มองต่างมุมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

มองต่างมุมเกี่ยวกับเศรษฐกิจ (1)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

วันนี้คนส่วนใหญ่คงจะพูดกันถึงผลการเลือกตั้งเป็นหลัก ซึ่งในขณะที่เขียนบทความนี้ ผมย่อมจะไม่รู้ว่าผลจะออกมาอย่างใด แต่รู้ว่าประชาชนส่วนใหญ่บอกว่ารู้สึกว่าเศรษฐกิจไม่ดี แม้รัฐบาลจะไล่ให้ไปบวกเลขใหม่ให้ดี ซึ่งน่าจะหมายความว่า เศรษฐกิจภายใต้รัฐบาลปัจจุบันนั้นก็ได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นจีดีพีโดยรวมหรือการบริโภคการลงทุนและการส่งออก เป็นต้น แต่ก็จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนรัฐบาลก็ไม่ได้สามารถนำเอาประเด็นดังกล่าวออกมาเป็นเรื่องหลักในการหาเสียง เพราะน่าจะขัดแย้งกับความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่ว่าเศรษฐกิจค่อนข้างจะซบเซามากกว่าคึกคัก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?

ผมขอนำเสนอข้อมูลในอีกด้านหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าจะสะท้อนความรู้สึกของประชาชนและได้ส่งผลให้ความนิยมของกลุ่มพรรคการเมืองที่สนับสนุนนายกรัฐมนตรีให้เป็นนายกต่อไปอีก ไม่ได้รับการตอบสนองจากประชาชนมากเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่เป็นหัวหน้ารัฐบาลที่ไม่มีฝ่ายค้าน และมีอำนาจเต็มในการบริหารประเทศมานานถึง 5 ปี โดยดูจากตัวเลขบางตัวที่ผมขอนำมาเสนอดังปรากฏในตารางข้างล่าง

รูปภาพ

ผมเริ่มจากช่วงการเข้ามาบริหารประเทศของรัฐบาลยิ่งลักษณ์เมื่อไตรมาส 3 ของปี 2011 ซึ่งจะเห็นได้ว่าก็ไม่ได้เห็นราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นแต่อย่างใดเปลี่ยนแปลงเลย (225.8 กับ 225.7) แต่ราคาลดลงใน 2Q 2014 ที่มีการเดินขบวนปิดกรุงเทพ (“Bangkok Shutdown” กระทบกรุงเทพเป็นหลัก ไม่ได้ขยายไปในพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ หรือพื้นที่เกษตรแต่อย่างใด) แต่ก็ได้ประสบความสำเร็จในการทำให้โครงการรับซื้อข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยุติลงอย่างฉับพลัน เห็นได้จากดัชนีผลผลิตทางเกษตร (บรรทัด 2) ลดลงจาก 160.9 ใน 1Q 2014 มาเหลือเพียง 78.2 ใน 2Q 2014 ซึ่งน่าจะกระทบกับความเป็นอยู่ของเกษตรกรและผู้ที่ทำธุรกิจกับเกษตรกรอย่างมาก แม้ว่าพวกเขาจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับ Bangkok Shutdown และ การเข้ามายึดอำนาจแต่อย่างใด

หากพิจารณาภาคเกษตรในยุครัฐบาลประยุทธ์ คือช่วง 2Q 2014 ถึง 4Q 2018 ก็จะเห็นได้ว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรนิ่งอยู่ที่ 216.8 กับ 216.3 ตามลำดับ แปลว่าภาคเกษตรไม่มี pricing power เลย (ดัชนีเป็นราคาเงินบาท) แต่ที่ชาวนามีรายได้เพิ่มขึ้นก็ด้วยการเพิ่มปริมาณการผลิตนั่นเอง

แต่เมื่อขยับลงมาดูบรรทัดที่ 3-6 ซึ่งเป็นราคาของทรัพย์สินของชนชั้นกลางและเศรษฐี ก็จะเห็นได้ว่าราคาที่ดิน คอนโด Town House และบ้านเดี่ยว ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ไม่ว่าจะในช่วงของรัฐบาลยิ่งลักษณ์หรือรับบาลประยุทธ์ แต่ในช่วงของรัฐบาลประยุทธ์นั้น น่าสนใจที่ว่าราคาที่ดินและคอนโดปรับตัวขึ้นแรงมากเป็นพิเศษ (บรรทัด 5 และ 6) กล่าวคือเพิ่มขึ้น 26.46% และ 31.41% ซึ่งผมเชื่อว่าส่วนหนึ่งน่าจะเกิดขึ้นเพราะการเร่งสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพ ซึ่งกระตุ้นทั้งอุปทานและอุปสงค์ในการผลิตและขายคอนโด ตลอดข้างทางของรถไฟฟ้าสายใหม่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งการปรับขึ้นของราคาดังกล่าวนั้น เกษตรกรและคนส่วนใหญ่ของประเทศ ไม่น่าจะได้รับประโยชน์และแม้ราคาที่ดินจะปรับขึ้นสูงมาก แต่ก็น่าจะเป็นที่ดินในกรุงเทพ ดังนั้นจึงจะไม่แปลกใจว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองร่ำรวยขึ้น และ/หรือเศรษฐกิจดีขึ้นมากนักในช่วงของประเทศ ไม่น่าจะได้รับประโยชน์มากนัก และแม้ราคาที่ดินจะปรับขึ้นสูงมาก แต่ก็น่าจะเป็นที่ดินในกรุงเทพ นอกจากนั้นผมเข้าใจว่าชาวนาส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เป็นเจ้าของที่ดินที่ตนทำกินอยู่ ดังนั้นจึงจะไม่แปลกใจว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองร่ำรวยขึ้น และ/หรือเศรษฐกิจดีขึ้นมากนักในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา

อันที่จริงแล้วเศรษฐกิจของไทยนั้นถูกขับเคลื่อนโดยกำลังซื้อจากต่างประเทศไม่ใช่กำลังซื้อจากคนไทย ตัวอย่างเช่นเวลาที่เราชอบพูดกันว่าเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เพราะเราเกินดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึง 7-8% ของจีดีพีนั้น ในอีกด้านหนึ่งหมายความว่า ประเทศไทยผลิตสินค้าและบริการ 100 บาท แต่มีกำลังซื้อในประเทศทั้งหมดเพียง 92-93 บาท ส่วนต่างที่เกินดุลบัญชีเดินสะพัด ก็คือการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิ (กล่าวคือต้องให้ต่างชาติมาซื้อส่วนเกินของการผลิตที่คนไทยไม่มีกำลังซื้อ) และหากจะเปรียบเทียบตัวเลขให้เห็นอย่างชัดเจน ก็จะพบว่าในปีที่แล้วประเทศไทยส่งออกสินค้าคิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 58.3% ของจีดีพี แต่การบริโภคเอกชนของคนไทยทั้งประเทศนั้นมีมูลค่าเพียง 50.7% ของจีดีพี ทั้งนี้หากรวมเอาการขายบริการของไทย (การให้บริการนักท่องเที่ยว) ก็น่าจะสามารถบวกตัวเลขเพิ่มไปได้อีกเกือบ 20% ของจีดีพี แปลว่าประเทศไทยนั้นพึ่งพากำลังซื้อจากต่างประเทศมากกว่า 75% ของจีดีพี แต่พึ่งพาการบริโภคภายในประเทศเพียง 50% ของจีดีพี

ในตอนต่อไปผมจะเปรียบเทียบให้เห็นว่าการพึ่งพาต่างชาตินั้น ก็ขาด pricing power อย่างมาก และการแข็งค่าของเงินบาท ก็ยิ่งทำให้ความพยายามที่จะเพิ่มรายได้ยิ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมากครับ
โพสต์โพสต์