โค้ด: เลือกทั้งหมด
เหตุการณ์ไฟไหม้โรงกลั่นครั้งที่สองในรอบ 18 เดือนของบริษัทแห่งหนึ่ง ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในแบบรายงาน 56-1 ที่บริษัทจดทะเบียนทุกบริษัทที่ต้องนำส่งสำนักงาน ก.ล.ต. บริษัทดังกล่าวระบุถึงปัจจัยเสี่ยงข้อสามเรื่องความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ ครอบคลุมความเสี่ยงสถานที่ตั้งโรงกลั่น สิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย พร้อมมาตรการป้องกัน แผนบริหารภาวะวิกฤติ แผนฉุกเฉิน ตลอดจนแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีขนาดใหญ่นั้น บริษัทได้ระบุถึงปัจจัยเสี่ยงที่คล้ายกันได้แก่ ข้อหนึ่ง นโยบายภาครัฐ การสนับสนุนและการเปลี่ยนแปลง ทั้งในและต่างประเทศ ข้อสอง ด้านการเงิน ดอกเบี้ยที่สอดคล้องกับต้นทุน ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ข้อสาม การปฏิบัติงาน สถานที่ตั้ง ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม ชีวอนามัย ข้อสี่ แหล่งวัตถุดิบ ราคา และการพึ่งพา ข้อห้า บุคลากรและการพัฒนา ข้อหก ความสำเร็จของโครงการ ปริมาณสำรองเพิ่มเติม และโครงการใหม่ๆ จะเห็นว่าบริษัทได้ตระหนักและเปิดเผยให้นักลงทุนทราบถึงความเสี่ยงและมีมาตรการรองรับหากมีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้น
กลุ่มธนาคารมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ ข้อหนึ่ง ความเสี่ยงด้านเครดิตของคู่สัญญาหรือผู้กู้ยืม การกระจุกตัวของสินเชื่อที่อาจนำไปสู่ปัญหาหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ข้อสอง ความเสี่ยงด้านการตลาด การเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน ตราสารอนุพันธ์ด้านเครดิต ข้อสาม ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องตามภาระผูกพัน ข้อสี่ ความเสี่ยงด้านปฏิบัติการ เกิดจากความผิดพลาดหรือไม่เพียงพอของกระบวนการทำงาน พนักงาน ระบบงาน หรือระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ข้อห้า ความเสี่ยงด้านกลยุทธ์ แผนดำเนินงาน และการนำไปปฏิบัติไม่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้องกับสภาวะภายในและภายนอก ข้อหก ความเสี่ยงจากการด้อยคุณภาพของสินเชื่อและหลักประกัน ข้อเจ็ด ความเสี่ยงด้านนโยบาย กฎหมาย ระเบียบข้อบังคับ ข้อแปด ความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของสภาวะเศรษฐกิจ ทั้งหมดคือปัจจัยเสี่ยงของธุรกิจธนาคารที่มีไม่น้อยเช่นกัน
กลุ่มผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ มีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญได้แก่ ข้อหนึ่ง ความเสี่ยงทางด้านกฎหมาย ข้อบังคับ และนโยบายของภาครัฐ รวมถึงองค์กรที่ทำหน้าที่กำกับดูแล สัญญาที่กำลังจะหมดลง การถูกตีความเป็น “คนต่างด้าว” ข้อสอง ความเสี่ยงสถานการณ์การตลาด การแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้า ข้อสาม ความเสี่ยงด้านการระบบปฏิบัติการ อุปกรณ์ ระบบการทำงาน ระบบคอมพิวเตอร์ โครงข่าย ข้อสี่ ความเสี่ยงด้านการเงิน ความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน ดอกเบี้ย การเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการ จะเห็นว่าความเสี่ยงแต่ละข้อนั้นมีความสำคัญและมีผลอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินธุรกิจทั้งสิ้น
ที่กล่าวมาคือปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของสามกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าตลาดสูงสุดในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งได้เปิดเผยอยู่ในแบบรายงาน 56-1 ปีล่าสุด โดยแต่ละบริษัทได้นำเสนอวิธีจัดการความเสี่ยงไว้ด้วยเช่นกัน สำหรับโครงสร้างของบางบริษัทนั้น นอกเหนือจากการมีคณะกรรมการตรวจสอบ คณะกรรมการสรรหาและกำหนดค่าตอบแทน ยังมีคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ที่ทำหน้าที่ช่วยตรวจสอบมาตรการจัดการความเสี่ยงให้รัดกุมยิ่งขึ้นด้วย ส่วนกิจการขนาดกลางและเล็กคงมีเพียงคณะกรรมการตรวจสอบเท่านั้น
ปัจจัยเสี่ยงแบ่งเป็นสองชนิดคือ ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้ ปัจจัยที่ควบคุมได้นั้นส่วนมากมักจะเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน ดังนั้นกลยุทธ์ นโยบาย แนวทางและวิธีปฏิบัติจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ส่วนปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้นั้น คือการพิสูจน์ความสามารถของผู้บริหารที่ต้องจัดการกับเหตุการณ์ทั้งก่อนและหลังว่าทำได้ดีมากน้อยเพียงใด ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้บางชนิดแม้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อยแต่อาจจะมีผลกระทบที่รุนแรง เช่นปรากฏการณ์น้ำท่วมใหญ่ของประเทศ กิจการที่ยอดเยี่ยมนั้น ควรจะมีโครงสร้างของธุรกิจที่มีการกระจายความเสี่ยง ลดการกระจุกตัวหรือลดการพึ่งพาสิ่งหนึ่งสิ่งใด เพื่อรองรับกับสิ่งที่ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้น
“ความเสี่ยงคือการที่เราตัดสินใจทำอะไรลงไปโดยที่เราไม่มีความรู้ ความเข้าใจในสิ่งนั้น” วอร์เรน บัพเฟตต์ นักลงทุนชั้นแนวหน้าพูดถึงความเสี่ยงเมื่อถูกถาม ส่วนกฎการลงทุนคลาสสิคสองข้อที่กล่าวว่า ข้อหนึ่ง อย่าขาดทุน และข้อสองคือ ให้กลับไปดูข้อหนึ่ง หมายถึง การลงทุนในสิ่งที่มีความเสี่ยงน้อยที่สุดเพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุนนั่นเอง การจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องตัดสินใจลงทุนอยู่ในขอบเขตของความรู้ของตนเอง (Circle of Competence) ดังคำเปรียบเปรยที่ว่า “การที่รู้คือไม่เสี่ยง การที่ไม่รู้คือเสี่ยง” กล่าวโดยสรุปคือ Value Investor ที่ดีต้องศึกษาธุรกิจให้เข้าใจอย่างดีรวมถึงความเสี่ยงและมาตรการรองรับก่อนตัดสินใจลงทุน
ในภาวะตลาดหุ้นที่ปรับตัวขึ้นอย่างในปัจจุบันและยังมีความกังวลของปัญหาทั้งภายในและต่างประเทศ หลายท่านอาจไม่มั่นใจแม้จะมีเงินสดพร้อมตัดสินใจเข้าลงทุน ทางเลือกแรกคือถือเงินสดต่อไป หรือสอง พิจารณาลงทุนในกิจการที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน เข้าใจง่าย มีรายได้และผลประกอบการณ์แน่นอน เงินปันผลสม่ำเสมอและมีแนวโน้มดีขึ้น เช่น กิจการสาธารณูปโภค หรือกิจการบริการต่างๆ การลงทุนดังกล่าวคือกลยุทธ์ที่มี “ความเสี่ยงต่ำ” ที่อาจให้ผลตอบแทนชนะอัตราเงินเฟ้อได้ การเลือกลงทุนในกิจการที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจ แม้มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงกว่าแต่ก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเช่นกัน คำพูดที่เฮีย “คลายเครียด” นักลงทุนแถวหน้าของเมืองไทยเคยกล่าวไว้ว่า “อย่าโลภเกินความรู้” ยังเป็นสิ่งเตือนใจนักลงทุนทุกคนได้ดีเสมอ