CANSLIM
คำว่า CANSLIM ที่ผมจะพูดถึงต่อไปนี้ไม่ใช่ยาหรืออาหารเสริมลดความอ้วนแม้ว่าจะออกเสียงเหมือนกับคำว่า Can Slim หรือแปลแบบมั่ว ๆ ว่าสามารถทำให้หุ่นเพรียวผอมบางอย่างนางแบบ แต่คำ ๆ นี้เป็นเทคนิคการลงทุนที่ William O Neil แนะนำให้ใช้ในการเลือกหุ้นลงทุน หลักการทั้งหมดถูกเขียนไว้ในหนังสือขายดีระดับชาติชื่อ How to Make Money in Stocks
วิลเลียม โอนีล เองอาจจะไม่ใช่นักลงทุนโดยอาชีพ หรือถ้าเขาจะลงทุนเองเราก็คงไม่รู้ แต่เขาอยู่ในวงการหุ้นมานาน เป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้งบริษัทที่ปรึกษาและทำวิจัยขายสถาบันนักลงทุนใหญ่ ๆ กว่า 600 แห่ง และยังเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวันเกี่ยวกับการลงทุนชื่อ Investor s Business Daily (IBD) ซึ่งว่ากันว่ากำลังดังและแข่งขันกับหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่อย่าง The Wall Street Journal
CANSLIM เป็นเทคนิคการลงทุนที่โดดเด่นโดยเฉพาะสำหรับ นักปฏิบัติ ที่เชื่อและต้องการใช้เทคนิคทุกรูปแบบเพื่อการลงทุนที่มีประสิทธิผลสูงสุด เพราะ CANSLIM รวมเอาหลักการวิเคราะห์ทางพื้นฐานกับการวิเคราะห์ทางเทคนิคเข้าด้วยกันและผูกรวมกันเข้าเป็นกฏใหญ่ ๆ 7 ข้อซึ่งแทนด้วยอักษร 7 ตัวที่ทำให้จดจำได้ง่าย
C : คือ Current Quarterly Earnings per Share เขาบอกว่าหุ้นที่จะวิ่งนั้น กำไรต่อหุ้นในไตรมาศปัจจุบันจะต้องสูงขึ้นมาก ยิ่งสูงมากเท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น เขาคิดว่าอย่างน้อยควรจะโตไม่ต่ำกว่า 25% เมื่อเทียบกับไตรมาศก่อน
A : คือ Annual Earnings Increase กำไรแต่ละปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาควรจะเพิ่มขึ้นเป็นเรื่องเป็นราวปีละอย่างน้อย 25% และนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะต้องคาดการณ์ว่าจะโตในปีหน้าอีกไม่ต่ำกว่า 25%
N : New Products, New Management, New Highs โอนีลบอกว่าหุ้นที่จะวิ่งนั้น บริษัทควรจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ออกมา หรือมีผู้บริหารชุดใหม่ที่จะมาเปลี่ยนโฉมบริษัท หรือราคาหุ้นกำลังวิ่งขึ้นไปในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ พูดง่าย ๆ จะเล่นหุ้นที่วิ่งเร็วจะต้องมีสิ่งน่าตื่นเต้นตื่นตาตื่นใจ
S : Supply and Demand โอนีลมองว่าหุ้นที่จะวิ่งระเบิดนั้นจะต้องมีอุปสงค์หรือความต้องการซื้อหุ้นมากกว่าความต้องการขาย เพราะฉะนั้น เขาจะมองที่หุ้นซึ่งมีปริมาณการซื้อขายเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติอย่างน้อย 50% นอกจากนั้นเขาชอบบริษัทที่มีการซื้อหุ้นของตนเองคืน รวมทั้งบริษัทที่เจ้าของหรือผู้บริหารเข้ามาเก็บหุ้น
L : Leader or Laggard โอนีลบอกว่าหุ้นที่จะวิ่งได้เร็วและมากจะต้องเป็นหุ้นของบริษัทผู้นำ และถ้าจะให้ดีก็ควรจะอยู่ในอุตสาหกรรมที่กำลังมาแรง เขาชอบหุ้นเหล่านี้แม้ว่าราคาหุ้นจะแพงมากหรือหุ้นเหล่านี้จะวิ่งนำตลาดมามาก ข้อมูลการวิ่งของหุ้นต่าง ๆ นั้นสามารถหาได้จากหนังสือพิมพ์รายวัน IBD ของเขา
I : Institutional Sponsorship โอนีลเห็นว่าการเล่นหุ้นเราต้องตามผู้นำ ซึ่งก็คือนักลงทุนสถาบันทั้งหลาย เพราะฉะนั้น หุ้นที่จะวิ่งได้ดีจะต้องมีสถาบันการลงทุนถือมาก ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ราคาปรับตัวเร็วแล้วยังทำให้หุ้นมีสภาพคล่องสูง
M : Market Direction โอนีลบอกว่า การลงทุนนั้นต้องดูภาวะตลาดหุ้น ดูว่าตลาดแข็งหรือตลาดอ่อน ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องดูกราฟเป็นเพื่อดูว่าตลาดอยู่บนดอยหรืออยู่ที่พื้น ต้องรู้จักการวิเคราะห์ทางเทคนิค ไม่ใช่การคาดการณ์ดัชนี แต่เพื่อให้เข้าใจว่าตลาดน่าจะไปทางไหนในปัจจุบัน
หลักการของโอนีลนั้นน่าจะมีผลงานไม่เลวนักมองจากความนิยมของนักลงทุนจำนวนมากที่อ่านหนังสือของเขาและบอกรับเป็นสมาชิกงานวิจัยและหนังสือพิมพ์ IBD อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่อ่านแต่หลักการ CANSLIM เพียงอย่างเดียวก็คงจะเป็นเรื่องยากที่จะนำมาใช้โดยไม่ได้ซื้อบริการอื่น ๆ ของเขาเพิ่ม
ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร สำหรับนักลงทุนโดยทั่วไป หลักการของโอนีลนั้นน่าจะช่วยให้การตัดสินใจลงทุนดีขึ้น สำหรับนักเก็งกำไรในหุ้น ผมคิดว่านี่คือหนังสือที่น่าสนใจ เพราะมันช่วยให้การเก็งกำไรมีพื้นฐานรองรับและช่วยป้องกันความเสียหายร้ายแรงได้บ้างในขณะที่โอกาสกำไรสูงลิ่วคงมีไม่น้อย
ในมุมมองของ Value Investor พันธุ์แท้นั้น แน่นอน วิธีที่เอาการวิเคราะห์ทางเทคนิคมาผสมกับการวิเคราะห์พื้นฐาน เอาการคาดการณ์ภาวะตลาดมาปนกับการมองคุณค่าในระยะยาวของธุรกิจดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ขัดกับความเชื่อพื้นฐาน คล้าย ๆ กับคนที่กินเจตอนเช้าแต่รับประทานเนื้อสัตว์ในตอนเย็น นี่น่าจะเป็นเรื่องผิดศีลของ คนกินเจ
ข้อโต้แย้งก็คือ เป็นไปได้ไหมที่เราจะเป็น Value Investor ศึกษาหาหุ้นที่มีคุณค่าแต่ใช้ความเข้าใจทางเทคนิคในการเข้าซื้อหรือขาย ดูเหมือนว่าสองสิ่งนี้ไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกัน? และถ้าเป็นจริงตามนั้น หลักการของ CANSLIM ของโอนีลก็น่าจะดีกว่าหลักการของ Value Investment เพียงอย่างเดียว
ผมเองไม่เคยศึกษาเรื่องทางเทคนิคจึงตอบไม่ได้ ผมรู้แต่เพียงว่าหลักการของ Value Investment ที่ผมศึกษาและใช้มานานนั้นเพียงพอแล้วสำหรับการลงทุนของผม การศึกษาเรื่องเทคนิคอลและนำมาใช้ปนกับการลงทุนแบบ Value Investment นั้น มีแต่จะทำให้เกิดความสับสน เพราะบ่อยครั้ง ผมรู้สึกว่าสัญญาณของสองวิธีนี้ขัดแย้งกัน ตัวอย่างที่เด่นชัดก็เช่น Value Investment บอกว่า ยิ่งซื้อหุ้นได้ในราคาถูกยิ่งดี แต่ทางเทคนิคแล้วไม่ใช่ บ่อยครั้งกลับบอกว่าต้องซื้อตอนแพงและราคาหุ้นวิ่งขึ้นไปมาก
ข้อสรุปของผมก็คือ ไม่มีข้อสรุป CANSLIM ก็คือเทคนิคหรือกลยุทธ์การลงทุนอีกแบบหนึ่งที่ ขาย ได้ดีมาก แต่เอาไปใช้แล้วเป็นอย่างไร ผมไม่รู้