'ธันวา เลาหศิริวงศ์' ผู้นำ 'เซียนหุ้นวีไอ' คนปัจจุบัน

กระทู้คุณค่า มีประโยชน์ ความรู้ดีดี เป็นประโยชน์เสมอไม่ว่าเวลาจะผ่านมาเนิ่นนาน แค่ไหนก็ตาม

โพสต์ โพสต์
ภาพประจำตัวสมาชิก
ปรัชญา
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 18252
ผู้ติดตาม: 0

'ธันวา เลาหศิริวงศ์' ผู้นำ 'เซียนหุ้นวีไอ' คนปัจจุบัน

โพสต์ที่ 1

โพสต์

รูปภาพ
การเงิน - การลงทุน : ถนนนักลงทุน
วันที่ 24 กรกฎาคม 2555

'ธันวา เลาหศิริวงศ์' ผู้นำ 'เซียนหุ้นวีไอ' คนปัจจุบัน
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

รูปภาพ

แม้พอร์ตอาจไม่ใหญ่เป็นพันๆ ล้าน แต่ด้วยเพดานบินที่สูงบวกความตั้งใจที่เต็มเปี่ยม 'เซียนหุ้นวีไอ' น้อยใหญ่เต็มใจยกตำแหน่ง 'ผู้นำ' ให้กับเขา..'ไก่' ธันวา เลาหศิริวงศ์' นายกสมาคมวีไอ 'รุ่นที่ 1'
ชายวัย 45 ปี ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย เพื่อมา "เล่นหุ้น" เป็นอาชีพ..เขาต้องบ้าแน่ๆ นั่นอาจเป็นความคิดของคนส่วนใหญ่ แต่สำหรับ "ไก่" ธันวา เลาหศิริวงศ์ การหลุดออกจากกรอบชีวิตเดิมๆ เพื่อริเริ่มสิ่งใหม่ให้ชีวิต คือการเริ่มต้นนับหนึ่งของความท้าทายครั้งใหม่

ปัจจุบันธันวาในวัย 47 ปี ไม่เพียงได้รับโอกาสใหม่ๆ ในชีวิต เป็นกรรมการตรวจสอบ บมจ.เอเชียซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น (AS) เป็นกรรมการอิสระ บมจ.อีซี่ บาย และเป็นคอลัมนิสต์เขียนบทความเกี่ยวกับการลงทุนมากมายแล้ว เพื่อนพ้องน้องพี่ชาว "วีไอ" ยังมอบภาระกิจ "ผู้นำ" ให้กับเขาในตำแหน่ง นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) รับไม้ต่อจาก สุทัศน์ ขันเจริญสุข เจ้าของพอร์ตหุ้น “หลายร้อยล้านบาท” ที่ขอจบภารกิจตัวเอง ภายหลัง ผลักดันเว็บไซต์ "ไทยวีไอ" ขึ้นเป็น "สมาคม" จนสำเร็จลุล่วง

ย้อนประวัติหัวหน้าวีไอคนปัจจุบัน หลังเรียนจบภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในปี 2530 และภายหลังได้รับการยกย่องให้เป็นศิษย์เก่าวิศวะฯลาดกระบัง “ดีเด่น” ธันวาสมัครเข้าทำงานในตำแหน่งวิศวะกรระบบในบริษัท โตโย เอ็นจิเนียริ่ง คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ทำงานได้ 3 ปีก็ลาออกมาเป็นเจ้าหน้าที่การตลาด บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ไต่เต้าจากตำแหน่งเล็กๆ เลื่อนจนได้เป็นผู้บริหาร ก่อนจะถูกส่งตัวไปทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ เป็นเวลา 4 ปี จากนั้นได้รับการโปรโมทให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ต่อจาก ศุภจี สุธรรมพันธุ์ (ปัจจุบันเป็น CEO บมจ.ไทยคม)

กว่า 20 ปี ที่ธันวาเป็นลูกหม้อไอบีเอ็ม จากตำแหน่งเล็กๆ ไต่เต้าจนเป็นผู้นำองค์กร ในที่สุดเขาก็ตัดสินใจลาออกเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2554 เพื่อก้าวเดินในเส้นทางใหม่ของชีวิตตั้งใจแน่วแน่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม ในระหว่างที่ร่วมงานกับไอบีเอ็มเขาได้เตรียมความพร้อมทางการเงินล่วงหน้ามานานกว่า 10 ปี แม้จะมีเงินเดือนสูงแต่ธันวาใช้ชีวิตเรียบง่ายและนำเงินไปลงทุนต่อจึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพารายได้ประจำชีวิตก็อยู่ได้อย่างสบาย

สิบโมงตรง ณ ชั้นใต้ดินตึก IBM กรุงเทพธุรกิจ BizWeek มีนัดหมายกับนายกสมาคมวีไอใหม่แกะกล่อง แว้บ!! แรกที่สังเกตุเห็นชายวัยกลางคนผู้นี้มีบุคลิกกระตือรือร้นตลอดเวลา ตั้งแต่เปิดประตูเข้ามาแทบไม่เห็นเขาหยุดสั่งงานกรรมการสมาคมหรือนั่งพัก แถมอำนวยความสะดวกแขกผู้แปลกหน้า (นักข่าว+ช่างภาพ) ไม่ให้ขาดตกบกพร่อง แม้จะไม่ใช่เจ้านายของตึก IBM แล้ว ไม่ว่าธันวาจะเดินไปที่ไหน พนักงานที่พบไม่เว้นแม้แต่แม่ค้าบนโรงอาหารชั้น 7 ต่างพากันยกมือไหว้และทักทายอย่างเป็นกันเอง

เจ้าตัวเล่าชีวิตการลงทุนให้ฟังว่า เริ่มสัมผันการลงทุนในตลาดหุ้นเมื่อปี 2532 หลังมีโอกาสเจอพี่คนหนึ่งในประเทศญี่ปุ่นที่เขาสนใจลงทุนในตลาดหุ้น ช่วงนั้นยังไม่มีครอบครัวจึงตัดสินใจควักเงินเก็บ "หลักแสนบาท" ที่ตั้งใจจะนำส่วนหนึ่งไปสร้างบ้านมาลงทุน แต่ปัจจุบันมีลูก 2 คน ผู้หญิงคนโตตอนนี้เรียนอยู่ปี 2 ทางด้านไฟแนนซ์อยู่ที่อเมริกา ส่วนลูกชายคนสุดท้องกำลังจะบินไปเรียนตามพี่สาว

"การลงทุนช่วงแรกผมขาดทุนหนักมาก (หัวเราะ) จนแทบจำตัวเลขไม่ได้ เพราะลงทุนแบบไม่มีหลักการ แถม “จัดเต็ม” ซื้อหุ้นหลายตัวชนิดไม่มีข้อมูลสักอย่างอยู่ในหัวสมอง ทำให้ตอนนั้นต้องกู้เงินมาสร้างบ้าน ตลอดระยะเวลา 10 ปีแรกของการลงทุน ยอมรับว่า "ไม่ประสบความสำเร็จ" โดนวิกฤติเล่นงานตลอด ไม่ว่าจะเป็นสงครามอ่าวเปอร์เซีย หรือ ต้มยำกุ้ง แต่ก็ไม่รู้สึกว่าเข็ดแม้จะยังมองไม่เห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ เรียกได้ว่าขายขาดทุนก็ต้องยอม"

จุดหักเหของการลงทุนเกิดขึ้นในช่วงที่ทำงานอยู่ที่ประเทศสิงค์โปร์ ตอนนั้นได้อ่านหนังสือต่างประเทศเรื่อง “Rich dad Poor dad” (พ่อรวยสอนลูก) ของ โรเบิร์ต คิโยซากิ เรื่องนี้สอนเกี่ยวกับอิสระภาพทางการเงิน และสอนให้ใช้เงินทำงานแทนเรา เมื่อกลับมาเมืองไทยก็ได้มีโอกาสได้อ่านหนังสือเรื่อง “ตีแตก” ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร เล่มนี้สอนเกี่ยวกับการลงทุนแบบเน้นคุณค่า และสอนให้รู้ว่าลงทุนแบบไหนมีความเสี่ยงต่ำ และมีความมั่นคงสูง

"ผมใช้เวลาอ่านหนังสือ 2 เล่มนี้ไม่นาน..ชอบมาก! มันมีเหตุมีผลเหมือนวิชาวิศวะที่เราร่ำเรียนมา จริงๆ แล้วหนังสือ "ตีแตก" เปลี่ยนแปลงชีวิตและครอบครัวของผม ไม่เช่นนั้นชีวิตการลงทุนคงเหมือนในช่วง 10 ปีก่อนที่ขาดทุนอย่างหนัก"

เขาอธิบายรอยต่อจุดหักเหของความคิดก่อนจะ "ตีแตกทางความคิด" สำเร็จว่า เดิมตัวเองมีแนวคิดว่า "การ เล่นหุ้น" คือ "ต้องขายเมื่อมีกำไร" โดยไม่สนใจว่าพื้นฐานบริษัทเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ แต่หนังสือตีแตกสอนให้คิดว่าการเล่นหุ้น คือ "การลงทุนทำธุรกิจ" แม้ราคาหุ้นจะ "ขึ้น" แต่หากพื้นฐานยังดีก็ "ไม่จำเป็นต้องขาย" จริงๆ อยากให้นักลงทุนกลับไปอ่านบทความที่ผมเขียนเรื่อง “มรดกอาณาจักรธุรกิจ” และ “คุณค่านักลงทุน” เนื้อหาโอเคมาก

ธันวาเริ่มบททดสอบในเส้นทางวีไออย่างจริงจัง ช่วงปี 2546 โดยลงทุนหุ้นเป็น "สิบตัว" เน้น "ราคาถูก" เป็นหลัก โดยจะดูค่า P/E และค่า P/BV เน้นต่ำๆ เข้าไว้ รวมถึงดูผลตอบแทนจากเงินปันผล ซึ่งจะต้องอยู่ระดับ 4-5% การลงทุนในลักษณะนี้ยอมรับว่า "ผลตอบแทนไม่ค่อยดีเท่าไร" การที่ "หุ้นถูก" เพราะมัน "ไม่มีสตอรี่" มาสนับสนุนราคา ราคาหุ้นก็ไม่ไปไหน เขาจมอยู่กับการลงทุนลักษณะนี้ 2-3 ปี เห็นว่า "ยังไม่ใช่" จึงเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่

"วันนี้เงื่อนไขการลงทุนของผมมีค่อนข้างเยอะ จะเน้นลงทุนเฉพาะหุ้น “ซุปเปอร์สต็อก” คือ หนึ่ง..มีรูปแบบธุรกิจที่ดี ผู้บริโภคมีการซื้อซ้ำ สอง..บริษัทมีรายได้มั่นคงแน่นอน สาม..ฐานะการเงินดี สี่..ผู้บริหารเก่ง ห้า..ธุรกิจมีความเสี่ยงต่ำ และมี Economy of scale (ยิ่งใหญ่ต้นทุนยิ่งถูก) ทุกวันนี้หุ้นในตลาดมีมากถึง 500 บริษัท แต่เชื่อหรือไม่! ว่ามีหุ้นที่เป็นซุปเปอร์สต็อกแบบที่ผมบอกไม่ถึง 20 ตัว"

นอกจากเรื่องปัจจัยพื้นฐานแล้วธันวายังคำนึงถึงเรื่อง "สภาพคล่อง" ประกอบด้วย เขาจะซื้อหุ้นที่มีสภาพคล่องค่อนข้างสูง เคยซื้อหุ้นดีราคาถูกแต่พอจะขายต้องใช้เวลาเป็นเดือน ตรงข้ามกับหุ้นที่มีสภาพคล่องใช้เวลาขายเพียง 2-3 วันก็หมด นี่เป็นอีกเงื่อนไขการลงทุนส่วนตัวที่อาจจะต่างจากวีไอคนอื่น

"ทุกวันนี้ผมจะให้ความสำคัญกับการแกะงบการเงินน้อยลง แต่จะเน้นดูภาพรวมของธุรกิจในช่วง 3 ปีที่ผ่านมามากกว่าว่าเขามีความชำนาญและธุรกิจทนทานต่อภาวะเศรษฐกิจมากแค่ไหน ปัจจุบันผมมีหุ้นในพอร์ตแค่ 5-6 ตัว เป็นซุปเปอร์สต็อกเกือบทั้งหมด มีเพียง 1 ตัว ที่เป็นหุ้นขนาดกลาง ตั้งใจจะหาจังหวะขาย เพื่อปรับพอร์ตให้เป็นหุ้นซุปเปอร์สต็อกทุกตัว"

อยากรู้ว่าพอร์ตลงทุนของนายกสมาคมวีไอมีมูลค่าเท่าไร..? ถามกันตรงๆ แบบนี้ เจ้าตัวถึงกับหัวเราะก่อนปิดประตูใส่กลอนว่า "ไม่ขอเปิดเผยดีกว่า!" เอาเป็นว่ามีมูลค่า "มากระดับหนึ่ง" ส่วนหุ้นในพอร์ต 5-6 ตัว มีอะไรบ้าง! เจ้าตัวก็ตอบเลี่ยงไปว่า ชอบกลุ่มค้าปลีก, อาหาร, โรงพยาบาล และสื่อสาร ซึ่งกลุ่มเหล่านี้ในระยะกลางถึงยาวน่าสนใจมาก โอกาสจะสร้างผลตอบแทนปีละ 12-15% มีสูงมาก

จริงๆ บอกแค่นี้ก็เดาออกแล้วว่ามีหุ้นอะไรบ้าง!! ซึ่งก็พอรู้ว่าวีไอเขาเล่นหุ้นอะไรกันอยู่ แต่บางตัว "บิซวีค" มองว่าอาจจะขึ้นมา "เยอะมากแล้ว"

ทำไม! ถึงชอบ 4 กลุ่มนี้ (ค้าปลีก, อาหาร, โรงพยาบาล, สื่อสาร) เจ้าตัววิเคราะห์ให้ฟังคร่าวๆ โดยบอกก่อนว่าหุ้นทั้ง 4 กลุ่ม ถือเป็นปัจจัยที่ "คนขาดไม่ได้" คือ "ต้องกิน-ต้องใช้-ต้องรักษา" กลุ่มค้าปลีกและอาหารทนต่อทุกสภาวะเศรษฐกิจ ส่วนธุรกิจโรงพยาบาล ชอบเพราะเป็นธุรกิจที่ "คนต่อรองไม่ได้" (เขาจะฟันเท่าไรก็ต้องจ่าย) ปัจจุบันคนไทยประมาณ 25% (เป็นผู้สูงอายุ) อยู่ในวัยที่ต้องเข้าโรงพยาบาล ฉะนั้นธุรกิจนี้ไม่มีทางไม่เติบโตมีแต่ "เติบโตไม่มาก" กับ "เติบโตมาก"

สำหรับธุรกิจสื่อสาร แม้จะไม่ใช่ปัจจัย 4 แต่ถือว่า "จำเป็น" ในการดำรงชีวิตประจำวัน วันไหนลืมหยิบโทรศัพท์มาก็แทบจะอยู่ไม่ได้แล้ว..จริงมั้ย!! ที่สำคัญเป็นธุรกิจที่มีการ "ใช้ซ้ำทุกวัน" อีกอย่างหากระบบ 3G เกิดจริงๆ รายได้จากการขายโทรศัพท์ของโอเปอร์เรเตอร์จะมากขึ้น "แต่การทำนายของผมอาจผิดก็ได้ (หัวเราะ)"

สำหรับเป้าหมายผลตอบแทน เขาบอกว่า ถ้าได้ 12-15% ต่อปี เท่านี้ก็ “แฮปปี้” แล้ว ผมชอบคำพูดประโยคหนึ่งของอาจารย์นิเวศน์ แกบอกว่า “10 ปี 1 หลัก” หมายความว่า เมื่อเวลาผ่านไป 10 ปี เราควรมีมูลค่าพอร์ตเพิ่ม 1 หลัก ถือเป็นเป้าหมายท้าทายมาก..ผมก็อยากทำให้ได้อย่างนั้นเหมือนกัน แต่ไม่ถึงขนาดมุ่งมั่น

อีกหนึ่งวรรคทองของ ดร.นิเวศน์ ที่ชอบคือ “เราไม่รู้หรอกว่าราคาหุ้นจะไปเท่าไร รู้เพียงว่าเป็นหุ้นที่ดี กิจการของเขายอดเยี่ยม และจะดีต่อไปในระยะยาว” แต่นักลงทุนบางรายมักจะบอกว่า การที่ได้กำไรหลายๆ เด้งเป็นเพราะเหตุผลโน่นนี่ ส่วนตัวคิดว่ามันอาจไม่ใช่เหตุผลอย่างนั้นก็ได้ เราคงไม่สามารถคำนวณเหตุผลได้แม่นยำ การเล่นหุ้นมีเทคนิคมากมาย เราไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกำไรเท่าไร

"ผมเน้นการลงทุนแล้วสบายใจ นับวันผมยิ่ง “ขี้เกียจลงทุน” เพราะเงื่อนไขการลงทุนของผมมีมากมาย ทำให้ไม่ค่อยเจอหุ้นที่อยู่ในเงื่อนไขเท่าไร ส่วนใหญ่จะหาข้อมูลเพื่อมาเขียนบทความมากกว่า (หัวเราะ) แม้จะขี้เกียจแต่ผมก็มักจะสอนลูกทั้ง 2 คน โดยวิธีให้เงินลูกไปบริหารจัดการเอง..เช่น ผมจะให้เงิน 100 บาท เขาอยากเอาไปเรียนอะไรตามใจเขาเลย เพราะส่วนที่เหลือจะเป็นของเขา เมื่อเขาอายุ 25 ปี ผมจะโอนเงินส่วนที่เหลือทั้งหมดให้เขา ผมอยากสอนให้ลูกรู้จักการออกแบบทางการเงินและออกแบบชีวิตของเขาเอง"

ในฐานะนายกสมาคมวีไอ ธันวาฝากบอกนักลงทุนว่า คุณต้องหาแนวทางการลงทุนของตัวคุณเองให้เจอ คนเราเก่งไม่เหมือนกัน อยากให้ทุกคนมีความสุขกับการลงทุน และเมื่อประสบความสำเร็จแล้วก็ควรตอบแทนคืนให้สังคมบ้างทางไหนก็ได้

"ผมเห็นหลายคนถ่ายรูปตอนไปเที่ยวเมืองนอก กินอาหารเริ่ดหรู จริงๆ แล้วคนที่ประสบความสำเร็จบางคน อาจกลับไปทำแบบเดิมไม่ได้แล้วก็ได้ หลักการที่ดีคนอื่นต้องทำตามได้ ที่ผ่านมาผมมักแบ่งเงินส่วนหนึ่งไปช่วยเรื่องการศึกษา เพื่อเป็นทุนให้กับคนด้อยโอกาส ซึ่งผมจะนำแนวทางนี้ไปใช้กับทางสมาคมด้วย ทุกวันนี้บ้านพ่อผมอยู่ที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ผมก็จะส่งเงินให้พ่อนำไปช่วยการศึกษาเด็กๆ ที่โน่นเป็นประจำ"

ความเสี่ยงของความสำเร็จ คือหยุดไม่ได้ที่จะขยายมันออกไปเรื่อยๆ เส้นทางของ "เซียนหุ้น" ที่แท้จริงอยู่ที่การ "ให้" ยิ่งให้..ยิ่งได้!!! เกิดมาชาติหนึ่งได้ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ และสังคม นั่นต่างหาก..ความสำเร็จที่แท้จริง "ธันวา เลาหศิริวงศ์" เขาตั้งใจที่จะเดินเส้นทางนั้น!!

http://www.bangkokbiznews.com/home/deta ... B8%99.html
ภาพประจำตัวสมาชิก
ปรัชญา
สมาชิกกิตติมศักดิ์
โพสต์: 18252
ผู้ติดตาม: 0

Re: 'ธันวา เลาหศิริวงศ์' ผู้นำ 'เซียนหุ้นวีไอ' คนปัจจุบัน

โพสต์ที่ 2

โพสต์

รูปภาพ
วันที่ 23 กรกฎาคม 2555

พวกเขาคือ..ดรีมทีม 'วีไอ..ประเทศไทย'
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

รูปภาพ

เผยโฉม 12 กรรมการสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)
นำทัพโดย 'ธันวา เลาหศิริวงศ์'
โดยมี 2 เซียนหุ้นพันล้าน ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา และ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
เป็นที่ปรึกษาสมาคม


สดๆร้อนๆกับ สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย) ที่ยกระดับจากสมาชิกเว็บไซต์ขึ้นมาเป็นสมาคม
อย่างสมบูรณ์แบบ โดยมี "ไก่" ธันวา เลาหศิริวงศ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
รับหน้าที่เป็นนายกสมาคม รุ่นที่ 1 มีวาระ 2 ปี กรรมการสมาคมมีทั้งหมด 12 คน
โดยมี 2 ผู้อาวุโส ดร.ไพบูลย์ เสรีวิวัฒนา และ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร รับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาสมาคม

ภายหลังรับโทรศัพท์ติดต่อจากกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ธันวา เลาหศิริวงศ์ นายกสมาคมวีไอ รุ่นที่ 1
รีบเป็นธุระโทรศัพท์ชักชวนกรรมการสมาคมทุกคนให้มาเปิดตัวพร้อมกัน ไม่ว่าใครติดธุระอะไรหรืออยู่ต่างจังหวัด
ก็ห้ามปฏิเสธ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงกับบทบาทที่มีสมาชิกเว็บไซต์ "หลายหมื่นคน" ฝากความหวังเอาไว้

นายกสมาคมวีไอ รุ่นที่ 1 แจกแจงให้ฟังว่า สมาคมเรามีกรรมการ 12 คน ทุกคนมาทำงานด้วยจิตอาสาโดยไม่รับ
ค่าตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้น ทำไม! ต้องยกระดับจากเว็บไซต์เป็นสมาคม วัตถุประสงค์หลักเราต้องการเผยแพร่
ความรู้เกี่ยวกับการลงทุนเน้นคุณค่า ไม่ได้รวมตัวเพื่อไปสร้างกระแสให้ใคร ที่ผ่านมาเวลาหุ้นตัวไหนขึ้น
เรามักโดนยัดข้อหาตลอด (หัวเราะ)

"ที่สำคัญกรรมการทุกคนเป็นนักลงทุนแนว VI ที่ประสบความสำเร็จ เราอยากตอบแทนสังคมบ้างโดยเฉพาะ
เรื่องการศึกษา ต้องการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และต้องการช่วยเหลือด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์
โดยเราจะแบ่งเงินส่วนหนึ่งจากที่เรียกเก็บค่าสมาชิกรายปี
แบ่งเป็นสมาชิก 1 ปี 500 บาท
สมาชิก 3 ปี 1,200 บาท
สมาชิก 5 ปี 2,000 บาท
สำหรับนักศึกษาสามารถสมัครสมาชิกรายปีในอัตรา 200 บาท
เงินส่วนหนึ่งจะนำไปช่วยเหลือสังคมตอนนี้กำลังหารือในเรื่องของรูปแบบความช่วยเหลือ"

นอกจากนี้ การยกระดับเป็นสมาคมยังทำให้สมาชิกสามารถขอเข้าไปเยี่ยมชมบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
และมีตัวตนที่พิสูจน์ได้ เดิมอาจมีนักลงทุนบางกลุ่มแอบอ้างว่าตัวเองเป็นนักลงทุน VI แล้วขอเข้าไปเยี่ยมชมกิจการ
แต่จริงๆ แล้วเป็นพวก “พันธุ์ผสม” ทำให้นักลงทุน VI จริงๆ เขาเสียหาย

สำหรับโฉมหน้ากรรมการสมาคมทั้ง 12 คน นอกจาก ธันวา เลาหศิริวงศ์ นายกสมาคมแล้ว ก็มี "ภา" ภาสุชา อุดรวณิช
มีชื่อล็อกอินในเว็บไซต์ว่า “KIRI” เธอจะรับหน้าที่เชิญเหล่าบริษัทจดทะเบียนมาตอบคำถามคาใจของนักลงทุน
และดูแลข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เธอบอกว่าบริษัทจดทะเบียนสามารถใช้พื้นที่ตรงนี้ให้ความรู้นักลงทุนได้..ฟรี!!!

“หมอมุข” นพ.ประมุข วงศ์ธนะเกียรติ รับเป็นอุปนายกสมาคม ชื่อล็อกอินว่า “Paul vi” หมอมุขจะทำหน้าที่แทน
นายกสมาคมกรณีติดภาระกิจ มีบทบาทเป็นหัวหน้าห้องดูแลความเรียบร้อยของกระทู้ ข้อความในเว็บไซต์
รวมถึงระบบไอที ทีมหมอมุขมีเกือบ 10 คน ทีมนี้จะเน้นสร้างความโปร่งใส

"โจ้" อนุรักษ์ บุญแสวง ชื่อล็อกอินว่า “ลูกอีสาน” โจ้จะดูแลกฎกติกามารยาท ที่ผ่านมาก็มีชื่อเสียงเรื่องความ
เป็นกลางอยู่แล้ว หน้าที่หลักจะช่วยจัดงานกิจกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาก็จัดสัมนาร่วมกับเพื่อนนักลงทุนในอำเภอหาดใหญ่
ไม่ว่าจะเป็น “กานต์” วรพงศ์, “ตี้” ธนะสิน พิพัฒน์กิตติกุล (ผู้ถือหุ้น HTECH, SNC เป็นต้น) โดยจัดไตรมาสละ 1 ครั้ง
มีนักลงทุนเข้าฟังมากถึง 50 คน เก็บค่าเข้าฟังคนละ 500 บาท ต่อไปจะลดราคาเหลือคนละ 300 บาท
ซึ่งทางสมาคมเห็นว่าแนวคิดนี้น่าสนใจกำลังหารือเพื่อปรับมาใช้กับทางสมาคม

"ฉัตร" ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ กรรมการและเลขานุการสมาคม ชื่อล็อกอิน “Chatchai” นิสัยเป็นคนเที่ยงตรง
จะคอยดูแลข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุน "หลิน" อังสินี อภิวัชรกุล กรรมการและเหรัญญิก
ชื่อล็อกอิน “Kongkang” ดูแลฝ่ายการเงิน หน้าที่นี้สำคัญเรื่องการเงินต้องทำให้โปร่งใส "หนิง" เสริฐสรรพ์ อภิวัชรกุล
ชื่อล็อกอิน “Little wing” เป็นสามีของ "หลิน" จะรับหน้าที่ดูแลห้องบทความ เพื่อให้นักลงทุนได้ประโยชน์สูงสุด
หนิงจะหาบทความดีๆ มาให้นักลงทุนได้อ่าน

"ขาว" ณภัทร ปัญจคุณาธร กรรมการและนายทะเบียน ชื่อล็อกอิน “KAO” เป็นนักลงทุนจากนครศรีธรรมราช
ขาวจะคอยติดตามและเก็บข้อมูลสมาชิกทุกคน เพราะมีความรู้ด้านบัญชี อาจไปช่วยงาน "หนิง" เรื่องบทความ
บ้าง "กานต์" ณัฐชาต คำศิริตระกูล ชื่อล็อกอิน “Mario” จะรับหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของสำนักงาน
การรับสมัครสมาชิก ส่วน "เอก" ธวัชชัย เลิศรุ่งเรือง ชื่อล็อกอิน "Epeterpanz" มีความสามารถในการ
บริหารงานมาก เพราะมีบริษัทส่วนตัว เอกลงทุนในตลาดหุ้นมานานตั้งแต่สมัย บง.เอกธนกิจ (ฟินวัน)

"เว็บ" พรชัย รัตนนนทชัยสุข ชื่อล็อกอิน “WEB” เป็นนักแปลหนังสือด้านการลงทุนมือหนึ่งของไทย
จะมารับหน้าที่ดูแลกิจกรรม และงานสัมนาต่างๆ หลังจากนี้สมาคมจะมีจัดกิจกรรมต่อเนื่อง ล่าสุดได้นักลงทุนมือดีๆ
หลายคนมาให้ความรู้ เช่น "โจ้" ลูกอีสาน อาจารย์นิเวศน์ คเชนทร์ เบญจกุล และ "ซี" พีรยุทธ์ เหลืองวารินกุล
เจ้าของฉายา "นักลงทุนปฏิบัติธรรม" กรรมการคนสุดท้าย คือ “หมอเค” ศุภศักดิ์ หล่อธนวณิชย์
รับหน้าที่ดูแลสมาชิกสัมพันธ์ เพราะรู้จักคนเยอะ

"กรรมการเกือบทุกคนเป็น "ชุดเก่า" ตั้งแต่สมัย สุทัศน์ ขันเจริญ เป็นประธานวีไอ ทุกคนมีความเป็นกลางเห็นได้
จากการลงทุนส่วนตัว จริงๆ ทุกคนอยากจะเลิกเป็นกรรมการแล้ว แต่ผมก็ขอร้องให้ทีมงานอยู่ช่วยกันก่อน
คนเหล่านี้เขาอยากช่วยเหลือสังคมจริงๆ" นายกสมคมวีไอ กล่าวปิดท้าย


http://bit.ly/Mgzydc
โพสต์โพสต์