณะแพทยศาสตร์ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายนักสำหรับเด็กนักเรียนทั่วๆไป
จบมาเป็นหมอก็ยังเร่งรีบผ่าตัด เร่งรีบตรวจคนไข้ให้ได้มากๆ จนบั้นปลายชีวิตเร่มค้นพบ "ประโยชน์ของความช้า" ก็นับว่าเป็นไปตามครรลองที่ถูกต้องและมีประโยชน์ต่อสังคม
แต่.........คำถามก็คือ.......
ทุกความเห็นย่อมเปลี่ยนไปตามความรู้ การเรียนรู้ย่อมไม่มีจุดสิ้นสุด
- สามัญชน
- สมาชิกกิตติมศักดิ์
- โพสต์: 5162
- ผู้ติดตาม: 0
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
โพสต์ที่ 18
ถ้าในวัยเด็กไม่ได้ทุ่มเทขนาดนั้นเขาจะได้เป็นหมอหรือไม่ ถ้าเขาใช้ "ประโยชน์ของความช้า" ตั้งแต่เด็กเขาจะสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ได้หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่ควรแก่การพิจารณาคาดเดา และในวัยขนาดนั้นก็มีโอกาสสูงมากที่"ความช้า" ที่เขายึดถืออาจจะหมายถึง "ความเฉื่อยชา" หรือ "ความไม่มีประสิทธิภาพ"
เขาอาจจะสอบได้ก็ได้และอาจจะเก่งกว่าด้วยซ้ำก็ได้ หรือเขาอาจจะสอบไม่ได้ก็ได้
และถ้าเขาไม่มีรายได้มากเพียงพอจากอาชีพหมอจนเขาสามารถพัฒนาต่อยอดจนมีอิสรภาพทางการเงินระดับหนึ่ง เขาจะค้นพบเคล็ดวิชา "ประโยชน์ของความช้า" ได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่น่าคาดเดาเช่นกัน เขาอาจจะค้นพบเทคนิค "การบริหารเวลาแบบเหยี่ยว" ก็เป็นได้ เพราะถ้าเขายังต้องพะวงอยู่กับรายได้ที่จะต้องนำมาจุนเจือครอบครัวซึ่งบางเดือนก็พอบางเดือนก็ไม่พอ "การเร่งรีบ" ดูจะมีประโยชน์ต่อเขามากกว่า
"คนที่มีงานมีเงินแต่ไม่มีเวลา" ก็ยังเลี้ยงครอบครัวได้ดีกว่า "ไม่มีงานไม่มีเงินแต่มีเวลามากมาย" ไม่ใช่หรือ
ลูกๆเขาควรจะได้กิน "นม" ไม่ใช่ "ปรัชญา"
เขาอาจจะสอบได้ก็ได้และอาจจะเก่งกว่าด้วยซ้ำก็ได้ หรือเขาอาจจะสอบไม่ได้ก็ได้
และถ้าเขาไม่มีรายได้มากเพียงพอจากอาชีพหมอจนเขาสามารถพัฒนาต่อยอดจนมีอิสรภาพทางการเงินระดับหนึ่ง เขาจะค้นพบเคล็ดวิชา "ประโยชน์ของความช้า" ได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่น่าคาดเดาเช่นกัน เขาอาจจะค้นพบเทคนิค "การบริหารเวลาแบบเหยี่ยว" ก็เป็นได้ เพราะถ้าเขายังต้องพะวงอยู่กับรายได้ที่จะต้องนำมาจุนเจือครอบครัวซึ่งบางเดือนก็พอบางเดือนก็ไม่พอ "การเร่งรีบ" ดูจะมีประโยชน์ต่อเขามากกว่า
"คนที่มีงานมีเงินแต่ไม่มีเวลา" ก็ยังเลี้ยงครอบครัวได้ดีกว่า "ไม่มีงานไม่มีเงินแต่มีเวลามากมาย" ไม่ใช่หรือ
ลูกๆเขาควรจะได้กิน "นม" ไม่ใช่ "ปรัชญา"
ทุกความเห็นย่อมเปลี่ยนไปตามความรู้ การเรียนรู้ย่อมไม่มีจุดสิ้นสุด
-
- Verified User
- โพสต์: 1961
- ผู้ติดตาม: 0
เรื่องของการใช้เวลา ผมเคยเป็นคนประเภทที่ "อยู่ว่างไม่ได
โพสต์ที่ 20
โค้ด: เลือกทั้งหมด
เดี๋ยวนี้ผมเตรียมเพียงกระดาษเปล่าๆ และปากกาไว้แทนที่จะเตรียมหนังสือต่างๆ ไว้อ่านหรือบางทีก็ไม่ได้เตรียมอะไรเลย การนั่งเฝ้าดูและสังเกตตัวเองไม่ว่าจะเป็นลมหายใจ เฝ้าดูความคิด เฝ้าดูอารมณ์และเฝ้าดูประสาทสัมผัสต่างๆ ทำให้เราสามารถดำรงตัวอยู่ในความเป็นปัจจุบันขณะได้อย่างเต็มๆ "กระดาษเปล่าๆ" นั้นเตรียมไว้เพียงเผื่อว่าจะต้องบันทึก "ความคิดดีๆ" ที่ "ผลุดโผล่" ออกมาในระหว่างที่ผมกำลังผ่อนคลายและอยู่กับความเป็นปกติและความเป็นปัจจุบันในแต่ละขณะนั้นๆ เท่านั้น
ผมเชื่อว่า คุณหมอท่านนี้ นอกจากเป็นคุณหมอที่เก่งมากแล้ว สิ่งที่ท่านทำ สิ่งที่ท่านสัมผัส turn to be great อยู่ที่ว่า มีใคร buy his ideas หรือปล่าวเท่านั้น
บ่อยครั้งความคิด ๆ ดี ไม่ได้มาเพราะเราตั้งใจคิดถึงมัน แต่มันมาเอง โดยเราไม่เคยรู้ตัว เพราะ มันจะมาตอนเรามีสมาธิถึงขั้น ฟังแต่ไม่ได้ยิน มองแต่ไม่เห็น
ผม buy ideas คุณหมอ ทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องร้านขายของชำ ขอเดาว่าคุณหมอเติบโตมาในตลาด
ขอบคุณ คุณบี เฮ้! เรื่องนี้โดนมาก เจอหน้า จะกระโดดเกาะหลัง ขอจุ๊บที
จุ๊บ จุ๊บ
Thanks man!