ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กับพื้นฐานกฎหมายมหาชนของไทย
อมร จันทรสมบูรณ์
สิ่งที่ผู้เขียนประหลาดใจ ก็คือ ในสังคมไทย เรามักจะอ้างว่า คำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 47/2547 ว่าเป็นคำวินิจฉัยที่เด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา / คณะรัฐมนตรี / ศาล / และองค์กรของรัฐตาม รธน.มาตรา 268
และเราเชื่อว่า คุณหญิงจารุวรรณไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไปได้ เนื่องจากถือว่า คุณหญิงจารุวรรณมิได้รับเลือกจาก คตง.หรือถือว่ามิได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา ฯลฯ
แต่ดูเหมือนว่า เราไม่ค่อยได้อ่านคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 47/2547 ว่าคำวินิจฉัยของศาล รธน.เขียนไว้อย่างไร
ถ้าสังคมไทยและวงการวิชาการของไทยเอาใจใส่ในการ "อ่าน" เหมือนกับสังคมของประเทศที่พัฒนาแล้ว เราก็จะพบว่า ในเรื่องนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพียงว่า (คำวิ.หน้าสุดท้าย หน้า 19)
".....ในกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินนั้น มีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม รธน.มาตรา ..... / พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ฯ มาตรา ..... / ประกอบด้วยระเบียบ คตง.ข้อ ....."
แต่ "ข้อความต่อมา" ข้างต้นที่กำหนด ให้ถือว่า คุณหญิงจารุวรรณไม่ได้รับเลือกจาก คตง.ก็ดี หรือถือว่า มิได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาก็ดี หรือถือว่าไม่เคยได้รับแต่งตั้งมาก่อนก็ดี มิได้เป็นข้อความในคำวินิจฉัยของศาล รธน.แต่อย่างใด
หากแต่เป็นข้อความที่มาจากการตีความขยายความของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (โดยเลขาธิการสำนักงานศาล รธน.ในขณะนั้น) หรือของบุคคลอื่นทั้งสิ้น
โดยผู้เขียนจะขอสรุปข้อความ 2 ส่วน (สาระในคำวินิจฉัย / การตีความ) โดยแยกเป็นทีละส่วน ดังนี้
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โพสต์ที่ 1
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โพสต์ที่ 2
(1) สำหรับข้อความ (สาระ) ในคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 47/2547 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 นั้น ผู้เขียนขอสรุปอีกครั้งหนึ่งว่า ผู้เขียนเห็นว่าคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่วินิจฉัยเฉพาะประเด็นเรื่อง "กระบวนการฯที่มีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วย รธน." นั้น ไม่มีผลกระทบต่อความสมบูรณ์ของคำสั่งแต่งตั้งจารุวรรณ (นิติกรรมมหาชน) ซึ่งกระทำโดยพระบรมราชโองการตามคำแนะนำของวุฒิสภา
เพราะคำวินิจฉัยของศาล รธน.ดังกล่าวมิได้วินิจฉัยให้ "เพิกถอน" (หรือมีนัยให้เพิกถอนหรือยกเลิก) คำสั่งดังกล่าว
อีกทั้งศาล รธน.มิได้วินิจฉัยด้วยว่า "กระบวนการ" (ที่ศาล รธน.วินิจฉัยว่า มีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วย รธน.) นั้น มีความสำคัญเพียงพอที่จะทำให้เกิด "ความสำคัญผิด" แก่สมาชิกวุฒิสภาในการ (แสดงเจตนา) ลงมติถวายคำแนะนำแก่พระมหากษัตริย์ซึ่งเป็น "เงื่อนไข" แห่งความสมบูรณ์ของคำสั่งแต่งตั้ง - นิติกรรมมหาชน ตาม รธน.มาตรา 312 วรรคสี่
ผลผูกพันของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อองค์กรของรัฐ ฯลฯ ตาม รธน.มาตรา 268 จะมีเพียงเท่าที่เขียนอยู่ในคำวินิจฉัยของศาลเท่านั้น
ฉะนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย (คำวิ.หน้า 18 ซึ่งเป็นหน้าก่อนสุดท้าย) ว่า "....การที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน มีหนังสือในนามของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอรายชื่อบุคคลจำนวน 3 คน และวุฒิสภามีมติเลือกผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน 1 คน จากจำนวน 3 คน ตามที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในนามของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะ...."
ผลผูกพันเด็ดขาดของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 47/2547 ก็คงจะมีเพียงเท่านี้ คือ สถาบันหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง จะต้องนำคำวินิจฉัยของศาล รธน.ไปพิจารณาเพื่อกำหนดความรับผิดชอบของ "ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" ในฐานะที่ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย (พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2542 มาตรา 5)
[หมายเหตุ :- ซึ่งตาม "ข้อเท็จจริง" ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ก็คือ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบของ คตง. (ที่ออกโดยอาศัย พ.ร.บ.ประกอบ รธน.) เท่านั้น แต่มิได้ฝ่าฝืนบทบัญญัติของ รธน.แต่อย่างใด]
(2) สำหรับข้อความที่มีการตีความขยายหรือเพิ่มเติม "สาระ" ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะตีความโดยสำนักงานศาล รธน. (โดยเลขาธิการสำนักงานศาล รธน.ในขณะนั้น) หรือโดย คตง. (ทั้งชุดเก่าและชุดใหม่) หรือโดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ (บางท่าน) ที่ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ ฯลฯ
การตีความเหล่านี้มิใช่คำวินิจฉัยขององค์กรของรัฐประเภท "องค์กรศาล" ที่มีอำนาจทางตุลาการ - pouvoir judiciaire ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ดังนั้น ความเห็นทางกฎหมายขององค์กรและบุคคลเหล่านี้ จึงไม่ผูกพันองค์กรอื่นตาม รธน.มาตรา 268 และเป็นเพียง "ความเห็น" ที่เจ้าหน้าที่ที่ตีความจะต้องรับผิดชอบในการตีความและรับผิดชอบในการปฏิบัติการตามความเห็นของตนเองด้วยตนเอง
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โพสต์ที่ 3
เมื่อลองตรวจดูว่า ความเห็นทางกฎหมาย ที่มีการตีความขยายความหมายหรือเพิ่มเติมสาระในคำวินิจฉัย ที่ 47/2547 ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 ว่ามีประการใดบ้างและมีเหตุผลอย่างไร ; เราจะพบว่า การตีความเช่นนี้ มีมาจากหลายองค์กรและหลายวงการ แต่ผู้เขียนจะขอนำมาเฉพาะ "ความเห็น" ของส่วนราชการ 2 แห่ง (เท่าที่ผู้เขียนมีอยู่) คือ ของ คตง.(ชุดเดิม) และของสำนักงานศาล รธน. (ซึ่ง คตง.ชุดใหม่ เห็นชอบด้วย)
ความเห็นแรก เป็นความเห็นของ คตง. (ชุดเดิม) ที่ปรากฏอยู่ใน "คำแถลง" ของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2547 คือ หลังจากมีคำวินิจฉัย ที่ 47/2547 เพียง 7 วัน มีความว่า
(หน้าแรกของคำแถลง) ".....โดยที่ศาล รธน.ได้วินิจฉัยว่า กระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน มีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม รธน. .....พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน ....มาตรา 30 ประกอบด้วยระเบียบ คตง..... ดังนั้น ผลของคำวินิจฉัยดังกล่าว ถือได้ว่า ไม่เคยมีผู้ใดได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมาก่อน....."
ความเห็นที่สอง เป็นความเห็นของสำนักงานศาล รธน. (โดยเลขาธิการสำนักงานศาล รธน.ในขณะนั้น) ตามคำแถลงการณ์ ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 หลังจากที่ คตง.มีคำแถลง 17 วัน มีความว่า
(หน้าสุดท้ายของคำแถลงการณ์) ".....ผลของคำวินิจฉัย ที่ 47/2547 วินิจฉัยกระบวนการเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่า มีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเพราะมิได้ดำเนินการ.... ดังนั้น เมื่อกระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินไม่ชอบด้วย รธน.และกฎหมายที่เกี่ยวข้องเสียแล้ว คุณหญิงจารุวรรณ จึงไม่สามารถที่จะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินต่อไปได้ นับตั้งแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย เนื่องจากถือว่ามิได้รับเลือกจาก คตง.และถือว่ามิได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาตามกระบวนการให้ได้มาซึ่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินโดยชอบด้วย รธน.และกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตั้งแต่ต้น...."
[หมายเหตุ ;- ซึ่งความเห็นนี้ คตง.(ชุดใหม่) เห็นด้วยกับสำนักงานศาล รธน. ทั้งนี้ ตามที่ปรากฏอยู่ในคำร้องของ คตง. (ชุดใหม่) ที่อ้างอิงไว้ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญฉบับที่สอง คือ คำวินิจฉัย ที่ 60/2548]
ทั้งนี้ โปรดสังเกตว่า ใน "ความเห็นทางกฎหมาย" ทั้งของสำนักงานศาล รธน.และของ คตง. มิได้อ้าง "บทกฎหมาย" มาตราใดมาสนับสนุนความเห็นของตนในการตีความดังกล่าว แต่อย่างใด
ผู้เขียนต้องขอสารภาพว่า ผู้เขียนไม่มีความรู้พอที่จะทราบว่า ทาง คตง.และเลขาธิการสำนักงานศาล รธน. (ในขณะนั้น) ได้ความคิดที่ตีความว่า ถ้าในกระบวนการสรรหาฯมีการใช้อำนาจหน้าที่ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้ถือว่า ไม่เคยมีผู้ใดได้รับการแต่งตั้ง / หรือถือว่า มิได้รับเลือกจาก คตง. / หรือถือว่า มิได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภา มาจากที่ใด
และในความเห็นดังกล่าว คตง.และเลขาธิการของศาล รธน. (ในขณะนั้น) ก็มิได้อ้างกฎหมายมาตราใด หรือหลักกฎหมายใดมาสนับสนุนความเห็นของตนในการตีความขยาย/เพิ่มเติมความในคำวินิจฉัยของศาล รธน.ดังกล่าว
ความเห็นของ คตง.และของเลขาธิการสำนักงานศาล รธน. ในกรณีการตีความดังกล่าว ขัดกับหลักกฎหมายในบทบัญญัติของกฎหมายที่ผู้เขียนได้ลอกมาให้ท่านผู้อ่านได้อ่านกันในข้อ ก. โดยชัดแจ้ง
ตัวอย่างเช่น ในนิติกรรมทางแพ่ง ป.พ.พ. (มาตรา 151) บัญญัติว่า "การใดเป็นการแตกต่างกับบทบัญญัติของกฎหมาย ถ้ามิใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นไม่เป็นโมฆะ" ; และแม้แต่ "โมฆะกรรม" (นิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย / พ้นวิสัย / ขัดต่อความสงบเรียบร้อย) ป.พ.พ.บัญญัติเพียงว่า (มาตรา 172) โมฆะกรรมนั้นเสียเปล่า คือ ไม่มีผลทางกฎหมาย (ไม่มีนิติสัมพันธ์) แต่ ป.พ.พ.มิได้บัญญัติว่าโมฆะกรรมนั้น ถือว่า ไม่มีนิติกรรม
หรือตัวอย่างเช่น ในนิติกรรมมหาชน (คำสั่งแต่งตั้ง) ซึ่งไม่ใช้หลักโมฆะกรรมเหมือนกับบทบัญญัติของ ป.พ.พ. แต่นิติกรรมมหาชน มีหลักการให้นิติกรรมฯ มีผลใช้บังคับอยู่จนกว่าจะมี "คำสั่งเพิกถอน" และผลของคำสั่งเพิกถอนจะมีเพียงใดให้เป็นอำนาจของผู้มีอำนาจสั่งเพิกถอนจะกำหนด
และในกรณีที่ศาลปกครองมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง (เพราะคำสั่งดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย) ศาลปกครองก็จะต้องสั่งด้วยว่า จะให้นิติกรรมมหาชนดังกล่าวมี "ผลทางกฎหมายเพียงใด จะให้มีผลย้อนหลังหรือไม่ หรือจะให้มีผลต่อไปในอนาคตเพียงใด" (พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ มาตรา 72 วรรคสอง)
"กระบวนการ (หรือวิธีการ) ในการออกคำสั่งแต่งตั้ง" ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิและหน้าที่ (นิติสัมพันธ์) ของผู้รับคำสั่งที่ถูกแต่งตั้ง แต่ตัวคำสั่งแต่งตั้ง (นิติกรรมมหาชน) ต่างหากที่เป็นสิ่ง (เครื่องมือทางกฎหมาย) ที่ก่อให้เกิดหรือเปลี่ยนแปลงสิทธิและหน้าที่ของผู้ที่ถูกแต่งตั้ง
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โพสต์ที่ 4
ดังนั้น ถ้ากระบวนการออกคำสั่งแต่งตั้งไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้และเราประสงค์จะทราบว่าจะมีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ (นิติสัมพันธ์) ของผู้ที่ถูกแต่งตั้งอย่างไรจึงไม่สามารถอธิบายด้วยสามัญสำนึกง่ายๆ ว่า กระบวนการ (ที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้) "ให้ถือว่า ไม่มีกระบวนการนั้นๆ" เพราะขัดกับความเป็นจริง
แต่ต้องอธิบายว่า กระบวนการ (ที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้) นั้น มีผลกระทบต่อตัวนิติกรรมมหาชน (คำสั่งแต่งตั้ง) ที่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ (เกิด/เปลี่ยนแปลง/โอน/สงวน/หรือระงับซึ่งสิทธิ) อย่างไร และเพียงใด ทั้งนี้ ตาม "เงื่อนไข" ของการทำนิติกรรมที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ เช่น ความสมบูรณ์ของการแสดงเจตนา/ความสามารถของบุคคลหรืออำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ออกคำสั่ง/แบบของนิติกรรม/สิทธิของบุคคลภายนอกที่สุจริต หรือ ฯลฯ
และนี่คือ หลักกฎหมายพื้นฐานเบื้องต้นที่ผู้เขียนได้เล่าเรียนมาซึ่งผู้เขียนเองก็ไม่ทราบว่าจะถูกหรือผิดตามความเห็นทางกฎหมายของวงการวิชาการแบบไทยๆ ในปัจจุบัน
ผู้เขียนเข้าใจว่า การตีความของ คตง.และเลขาธิการสำนักงานศาล รธน. (ในขณะนั้น) ในกรณีนี้ น่าจะเป็นการให้ความเห็นทางกฎหมายที่มาจากความคิดโดยอิสระ ที่ขาดบทบัญญัติของกฎหมาย / หลักกฎหมาย และตรรกมาสนับสนุน ซึ่งทำให้อธิบายไม่ได้ว่า เพราะเหตุใด จึงให้ถือว่าสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่มีหรือไม่ได้เกิดขึ้น ; บทบัญญัติของกฎหมาย ก็ยังไม่เขียนเช่นนั้น
ถ้าท่านผู้อ่านแยก "สาระ" ของคำวินิจฉัยของศาล รธน.ที่ 47/2547 ออกจาก "การตีความขยายความหรือเพิ่มเติมความ" โดย คตง.และโดยสำนักงานเลขาธิการศาล รธน.แล้ว ท่านผู้อ่านก็คงจะเห็นว่า คำสั่ง (พระบรมราชโองการ) แต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ (เพราะศาล รธน.มิได้เพิกถอนคำสั่ง) และโดยผลของคำสั่งดังกล่าว คุณหญิงจารุวรรณ จึงยังคงดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินอยู่ ;
อันที่จริง ปัญหานี้น่าจะหมดไปได้ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณารับเรื่องที่ คตง.ยื่นมาใหม่และวินิจฉัยในคำสั่งที่ 60/2548 ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2548 ให้แน่ชัดเป็นที่ยุติลงไปในทางหนึ่งทางใดก็ได้ว่า จะเพิกถอนหรือไม่เพิกถอนคำสั่งแต่งตั้ง (นิติกรรมมหาชน) คุณหญิงจารุวรรณ หรือจะวินิจฉัยโดยนัยเช่นนั้น คือวินิจฉัยว่า คุณหญิงจารุวรรณยังอยู่ในตำแหน่งหรือพ้นจากการดำรงตำแหน่งไปแล้วก็ได้
แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ศาล รธน.วินิจฉัยไม่รับเรื่องไว้พิจารณา ซึ่งทำให้ปัญหานี้ค้างคาและเป็นที่โต้แย้งระหว่างสถาบันหรือวงการภายนอก (ซึ่งต่างก็มิได้เป็นองค์กรที่มี "อำนาจทางตุลาการ - pouvour judiciaire" ที่จะชี้ชัดได้) จนถึงขณะนี้
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โพสต์ที่ 5
บทความเกี่ยวเนื่อง
พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า
โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ 5 กันยายน 2548
ผมคิดว่าถึงเวลาที่ผมจะเขียนอะไรสักเล็กน้อย ในฐานะที่ผมเป็นนักเรียนและผู้สอนวิชารัฐธรรมนูญ และครั้งหนึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญ
ผมอยากจะพูดแต่เพียงสั้นๆว่า การกระทำของทุกๆฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายที่สนับสนุนคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา หรือฝ่ายที่สนับสนุนนายวิสุทธิ์ มนตริวัต ที่ต่างก็ออกมาอ้างเหตุผลและหลักการต่างๆนานา ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำทั้งสิ้น
การที่สื่อนำมาเสนอข่าวเชิงวิเคราะห์โดยอ้างตำราหรือหลักวิชาทางกฏหมายรัฐธรรมนูญของผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ หรือนักวิชาการออกมาวิจารณ์เสียเองในสื่อก็ไม่สมควรเช่นกัน
แม้แต่การที่วุฒิสภาหยิบยกเรื่องมาวิตกวิจารณ์กำหนดเวลา 90 ที่ในหลวงจะทรงลงหรือไม่ลงพระปรมาภิไธย การที่ประธานวุฒิสภาไม่สามารถทนความกดดัน ต้องนำเรื่องมาชี้แจงในวุฒิสภา หรือการที่วุฒิสมาชิกอีกกลุ่มจะเคลื่อนไหวหาความกระจ่างจากราชเลขาธิการ หรือการสร้างมาตรการกดดันหาตัวผู้รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นประธานวุฒิสภาหรือวุฒิสภาต่างก็ไม่สมควรทั้งสิ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ผู้นำของรัฐบาลแสดงอาการกินปูนร้อนท้องบ้าง หรือประกาศปัดความรับผิดชอบว่าเรื่องนี้มิใช่กงการของรัฐบาลบ้าง ก็ยิ่งเป็นเรื่องมิชอบหนักเข้าไปอีก
ที่พอน่าจะอนุโลมได้ ก็คือการใช้เสรีภาพทางวิชาการ ที่จะศึกษาวิจัยหรือสัมมนากันในห้องเรียนวิชากฎหมาย วิชากฎหมายรัฐธรรมนูญ วิชาการเมือง หรือวิชาทฤษฎีการเมือง
สิ่งนี้น่าจะมีได้ แต่ ผมเชื่อว่ากลับไม่มี
ผมถูกพ้นจากการดำรงตำแหน่งตุลาการรัฐธรรมนูญโดยมิได้ตาย ลาออก ถูกให้ออกเพราะกระทำความผิดตามที่กฎหมายกำหนด ครบอายุตามวาระ เกษียณอายุ หรือมีพระบรมราชโองการให้ออก ผมถูกให้ออกโดยการกระทำที่ผิดรัฐธรรมนูญ และละเมิดหลักการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข นั่นก็คือการปฏิรูปการปกครองแผ่นดินหรือการปฏิวัติ ผมไม่ได้อ่านกฎหมายเรื่องการตรวจเงินแผ่นดิน การมีพระบรมราชโองการให้ออกนั้นผมเชื่อว่าไม่น่าจะมี ผมเคยเห็นมีแต่การถอดถอนรัฐมนตรีเท่านั้น
ในวันอังคารที่ 6 กันยายนนี้ ผมคงอยู่ในประเทศญี่ปุ่น ไม่มีโอกาสได้ฟังการเสวนาทางวิชาการและเหตุการณ์ปัจจุบันในหัวข้อ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นรายชื่อผู้พูดล้วนแล้วแต่ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประมวล รุจนเสรี แก้วสรร อติโพธิ สนธิ ลิ้มทองกุล และดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ดูชื่อแล้วผมก็ออกจะเป็นห่วง แต่ห่วงเรื่องที่ท่านใดจะพูดว่าอย่างไร น้อยกว่าห่วงที่คนดูจะสรุปเอาเองว่าคนพูดเป็นใคร คือเป็นผู้ใกล้ชิดยุคลบาทบ้าง เป็นนักการเมืองอกหักบ้าง เป็นขาประจำนายกฯทักษิณบ้าง การเชื่อและอ้างอิงดังกล่าวน่าจะทำให้สับสนวุ่นวายยิ่งขึ้น
ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนี้ (มีความเชื่อว่า) รัฐธรรมนูญปัจจุบันลอกมาจากทั้งระบบประธานาธิบดีเป็นประมุขของอเมริกา และระบบรัฐสภาของอังกฤษ ที่เราลอกเขามานั้น บางทีเราก็ลอกมาแต่เพียงสัญลักษณ์ อันได้แก่สมญานาม และโครงสร้างที่เป็นกฎหมายหรือตัวหนังสือ แต่เราไม่สามารถนำแก่นคือมาตรฐานขององค์บุคคลที่เรียกว่าส่วนประกอบ และมาตรฐานทางพฤติกรรมมาได้ บางทีเราก็หาคนหรือองค์ประกอบที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆไม่ได้ เพราะต้องรับมรดกคนมาจากระบบเก่า และตัวหนังสือที่เขียนไว้ก็มีช่องว่างให้หลบหลีกหรือเล็ดลอดได้ จึงได้พฤติกรรมที่บูดเบี้ยวเข้าไม่ถึงมาตรฐานและขัดกับหลักประชาธิปไตยเสียด้วยซ้ำ
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โพสต์ที่ 6
ระบบประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีเป็นผู้เสนอชื่อ วุฒิสภาเป็นผู้รับรอง เป็นการเสนอชื่อเดี่ยวๆ และก็มีมาตรฐานทั้งในด้านเงื่อนไขและเงื่อนเวลา ประธานาธิบดีต้องหน้าแตกบ่อยๆ เพราะวุฒิสภาสมามารถถ่วงเวลาและซักถามคุณสมบัติของผู้ถูกเสนอชื่อได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด บ้างก็ผ่านได้ง่าย บ้างก็เลือดตาแทบกระเด็น บ้างก็รู้ว่าแพ้แน่ๆ บ้างก็เดาได้ว่านานแหงๆ ในสองกรณีหลังนี้ก็ขึ้นอยู่กับหิริโอตัปปะของประธานาธิบดีและผู้ถูกเสนอชื่อที่จะถอนหรือถอนตัวไปเสียแต่โดยดี มาตรฐานพฤติกรรมดังกล่าวจะปรับใช้กับกรณีเมืองไทยได้หรือไม่ ยังไม่มีคำตอบและยังไม่เคยมีตัวอย่าง
สำหรับระบบรัฐสภาของอังกฤษ ที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราลอกเลียนของเขามานานแล้ว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของการออกกฎหมาย ว่าพระมหากษัตริย์จะลงพระปรมาภิไธยหรือไม่ เมื่อใด ซึ่งเกือบจะไม่ปรากฏเลยว่าเกิดปัญหา ของไทยก็เช่นเดียวกัน ยกเว้นก็แต่รัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งมีเสียงข้างมาก แต่ขาดความสามารถ และความระมัดระวัง เรื่องนี้สมควรถูกตำหนิ เพราะเป็นการนำสถาบันกษัตริย์ไปเสี่ยงกับความขัดแย้งและการเผชิญหน้ากับรัฐสภา ในกรณีการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งเรายังไม่เคยมีตัวอย่างหรือประสบการณ์
แต่เราก็มีหลักให้ยึดนั่นก็คือหลักประชาธิปไตยและหลักพระราชอำนาจซึ่งต้องไปด้วยกัน
สำหรับประเทศไทยนับเป็นกรณีพิเศษ กล่าวคือ นอกจากเราจะต้องดำเนินตามมาตรฐานของระบบรัฐสภาที่มีพระมหากษัตริย์ (เช่น อังกฤษ เดนมาร์ค เนเธอรแลนด์ นอร์เวย สวีเดน เป็นต้น) เรายังมีสถาบันกษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรม และบรมราชประเพณีที่ทรงปฏิญาณกับบุรพกษัตริย์ เทพยดา ฟ้าดินและมวลพสกนิกร ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนชาวสยาม นี่แหละคือระบอบประชาธิปไตยทีมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างแท้จริง
มีผู้อรรถาธิบายกันมามากแล้วถึงเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ โดยนำคำศัพท์และตัวอย่างของระบบรัฐสภาในตะวันตกมาเป็นบริบท เช่น the right to warn; to be consulted, to encourage, to recommend ฯลฯ ผมขออนุญาตไม่แปลและไม่อธิบาย
มีเรื่องหนึ่งที่เราตกหล่นอย่างฉกรรจ์ ไม่ค่อยจะนำมาใช้เป็นแนวทางทั้งๆที่เป็นแก่นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐ คือหลักพระราชอำนาจที่เป็น Royal Prerogative
ผู้ทีต่อสู้กันเรื่องตำแหน่งผู้ว่าการสนักงานตรวจเงินแผ่นดินอยู่ขณะนี้ มีทั้งผู้บริสุทธิ์ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีทั้งผู้ที่มีเจตนาแอบแฝงต้องการโค่นล้างฝ่ายตรงกันข้ามหรือแสวงหาผลประโยชน์ทางการเมือง อยู่ในทั้งสองฝ่าย ประเภทหลังนี้แหละที่น่าเป็นห่วงว่าเห็นแก่ตัวโดยไม่คำนึงว่าบ้านเมืองจะเสียหาย หรือจะระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท
การแอบอ้างในหลวง หรือการนำในหลวงมาเป็นเครื่องมือในทางการเมืองอย่างนี้เป็นความชั่วร้ายเลวทรามอย่างที่สุด
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โพสต์ที่ 7
ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หลายต่อหลายคราวที่เผด็จการทำลายประชาธิปไตยลอยนวลอยู่ได้นานๆ โดยไม่มีผู้ใดท้วงติงว่าการทำลายประชาธิปไตยเป็นการจาบจ้วงสถาบันกษัตริย์
ผมยังไม่มีโอกาสอ่านพระราชอำนาจของประมวล รุจนเสรี แต่ได้ทราบว่าเป็นผลงานที่ดี สามารถนำมาเป็นบรรทัดฐานทางวิชาการและการเมืองภาคปฏิบัติของไทยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวกับองค์พระประมุขกับการพัฒนาประชาธิปไตย
เรื่องที่ผมอยากนำเสนอเป็นบทสรุปสั้นๆเพื่อระงับความยืดเยื้อของการต่อสู้ทางการเมืองเกี่ยวกับการพ้นหรือไม่พ้นจากตำแหน่งของคุณหญิงจารุวรรณ แต่งตั้งหรือไม่แต่งตั้งนายวิสุทธิ์ มนตรีวัต ฯลฯ
ทางออกเรื่องนี้ที่ถูกต้องตามความรู้ที่ต่ำต้อยของผม ก็คือดุษณีภาพและความสงบนิ่งของทุกฝ่าย ด้วยความเข้าใจและการยึดถือหลักพระบรมเดชานุภาพตามโบราณราชประเพณี ผสมกับหลักรัฐธรรมนูญของระบบรัฐสภาในประเทศตะวันตกที่สอดคล้องและไม่มีอะไรขัดแย้งกับหลักไทยเลย นั่นก็คือหลัก Sovereign Prerogative ที่เลือกลงให้แคบเข้าเฉพาะเรื่อง Royal Prerogative ผมไม่ทราบจะแปลเป็นไทยให้ตรงตัวอย่างไร นอกจากเทียบเคียงเป็นอรรถาธิบายว่า เป็นพระราชอำนาจพิเศษหรือพระราชอำนาจที่ล่วงละเมิดมิได้ ไม่ว่าจะเป็นพระราชอัธยาศัยหรือพระบรมราชโองการก็ตาม
ผมขอลอกหลักรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับ Royal Prerogative เป็นข้อความสั้นๆดังนี้ "The Royal Prerogative remains a significant source of constitutional law which is largely immune from scrutiny by the courts." (พระราชอำนาจยังดำรงความเป็นรากฐานต้นตอสำคัญของกฎหมายหรือระบบรัฐธรรมนูญที่อยู่นอกเหนือการตีความของศาลใดๆ) ผมเสนอว่าเราควรขยายความให้ครอบคลุมไปถึงรัฐสภาด้วย
เมื่อนำหลักดังกล่าวมาประยุกต์ ก็จะต้องพิจารณาว่า พระบรมราชโองการแต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณกับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ อันใดเกิดก่อนอันใดเกิดทีหลัง
หากพระบรมราชโองการเกิดก่อน ก็มิบังควรที่ฝ่ายใดจะนำเรื่องไปสู่ศาล และศาลก็มิบังควรจะต้องรับพิจารณา นอกจากจะเป็นรัฐบาล รัฐสภา หรือศาลทีไร้มาตรฐานและด้อยพัฒนาในทางประชาธิปไตยและหลักรัฐธรรมนูญเท่านั้น เรื่องที่มิบังควรจึงเกิดขึ้นได้
การณ์เป็นดั่งนี้ และ ณ เวลานี้ ยกเว้นเรื่องเสรีภาพทางวิชาการที่แท้จริงและรับผิดชอบแล้ว ทุกฝ่ายควรหุบปากสงบนิ่ง หยุดการเคลื่อนไหว วิตกทุกข์ร้อน ปล่อยให้พระบรมเดชานุภาพปกแผ่ เรื่องที่คิดว่าเป็นปัญหาก็จะไม่เป็นปัญหา จบไปเองโดยดี
บุญญาธิการของในหลวงองค์ปัจจุบันอยู่เหนือความสงสัยและท้าทายใดๆ ด้วยได้พิสูจน์มาครั้งแล้วครั้งเล่า ปีแล้วปีเล่า เหตุการณ์แล้วเหตุการณ์เล่าว่า ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของมหาชนอย่างแท้จริง
ขอเดชะ พระราชอาญาไม่พ้นเกล้า
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โพสต์ที่ 8
[/code]จดหมายเปิดผนึกถึงศาลรัฐธรรมนูญ คตง. และวุฒิสภา
โดย ปราโมทย์ นาครทรรพ 6 ตุลาคม 2548 18:50 น.
6 ตุลาคม 2548
เรียน ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานคตง. และประธานวุฒิสภา
ผมเพิ่งกลับมาถึงบ้านหลังจากจากไปหนึ่งเดือนเต็มๆ รู้สึกสลดใจที่ประเด็นเรื่องคุณหญิงจารุวรรณ ยังคุกรุ่นอยู่ ผมไม่รู้จักและไม่ได้เชียร์คุณหญิงจารุวรรณ ผมจำนามสกุลและชื่อตำแหน่งที่ถูกต้องที่กำลังเป็นปัญหาของคุณหญิงไม่ได้เสียด้วยซ้ำ
แต่ผมรู้และเข้าใจหลักรัฐธรรมนูญในระบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขดี ผมเคยเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญและครูสอนหลักรัฐธรรมนูญมานาน ผมมีความเป็นห่วงว่าท่านทั้งหลาย ทั้งสามสถาบัน ทั้งที่ได้เคลื่อนไหวมาแล้ว และกำลังเคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้ กำลังพากันสร้างเยี่ยงอย่างและตัวอย่างที่เป็นการทำลายระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ผมไม่อยากเดาว่าพวกท่านกระทำเช่นนี้ได้อย่างไร
ครั้นจะว่าท่านไม่เข้าใจหลักรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วย พระราชอาญาสิทธิ์-พระราชอำนาจ: Royal Prerogative ของพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ :Constitutional Monarchy ผมก็ไม่อยากจะปลงใจเชื่อ เพราะวุฒิภาวะและความรับผิดชอบของท่าน นั้นสูงยิ่ง ถึงจะไม่แตกฉานแจ้งจบ ท่านก็อาจจะสั่งให้ผู้ใดตรวจสอบศึกษาแทนจนถึงข้อยุติได้
อีกประการหนึ่ง ผมไม่อาจกล่าวหาว่าท่านทั้งหลายเข้าใจ แต่แกล้งไม่เข้าใจ เพราะท่านตกอยู่ใต้อิทธิพลที่เหนือกว่า ที่คอยบงการท่านอยู่เบื้องหลัง ผมอยากจะเชิดชูและเคารพในความเป็นอิสระของท่านทั้ง 3 สถาบัน ถ้าหากท่านปราศจากอิสระแล้ว ก็ไม่รู้ว่าเราจะมีสถาบันอย่างท่านไว้ให้เปลืองภาษีของราษฎรทำไม
ด้วยความเคารพอย่างยิ่ง ผมขอทบทวนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ เฉพาะที่เกี่ยวกับประเด็นการแต่งตั้งผู้ว่าสตง.ดังต่อไปนี้
1. บรรทัดฐานที่ 1 เรื่องพระราชอำนาจ มีคำพูดหรือวลีที่ไม่อาจแก้ไข ทัดทานหรือทบทวนได้ว่า The King Can Do No Wrong: การกระทำใดๆของพระมหากษัตริย์ล้วนถูกต้อง และไม่มีความผิดใดๆทั้งสิ้น ดังนั้นจึงมีธรรมเนียมให้มีผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ เมื่อมีแล้วให้ถือว่าเป็นที่สุด
2. บรรทัดฐานที่ 2 เรื่องพระราชอาญาสิทธิ์ หรือ Royal Prerogative มีถ้อยคำเป็นภาษาอังกฤษง่ายๆว่า
"The Royal Prerogative remains a significant source of constitutional law which is largely immune from scrutiny by the courts." (พระราชอาญาสิทธิ์ยังดำรงความเป็นรากฐานต้นตอสำคัญของกฎหมายหรือระบบรัฐธรรมนูญที่อยู่นอกเหนือการตีความของศาลใดๆ)
ถ้าหากเราถือว่าหลักข้างต้นทั้งสองเป็นบรรทัดฐานของการปกครอง
ระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข เราก็ไม่สมควรหักล้างด้วยการกระทำหรืองดการกระทำใดๆ ที่จะมีผลให้บรรทัดฐานนั้นต้องเสื่อมคลอนไป เพราะการณ์เช่นนั้นจะกระทำให้พระบรมเดชานุภาพเสื่อมคลอนไปด้วย
เราสมควรนำหลักดังกล่าวมาใช้ในกรณีของคุณหญิงจารุวรรณได้ ด้วยการพิจารณาข้อเท็จจริงว่า ได้ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าคุณหญิงจารุวรรณดำรงตำแหน่งเมื่อใด ก่อนหรือหลังการรับเรื่องเข้าพิจารณาหรือการมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
ผมเองไม่ทราบวันเดือนปีที่แน่นอน แต่ทราบว่าได้มีพระบรมราชโองการก่อนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
จึงได้โทรศัพท์ไปถามเพื่อยืนยันได้ความว่า ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องเข้ากระบวนพิจารณาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2546 และมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2547
ผมตรวจสอบวันที่ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าปรากฏว่าได้แก่วันที่ 31 ธันวาคม 2544
เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ ผมจึงไม่อาจสรุปเป็นอย่างอื่นได้นอกจากว่า ศาลรัฐธรรมนูญกระทำผิดรัฐธรรมนูญ ทั้งในการรับเรื่องเข้ากระบวนการพิจารณาและการมีคำวินิจฉัยในวาระต่อมา ที่ถูกศาลจะต้องไม่รับเรื่องที่มีพระบรมราชโองการแล้วเข้าสู่การพิจารณา มิฉะนั้นจะเป็นการจาบจ้วงล่วงละเมิดพระราชอำนาจ
การที่สถาบันทั้งสามไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญก็ดี คตง.ก็ดี วุฒิสภาก็ดี ไม่ว่าฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดก็ตาม ยังพากันเต้นแร้งเต้นกาอยู่ ล้วนแล้วแต่ไม่ถูกต้อง ไม่สมควรทั้งสิ้น
ทางที่ถูกควรพากันสงบนิ่ง เคารพในพระบรมราชโองการ ดำเนินการเป็นไปตามพระราชอำนาจ
พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเสาหลักค้ำจุนระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรือประเทศในยุโรปอื่นๆ สำหรับไทยเรา ยังมีบรมราชประเพณีและหลักทศพิธราชธรรมของพระมหากษัตริย์เข้ามาเสริมให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นอีกด้วย
เหตุไฉนจึงไม่ภูมิใจรักษา กลับพากันมากัดกร่อนด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตนและส่วนกลุ่มเล็กๆน้อยๆดั่งนี้
ด้วยความนับถืออย่างยิ่ง
ปราโมทย์ นาครทรรพ
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โพสต์ที่ 9
กรณีแต่งตั้ง คุณหญิงจารุวรรณ พบความผิดปกติในพฤติกรรมกลุ่มชนชั้นนำ
โดย อมร จันทรสมบูรณ์
ดังนั้น จึงทำให้ผู้เขียนอยากเขียนวิเคราะห์กรณีนี้ต่อไป เพื่อตรวจดูว่าจริงๆ แล้ว มีอะไรแปลกๆ เกิดขึ้นในสังคมไทย
การวิเคราะห์ "ความเห็นทางกฎหมาย" ของชนชั้นนำจำนวนมาก ทำให้ผู้เขียนคิดว่า ผู้เขียนพอจะคาดหมายหรือเดาเจตนาที่อาจอยู่ในใจของชนชั้นนำเหล่านี้ได้
แต่ผู้เขียนคงไม่สามารถบอกได้ว่า "ความในใจของกลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้" กำลังคิดอะไร กำลังทำอะไร และเพื่ออะไร
ผู้เขียนคงบอกได้แค่เพียงว่า "ความเห็นทางกฎหมาย" ที่ปรากฏขึ้นในบ้านเมืองของเราขณะนี้ผิดปกติ และทำให้ผู้เขียนเต็มไปด้วย "คำถาม (ทางวิชาการ)" มากมาย ซึ่งผู้เขียนไม่สามารถหาคำตอบให้แก่ตนเองได้
ฉะนั้น ผู้เขียนจึงขอเอา "คำถาม" ที่อยู่ในใจของผู้เขียนมาเขียนไว้ในบทความนี้ เพื่อให้ท่านผู้อ่านช่วยหาคำตอบให้ด้วย
คำถามเหล่านี้ คือ
- เพราะเหตุใด ส.ว. จำนวน 8 ท่าน จึงทำคำร้องต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มติของวุฒิสภา (ที่ถวายคำแนะนำไปยังพระมหากษัตริย์เพื่อให้แต่งตั้งคุณหญิงจารุวรรณเป็นผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน) ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ทั้งๆ ที่ในการลงมติของวุฒิสภาครั้งนั้น ส.ว.ทั้ง 8 ท่าน ก็ได้ร่วมลงมติอยู่ด้วย และเวลาได้ผ่านพ้นไปแล้วถึง 1 ปี 7 เดือน (จากวันที่ 16 พฤศจิกายน 2544 จนถึง 24 มิถุนายน 2546)
- เพราะเหตุใด ประธานรัฐสภา (ซึ่งได้แก่ประธานสภาผู้แทนราษฎรโดยตำแหน่ง) จึงส่งปัญหานี้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญตาม รธน.มาตรา 266 (กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ ตาม รธน.) ทั้งๆ ที่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ในเรื่องนี้ มิได้ติดใจยื่นคำร้องในเรื่องนี้
- เพราะเหตุใด ศาลรัฐธรรมนูญ (ตุลาการจำนวน 11 ท่าน) จึงรับเรื่องนี้จากประธานรัฐสภาไว้พิจารณา ทั้งๆ ที่ผู้ที่ริเริ่มเรื่องนี้ ได้แก่ สมาชิกวุฒิสภาเป็นผู้ริเริ่มยื่นคำร้อง (ไม่ใช่คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน) และเวลาได้ล่วงเลยไปแล้วถึง 1 ปี 7 เดือน
หมายเหตุ :- และเพราะคำถามนี้เองทำให้ผู้เขียนต้องเขียนบทความวิเคราะห์ "หลักกฎหมายว่าด้วยวิธีสบัญญัติ-วิธีพิจารณาความ" ของศาลต่อไปอีก เพื่อตรวจดูว่า ในกรณีที่มีข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเช่นในกรณีนี้ ใน "ศาลรัฐธรรมนูญ" ของต่างประเทศ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญของเขาจะมีหลักในการวินิจฉัยอย่างไร]
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โพสต์ที่ 10
- เพราะเหตุใด ศาลรัฐธรรมนูญ (ตุลาการจำนวน 11 ท่าน) จึงวินิจฉัยในคำวินิจฉัยที่ 47/2547 ว่า "กระบวนการฯมิได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม "รัฐธรรมนูญ" ทั้งๆ ที่ตามข้อเท็จจริงปรากฏเพียงว่า ประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีหนังสือในนามของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเสนอชื่อบุคคลจำนวน 3 คน มิได้ดำเนินการตามข้อกำหนดใน "ระเบียบ" ของ คตง.(ที่ออกตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ประกอบ รธน. ซึ่งตราขึ้นตาม รธน.) เท่านั้น โดยที่บทบัญญัติ รธน.และบทบัญญัติ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.มิได้กำหนด "เงื่อนไข" ดังกล่าวนี้ไว้แต่อย่างใด"
- เพราะเหตุใด สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ (โดยเลขาธิการสำนักงานในขณะนั้น และในปัจจุบันนี้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) จึงออกแถลงการณ์ ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2547 ตีความเพิ่มเติม "สาระ" ในคำวินิจฉัย ที่ 47/2547 ทั้งๆ ที่ตาม พ.ร.บ.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2542 มิได้กำหนดให้สำนักงานมีอำนาจหน้าที่ในการตีความคำวินิจฉัยของศาลในกรณีที่มีปัญหาแต่อย่างใด (พ.ร.บ.สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 4 และมาตรา 9)
- เพราะเหตุใดคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ชุดเดิม) ซึ่งไม่เคยติดใจปัญหาเรื่องมติของวุฒิสภามาก่อน จึงรีบดำเนินการสรรหาผู้ที่จะดำรงตำแหน่งคนใหม่ตามคำวินิจฉัย ที่ 47/2547 ทันที (หมายเหตุ :- คำวินิจฉัยของศาล รธน. ลงวันที่ 6 กรกฎาคม 2547 และ คตง. แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม 2547 - ดังปรากฏในคำแถลงของ คตง. ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2547 ; และเป็นเวลาก่อนที่ คตง.จะได้รับแจ้งให้ทราบเป็นทางการจากประธานศาล รธน. ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2547-ดังปรากฏในคำร้องของ คตง. ที่ยื่นต่อศาล รธน.ในครั้งที่สอง, คำวิ.ที่ 60/2548 หน้า 1) ทั้งๆ ที่สาระและความหมายของคำวินิจฉัย ที่ 47/2547 มีความไม่แน่นอน โดย คตง.ไม่ดำเนินการสอบถามความเห็นทางกฎหมายจากสถาบันทางกฎหมายของรัฐ เช่น คณะกรรมการกฤษฎีกา หรืออัยการสูงสุดเสียก่อน
- เพราะเหตุใด วุฒิสภา และสมาชิกวุฒิสภา (จำนวนทั้งหมด 200 ท่าน) จึงได้ลงมติเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (คนใหม่) เพื่อถวายคำแนะนำต่อพระมหากษัตริย์อีกครั้งหนึ่ง ทั้งๆ ที่วุฒิสภาชุดนี้เอง ได้เคยลงมติวินิจฉัยปัญหานี้มาแล้ว
- เพราะเหตุใด (ประการสุดท้าย) หลังจากที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงลงพระปรมาภิไธยตามคำแนะนำของวุฒิสภาเป็นเวลานานถึงกว่า 100 วัน (จนกระทั่งผู้ได้รับเสนอชื่อขอถอนตัว และได้มีการขอพระราชทานถอนเรื่องจากราชเลขาธิการแล้ว) ทั้งวุฒิสภาและคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (ชุดใหม่) ก็กลับสู่กระบวนการสรรหาฯครั้งใหม่ (อีกครั้งหนึ่ง) เป็นเรื่องปกติเสมือนหนึ่งว่า ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
ทั้งๆ ที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (มาตรา 31 วรรค 4) กำหนดให้ประธานวุฒิสภามีหน้าที่รับผิดชอบในการนำความขึ้นกราบบังคมทูลแต่งตั้งฯ และ รธน. (มาตรา 312 วรรคห้า) บัญญัติให้ประธานวุฒิสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง
คำถามเหล่านี้ได้แสดงให้เห็น "ความผิดปกติ" ในพฤติกรรมของกลุ่มชนชั้นนำที่ดำรงตำแหน่งปกครองบ้านเมืองอยู่ในขณะนี้ และดูเหมือนว่า
การกระทำที่เกิดจากกลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้ได้ทำให้เกิดการประวิงเวลาเพื่อมิให้คุณหญิงจารุวรรณกลับเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน จนกว่าวาระการดำรงตำแหน่งของคุณหญิงจะสิ้นสุด เพราะตาม พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน (มาตรา 33) บัญญัติว่า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี และให้ดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว ซึ่งวาระการดำรงตำแหน่งของคุณหญิงจารุวรรณ (ถ้าดำรงตำแหน่งอยู่) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2549
แม้วันนี้คุณหญิงจารุวรรณกำลังจะได้กลับเข้ามาดำรงตำแหน่งแต่พฤติกรรมของกลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้ได้ทำให้การดำรงตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินขาดตอนลง จนถึงเวลาที่ผู้เขียนเขียนบทความนี้ไม่น้อยกว่า 1 ปี 7 เดือน (นับจากวันที่ 8 กรกฎาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่ คตง.แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนฯ เมื่อมีคำวินิจฉัยที่ 47/2547)
สถานการณ์ที่เกิดจากกลุ่มชนชั้นนำเหล่านี้ นำความเสื่อมมาสู่สังคมไทย ; และนอกจากนั้น ผู้เขียนเกรงว่า ต่อไปในอนาคต ถ้าการเมือง "เปลี่ยนแปลงไป" การกระทำที่ผิดปกติเหล่านี้อาจเข้า "เงื่อนไข" ของการกระทำผิดอาญาระดับสูง (โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่คุมอำนาจรัฐ) ในฐานความผิดที่เรียกกันเป็นสากลว่า "obstruction of justice-การขัดขวางความยุติธรรม"
และถ้าศึกษาประวัติความเป็นมาและติดตามการดำเนินคดีของประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็จะพบว่า คดีประเภทนี้ไม่มีอายุความ
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โพสต์ที่ 11
15 กุมภาพันธ์ 2549 มีการเสวนาเรื่อง ทำไมธรรมาภิบาลจึงจำเป็นต่อสังคมไทยในปัจจุบัน โดย คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กล่าวว่า เมื่ออังคารที่ผ่านมา ได้ฤกษ์เข้าทำงานใน สตง.ลูกน้องที่มาให้กำลังใจก็บอกว่า สุดท้ายธรรมะย่อมชนะอธรรม ก็คิดว่าจริงหรือ ถ้าพูดถึงธรรมาภิบาล เห็นว่าจำเป็นอย่างมากสำหรับบ้านเราปัจจุบัน โดยการจะดูว่ามีหลักธรรมาภิบาลหรือไม่ สามารถเอากรอบของธนาคารโลกมาเป็นหลักได้ คือ
1. ต้องมีความรับผิดชอบ และอยู่สูง อย่างตอนที่กลับเข้ารับตำแหน่ง เจอลูกน้องที่เป็นระดับผู้อำนวยการกองฯ ที่ทราบว่าตอนตนเกิดปัญหา เขาเป็นคนไปแจ้งความว่าตนยักยอกทรัพย์ ก็ถามว่าจริงหรือเปล่า แม้จะปฏิเสธในช่วงแรก แต่ก็ยอมรับในตอนหลังว่า มีใบสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ไปดำเนินการเช่นนั้น รวมทั้งยังพบว่าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) มีการแต่งตั้งบุคคลที่ สตง.เคยชี้มูลว่ากระทำทุจริต เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ทำให้สงสัยว่าทำไมคนที่ดีกว่านี้ไม่มีหรือ
2.การดำเนินการใดๆ ต้องมีกรอบกฎหมาย มีระเบียบรองรับ ไม่ใช่ตรวจสอบตามอำเภอใจ อย่างเมื่อเช้า เป็นครั้งแรกที่ข้าร่วมประชุมกับ คตง.หลังกลับเข้าทำงาน ซึ่งคตง.คงจะรู้สึกเหนื่อยใจกับตนเหลือเกิน เพราะมีการเสนอ และตั้งคำถามเกี่ยวกับบางโครงการว่า ทำไมสตง.จึงไม่เข้าไปตรวจสอบ อย่างเช่น โครงการก่อสร้าง 16 โครงการของ กทม.ที่เป็นข่าวฮั้วประมูลในขณะนี้ คตง.ก็ถามว่าทำไมไม่เข้าไปตรวจสอบ ตนก็บอกไปว่า ไม่ใช่คิดจะเข้าไปตรวจก็ไปตรวจทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ ที่สำคัญตอนนี้มันเหมือนเมฆหมอกมืดไปหมด เข้าไปตอนนี้ก็จะกลายเป็นเข้าทางเขา ขณะที่อีกโครงการหนึ่งคตง.บอกว่า นายกฯ สั่งให้ตรวจ ตนก็บอกไปว่าไม่ใช่หน้าที่ที่จะไปตรวจสอบตามที่ใครสั่ง แต่จะเข้าไปตรวจสอบตามแผนงาน ตามกรอบที่วางไว้
3.การตรวจสอบ ต้องมีสารสนเทศที่โปร่งใส ชัดเจน ไม่ใช่ข้อมูลที่จะตีหัวเขาแล้วเข้า 4.ต้องช่วยให้บ้านเมืองเรามีการจัดการภาคสาธารณะที่ดีขึ้น มีตัวอย่าง ตนโทรศัพท์ไปถามนายพลคนหนึ่ง เรื่องมีการให้สัมปทานกับต่างชาติ ที่วันนี้กำลังดังมากในบ้านเรา แม้จะได้รับการโอนสัญชาติเป็นคนไทยแล้วก็ตาม เขาได้รับสัมปทานที่ดินชายฝั่งไปสร้างอู่ต่อเรือแห้ง แต่พบว่ากลับไม่การก่อสร้างจนหมดสัญญา แต่ปรากฏว่ามีการต่อสัญญาสัมปทานให้อีก ซึ่งก็ได้รับคำยืนยันจากนายพลคนดังกล่าวว่า ที่ได้รับการต่อสัญญาเพราะมีการจ่ายเงินให้กับคนที่มีอำนาจให้สัมปทานจริง ดังนั้น ในแง่ธรรมาภิบาลวันนี้เราถึงได้บอกว่าต้องการมาก เพราะถ้าไม่มีวันนี้แยกไม่ออกว่าอะไรคือของส่วนตัว หรือของหลวง
คุณหญิงจารุวรรณ ยังกล่าวอีกว่า เรื่องที่เกิดขึ้นกับตัวเอง บอกได้เลยว่าตอนแรกโกรธ และเกลียดคนที่ทำให้เกิดปัญหามาก อยากจะด่าโคตรบิดาท่านเลย แต่ตอนหลังให้อภัยแล้ว และคิดว่าทัศนคติที่สอนกันมาแต่ดั้งเดิมว่าเราต้องฟังผู้ใหญ่ เชื่อผู้มีอำนาจต้องแก้ไข เพราะหลักคิดนี้ถ้าผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจไม่มีธรรมาภิบาลในการปกครอง ก็จะเป็นผลร้าย
อย่างที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ครูจะมาแสดงความคิดเห็น แต่ก็กลับบอกว่าไม่ได้ ต้องมาสัมมนาอย่างนี้เป็นธรรมาภิบาลหรือเปล่า หรืออย่างตอนตนเกิดปัญหา ลูกน้องชื่อ พิสิทธิ์ เป็นข้าราชการระดับ 9 พ่อกำลังป่วยหนักใกล้จะตาย กลับถูกรักษาการผู้ว่าฯ สตง. สั่งย้ายด่วนภายใน 24 ชั่วโมง ไปอยู่อุบลฯ ดิฉันโทรศัพท์ไปคุยกับรักษาการผู้ว่าฯ สตง.ว่า จะแลกทุกอย่างที่จะฟ้องเธอ ถ้าย้ายพิสิทธิ์ ควรให้เขาอยู่ดูลมหายใจสุดท้ายของพ่อ แต่เขาก็บอกว่า ไม่ทำก็ผิด ทำก็ผิด สุดท้ายก็มีคำสั่งย้าย วันนี้เรื่องก็ยังไม่จบ ทำให้รู้สึกว่า องค์กรของคตง.วันนี้เลวร้ายเรื่องธรรมาภิบาลอย่างมาก ที่ส่งดิฉันกลับไปทำงานขอบอกว่า ไม่ได้อยู่นิ่ง แต่วันนี้ระบบข้อมูลถูกทุบทิ้งหมดแล้ว ถึงเวลาต้องกู้ชาติกันจริงๆ
คุณหญิงจารุวรรณ กล่าวอีกว่า สารพัดเรื่องที่เกิดขึ้นทำให้คิดว่าเรายืนอยู่ตรงไหน วันนี้รัฐซื้อแพงทุกอย่าง ถ้าไปดูระบบบัญชีจะเห็นเลยว่ามีการรับกันจะจะ มีการประสานกันของ 3 ประสาน อย่างเนียนที่สุด คือ พ่อค้า นักการเมือง และข้าราชการ อย่างมีผู้รับเหมารายใหญ่ในสุวรรณภูมิทำเรื่องร้องมา สอบจนใกล้จะเสร็จอยู่แล้วมาเกิดเรื่อง แต่เมื่อเรียกเขามาสอบใหม่ ก็กลับบอกว่าไม่รับประทานแล้ว เพราะขนาดคนเป็นผู้ว่าฯ สตง.ยังโดนเล่นงานเลย สะท้อนว่าวันนี้เราสูญเสียอย่างใหญ่หลวง อย่างโครงการก่อสร้างอุโมงค์มูลค่า 2,150 ล้านของ กทม. บริษัทเอกชนมีการร้องว่าการประมูลไม่โปร่งใสสอบไปสอบมากลายเป็นไม่ได้ร้องเอง แต่เพราะมีนักการเมืองสั่งมาให้ร้อง หรืออย่างลำไย ตนกลับไปก็ถามคนที่รับผิดชอบว่าไปถึงไหนแล้ว เขาก็บอกว่าทำไปก็ไลฟ์บอย เราก็บอกว่าให้เริ่มต้นใหม่รับรองไม่ไลฟ์บอย เดี๋ยวจะหาบอยและเกิร์ลให้ และที่บ้าที่สุดเวลานี้ มีการทำโครงการที่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับชาวบ้าน เป็นประเภทงบพี่ บริษัทน้อง บ้านพ่อ
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โพสต์ที่ 12
ท่านที่สนใจรายละเอียดเกี่ยวกับปัญหาสตง.-คตง.
อยากทราบรายละเอียดที่มากกว่านี้ หนังสือเล่มนี้น่าจะตอบคำถามท่านได้คับ
ขอแนะนำหนังสือ(คงไม่ผิดระเบียบนะคับ)
อยากทราบรายละเอียดที่มากกว่านี้ หนังสือเล่มนี้น่าจะตอบคำถามท่านได้คับ
ขอแนะนำหนังสือ(คงไม่ผิดระเบียบนะคับ)
หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย...ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินกับพื้นฐานกฎหมายมหาชนของประเทศไทย
ผู้แต่ง ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์
เจ้าของ หรือผู้พิมพ์ สำนักพิมพ์วิญญูชน โทรศัพท์ 0 2996-9471ถึง 3
ปีที่พิมพ์ พ.ศ.2549
จำนวนหน้า 191 หน้า
ราคา 140 บาท
ที่หน้าปกหนังสือเล่มนี้ ผู้พิมพ์ได้คาดแถบสีน้ำเงินไว้ว่า วันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2549 บทความในหนังสือเล่มนี้ลงเผยแพร่ครั้งแรกในเว็บไซต์ www.pub-law.net วันอังคารที่ 31 มกราคม 2549 คตง.มีมติให้คุณหญิงจารุวรรณฯ กลับมารับตำแหน่งผู้ว่า สตง.
ตลอดเวลาที่เกิดปัญหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินขึ้น มีนักวิชาการจำนวนมากออกมาให้ความเห็นและช่วยเสนอทางออกสำหรับปัญหาดังกล่าว ซึ่งเราก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่าไม่มีใครหาทางออกได้ เมื่อท่านอาจารย์อมรฯ เขียนบทความขนาดยาวเรื่องนี้ลงใน www.pub-law.net เพียงแห่งเดียว และต่อมาอีกไม่กี่วัน ปัญหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินก็จบลงอย่างสวยงามตามข้อเสนอของท่านอาจารย์อมรฯ จึงเป็นที่น่าสนใจว่าท่านอาจารย์อมรฯ เสนอแนวทางอะไรในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
บทความขนาดยาวเรื่องนี้ท่านอาจารย์อมรฯ เขียนด้วยความ จริงจัง มากครับ ท่านรวบรวมข้อเท็จจริงของปัญหาผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตั้งแต่ต้นจนจบอย่างครบถ้วน แล้วก็วิเคราะห์ข้อเท็จจริงกับทฤษฎีกฎหมายมหาชนโดยยึดเรื่อง นิติกรรม เป็นหลักทั้งนิติกรรมทางแพ่งและนิติกรรมมหาชน พร้อมทั้งอธิบายหลักทั้งสองอย่างละเอียด
ไม่อยากอธิบายหรือแนะนำอะไรมากนัก หนังสือเล่มนี้เป็นสิ่งที่นักกฎหมายทั้งมหาชนและเอกชนต้องอ่านครับ ยังไงก็คงต้องหาซื้อมาไว้เป็นเจ้าของ แม้เราจะได้ลงบทความนี้ใน www.pub-law.net ไปแล้วก็ตาม แต่หนังสือจะสมบูรณ์กว่าเนื่องจากประกอบด้วยภาคผนวกซึ่งมีเอกสารที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวจำนวน 9 ชิ้นมานำเสนอไว้ด้วยครับ
ขอขอบคุณสำนักพิมพ์วิญญูชนที่ได้ส่งหนังสือนี้มาให้
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โพสต์ที่ 13
ปัญหาต้องแก้ไขใน สตง.!
บุญชู โรจนเสถียร
องค์กรอิสระที่เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช.ก็ดี คณะกรรมการเลือกตั้ง หรือ กกต.ก็ดี หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน หรือ คตง.ก็ดี ล้วนมีปัญหาเกิดขึ้นทุกองค์กร และแต่ละแห่งมีสาเหตุต่างกัน
เช่น ป.ป.ช.มีปัญหาจากการเพิ่มเงินให้ตัวเองจนถูกศาลพิพากษาจำคุก ต้องพ้นหน้าที่ไป แม้สรรหาใหม่ก็ยังมีปัญหาอีก และต้องเริ่มต้นใหม่ ส่วนคณะกรรมการการเลือกตั้ง ก็มีปัญหาเกี่ยวกับการออกใบแดง-ใบเหลือง ซึ่งใช้เวลานานเกินควร บางรายมีเงื่อนงำเหมือนเลือกปฏิบัติ
ส่วน คตง. หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินก็มีปัญหาเกี่ยวกับตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา สามารถปฏิบัติงานอย่างได้ผลเป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป แต่ถูกเหล่าคอร์รัปชั่นกลั่นแกล้งจนต้องหยุดปฏิบัติงานไปปีเศษ
ได้ติดตามการทำงานของคุณหญิงจารุวรรณ ตั้งแต่ก่อนที่เธอจะได้ตราตั้งเป็นคุณหญิง เห็นผลงานตรวจพบการทุจริตโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ ฯลฯ ซึ่งทำให้นักการเมืองผู้เสียประโยชน์โกรธแค้น
ระหว่างที่คุณหญิงจารุวรรณต้องหยุดปฏิบัติงาน โครงการต่างๆ ที่เธอตรวจพบและยังมิได้สรุปก็ต้องหยุดตามไปด้วย ข่าวจากเจ้าหน้าที่ สตง.ระดับปฏิบัติงานกระซิบให้ฟังว่า บางแห่งตรวจพบกลับมารายงานผู้ใหญ่แทนที่จะได้รับคำชมเชย กลับถูกดุและว่า "ทำไม่เห็นเสียบ้างไม่ได้หรือ?"
แม้ขณะนี้คุณหญิงจารุวรรณ ผู้ยึดมั่นในพระบรมราชโองการ ซึ่งยังคงความศักดิ์สิทธิ์ ทำให้เธอได้กลับเข้าปฏิบัติหน้าที่ตามเดิม แต่ก็ได้พบกับปัญหาสารพัด ทั้งด้านการปฏิบัติงานและตัวบุคคล เจ้าหน้าที่ผู้มีสมรรถภาพในการทำงาน ถูกมองว่าเป็นคนของคุณหญิง ถูกกลั่นแกล้งโยกย้ายและสอบสวน
ส่วนปัญหาด้านการปฏิบัติงาน มาตรการต่างๆ ที่คุณหญิงจารุวรรณวางแนวทางการตรวจสอบอย่างเข้มงวดและใช้ได้ผล กลับถูกคนไร้หิริโอตตัปปะแก้ไขให้ผ่อนคลายลง ทั้งยังคอยชี้นำเจ้าหน้าที่ผู้น้อยให้ทำตามที่ตนต้องการ
ปัญหาต่างๆ ดังกล่าว ทำให้คุณหญิงจารุวรรณต้องทำงานหนัก เพื่อสะสางความเลว-ร้ายให้คืนดีดังเดิม
พระราชบัญญัติว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 ได้แบ่งงานในองค์กรอิสระแห่งนี้เป็น 2 ส่วน คือ คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นฝ่ายดูแลนโยบาย มีอำนาจหน้าที่กำหนดไว้ใน มาตรา 15 เช่น ให้คำปรึกษาแก่ประธานรัฐสภา ให้คำแนะนำฝ่ายบริหารในการแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการควบคุมเงินของแผ่นดิน
อีกฝ่ายหนึ่ง คือ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นฝ่ายปฏิบัติ มีอำนาจหน้าที่กำหนดไว้ชัดแจ้งตามมาตรา 39 คือรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ การตรวจสอบเงินแผ่นดิน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ปลีกย่อยอีกมาก โดยมีผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบขึ้นตรงต่อประธาน คตง.
ในทางปฏิบัติงานด้านการตรวจสอบที่ผ่านมา เมื่อเจ้าหน้าที่ สตง. ตรวจพบความบกพร่อง หรือส่อไปในทางทุจริตของหน่วยรับตรวจ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค หรือส่วนท้องถิ่นรวมทั้งรัฐวิสาหกิจ เมื่อสรุปผลของการตรวจเสนอคณะกรรมการแล้ว หากคณะกรรมการเห็นว่ายังมีจุดบกพร่องสงสัย ก็มีอำนาจสั่งให้ สตง. ตรวจสอบเพิ่มเติม
แต่ขณะนี้ข่าวว่า งานตรวจสอบหลายเรื่องของหน่วยรับตรวจบางแห่ง เมื่อ คตง. ได้รับเรียบร้อยแล้วกลับมีบางคนลงไปล้วงลูก เรียกเจ้าหน้าที่จากหน่วยรับตรวจมาพบ อ้างว่าเพื่อสอบถาม ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้องสำหรับผู้มีวุฒิภาวะระดับกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
ทั้งนี้เพราะกรรรมการตรวจเงินมีหน้าที่หลักด้านนโยบาย แต่กลับเข้ายุ่งกับการตรวจสอบของระดับเจ้าหน้าที่ จึงเท่ากับว่ากรรมการ คตง. ทำหน้าที่ตรวจสอบเสียเอง และส่อเจตนาว่าจะบิดเบือนการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ให้เปลี่ยนแปลงไป เพื่อช่วยเหลือหน่วยรับตรวจที่อาจเป็นพรรคพวก
ยิ่งกว่านั้นยังมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาหลายคณะมีชื่อแปลกๆ จริงอยู่ คตง. มีอำนาจทำได้ตามมาตรา 15 (12) แต่การตั้งคนจากหน่วยรับตรวจ ซึ่งบางคนเคยมีข้อพิพาทฟ้องร้องกับ สตง. มาเป็นอนุกรรมการ ออกจะไม่เข้าท่า ก็ไม่ทราบเจตนาที่แฝงเร้นของผู้แต่งตั้ง
เช่น คำสั่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำมาตรการป้องกันความเสียหาย กรณีการก่อสร้าง บูรณะ และบำรุงรักษาทางและสะพาน ซึ่งเนื้อหาสาระในคำสั่ง มองเผินๆ เสมือนหนึ่งว่า มีเจตนาดีหวังรักษาประโยชน์แผ่นดิน เช่น อ้างว่าเพื่อให้ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์เหตุความเสียหายที่เกิดจากการก่อสร้างถนน-สะพาน และใช้ประโยชน์ไม่ได้ ทำให้รัฐสูญเงินจำนวนมาก ซึ่งผมเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระ
ช่างไม่มีหัวสมองคิดบ้างว่า สาเหตุที่โครงการก่อสร้างต่างๆ ไม่คงทนถาวรเนื่องจากอะไร แต่ถ้าไม่รู้จริงๆ จะช่วยบอกให้ ว่าเหตุที่โครงการก่อสร้างของทางราชการไม่คงทนถาวรดังกล่าวในคำสั่งของประธาน คตง. สืบเนื่องมาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานนั้นๆ ทั้งสิ้น
เช่น ปล่อยให้มีการฮั้วกัน การเรียกเงินใต้โต๊ะ-บนโต๊ะ ไล่ลงมาตั้งแต่ระดับ ซี 11 กระทั่งถึง ซี 8 - ซี 9 ผู้อำนวยการกอง หัวหน้ากอง เขต แขวง เหล่านี้คือตัวการทำให้งานก่อสร้างไม่คงทนถาวร เพราะเมื่อผู้รับเหมาต้องจ่าย "เก๊าเจี๊ยะ" เปอร์เซ็นต์สูง คุณภาพของงานก็ลดลง หรือว่าไม่จริง?
ในการแต่งตั้งอนุกรรมการคณะต่างๆ ขณะนี้ ปรากฏว่าบางคนที่ยังไม่ทิ้งสันดานเดิม พูดกับเจ้าหน้าที่ผู้ไปตรวจสอบหน่วยงานของตนว่า ขอให้ตรวจดีๆ อย่าให้พบเรื่องทุจริตร้ายแรงกระทบถึงผู้ใหญ่ในหน่วยรับตรวจ ซึ่งหมายถึงตัวผู้พูดด้วย มิฉะนั้นจะขัดใจกัน
นอกจากด้านการปฏิบัติงานประจำดังว่ามาแล้ว ในด้านการบริหารงานบุคคล เจ้าหน้าที่ สตง. ซึ่งมีทั่วประเทศประมาณ 3 พันเศษ และกำลังมีการสอบเลื่อนระดับ ก็เกิดความไม่สบายใจเกรงว่าจะถูกระบบ "อุปถัมภ์" เข้าแทรกแซง เป็นการทำลายขวัญและกำลังใจ
การบริหารงานบุคคลใน สตง.อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แต่มี คตง.บางคนอาจเจตนาดี แต่จะประสงค์ดีด้วยหรือไม่ ผมไม่อาจทราบได้ โดดเข้าไปล้วงลูกก้าวก่ายงานเต็มตัว พฤติกรรมเช่นว่านี้ ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลประการใด ขอให้ยุติเสียก่อนที่จะมีเรื่องไม่งามเกิดขึ้น และนักล้วงลูกจะแก้ตัวยาก!
ปัญหาดังที่กล่าวมา เป็นเรื่องที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ต้องเร่งสะสาง แม้เธอจะถูกกลั่นแกล้งขัดขวางด้วยวิธีการอย่างไร แต่ขอให้วางใจได้ว่าจะไม่โดดเดี่ยว ประชาชนคนสุจริตจะช่วยเป็นกำลังใจและไม่นิ่งดูดายให้คนชั่วลอยนวล!
http://www.matichon.co.th/matichon/mati ... 2006/03/06
- bsk(มหาชน)
- Verified User
- โพสต์: 3206
- ผู้ติดตาม: 0
ปัญหาการแต่งตั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน
โพสต์ที่ 14
"คุณหญิงจารุวรรณ" เตรียมแฉกระบวนการโกงชาติ
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 11 มีนาคม 2549 12:11 น.
คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน หรือ สตง. กล่าวว่า วันจันทร์นี้กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการทุจริต ของวุฒิสภา จะจัดสัมมนากระบวนการโกงชาติเพื่อเผยแพร่การทุจริตโครงการต่างๆ ของภาครัฐให้สาธารณชนได้ทราบหลังจากที่เคยนำผลการศึกษานี้ให้รัฐบาลแต่ได้รับการปฏิเสธ ทั้งนี้ข้อมูลที่จะนำมาเปิดเผยมีการทุจริตเชิงนโยบายเช่น การซื้ออุปกรณ์ตรวจจับวัตถุระเบิดของสนามบินสุวรรณภูมิหรือ CTX-9000 ธุรกิจโทรคมนาคม นอกจากนี้ยังมีการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ เช่นทุจริตอาหารผู้ป่วย การขึ้นเงินเดือนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติหรือ ปปช. กรณีกรมสรรพากรประเมินและเรียกเก็บภาษีโดยมิชอบในรายของนายเกรียงไกร ลีกิจพัฒนะ และยังมีารทุจริตการจัดซื้อจัดจ้างของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งการจัดซื้อคอมพิวเตอร์ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงทุจริตการให้สัมปทานโรงงานสุรา การบริหารท่าเรือ ตู้สินค้าแหลมฉบังของท่าเรือแห่งประเทศไทย โดยระหว่างการบรรยายจริยธรรมทางธุรกิจนั้นคุณหญิงกล่าวว่าปัจจุบันเหตุการณ์ในบ้านเมืองได้บั่นทอนความสุขของประชาชน เนื่องจากผู้มีอำนาจในบ้านเมืองขาดจริยธรรม แต่เชื่อว่าในส่วนลึกของนักธุรกิจจะมีจริยธรรมแต่เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายด้านต่างๆซึ่งสูงมาก เช่นภาษี และจำเป็นต้องแสวงหากำไร ทำให้จริยธรรมลดลงไป ทั้งนี้ต้องปลูดฝังเรื่องดังกล่าวตั้งแต่วัยเด็ก โดยสอนให้พอเพียงและการทำงานอะไรก็ตามขอให้เป็นประโยชน์ต่อแผ่นดิน