ดร. ภาพร เอกอรรถพร
เมื่อวานนี้ เวลา 15:02 น. ·
สัญญาณเตือนการล่มสลายของบริษัทจดทะเบียน
(บทความต่อเนื่องจาก “ไม่ใช่งูก็พ่นพิษได้”)
แม้จะชอบเขียนหนังสือ แต่บางครั้งก็รู้สึกว่าไม่ง่าย ผู้เขียนนั่งเขียนลบ เขียนแก้ บทความเดียวมาเป็นเวลา 4 วัน ในที่สุดก็โยนทิ้ง เพราะยิ่งเขียนยิ่งอ่านก็ยิ่งไม่เป็นสับปะรด (น่าจะเขียนเรื่องสับปะรดไปเสียเลยจะได้อ่านเป็นสับปะรด) อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนได้เคยเขียนบทความไว้บทหนึ่งและเคยโพสให้อ่านไปแล้วในอดีต บทความนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับบริษัทจดทะเบียน ผู้เขียนเลยกลับไปหยิบบทความมาปัดฝุ่นแก้ไข ใครที่เคยอ่านบทความนี้มาแล้วก็ข้ามไปได้เลย
ในตอนก่อนๆ เราคุยกันถึงบริษัทกรุ๊ปลีสที่ราคาหุ้นร่วงจากกว่า 50 บาท ลงมาประมาณ 5 บาท (ปี 2560) จวบจนทุกวันนี้ ราคาหุ้นของกรุ๊ปลีสก็ยังไม่เคยขึ้นไปแตะระดับเดิม ตอนที่เขียนถึงกรุ๊ปลีสก็ให้นึกถึงหนังสือของอาจารย์มาเรียน เจนนิงส์ เรื่อง “Seven Signs of Ethical Collapse: How to Spot Moral Meltdowns Before It’s Too Late ” (สัญญาณเตือน 7 ประการของการล่มสลายทางจริยธรรม – ทำอย่างไรเราถึงจะสามารถทำนายจุดหลอมละลายได้ก่อนที่จะสายเกินไป) อาจารย์เจนนิงส์เขียนหนังสือเล่มนี้หลังจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก (เช่น เอนรอน เวิร์ลคอม ฯลฯ) พากันตกแต่งบัญชีจนเศรษฐกิจพังพินาศไปเป็นแถบๆ (ประมาณปี 2543)
ในขณะนั้น ทุกคนพากันชี้นิ้วไปที่ความล้มเหลวของบริษัท แต่อาจารย์เจนนิงส์แนะนำว่า เราควรใช้ปฏิบัติการเชิงรุกในการรับมือกับความล้มเหลวของบริษัทโดยการหาข้อบ่งชี้ว่าบริษัทใดจะพาตัวเองไปถึงจุดของการล่มสลาย
ปฏิบัติการเชิงรุกที่ว่า คือการทำนายการล่มสลายของจริยธรรมก่อนที่บริษัทจะก้าวไปถึงจุดหลอมละลาย อาจารย์เจนนิงส์ทำวิจัยเกี่ยวกับบริษัทที่ล้มไปมากมาย แล้วสรุปลักษณะที่เหมือนกันของบริษัทเหล่านั้นได้ 7 ประการ ในบทความนี้ เราจะพูดถึงสัญญาณเตือนทั้ง 7 ประการของอาจารย์เจนนิงส์ และลองนำสัญญาณเตือนเหล่านี้มาใช้ทดลองดูว่า ถ้าเราใช้สัญญาณเตือนนี้กับบริษัทกรุ๊ปลีสก่อนปี 2560 เราจะสามารถทำนายได้หรือไม่ว่ากรุ๊ปลีสจะประสบชะตากรรมสาหัส (ถึงแม้จะยังไม่ล่มสลาย แต่ก็ยังให้เกิดความล่มสลายกับนักลงทุนบางคน)
ก่อนอื่นต้องขอออกตัวว่า บทความนี้ถือเป็นกรณีศึกษาของเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตโดยไม่ได้นำข้อมูลใหม่หรือข้อมูลที่เป็นปัจจุบันมาวิเคราะห์ร่วมด้วยแต่อย่างใด (ปัจจุบันเป็นอย่างไรไม่รู้... ว่างั้นเถอะ)
ตอนนี้เราจะไล่ให้ฟังถึงสัญญาณเตือนทั้ง 7 ประการ และทำการวิเคราะห์ว่า สัญญาณเตือนข้อใดเข้าข่ายสถานการณ์ของกรุ๊ปลีส
สัญญาณเตือนข้อที่ 1 ความกดดันที่จะต้องรักษาระดับข้อมูลตัวเลข (Pressure to maintain numbers) บริษัทมีความกดดันที่ต้องแสดงให้คนเห็นว่า ผลประกอบการของบริษัทสูงอย่างต่อเนื่อง (ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากในระยะยาว) เพราะหากผลการดำเนินงานลดลง ราคาหุ้นก็จะตก เมื่อบริษัทต้องการรักษาระดับราคาหุ้น บริษัทจะพยายามหาวิธีแสดงตัวเลขรายได้ ตัวเลขกำไร อัตราผลตอบแทน หรืออัตราการเติบโตให้สูงอยู่เสมอ สำหรับบริษัทกรุ๊ปลีส รายการบัญชีที่บริษัททำขึ้น มีผลทำให้ตัวเลขกำไรเพิ่มขึ้นถึง 38% แต่การเพิ่มขึ้นของกำไรเกิดจากรายได้ดอกเบี้ยของเงินที่ให้กู้ยืมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องกัน (บริษัทได้ทำการแก้ไขงบการเงินย้อนหลังโดยปรับตัวเลขกำไรให้น้อยลงในงบการเงินไตรมาส 3 ปี 2560)
จากข้อมูลที่ได้รับ เราจะเห็นว่าสัญญาณเตือนข้อที่ 1 สามารถนำมาใช้ได้กับกรุ๊ปลีส
นิทานเรื่องนี้สอนว่า ถ้านักลงทุนเห็นตัวเลขที่สวยเกินจริงเป็นเวลาต่อเนื่องยาวนาน ก็ให้เตือนตัวเองว่าตัวเลขนั้นมันอาจไม่จริง ดังนั้น นักลงทุนควรนั่งวิเคราะห์ตัวเลข หาข้อมูลประกอบเพิ่มเติม และใช้วิจารณญาณก่อนการลงทุน
สัญญาณเตือนข้อที่ 2 คณะกรรมการบริหารอ่อนแอ (A weak board of directors) ในแง่ของบริษัท คณะกรรมการบริษัทที่อ่อนประสบการณ์หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนจะไม่สามารถให้ความเห็นหรือทำหน้าที่คานอำนาจกับกรรมการผู้จัดการ (CEO) ทำให้ CEO สามารถทำงานได้ตามอำเภอใจ ในประเด็นนี้ ผู้เขียนอยากเพิ่มเติมว่า ในกรณีที่คณะกรรมการบริษัทเป็นพวกเดียวกับ CEO (เช่น พรรคพวกหรือเครือญาติ) ก็จะทำให้ CEO มีอำนาจแข็งแกร่งขึ้นจนสามารถทำอะไรก็ได้เช่นเดียวกัน
ในแง่ของกรุ๊ปลีส เป็นที่ทราบกันว่า นายมิทซึจิ โคโนชิตะ (ประธานคณะกรรมการบริหารควบตำแหน่ง CEO) และนายทัตซึยะ โคโนชิตะ (กรรมการควบตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหาร) เป็นพี่น้องกัน นายมิทซึจิกินตำแหน่งใหญ่ควบทั้งประธานบอร์ดและ CEO (หาใหญ่กว่านี้ไม่มีแล้ว) ในขณะที่นายทัตซึยะก็นั่งตำแหน่งกรรมการควบประธานคณะกรรมการบริหาร (Chair of Executive Board) ดูจากตำแหน่งแล้ว บุคคลทั้งสองมีอำนาจค้ำฟ้าในบริษัท เข้าข่ายที่จะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ
จากข้อมูลที่ได้รับ เราพอวิเคราะห์ได้ว่าสัญญาณเตือนข้อที่ 2 นี้ก็สามารถนำมาใช้ได้กับกรุ๊ปลีส
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คณะกรรมการบริหารที่อ่อนแอเกินดีหรือแข็งแกร่งเกินดีย่อมมีแนวโน้มทำให้ CEO คิดการณ์ใดก็สำเร็จ นักลงทุนเมื่ออ่านรายชื่อคณะกรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่บริหารแล้ว ควรหาข้อมูลประกอบเพิ่มเติม ถ้าเห็นนามสกุลเดียวกันหลายคน หรือรู้ว่าเป็นเครือญาติหรือญาติดองกัน นักลงทุนควรต้องใช้วิจารณญาณในการลงทุน (อาจดูประวัติหรือเรื่องอื่นประกอบ)
สัญญาณเตือนข้อที่ 3 ผลประโยชน์ทับซ้อน (Culture of conflicts) ผลประโยชน์ทับซ้อนคือบ่อเกิดสำคัญของการล่มสลายทางจริยธรรม ผลประโยชน์ทับซ้อนทำลายบริษัท ทำลายชาติ ทำลายองค์กร ตามปกติ บริษัทควรจัดให้มีกลไกในการควบคุมให้คนในบริษัทปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน (เช่น ผู้บริหารไม่สามารถนำเงินบริษัทไปใช้ในทางส่วนตัว) มิฉะนั้น บริษัทจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในระยะยาวเพราะเงินของบริษัทจะหลุดไปเข้ากระเป๋าส่วนตัวหมด
สำหรับกรุ๊ปลีส การที่นายมิทซึจินั่งควบตำแหน่งประธานกรรมการบริหารและเจ้าหน้าที่บริหารถือเป็นเครื่องบ่งชี้อย่างหนึ่งว่า โอกาสที่ผลประโยชน์ทับซ้อนจะเกิดขึ้นนั้นมีมาก เนื่องการรวบอำนาจควบคุมทำให้ผู้บริหารสามารถอนุมัติรายการอะไรก็ได้เพราะไม่มีคานอำนาจมาฉุดรั้งไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน ดังนั้น ผู้เขียนจึงสรุปเองว่าสัญญาณเตือนข้อนี้มีมูล (แม้จะไม่มีข้อมูลที่ชี้ชัดลง) เพราะโอกาสที่จะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อนมีมากกว่าที่จะไม่เกิด
สัญญาณเตือนข้อที่ 4 นวัตกรรมโดดเด่นไม่เหมือนใคร (Innovation like no other) ตามปกติ นวัตกรรมที่คนสรรสร้างขึ้นเป็นเรื่องน่าชื่นชม แต่ทำไมนวัตกรรมใหม่จึงกลายเป็นหนึ่งในเจ็ดสัญญาณอันตราย เหตุผลอาจเป็นเพราะนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นเรื่องตื่นเต้นที่ต้องตาต้องใจนักลงทุน (เพราะนักลงทุนมักรอข่าวใหม่ที่จะทำให้ราคาหุ้นทยานขึ้น) ดังนั้น ผู้บริหารหัวแหลมจึงพยายามสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ แล้วกระพือข่าวให้นักลงทุนเสพเพื่อปั่นราคาหุ้น
สำหรับกรุ๊ปลีส เราจะเห็นว่าบริษัทตีข่าวเกี่ยวกับนวัตกรรมอิเล็คโทรนิคที่บริษัทใช้ในการปล่อยสินเชื่อจนทำให้บริษัทสามารถขยายตัวอย่างรวดเร็วไปในประเทศเพื่อนบ้าน จะจริงหรือเท็จอย่างไรเป็นเรื่องที่เราไม่รู้แน่ แต่ที่เรารู้แน่ๆ ก็คือ บริษัทมีนวัตกรรมบัญชีที่ไม่เป็นสองรองใคร (อ่าน “ไม่ใช่งูก็พ่นพิษได้”) เพราะบริษัทสามารถสร้างธุรกรรมทางการเงินจนทำให้กำไรพุ่งขึ้นมากมายทั้งที่สถานะทางเศรษฐกิจของบริษัทไม่เปลี่ยนแปลง (หรือเปลี่ยนแปลงไปในทางแย่ลง)
สรุปว่า นวัตกรรมใหม่ๆ อาจส่อให้เห็นแววปัญหา นักลงทุนอาจต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้บริหารหรือบริษัทที่ชอบประกาศนวัตกรรมใหม่ๆ (ชนิดที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน) เพราะนวัตกรรมนั้นอาจเป็นจริงหรืออาจเป็นแค่การสร้างข่าวให้แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ
สัญญาณเตือนข้อที่ 5 เอื้ออารีย์ในบางเรื่อง แต่เอาคืนในเรื่องอื่นอย่างชั่วร้าย (Goodness in some areas atones for evil in others) สัณญาณเตือนข้อนี้มีตัวอย่างให้เห็นอย่างดาษดื่น บริษัทบางแห่งบริจาคเงินมากมายเพื่อช่วยผู้ยากไร้ สนับสนุนการศึกษา พัฒนาสิ่งแวดล้อม แต่ในการค้าขาย ทั้งเอาเปรียบคู่แข่ง ลูกค้า พนักงาน ปล่อยน้ำเสียอากาศเป็นพิษให้ชุมชน ยึดที่หลวง ยิงสัตว์ป่า หรือทำอะไรก็ได้เพื่อเพิ่มตัวเลขกำไรหรือเอาประโยชน์เข้าตัว ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นเรื่องสุดท้ายที่บริษัทคำนึงถึง แต่กลับทุ่มโฆษณาชวนเชื่อให้เห็นว่าบริษัทมีจิตสาธารณะชอบทำประโยชน์ให้สังคม แต่ถ้าสังเกตให้ดีเราจะเห็นว่า การกระทำบางอย่างมันขัดกับภาพที่ปรากฎ ถ้าเราเห็นพฤติกรรมอย่างนั้น ก็ให้สังวรณ์ไว้ว่า นี่คือสัณญาณเตือนให้เห็นถึงอันตรายที่แฝงอยู่
กรุ๊ปลีสเป็นบริษัทใจดี ถ้าเราเข้าไปดูในเว็ปไซด์ของบริษัท เราจะพบว่ากรุ๊ปลีสทำประโยชน์ให้สังคมไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเป็นการแจกทุนการศึกษา เลี้ยงเด็กกำพร้า มอบสิ่งของจำเป็นแก่ผู้ยากไร้ แถมในอดีต กรุ๊ปลีสยังได้ระบุพันธกิจที่แสนกินใจว่า “to provide people (who have less access to finance) small, but very big and meaningful loans” (ให้สินเชื่อที่เล็กน้อย แต่ยิ่งใหญ่และมีความหมายกับประชาชนที่เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้) สัญญาณเตือนนี้ทำให้เราเห็นว่า บริษัทที่แสนจะมีน้ำใจอาจสามารถเชือดนักลงทุนได้อย่างไม่กระพริบตา
สัญญาณเตือนข้อที่ 6 คนหนุ่มสาวกับผู้บริหารความสามารถคับฟ้า (Young’uns and a bigger-than-life CEO) ผู้บริหารที่มีความสามารถล้นเหลือ สามารถใช้คำป้อยอหรืออำนาจข่มขู่ผู้ใต้บังคับบัญชาจนสามารถทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชายอมทำทุกอย่างที่ขอให้ทำโดยไม่มีข้อโต้แย้ง การบูชาหรือความกลัวผู้บริหารนั้นเป็นเรื่องล่อแหลม เพราะในการกระทำผิด ผู้บริหารไม่สามารถทำคนเดียวได้ต้องมีผู้รู้เห็นหรือร่วมกระทำผิด เช่น ผู้บริหารจะไม่สามารถแต่งบัญชีได้หากผู้อำนวยการบัญชีไม่ยอมทำตาม
ตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้มีให้เห็นมากมาย ตัวอย่างหนึ่งเกิดขึ้นกับ นายแอรอน บีม อดีตนักบัญชีของบริษัทเฮลท์เซาท์ ซึ่งช่วย CEO แต่งตัวเลขจนภายหลังโดนจับติดคุกติดตะราง เมื่อออกจากคุกก็เดินสายพูดเรื่องจริยธรรมให้ผู้คนฟัง เขาเล่าว่า เขาได้รับคำป้อยอจาก CEO นายริชาร์ท สเกอชี ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงานใหม่ๆ จากนั้นก็ถลำไปเรื่อยจนในที่สุดต้องติดคุกเพราะช่วยสเกอชีแต่งบัญชี
สำหรับสัญญาณเตือนข้อนี้ เราไม่มีข้อมูลชัดๆ ว่าได้เกิดขึ้นกับกรุ๊ปลีสหรือไม่ แต่ถ้าเราใช้วิจารณญาณให้ดีเราจะเห็นว่า รายการบัญชีที่มีปัญหา (จนต้องแก้ไขงบการเงิน) ของกรุ๊ปลีสไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยน้ำมือผู้บริหารเพียงคนเดียว เพราะกว่าที่งบการเงินจะหลุดออกมาประกาศได้ งบการเงินนั้นต้องผ่านทั้งผู้อำนวยการบัญชี (CAO) และผู้อำนวยการการเงิน (CFO) (รวมทั้งผู้สอบบัญชี)
สัญญาณเตือนข้อที่ 7 คือ ความกลัว/ไม่กล้าพูด (Fear and silence) บริษัทอาจบ่มเพาะความกลัวให้กับลูกจ้างหรือคนที่เกี่ยวข้องโดยการทำโทษคนดีมีจริยธรรม คนทำดี ทำถูก หรือต่อต้านการโกง จะมีปัญหากับเจ้านาย กับเพื่อนร่วมงาน ถูกลดตำแหน่งหรือย้ายให้ไปอยู่ตำแหน่งที่อับงาน เส้นแบ่งความดี/ไม่ดี มีจริยธรรม/ไม่มีจริยธรรมภายในองค์กรเลือนลาง จนเกิดเป็นวัฒนธรรมที่คนทำถูกหรือมีจริยธรรมจะกลายเป็นแกะดำ ไม่เจริญก้าวหน้า เพื่อนฝูงไม่คบ ทำให้ชีวิตลำบาก จนไม่กล้าที่จะพูดหรือทักท้วงขณะที่ทำงานอยู่ในบริษัท
สัญญาณเตือนข้อนี้เป็นเรื่องที่ไม่สามารถสืบทราบได้นอกจากจะเกิดเป็นข่าว แต่ถ้าเรามีข้อมูลวงในเกี่ยวกับบริษัทที่คนดีอยู่ไม่ได้ เราก็อาจถือเป็นสัญญาณอันตรายให้เลี่ยงการลงทุนในบริษัทนั้น (เวลาผู้เขียนดูพรรคการเมือง ถ้าลูกพรรคที่เป็นคนดีอยู่ไม่ได้ เดินแถวกันลาออก ผู้เขียนจะทายไว้ในใจก่อนแล้วเฝ้าดูต่อไปว่า หน้าฉากกับหลังฉากจะเหมือนกันหรือไม่ ส่วนพรรคการเมืองที่รับแต่ลูกพรรคกะเลวกะลาดหาความดีไม่ได้ ก็มั่นใจได้เลย ไม่ต้องรอดู)
จบสัญญาณเตือนทั้ง 7 ประการ เราจะเห็นว่างานวิจัยของอาจารย์เจนนิงส์นี้ดีพอสมควร เพราะเมื่อนำมาใช้กับกรุ๊ปลีสในยุคปี 2560 เราก็พบว่ากรุ๊ปลีสเข้าข่ายไปกว่าครึ่ง ดังนั้น เวลาจะลงทุน นักลงทุนก็อย่าลืมนำสัญญาณเตือนนี้มาใช้ประกอบการวิเคราะห์ร่วมกับงบการเงินด้วย