“บรรยง พงษ์พานิช” เปิด 5 ปมความต้วมเตี้ยม-ตัวถ่วงประเทศไทย

เชิญมาพักผ่อน คลายร้อนนั่งเล่น คุยกันเย็นๆ พร้อมเรื่องกีฬา สัพเพเหระ ทัศนะนานา ชีวิตชีวา สุขภาพทั่วไป บันเทิงขำขัน รอบเรื่องเมืองไทย ชวนเที่ยวที่ไหน อยากไปก็นัดมา ...โย่วๆ

ล็อคหัวข้อ
ภาพประจำตัวสมาชิก
kongkiti
Verified User
โพสต์: 5830
ผู้ติดตาม: 2

“บรรยง พงษ์พานิช” เปิด 5 ปมความต้วมเตี้ยม-ตัวถ่วงประเทศไทย

โพสต์ที่ 1

โพสต์

“บรรยง พงษ์พานิช” เปิด 5 ปมความต้วมเตี้ยม-ตัวถ่วงประเทศไทย ชี้รัฐแสนดีแสนเก่งไม่มีในโลก
http://thaipublica.org/2013/11/banyoung-pongpanich/
6 พฤศจิกายน 2013

การเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนผ่าน แต่บางครั้งการเปลี่ยนผ่านที่ไม่ได้มีการกำหนดทิศทางและเป้าหมายก็นำมาซึ่งความผุกร่อน อาการของประเทศไทยที่ปรากฏในขณะนี้มีเครื่องบ่งชี้ “ความเสื่อม” ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ไม่ว่าจะเป็น World Economic Forum (WEF) ได้เผยแพร่รายงานประจำปี 2556-2557 เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาถึงความถดถอยของประเทศไทยในแต่ละด้าน นอกจากนี้งาน สัมมนาจับชีพจรประเทศไทย โดยสถาบันอนาคตไทยศึกษา ได้เผยแพร่งานวิจัยชี้ 3 อาการประเทศไทย

หากจะวิเคราะห์ถึงรากของเหตุและปัจจัย ก็จะมีมุมมองแตกต่างกันไป “บรรยง พงษ์พานิช” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ได้ให้สัมภาษณ์ทีมงานสถาบันอนาคตไทยในหัวข้อ “A Nation in Decline” เพื่อรวบรวมความคิดของบุคคลในหลายสถาบันต่อประเด็นดังกล่าวเพื่อทำเป็น หนังสือสำนักข่าวไทยพับลิก้าจึงขอเก็บตกรายละเอียดการสัมภาษณ์มานำเสนอดังนี้
เช็คอาการ 50 ปี ประเทศไทย

ปัญหาของการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ผมอยากจะเริ่มที่หลักง่ายๆ คือ หลักพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีเป้าหมายยังไง จริงๆ เป้าหมายมันง่ายๆ มีอยู่ 3 เรื่อง ก็คือ 1) ความมั่งคั่ง ซึ่งแน่นอน ที่ไหนๆ ในปัจจุบันก็ยังวัดด้วย per capita GDP ว่าเรามีความมั่งคั่งแค่ไหน 2) การกระจาย เผอิญว่า per capita GDP ของคนวัดง่ายๆ ว่าเอาผลผลิตรวมของทั้งประเทศแล้วหารด้วยจำนวนคน ความสำคัญอยู่ที่ว่า มันอยู่ที่ไหน ถ้ามันอยู่กับคนจำนวนไม่กี่คน ความกระจายก็แย่ ฉะนั้นเป้าหมายก็คือ per capita สูง การกระจายดี มีความเหลื่อมล้ำต่ำ และ 3) มีการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต คือเติบโตและต้องยั่งยืนด้วย หมายความว่าเติบโตอย่างมีรากฐานที่แข็งแรง ที่จะต่อยอดไปเรื่อยๆ มีภูมิคุ้มกันเรื่องของความเสี่ยงที่จะเผชิญกับวิกฤติต่างๆ

นี่คือเป้าหมายเศรษฐกิจมีอยู่ 3 อัน แค่นี้

ผมมาดูว่าประเทศไทยสถานะเป็นอย่างไรในทั้งสามเรื่อง ในเรื่องฐานะ ประเทศไทยเราเป็น developing country มาตั้งแต่มีนิยามคำนี้มากกว่า 50 ปีที่แล้ว และวันนี้เราก็ยังเป็น developing country ถ้าถามว่า 50 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 พร้อมๆ กับการตั้งสภาพัฒน์ฯ (สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) ในปี 2504 มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติว่าทำยังไงประเทศถึงจะมีการเติบโตมีความมั่งคั่ง มีความเจริญและมีการกระจายที่ดี ประเทศไทยมีทั้งหมด 11 แผน แผนละ 5 ปี แผนพัฒนาฯ ฉบับแรกมีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น) เป็นคนมอบหมายให้สภาพัฒน์ฯ ซึ่งมีดร.อำนวย วีรวรรณ เป็นเลขาธิการคนแรก ทำแผนมาและเราก็พัฒนามาเรื่อยๆ

คำถามว่า ผลเป็นยังไง ผมอยากจะพูดอย่างนี้ว่า เราตั้งสภาพัฒน์ฯ ในปีเดียวกันกับที่สิงคโปร์ตั้ง EDB แต่เราตั้งก่อนเล็กน้อย EDB คือ Economic Development Board ของสิงคโปร์เป้าหมายเหมือนกัน โดยสิงคโปร์เพิ่งได้เอกราชตั้งประเทศปี 2502 และปี 2504 เขาก็ตั้ง EDB ณ จุดเริ่มต้นไทยกับสิงคโปร์เริ่มต้นที่จุดพอๆ กัน ก็คือ per capita GDP พอๆ กัน วันนี้สิงคโปร์มี GNI หรือ Gross National Income ของสิงคโปร์ per capita ปัจจุบันเป็น 48,000 เหรียญสหรัฐฯ ของเรา 5,200 เหรียญสหรัฐฯ ต่างกัน 9 เท่า ทั้งที่เริ่มมาพร้อมๆ กัน

หากว่ากันตามนิยามประเทศ high income, middle income, low income ประเทศไทยก็อยู่ middle income มาตลอด พัฒนากันมา 50 ปี มีแค่ 12 ประเทศที่สามารถที่จะก้าวข้ามจาก middle income ขึ้นไปเป็น high income หรือก้าวจาก developing country ไปเป็น developed country มีแค่ 12 ประเทศ ซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ในเอเชียมี 4 ประเทศ ที่เขาเรียกว่า 4 เสือของเอเชีย มีสิงคโปร์ ฮ่องกง เกาหลี ไต้หวัน วันนี้ฮ่องกง มี per capita GNI ประมาณ 38,000 เหรียญสหรัฐฯ ตามมาด้วยเกาหลี ไต้หวัน ประมาณ 22,000 เหรียญ

ประเทศไทยเมื่อก่อนเกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง เราก็ถูกจัดว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 และเราก็เจอวิกฤติ เราก็ค่อนข้างจะต้วมเตี้ยมหลังจากนั้นมาตลอดอีก 16 ปี มาวันนี้เราอยู่ 5,200 เหรียญสหรัฐฯ สำหรับ per capita GNI เส้นที่แบ่งอยู่ที่ 12,500 เหรียญสหรัฐฯ เรา 5,200 ยังไม่ถึงครึ่งเลย

เพราะฉะนั้น การที่บอกว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 “เลิก”… ตัวที่ 5 เป็นมาเลเซียแน่นอน เพราะมาเลเซียวันนี้ 9,800 เหรียญสหรัฐฯ และเขามีแผนที่เป็นรูปธรรมค่อนข้างชัดเจนอย่างที่เรารู้กันอยู่ว่าเป้าหมายจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว อย่างช้าในปี 2020 และมีแผนที่เป็นรูปธรรม และเราจะไปเป็นตัวที่ 6 ไหม ไม่ได้อีก เพราะจีนแซงเราไปแล้ว

สำหรับจีน ผมอยากจะบอกว่าปี 1979 ซึ่งเป็นปีที่ เติ้งเสี่ยวผิง ประกาศนโยบายเศรษฐกิจจีนใหม่ ซึ่งกว่า 30 ปีแล้ว ตอนนั้นจีนมี per capita GNI ไม่ถึง 1 ใน 3 ของไทย ปีที่แล้วเขาแซงเรา

“เห็นไหมครับ ที่คุณบอกว่าเราเป็นประเทศที่ค่อนข้างจะ…ผมไม่เรียกว่าเสื่อมถอยหรือล้มเหลวนะครับ แต่ต้องใช้คำว่าต้วมเตี้ยม แบบย่ำเท้า นี่คือภาพใหญ่ๆ ของการวัดความมั่งคั่งที่วัดกันโดยขนาดของเศรษฐกิจและรายได้ต่อหัวต่อคนต่อปี ซึ่งเราถือว่าไม่ประสบความสำเร็จในการพัฒนา”

ตัววัดที่ 2 ประเทศไทยอยู่ประมาณอันดับ 82 ถ้าวัดกันตามระดับ per capita GNI ขณะที่มี 45 ประเทศในโลกที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เราอยู่อันดับที่ 82 ค่อนข้างจะอยู่ระดับล่างของ upper middle income ก็ดีหน่อยที่มันเป็น upper ถึงจะเป็นประเทศที่ยากจน เราก็อยู่ตรงกลางๆ ถ้าบอกชิลๆ ทางสายกลางก็อาจจะดูไม่เดือดร้อนอะไร แต่ก็น่าเสียดายเพราะเราเป็นประเทศที่อยู่ในสภาพที่มันน่าจะพร้อม มีทรัพยากรพร้อม อยู่ในจุดที่มีความได้เปรียบเยอะแยะไปหมด มีรากฐานที่ถึงแม้จะมีการเปลี่ยนแปลงมาบ้างแต่ก็ถือว่าค่อนข้างจะมั่นคง ไม่มีความแตกต่างทางด้านลัทธิเชื้อชาติศาสนามากนัก ถ้าจะบอกว่าไม่มีเลยก็ไม่ได้ เพราะเราก็มีปัญหาพวกนี้อยู่ แต่ถ้าเทียบกับประเทศอื่นแล้วเราน่าจะพัฒนาไปได้ดีกว่านี้

เราโชคดีที่ในอดีตเราไม่เจอเหตุที่เกิดผิดพลาดครั้งใหญ่หลวง คือ มาถึงวันนี้นะครับ วันหน้าไม่รู้ ประเทศในโลกมีจำนวนมากที่ผมต้องใช้คำว่าหลงทางไปตามลัทธิมาร์กซ์ (Marxism) แล้วก็ไปใช้ลัทธิสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ประเทศพวกนั้นชัดเจนว่าการเจริญในช่วงนั้นหยุดไปเลย เป็นคอมมิวนิสต์ 50 ปีก็หายไป 50 ปี อันนี้พิสูจน์มาหมดแล้ว

ผมไม่ได้ชื่นชมทุนนิยมหรืออะไร แต่โลกมันพิสูจน์แล้ว ตัวอย่างง่ายๆ เวียดนาม ซึ่งเป็นประเทศที่ดีเท่าๆ กับเรา แต่พอลุงโฮ (โฮจิมินห์) สามารถรวมเวียดนามได้ การพัฒนาของเวียดนามก็หายไปประมาน 30 กว่าปี ขณะที่เกาหลี ประเทศเดียวกันแท้ๆ แยกเป็นเกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ วันนี้เกาหลีใต้ per capita GNI 22,000 เหรียญสหรัฐฯ แต่เกาหลีเหนือยัง 800 เหรียญสหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ต่างกันเกือบ 30 เท่า “เท่า” นะครับไม่ใช่เปอร์เซ็นต์ เรื่องนี้พิสูจน์ชัดว่าคอมมิวนิสต์ไม่ทำให้มนุษย์มีแรงจูงใจพอที่จะสร้างผลผลิต หรือเยอรมันก็เหมือนกัน ตอนปี 1989 กำแพงเบอร์ลินล่มสลาย เยอรมันตะวันตกมีผลผลิตต่อหัวต่อคน 7 เท่าของเยอรมันตะวันออก คือนี่พิสูจน์ชัดว่าระบบที่อุดมการณ์ดีแต่พอนำไปใช้จริงแล้วไม่ประสบความสำเร็จ

หรือพม่า ตอนนี้ per capita GNI ยังต่ำว่าไทยอยู่ ถ้าวัดตามตัวเลขเป็นทางการเกือบ 30 เท่านะ ทั้งๆ ที่เมื่อ 50 ปีที่แล้วยังอยู่ในระดับเดียวกันกับไทย แต่เพราะเขาใช้ระบบสังคมชาตินิยมแบบพม่า คือนอกจากเป็นสังคมนิยมแล้วยังชาตินิยมอีก ชาตินิยมคือปิดประเทศ การพัฒนาประเทศโดยใช้ภูมิปัญญาพม่าแต่อย่างเดียว ขณะที่ทั้งโลกเขาพัฒนาไปด้วยกัน พม่าเลยอยู่กับที่ การพัฒนาหายไป 50 ปี

อันนี้พูดถึงระบบเศรษฐกิจกับพัฒนาการมากไปหน่อยไม่ค่อยเกี่ยวกับเราเท่าไร

กลับมาที่การวัดการกระจายเขาวัดกัน 2 แบบที่เป็นที่นิยม ส่วนใหญ่แล้วจะวัดการกระจายรายได้ การกระจายผลผลิต ซึ่งแน่นอนวัดต่อคนต่อปี ที่นี้มีวิธีวัดสองอัน วิธีแรกก็คือ เอารายได้ของคนร้อยละ 20 ข้างบนหารด้วยรายได้ของคนร้อยละ 20 ข้างล่าง ร้อยละ 60 ตรงกลางตัดทิ้งไป เอา 20 บนหารด้วย 20 ล่าง ของไทยค่อนข้างคงที่มาตลอดเกือบ 30 ปีตั้งแต่มีการวัดตัวนี้ คืออยู่ที่ 12.5-13 เท่า ถามว่าดีไหม ไม่ดี ส่วนใหญ่ประเทศที่พัฒนาแล้ว จะอยู่ที่ 4-7 เท่า ส่วนญี่ปุ่นก็ต่ำ ยุโรปเหนือก็ต่ำ อยู่ที่ 3 เท่าก็มีบ้าง 3 เท่านี่คือคนข้างบนกับคนข้างล่างห่างกันแค่นั้น

จริงๆ มาตรวัดนี้สะท้อนอะไรหลายๆ อย่าง ทั้งเรื่อง “การศึกษา” ถ้ามนุษย์มีการศึกษาเท่าเทียมกันไม่ควรจะห่าง 13 เท่า มันจะสร้างผลผลิตได้ยังไงต่างกัน 13 เท่า มันไม่ควร ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงผลของการศึกษา อันที่สอง การเข้าถึง “ทรัพยากร” ถ้าคนเรามีความรู้เท่ากันไม่ต่างกันมาก มีการเข้าถึงทรัพยากร โอกาสพอๆ กัน การสร้างผลผลิตมันก็ไม่ควรจะต่างกัน 13 เท่า นี่เป็นเรื่องง่ายๆ เพราะถ้าผมทำอะไรมากกว่าคนอื่น 13 เท่า หลักง่ายๆ คือคนนั้นต้องไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่มีความรู้ เข้าไม่ถึงทรัพยากร นี่เราพูดถึงคนจำนวน 20 เปอร์เซ็นต์คือ 12-13 ล้านคนของประเทศ ข้างบน 13 ล้านคนกับข้างล่างสุด 13 ล้านคน ต่างกัน 13 เท่า คือมองโดย common sense มันก็เป็นเรื่องที่สะท้อนให้เห็นเลยว่าระบบการศึกษาเราไม่ทั่วถึง คนมีความรู้ต่างกันตั้ง 13 เท่า การเข้าถึงทรัพยากรคือโอกาสที่จะได้ทำ มันต่างกันอย่างนั้นได้อย่างไร

“แต่ข้อดีก็คือมันไม่เลวลง เรื่องนี้นักวิชาการก็บอกว่าสถานการณ์ไม่ได้ชั่วลงนะ มันก็อยู่ของมันอย่างนี้ 13 เท่ามานาน ผมว่ามันเป็นคำชี้แจงที่รับไม่ได้ ในเมื่อเราทุ่มเทไปตั้งเยอะ มันต้องดีขึ้น ผมถือว่าเป็นความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง”

“คำถามว่าทำไมคนข้างบน 20 คน เก่งมาก ที่ยังสงวนทั้ง “โอกาส” ทั้ง “ความสามารถ” ไว้เฉพาะพวกตัว และไม่ยอมให้คนอื่นเขาลืมตาอ้าปาก ผมขอพูดแรงๆ แบบนั้น ซึ่งอันนี้แสดงให้เห็นเลยว่าล้มเหลว”

วิธีที่สอง ตัวที่นิยมใช้วัดคือ ค่าสัมประสิทธิ์ Gini หรือ Gini coefficient index คือ ถ้าเผื่อทุกคนกระจายเท่ากันหมด index เท่ากับ 0 ซึ่งไม่มีในโลกนี้ ถ้าคนเดียวเอาไปหมด index จะเท่ากับ 100 ซึ่งไม่มี เพราะฉะนั้น ในโลกมันก็อยู่ระหว่าง 20-60 ของไทยดูแล้วก็เหมือนไม่เลว

“ผมว่าตัวนี้เป็นตัวหลอกได้ เราอยู่ที่ประมาน 40.2 ซึ่งผมไม่รู้ว่าเขาวัดยังไง ซึ่งดีขึ้นเรื่อยๆ จาก 10 กว่าปีที่แล้วอยู่ที่ 45 ตอนนี้ 40.2 ก็คือดีขึ้นเพราะมันกระจาย นี่วัดโดยค่าสัมประสิทธิ์ Gini ผมไม่รู้รายละเอียด อยากถามนักวิชาการเหมือนกัน ถ้าดูตัวนี้เหมือนพัฒนาการการกระจายดีขึ้น แต่พอไปดูมาตรวัดอื่นๆ กับสิ่งที่เราเจอ มันไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น”

ผมเคยทำวิเคราะห์กับอาจารย์ศุภวุฒิ (สายเชื้อ) เรื่องความเหลื่อมล้ำ พบว่า 16 ปีที่ผ่านมา ประโยชน์จากการพัฒนาเศรษฐกิจมันตกกับนายทุนหมดเลย กับคนข้างบนหมดเลย แต่ค่า Gini ทำไมมันถึง improve อันนี้ผมขอตั้งเป็นคำถามมากกว่าที่จะบอกว่ามันดีขึ้น แต่ตัวเลข 13 เท่าที่ผมบอกนี่ มันเป็นเรื่องที่รับไม่ได้อยู่แล้ว เพราะนั้นผมถือว่าไทยล้มเหลวทั้งในเรื่องของการพัฒนาทั้งการกระจายและความยั่งยืนของการเติบโต

ส่วนความยั่งยืนของการเติบโต สุดท้ายมันต้องกลับไปสู่ศักยภาพของการแข่งขันที่แท้จริงของประเทศ ประเทศไทยมีข้อดีคือ 50 ปีผ่านมา สินค้าที่เราผลิตยังเป็นสินค้าปฐมภูมิโดยส่วนใหญ่ ช่วยรองรับความผันผวนได้ดีกว่า ดูเหมือนความมั่นคงของเราพอใช้ได้ เพราะว่า “ข้าว” ยังไงก็ต้องกิน แม้เศรษฐกิจจะแย่

นอกจากนั้น ประเทศเรายังมีลักษณะที่ดี เราเป็นสังคมเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายที่ดีมาก สินค้าที่เรียกว่า sufficient สินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญ ผลิตได้ในประเทศทั้งหมด อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคที่จำเป็นๆ ที่อยู่อาศัย เราผลิตได้เองครบ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้เราดูดซับปัจจัยไม่คาดฝันจากภายนอก (absorb external shock) ได้ดีกว่า และสินค้าส่งออกก็มีความหลากหลาย ไม่มีตลาดไหนที่มีอิทธิพลต่อเราเกินร้อยละ 20 การทำให้หลากหลายนั้นก็ค่อนข้างที่จะทำให้เราดี

ถ้าเราสังเกต เนื่องจากว่าโครงสร้างทางสังคมแบบครอบครัวไทยดั้งเดิมมันเกื้อหนุน คนตกงานก็กลับบ้าน มีกินมีบ้าน อาหารอุดมสมบูรณ์ มันช่วยไปได้เยอะ ซึ่งลักษณะนี้กำลังเปลี่ยน เพราะคนจนเข้าเมืองกันเยอะ ตอนนี้คนจนมาอยู่ในเมือง ขณะที่เกษตรกร 14-15 ล้านคน จำนวนนี้คงที่มา 15 ปีไม่เปลี่ยนเลย และอายุเฉลี่ยของเกษตรกรที่อยู่ในชนบทสูงขึ้นเรื่อยๆ ตอนนี้เฉลี่ยอายุ 57 ปี และอายุเพิ่มขึ้น 7 ปี ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นตัวเลขที่บอกชัดเจนว่าคนรุ่นใหม่ไม่เป็นเกษตรกร

การเข้าเมืองของชนบท พบตัวเลขที่น่าเป็นห่วง ก็คือเข้ามาประกอบอาชีพไร้ทักษะ อาทิ ก่อสร้าง พนักงานเสิร์ฟ เป็นพนักงานขายของ ถือว่าเป็นอาชีพไร้ทักษะ ซึ่งมักจะได้ค่าตอบแทนใกล้เคียงกับค่าแรงขั้นต่ำ และยังเป็นการขยายตัวของเศรษฐกิจนอกระบบ อันนี้ผมไม่มีตัวเลข แต่เราสามารถสังเกตได้ในชีวิตประจำวันชัดเจนมาก หาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้างเต็มเมืองไปหมด และไม่ใช่เฉพาะกรุงเทพฯ การขยายตัวของเมืองทั่วประเทศที่เขาเรียกว่าเป็น urbanization trend ค่อนข้างจะเห็นชัดเจน

เพราะฉะนั้น ลักษณะของสังคมก็จะเปลี่ยนไป สังคมที่เคยเป็นสังคมชนบทเป็นแกนหลักคอยเกื้อหนุนจุนเจือกันก็จะเปลี่ยนไป

“ผมไม่ใช่นักสังคมศาสตร์ แต่ขอตั้งข้อสังเกต ผมสรุปว่าการพัฒนาของเราช้าและล้าหลัง และการกระจายซึ่งค่อนข้างจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ดี”

อะไรคือสาเหตุ “ต้วมเตี้ยม”

ที่นี้ก็มาถามกลับว่า อะไรเป็นสาเหตุของการไม่พัฒนา แน่นอนทุกคนก็จะพูดถึง อันที่หนึ่ง คุณภาพคน ระบบการศึกษา อันที่สองก็คือระบบสถาบันต่างๆ คำว่าสถาบันไม่ได้หมายถึงว่าองค์กร แต่หมายถึงโครงสร้าง ทั้งเรื่องของกฎหมาย ทั้งผู้ที่ขับเคลื่อนบังคับใช้กฎหมายเป็นอุปสรรคกับการพัฒนา อันที่สาม เรื่องโอกาส เมืองไทยคนมีโอกาสไม่เท่าเทียม จริงๆ ไม่ต้องเท่าเทียม คำว่าเท่าเทียมก็เป็นคำที่อุดมคติไปหน่อย แต่คนได้โอกาสน้อยไปหน่อย โอกาสของคนที่จะเรียนรู้ “โอกาสที่จะได้” ซึ่งสำคัญมากคือโอกาสที่จะเข้าถึงทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน ทรัพยากรเงินทุน ซึ่งการกระจายโอกาสไม่ค่อยจะดี

แต่อย่างไรก็ตาม ผมขอพูดถึงปัญหาสาเหตุ 4 อย่าง ที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญน้อยไปหาสำคัญมากก็แล้วกัน
1. ตลาดการเงินไม่พัฒนา

ผมถือว่าตลาดการเงิน ซึ่งเป็นอาชีพที่ผมทำอยู่ของไทยยังพัฒนาได้ไม่ดีเท่าที่ควร คือ ประเทศจะพัฒนาทุกประเทศจะต้องก้าวจากอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรแรงงานหรือทรัพยากรธรรมชาติ ต้องเข้าสู่อุตสาหกรรมที่เรียกว่า capital intensive คือเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินทุนสูง ต้องมีการลงทุนสูง ต้องใส่ทุน ต้องใส่ capital พอพูดอย่างนี้ ก็รู้เลยว่า จะเป็นอย่างนั้นได้ต้องมี “ตลาดการเงิน” ซึ่งเป็นคนจัดหาทุน (provide capital) ที่มีประสิทธิภาพ

นิยามง่ายๆ ตลาดการเงินซึ่งประกอบด้วยตลาดธนาคารพาณิชย์และตลาดทุน ทั้ง 2 อันพัฒนาขาใดขาหนึ่งไม่ได้ ต้องไปด้วยกัน ในประเทศไทยที่ผ่านมา ที่เกิดวิกฤติปี 1997 เราเกิดความผิดพลาดของตลาดการเงินทั้งของเราเองและของทั้งโลก มันเกิดวิกฤติไปทั่ว หลังจากนั้นทุกคนก็จะภาคภูมิใจว่าตลาดเรานี่ดูมั่นคง ธนาคารแห่งประเทศไทยจะภูมิใจมากถึงความมั่นคงของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ผมก็อยากจะเรียนว่าความมั่นคงไม่ใช่เป้าหมายเดียว เพราะถ้าแค่มั่นคง แต่ถ้าไม่สามารถให้บริการเศรษฐกิจได้ดีตามเป้าหมาย “มั่นคง” แปลว่าอะไรครับ ถ้าเรามั่นคงก็คือ หนึ่ง ไม่เจ๊งแน่ สอง กำไรเยอะ ส่วนตลาดทุนก็เหมือนกัน ทุกคนภูมิใจว่าตอนนี้มูลค่าราคาตลาดหุ้นรวมมากกว่า GDP และ ขนาดของ volume แซงสิงคโปร์แซงมาเลเซีย อันนั้นเป็นเนื้อหาที่ไม่ใช่สาระแท้จริง

ผมขอกลับมา ง่ายๆ เศรษฐศาสตร์ 101 ตลาดการเงิน หน้าที่ที่สำคัญของตลาดการเงินก็คือรวบรวมทรัพยากรจัดสรรทรัพยากร ติดตามดูแลทรัพยากรให้มีการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพและเพื่อส่งเสริมศักยภาพการแข่งขัน ง่ายๆ เศรษฐศาสตร์ 101 ถ้าถามว่าตลาดการเงินที่ดี ควรจะแบ่งยังไง ก็คือตลาดการเงินที่รวบรวมทรัพยากรได้พอเพียงจากแหล่งที่ถูกต้อง

วิกฤติเศรษฐกิจ 1997 ก็เพราะว่าเรารวบรวมได้เยอะมาก การกู้เงินจาก BIBF ประมาณ 1 แสนล้านเหรียญ เท่ากับ GDP ในตอนนั้น แต่เป็นเงินกู้ระยะสั้นที่เป็นสกุลเงินตราต่างประเทศ และเอามาลงทุนในการลงทุนระยะยาวที่ไม่ให้ผลตอบแทนเป็นเงินตราต่างประเทศ อันนั้นคือต้นเหตุของวิกฤติเศรษฐกิจ ฉะนั้นตลาดการเงินที่ดีต้องรวบรวมให้ได้พอเพียงจากแหล่งที่ถูกต้อง สองจะต้องมีต้นทุนทางการเงินที่แข่งขันได้ อันนี้สำคัญมาก เพราะประเทศจะพัฒนาต้องเป็น capital intensive ถ้าเงินนั้นมีต้นทุนสูงคุณก็จบ และคุณไม่มีทางแข่งกับใครได้ ถ้าเงินคุณต้นทุนสูงและคุณอยากแข่งคุณก็ต้องไปกดค่าแรงคน วัตถุดิบซึ่งเป็นของคนส่วนใหญ่ในประเทศ อันนั้นไม่บรรลุเป้าประสงค์ของการทำงาน ซึ่งต้นทุนการเงินสำคัญมาก เราพูดถึงน้อย

คุณจะเห็นว่าดอกเบี้ยเมืองไทยก็อาจจะต่ำกว่าอินโดนีเซีย แต่ต้นทุนตัวกลางของเรา โห… นั่นคือกำไรของธนาคารพาณิชย์ อันนั้นก็คือต้นทุน ต้นทุนประกอบไปด้วยสองอย่างอันที่หนึ่งก็คือต้นทุนของตัวเงินเลย ความต้องการผลตอบแทนของนักลงทุน ซึ่งอันนั้นขึ้นกับปัจจัยเยอะมากตั้งแต่ความเสี่ยงของประเทศ ความมั่นคงของอุตสาหกรรม แผนมีศักยภาพการแข่งขัน ตัวนั้นน่ะวัดได้ง่ายๆ วัดที่ตัวอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก อัตราดอกเบี้ยพันธบัตร อันนั้นคือต้นทุนที่เขา ผู้ที่อยากจะได้เงิน ผู้ที่ยอมลงทุนต้องการ ถ้าในตลาดหุ้นก็วัดโดย P/E นั่นแหละ ถ้า P/E สูงแสดงว่าต้นทุนทางการเงินต่ำ ถ้า P/E ต่ำแปลว่าต้นทุนทางการเงินสูง มันมีปัจจัยอื่นให้วัดง่ายๆ ของไทยก็อย่างที่บ่นๆ กันมาตลอดว่าทำไมหุ้นเรา P/E ต่ำ ก็ต้นทุนทางการเงินเราสูง ความไม่มั่นคงอะไรก็ว่าไป

ต้นทุนที่สำคัญอันที่สองคือต้นทุนของตัวกลางทางการเงิน นั่นก็คือที่เขาเรียกว่า NIM (Net Interest Margin) ของแบงก์ ซึ่งของไทยผมจะบอกว่าดอกเบี้ยที่ธนาคารคิดจากผู้กู้ทั้งหมดเป็นกำไรต้นทุนของธนาคารมากกว่าดอกเบี้ยที่จ่ายให้กับผู้ฝากเงินอีก นั่นคือต้นทุนตัวกลาง การกล่าวเช่นนี้เท่ากับว่าผมกำลังจะทุบหม้อข้าวตัวเอง ซึ่งทุบให้ดูอยู่ อันนี้ถามว่าสูงไหม สูงมาก ธนาคารจึงมีกำไรกันมาก

ในตลาดทุนก็เหมือนกัน ต้นทุนตัวกลางในตลาดทุนเมืองไทยดีขึ้นเยอะ เพราะอะไรรู้ไหมครับ เพราะเปิดเสรี เปิดการแข่งขัน volume มากขึ้นมามหาศาล นี่สะท้อนให้เห็นเลย แต่มันมีต้นทุนอย่างอื่นที่แฝงอยู่ เช่น เรายังมีสินค้าไม่เพียงพอ คือถ้าความเสี่ยงถูกบริหารจัดการได้ดี ก็ต้องมีผลิตภัณฑ์ ที่จำนวนมากพอ หลากหลายพอ ถ้าความเสี่ยง บริหารจัดการได้ดีขึ้น ต้นทุนตัวแรกคือต้นทุนของความต้องการผลตอบแทนก็จะลดลง ดังนั้นทั้งสองตลาดโดยรวมแล้วผมถือว่าพัฒนาการยังไม่ดี

ตลาดการเงินที่ดีคือหนึ่งรวบรวมได้ อันที่สองต้นทุนดี อันที่สามจัดสรรทั่วถึง ทรัพยากรเมื่อได้มาแล้วต้องจัดสรรไปให้คนที่ควรได้ ต้องจัดสรรให้กว้างขวางและทั่วถึง คือคนต้องเข้าถึงได้ คือในเมืองไทยคนเข้าไม่ถึงทรัพยากร เยอะมาก ถ้าคุณเป็น corporate คุณกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ย 4% แต่ถ้าคุณเป็น SMEs อัตราดอกเบี้ย 8% หรือ 10% เท่าตัวเลย เจอต้นทุนทางการเงินอย่างนี้มันก็โตยาก มันมีประเด็นปัญหาเยอะแยะมาก SMEs เข้าถึงทรัพยากรยาก คนรากหญ้าเข้าถึงทรัพยากรยาก ถึงแม้ว่ารัฐจะเข้าไปช่วย แต่ก็ยังถือว่ายังห่างไกล

เพราะฉะนั้น ตลาดการเงินก็ยังจัดสรรทรัพยากรได้ไม่ทั่วถึง ตลาดทุน ผมต้องใช้คำว่าเรามีโครงสร้างการลงทุนที่ไป promote นักลงทุนที่ไม่มีศักยภาพพอที่จะช่วยให้คุณภาพการจัดสรรดีขึ้น กล่าวคือ นักลงทุนบุคคลธรรมดา ไม่มีทางที่บุคคลธรรมดาจะมีความรู้พอว่าอันไหนดีกว่า อันไหนไม่ดีกว่า ผมไม่ได้ดูถูกใคร ประเทศไทยเป็น 1 ใน 3 ประเทศในเอเชียที่มีสัดส่วนการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของบุคคลธรรมดาสูงที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง สูงที่สุดในเอเชีย แซงไต้หวันไปแล้ว เกาหลีนี่นักลงทุนสถาบันกำลังแซง สิงคโปร์ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และตลาดที่พัฒนาแล้ว ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย นักลงทุนสถาบันมีอำนาจเหนือ (dominate) หมด

ถ้าถามสัดส่วนนักลงทุนว่าชี้วัดอะไร ต้องบอกว่าคุณภาพ คือ ตลาดการเงินจะดีได้ ทุนต้องมีคุณภาพ คุณภาพคือทุนที่รู้ว่าเงินควรจะให้ใคร เงินควรเอาไปให้ใครและติดตามดูแลได้ การติดตามดูแล คือ monitor ทุนตัวเอง นั่นคือ CG (Corporate Governance) CG ไม่ใช่ check list ของตลาดหลักทรัพย์ ไม่ใช่ check list ของ IOD อันนั้นเป็นรูปแบบ แต่สาระสำคัญของ CG มันขึ้นอยู่กับคุณภาพเจ้าของเงินเลย คุณชนะประกวดไม่ชนะประกวดนี่ไม่เกี่ยว ถ้าคุณดีจริง เจ้าของเงินจะเป็นคนตาม require ว่าคุณภาพของ CG คุณไม่ดีก็ไม่ให้เงิน เรียกว่าแรง force แต่ผมถามว่าบุคคลธรรมดา เขาไม่มีศักยภาพที่จะไปเรียกร้องเรื่องพวกนี้ เพราะฉะนั้น โดยรวมการจัดสรรมันไม่ทั่วถึง จัดสรรผิดเยอะ ง่ายๆ คือนักลงทุนที่มีคุณภาพไม่ซื้อหุ้นที่ปั่นอยู่ทุกวัน หรือกองทุนต่างประเทศจะไม่เข้าไปยุ่งกับหุ้นปั่น

โดยสรุป กระบวนการติดตามดูแลในตลาดการเงินเราก็ยังไม่ค่อยจะดี CG มาตรฐานต่างๆ จริงๆ ก็จะโทษตลาดการเงินอย่างเดียวก็ไม่ได้ เพราะบริษัทไทยก็ยังหนีภาษี ยังมีบัญชีสอง มันทำให้กระบวนการจัดสรรเกี่ยวโยงไปหมด ต้องต้นทุนต่ำ จัดสรรถูกติดตามดูแลได้ดี และมีกระบวนการที่เรียกว่าการจัดสรรทรัพยากรใหม่ (reallocation of resource) เมื่อ resource เกิดผิดพลาด คือทุกกระบวนการมันผิดพลาดได้หมด จะเก่งขนาดไหน มันต้อง reallocation of resource ได้ง่าย

ผมขอประณามระบบกฎหมายไทยหน่อย เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กระบวนการจัดสรรและต้นทุนมันสูงขึ้น ผมยกตัวอย่างให้ง่ายๆ ที่คนไม่ค่อยจะสนใจ อย่างกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ ที่เราอ้างว่าไอเอ็มเอฟมาบังคับเราเพื่อให้เราขายชาติเนี่ย ในนั้นมีอยู่ 6 ฉบับที่เป็นเรื่องของกระบวนการที่จะแก้ปัญหาเมื่อกิจการมีปัญหา ก็คือ กฎหมายที่เกี่ยวกับกฎหมายล้มละลาย กฎหมายที่เกี่ยวกับบังคับคดี ขายทรัพย์ ซึ่งเราก็ต่อรองเสียจน… ผมเข้าใจเวลาที่ออกกฎหมายพวกนั้น ตอนนั้น NPL มันเฉลี่ยเกือบ 50% ในมิติทางการเมืองก็เข้าใจได้ว่ากฎหมายก็ต้องเข้าไปช่วย คนเป็นหนี้ NPL กฎหมายจึงค่อนข้างที่จะไปคุ้มครองคนที่เป็น NPL เมื่อเวลาผ่านไป NPL ลดลงไปเหลือ 16 คุณก็ไม่ได้ไปแก้กฎหมายนั้น เพราะกฎหมายใช้แก้ยามวิกฤติเท่านั้น มันเลยกลายเป็นกฎหมายที่คุ้มครองคนส่วนน้อยนิดเดียว แต่เป็นต้นทุนของคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ

เรื่องนี้ก็ไม่ค่อยมีใครพูด นี่ผมยกตัวอย่างให้ฟังนะ ให้เห็นภาพ ทำไมประเทศไทยถึงเป็นหนึ่งในน้อยประเทศ แทบจะเป็นประเทศเดียว ที่ดอกเบี้ยในการเช่าซื้อรถต่ำกว่าดอกเบี้ยในการผ่อนบ้าน เป็นประเทศที่มีสัดส่วนสินเชื่อเช่าซื้อรถสูงที่สุดเมื่อเทียบกับสินเชื่อผ่อนบ้าน ทำไม? ทั้งๆ ที่ทั่วโลกบ้านมันสำคัญกว่ารถ มีคนพยายามบอกว่าคนไทยนี่รถเป็นชีวิตหรืออะไรก็แล้วแต่ อาจจะถูกบ้าง แต่จริงๆ ผมจะอธิบายให้ฟังง่ายๆ เวลาคนมีปัญหาการเงิน เขาหยุดผ่อนบ้านก่อนหยุดผ่อนรถ ถามว่าทำไม ก็เพราะว่า ถ้าคุณผิดนัดผ่อนบ้าน ต้องอีก 5 ปีธนาคารจะยึดบ้านคุณได้ แต่คุณผิดนัดผ่อนรถ 4 เดือน เขายึดรถคุณแล้ว นี่คือกฎหมายทำให้ทุกอย่างบิดเบี้ยว

ถามว่าทำไมต้อง 5 ปี สหรัฐอเมริกานี่ 4 เดือนคุณต้องออกจากบ้าน กระบวนการนี้ จริงๆ มันทำให้ดอกเบี้ยผ่อนบ้านลดลง ขณะที่คนเป็น NPL มัน 5% เท่านั้น แต่คุณดันไปคุ้มครองเขา ทำให้เป็นต้นทุนให้คนอีก 95% เรียกว่า loss given default โอกาส default ของคนผ่อนรถมากกว่าน้ันก็ใช่ แต่ธนาคารเสียหายจากผู้กู้บ้านมากกว่าผู้กู้รถ ซึ่งมันไม่ควร เพราะรถมูลค่าลดลงแต่บ้านมูลค่าเพิ่ม เพราะใช้เวลา 5 ปี ถ้าเป็นธุรกิจ 10 ปี เพราะกฎหมายล้มละลายยื้อได้ 10 ปีธนาคารถึงจะเข้าไปยึดทรัพย์สินการดำเนินกิจการได้ ฟังดูเหมือนดีแต่จริงๆ ก็คือต้นทุนทั้งประเทศมันเลยสูงโดดไปหมด ธนาคารเลยต้องไปบวกต้นทุนค่านั่นค่านี่ นี่คือทำไม SMEs ถึงเข้าไม่ถึงทรัพยากร ทำไมเข้าถึงแล้วธนาคารต้องคิดคุณแพง ทั้งๆ ที่คุณเป็นคนดี แต่เป็นเพราะว่า ระบบกฎหมายพยายามป้องกันคนไม่ดี นี่คือโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ระบบทั้งระบบต้องแบกต้นทุนอยู่อย่างนี้

ยังมีตัวอย่างที่ให้เห็นว่าตลาดการเงินยังด้อยพัฒนามาก มีเรื่องเบี้ยวๆ ในตลาดการเงินอีก เช่น โรงรับจำนำ เรามีสาขาธนาคารพาณิชย์อยู่สองหมื่นกว่าแห่งทั่วประเทศ แต่ประเทศไทยมีโรงรับจำนำทั้งประเทศเป็นของเอกชน 300 แห่ง เป็นโรงรับจำนำของรัฐบาล 200 แห่ง รวมเป็น 500 ธุรกิจโรงรับจำนำเป็นธุรกิจเดียวของรัฐที่กำไรดี ถามว่าทำไมมีน้อยขนาดนั้น เพราะว่ากระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล เป็นผู้ให้ใบอนุญาต และใบอนุญาตมันแพงเหลือเกินกว่าจะได้ นี่คือช่องทางสำคัญสุดสำหรับรากหญ้า ช่องทางสุดท้ายแล้วที่จะเข้าถึงแหล่งทรัพยากร
2. “ชาตินิยม” เครื่องหมายกีดกันผู้มีประสิทธิภาพ

ผมแปลกใจมากว่า ประชาชนคนไทยถูกปลูกฝัง “ค่านิยม” คำว่า “ของคนไทย” เรามีความรู้สึกว่า ใช่…เรื่องนี้ถูกต้อง เวลาคุณบอกว่าเป็นของคนไทย ผมถามว่ากี่ตระกูลที่เป็นเจ้าของพวกนี้ได้ เช่น ธนาคาร บริษัทโทรคมนาคม กิจการเดินเรือ กิจการแอร์ไลน์ กิจการใหญ่ๆ นี่ห้ามหมดเลยนะครับ อยู่ใน พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าวและกฎหมายอื่นๆ อีกเยอะแยะมากเลย กฎหมายเฉพาะ เอะอะก็ต้องคนไทยๆ ผมเรียก พ.ร.บ. นี้ว่า พ.ร.บ.กีดกันผู้มีประสิทธิภาพ

“ขอโทษนะ ผมเป็นคนไทย ยืนยันว่ารักชาติยิ่งกว่าใครๆ เหมือนกัน แต่มันไม่สมเหตุสมผล เพราะมันกันไปหมด แล้วเรื่องพวกถือครองที่ดินอะไรนี่ผมไม่เห็นด้วยทั้งหมดเลย พอบอกว่าต้องคนไทยเท่านั้น มันก็เลยเหลือไม่กี่คน อย่าลืมว่าโลกแห่งทุนนิยมคือโลกที่เปิดให้มีการแข่งขัน หลักการง่ายๆ คนยิ่งมีโอกาสได้เข้ามาแข่งจะยิ่งดี แต่เรากันหมดเลย แล้วพวกนั้นคือพวกเก่งๆ ทั้งนั้นที่เรากันไม่ให้มาแข่งกับเรา และกันเพื่อใคร ผมจะบอกให้ อย่างมากสองแสนคนที่มีโอกาสได้รับการคุ้มครองจากคำนี้ ผมก็ด้วยเป็นหนึ่งในนั้น จริงๆ ผมควรจะชอบ แต่บอกตรงๆ ว่าอันนี้แหละคือตัวถ่วงความเจริญแบบไม่น่าเชื่อ

“ยกตัวอย่าง พอคุณบอกว่าต้องเป็นของคนไทย มันก็เลยเกิด 2-3 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งก็คือต่างชาติที่ดีที่เก่งเขาไม่มา เขาเคารพกฎหมาย แต่คุณกันได้ไหม คุณปิดมัน มันเลยมีแต่คนไม่ดี เป็นไงกันคนดีออกไป คนชั่วก็เลยชอบ มันแข่งขันง่ายเพราะคนดีไม่แข่ง”

เรื่องที่สอง มันเกิดการบิดเบือนเยอะมาก พอคุณบอกว่าเกินครึ่งมันต้องเป็นของคนไทย ต่างชาติเวลาเขามาลงทุนก็ต้องมีตัวแทน (nominees) อย่างที่เรารู้แต่อย่างน้อยครึ่งหนึ่งเขาก็ต้องหาคนไทยมา ก็สร้างสิ่งที่เรียกว่า free rider คือคนที่ได้โดยที่ไม่ต้องทำ ถ้าปกติถ้าผมเป็นต่างชาติต้องการผลตอบแทนการการลงทุน 15% แต่เขาบังคับว่าต้องแบ่งให้คนไทยครึ่งหนึ่ง ผมก็เลยกลายเป็น 30% เพราะปกติผมต้องการจริงๆ แค่ 15 % แต่ต้องกลายเป็น 30% ถึงจะคุ้มเพราะต้องแบ่งให้คนไทย พอเป็นอย่างนี้ ผมก็ต้องตั้งราคาแพงขึ้นเพื่อให้กำไรมากขึ้น ใครรับภาระเรื่องนี้ ผู้บริโภคซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นคนไทย แต่ถ้าผมขึ้นราคาไม่ได้ ผมก็ต้องไปกดค่าแรงถูกๆ คนที่ได้ผลกระทบคือแรงงานซึ่งเป็นคนไทยส่วนใหญ่

เรื่องที่สาม ในเมื่อทั้งสองอันไม่เวิร์ก ต่างชาติเขากลัวการลงทุนเขาก็ไม่มา เพราะถูกบังคับว่าต้องแบ่งให้คนไทยครึ่งหนึ่ง แบบนี้สมเหตุสมผลไหม ปกป้องกี่คนกี่ตระกูลที่มีศักยภาพพอที่จะไปหุ้นกับพวกนี้ เครือใหญ่ๆ เยอะแยะที่เติบโตมาแบบนี้ เขาโหนกฎหมายฉบับนี้แล้วได้ประโยชน์เป็นมหาเศรษฐีกันหมด

ผมขอประณามความรู้สึก “ชาตินิยม” ที่ว่าต้องเป็นของคนไทย ต่างชาติจะมาซื้อที่เกษตรเป็นข่าวใหญ่โต แต่ตระกูลใหญ่ๆ ในเมืองไทยกว้านซื้อที่ดิน ผมถามว่ามันต่างกันยังไง ให้ต่างชาติมาแข่งยิ่งดี ชาวนาจะได้ราคาดีขึ้น ถ้าห้ามต่างชาติ ก็เหลือไม่กี่คนที่ซื้อได้ เขาก็ยิ่งสบายไป

นี่คือประเด็นที่ชี้ให้เห็นนะ คำว่าต่างชาติ คำว่าชาตินิยม นี่ใช้ผิดหมด แล้วมันไปปกป้องคนไม่กี่คนบนต้นทุนของคนทั้งประเทศ ทำให้ประเทศไทยไม่เจริญ ไม่อย่างนั้นเรามี FDI มากกว่านี้ ไม่อย่างนั้นเรามีการพัฒนาเทคโนโลยีพัฒนาการบริหารจัดการมากกว่านี้เยอะแยะ ถ้าให้เขามาแข่งแล้วพวกเราเก่งขึ้น อย่าง ถ้ามาร์กาเรต แธตเชอร์ ไม่ทำ big bang ในอังกฤษในปี 1985 อังกฤษก็ไม่ได้เป็น financial center of the world ถึงทุกวันนี้ คนอังกฤษไม่รู้กี่แสนคนได้งานสุดยอดทำระดับโลก และบริษัทไม่ใช่บริษัทอังกฤษเลย

ประเทศไทยสงวนอาชีพ สงวนธุรกิจ อาชีพเล็กๆ ให้คนไทย เรื่องอย่างนี้มันไม่สมเหตุสมผล แบบอาชีพของคนธรรมดานี่ อาชีพสถาปนิกนี่สงวนไว้ทำไม สถาปนิกเขาไม่จน ช่างตัดผม คนเผาถ่าน แต่ตอนนี้สถาปนิกก็เปิดมากขึ้น สถาปนิกไทยก็เก่งขึ้นนะ ถ้าคุณมีคู่แข่งคุณก็ต้องเก่ง ถ้าคุณไม่มีคู่แข่งคุณก็ไม่ต้องเก่ง
3. ภาคเอกชนกำหนด public policy-กลไกอ่อนแอ

บทบาทภาคเอกชนมีบทบาทเหนือ government policy สามารถที่จะชักจูงให้ภาครัฐออกนโยบายที่เอื้อเอกชนได้ อย่างการตรึงค่าเงินบาท เป็นเรื่องไม่สมเหตุสมผล หากเทียบกับสิงคโปร์ สมัยนั้นลีกวนยูบอกว่าค่าเงินแข็งแน่ ทุกคนลงทุนปรับตัว แข่งขันให้ได้ รัฐมีหน้าที่อย่าให้ผันผวน ใครแข่งไม่ได้อย่ามาโวยวายว่าสู้ไม่ได้ เลิก แต่ของเรานี่ จะแบบว่ากดดันแบงก์ชาติ อะไรสารพัด ว่าเรื่องค่าเงินจะต้อง แรงกดดันพวกนี้ส่วนใหญ่มาจากภาคเอกชน คือผ่านกลไกสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมธนาคาร สภาตลาดทุน เขามีจุดยืนว่าต้องปกป้องผลประโยชน์สมาชิก ถูกต้อง ทุกทีที่เข้าไปเขาก็ต่อรองเพื่อผลประโยชน์ แต่กลไกคานนี่สิที่เมืองเราไม่มี พวกนี้ก็เข้าไปวิ่งล็อบบี้ ฟังดูเหตุผลดี อธิบายชาวบ้านได้ แถลงข่าวได้

กลไกคานมีอะไรบ้าง ภาคประชาสังคมที่มีคุณภาพ สถาบันที่คอยจับตามองการออกนโยบาย (policy watch) อันนี้สำคัญมาก แต่มีน้อย อย่าง TDRI สถาบันไทยอนาคตศึกษา แต่เมืองไทยนี่มีน้อย พวก policy watch เป็นคนคานเลย รวมทั้งสื่อ

กลไกคานพวกนี้สร้างได้ และต้องสร้างอย่างมุ่งมั่น เช่น ประเทศอื่นนั้นรัฐบาลเขาจะต้องเจียดงบประมาณให้กับองค์กรภาคประชาชน ภาคสังคมจะต้องลุกขึ้นมา คือมันต้องสร้างองคาพยพพวกนี้ open society institution เพื่อให้มีกลไกที่จะไปคานเขา
4. รัฐแสนดีแสนเก่งไม่มีในโลก

เรื่องอำนาจรัฐ คือ ทั่วโลก พิสูจน์ชัดว่ารัฐแสนดีแสนเก่งไม่มีในโลก เพราะฉะนั้น บทบาทหน้าที่ของรัฐจะต้องชัดเจน หลักง่ายๆ ก็คือ 1) รัฐจะทำสิ่งที่เอกชนไม่ทำ ตลาดไม่ทำ เช่น ความมั่นคง การศึกษา สุขภาพ บริการสาธารณะต่างๆ สวัสดิการ 2) การจัดสรรทรัพยากร ทรัพยากรจากส่วนกลางนี่ทำยังไงที่จะให้คนด้อยโอกาสได้รับ เอาทรัพยากรจากคนมีไปให้คนจน เอาทรัพยากรจากอนาคตมาใช้ในปัจจุบันที่จำเป็น พวกนี้คือหน้าที่ของรัฐ แล้วก็ให้บริการเรื่องความมั่นคง แต่รัฐไม่ควรเข้ามายุ่งกับตลาด

คนไทยชอบเข้าใจ Keynesian ผิด คือ Keynesian นั้นรัฐต้องเข้ามาเกี่ยวข้องจริง แต่ Keynesian จริงๆ รัฐจะเข้ามาเกี่ยวในเวลาที่ควรเกี่ยวในเรื่องที่ควรเกี่ยว รัฐเข้ามาอย่าง QE เนี่ยก็เป็น Keynesian แต่ของเขานี่คืออัดเงินเข้าไปอย่างเดียวรัฐไม่ต้องเข้ามา operate เพราะมันก็เป็นมาตรการที่ชั่วคราว นี่คือ concept ของ Keynesian คือดุลยภาพที่ตลาดมันสร้าง บางครั้งมันไม่ถูก มันไม่ดี รัฐต้องเข้ามาเพื่อที่จะกระชาก ไม่ใช่ชักเย่อ

เพราะฉะนั้น มาตรการที่จะใช้ก็ควรจะเป็น

1) มาตรการชั่วคราว ใช้เสร็จถอดได้ ไม่ใช่อยู่ไปตลอดกาล

2) เป็นมาตรการที่ใช้กลไกตลาดเข้ามาช่วย ไม่ใช่ไปสร้างกลไก สร้างหน่วยงานสร้างองค์กรสร้างกลไกแล้วเลยต้องอยู่ตลอด

3) จะต้องเป็นมาตรการที่ไม่เกิดผลแทรกซ้อนไปบิดเบือนโครงสร้างไปเกิดผลแทรกซ้อนระยะยาว อย่างเช่น รถคันแรก มันก็ไปลดอำนาจซื้อ เลยต้องอัดมาตรการอย่างอื่นตามเข้าไป จะต้องไม่ใช่แทรกแซงโดยการแย่งตลาดมาทำ อย่างเช่นจำนำข้าว คือไปยึดตลาดของเอกชนมาเป็นของรัฐ

ตั้งแต่วิกฤติปี 1998 จนปัจจุบัน ประมาณ15-16 ปี ปรากฏว่ารัฐไทยฝืนโลก ทั่วโลกเขาลดบทบาทรัฐ เวลามีวิกฤติรัฐต้องเข้าไปยุ่ง แต่ไม่ใช่ไปยุ่งแบบประเทศไทย ของไทยนี่เพิ่มทั้งขนาดบทบาทและอำนาจ

Professor Prescott เคยมาพูดที่เมืองไทย บอกว่าประเทศไหนรัฐยุ่งน้อย เจริญมาก รัฐยุ่งมากเจริญน้อย ซึ่งพิสูจน์แล้วทั่วโลก โดย trend ใหญ่เขาลดบทบาทรัฐ เพิ่มบทบาทเอกชน เพราะรัฐแสนดีแสนเก่งนั้นไม่มี

แต่เมืองไทยตั้งแต่ปี 1998 มาถึงปัจจุบัน ที่ปรากฏ 1) งบประมาณเมื่อก่อนประมาณ 18% ของ GDP ตอนนี้เป็น 22% แม้ไม่มากนัก แต่นอกงบประมาณโครงการ 3 .5 แสนล้าน โครงการ 2 ล้านล้าน โครงการไทยเข้มแข็ง นี่คืองบประมาณนอกงบประมาณ

2) แต่พอไปดูรัฐวิสาหกิจ เชื่อไหมว่า ปี 1998 ค่าใช้จ่ายรวมของรัฐวิสาหกิจที่ไม่รวมสถาบันการเงินเป็นร้อยละ 17 ของ GDP ปีที่แล้ว (2555) ร้อยละ 38 หรือประมาณ 4 ล้านล้านบาท ไม่รวมสถาบันการเงินที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ลองดูว่า 4 ล้านล้านบาทนี่ต้องบอกว่ามากกว่างบประมาณเกือบเท่าตัว เพราะงบประมาณปี 2556 วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท เพราะฉะนั้น รัฐวิสาหกิจก็คือรัฐ เพราะรัฐมนตรีสั่งได้

3) ถัดมาคือ SFI สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เอสเอ็มอีแบงก์ เอ็กซิมแบงก์ ทั้งหมดจาก 13% ของ GDP ปีที่แล้ว (2555) เป็น 34% จะเห็นว่ารัฐไทยยิ่งใหญ่ขึ้นในแง่ขนาด อำนาจ

อำนาจนี่ เวลาผมพูดถึงรัฐนี่ไม่ได้หมายถึงรัฐบาลเท่านั้นนะ องค์กรอิสระอะไรทั้งหลายมีการตั้งมากเกินไป หลายองค์กรตั้งเพื่อมาคานอำนาจมาตรวจสอบ แต่พอใครมีอำนาจเขาก็ exercise อำนาจ แล้วมันก็ลามไปหมด ทำให้กลไกต่างๆ องคาพยพต่างๆ ไม่เคลื่อนไหว ผมเข้าใจเจตนานะ แต่หลายๆ ครั้ง มันก็มีเรื่องแทรกซ้อน ผมว่าเราควรจะรื้อระบบ ปฏิรูปกลไกอำนาจของสถาบันภายในประเทศไทยใหม่ทั้งหมด มันถูกสร้างมาจากมิติทางการเมือง จากรัฐธรรมนูญบ้าง จากอะไรบ้าง

privatization เป็นเรื่องหนึ่งที่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สังคมไทย ไปถูกเข้าใจผิดว่า privatization เป็นเรื่องขายชาติ ผมเห็นด้วยว่า privatization ต้องทำดีกว่านี้ คือเราไม่เคย privatization อะไรเลย แต่ผมยืนยันตรงนี้นะครับว่าดีกว่าไม่ทำแน่นอน การที่ ปตท. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ดีกว่าไม่จดทะเบียน แต่ยังไม่ดีที่สุด ดีที่สุดต้องแปรรูปให้สมบูรณ์ ก็คือขายไปให้หมด

ปกติการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเขาแปลว่าการโอนทรัพย์สินและกิจการที่สามารถดำเนินการในการพาณิชย์ได้ จากภาครัฐสู่ภาคเอกชน แต่สิ่งที่เราทำนี่ไม่ใช่ เพราะเราทำครึ่งเดียว ไม่ได้โอนไปให้เอกชน มันกลับข้างนะ คือปกติเค้าย้ายทรัพยากรจากภาครัฐไปให้เอกชน ของเราเลยไปกวาดต้อนทรัพยากรภาคเอกชนมาอยู่ภายใต้รัฐ ถามว่าเมื่อไหร่ถึงเรียกว่าแปรรูปเต็มรูปแบบ ผมก็เลยใช้คำง่ายๆ เลย คือ เมื่อรัฐมันตรีสั่งไม่ได้
5. คอร์รัปชัน ตัวถ่วงความเจริญ

คอร์รัปชัน เวลาคนพูดถึงคอร์รัปชัน คนมักจะไปพูดง่ายๆ ว่าคอร์รัปชันมันผิดศีลธรรม ผิดจริยธรรม เหมือนเป็นการลักทรัพย์ คนมักจะไปมองเพียงว่าทำให้ค่าใช้จ่ายรัฐสูงเกินความจำเป็น รั่วไหล จริงๆ โทษของมันมากกว่านั้นเยอะ เพราะคอร์รัปชันมันถ่วงความเจริญ มันทำให้ประเทศอยู่ในความล่มสลาย (in decline) หนักขึ้น

อันที่หนึ่ง มันทำให้นโยบายการคลังบิดเบือนและไม่ได้ผล นโยบายการคลังผมพูดไปแล้วว่าจริงๆ ก็คือการโยกย้ายทรัพยากรจากคนมีมากกว่าไปให้คนมีน้อยกว่า จากภาคส่วนที่มีความจำเป็นน้อยกว่าไปให้ภาคส่วนมีความจำเป็นมากกว่า เอาไปสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหลายแหล่ รวมทั้งย้ายทรัพยากรจากอนาคตมาใช้ที่ปัจจุบัน เพื่อที่จะมีความรุ่งเรืองในอนาคต แต่พอมีคอร์รัปชันเข้ามาเกี่ยว เริ่มตั้งแต่กระบวนการตัดสินใจ แรงจูงใจในการจัดนโยบายการคลังมันก็เบี้ยวตั้งแต่ต้น และระหว่างทางยังทั้งรั่วทั้งไหล มันทำให้แย่

อันที่สอง มันทำให้บริการพื้นฐานทั้งหลายมีต้นทุนสูง คุณภาพแย่ มีไม่เพียงพอ มันก็บั่นทอนการแข่งขันของประเทศต้นทุน เพราะคอร์รัปชันมันให้รัฐเกิดเรื่องอย่างนั้น

อันที่สาม ทำให้เกิดการบิดเบือนทรัพยากรอย่างมาก คือธรรมชาติของเศรษฐศาสตร์ ภาคไหนกำไรมากภาคนั้นทรัพยากรไหลเข้า ทั้งทรัพยากรเงินทุน ทรัพยากรการลงทุน คนที่มีคุณภาพ จะไหลไปสู่ภาคที่มีกำไรมากที่สุด อันนี้เป็นธรรมชาติของเศรษฐกิจ ภาคที่ corruptible เกือบทั้งหมดเป็นภาคที่ไม่ต้องแข่งขันกับใครเพราะ corruptible หมายถึงการกีดกันการแข่งขัน การล็อกสเปก เพราะฉะนั้น ภาคที่ corruptible เลยเป็นภาคที่ทำลายการแข่งขัน เช่น เป็นพวก non tradable ถ้าคุณส่งออกสินค้าไปแข่งขัน การยัดเงินนี่ไม่ช่วยคุณ เพราะฉะนั้น การยัดเงินแล้วจะช่วยคุณก็เฉพาะกิจกรรมในประเทศหรือใช้ทรัพยากรรัฐมาช่วย ภาคต่างๆ เหล่านี้เป็นภาคที่ไม่แข่งกับโลก เพราะแข่งปั๊บ corrupt ช่วยไม่ได้ พอไม่แข่งกับโลก ทรัพยากรทั้งหมดก็เลยไปลงทุนในภาคพวกนี้ อัจฉริยะของไทยนี่เป็นนักล็อบบี้เยอะมาก เพราะเป็นอาชีพที่รวยที่สุดแล้ว ไปบิดเบือนกลไกรัฐแล้วรวยที่สุดแล้ว คือเป็นภาคส่วนที่ไม่สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจเลยแต่เอาผลประโยชน์ไปเยอะมาก พอเอาผลประโยชน์ไปเยอะมาก ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะกระจายให้กับคนที่มุ่งมั่นสร้างประสิทธิภาพ มันก็เลยไม่เหลือ นวัตกรรมไม่มีเพราะมันไม่มีต้องนวัตกรรม มันเหลือแต่นวัตกรรมคอร์รัปชันอย่างเดียวในประเทศนี้

ทำไมประเทศไทยทั้งประเทศถึงมีการจด international patent น้อยกว่า Huawei บริษัทเดียวต่อปี เพราะมันไม่จำเป็น เพราะว่า R&D ทำไปเพื่ออะไร เมืองไทยซื้อศักยภาพการแข่งขันได้ ซื้อความได้เปรียบได้ พอซื้อความได้เปรียบมันชัวร์กว่า สัจจะแปลว่าจ่ายครบกูทำให้แน่ (หัวเราะ)

มันเลยกลายเป็นสัจธรรม กลายเป็นวงจรที่แกะไม่หลุด ณ ปัจจุบัน แต่ผมก็ยังเชื่อว่ายังไงประเทศไทยก็ต้องดีขึ้น มันอาจไม่น่าเชื่อ เวลา momentum มานะ ผมเชื่อว่า momentum มันกำลังมา เวลา momentum มันมา อย่างประธานาธิบดีไต้หวันอยู่ในคุก ประธานาธิบดีเกาหลีฆ่าตัวตาย อีกคนอยู่ในคุก นี่คือพัฒนาการทั่วโลก มันเร็ว ถ้าสังคมตื่น
การพัฒนาช้านำไปสู่อะไร?

ดังนั้น ความที่ประเทศไทยต้วมเตี้ยม ความที่มันไร้ประสิทธิภาพจะนำไปสู่อะไร ความจริงการพัฒนาช้านี่นะ ผลของมันก็จะแทรกซึมไปทั่ว โดยปกติแล้วถ้าพัฒนาช้าในแง่ของเศรษฐกิจเองมันไม่ทำให้เกิดวิกฤติ ถ้าพัฒนาเร็วต่างหากล่ะมักจะต้องเจอวิกฤติ เขาบอกวิกฤติเป็นต้นทุนของการพัฒนา เพราะฉะนั้นการพัฒนาช้าจะไม่นำไปสู่วิกฤติหรอก แต่เราก็อยู่ต้วมเตี้ยมๆ อยู่อย่างนี้ แต่มันจะไปเกิดวิกฤติอื่นในแง่เศรษฐกิจ ข้อดีของการพัฒนาช้าคือจะไม่นำไปสู่วิกฤติ ทำไมเราถึงเกิดวิกฤติ 1997 ก็เพราะเครื่องมันเร่งเต็มที่ในปี 1992-1996 เพราะมันพัฒนาเร็วมาก จีดีพีโต 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ต่อปี มันทำให้เกิดวิกฤติ

ดังนั้น การพัฒนาช้ามีข้อดีคือไม่วิกฤติ และต้นทุนของการพัฒนาช้ามันแทรกๆ ซึมๆ แต่ผมกลับไปกลัวว่า การพัฒนาช้ามันจะสร้างความเหลื่อมล้ำที่ไม่ได้รับการแก้ไข ผมให้ความสำคัญกับเรื่องการกระจายมากกว่าการเติบโต แต่เติบโตก็ต้องเติบโตบ้างนะ แต่ถ้าการกระจายไม่ดีนี่เกิดวิกฤติได้ มันเกิดวิกฤติสังคม คนมันขัดข้องหมองใจ คนจนในชนบทเขาจะเจอพ่อค้าคนกลางกับนายทุนเงินกู้ ซึ่งมันก็ไม่ดีทั้งคู่ แต่พอเข้าเมือง โห…มันมากกว่านั้นน่ะ คุณเจอการเหยียดหยาม เจอตำรวจเทศกิจ เจอการเปรียบเทียบ เรื่องพวกนี้ที่ผมคิดว่ามันถูกนำไปสู่ปัจจัยทางการเมือง

การจะโตช้านี่ไม่เป็นไร มันเลยทำให้เรื่องคุณภาพสื่อ คุณภาพคน คุณภาพการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะว่าเมืองไทย พอพูดถึงเรื่องปรับโครงสร้าง เรื่องพัฒนาในแง่โครงสร้างนี่ไม่มีใครทำ เพราะจะทำทำไม ไม่มีใครซาบซึ้ง แก้แต่เปัญหาเฉพาะหน้า ได้กันเห็นๆ เพราะฉะนั้นถึงไม่เกิดการปฏิรูป มันจะเกิดก็ต่อเมื่อมีวิกฤติสักที ต้องให้คนที่เก่งจริงๆ อย่าง ไอเอ็มเอฟมาผลักดันให้เราเกิดการปฏิรูป

-จบ-
“Its like a finger pointing away to the moon. Don't concentrate on the finger
or you will miss all that heavenly glory.”- Bruce Lee

FAQs เกี่ยวกับแนวทางลงทุนแบบ VI
Blog ใหม่ >> https://www.blockdit.com/articles/5d733 ... 270d7b530
ภาพประจำตัวสมาชิก
leaderinshadow
Verified User
โพสต์: 1765
ผู้ติดตาม: 0

Re: “บรรยง พงษ์พานิช” เปิด 5 ปมความต้วมเตี้ยม-ตัวถ่วงประเทศไ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

อ่านเพลินเลย
เป็นบทความที่ดีมากๆครับ
CARPENTER
Verified User
โพสต์: 423
ผู้ติดตาม: 0

Re: “บรรยง พงษ์พานิช” เปิด 5 ปมความต้วมเตี้ยม-ตัวถ่วงประเทศไ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ปัญหาของประเทศไทย หนักที่สุด คือ การ coruption
ถ้าแก้เรื่อง coruption ได้แล้ว อย่างอื่น ก็จะถูกแก้ไปด้วย
เช่น ข้อ 4 ที่ อำนาจรัฐมีมากและมากขึ้นเรื่อยๆ ก็มาจากการ coruption เป็นตัวกำหนด
ถ้าประเทศไทย coruption น้อย พอๆกับประเทศอื่นๆ
นโยบาย ทางด้านการเงิน การคลัง การกระจายรายได้ การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ
ก็จะเหมาะสม เป็นที่ยอมรับของสังคม แต่ถ้า coruption สูงมากๆแบบนี้
การแปรรูป ก็แปรรูปไป coruption ไป เช่น เอาทรัพยากรของชาติมาขายถูกๆ
Jtinvestment
Verified User
โพสต์: 10
ผู้ติดตาม: 0

Re: “บรรยง พงษ์พานิช” เปิด 5 ปมความต้วมเตี้ยม-ตัวถ่วงประเทศไ

โพสต์ที่ 4

โพสต์

ตามอ่านบทความของคุณ บรรยง มาหลายบทความแล้วครับ เป็นงานเขียนที่มีคุณภาพจริงๆ เชื่อว่าเกิดจากการสะสมประสบการณ์ในแวดวงการเงิน การลงทุน และ เศรษฐกิจ มานาน ขอบคุณความรู้ที่ถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ด้วยครับ
ภาพประจำตัวสมาชิก
canuseeme
Verified User
โพสต์: 302
ผู้ติดตาม: 0

Re: “บรรยง พงษ์พานิช” เปิด 5 ปมความต้วมเตี้ยม-ตัวถ่วงประเทศไ

โพสต์ที่ 5

โพสต์

ผมได้ยินเรื่อง สาเหตุมากมาย ที่ทำให้เมืองไทยไม่เจริญ
อย่างแรกที่ต้อง พิจารณาคือ
ตกลงเมืองไทย เจริญ หรือยังไม่เจริญ ตามที่ควรเจริญจากศักยภาพทั้งหมดที่มีในเมืองไทย

ซึ่งในที่นี้ ถือว่าเข้าใจตรงกันว่า เราไม่เจริญเท่าที่เราสมารถจะทำได้
สาเหตุที่ได้ยินบ่อยมากกกกก คือ คอรัปชั่น
เหมือน กับ แก้คอรัปชั่นทุกอย่างจบ

ผมก็มาคิดต่อว่า แล้วทำไมคอรัปชั่นทำให้ไทยไม่เจริญ
คำตอบ จากสื่อที่ผ่านตาคือ
คอรัปชั่นทำให้ต้นทุนการทำธุรกิจสูง ซึ่งธุรกิจใดจะคลอดออกมาได้ราคาจะสูงเกินจริง
ผม มองไปรอบกาย ราคาค่าใช้จ่าย ในเมืองไทย มันสูงขนาดนั้นเชียวรึ
เทียบกับยุโรบ(ถ้าเราถือว่าเขาเจริญแล้ว) จะพบว่า ราคาสินค้าบริการเราถูกกว่า
ต้นทุนเรา ถูกกว่า แล้วทำไมเราไม่เจริญ
เทียบกับประเทศข้างเคียง ลาว พม่า เวียดนาม กัมพูชา บางที่ สินค้า ถูกบ้างแพงบ้าง ผมก็ยัง งง

คอรัปชั่นเป็นสาเหตุ ความไม่เจริญ อันนี้ ผมมั่นใจ
แต่ผม ยังอธิบายไม่ได้ว่า มันเป็นเหตุผลหลักสำคัญขนาดนั้นเชียวหรือ ที่ทำให้ไทยไม่เจริญ
ปัญญาไม่มีในผู้ไม่พิจารณา

There is no fate but what we make

https://www.facebook.com/pages/คัดหุ้นซวย
CARPENTER
Verified User
โพสต์: 423
ผู้ติดตาม: 0

Re: “บรรยง พงษ์พานิช” เปิด 5 ปมความต้วมเตี้ยม-ตัวถ่วงประเทศไ

โพสต์ที่ 6

โพสต์

ผมขอตอบคำถาม คุณcanuseeme
โดยลอกมาจากบทความนี้
kongkiti เขียน: 5. คอร์รัปชัน ตัวถ่วงความเจริญ
อันที่หนึ่ง มันทำให้นโยบายการคลังบิดเบือนและไม่ได้ผล นโยบายการคลังผมพูดไปแล้วว่าจริงๆ ก็คือการโยกย้ายทรัพยากรจากคนมีมากกว่าไปให้คนมีน้อยกว่า จากภาคส่วนที่มีความจำเป็นน้อยกว่าไปให้ภาคส่วนมีความจำเป็นมากกว่า เอาไปสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหลายแหล่ รวมทั้งย้ายทรัพยากรจากอนาคตมาใช้ที่ปัจจุบัน เพื่อที่จะมีความรุ่งเรืองในอนาคต แต่พอมีคอร์รัปชันเข้ามาเกี่ยว เริ่มตั้งแต่กระบวนการตัดสินใจ แรงจูงใจในการจัดนโยบายการคลังมันก็เบี้ยวตั้งแต่ต้น และระหว่างทางยังทั้งรั่วทั้งไหล มันทำให้แย่

อันที่สอง มันทำให้บริการพื้นฐานทั้งหลายมีต้นทุนสูง คุณภาพแย่ มีไม่เพียงพอ มันก็บั่นทอนการแข่งขันของประเทศต้นทุน เพราะคอร์รัปชันมันให้รัฐเกิดเรื่องอย่างนั้น

อันที่สาม ทำให้เกิดการบิดเบือนทรัพยากรอย่างมาก คือธรรมชาติของเศรษฐศาสตร์ ภาคไหนกำไรมากภาคนั้นทรัพยากรไหลเข้า ทั้งทรัพยากรเงินทุน ทรัพยากรการลงทุน คนที่มีคุณภาพ จะไหลไปสู่ภาคที่มีกำไรมากที่สุด อันนี้เป็นธรรมชาติของเศรษฐกิจ ภาคที่ corruptible เกือบทั้งหมดเป็นภาคที่ไม่ต้องแข่งขันกับใครเพราะ corruptible หมายถึงการกีดกันการแข่งขัน การล็อกสเปก เพราะฉะนั้น ภาคที่ corruptible เลยเป็นภาคที่ทำลายการแข่งขัน เช่น เป็นพวก non tradable ถ้าคุณส่งออกสินค้าไปแข่งขัน การยัดเงินนี่ไม่ช่วยคุณ เพราะฉะนั้น การยัดเงินแล้วจะช่วยคุณก็เฉพาะกิจกรรมในประเทศหรือใช้ทรัพยากรรัฐมาช่วย ภาคต่างๆ เหล่านี้เป็นภาคที่ไม่แข่งกับโลก เพราะแข่งปั๊บ corrupt ช่วยไม่ได้ พอไม่แข่งกับโลก ทรัพยากรทั้งหมดก็เลยไปลงทุนในภาคพวกนี้ อัจฉริยะของไทยนี่เป็นนักล็อบบี้เยอะมาก เพราะเป็นอาชีพที่รวยที่สุดแล้ว ไปบิดเบือนกลไกรัฐแล้วรวยที่สุดแล้ว คือเป็นภาคส่วนที่ไม่สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจเลยแต่เอาผลประโยชน์ไปเยอะมาก พอเอาผลประโยชน์ไปเยอะมาก ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะกระจายให้กับคนที่มุ่งมั่นสร้างประสิทธิภาพ มันก็เลยไม่เหลือ นวัตกรรมไม่มีเพราะมันไม่มีต้องนวัตกรรม มันเหลือแต่นวัตกรรมคอร์รัปชันอย่างเดียวในประเทศนี้

ทำไมประเทศไทยทั้งประเทศถึงมีการจด international patent น้อยกว่า Huawei บริษัทเดียวต่อปี เพราะมันไม่จำเป็น เพราะว่า R&D ทำไปเพื่ออะไร เมืองไทยซื้อศักยภาพการแข่งขันได้ ซื้อความได้เปรียบได้ พอซื้อความได้เปรียบมันชัวร์กว่า สัจจะแปลว่าจ่ายครบกูทำให้แน่ (หัวเราะ)

-จบ-
ที่เรารู้สึกว่า ลาว เขมร พม่า ค่าครองชีพสูงเพราะ เราบริโบคแบบนักท่องเที่ยว
ส่วนประเทศที่เจริญกว่าเรา ค่าครองชีพสูงกว่าเราเพราะค่าแรงแพงกว่าเรามาก
เราคิดว่าประเทศไทยเจริญ มีตึกใหญ่ๆสูงๆ ศูนย์การค้าใหญ่ๆ รถไฟใต้ดิน
ทุกอย่างมาจากเทคโนโลยี่ เทคโนโลยี่ ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมหาศาล
แต่ผลของเทคโนโลยี่ไม่ได้ทำให้คนไทย มีความเป็นอยู่ดีขึ้นเลยตลอด 50 ปี
นา ไร่ สวน ของคนไทยหายไป คนจนในเมืองไม่มีทรัพสินอะไรเลย บ้านต้องเช่า มีหนี้สินเต็มไปหมด
ถ้าประเทศไทยคอรัปชั่น พอๆกับมาเลเซีย ความเป็นอยู่ของคนไทยก็จะดีพอๆกับมาเลเซีย
แต่ตอนนี้ผิดกันมาก
ภาพประจำตัวสมาชิก
canuseeme
Verified User
โพสต์: 302
ผู้ติดตาม: 0

Re: “บรรยง พงษ์พานิช” เปิด 5 ปมความต้วมเตี้ยม-ตัวถ่วงประเทศไ

โพสต์ที่ 7

โพสต์

CARPENTER เขียน:ผมขอตอบคำถาม คุณcanuseeme
โดยลอกมาจากบทความนี้
kongkiti เขียน: 5. คอร์รัปชัน ตัวถ่วงความเจริญ
อันที่หนึ่ง มันทำให้นโยบายการคลังบิดเบือนและไม่ได้ผล นโยบายการคลังผมพูดไปแล้วว่าจริงๆ ก็คือการโยกย้ายทรัพยากรจากคนมีมากกว่าไปให้คนมีน้อยกว่า จากภาคส่วนที่มีความจำเป็นน้อยกว่าไปให้ภาคส่วนมีความจำเป็นมากกว่า เอาไปสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งหลายแหล่ รวมทั้งย้ายทรัพยากรจากอนาคตมาใช้ที่ปัจจุบัน เพื่อที่จะมีความรุ่งเรืองในอนาคต แต่พอมีคอร์รัปชันเข้ามาเกี่ยว เริ่มตั้งแต่กระบวนการตัดสินใจ แรงจูงใจในการจัดนโยบายการคลังมันก็เบี้ยวตั้งแต่ต้น และระหว่างทางยังทั้งรั่วทั้งไหล มันทำให้แย่

อันที่สอง มันทำให้บริการพื้นฐานทั้งหลายมีต้นทุนสูง คุณภาพแย่ มีไม่เพียงพอ มันก็บั่นทอนการแข่งขันของประเทศต้นทุน เพราะคอร์รัปชันมันให้รัฐเกิดเรื่องอย่างนั้น

อันที่สาม ทำให้เกิดการบิดเบือนทรัพยากรอย่างมาก คือธรรมชาติของเศรษฐศาสตร์ ภาคไหนกำไรมากภาคนั้นทรัพยากรไหลเข้า ทั้งทรัพยากรเงินทุน ทรัพยากรการลงทุน คนที่มีคุณภาพ จะไหลไปสู่ภาคที่มีกำไรมากที่สุด อันนี้เป็นธรรมชาติของเศรษฐกิจ ภาคที่ corruptible เกือบทั้งหมดเป็นภาคที่ไม่ต้องแข่งขันกับใครเพราะ corruptible หมายถึงการกีดกันการแข่งขัน การล็อกสเปก เพราะฉะนั้น ภาคที่ corruptible เลยเป็นภาคที่ทำลายการแข่งขัน เช่น เป็นพวก non tradable ถ้าคุณส่งออกสินค้าไปแข่งขัน การยัดเงินนี่ไม่ช่วยคุณ เพราะฉะนั้น การยัดเงินแล้วจะช่วยคุณก็เฉพาะกิจกรรมในประเทศหรือใช้ทรัพยากรรัฐมาช่วย ภาคต่างๆ เหล่านี้เป็นภาคที่ไม่แข่งกับโลก เพราะแข่งปั๊บ corrupt ช่วยไม่ได้ พอไม่แข่งกับโลก ทรัพยากรทั้งหมดก็เลยไปลงทุนในภาคพวกนี้ อัจฉริยะของไทยนี่เป็นนักล็อบบี้เยอะมาก เพราะเป็นอาชีพที่รวยที่สุดแล้ว ไปบิดเบือนกลไกรัฐแล้วรวยที่สุดแล้ว คือเป็นภาคส่วนที่ไม่สร้างประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจเลยแต่เอาผลประโยชน์ไปเยอะมาก พอเอาผลประโยชน์ไปเยอะมาก ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่จะกระจายให้กับคนที่มุ่งมั่นสร้างประสิทธิภาพ มันก็เลยไม่เหลือ นวัตกรรมไม่มีเพราะมันไม่มีต้องนวัตกรรม มันเหลือแต่นวัตกรรมคอร์รัปชันอย่างเดียวในประเทศนี้

ทำไมประเทศไทยทั้งประเทศถึงมีการจด international patent น้อยกว่า Huawei บริษัทเดียวต่อปี เพราะมันไม่จำเป็น เพราะว่า R&D ทำไปเพื่ออะไร เมืองไทยซื้อศักยภาพการแข่งขันได้ ซื้อความได้เปรียบได้ พอซื้อความได้เปรียบมันชัวร์กว่า สัจจะแปลว่าจ่ายครบกูทำให้แน่ (หัวเราะ)

-จบ-
ที่เรารู้สึกว่า ลาว เขมร พม่า ค่าครองชีพสูงเพราะ เราบริโบคแบบนักท่องเที่ยว
ส่วนประเทศที่เจริญกว่าเรา ค่าครองชีพสูงกว่าเราเพราะค่าแรงแพงกว่าเรามาก
เราคิดว่าประเทศไทยเจริญ มีตึกใหญ่ๆสูงๆ ศูนย์การค้าใหญ่ๆ รถไฟใต้ดิน
ทุกอย่างมาจากเทคโนโลยี่ เทคโนโลยี่ ที่ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมหาศาล
แต่ผลของเทคโนโลยี่ไม่ได้ทำให้คนไทย มีความเป็นอยู่ดีขึ้นเลยตลอด 50 ปี
นา ไร่ สวน ของคนไทยหายไป คนจนในเมืองไม่มีทรัพสินอะไรเลย บ้านต้องเช่า มีหนี้สินเต็มไปหมด
ถ้าประเทศไทยคอรัปชั่น พอๆกับมาเลเซีย ความเป็นอยู่ของคนไทยก็จะดีพอๆกับมาเลเซีย
แต่ตอนนี้ผิดกันมาก
ขอบคุณครับ
ผมเห็นด้วยว่า คอรัปชั่น เป็นสาเหตุนึง แต่ไม่ใช่ใหญ่

นา ข้าว ที่หายไป ไม่ได้หายไปไหนครับ อยู่ที่เดิม เจ้าของขายได้เงินไปแล้ว
ที่เดิมถูกพัฒนาให้ สร้างผลผลิตที่คุ้มค่ากว่าเดิม(ที่เคยเป็น นา ไร่ สวน)

คนจนในเมืองไม่มีสินทรัพย์ อะไรเลย อันนี้ผมว่า เป็ยข้อคิดเห็นนะครับ ส่วนตัวผมที่พบเจอก็มีทั้งคนมีมากขึ้นและมีน้อยลงปะปนกันไป

ความเป็นอยู่คนไทย 50ปี ไม่ดีขึ้นผมว่าเป็นข้อคิดเห็นเหมือนกัน ที่อันนี้ผม ยืนยันว่าไม่จริงครับ
ความเป็นอยู่คนไทย วันนี้เทียบกับ 50 ปีที่แล้วดีขึ้นแน่นอน
อย่างน้อยวันนี้ ผมก็ได้คุยกับท่าน กลับบ้านมีด้วยเครื่องบิน(Low cost)
หรือจะนั่งรถทัวร์ กากๆ ก็สุญพันธ์ไปละ รถไฟก็กำลังปรับปรุง
การบริการภาครัฐดีขึ้นมาก การเข้าถึง ภาคการรักษาหรือ การศึกษาก็ง่ายกว่าเดิม

แต่ เรื่องพวกนี้ก็โยงกับ คอรัปชั่นได้ไม่ชัดเจนเท่าไร
:B :B
ปัญญาไม่มีในผู้ไม่พิจารณา

There is no fate but what we make

https://www.facebook.com/pages/คัดหุ้นซวย
ล็อคหัวข้อ