สันติสุขจะเกิดได้หากทุกคนต้องการสันติสุข/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

สันติสุขจะเกิดได้หากทุกคนต้องการสันติสุข/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2562 ดิฉันได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส ในคราวที่เสด็จ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพบปะผู้นำคริสตชนต่างนิกายและผู้นำหรือผู้แทนผู้นับถือศาสนาอื่นๆ พร้อมกับผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิตเก่า และนิสิตปัจจุบัน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และรับฟังปาฐกถาที่แสดงในหัวข้อ “สร้างสะพานแห่งความเข้าใจและสันติสุข”

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรันซิส ปัจจุบันมีพระชนมายุ 83 ปี มีพระนามเดิมว่า ฆอร์เฆ มาริโอ แบร์โกกลิโอ ทรงได้รับเลือกให้เป็น ประมุขแห่งพระศาสนจักรโรมันคาทอลิก พระองค์ที่ 266 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 โดยเป็นพระองค์แรกที่มาจากอเมริกาใต้ กล่าวกันว่า สมณสมัยของพระองค์โดดเด่นในการทำงานรับใช้ด้วยความนบนอบ การอุทิศตนเพื่อผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมทั้งการอุทิศตนเพื่อเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนาและการสร้างสันติภาพในทุกหนทุกแห่ง

ความอ่อนโยนและความมีพระเมตตาของพระองค์ สามารถสัมผัสได้ ตั้งแต่วินาทีที่เสด็จเข้ามายังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดิฉันถึงกับน้ำตาซึม เมื่อเยาวชนนักร้องประสานเสียงจากหลากหลายภูมิภาค ทั้งจากชนกลุ่มน้อยในภาคเหนือ น้องๆจากจังหวัดนราธิวาส และคณะนักร้องประสานเสียงนิสิตจุฬาฯ ได้ร่วมร้องเพลง “Peace Prayer” ก่อนองค์พระสันตะปาปาจะทรงปาฐกถา มีความรู้สึกที่เกิดขึ้นมาเอง ณ บัดนั้นว่า “สันติสุขจะเกิดได้เมื่อทุกคนรู้สึกร่วมกันว่าอยากมีสันติสุข”

ในขณะสมเด็จพระสันตะปาปาทรงปาฐกถานั้น ผู้ฟังจะรู้สึกได้ถึงความปรารถนาของพระองค์ ที่ทรงอยากเห็นสันติสุขในโลกใบนี้ ทรงอยากเห็นพี่น้องร่วมโลก ไม่ว่าจะเป็นชาติใด ภาษาใด ศาสนาใดๆ หรือนิกายใดๆของศาสนา ร่วมมือ ร่วมใจ รวมพลังและทำให้เกิดสันติภาพ ทั้งยังมีจิตใจเผื่อแผ่ไปยังผู้ยากไร้ ผู้อพยพ รวมถึงดูแลโลก ซึ่งเป็นบ้านของเรา ให้อยู่ในสภาพที่ดี

ดิฉันเคยเรียนในโรงเรียนคาทอลิก 6 ปี เคยคิดว่าจำนวนผู้นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกในประเทศไทยมีจำนวนมาก แต่เพิ่งมาทราบในวันนั้นว่า พี่น้องคาทอลิกในประเทศไทยมีเพียง 380,000 คน หรือประมาณ 0.5% ของประชากรเท่านั้น พร้อมกับทึ่งมากเมื่อทราบว่า หลายๆท่านที่ดิฉันนิยมชมชอบว่าเป็นผู้ที่มีจิตใจงดงาม เป็นผู้ที่ถ่อมสุภาพ เวลาอยู่ใกล้ๆแล้วรู้สึกถึงพลังของความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่นั้น เป็นคาทอลิก

ผู้เข้าร่วมงานในวันนั้นได้รับหนังสือแจก ซึ่งหนึ่งในเล่มที่แจกคือ “การศึกษาเพื่อสันติภาพในโลกที่มีศาสนาหลากหลาย จากมุมมองของชาวคริสต์” ซึ่งเป็นเอกสารที่จัดทำโดยสมณสภาเพื่อการเสวนาระหว่างศาสนา แห่งสันตะสำนัก นครวาติกัน และสภาคริสตจักรโลก นครเจนีวา ภาคภาษาไทยนำเสนอโดยสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้นำศาสนา และผู้ให้การศึกษาต่อคนรุ่นใหม่ ได้ตระหนักถึงความรับผิดชอบ และเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างสะพานแห่งสันติสุข
หนังสือนี้สงวนสิทธิ์ แต่อนุญาตให้นำไปใช้โดยไม่แสวงหากำไรได้ ดิฉันจึงขอนำบางส่วนมาแบ่งปันกับท่านผู้อ่านในที่นี้ เพื่อให้ทุกท่านตระหนักในการลงทุนลงแรงเพื่อสันติสุข โดยดิฉันจะขอย่อความของหนังสือที่สำคัญๆไว้ค่ะ

“ผู้สร้างสันติสุขย่อมเป็นสุข เพราะอาณาจักรสวรรค์เป็นของเขา” เป็นส่วนหนึ่งของการเทศน์ครั้งแรกของพระเยซูคริสตเจ้า และเราต่างก็ตระหนักว่าเป็นเรื่องจริง เพราะสันติสุขก่อให้เกิดความสงบ ร่มเย็น ที่ผ่านมาความขัดแย้งหลายอย่างดูเหมือนจะมาจากการใช้ความรุนแรงและศาสนา “ในหลายภูมิภาคของโลก ศาสนาถูกนำมาปลุกปั่นและใช้เพื่อสร้างความชอบธรรมก่อให้เกิดการใช้ความรุนแรง ก้าวร้าว และการเข่นฆ่าเพื่อนมนุษย์อย่างเลือดเย็น ทว่าแก่นแท้ของศาสนาที่แท้จริงคือ การส่งเสริมสันติสุข ศาสนาที่ถูกต้องแท้จริงจึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งแห่งปัญหา แต่ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหา”

หนังสือเล่มนี้นำเสนอ ขั้นตอนเชิงปฏิบัติสู่การสร้างสันติสุขโดยอาศัยการศึกษา 12 ข้อ คือ 1. เด็กมีสิทธิในการศึกษาที่เหมาะสมสำหรับโลกร่วมยุคสมัย 2.การศึกษาควรจะครบวงจร ทั้งมิติทางกายภาพ สติปัญญา คุณธรรม สังคม และมิติฝ่ายจิตวิญญาณ ครอบครัวมีบทบาทสำคัญอันดับแรกในการเตรียมเยาวชนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้ และระบบการศึกษาจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้มีการสนับสนุนความหลากหลายของสังคม และสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ให้เกิดได้ 3. การศึกษาของมนุษย์ต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพต่อศักดิ์ศรีของเขา ไม่มีการลงโทษที่เป็นการล่วงเกินทางกาย ทางเพศ หรือทางอารมณ์ 4. การเรียนแบบอุปมาอุปมัย คำนึงถึงบริบทของผู้ฟัง เป็นวิธีการที่พระเยซูคริสตเจ้าทรงเป็นแบบฉบับ บ่อยครั้งที่ทรงเป็นผู้ตั้งคำถาม แทนที่จะให้คำตอบแต่อย่างเดียว การศึกษาเพื่อสันติสุขควรใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาส่งเสริมด้วย 5. เรียนรู้ตลอดชีวิตและเรียนรู้จากทุกคน การศึกษาจำเป็นต้องเป็นกระบวนการที่ทุกคนมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้เรียนรู้กันและกัน 6. สันติสุขเป็นอะไรที่มากว่าการไม่มีสงคราม หมายถึงทุกชีวิตมีความเจริญก้าวหน้าและมีความสัมพันธ์ที่เหมาะสมต่อกัน การศึกษาควรรวมประเด็นของอำนาจด้วย เพราะความขัดแย้งบ่อยครั้งเกิดจากการใช้อำนาจไปในทางที่ผิด 7. เรียนรู้ ปกป้อง และยอมรับผู้อื่น การเรียนรู้เกี่ยวกับความเชื่อและประสบการณ์ของผู้อื่นอย่างสม่ำเสมอ ต้องเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา และให้เขามีส่วนร่วมในการส่งเสริมกระบวนการศึกษาได้ 8. การใช้สื่อในการศึกษาสันติสุข โดยมุ่งเน้นการพัฒนาความชำนาญในการวิเคราะห์ และต่อต้านข่าวที่เป็นอคติ บิดเบือน ปราศจากหลักฐาน รวมถึงเรื่องราวที่สร้างความแตกแยก 9. เรียนรู้จาก และเรียนรู้พร้อมกับพระคัมภีร์ ส่งเสริมให้คิดเชิงบวกและแบบองค์รวมในการเข้าใจแก่นแท้ในพระคัมภีร์ 10. ชีวิตฝ่ายจิตเป็นศิลปะแห่งการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงตนเองและแผ่ไปถึงการคืนดีของมนุษย์ทุกคนและการเยียวยาโลก 11. เพื่อให้การศึกษาเพื่อสันติสุขมีประสิทธิภาพ ต้องมุ่งไปยังการป้องกันมิให้เกิดความรุนแรง และส่งเสริมการคืนดีกัน 12. ต้องมีการผนึกมิติของการพัฒนาและมิติของระบบนิเวศน์ที่มุ่งขจัดความยากจนและความอยุติธรรม เชื่อมโยงความคิดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับมนุษย์และธรรมชาติ

การได้เห็นผู้นำศาสนาต่างๆมาชุมนุมกัน ทักทายกัน ยิ้มแย้มแจ่มใส ร่วมทำงานกันด้วยความสามัคคี เป็นภาพที่ดูแล้วอิ่มเอิบใจ และดิฉันมีความเชื่อว่า สันติสุขที่แท้จริงเกิดขึ้นได้ หากทุกๆคนในโลกนี้ ตั้งใจให้เกิด
โพสต์โพสต์