ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมิ.ย.ลดลงอยู่ที่ 78.8 !!!!

การลงทุนแบบเน้นคุณค่า เน้นที่ปัจจัยพื้นฐานเป็นหลัก

ล็อคหัวข้อ
ภาพประจำตัวสมาชิก
LOSO
Verified User
โพสต์: 2512
ผู้ติดตาม: 0

ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมิ.ย.ลดลงอยู่ที่ 78.8 !!!!

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ส.อ.ท.เผยดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมิ.ย.ลดลงอยู่ที่ 78.8

27 กรกฎาคม 2548 15:46 น.
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index : TISI) ในเดือนมิถุนายน

พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงอย่างมากมาอยู่ที่ระดับ 78.8 จาก 90.5 ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำที่สุดครั้งใหม่
โดยค่าดัชนีหลักที่นำมาใช้ในการคำนวณค่าดัชนีความเชื่อมั่น 4 ใน 5 ตัว ได้ปรับตัวลดลง ได้แก่ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของ
ยอดคำสั่งซื้อ ปรับลดลงจาก 111.5 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 91.0 ในเดือนมิถุนายน
ยอดคำสั่งซื้อ ปรับลดลงจาก 110.3 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 90.9 ในเดือนมิถุนายน
ยอดคำสั่งซื้อ ปรับลดลงจาก 112.7 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 98.2 ในเดือนมิถุนายน
ยอดคำสั่งซื้อ ปรับลดลงจาก 91.8 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 80.9 ในเดือนมิถุนายน
ขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของต้นทุนการประกอบการปรับเพิ่มขึ้นจาก 40.3 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 42.3 ในเดือนมิถุนายน

สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายน 2548 ปรับตัวลดลงนั้น เนื่องจากช่วงเดือนมิถุนายนรัฐบาลได้ปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซล ส่งผลให้ราคาน้ำมันทั้งดีเซลและเบนซินปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลกระทบต่อกิจการอย่างชัดเจนทั้งในปัจจุบันและในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลต่อต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการได้รับผลกระทบทางอ้อมจากระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง ผู้ประกอบการยังคงขาดความเชื่อมั่นในด้านของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และระดับราคาบริการสาธารณูปโภคโดยรวมที่มีแนวโน้มที่จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ และระดับราคาวัตถุดิบปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
นอกจากนี้ ปัญหาด้านภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ รวมทั้งปัญหาภาวะภัยแล้งในบางพื้นที่ก็ยังคงเป็นอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจเช่นเดียวกับในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ ค่าดัชนีความเชื่อมั่นในแต่ละปัจจัยที่เหลือของเดือนมิถุนายนก็ปรับตัวลดลงไปในทิศทางเดียวกับปัจจัยหลัก ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อยอดคำสั่งซื้อในประเทศ ยอดคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ ยอดขายในประเทศ และยอดขายในต่างประเทศ ลดลงจาก 108.5 124.9 111.3 และ121.7 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 86.6 108.0 87.4 และ 106.4 ในเดือนมิถุนายนตามลำดับ
ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อราคาขาย สินค้าคงเหลือ การจ้างงาน และการใช้กำลังการผลิต ลดลงจาก 123.3 132.6 105.9 และ116.4 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 119.6 112.9 103.4 และ 111.6 ในเดือนมิถุนายนตามลำดับ

ในขณะที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมต่อการลงทุนของกิจการ สินเชื่อในการประกอบการ สภาพคล่องของกิจการ และความสามารถในการแข่งขันในประเทศ ลดลงจาก 111 ,104.1, 106 และ 108.7 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 110.5, 103.1, 85.3 และ 88.8 ในเดือนมิถุนายนตามลำดับ
เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวมของความสามารถในการแข่งขันในต่างประเทศ สภาวะเศรษฐกิจของประเทศ สภาวะในกลุ่มอุตสาหกรรม และสภาวะของการประกอบกิจการ ลดลงจาก 122.7 99.9 114.5 และ 113.9 ในเดือนพฤษภาคม เป็น 113.9 76.9 87.8 และ 88.1 ในเดือนมิถุนายนตามลำดับ
เมื่อพิจารณาค่าดัชนีรายอุตสาหกรรมเปรียบเทียบระหว่างเดือนพฤษภาคมกับเดือนมิถุนายน 2548 โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ จำนวน 33 กลุ่ม พบว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นของอุตสาหกรรมปรับตัวลดลงเป็นส่วนใหญ่ โดยมีอุตสาหกรรมที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง 26 กลุ่มอุตสาหกรรม เพิ่มขึ้น 7 กลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งในกลุ่มที่ปรับตัวลดลงมี 16 กลุ่มอุตสาหกรรม ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลงอย่างชัดเจน ได้แก่ อุตสาหกรรมก๊าซลดลงจาก 115 เป็น 90.7 อุตสาหกรรมการพิมพ์ ลดลงจาก 72.3 เป็น 50.2 อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร ลดลงจาก 94.8 เป็น 83.5 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมถึง 29 กลุ่ม ที่มีค่าดัชนีในระดับที่ต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในการประกอบธุรกิจในระดับที่ไม่ดีนัก

สำหรับข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการต่อภาครัฐ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐปรับปรุงประสิทธิภาพระบบขนส่งเพื่อลดการใช้พลังงานเชื้อเพลิงในประเทศ รวมถึงดูแลระดับราคาน้ำมันและค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการดำเนินธุรกิจได้อย่างถูกต้อง ในขณะเดียวกันผู้ประกอบการได้เสนอให้รัฐบาลทบทวนในเรื่องของโครงสร้างภาษีวัตถุดิบให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลกของผู้ประกอบการไทย
ล็อคหัวข้อ