โค้ด: เลือกทั้งหมด
หลังจากได้ฟังคำกล่าวจากที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ วาระพิเศษเพื่อสดุดีและถวายพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม 2559 แล้ว ดิฉันเชื่อว่ามีประชากรของโลกจำนวนมากที่รู้สึกอิจฉาคนไทยว่าโชคดีเหลือเกิน ที่เกิดในประเทศที่มีพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ เป็นกษัตริย์ผู้เสียสละพระองค์เพื่อความสุขของประชาชนอย่างแท้จริง
นอกจากประชาชนชาวไทยจะได้รับพระมหากรุณาธิคุณแล้ว เพื่อนบ้านใกล้เคียง หรือแม้กระทั่งต่างทวีป แต่อยู่ในระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน ต่างมองพระราชกรณียกิจ พระราชดำริ และพระอัจฉริยภาพด้วยความแปลกใจ ชื่นชม และนำไปเป็นแบบอย่าง
เมื่อปลายเดือนกันยายน ในพิธีเปิดตัวของ CU Innovation Hub มีการเสวนาเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมนั้น คุณลลิต ถนอมสิงห์ ผู้ช่วยเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ผู้ดูแลเรื่องการพัฒนาที่ดินที่ได้รับการถวาย ได้เล่าถึงพระราชดำริเมื่อกว่า 30 ปีที่แล้วเพื่อจะทำ “อ่างเก็บน้ำใต้ดิน” ในลักษณะเขื่อนปิดปากถ้ำหินปูน ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้ในฤดูแล้ง
อย่างไรก็ดี กรมชลประทานในสมัยนั้น แจ้งว่าไม่สามารถทำได้ เพราะไม่มีใครทำกัน เมื่อไม่มีใครเชื่อว่าจะทำได้ โครงการจึงต้องหยุดไป
20 ปีถัดมา ทางมูลนิธิชัยพัฒนา ได้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมาถวายการบรรยายเกี่ยวกับเทคโนโลยีการสร้างอ่างเก็บน้ำใต้ดิน ก่อนจะเริ่มต้นนำเสนอ พระองค์ท่านทรงเปรยว่า “คนไทยพูดไม่เชื่อ ต้องให้ต่างชาติมาบอกจึงเชื่อ” ทีมงานตกใจว่าทรงกริ้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงรับสั่งเบาๆกับ ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนาว่า “เมื่อกี้ตอนนั่งมาในรถ ก็ถูกกริ้วมาแล้วเหมือนกัน”
ค่าใช้จ่ายในการสร้างเขื่อนเพื่อกักเก็บน้ำใต้ดิน ที่ทางผู้เชี่ยวชาญญี่่ปุ่นประมาณการมาคือ 2,000 ล้านบาท (ดิฉันค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า เนื่องจากต้องเจาะบ่อแล้วฉีดสารที่มีอัตราการซึมต่ำลงไปแทนชั้นดินเดิมที่มีความพรุนสูง หรือตอกผนังที่มีความทึบเช่น ผนังคอนกรีตลงไปแทนชั้นดินเดิม)
พระองค์จึงรับสั่งให้หาผู้ออกแบบและผู้รับเหมาไทย มาสร้าง “เขื่อนปิดปากถ้ำหินปูน” เพื่อเป็นอ่างเก็บน้ำใต้ดินอีกครั้งหนึ่ง
ทีมงานพยายามไปหาผู้ออกแบบและผู้รับเหมากี่ราย กี่ราย ก็ไม่สามารถหาได้ ทุกคนต่างบอกว่า ทำไม่ได้ เพราะทำแล้วเขื่อนต้องรั่วแน่ๆ จึงไม่มีใครอยากเสี่ยง ทีมงานบางคนยังแอบบ่นว่า “ไปตามพระทัยพระองค์ท่านทำไม”
สุดท้าย ได้ผู้ออกแบบที่ใกล้เกษียณอายุงานมาออกแบบ และหาผู้รับเหมามาทำให้ ใช้งบประมาณไป 13.5 ล้านบาท และก็เป็นไปตามคาด คือมีการรั่วซึมของน้ำ และต้องทำการอุดรูรั่วทุกปี อุดอยู่ประมาณสามปี เสียค่าใช้จ่ายปีละไม่น้อย
ทีมงานได้นำเรื่องการรั่วซึมไปปรึกษาอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เขื่อนนี้รั่ว อาจารย์ท่านนี้พยายามหาคำตอบโดยส่งอีเมลล์ไปถามอาจารย์และผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศหลายคน ปรากฏว่า ท่านเหล่านั้น อีเมลล์ถามกลับมาว่า “ใครเป็นคนคิดทำเขื่อนแบบนี้” อาจารย์ท่านนี้ตอบกลับไปว่า “My King” (พระเจ้าแผ่นดินของผม) ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย ตอบกลับมาสั้นบ้างยาวบ้าง แต่สรุปใจความได้เหมือนกันว่า “Genius” (ทรงพระอัจฉริยภาพเป็นเลิศ)
เขื่อนแบบนี้ ต้องมีการรั่ว เพราะการรั่วซึมนั้น ทำให้พื้นดินบริเวณนั้นชุ่มฉ่ำ เกษตรกรแถบนั้นสามารถทำการเกษตรได้โดยไม่ประสบปัญหาภัยแล้งอีกต่อไป เพราะน้ำที่กักเก็บ ทำให้ดินชุ่มชื้น และการใช้ถ้ำเป็นที่กักเก็บทำให้ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างต่ำ เพราะไม่ต้องทำผนังหลายด้าน เนื่องจากใช้ผนังธรรมชาติของถ้ำอยู่แล้ว
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระอัจฉริยภาพในหลายๆด้าน และทรงเป็น “นวัตกร” (Innovator) โดยแท้จริง ทรงมีสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลหลายชิ้น อาทิ “กังหันน้ำชัยพัฒนา” ซึ่งใช้บำบัดน้ำเสีย “ฝนเทียม” ที่ใช้แก้ไขปัญหาความแห้งแล้ง
สิ่งประดิษฐ์ของพระองค์ ล้วนแล้วแต่มีที่มาในการตั้งพระทัยแก้ไขปัญหาความยากจน และความทุกข์ยากของพสกนิกร เพื่อให้พสกนิกรของพระองค์ หลุกพ้นจากความยากจน ความยากลำบาก มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โชคดีเหลือเกินที่ได้เกิดเป็นคนไทยภายใต้พระบรมโพธิสมภารค่ะ
ดิฉันขอนำโคลงสี่สุภาพที่เคยประพันธ์ไว้ เมื่อคราวเฉลิมฉลอง 60 ปี แห่งการครองราชย์ มาพิมพ์อีกครั้งหนึ่งดังนี้
เย็นศิระเพราะพระบริบาล
เย็น ใจเย็นกายใต้พระ บารมี
ศิระ ก้มกราบนฤบดี เทิดไท้
เพราะพระ ดุจบิดร ประชาราษฎร์
บริบาล ไทยทั่วหล้า โลกซ้อง สรรเสริญ
พสกนิกรน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันล้นพ้นตราบนิจนิรันดร์
ข้าพระพุทธเจ้า นาง วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ