เตรียมรับปี 2020 ด้วยนวัตกรรม/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

เตรียมรับปี 2020 ด้วยนวัตกรรม/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ปีเก่าที่กำลังจะผ่านพ้นไป เป็นอีกปีหนึ่งที่ทุกคนยอมรับว่าท้าทาย และเหนื่อยมาก แม้จะไม่สาหัสเหมือนช่วงวิกฤตการณ์ทางการเงินปี พ.ศ. 2540 แต่ก็มีความหนักใจจากความผันผวนและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตลอด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของนโยบายและพฤติกรรมของผู้นำประเทศมหาอำนาจในโลก และจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี

เมื่อพ้นจากวิกฤติ เราจะมีความหวังว่า ข้างหน้าจะดีกว่าเดิม เพราะคงไม่มีอะไรแย่ไปกว่าภาวะวิกฤติอีกแล้ว แต่สถานการณ์ปัจจุบันไม่เหมือนกันค่ะ เราไม่รู้ว่าข้างหน้ามีอะไร เป็นอย่างไร เสมือนเดินเข้าไปในดินแดนที่เราไม่คุ้นเคย หากเราไม่ระวังตัว เราอาจเดินสะดุด เราอาจพบอุปสรรค เราอาจจะบาดเจ็บระหว่างทาง ฯลฯ

ท่านผู้อ่านอาจจะท้วงว่า ทำไมดิฉันมองโลกในแง่ร้าย ไม่หรอกค่ะ ดิฉันมองโลกในแง่ดีเสมอ แต่เวลาเตรียมตัว เราต้องถามคำถาม “อะไรจะเกิดขึ้น ถ้า...” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “What if....” ถามไปเรื่อยๆ ใช้จินตนาการไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเกิดการเตรียมพร้อม และได้คำตอบที่พอใจ ที่รับได้

ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยี ทำให้โลกเปลี่ยนไป ซึ่งผู้ที่จะได้ประโยชน์ก็คือผู้ที่สามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงงานหรือสินค้าเดิมให้ดีขึ้น หรือนำไปคิดค้นงานหรือสินค้าใหม่ๆ ผู้ที่ไม่สามารถทำประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ ก็จะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

วันนี้เราจะยังไม่พูดถึงปัจเจกบุคคลนะคะ แต่จะพูดถึง “ประเทศ”

Bloomberg Innovation Index จัดอันดับประเทศที่มีนวัตกรรม โดยวัดจาก ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนา กิจกรรมในการจดสิทธิบัตร การเข้าเรียนระดับวิทยาลัย/มหาวิทยาลัยของเยาวชน ระดับการสำเร็จการศึกษา จำนวนผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ ระดับผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีต่อการเติบโตของการส่งออกและการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ผลิตภาพ จำนวนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่เป็น high tech เทียบกับจำนวนบริษัทจดทะเบียนในประเทศ และจำนวนมืออาชีพที่ทำงานด้านวิจัยและพัฒนา

การจัดอันดับในปี 2019 ประเทศที่ถือว่ามีนวัตกรรมมากที่สุดในโลกคือ เกาหลีใต้ ด้วยคะแนน 87.38 ตามมาติดๆคือ เยอรมนี 87.30 ฟินแลนด์ 85.57 สวิตเซอร์แลนด์ 85.49 อิสราเอล 84.78 สิงคโปร์ 84.49 สวีเดน 84.15 สหรัฐอเมริกา 83.21 ญี่ปุ่น 81.96 และฝรั่งเศส 81.67 คะแนน ส่วนไทยเราอยู่อันดับที่ 40 ด้วยคะแนน 57.77 ดีกว่าปีก่อน 5 อันดับ

และเมื่อไปดูข้อมูลการวัดความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะดูว่าแต่ละประเทศมีศักยภาพในการทำให้การส่งออกเติบโตมากเพียงใด จะพบรายชื่อประเทศที่คล้ายกับกลุ่มประเทศที่มีนวัตกรรมค่ะ คือมีการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆอยู่ตลอดเวลา และนำนวัตกรรมนั้นมาปรับปรุงสินค้าหรือบริการของตนเอง

ทีมงาน Harvard Growth Lab ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้จัดทำแผนที่ความซับซ้อนทางเศรษฐกิจ หรือ Atlas of Economic Complexity เพื่อวัดความซับซ้อนของเศรษฐกิจ โดยวัดจากความสามารถและความรู้ในแต่ละประเทศ จากความหลากหลาย ความมีเอกลักษณ์ และความซับซ้อนของสินค้าที่ส่งออก ว่า มีความซับซ้อนมากกว่าหรือน้อยกว่าระดับรายได้ โดยหากซับซ้อนมากกว่า การส่งออกก็มีโอกาสในการเติบโตมากกว่า และหมายถึงเศรษฐกิจก็จะมีโอกาสเติบโตด้วย

พูดถึงโอกาสนะคะ แต่จะทำได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆอีกมากมาย เช่น โครงสร้างประชากร นโยบายและกลยุทธ์ของรัฐในการส่งเสริม สนับสนุน หรือขัดขวางศักยภาพ ของเอกชน ฯลฯ

จากการจัดอันดับความซับซ้อนของเศรษฐกิจ ประเทศที่เศรษฐกิจมีความซับซ้อนมากที่สุด 10 อันดับแรก คือ ญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ เยอรมนี สิงคโปร์ สาธารณรัฐเชค ออสเตรีย ฟินแลนด์ สวีเดน และฮังการี ส่วนไทยเราอยู่อันดับที่ 25 ค่ะ

โดยไทยมีการกระจายตัวของการส่งออกดีขึ้น ทั้งทางด้านคู่ค้า และตะกร้าสินค้าค่ะ จากเดิมที่พึ่งพาคู่ค้าบางประเทศค่อนข้างสูง และพึ่งพาสินค้าเกษตร และสินค้าหลักไม่กี่ประเภท ปัจจุบันสินค้าที่โดดเด่นและเป็นรายได้สำคัญของเรา มีสองขั้วคือ การท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวกับการท่องเที่ยว กับขั้วอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรและอุปกรณ์ ชิ้นส่วนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องประดับ ทางด้านเกษตรก็มี ยางและผลิตภัณฑ์จากยาง ข้าวและพืชผลการเกษตร เป็นต้น

พูดถึงนวัตกรรม นิตยสารไทม์ ฉบับวันที่ 2 และ 9 ธันวาคม ได้คัดเลือก สิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดในปี 2019 จำนวน 100 อย่าง ดิฉันดูแล้วแยกแยะออกเป็น 4 กลุ่มดังนี้ 1. เกิดจากการปรับปรุงเพื่อปิดช่องว่างในการใช้สินค้า กลุ่มนี้จะมีมากที่สุดค่ะ เช่น ปกติผู้หญิงจะไม่ทาครีมกันแดดบริเวณเปลือกตา จึงคิดครีมทาเปลือกตา หรืออายแชโดว์ที่มีส่วนผสมของครีมกันแดด ปรากฏว่าขายดีมาก หรือกางเกงยีนส์ ที่วัดสัดส่วนของร่างกายแบบ 3 มิติ ทำให้สวมใส่ได้พอดี หรือเครื่องปั๊มน้ำนมที่เสียงเงียบกว่าเดิม 2. ทำของให้พกพาได้ ของที่ปกติไม่สามารถพกพาไปได้ง่ายๆ เมื่อนำการประดิษฐ์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วย ก็จะสามารถพกพาได้ง่ายขึ้น เช่น เรือคายัคพับได้ ของ ORU KAYAK 3. คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่นเครื่องบิน 9 ที่นั่ง พลังงานไฟฟ้าของ Aviation Alice อิสราเอล น้ำหมึกที่ทำจากมลภาวะที่เครื่องยนต์ดีเซลปล่อยออกมา และ 4. นวัตกรรมใหม่ๆ เช่น เครื่องอ่านออกเสียงที่นำมาติดที่ขาแว่นตา ของ OrCam MyEye 2 ซึ่งเหมาะสำหรับผู้มีปัญหาในการอ่าน ในปีหน้าจะพัฒนาให้ฉลาดยิ่งขึ้น เช่น สั่งให้อ่านเฉพาะพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ก็ได้

ในปี ค.ศ.1995 ประเทศไทยมีขนาดเศรษฐกิจอยู่ในอันดับที่ 52 พอมาถึงปี 2017 เราอยู่อันดับที่ 25 และถูกคาดการณ์ว่า มีศักยภาพในการเติบโตในทศวรรษถัดไป จนน่าจะขึ้นเป็นอันดับที่ 15 ในปี ค.ศ. 2027 โดยทาง Growth Lab ของฮาร์วาร์ด คาดว่าไทยจะเติบโตที่อัตรา 4.86% ต่อปี ดูแล้วไม่ง่ายเลย ในบริบทโลกในปัจจุบัน

ดิฉันไม่อยากให้คนไทยเรา รู้สึกสบายใจ และไม่เดือดเนื้อร้อนใจกับการที่จะพัฒนาตนเอง เสาะแสวงหาความรู้ใหม่ๆ และเตรียมทั้งความรู้ ทั้งกายและใจ รับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตที่จะมาอย่างรวดเร็วนะคะ เราต้องลงมือเปลี่ยนแปลง ลงมือทำค่ะ เพื่อให้เราไม่เสียชื่อ สามารถเติบโตไปเป็นที่ 15 ในปี 2027 ได้ตามที่เขาทำนายเอาไว้ จริงๆ

ขอให้ทุกท่านมีความสุขกับเทศกาลปีใหม่ และขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพค่ะ
โพสต์โพสต์