ประกันภัยคนยาก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

ประกันภัยคนยาก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

   ปลายสัปดาห์ที่แล้ว สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย หรือ คปภ. ได้ออกมาแถลงว่า คนไทยจะมีสิทธิ์ซื้อประกันภัยไมโครอินชัวรรันซ์ภาคสมัครใจ ได้ในเร็วๆนี้
   ​ไมโครอินชัวรันซ์ (Microinsurance) หรือดิฉันขอเรียกว่าประกันภัยคนยากไปพลางๆก่อนจนกว่าจะมีผู้บัญญัติศัพท์ คือการประกันภัยของผู้มีความมั่งคั่งน้อย เพื่อเป็นหลักประกันแก่ครอบครัวในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝันกับผู้เอาประกัน เช่นเสียชีวิต หรือทุพพลภาพถาวร บริษัทประกันจะจ่ายเงินให้
   การทำประกันภัยเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการเงิน โดยการประกันภัยถือเป็นการบริหารความเสี่ยงแบบหนึ่ง คือเป็นการโอนความเสี่ยงไปให้บริษัทที่ทำประกัน ในกรณีของการประกันชีวิต หากไม่มีการทำประกัน เมื่อผู้หารายได้หลักของครอบครัวเสียชีวิต หรือพิการไม่สามารถทำงานได้ ครอบครัวมักประสบกับความทุกข์ยาก ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่าย และเกิดภาระเพิ่มขึ้น หรือตกอยู่ในวังวนของความยากจนไปเรื่อยๆ
   ในบรรดาทรัพย์สินทั้งหมดที่เรามีอยู่นั้น ชีวิตของเราถือเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุด โดยเฉพาะหากเราเป็นผู้หารายได้มาเลี้ยงครอบครัว เมื่อเราจากไป ครอบครัวอาจเดือดร้อน  การมีเงินสักก้อนหนึ่งเอาไว้ดูแลครอบครัวในช่วงปรับตัวหลังการจากไปของเราจึงเป็นเรื่องที่ดี อย่างน้อยก็บรรเทาความเดือดร้อนไปได้ส่วนหนึ่ง
   ผู้มีความมั่งคั่งไม่สูง มีรายได้ไม่สูง ต้องพึ่งพารายได้จากการทำงานเป็นหลัก เป็นกลุ่มที่ต้องการการคุ้มครองนี้มากที่สุด แต่ที่ผ่านมา คนกลุ่มนี้จะเข้าไม่ถึงการประกันภัย เพราะค่าเบี้ยประกันจะสูง อย่างน้อยก็เป็นหลักพันหลักหมื่นบาท หากมีรายได้วันละ 300-400 บาท ใช้เงินในการกินอยู่ก็แทบจะไม่เพียงพอแล้ว จึงไม่เห็นความจำเป็นในการมีการคุ้มครองด้วยการทำประกันภัย
   ดิฉันถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่มีการผลักดันให้ออกไมโครอินชัวรันซ์นี้ออกมา ทราบว่ามีบริษัทประกันชีวิตเข้าร่วมถึง 22 บริษัท หนึ่งกรมธรรม์ จะให้ความคุ้มครอง 100,000 บาท กรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจากอุบัติเหตุรถยนต์ แต่หากเสียชีวิตหรือทุพพลภาพจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์ หรือการฆาตกรรม จะได้รับ 50,000 บาท ถ้าเสียชีวิตเพราะการเจ็บป่วยหลังจากทำประกันไปแล้วเกิน 120 วัน จะได้รับค่าปลงศพ 10,000 บาท แต่หากเสียชีวิตก่อน 120 วัน จะไม่ได้รับ
   ทาง คปภ. กำหนดเบี้ยประกันไว้กรมธรรม์ละ 200 บาทต่อปี ซึ่งถือว่าถูกมาก และกำหนดให้ซื้อได้คนละไม่เกิน 2 ฉบับ คือสามารถรับความคุ้มครองสูงสุดได้ 200,000 บาท หากซื้อสองฉบับ
   ทั้งนี้ ต้องใช้เลขที่บัตรประชาชนในการซื้อ และมีเงื่อนไขว่า ผู้ซื้อกรมธรรม์ต้องมีอายุระหว่าง 20 ถึง 60 ปี ซึ่งดิฉันเห็นว่าเพียงพอต่อการคุ้มครองผู้ทำงานส่วนใหญ่ของประเทศอยู่แล้ว
   คปภ. อธิบายว่า ที่สามารถทำให้เบี้ยประกันถูกได้ เนื่องจากได้ตัดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆลง เช่น ทำระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมโยงกัน ลดค่าใช้จ่ายในการขาย และไม่มีการออกกรมธรรม์เล่มหนาๆ แต่จะออกเป็นใบรับรองให้แทน ซึ่งดิฉันเห็นว่าดี เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ได้อ่านกรมธรรม์หนาๆหรอกค่ะ แต่ควรจะมีกรมธรรม์และเงื่อนไขต่างๆให้ผู้ทำประกันได้อ่าน ณ จุดขาย และหากจะมีอยู่ในเว็ปไซต์เพื่อให้เข้าไปดูหรือพิมพ์ออกมา ในกรณีที่ต้องการก็จะเป็นประโยชน์ค่ะ แม้ผู้เอาประกันอาจไม่ได้เข้าไปดูเอง แต่บุคคลอื่นสามารถเข้าไปดู ไปศึกษาและให้คำแนะนำหรืออธิบายแก่ผู้เอาประกันได้
   ประกันภัยคนยากนี้ เข้าใจว่าเริ่มในโลกครั้งแรกในปี 1999 และเป็นประโยชน์มากกับประชาชนคนยากในทวีปอัพริกาและประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย แต่การดำเนินการก็ไม่ได้ราบรื่นนะคะ เพราะเก็บเบี้ยต่ำ และหากประชากรมีลักษณะ (Profile) คล้ายๆกัน ก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับบริษัทประกัน อย่างเช่นที่เคยเกิดปัญหาขึ้นที่บังกลาเทศ
   ไมโครอินชัวรันซ์ในอินเดีย เริ่มมาตั้งแต่ปี 2005 หรือประมาณแปดปีมาแล้ว ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาตลอด ในปี 2010-2011 ขายกรมธรรม์ได้ 3.65 ล้านกรมธรรม์ ให้ความคุ้มครอง 18.9 ล้านคน เทียบกับ ในช่วงปี 2007-2008 ที่ขายได้ 940,000 กรมธรรม์ และในปี 2008-2009 ขายได้ 2.15 ล้านกรมธรรม์ ในฟิลิปปินส์ก็เริ่มในปี 2010 ค่ะ
   การทำประกันภัยคนยากนี้ สามารถทำได้ทั้งประกันชีวิต ประกันทรัพย์สิน ประกันสุขภาพ และประกันพืชผลเสียหาย
   สำหรับประเทศไทย เรามีประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว การซื้อประกันสุขภาพของผู้ยากจึงไม่จำเป็น การซื้อกรมธรรม์ไมโครอินชัวรันซ์ที่จะออกมานี้เป็นการซื้อประกันชีวิตค่ะ เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของผู้อยู่เบื้องหลัง หากเจ็บป่วยเสียชีวิต ก็ได้ค่าปลงศพ 10,000 บาท แต่หากเสียชีวิตหรือพิการจากอุบัติเหตุก็จะได้รับ 50,000 หรือ 100,000 บาท แล้วแต่กรณี
   ดิฉันมองว่าบริษัทประกันภัยน่าจะถือเสมือนว่าโครงการนี้เป็นการทำเพื่อสังคม (CSR) อย่างหนึ่ง เพราะบริษัทประกันภัยมีลูกค้าหลากหลาย ความเสี่ยงก็กระจายกันไป เอากำไรจากกลุ่มเบี้ยประกันสูงๆ มาถัวเฉลี่ยแบ่งจ่ายความคุ้มครองให้กับกลุ่มคนที่ยังลำบาก เพื่อให้เขามีสวัสดิภาพที่ดีขึ้น ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีค่ะ งานนี้ขอชมเชยทั้ง คปภ. และบริษัทประกันค่ะ
   ผู้ทำงานอิสระ เช่น อาชีพค้าขาย รับจ้างทั่วไป เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน รวมถึงประชาชนทั่วไปที่ยังไม่มีการคุ้มครองจากการประกันชีวิต หรือคนที่มีของบริษัทแล้ว แต่อยากจะได้รับความคุ้มครองเพิ่ม ควรจะมีไว้สัก 1 หรือ 2 กรมธรรม์นะคะ เก็บเงินวันละ 20 บาท ใช้เวลา 10 วันก็ซื้อได้แล้ว
   เหตุไม่คาดฝันอาจจะเกิดได้ทุกเวลา แม้เราจะตั้งตัวอยู่ในความไม่ประมาท ระมัดระวังเต็มที่แล้ว แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้ จ่ายเงิน 200 บาทต่อปี เพื่อความอุ่นใจ ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากๆค่ะ
[/size]
miracle
Verified User
โพสต์: 18134
ผู้ติดตาม: 0

Re: ประกันภัยคนยาก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

อันนี้เป็นความคิดของผม

ถ้าหากว่า คนซื้อประกันภัยตัวนี้เสียชีวิต
ได้ 100,000 บาท ถ้าเกิน 120 วันได้ค่าปลงศพอีก 10,000 บาท
นั้นคือ ต้นทุน 110,000 บาท ต่อผู้เสียชีวิต 1 ท่าน
ขาย 200 บาทต่อกรมธรรม์
ดังนั้น ต้องขายอย่างน้อย 550 กรมธรรม์
ยังไม่รวม ค่าใช้จ่ายของบริษัทประกันภัย
ค่าบำเหน็จของตัวแทนประกันภัย ที่บริษัทจำเป็นต้องจ่ายให้ตามระเบียบของคปภ

ดังนั้น ผู้ที่ซื้อมีแต่ได้กับได้ แต่ผู้ถือหุ้นบริษัทประกันภัย หน้าบอกบุญไม่รับ
สำหรับการประกันภัยตัวนี้

ในอดีตก็มีโครงการแบบนี้เหมือนกัน แต่ครั้นนั้นจ่ายเบี้ยแพงกว่านี้
มีผู้ซื้อไม่ถึงล้านคนที่เป็นจุดคุ้มทุน บริษัทประกันภัยก็ขาดทุนจากโครงการนั้น
อายุโครงการแค่ 2 ปีเท่านั้น

:)
soros
Verified User
โพสต์: 262
ผู้ติดตาม: 0

Re: ประกันภัยคนยาก/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

[quote="miracle"]อันนี้เป็นความคิดของผม

ถ้าหากว่า คนซื้อประกันภัยตัวนี้เสียชีวิต
ได้ 100,000 บาท ถ้าเกิน 120 วันได้ค่าปลงศพอีก 10,000 บาท
นั้นคือ ต้นทุน 110,000 บาท ต่อผู้เสียชีวิต 1 ท่าน
ขาย 200 บาทต่อกรมธรรม์
ดังนั้น ต้องขายอย่างน้อย 550 กรมธรรม์
ยังไม่รวม ค่าใช้จ่ายของบริษัทประกันภัย
ค่าบำเหน็จของตัวแทนประกันภัย ที่บริษัทจำเป็นต้องจ่ายให้ตามระเบียบของคปภ

ดังนั้น ผู้ที่ซื้อมีแต่ได้กับได้ แต่ผู้ถือหุ้นบริษัทประกันภัย หน้าบอกบุญไม่รับ
สำหรับการประกันภัยตัวนี้

ในอดีตก็มีโครงการแบบนี้เหมือนกัน แต่ครั้นนั้นจ่ายเบี้ยแพงกว่านี้
มีผู้ซื้อไม่ถึงล้านคนที่เป็นจุดคุ้มทุน บริษัทประกันภัยก็ขาดทุนจากโครงการนั้น
อายุโครงการแค่ 2 ปีเท่านั้น

:)[/quote]

ผมอ่าน ผมเข้าใจว่า ถ้าเสียชีวิตจากอุบัติเหตุถึงได้ 100,000 แต่ถ้าเสียชีวิตจากเหตุเจ็บป่วยได้ค่าปลงศพ 10,000 บาทเท่านั้น
โพสต์โพสต์