หยวนแข็งค่า...อย่าชะล่าใจ ส่งออกไทยไม่หมูอย่างที่คิด

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
ภาพประจำตัวสมาชิก
LOSO
Verified User
โพสต์: 2512
ผู้ติดตาม: 0

หยวนแข็งค่า...อย่าชะล่าใจ ส่งออกไทยไม่หมูอย่างที่คิด

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เหตุการณ์เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ต้องยกให้เป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์การเงินของโลกเลยก็ว่าได้ ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนประกาศเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนของตัวเองจากระบบที่กำหนดค่าเงินหยวนตรึงไว้กับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใช้มานานเกือบ 10 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2538 มาสู่ระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ

แม้เบื้องต้นจะทำให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้นไปอยู่ที่ 8.11หยวน/ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิมที่จีนตรึงเงินหยวนไว้ที่ 8.28 หยวน/ดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่าขึ้นเพียงแค่ 2.1% เท่านั้น และทางการจีนยังกำหนดให้ในแต่ละวันค่าเงินหยวนจะเปลี่ยนแปลงได้ไม่เกิน 0.3% แต่ท่าทีของจีนครั้งนี้จะช่วยลดความตึงเครียดในตลาดเงินโลกได้ระดับหนึ่ง

การเปลี่ยนแปลงระบบอัตราแลกเปลี่ยนครั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะต้องการลดแรงกดดันจากสหรัฐหรือเพราะจีนต้องการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศของตัวเองที่กำลังร้อนแรงจนเห็นฟองสบู่ แต่ต้องยอมรับว่านี่คือสัญญาณที่ดีสำหรับการค้าระหว่างประเทศของทุกประเทศ เพราะที่ผ่านมาค่าเงินหยวนของจีนอ่อนค่ากว่าพื้นฐานไม่ต่ำกว่า 15% ซึ่งส่งผลให้จีนมีความได้เปรียบด้านการค้า สามารถส่งออกสินค้าได้ในราคาที่ต่ำกว่าคู่แข่งอย่างมาก

ส่วนกรณีที่ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง บอกว่า จะทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้น จนส่งผลให้การส่งออกของปี 2548 น่าจะขยายตัวได้ถึง 20%ตามเป้าหมาย คงง่ายเกินไปที่จะระบุได้เช่นนั้น เพราะเพิ่งเป็นช่วงเวลาของการเริ่มต้นเท่านั้น การแข็งค่าขึ้นเพียง 2% ถือว่าน้อยเหลือเกินถ้าเทียบกับค่าเงินหยวนที่ปัจจุบันยังอ่อนค่ากว่าความเป็นจริงอีกหลายช่วงตัว

และอย่าลืมว่าเมื่อค่าเงินหยวนแข็งค่าขึ้น ค่าเงินในภูมิภาคเอเชียอย่างค่าเงินบาทจะต้องแข็งค่าตามไปด้วย แม้จะไม่ถึงระดับเดียวกับเงินหยวน โดยวันแรกที่ตลาดซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศเปิดทำการ หลังจากจีนเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทได้ปรับแข็งค่าขึ้นจากวันทำการก่อนหน้า 1.5% มาอยู่ที่ประมาณ 41.30 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากที่ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงไปแต่ที่ระดับ 42.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมีแต่จะทำให้การส่งออกยากยิ่งขึ้น

เรื่องนี้ นายสุกิจ คงปิยาจารย์ อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวไว้ว่า การลอยตัวค่าเงินหยวนเพียง 2.1% ไม่น่าจะเห็นผลอะไรในระยะสั้น เพราะราคาสินค้าไทยและจีนแตกต่างกันถึง 10% ซึ่งหมายความว่าจีนยังมีแต้มต่อเหนือไทยอยู่อีกมาก และจีนยังสามารถลดราคาสินค้าส่งออกได้อีก ขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทที่แข็งค่าตามเงินหยวนยังทำให้ความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออกลดลง ปรากฏการณ์นี้จะเป็นช่วงที่ตลาดช็อคอยู่ เพราะเพียงวันเดียวค่าเงินบาทแข็งค่า 1%

เช่นเดียวกับ นายวิชัย ศรีประเสริฐ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวต่างประเทศ มองว่า การเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทในช่วงนี้ทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถวางแผนเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนได้ แต่การลอยตัวค่าเงินหยวนจะส่งผลดีให้ค่าเงินในภูมิภาคค่อยๆ ปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว และในอนาคตความได้เปรียบเสียเปรียบคงไม่ต่างกันมากนัก แต่กว่าจะถึงวันที่จีนยอมแข็งค่าเงินหยวนให้อยู่ในระดับที่สะท้อนปัจจัยพื้นฐานอย่างแท้จริงคงต้องใช้เวลาอีกหลายปี และคงได้เห็นจีนประกาศปรับค่าเงินอีกหลายระลอก

สอดคล้องกับมุมมองของนักวิชาการหลายคนที่เชื่อว่า ค่าเงินหยวนมีโอกาสจะแข็งค่าเพิ่มขึ้นอีก 20% ภายในระยะ 3-4 ปี หรือภายในปีนี้มีโอกาสได้เห็นเงินหยวนแข็งค่าเพิ่มขึ้นอีก 8-10%

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทางการไทยคงคาดการณ์กันไว้อยู่แล้ว แต่กลับไม่มีหน่วยงานใดออกมาแนะนำหรือชี้แนะแนวทางการปรับตัวให้กับผู้ส่งออกที่จะรับผลกระทบจากค่าเงินที่เปลี่ยนแปลงโดยตรง การที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุแต่เพียงว่า ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพสอดคล้องกันทั้งภูมิภาค และไม่มีความผันผวนอะไรที่จะต้องรับมือ คงไม่ใช่คำตอบที่คนทำธุรกิจส่งออก-นำเข้าจะพึงพอใจเท่าใดนัก

การที่ค่าเงินบาทใน 2 สัปดาห์ก่อนหน้าอ่อนค่าลงแตะ 42 บาทกว่า/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปี แต่มาวันนี้ค่าเงินกลับแข็งค่าขึ้นทันทีมาอยู่ที่ 41 บาทเศษ/ดอลลาร์หสรัฐ สถานการณ์เช่นนี้นักธุรกิจมองว่าคือความผันผวน ซึ่ง ธปท. ไม่ควรเพิกเฉย แม้จะมั่นใจกับสถานการณ์ในระยะยาวก็ตาม เพราะอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนนับเป็นความเสี่ยงสำคัญของคนทำธุรกิจ ที่สุดท้ายอาจกลับมาบ่อนทำลายความเชื่อมั่นได้ ไม่แตกต่างจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น หรือปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของคนไทยจนเศรษฐกิจชะลอตัวอย่างทุกวันนี้

ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ธปท. ต้องเข้าไปแทรกแซงค่าเงินบาทในช่วงนี้ เพราะเข้าใจดีว่าเป็นระยะเวลาที่อัตราแลกเปลี่ยนกำลังปรับตัวเข้าสู่ระยะสมดุลสำหรับการลอยตัวเงินหยวนครั้งแรก เพียงแต่ต้องการให้ ธปท. หรือทางการช่วยกันชี้แนะแนวทางการปรับตัวเพื่อรับมือกับทิศทางของค่าเงินที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป หรือแนวทางการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน ไม่ใช่ปล่อยให้นักธุรกิจเขาต้องเตือนกันเองอย่างที่เห็น

คนที่น่าจะรู้ดีที่สุด อยู่ใกล้ชิดและเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุด คือ ธปท. จึงไม่อยากได้ยิน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร พูดเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมาว่า นักธุรกิจไทยฉลาดพอ และรู้วิธีที่จะปรับตัวได้เองอยู่แล้ว

เพราะปัจจุบันประเทศไทยไม่ได้มีแต่ผู้ส่งออกขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจมานาน มีประสบการณ์ที่จะรู้หลบรู้หลีก แต่ตอนนี้ประเทศไทยมีผู้ส่งออกที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวนมาก ซึ่งอาจไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะเตรียมการป้องกันได้ดีเท่าผู้ประกอบการรายใหญ่ และอาจคุ้นเคยกับการที่ทางการมักจะเข้าไปดูแลค่าเงินบาทอยู่เสมอเมื่อมีการแกว่งตัว

ดร.ชวินทร์ ลีนะบรรจง อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า ที่ผ่านมาคนไทยไม่ค่อยเตรียมรับมือกับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนไว้ เพราะเมื่อค่าเงินเริ่มผันผวน ทางการก็จะเข้าไปแทรกแซง ทำให้เงินบาทเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย จนแทบจะไม่รู้สึกว่ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น หากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผ่านมาหวือหวากว่านี้ คงช่วยให้คนไทยรู้จักเตรียมตัวรับมือได้มากขึ้น

ไม่อยากให้รัฐบาลหลงไปกับการเปลี่ยนแปลงค่าเงินหยวนมากนัก แม้อัตราแลกเปลี่ยนจะมีผลให้การส่งออกสินค้าไทยดีขึ้นไม่มากก็น้อย แต่เป็นเพียงเครื่องมือชั่วคราว เพราะประเด็นสำคัญที่จะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกคือ การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ส่งออกของไทย การเพิ่มผลิตภาพให้แรงงานไทย การส่งเสริมให้เกิด Know-how ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นจุดอ่อนสำหรับธุรกิจไทย และเป็นหัวข้อที่พูดกันมานานแต่การเปลี่ยนแปลงกลับยังไม่เห็นผลใดๆ ในระหว่างที่จีนเริ่มถอยหลังให้คู่แข่ง เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะใช้จังหวะเวลานี้เร่งพัฒนาตัวเอง แก้ไขจุดอ่อนต่างๆ ให้มีความพร้อมที่จะรองรับกับการแข่งขันอย่างเต็มที่เสียที

ไม่ใช่เพียงแค่การรอคอยปาฏิหาริย์ แล้วคิดเข้าข้างตัวเองว่าจะดีแน่...อย่างที่เป็นอยู่
ล็อคหัวข้อ