คิดถึง ดร.ธวัช มกรพงศ์
โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ
มติชน วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10512
คิดถึง ดร.ธวัช มกรพงศ์ ซึ่งได้ละสังขารจากโลกไปเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา และรับพระราชทานเพลิงในวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา
หากจะให้ตอบคำถามว่า เมื่อคิดถึง ดร.ธวัช จะคิดถึงอะไรก่อน คำตอบก็คือ ดร.ธวัช มกรพงศ์ เป็นแบบอย่างของข้าราชการประจำที่เมืองไทยต้องการและบัดนี้เกรงว่าจะสูญพันธุ์หมดแล้ว
เมืองไทยต้องการข้าราชการแบบ ดร.ธวัช มกรพงศ์ ที่ดำรงตนเป็นกลาง ซื่อสัตย์ มีศักดิ์ศรี ไม่ลังเลที่จะใช้อำนาจตามกฎหมายเพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของแผ่นดินและประชาชน โดยไม่คำนึงถึงหน้าพรหมหน้าอินทร์ใดๆ ทั้งสิ้น
ผู้เขียนคิดถึง บัญญัติ บรรทัดฐาน ประจวบ ไชยสาส์น ไตรรงค์ "ทองแดง" สุวรรณคีรี สุทัศน์ เงินหมื่น และ นิตินัย นาครทรรพ น้องชายคนสุดท้องของผู้เขียนเอง
บุคคลเหล่านี้เป็นนักการเมืองอาชีพ และเป็นลูกศิษย์ปริญญาตรีรุ่นแรกของ ดร.ธวัชที่ธรรมศาสตร์
ในรุ่นนี้มี แมว หรือ รุ่งฤทธิ น้องชายคนที่ 9 ซึ่งห่างกับ ดร.ธวัชถึง 16 ปีอยู่ด้วย รุ่งฤทธิ เป็นเพื่อนสนิทของนิตินัย ได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัด ในที่สุดก็ถูกย้ายจากเชียงรายมาประจำกระทรวงเพราะไม่สนองนโยบายนักการเมือง
บุคคลเหล่านี้เป็นทรัพยากรที่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐานของนักการเมืองและข้าราชการที่ดีของประเทศไทย นี่คือ ศิลปศาสตร์รุ่นแรก
เมื่อ ดร.ธวัช มรกพงศ์ ย้ายจากคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ มาเป็นอาจารย์ที่คณะศิลปศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่สงสัยเลยว่า ดร.ธวัช มกรพงศ์ ต้องฝากความจรรโลงใจและอุดมการณ์ให้กับลูกศิษย์รุ่นนี้อย่างเหนียวแน่นมั่นคง
ผู้เขียนได้รับทราบอยู่ห่างๆ ด้วยความชื่นชมถึงความรักสามัคคีของศิลปศาสตร์รุ่นหนึ่ง และความสำนึกในการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่หรือแห่งหนใด
เบื้องหลังของความสำเร็จนี้ ผู้เขียนมองเห็นภาพธวัช มกรพงศ์ ลูกผู้ชายตัวเล็กๆ ที่ไม่อาจเรียกได้ว่าสันทัด แต่มีความเคลื่อนไหวปราดเปรียว และมีความเชื่อมั่นไม่ว่าจะพูดอะไรออกมา เวลาพูดเหมือนกับจะจีบปากจีบคอ เพราะมีปากเรียวเล็ก แต่ก็เต็มไปด้วยความเป็นชาย
ผู้เขียนเป็นนักเรียนรุ่นน้องไล่หลังกันไม่นานนัก เมื่อ ดร.ธวัชสอบไล่ได้ที่ 1 ของรุ่น 4 ออกมาเป็นอาจารย์ประจำคณะตามธรรมเนียมซึ่งป๋า หรือศาสตราจารย์เกษม อุทยานิน ได้วางไว้ รุ่นที่ 1 ก็คือ ดร.เกษม สุวรรณกุล รุ่น 2 พี่เสริฐหรืออาจารย์ประเสริฐ แย้มกลิ่นฟุ้ง รุ่น 3 คือ ดร.นิพนธ์ ศศิธร อาจารย์นิพนธ์ถึงจะมิได้สอนก็ยังเป็นติวเตอร์ช่วยวิชาอาจารย์ยืน ฮันตระกูล และเป็นอาจารย์ประจำชั้นของผู้เขียน
อาจารย์ธวัชจะขะมักเขม้นเรียนปริญญาโทต่อหรือเตรียมตัวไปนอก ก็ไม่แน่ใจจึงมิได้สอนผู้เขียน
แต่ที่แน่ใจและจำได้ก็คือ เมื่อตอนมหาวิทยาลัยปิดภาคใหญ่ปี 2498 พวกเรา 10 กว่าคนพากันจัดอนาถาทัวร์ ที่เตลิดไปจนถึงเวียงจันทน์ ทั้งๆ ที่ตั้งใจจะจบแค่สระบุรี ที่บิดา ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด อยู่อำเภอสีคิ้ว เป็นที่หมายต่อจากสระบุรี เพราะมีธวัช มกรพงศ์ รุ่น 4 และไมตรี เหลืองภิรมย์ รุ่น 5 อยู่ สมาชิกในคณะโดยเฉพาะอย่างยิ่ง วณิช พรพิบูลย์ (ดร.รุ่น 4) และ ชูพจน์ จารุวร (พ.ต.อ.รุ่น 5) จึงเสนอให้พวกเราไปล้มทับ 2 คนนั้นอย่างเต็มที่
ปรากฏว่า ธวัช มกรพงศ์ นอกจากจะไม่โดนล้มทับ ยังได้กำไรถึงสองต่อ เพราะไมตรี เหลืองภิรมย์ ซึ่งเป็นทายาทของคหบดีใหญ่เมืองสีคิ้วไม่ยอมให้ใครช่วยเลี้ยง ซ้ำบรรดาเซียนโป๊กเกอร์จากกรุงเทพฯ ก็ยังโดนธวัชปราบเสียจนหมดตูดไปตามๆ กัน
ไม่น่าเชื่อว่าผู้คงแก่เรียนอย่างธวัช จะมีฝีมือเผและโป๊กเกอร์จนลือเลื่องคณาจารย์นิดาที่ไปเรียนอินเดียนาในยุคเดียวกันได้ลิ้มรสแล้วทุกคน
ที่มหาวิทยาลัยอินเดียนา ดร.ธวัชได้ปริญญาโทถึง 2 ใบ ทั้งวิชาเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ของ ดร.ธวัชเป็นเรื่องเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ถือเป็นงานวิจัยชั้นมาตรฐานที่ใช้อ้างถึงกันอยู่ทั่วไปทั้งในและต่างประเทศ
วิถีการทำงานของ ดร.ธวัชกับของผู้เขียนนั้นสวนกัน คือ ดร.ธวัชเริ่มที่มหาวิทยาลัยแล้วไปจบที่มหาดไทย ส่วนผู้เขียนเริ่มจากเป็นปลัดอำเภอแล้วมาจบที่มหาวิทยาลัย แต่เราก็ได้พบปะกันเป็นครั้งคราว ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องบ้านเมืองและการทำงานที่สำคัญกันทุกครั้ง บางครั้งก็ผ่านคนกลางคือ ดร.เผด็จ สิทธิสุนทร หรือไม่ก็ ดร.กระมล ทองธรรมชาติ
มีอยู่ 2 เรื่องที่จำได้ดี เรื่องหนึ่งเงียบๆ และอีกเรื่องโด่งดังมาก
เรื่องแรก ก็คือ การยึดถือหลักเกณฑ์และผลประโยชน์ของประชาชนทำให้ ดร.ธวัชซึ่งตอนนั้นเป็นปลัดจังหวัดแถวภาคอีสาน ต้องกระทำการอันเป็นการขัดใจและไม่โอนอ่อนตามผู้ว่าราชการจังหวัดครั้งแล้วครั้งเล่า จนท่านผู้ว่าฯ ลั่นวาจาว่า ตราบใดที่ท่านมีอำนาจอยู่จะไม่ให้คนอย่าง ดร.ธวัชได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอย่างเด็ดขาด ดีแต่ว่าผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกระทรวงมิใช่คนหูเบา ดร.ธวัชจึงได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดในเวลาต่อมาไม่นาน
เรื่องที่ทำให้ ดร.ธวัชดังระเบิด ก็คือเมื่อครั้งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้ขัดขวางสัมปทานการทำเหมืองแร่ของบริษัท เท็มโกจนสำเร็จ กล่าวกันว่าถึงแม้ ดร.ธวัชจะถูกย้าย ให้เชาว์วัสน์ สุดลาภา มาแทน ก็ไม่มีใครสามารถแก้ไขสิ่งที่ ดร.ธวัชมัดไว้ได้เสียแล้ว
ดร.ธวัชป่วยต้องนอนแซ่วอยู่ในโรงพยาบาลร่วม 10 ปี บรรดาศิษย์ศิลปศาสตร์รุ่น 1 ได้พากันจัดตั้งมูลนิธิธวัช มกรพงศ์ และได้หมุนเวียนกันไปเยี่ยม ใคร่อนุโมทนากุศลกรรมอย่างนี้ และอยากให้ประชาชนทั่วไปที่อยากเห็นข้าราชการที่ดีเป็นหลักของบ้านเมืองในอนาคตได้เข้ามามีส่วนร่วมสนับสนุน
อดคิดไม่ได้ถึงบรรดาผู้ว่าราชการจังหวัดรุ่นหลังๆ ที่ทำตัวห่างไกลจากมาตรฐานทางจริยธรรมและความกล้าหาญเยี่ยง ดร.ธวัช มกรพงศ์ กลับทำตัวเป็นทาสของอำนาจทางการเมือง เปิดโอกาสให้คนโกงได้เข้าควบคุมครอบครองทรัพยากรแผ่นดิน จะด้วยการฉ้อฉลก็ดี ด้วยสัมปทานที่เอาเปรียบก็ดี ด้วยการรับเหมาจ้างวานที่มิชอบก็ดี จนกระทั่งผู้คนพากันท้อใจหรือสยบยอมอำนาจชั่วกันทั่วแผ่นดิน
ถ้าหากยังมีคนอย่าง ดร.ธวัช มกรพงศ์ อยู่ พวกเขาจะไม่มีวันกระทำเช่นนั้นได้
ดร.ธวัช มกรพงศ์ คือแบบอย่างของข้าราชการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและของประชาชนอย่างแท้จริง
ถ้ายังไม่มีเป็นหมื่นเป็นแสน ก็จงรีบเกิดใหม่มาเถิด คนอย่าง ดร.ธวัช มกรพงศ์ แม้สักคนหนึ่งก็ยังดี
หน้า 7<
คิดถึง ดร.ธวัช มกรพงศ์
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
คิดถึง ดร.ธวัช มกรพงศ์
โพสต์ที่ 1
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
คู่มือวิเคราะห์ค่าเงินบาท ฉบับชาวบ้าน
โพสต์ที่ 2
คู่มือวิเคราะห์ค่าเงินบาท ฉบับชาวบ้าน (ตอนที่ 1)
มุมเอก : ดร.เอก เศรษฐศาสตร์ [email protected]
กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549
ข่าวเศรษฐกิจการเงินที่ได้รับความสนใจมากที่สุดในช่วงนี้ คงไม่พ้นเรื่องค่าเงินบาท ก็จะไม่ให้เป็นที่สนใจได้ยังไงละครับ เพราะค่าเงินบาทของเรา มันแข็งค่าขึ้นเร็วมาก จากที่เคยอยู่ที่ประมาณ 41 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เมื่อต้นปี มาอยู่ที่ราวๆ 36.6 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐในปัจจุบัน ผมลองกดเครื่องคิดเลขดู พบว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นประมาณ 12% และเมื่อผมลองเปรียบเทียบการแข็งค่าของเงินบาทกับค่าเงินสกุลสำคัญอื่นๆ ก็ปรากฏว่า ค่าเงินบาทของเราแข็งค่ามากกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ เกือบทั้งหมด หลายๆ คน ที่ไม่ต้องข้องเกี่ยวกับค่าเงิน คงไม่ได้สนใจอะไรมากนัก เพราะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่คนที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับส่งออกนำเข้า หรือคนที่มีรายได้รายจ่ายเป็นเงินตราต่างประเทศ จะได้รับผลกระทบเต็มๆ ทีเดียว เช่น ผู้นำเข้าที่ต้องจ่ายชำระค่าสินค้าเป็นดอลลาร์สหรัฐ คงจะยิ้มอยู่ในใจ เพราะต้นทุนที่เคยจ่ายสินค้านำเข้าเมื่อแปลงเป็นเงินบาทถูกลงไป 12% จากที่เคยต้องนำเงินบาท 41 ล้านบาทไป จ่ายค่าสินค้า 1 ล้านดอลลาร์ ตอนนี้ใช้เงินแค่ 36.6 ล้านบาทก็พอแล้ว
ในทางตรงกันข้าม ผู้ส่งออกน่าจะเดินคอตกไปตามๆ กัน เพราะเคยส่งออก 1 ล้านดอลลาร์ แปลงเป็นเงินบาทแล้วได้เงิน 41 ล้านบาท ตอนนี้มาแปลงเป็นบาท ได้เงินแค่ 36.6 ล้านบาท รายได้หายไปเฉยๆ ตั้ง 4.4 ล้านบาท ผู้ส่งออกบางรายที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันก็ยังพอที่จะขอต่อรองขึ้นราคาสินค้าที่คิดเป็นเงินดอลลาร์ให้สูงขึ้นได้บ้าง แต่บางรายที่มีอำนาจต่อรองต่ำ ก็ต้องทำใจยอมรับรายได้ที่หดหายไป และบางรายอาจถึงกับขาดทุนต้องปิดกิจการไป
หลายๆ ท่าน ที่เกี่ยวข้องกับค่าเงินบาททั้งโดยตรงและโดยอ้อม คงจะเริ่มตั้งคำถามกันมากมาย เช่น ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เพราะอะไร แนวโน้มค่าเงินบาทจะเป็นอย่างไร แบงก์ชาติควรเข้ามาดูแลค่าเงินหรือไม่อย่างไร และที่สำคัญ เราจะเตรียมตัวรองรับความผันผวนของค่าเงินในอนาคตอย่างไร ผมจึงตั้งใจเขียน "คู่มือการวิเคราะห์ค่าเงินบาทฉบับชาวบ้าน" นี้ขึ้น โดยจะพยายามใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายๆ มาอธิบายเรื่องค่าเงิน เพื่อให้ชาวบ้านทั้งหลายสามารถวิเคราะห์ค่าเงินบาทได้เอง และจะสามารถเตรียมตัวรองรับกับความผันผวนที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
คู่มือวิเคราะห์ค่าเงินบาท ฉบับชาวบ้าน ในตอนแรกนี้ จะเริ่มจากพื้นฐานง่ายๆ ก่อนว่า อะไรเป็นปัจจัยกำหนดค่าเงินบาท คำตอบแบบกำปั้นทุบดินของนักเศรษฐศาสตร์ที่รับรองว่าไม่มีผิดแน่ๆ ก็คือ ขึ้นกับ Demand และ Supply ของเงินบาท กล่าวคือ เมื่อไรก็ตาม ที่ความต้องการซื้อเงินบาท (Demand) มากกว่า ความต้องการขายเงินบาท (Supply) ค่าเงินบาทก็จะแข็งค่าขึ้น ในทางตรงกันข้าม เมื่อไรก็ตาม ที่ความต้องการเงินบาทน้อยกว่าความต้องการขายเงินบาท ค่าเงินบาทก็จะอ่อนลง
หากท่านเอาหลักพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ง่ายๆ นี้มาวิเคราะห์ค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ท่านก็จะเห็นได้ว่า ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาก็เป็นเพราะมีคนต้องการซื้อเงินบาทมากกว่าคนที่ต้องการขายเงินบาทนั่นเอง คราวนี้ลองมาวิเคราะห์ดูซิครับใครละอยากมาซื้อเงินบาทและใครละอยากมาขายเงินบาท เพื่อให้การวิเคราะห์ง่ายขึ้น ผมจะขอแบ่งผู้ซื้อผู้ขายเงินบาทออกเป็น 2 ตลาด ได้แก่ ตลาดที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายสินค้าและบริการระหว่างประเทศ และตลาดที่เกี่ยวข้องกับการค้าขายสินทรัพย์ระหว่างประเทศ เช่น ตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร และตลาดเงิน
ในตลาดสินค้าและบริการระหว่างประเทศ นั้น คนที่ต้องการซื้อเงินบาทในตลาดนี้ ก็คือ ต่างชาติที่ต้องการซื้อเงินบาท เพื่อมาซื้อสินค้าและบริการของไทย ส่วนคนที่ต้องการขายเงินบาท ก็คือคนไทยที่ต้องการซื้อสินค้าและบริการของต่างชาติ
และผมได้ลองไปเปิด ดูบัญชีดุลบัญชีเดินสะพัด (Current account) ของไทย ซึ่งเป็นบัญชีที่บันทึกธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับตลาดนี้ เช่น การส่งออก การนำเข้า และการท่องเที่ยว เป็นต้น จะพบว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเราส่งออกสินค้า และบริการ มากกว่านำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศ เป็นจำนวนสูงถึง 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็หมายความว่า ในตลาดนี้มีความต้องการซื้อเงินบาทมากกว่าขายเงินบาท
ในตลาดสินทรัพย์ระหว่างประเทศ นั้น คนที่ต้องการซื้อเงินบาท ก็คือ ต่างชาติที่ต้องการมาซื้อสินทรัพย์ไทย หุ้นไทย พันธบัตรไทย หรือมาฝากเงินและปล่อยกู้ในไทยนั่นเอง ส่วนคนที่ขายเงินบาท ก็คือ คนไทยที่ต้องการไปซื้อตราสารดังกล่าวในต่างประเทศ หรือต่างชาติที่มาลงทุนในไทยแล้วต้องการขนเงินกลับบ้าน
และผมก็ได้ไปเปิดดู ดุลบัญชีทุนเคลื่อนย้าย (Capital account) ซึ่งเป็นบัญชีที่บันทึกธุรกรรม เงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศของไทย ก็พบว่า ตั้งแต่ต้นปี มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาซื้อบริษัทไทย หุ้นไทย พันธบัตรไทย มากกว่าเงินทุนไหลออกไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นจำนวนอีกประมาณ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็หมายถึงในตลาดนี้ก็มีความต้องการซื้อเงินบาทสุทธิเช่นกัน
ดังนั้น เมื่อรวมทั้ง 2 ตลาดเข้าด้วยกัน ก็จะพบว่าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีความต้องการซื้อสินค้า บริการ และสินทรัพย์ของไทย มากกว่า ความต้องการซื้อสินค้า บริการ และสินทรัพย์ต่างประเทศ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ มีความต้องการซื้อเงินบาท มากกว่าความต้องการขายเงินบาท ดังนั้น ตามกฎของ Demand และ Supply ที่ได้กล่าวมาแล้ว ค่าเงินบาทจึงน่าจะแข็งค่าขึ้น
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเท่าไรนั้น ยังไม่ได้จบเพียงเท่านี้ เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่สามารถกระทบค่าเงินบาทได้ด้วย เช่น นโยบายการเงินและการแทรกแซงค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศ ซึ่งผมจะกล่าวถึงในตอนต่อไปในฉบับหน้าครับ
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
คิดถึง ดร.ธวัช มกรพงศ์
โพสต์ที่ 3
คู่มือวิเคราะห์ค่าเงินบาท ฉบับชาวบ้าน (ตอนที่ 2)
มุมเอก : ดร.เอก เศรษฐศาสตร์ [email protected]
กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2549
วันนี้ ผมจะขอวิเคราะห์ค่าเงินบาทแบบชาวบ้านๆ เป็นตอนที่ 2 ต่อจากเมื่อสองสัปดาห์ก่อนนะครับ ขณะที่ผมเริ่มลงมือเขียนคอลัมน์มุมเอกในฉบับนี้ ผมได้พลิกกลับไปอ่านคอลัมน์ฉบับก่อนว่าเขียนไว้อย่างไร จะได้เขียนให้ต่อเนื่องกันหน่อย ถึงกับตกใจเลยครับว่า เวลาผ่านไปแค่ 2 อาทิตย์เท่านั้น ค่าเงินบาทเราแข็งขึ้นจากประมาณ 36 บาทกว่าๆ มาเป็น 35 บาทกว่าๆ ต่อดอลลาร์สหรัฐ นี่ถ้าผมขายเงินดอลลาร์ที่ฝากไว้ตอนทำงานอยู่ต่างประเทศ เมื่อสองอาทิตย์ก่อน คงได้กำไรฟรีๆ ไปแล้วเกือบ 3% ดีกว่าฝากเงินออมทรัพย์ไว้ในธนาคารตั้งเยอะ
คราวนี้ลองนำคู่มือวิเคราะห์ค่าเงินบาทเมื่อฉบับก่อน เรื่อง "ปัจจัยกำหนดค่าเงินบาท" มาวิเคราะห์ดูซิครับว่าทำไมค่าเงินบาทถึงแข็งค่าขึ้นเร็วนักในช่วง 2 อาทิตย์นี้ (จะได้ถือเป็นการทบทวนไปด้วยในตัว) ผมพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นมากในช่วงนี้ มาจากการที่ต่างชาติเข้ามาซื้อสินทรัพย์ไทย โดยเฉพาะพันธบัตรและตราสารหนี้ไทยจำนวนมาก และนี่ก็คือเหตุผลที่ทำไมราคาพันธบัตรไทยจึงปรับสูงขึ้น และทำไมผลตอบแทน Yield ของตราสารหนี้ในระยะต่างๆ จึงปรับลดลงเร็วมากเช่นกัน
ท่านทั้งหลายที่อ่านมาถึงตรงนี้ อาจจะเริ่มสงสัยแล้วว่า ทำไมพันธบัตรไทยเราถึงเนื้อหอมนัก มีอะไรดีหรือไง ฝรั่งถึงมาซื้อเอาๆ ในตอนนี้ คำตอบก็คือ ต่างชาติเขาเห็นว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรไทย อยู่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร ของเกือบทุกประเทศในภูมิภาค (ดูตารางผลตอบแทนพันธบัตรที่แนบ) ยกเว้นเพียงประเทศอินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ซึ่งมีปัญหาเงินเฟ้อสูงกว่าประเทศอื่นๆในภูมิภาค และต่างชาติก็เริ่มคาดการณ์ด้วยว่าอัตราดอกเบี้ยของไทย น่าจะปรับตัวลดลงเร็วๆ นี้ ตามอัตราเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มลดลง
ท่านลองสมมติตัวเองเป็นนักลงทุนต่างชาติดูแล้วกันนะครับว่า หากเมื่อเดือนก่อนท่านซื้อพันธบัตรระยะ 10 ปีที่มีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่เกือบ 5% ในราคา 100 บาท แต่วันนี้อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดปรับลดลงมาอยู่ที่ 4.8% พันธบัตรที่ท่านถืออยู่นี้ก็จะหอมกรุ่นและมีค่าขึ้นมาทันที มีแต่คนมาอยากซื้อพันธบัตรต่อจากท่านในราคาที่สูงกว่าต้นทุนที่ท่านซื้อมา ดังนั้น หากท่านตัดสินใจขายพันธบัตรดังกล่าว ท่านก็จะได้กำไรจากส่วนต่างของราคาทันที อีกทั้งท่านยังโชคดีได้กำไรอีก 1 เด้ง จากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นด้วย
คราวนี้มาลองดูต่อซิครับว่า ถ้าแบงก์ชาติไม่ต้องการให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจะทำอะไรได้บ้าง วิธีแรกก็คือ มาตรการที่เพิ่งประกาศไปเมื่อเร็วๆ นี้ที่จะควบคุมธุรกรรมเงินบาทของต่างชาติที่เข้ามาเก็งกำไร ซื้อขายในตราสารหนึ้ระยะสั้นต่างๆ ซึ่งผมคิดว่าก็คงจะช่วยได้บ้าง แต่คงไม่มากเท่าไหร่เพราะว่ายังเกาไม่ถูกที่คัน วิธีที่สองก็คือ การผ่อนคลายให้ผู้ที่มีรายได้เงินตราต่างประเทศ(ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือผู้ส่งออก) ให้มีสิทธิในการถือครองเงินตราต่างประเทศนานขึ้นจาก 7 วัน เป็น 15 วัน ซึ่งผมก็คิดว่าวิธีนี้ก็คงช่วยได้บ้างเล็กน้อย แต่คงไม่มากนัก เพราะผู้ส่งออกที่ไหนหล่ะครับที่อยากจะถือเงินดอลลาร์ไว้นานขึ้นอีก 7-8 วัน ทั้งๆ ที่รู้ว่าค่าเงินบาทอาจจะแข็งต่อไปอีกได้ วิธีที่สามก็คือ ออกมาตรการให้นักลงทุนไทย เคลื่อนย้ายเงินทุนไปลงทุนต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งผมคิดว่ามาตรการนี้เป็นมาตรการที่ดีในระยะยาวนะครับ เพราะนักลงทุนไทยจะได้มีโอกาสบริหารความเสี่ยงจากตราสารต่างประเทศได้มากขึ้น แต่ในระยะสั้นนี้ ผมว่าคงไม่ค่อยมีนักลงทุนที่อยากไปลงทุนต่างประเทศมากเท่าไหร่ เพราะอาจจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงแทนที่จะลดความเสี่ยงก็ได้
อีกวิธีที่แบงก์ชาตินิยมใช้เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินมาโดยตลอด ก็คือ การแทรกแซงตลาดโดยการเข้าซื้อดอลลาร์ โดยพิมพ์เงินบาทออกมาแลก แต่วิธีการนี้ไม่ไช่ทำได้ฟรีๆ นะครับ เพราะแบงก์ชาติมีต้นทุนที่จะต้องออกพันธบัตร ไปดูดซับสภาพคล่องที่ตัวเองพิมพ์เงินบาทออกมา มิฉะนั้นสภาพคล่องก็จะล้นระบบและทำให้เกิดเงินเฟ้อได้ ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกพันธบัตรไปดูดซับสภาพคล่องค่อนข้างมาก (ราวๆ 7 แสนล้านบาท) หากท่านลองคูณอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรที่ธปท.ต้องจ่ายเป็นค่าดูดซับสภาพคล่องซึ่งมีต้นทุนใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ย RP 14วัน ที่ประมาณ 5% ก็จะพบว่าแบงก์ชาติมีต้นทุนในส่วนนี้ตกประมาณปีละ 3.5 หมื่นล้านบาท อ้าว! แล้วใครหล่ะครับที่ได้ประโยชน์ คำตอบก็คือ สถาบันการเงินทั้งหลายที่มีสภาพคล่องล้นระบบ เพราะสถาบันการเงินเหล่านี้มีต้นทุนดอกเบี้ยเงินฝาก จ่ายแค่ประมาณ 2-3% แต่มาลงทุนซื้อพันธบัตรแบงก์ชาติ เพื่อรับดอกเบี้ยสบายๆ 5% แถมยังไม่ต้องเหนื่อยแรง ต้องคอยเร่งหาลูกค้าเพื่อปล่อยสินเชื่ออีกด้วย
สุดท้ายนี้ ผมเห็นว่าวิธีที่จะเกาให้ถูกที่คันที่สุดในเวลานี้ ก็คือ การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย RP 14วันลง นักเก็งกำไรต่างชาติเขาจะได้หมดโอกาสในการเก็งกำไรจากดอกเบี้ยซะที แบงก์ชาติเอง ก็จะได้ลดต้นทุนในการแทรกแซงค่าเงิน และการดูดซับสภาพคล่องด้วย นอกจากนั้น ผมยังเห็นว่าสถานการณ์ในปัจจุบันนี้ที่ความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อลดลงไปมาก อีกทั้งข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งของแบงก์ชาติเองก็ออกมาในทิศทางเดียวกันว่าการใช้จ่ายภายในประเทศชะลอตัวลงมาก ดังนั้น จะมีประโยชน์อะไรครับที่จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงในระดับนี้ต่อไป
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
คิดถึง ดร.ธวัช มกรพงศ์
โพสต์ที่ 4
ลืมลงตารางคับ ขออภัย..
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
คิดถึง ดร.ธวัช มกรพงศ์
โพสต์ที่ 5
โอ.. สงสัยป๋มจาเบลอ...
ขอความกรุณาแอดมีนลบ reply 1-4 ด้วยค้าบ
จริงๆต้องนำไปขึ้นทู้ใหม่ :lol:
ขอความกรุณาแอดมีนลบ reply 1-4 ด้วยค้าบ
จริงๆต้องนำไปขึ้นทู้ใหม่ :lol:
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
คิดถึง ดร.ธวัช มกรพงศ์
โพสต์ที่ 6
อำลา-อาลัย ธวัช มกรพงศ์: แบบอย่างของข้าราชการนักสู้ผู้รักชาติ-รักแผ่นดิน
โดย ศิษย์ธรรมศาสตร์ 20 ธันวาคม 2549 14:03 น.
ข่าวการเสียชีวิตอย่างสงบของ ดร.ธวัช มกรพงศ์ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัย และข้าราชการมหาดไทยผู้เป็นแบบอย่างในการต่อสู้กับการคอร์รัปชัน ยืนหยัดต่อสู้และพิทักษ์ผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างถึงที่สุด ดร.ธวัช มกรพงศ์ ถือเป็นแบบอย่างที่งดงามของบุคคลผู้ทำงานรับใช้สังคมด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ยืนหยัดแน่วแน่ในอุดมการณ์และมุ่งมั่นให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม ดร.ธวัช มกรพงศ์ เป็นอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดที่เรียกได้ว่าเป็นผู้ว่าฯ ตงฉินที่โดดเด่นและสง่างามที่สุดคนหนึ่งของเมืองไทย ดร.ธวัช มกรพงศ์ จากพวกเราไปแล้ว พิธีพระราชทานเพลิงศพเพิ่งเสร็จสิ้นไปเมื่อวันเสาร์ที่ 16 ธ.ค.นี้ ท่ามกลางความโศกเศร้าเสียใจทั้งในหมู่มวลมิตรสหาย ลูกศิษย์-ลูกหาและปวงประชาชนผู้รักชาติรักความเป็นธรรมทั่วประเทศ
ดร.ธวัช มกรพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2475 ที่อำเภอสีคิ้ว จ.นครราชสีมา เป็นลูกชาวบ้านธรรมดา บิดาชื่อนายบู่ มารดาชื่อนางนาง มกรพงศ์ เรียนหนังสือชั้นประถมที่โรงเรียนไทยวัฒนาประชารัฐ ระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนสวัสดิ์ผดุงวิทยา จากนั้นมาเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาในกรุงเทพฯ สอบเข้าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และจบปริญญาตรีเกียรตินิยม ในปี พ.ศ. 2498
ดร.ธวัช มกรพงศ์ เป็นอาจาร์ยสอนในคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ พักหนึ่ง แล้วสอบได้ทุนฟุลไบร์ท ไปเรียนจบปริญญาโท รัฐศาสตร์ที่สหรัฐอเมริกา กลับมาไทยในช่วงสั้นๆ ได้ทุนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปเรียนปริญญาโททางเศรษฐศาสตร์ และจบปริญญาเอกทางรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา
ชีวิตราชการเริ่มต้นโดยเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2505 อันเป็นปีแรกที่เพิ่งก่อตั้งคณะนี้ ด้วยการทุ่มเทแรงกายแรงใจของ ดร.อดุล วิเชียรเจริญ ลูกศิษย์ที่เรียนคณะศิลปศาสตร์ รุ่น 1 ยังจดจำคำสอน ดร.ธวัช มกรพงศ์ ได้ชัดเจน และลูกศิษย์หลายคนเป็นนักการเมืองระดับชาติที่ ดร.ธวัช มกรพงศ์ เอ่ยถึงด้วยความชื่นชมอยู่เสมอ เช่น นายบัญญัติ บรรทัดฐาน, นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี, นายสุทัศน์ เงินหมื่น รวมทั้งนายประจวบ ไชยสาสน์
พ.ศ. 2507 ดร.ธวัช มกรพงศ์ โอนมาสังกัดกระทรวงมหาดไทย ประจำกรมการปกครอง ช่วยงานเร่งรัดพัฒนาชนบทที่นครพนมแล้วย้ายไปเชียงราย
พ.ศ. 2509-2511 ดร.ธวัช มกรพงศ์ เป็นปลัดที่กาฬสินธุ์, สตูล, ชัยนาท แล้วย้ายเข้ากรุงเทพฯ มาเป็นหัวหน้ากองการข่าวและการต่างประเทศ สำนักปลัดมหาดไทย
พ.ศ. 2515 เป็นรองผู้ว่าฯ เชียงราย แล้วขยับขึ้นเป็นผู้ว่าฯ ที่จังหวัดนี้ในปี พ.ศ. 2517 จากนั้นย้ายไปเป็นผู้ว่าฯ พังงา, ลำพูน พอสั่งปิดเหมืองแม่วะที่ปล่อยน้ำเสียทำลายต้นน้ำลำธารและทำให้เกษตรกรเดือดร้อนก็โดนย้ายเข้าประจำกระทรวงในปี พ.ศ. 2519
พ.ศ. 2519 เป็นช่วงที่บ้านเมืองเกิดการฆ่าฟันกันนองเลือดเมื่อวันที่ 6 ต.ค. และเป็นช่วงที่ ดร.ธวัช มกรพงศ์ บอกว่า เบื่อหน่ายสุดขีด มองไม่เห็นอนาคต จึงขอลาออกจากราชการ
แต่พอในปี 2521 ดร.ธวัช มกรพงศ์ ก็กลับเข้ารับราชการอีกครั้ง เป็นอาจารย์สอนคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ, ปี พ.ศ. 2522 ได้เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ต่อมาเส้นทางชีวิตทำให้หวนกลับไปเป็นผู้ว่าฯ สมุทรปราการ, มหาสารคาม, อุตรดิตถ์, พิจิตร สลับมาเป็นผู้ตรวจราชการมหาดไทยช่วงสั้นๆ แล้วโยกไปเป็นผู้ว่าฯ สุโขทัย, ชลบุรี โดยเกษียณอายุที่ชลบุรี
ดร.ธวัช มกรพงศ์ ได้รับรางวัลบุคคลดีเด่นแห่งชาติ สาขาการพัฒนาการปกครอง จากคณะกรรมการเอกลักษณ์แห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี
ได้รับรางวัลผู้บริหารดีเด่นครุฑทองคำ จากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)
ได้รับรางวัลข้าราชการซื่อสัตย์สุจริต จากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.)
ประวัติของนักปกครองผู้นี้ โลดแล่นอยู่ในสายงานปกครองเกือบตลอดชีวิตและการเป็น พ่อเมือง ก็ไม่ได้ทำให้เขาติดยึดอยู่กับยศถาบรรดาศักดิ์ ตรงกันข้ามเขายังติดดินเป็นผู้ว่าฯ ของประชาชนผู้ทุกข์ยาก...เป็นผู้ว่าฯ ที่นั่งอยู่ในหัวใจประชาชนจริง ๆ
อุปนิสัยส่วนตัว ดร.ธวัช มกรพงศ์ เป็นคนนอบน้อมถ่อมตัว สุภาพอ่อนโยน และจริงใจกับสุจริตชน แต่เมื่อใดก็ตามที่เห็นความไม่เป็นธรรม พบเห็นร่องรอยการทุจริตคดโกง ดร.ธวัช มกรพงศ์ ไม่เคยรั้งรอที่จะใช้อำนาจหน้าที่ฟาดฟันโดยไม่เห็นแก่หน้าใคร
ผลงานเด่น ๆ ซึ่งเป็นผลงานที่มีผู้ระบุว่า เป็นการกระทำโดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง ทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ทำเพื่อต่อต้านการทุจริตคดโกงในสังคมไทย สรุปได้ดังนี้
1. ขณะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา ได้ร่วมกับนักศึกษาและประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลสมัยนั้น (รัฐบาลชุด ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี) เพิกถอนประทานบัตรบริษัทเท็มโก้ ซึ่งได้มาโดยผิดระเบียบผิดกฎหมายของบริษัทต่างชาติที่เข้ามายึดครองน่านน้ำไทยผูกขาดการขุดแร่ในทะเลอันดามัน ทั้งนี้ เพราะแร่อันเป็นทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้เป็นสมบัติของแผ่นดินไทยไม่สมควรยกให้ต่างด้าวผูกขาดทำ แต่ควรเปิดเสรีให้คนไทยมีสิทธิ์หาแร่ในขอบเขตที่กฎหมายกำหนดอย่างเท่าเทียมกัน
การต่อสู้ครั้งนี้ประสบความสำเร็จและเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่จารึกอยู่ในความทรงจำของประชาชนทั่วประเทศตราบจนถึงปัจจุบัน
2. สั่งปิดเหมืองแร่พลวงแห่งหนึ่งสมัยเป็นผู้ว่าฯ ในภาคเหนือจังหวัดหนึ่ง สาเหตุเป็นเพราะเหมืองแร่แห่งนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่ได้ละเมิดทำเหมืองแร่โดยพลการ มีการปล่อยน้ำเสียลงไร่นาราษฎรจนเพาะปลูกพืชไม่ได้ผล และน้ำเสียยังทำลายแหล่งต้นน้ำลำธารที่เป็นเส้นเลือดใหญ่หล่อเลี้ยงชีวิตเกษตรกรจำนวนนับหมื่นนับแสนคน
3. การต่อสู้กับการทุจริตและประพฤติมิชอบในการสอบคัดเลือกครูสังกัดสำนักงานประถมศึกษาในจังหวัดภาคอีสานแห่งหนึ่ง ทั้งนี้เพราะมีการทุจริตเป็นกระบวนการใหญ่ใช้อุบายเรียกเงินจากผู้สมัครกว่า 300 คน คนละ 30,000 บาท โดยหลอกลวงว่าจะช่วยทำให้สอบได้ ดร.ธวัช มกรพงศ์ ในฐานะผู้ว่าฯ ทำลายแผนการของ เหลือบ โดยสั่งยกเลิกการสอบ และให้จัดให้มีการสอบใหม่เพื่อความยุติธรรม
4. ต่อสู้กับการจัดซื้อ, จัดจ้างของทางราชการในจังหวัดภาคอีสานแห่งหนึ่ง เพราะสืบพบว่ามีการรวมหัวกันทุจริต โดยสั่งทบทวนการจัดซื้อ, จัดจ้างใหม่ เป็นผลให้ทางราชการประหยัดเงินได้ถึง 81 ล้านบาท
5. สมัยเป็นผู้ว่าฯ จังหวัดภาคเหนือแห่งหนึ่งได้ต่อสู้กับกระบวนการทุจริตเรื่องการจัดซื้อ, จัดจ้างของทางราชการเช่นกัน เป็นผลให้สามารถประหยัดเงินแผ่นดินได้ 19 ล้านบาท
6. ต่อสู้กับการทำลายป่าไม้ในจังหวัดภาคเหนือ โดยสู้อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางฝูงหมาป่าที่มีทั้งพวกพ่อค้าและผู้อยู่ในเครื่องแบบราชการด้วยกันรุมเล่นงาน
ดร.ธวัช มกรพงศ์ ต่อสู้กับระบบการทำงานที่ล้าหลังในวงราชการ สู้กับอำนาจอิทธิพลของกลุ่มที่เห็นแก่ประโยชน์และพวกพ้องในแต่ละจังหวัดอย่างกล้าหาญ แม้กระทั่งต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีเพราะการทำหน้าที่โดยไม่เห็นแก่หน้าใครซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดน้อยคนนักที่จะกล้าหาญเช่นนี้
ดร.ธวัช มกรพงศ์ มีภริยาคู่ทุกข์คู่ยาก คือแพทย์หญิงประไพพักตร์ มกรพงศ์ ซึ่งหลังจากท่านปลดเกษียณ เป็นข้าราชการบำนาญ พักอยู่บ้านเช่าหลังเล็กๆ ในย่านเมืองใหม่ ชลบุรี สิ่งที่ท่านได้รับจากระบบราชการก็คือเงินบำนาญแค่เดือนละ 13,000 บาท ที่ได้น้อยก็เพราะเคยลาออกจากราชการช่วงหนึ่ง แล้วกลับเข้ารับราชการใหม่อายุงานจึงสะดุดลง และมีรายได้จากภริยาแพทย์หญิงประไพพักตร์คอยเสริมอีกแรงหนึ่ง ทรัพย์สินอย่างอื่นท่านก็บอกว่ายังพอมีอยู่บ้าง
ดร.ธวัช มกรพงศ์ ป่วยด้วยโรค Motor Neuron Disease (มอเตอร์ นิวโรน ดิซีส) ซึ่งเป็นโรคที่เกิดกับคนในระหว่าง 50-60 ปี มีอาการกล้ามเนื้อลีบทั้งตัวเพราะระบบประสาทจากกระดูกสันหลังไม่ทำงาน การเคลื่อนไหวร่างกายตั้งแต่ช่วงคอลงมาเป็นอัมพาต และในปี พ.ศ. 2537 ท่านหายใจไม่ได้ ต้องส่งเข้ารักษาพยาบาลในห้องไอซียู ที่โรงพยาบาลชลบุรี ใช้เครื่องช่วยหายใจ จนกระทั่งต้องให้อาหารผ่านทางสายยางแทนการป้อนใส่ปากให้รับประทาน เนื่องจากไม่อาจรับประทานได้เหมือนเดิม
ณ วันนี้...ดร.ธวัช มกรพงศ์ ได้จากพวกเราไปก็แต่เพียงร่างกาย แต่คุณงามความดี วีรกรรมที่รักชาติ รักแผ่นดิน และอุดมการณ์ในการต่อสู้กับทรชนคนโกงชาติโกงแผ่นดินอย่างเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ของท่านจักได้...รับการสืบทอด เชิดชู และสดุดี ตลอดไป
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
คิดถึง ดร.ธวัช มกรพงศ์
โพสต์ที่ 7
ข้อมูลเพิ่มเติมของ ดร.ธวัช มกรพงศ์ ที่พอจะหาได้ ตามไปดูที่นี่คับ..
http://www.google.co.th/search?hl=th&q= ... ogle&meta=
http://www.google.co.th/search?hl=th&q= ... ogle&meta=