สหราชอาณาจักรออกจากอียู/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

สหราชอาณาจักรออกจากอียู/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

23 มิถุนายน 2559 ประชากรของสหราชอาณาจักรลงประชามติให้ สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากสมาชิกภาพของ อียู (European Union) ที่เข้าร่วมมาตั้งแต่ปี 2516 เหตุเริ่มต้นมาจากความไม่พอใจในนโยบายหลายๆอย่าง ตั้งแต่การต้องให้ความช่วยเหลือทางการเงินกับประเทศในกลุ่มที่อ่อนแอ แต่ฟางเส้นสุดท้ายมาอยู่ที่ อียู มีนโยบายรับผู้อพยพ จากประเทศในตะวันออกกลาง อัฟริกา และยุโรปตะวันออก ที่หนีร้อนจากความไม่สงบ หรือสงคราม หรือความอดอยากในประเทศของตัวเอง มาพึ่งประเทศในกลุ่มอียู และอียู แจกโควต้าให้ประเทศในกลุ่มที่มีการพัฒนามากกว่า เป็นผู้รับผู้อพยพเหล่านี้ในแต่ละปี

ในวิชาสังคมวิทยา มีข้อสังเกตหนึ่งว่า สังคมเกาะ เป็นสังคมปิด ผู้คนรู้จักกันเป็นอย่างดี หากมีใครนำเชื้อโรคอะไรเข้ามาบนเกาะ โรคนั้นมักจะแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และกำจัดให้หายไปยาก ดังนั้นชาวเกาะมักจะช่วยกันดูแลสอดส่องและมีความระแวดระวังคนแปลกหน้าอยู่เสมอ หากท่านลองนึกถึง ประเทศเกาะ เช่น ญี่ปุ่น หรือ สหราชอาณาจักร ท่านจะเข้าใจทฤษฎีนี้ยิ่งขึ้นค่ะ

ดังนั้น การรับผู้อพยพที่ต่างเชื้อชาติ ต่างศาสนา และต่างวัฒนธรรม จึงไม่ใช่สิ่งที่คนอังกฤษอยากทำ พอมีนักการเมืองมาจุดกระแส ประจวบกับมีปัญหาเรื่องอาชญากรรมเพิ่มขึ้น และผู้ก่ออาชญากรรมส่วนหนึ่งเป็นผู้อพยพ หรือเชื้อสายของผู้อพยพ ความรังเกียจเดียดฉันท์ผู้อพยพจึงเพิ่มมากขึ้น

เมื่ออดีตนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ประกาศว่า หากได้รับเลือกตั้ง จะทำประชามติ ว่าชาวสหราชอาณาจักร ต้องการอยู่ในอียูต่อ หรือต้องการออกจากอียู

อย่างไรก็ดี ดิฉันเชื่อว่า นายกคาเมรอนเอง คงคิดว่าเสียงส่วนใหญ่จะลงประชามติให้อยู่ในอียูต่อ และจะทำให้ผู้เรียกร้องว่าจะออกจากอียู หายค้างคาใจ

แต่ อังกฤษก็คืออังกฤษ คนอังกฤษมีความภูมิใจในความเป็นชาติมหาอำนาจ ชาติที่เคยมีอาณานิคมทั่วโลก ชาติที่เป็นแหล่งกำเนิด ประดิษฐกรรมใหม่ๆ ชาติที่เป็นต้นแบบความคิด การจัดการ และความเป็นผู้ดี ชาติที่มีระบบการศึกษาเก่าแก่ที่ถือว่า “ขลัง” ใครอยากเป็นผู้นำประเทศต่างๆในโลกนี้ ต้องไปเรียนที่อังกฤษ

เมื่อกระแสความภูมิใจในชาติ และชาตินิยม ถูกปลุกขึ้นมา ชาวบ้านต่างๆซึ่งมีความอนุรักษนิยม ก็คล้อยตามว่า ประเทศเรายิ่งใหญ่ ไม่เห็นจะต้องไปทำตามข้อตกลงในการจัดสรรโควต้ารับผู้อพยพ จากชาติเล็กชาติน้อยมา ตามที่อียูบอก ดังนั้น ผลของการลงประชามติวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ว่า กลุ่มประชาชนที่ต้องการออกจากกลุ่มอียู ชนะไปด้วยสัดส่วน 51.9% ต่อ 48.1% จึงหักปากกาเซียนต่างๆที่ทำนายเอาไว้ หลังจากนั้น จึงใช้คำว่า “เบร็ทสิท” (BREXIT)ในการกล่าวถึงการออกจากอียูของสหราชอาณาจักร

สหราชอาณาจักร ที่มีประชากรรวม 66 ล้านคน ประกอบด้วยสามประเทศกับอีกหนึ่งอาณาเขต คือ อังกฤษ (55.62 ล้าน) สก็อตแลนด์ (5.425 ล้าน) และเวลส์ (3.125 ล้าน) กับไอร์แลนด์เหนือ (1.81 ล้าน) ภายใต้ชื่อเต็มว่า The United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland เวลาคนไทยเราเรียกอย่างไม่เป็นทางการ เรามักจะรวมเรียกว่า “อังกฤษ” (ดิฉันก็อาจจะใช้อังกฤษ ในความหมายของสหราชอาณาจักรบ้าง เพื่อความคล่องตัว)

ในการโหวตนั้น สองประเทศที่โหวตให้ออกคือ อังกฤษและเวลส์ ส่วนสก็อตแลนด์และไอร์แลนด์เหนือ โหวตว่าจะอยู่ในอียูต่อไป ซึ่งพลอยทำให้คนสก็อต อยากจะลงประชามติแยกตัวออกจากอังกฤษอีกด้วย

นายกรัฐมนตรีคาเมรอน ลาออก จากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม เพราะถือว่าตนเองสนับสนุนให้คงอยู่ในอียูต่อไป แต่เมื่อประชาชนตัดสินใจที่จะออก จึงไม่สามารถเป็นผู้นำพารัฐบาลดำเนินการที่ขัดกับความเชื่อของตนได้

เมื่อคาเมรอนลาออกไป พรรคอนุรักษนิยม ก็แต่งตั้ง เทเรซา เมย์เป็นหัวหน้าพรรค และเป็นนายกรัฐมนตรีแทน นายกเมย์ ได้ยื่นแจ้งอียู เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2560 ว่าจะออกจากอียู ตามประชามติที่ได้รับโดยมีกำหนดออกในสองปี คือวันที่ 29 มีนาคม 2562

ในช่วงสองปีเศษที่ผ่านมา สหราชอาณาจักร ดำเนินนโยบายอยู่ท่ามกลางความไม่แน่นอนของอนาคต ธุรกิจหลายแห่ง ย้ายสำนักงานออกไปในประเทศอียู โรงงานบางแห่งปิดและย้ายไปอยู่ประเทศอื่น การจ้างงานคนจากประเทศในอียูก็ลดลง หันมาจ้างงานคนของตนเองมากขึ้น แต่คนอังกฤษ ต้องซื้อข้าวของแพงขึ้น โดยเฉพาะของที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะค่าเงินปอนด์อ่อนลงไปเกือบ 13-14% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ และราคาบ้านเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 6 ปี ฯลฯ

ในช่วงที่ผ่านมา สิ่งที่นายกเมย์ทำคือ การเจรจากับอียู ว่าเมื่อสหราชอาณาจักรออกจากอียูไปแล้ว การค้า การลงทุน การเคลื่อนย้ายประชากร ฯลฯ ระหว่างสหราชอาณาจักรกับอียู จะเป็นอย่างไรบ้าง และต้องนำข้อตกลงเหล่านี้ มาเสนอให้รัฐสภาของอังกฤษอนุมัติ ซึ่งรวบรวมมาแล้ว เอกสารหนาถึง 585 หน้าเลยทีเดียว

ข้อตกลงนี้ถูกนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษไปแล้วสองครั้ง และถูกคว่ำตกไปทั้งสองครั้ง และในวันถัดมา สภามีมติให้ นายกเทเรซา เมย์ ยื่นขอขยายเวลากับอียู ออกไปจาก 29 มีนาคม ให้ยาวที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งนายกเมย์ได้ยื่นไปเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ขอขยายถึง 30 มิถุนายน นี้ โดยทางอียูเรียกประชุมผู้นำสมาชิกทันทีในวันที่ 21 เพื่อพิจารณา และผลการพิจารณาออกมาว่า หากสภาผู้แทนราษฎรของสหราชอาณาจักรผ่านร่างข้อตกลงภายในสัปดาห์หน้า (25-29 มีนาคม) สหราชอาณาจักรสามารถขยายเวลาได้ถึง 22 พฤษภาคม (เนื่องจากสภาอียูมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 พฤษภาคม การขยายเวลาเกินกว่าวาระของสภาชุดนี้ อาจมีผลให้คำอนุมัติเป็นโมฆะ)

แต่หากข้อตกลงไม่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนของสหราชอาณาจักร ทางสภาอียูก็ขยายเวลาพิจารณาข้อตกลงให้ได้เพียง 12 เมษายน 2562 นี้เท่านั้น โดยคาดหมายว่า สหราชอาณาจักรจะแสดงความจำนงว่าจะเลือกเดินทางไหน เพื่อสภาอียูจะพิจารณาก่อนหมดวาระลง

ต้องบอกว่าอียู เปิดทางเลือกให้อังกฤษเปลี่ยนใจไม่ออกได้ตลอดเวลา เพราะแน่นอนว่า ไม่อยากให้สมาชิกประเทศใดหลุดออกไป แต่การเปิดให้ลงประชามติใหม่คงเป็นไปได้ยาก

ตอนนี้เหลือทางเลือกเพียง สองทาง หากสภาอนุมัติ ก็ขยายเวลาถึง 22 พฤษภาคม แต่หากสภาผู้แทนฯไม่อนุมัติ สหราชอาณาจักรอาจขอทำประชามติใหม่ หรืออาจต้องออกจากอียูแบบไม่มีข้อตกลง หมายถึงประชาชนจะเข้าออกประเทศก็จะต้องขอวีซ่า สินค้าส่งออกนำเข้าก็ต้องเสียอากรนำเข้า และหากเดินทางท่องเที่ยวในยุโรป ก็ต้องทำประกันภัยเพิ่ม จากปัจจุบันมีข้อตกลงที่คุ้มครองการดูแลสุขภาพระหว่างเดินทางในกลุ่มประเทศต่างๆ ฯลฯ เรียกว่าไม่มีความสะดวก

แม้แต่ โดนัลด์ ทรัสค์ ประธานสภาอียู เองก็ยังปรารภว่า ตอนนี้มีความเป็นไปได้ว่าสหราชอาณาจักรจะออกจากอียูโดยไม่มีข้อตกลง แต่ก็ยังหวังว่าจะพยายามอย่างดีที่สุดที่จะให้มีข้อตกลงค่ะ

ว่างจากการติดตามผลการเลือกตั้งและการฟอร์มรัฐบาลของไทย ก็ติดตามดูเบร็ทสิทได้นะคะ
โพสต์โพสต์