การเจรจาการค้าสหรัฐ-จีนถึงทางตันแล้ว/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

การเจรจาการค้าสหรัฐ-จีนถึงทางตันแล้ว/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

ผมเชื่อว่าการเจรจาการค้าสหรัฐกับจีนนั้นถึงทางตัน และจะไม่สามารถคืบหน้าไปได้อีกแล้ว ซึ่งจะเป็นแนวคิดที่แย้งกับเสียงส่วนใหญ่ที่มองว่าทั้ง 2 ฝ่ายยังเปิดช่องทางให้มีการเจรจาอยู่ และประธานาธิบดีทรัมป์ก็ยังให้ข่าวว่าจะมีโอกาสพบปะกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่การประชุมผู้นำกลุ่มจี20 ที่นครโอซากา ในปลายเดือน มิ.ย.

แม้ว่าสหรัฐจะได้ประกาศขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์ที่เคยเก็บภาษีศุลกากรที่ 10% เพิ่มมาเป็น 25% ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค.เป็นต้นไป แต่นักวิเคราะห์บางคนก็ยังมองว่าเนื่องจากสินค้าที่ลงเรือจากประเทศจีนมาตั้งแต่วันดังกล่าวจะยังต้องใช้เวลาเดินทาง (ทางเรือ) อีกนานเป็น 2-3 สัปดาห์สินค้าจึงจะมาถึงสหรัฐ ดังนั้นจึงจะยังมีโอกาสที่ประเทศทั้ง 2 สามารถเจรจาหาทางออกเพื่อหลีกเลี่ยงการทำสงครามการค้ากันได้ ทั้งนี้ทางจีนเองก็ประกาศขึ้นภาษีสินค้าที่นำเข้าจากสหรัฐมูลค่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์จาก 10% เป็น 20-25% แต่มาตรการดังกล่าวก็จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.เป็นต้นไป

ผมเชื่อว่าช่วงเวลา 2-3 สัปดาห์ที่เหลืออยู่นั้น จะไม่เพียงพอที่ผู้เจรจาของสหรัฐและจีนจะสามารถประนีประนอมและหาข้อตกลงร่วมกันได้ เพราะท่าทีของสหรัฐกับของจีนนั้นมีช่องว่างที่ห่างกันเกินไป และที่สำคัญคือในภาพใหญ่นั้นผมเชื่อว่าความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) ระหว่างสหรัฐกับจีนนั้นถูกบั่นทอนจนเกือบหมดแล้ว ทำให้สหรัฐคิดว่าจีนกลับคำพูด ในขณะที่จีนคงเชื่อว่าสหรัฐต้องการ “จะสกัดดาวรุ่ง” หรือยับยั้งพัฒนาการของจีนไปสู่การเป็นประเทศมหาอำนาจที่จะสามารถเทียบเคียงกับสหรัฐได้

ช่องว่างระหว่างท่าทีของสหรัฐกับจีนนั้น ผมประเมินดังนี้

1.ท่าทีของสหรัฐ : จีนจะต้องกลับมาให้ความเห็นชอบส่วนของร่างข้อตกลง 150 หน้า ที่จีนเคยยอมรับ ซึ่งมีการกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรให้จีนต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มการลงโทษการลักขโมยทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อยกเลิกการบังคับการถ่ายโอนเทคโนโลยีให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นจริง เพื่อเปิดตลาดให้กับธุรกิจการเงินของสหรัฐ เป็นต้น นอกจากนั้นก็ยังมีเรื่องที่ยังเจรจาไม่เสร็จ แต่จีนจะต้องยินยอมด้วย เช่นการให้บริษัทสหรัฐตั้งฐานข้อมูลของตนเองได้ในการให้บริการ (Cloud Computing) และจีนจะต้องยอมรับกลไกควบคุมการบังคับใช้ข้อตกลงของสหรัฐ กล่าวคือจีนจะต้องยอมให้สหรัฐลงโทษจีนโดยการเพิ่มการเก็บภาษีศุลกากร หากไม่ปฏิบัติตามสัญญา โดยจีนจะต้องไม่ตอบโต้สหรัฐ นอกจากนั้นจีนก็จะต้องเร่งซื้อ (Front-Load) สินค้าเกษตรของสหรัฐในปี 2020 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเร่งให้ลดการขาดดุลการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน ทั้งหมดนี้จีนจะต้องยอมรับให้ระบุเอาไว้อย่างละเอียดในข้อตกลง (ที่จะเรียกว่าบันทึกช่วยจำเพื่อไม่ให้ต้องนำไปให้รัฐสภาเห็นชอบ) โดยที่สหรัฐจะยังคงเก็บภาษีศุลกากรเอาไว้ที่ 10% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน 2 แสนล้านดอลลาร์ และเก็บภาษีศุลกากรเอาไว้ที่ 25% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีนอีกกลุ่มหนึ่งมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่สหรัฐจะลดภาษีดังกล่าวได้ในอนาคตหากสหรัฐเห็นว่าจีนได้ทำตามข้อตกลงอย่างครบถ้วน

2.ท่าทีของจีน : ได้มีการรายงานอย่างแพร่หลายว่าจีนปรับเปลี่ยนท่าทีจากที่เดิมยอมให้ระบุเอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะแก้กฎหมายต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น มาเป็นการออกพระราชกฤษฎีกาและ/หรือคำสั่ง ครม. นอกจากนั้นจีนยังไม่ต้องการให้ข้อตกลงทั้งฉบับถูกนำออกมาเปิดเผย ต้องการให้เพียงประกาศให้ทราบถึงข้อสรุปที่ได้ตกลงกัน ซึ่งประเด็นนี้ผมตั้งคำถามในใจว่าใครในประเทศจีนจะมีอำนาจสั่งให้รองนายกรัฐมนตรีหลิว เหอ เปลี่ยนท่าทีได้อย่างกะทันหัน ซึ่งนาย Fred Kempe ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Think Tank ที่ชื่อว่า Atlantic Council เขียนบทวิเคราะห์ลงใน CNBC (11 พ.ค.2019) ว่า “It’s been reliably reported that President Xi Jinping personally intervened last week to pull back his negotiators” แปลว่าน่าจะเป็นการตัดสินใจของประธานาธิบดีของจีนที่ยับยั้งการเจรจาที่จะนำไปสู่ข้อตกลงที่ให้ผลประโยชน์กับสหรัฐแต่ฝ่ายเดียว

เมื่อมาถึงตรงนี้แล้ว ผมจึงไม่เชื่อว่าการจะเจรจากันต่อไปในอีก 2-3 สัปดาห์ หรือ 2-3 เดือนข้างหน้าจะทำให้จีนกับสหรัฐหาจุดร่วมและประนีประนอมกันได้ และการปรับขึ้นภาษีศุลกากรที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็คงจะต้องเป็นเช่นนั้นต่อไปได้อีกนาน ที่ยังจะเป็นข้อสงสัยก็คือประธานาธิบดีทรัมป์จะทำตามคำขู่คือสั่งการให้เพิ่มการเก็บภาษีศุลกากรกับสินค้าที่นำเข้าจากจีนที่เหลืออยู่อีกประมาณ 3.2 แสนล้านดอลลาร์หรือไม่ เพราะประธานาธิบดีทรัมป์ชอบการเก็บภาษีศุลกากร เพราะนึกว่าทำให้รัฐบาลมีรายได้จากภาษีที่เก็บจากผู้ผลิตจีน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจผิดอย่างมาก เพราะภาระภาษีนั้นจะเกิดกับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยใครจะรับภาระมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นของอุปสงค์เมื่อเทียบกับความยืดหยุ่นของอุปทาน (ขอให้กลับไปเปิดตำราเศรษฐศาสตร์ 101 ดูได้)

ในส่วนของจีนนั้น ผมเชื่อว่ากลายเป็น “หมูไม่กลัวน้ำร้อน” ไปแล้ว กล่าวคือหากสหรัฐจะเก็บภาษีเพิ่มขึ้นอีก จีนก็จะต้องทนรับผลกระทบให้จงได้ เพราะแม้จะเป็นผลกระทบที่รุนแรงเนื่องจากการส่งออกไปสหรัฐนั้นคิดเป็นสัดส่วนถึง 4% ของจีดีพีจีน แต่หากอดทนได้ จีนก็จะสามารถหลุดพ้นจากการเป็นเบี้ยล่างของสหรัฐ (เพราะประธานาธิบดีทรัมป์จะไม่มีเครื่องมือต่อรองเหลืออีก) ทำให้เป็นการยอมรับความลำบากในระยะสั้นเพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจและศักยภาพของจีนได้โดยอิสระในระยะยาว รวมทั้งการเป็นคู่ปรปักษ์ของสหรัฐ (Strategic Rival) ในการเป็นประเทศมหาอำนาจขั้วที่สองของโลกครับ
yoko
Verified User
โพสต์: 4337
ผู้ติดตาม: 0

Re: การเจรจาการค้าสหรัฐ-จีนถึงทางตันแล้ว/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 2

โพสต์

หากถึงทางตันจริง จะมีโอกาสเกิดสงครามไหมครับ
โพสต์โพสต์