ส่องกล้องเศรษฐกิจ : รางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี 2549
รางวัลระดับโลกที่มีชื่อเสียงและนับเป็นเกียรติประวัติสูงสุด ของผู้ที่ได้รับรางวัลที่เป็นที่รู้จักและได้รับการยกย่องมากที่สุด ก็คือ รางวัลโนเบล ในวันนี้ก็จะขอเล่าให้ฟังถึงผู้ที่รับรางวัลในสาขาเศรษฐศาสตร์ทางด้านเศรษฐกิจ และผลงานที่นับเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวาง
ก่อนอื่นก็คงพูดถึงที่มาของรางวัลนี้ก่อนนะคะ รางวัลโนเบลนี้จัดตั้งขึ้นเพื่อเจตจำนงของนายอัลเฟรด โนเบิล (Alfred Nobel) ซึ่งได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิอัลเฟรด โนเบลขึ้นมาในปี ค.ศ. 1900 และได้มีการนำเอาสินทรัพย์ที่จัดตั้งเป็นกองทุนไปลงทุนหาดอกออกผล การลงทุนจะเน้นการรักษาเงินต้นและการสร้างเงินกองทุนให้งอกเงย และในแต่ละปีจะมีการพิจารณามอบเงินรางวัลให้กับผู้ที่มีผลงานโดดเด่นในสาขาวิชาชีพ ได้แก่ การแพทย์ ฟิสิกส์ วรรณกรรม และสันติภาพ ซึ่งได้มีการพิจารณาให้รางวัลมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1901 สำหรับรางวัลด้านเศรษฐศาสตร์ได้เพิ่งพิจารณาเสนอเพิ่มขึ้นมาโดยธนาคารกลางของประเทศสวีเดนใน ปี ค.ศ. 1968 เป็นต้นมา
ขนาดเงินกองทุนโนเบลในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่เงินรางวัลของแต่ละสาขามีมูลค่าเท่ากันประมาณ 10 ล้านโครน (สวีเดน) หรือประมาณ 1.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับในสาขาเศรษฐศาสตร์ในปีนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลเป็นอาจารย์สอนวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ชื่อ ศาสตราจารย์ Edmund S. Phelps ในปัจจุบันมีอายุ 73 ปี และมี ผลงานที่ทำให้ได้รับรับรางวัลโนเบลในปีนี้คือ บทวิเคราะห์ที่อธิบายการแลกเปลี่ยนกัน (trade off) ของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคระหว่างมาตรการเศรษฐกิจระยะสั้นกับผลกระทบทางเศรษฐกิจระยะยาว ฟังดูชื่อแล้วอาจจะยุ่งยากแต่นักเศรษฐศาสตร์มหภาครู้จักกันดี คือ เส้นฟิลิป (Phillips Curve) ซึ่งแสดงถึงการที่ต้องแลกเปลี่ยนกันหรือ trade off ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน
ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ได้ใช้แนวทฤษฎีเรื่องเส้นฟิลิปนี้มาใช้กันอย่างแพร่หลาย ในความพยายามที่จะต้องรักษาความสมดุลระหว่างอัตราเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงาน เราจะเห็นได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือธนาคารกลางแห่งประเทศไทยโดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ใช้ในการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับการส่งสัญญาณต่อตลาด หรือใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่ปรับขึ้นหรือลงเพื่อรักษาเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงหรือถดถอยที่มากเกินไป
ตัวอย่างที่ชัดเจนคือถ้าหากอัตราเงินเฟ้อสูง ธนาคารกลางมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยสูงในการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจลงในการดึงให้อัตราเงินเฟ้อลง ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนี้จะต้องแลกกับการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจและหมายถึงการเพิ่มขึ้นของการว่างงาน ในขณะหนึ่งขณะใดผู้บริหารนโยบายการเงินของประเทศจะต้องรักษาสมดุลดังกล่าว และอัตราเงินเฟ้อ ณ ขณะหนึ่งขณะใดก็จะเป็นตัวกำหนดคาดหวังของเงินเฟ้อในอนาคตด้วย
นอกจากผลงานที่อธิบายการแลกเปลี่ยนกันระหว่างอัตราเงินเฟ้อกับอัตราการว่างงานแล้วท่านยังได้เน้นวิเคราะห์ถึงการแลกเปลี่ยนกันของการออมและการลงทุน แนวคิดของท่านคือการชะลอการใช้จ่ายเงินเพื่อการบริโภคในปัจจุบัน (ซึ่งก็คือการออม) และถ้าหากเงินนั้นถูกนำไปใช้สำหรับการวิจัย การศึกษาและการลงทุนแล้วก็จะทำให้สภาวการณ์เศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวแล้วจะดีขึ้น
ศาสตราจารย์เฟลส์เป็นชาวอเมริกันคนที่ 6 ที่ได้รับรางวัลโนเบลในปีนี้ยกเว้นรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพซึ่งตกเป็นของนักต่อสู้ความยากจนชาวบังกลาเทศ ศาสตราจารย์เฟลส์ เกิดที่เมืองชิคาโก สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยแอมเฮิร์ส (Amherst College) และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยเยล และได้มาร่วมงานสอนที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในปี ค.ศ. 1971
สำหรับรางวัลโนเบลในสาขาอื่นๆ ของปีนี้จะตกเป็นของชาวอเมริกันเกือบทั้งหมดดังนี้ สาขาการแพทย์ตกเป็นของ นาย Andrew Z Fire ร่วมกับนาย Craig C. Mello สำหรับผลงานวิจัยการค้นพบวิธีที่จะระงับหรือหยุดยั้งผลกระทบบางประการของยีน สาขาฟิสิกส์เป็นของนาย John C.Mather ร่วมกับนาย George F. Smoot สำหรับผลงานในการค้นพบซีเมนต์เป็นตัวจุดประกายทฤษฎีการสร้างจักรวาล และ รางวัลสาขาเคมีได้แก่ นาย Roger D. Kornberg สำหรับผลงานการศึกษาเรื่องเซลล์สามารถใช้ข้อมูลจากยีนสำหรับสร้างโปรตีน ซึ่งการศึกษานี้จะนำไปสู่การศึกษาต่อเนื่องถึงกระบวนการที่จะชนะต่อโรคมะเร็งและการวิจัยเรื่องสเต็มเซลล์ต่อไป
ล่าสุดคือรางวัลในสาขาสันติภาพได้แก่ นายมูฮัมหมัด ยูนัส และแกรมิน แบงก์หรือธนาคารคนจน ซึ่งได้เริ่มต้นจัดตั้งขึ้นในประเทศบังกลาเทศและได้มีการนำไปใช้ในประเทศต่างๆ ในการช่วยแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งเป็นความแปลกใหม่จากเดิมที่รางวัลสันติภาพจะให้กับผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการเจรจาหรือยุติความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคต่างๆ ของโลก
ดร.อาภรณ์ ชีวะเกรียงไกร