ลงทุนเพื่ออะไร/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

ลงทุนเพื่ออะไร/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ลงทุนเพื่ออะไร
วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ CFPTM
   ยี่สิบปีที่ดิฉันทำงานในฐานะผู้บริหารเงินลงทุน นักวางแผนการเงิน และเกือบสามสิบปีที่เป็นผู้ออมและผู้ลงทุน ได้ไปบรรยายและพบปะกับผู้ลงทุนมากมาย ดิฉันพบว่าคนส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจวัตถุประสงค์ของการวางแผนการลงทุน
เวลาเล่าถึงพลังของดอกเบี้ยทบต้น คนส่วนใหญ่มักจะพูดว่า “ถ้ารู้อย่างนี้ เริ่มออมเสียตั้งแต่อายุ 25 แล้ว” ดิฉันจะพูดทุกครั้งว่า “เริ่มตอนนี้ก็ยังไม่สายค่ะ” เริ่มทันทีที่คิดได้แม้จะพร้อมหรือไม่ก็ตาม
   ทำไมถึงบอกว่าพร้อมหรือไม่พร้อมก็เก็บออมเพื่อลงทุนได้ เพราะถ้ารอให้พร้อม รับรองว่าต้องใช้เวลานาน จะมีข้ออ้างได้ตลอด  คิดได้จึงควรลงมือทำ ทำได้มากได้น้อย ได้ดีหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
   คนที่อยากลงทุน ต้องเข้าใจก่อนว่า ปัจจัยที่ต้องมีคือ 1. มีเงินลงทุน  2. มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน อย่างน้อยก็ความรู้พื้นฐานว่าการลงทุนย่อมมีความเสี่ยง การลงทุนแต่ละประเภท แต่ละช่วงเวลา ให้ผลตอบแทนไม่เท่ากัน และในบางจังหวะ การลงทุนบางประเภทก็อาจให้ผลตอบแทนที่ผันผวนมากจนทำให้ขาดทุนได้  และ 3. มีเวลาติดตามการลงทุน อาจจะมากน้อยต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าลงทุนในลักษณะไหน
   ผู้ลงทุนมักจะมีเป้าหมายการลงทุนที่แตกต่างกัน เป้าหมายที่สำคัญจะมี 3 อย่างคือ เป้าหมายผลตอบแทน เป้าหมายระยะเวลา และเป้าหมายความเสี่ยง ส่วนบางคนอาจมีเป้าหมายอื่นๆ เช่น ได้ประโยชน์ทางภาษี หรือมีข้อจำกัดอื่น ดิฉันจะไม่นำมาเขียนในบทความนี้  จะเขียนเฉพาะที่บุคคลทั่วๆไปควรจะทราบค่ะ
   ที่ต้องมีเป้าหมายเพราะ หากไม่มี การลงทุนก็จะสะเปะสะปะ ผู้ลงทุนก็อาจจะไม่เข้าใจ หรือเกิดความเสียหายขึ้นได้  เช่น หากไม่เข้าใจว่า ระยะเวลาการลงทุนมีส่วนสำคัญต่อความเสี่ยงที่รับได้ ก็อาจจะเอาเงินค่าเทอมลูกที่จะต้องจ่ายในอีก 1 เดือนข้างหน้าไปลงทุนในหุ้น ถ้าเผอิญหุ้นที่ลงทุนนั้นมีราคาลดลง ถึงเวลาต้องจ่าย ต้องขายหุ้นไปในราคาที่ขาดทุน เงินที่จะจ่ายชำระค่าเทอมก็จะมีไม่ครบ เดือดร้อนกันไปถ้วนหน้า
   เป้าหมายผลตอบแทน ก็ไม่ใช่จะตั้งให้สูงเข้าไว้ การคาดหวังผลตอบแทนจะมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้ เช่น หากรับความเสี่ยงได้น้อย ควรจะตั้งเป้าหมายผลตอบแทนที่ต่ำหน่อย อาจจะตั้งเพียงเอาชนะเงินเฟ้อเท่านั้น เรียกว่า Low risk, low expected return. 
   ส่วนผู้ที่หัวใจเสริมใยเหล็ก หรือผู้ที่มีความมั่นคงของอาชีพสูง ความมั่งคั่งโดยรวมสูงอยู่แล้ว อายุก็ยังน้อยอยู่ หากจำนวนเงินที่นำมาลงทุนหดหายไปบ้างก็ไม่เดือดร้อน และตั้งใจลงทุนระยะยาว ก็สามารถตั้งเป้าหมายผลตอบแทนได้สูงขึ้น เรียกว่า High risk, high expected return.  คือถ้าจะต้องเสี่ยงสูง ก็ต้องตั้งเป้าหมายผลตอบแทนที่คาดหวังสูงด้วย สวนจะได้สูงหรือไม่ จะมีองค์ประกอบหลายอย่าง
   ผู้ที่เข้าใจการตั้งเป้าหมายนี้ ก็จะไม่ตั้งว่า “ผลตอบแทนสูงๆ ความเสี่ยงต่ำๆ” อีกต่อไป  แต่จะกลายเป็น “ผลตอบแทนที่ดี ในระดับความเสี่ยงเหมาะสม” (สูง หรือกลาง หรือต่ำก็แล้วแต่ที่แต่ละคนรับได้)
   แนะนำว่า ในการบริหารเงินลงทุน อย่างน้อยต้องแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่จะลงทุนระยะปานกลาง กับส่วนที่จะลงทุนระยะยาว  จากประสบการณ์ของดิฉัน ผู้ลงทุนส่วนใหญ่จะรวมเงินลงทุนเป็นก้อนเดียว ดังนั้นในการบริหารก็จะเกิดการกลัวความเสี่ยงจนเกินควร จึงตั้งเป้าหมายในการลงทุนที่อนุรักษนิยมเกินกว่าที่ควรจะเป็น
   แต่ก็พบว่า การตั้งเป้าหมายการลงทุนแบบนี้ ค่อนข้างเป็นวิชาการ ดังนั้น การระบุเฉพาะเจาะจงลงไปเกี่ยวกับเงินออมและลงทุนจำนวนนั้นๆ ก็จะทำให้ผู้ออมเห็นภาพชัดขึ้น มีกำลังใจเก็บออมมากขึ้น
   วัตถุประสงค์ในการออมและลงทุนแบ่งได้ 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ เพื่อการใช้จ่ายก้อนใหญ่  เพื่อสำรองไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน  และเพื่อความมั่นคงในอนาคต อย่างไรก็ดี สำหรับบางท่าน อาจจะมีการออมเพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจ หรือเพื่อนำไปบริจาคเพื่อการกุศล หรือเพื่อส่งมอบเป็นมรดกต่อให้กับทายาท ฯลฯ
   หากมีวัตถุประสงค์ที่แน่นอน อยากแนะนำให้แบ่งเงินออมและลงทุนออกเป็นส่วนๆตามวัตถุประสงค์นั้นๆเลย เช่น ออมและลงทุนเพื่อการเกษียณอายุงานในอีก 30 ปี ออมและลงทุนเพื่อการศึกษาของลูกใน 10 ปี  ออมและลงทุนเพื่อเป็นเงินดาวน์บ้านใน 2 ปี  ออมและลงทุนเพื่อแต่งงาน ใน 1 ปีเป็นต้น
   เมื่อแบ่งเป็นส่วนๆแล้ว การตั้งวัตถุประสงค์ในด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงที่คาดหวังก็จะง่ายขึ้น  ผู้ลงทุนก็ไม่เสียโอกาสในการนำเงินออมเพื่อการเกษียณอายุงานในอีก 30 ปี ซึ่งจะรับความเสี่ยงได้สูง มาลงทุนอยู่ในกองทุนตลาดเงิน เป็นต้น
   สำหรับผู้ที่ไม่สามารถหาเหตุผลในการออมและลงทุนได้ อาจจะลองคำนวณผลตอบแทนที่ท่านควรจะได้จากการลงทุนดูนะคะ  ใช้กฎของเลข 72 ค่ะ
กฎของเลข 72 มีอยู่ว่า การคำนวณว่าเงินออมจะพอกพูนเป็นสองเท่าภายในเวลาเท่าใด ให้นำเลข 72 ตั้ง หารด้วยอัตราผลตอบแทนที่ได้ คือ หากได้ผลตอบแทน 1% เงิน 1 ล้านบาท จะเพิ่มพูนเป็น 2 ล้านบาท ต้องใช้เวลา 72 หารด้วย 1 เท่ากับ 72 ปี
   แต่หากอัตราผลตอบแทนเพิ่มเป็น 10% เงิน 1 ล้านบาท จะเพิ่มพูนเป็น 2 ล้านบาท จะใช้เวลาเพียง 72 หารด้วย 10 เท่ากับ 7.2  ปีเท่านั้น  
เงินออมและลงทุนเพื่อแต่งงานใน 1 ปี ควรตั้งเป้าหมายความเสี่ยงไว้ค่อนข้างต่ำ เป้าหมายผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ คือพอเอาชนะเงินเฟ้อสักเล็กน้อย หรือประมาณ 3.5 - 4.0% ต่อปี ณ สถานการณ์ปัจจุบัน
   เงินลงทุนเพื่อดาวน์บ้านในอีก 2 ปีข้างหน้า ควรตั้งเป้าหมายความเสี่ยงไว้ปานกลางค่อนข้างต่ำ เป้าหมายผลตอบแทนปานกลางค่อนข้างต่ำ หรือประมาณ 4 - 5% ต่อปี ณ สถานการณ์ปัจจุบัน
เงินลงทุนเพื่อการศึกษาของลูกในอีก 10 ปีข้างหน้า จึงสามารถตั้งเป้าหมายความเสี่ยงได้ปานกลางถึงค่อนข้างสูง และเป้าหมายผลตอบแทนที่ปานกลาง หรือประมาณ 8 - 9% ต่อปี ณ สถานการณ์ปัจจุบัน
   เงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุงานในอีก 30 ปีข้างหน้า จึงสามารถตั้งเป้าหมายความเสี่ยงได้สูงถึงสูงมาก และเป้าหมายผลตอบแทนที่สูง หรือประมาณ 12 -15% ต่อปี ณ สถานการณ์ปัจจุบัน  และปรับเป้าหมายความเสี่ยงและผลตอบแทนทุกๆ 5 ปี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์และระยะเวลาลงทุน
   แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เรายังต้องใช้ปัจจัยข้อที่สามด้วย คือ ติดตามการลงทุน โดยทั่วไป หากจะติดตามทบทวนแผนการลงทุน จะแนะนำให้ทำทุกๆ 6 เดือน แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวอย่างเปราะบาง ปัญหาในยุโรปยังไม่จบง่ายๆ ภาวะการลงทุนผันผวน แนะนำให้ติดตามทุกไตรมาส หรือจะทุกเดือนก็ได้ค่ะ ถ้ามีเวลา
   การติดตามจะเป็นเรื่องของการถามว่า พอร์ตการลงทุนเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการลงทุน และเหมาะสมกับความเสี่ยงที่รับได้แล้วหรือยัง หากเหมาะสมแล้วก็ลงทุนต่อไปตามแผนเดิม หากยังไม่เหมาะสม ก็ปรับปรุงให้เหมาะสมได้ โดยอาจจะปรับเปลี่ยนสัดส่วนเล็กน้อย จนกว่าจะถึงเวลาทบทวนอีกครั้งหนึ่ง
[/size]
ภาพประจำตัวสมาชิก
untrataro25
Verified User
โพสต์: 952
ผู้ติดตาม: 0

Re: ลงทุนเพื่ออะไร/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

อิสระภาพ
dayto
Verified User
โพสต์: 17
ผู้ติดตาม: 0

Re: ลงทุนเพื่ออะไร/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 3

โพสต์

ขอบคุณมากครับ
โพสต์โพสต์