โค้ด: เลือกทั้งหมด
กระทรวงการต่างประเทศได้จัดทำเอกสาร การประเมินความคืบหน้าของการดำเนินการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของไทย โดยอิงเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน 17 ข้อ ซึ่งองค์การสหประชาชาติได้วางเอาไว้ในปี 2558 ให้ประเทศสมาชิกนำไปปฏิบัติ เพื่อให้บรรลุในปี 2573 ซึ่งแม้จะเป็นข้อมูล ณ ปี 2560 แต่ก็ทำให้เห็นภาพอะไร ๆ ได้ดีพอสมควร
เป้าหมายที่ 1 คือการขจัดความยากจนในทุกรูปแบบและทุกหนทุกแห่ง โดยสัดส่วนของคนจน ลดลงจาก 42.3% หรือ 25.3 ล้านคน ในปี 2543 มาอยู่ที่ 7.2% หรือ 4.8 ล้านคน ในปี 2558
เรามีสวัสดิการเรียนฟรี 15 ปี มีเบี้ยผู้สูงวัยและผู้พิการ 800 บาทต่อเดือน มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐให้กับคน 7.5 ล้านคน และมีการหางานให้กับผู้พิการ ผู้สูงวัยและผู้ด้อยโอกาสทำ นอกจากนี้ยังมีบ้านประชารัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อย และเปิดบริการศูนย์ช่วยเหลือสังคม โทร. 1300 คาดว่าจำนวนคนจนจะลดลงอย่างต่อเนื่อง
เป้าหมายที่ 2 คือ การขจัดความหิวโหย มีความมั่นคงทางอาหาร เสริมสร้างโภชนาการที่ดีขึ้น และสนับสนุนการเกษตรอย่างยั่งยืน ภาวะทุโภชนาการของไทย ลดจาก 19.8 ล้านคน หรือ 34.6% ของประชากร ในช่วงปี 2533-5 ลงมาเหลือเพียง 5 ล้านคน หรือ 7.4% ของประชากร ในปี 2557-9
เป้าหมายที่ 3 คือ การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี สำหรับทุกคนและทุกวัย พยายามลดอัตราการตายของเด็กแรกคลอด ด้วยการจัดให้มีห้องทำคลอดที่มีคุณภาพ และติดตามดูแลหลังการคลอด จัดให้มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการจัดสวัสดิการด้านสุขภาพให้กับแรงงานต่างด้าว การเข้าถึงวัคซีน และยาที่มีคุณภาพ
การลดมลภาวะทางอากาศ น้ำ ดิน ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ สิ่งที่ยังเป็นปัญหาคือ คุณแม่วัยใส ซึ่งมีสัดส่วนถึง 47.9 คนต่อวัยรุ่น 1,000 คน การลดอัตราการเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ซึ่งในปี 2558 สูงถึง 22.3 คน ต่อประชากร 100,000 คน
เป้าหมายที่ 4 การศึกษาที่เท่าเทียม และโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคน ในปี 2558 เด็กในวัยเรียน 90% ได้เข้าเรียนพื้นฐาน 12 ปี และ 76.2% ได้เข้าเรียนอนุบาลที่มีคุณภาพ
เป้าหมายที่ 5 ความเท่าเทียมทางเพศ ปัจจุบัน 60% ของแรงงานเป็นผู้หญิง ยกเว้นในด้านการเมือง ที่ผู้หญิงยังมีสัดส่วนน้อยอยู่ แต่ก็ได้เพิ่มจาก 11.25% ในปี 2557 เป็น 16.6% ในปี 2559
ที่ยังเป็นปัญหาคือ ภาระงานของผู้หญิงไทย ซึ่งทำงานนอกบ้านเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 30 นาที และทำงานบ้านอีก วันละ 2 ชั่วโมง 50 นาที เมื่อเทียบกับผู้ชายที่ทำงานนอกบ้านเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง 12 นาที และช่วยทำงานบ้าน 1 ชั่วโมง 48 นาที ผู้หญิงจึงทำงานเยอะกว่าผู้ชาย
เป้าหมายที่ 6 การจัดการน้ำและสุขาภิบาล เราทำได้ค่อนข้างดี โดย 99.8% ของครัวเรือนมีสุขา และ 99.46% ของครัวเรือน มีน้ำดื่มสะอาด
เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่ทุกคนเข้าถึงได้ และยั่งยืน โดยไทยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียน จาก 13.83% ในปี 2558 เป็น 30% ในปี 2579
เป้าหมายที่ 8 การจ้างงานที่มีคุณค่า และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน สำหรับทุกคน โดยรัฐได้ทำการอบรมและสร้างทักษะเพื่อเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพ 3.86 ล้านคน และจัดให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาส ได้มีการฝึกอบรมทักษะ รวมถึงการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของแรงงาน และการจ้างงานผู้สูงวัยในโครงการประชารัฐ 10,935 คน และผู้พิการได้รับการจ้างงาน 58,518 คน และการดูแลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ
เป้าหมายที่ 9 สร้างโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม ดูแลแผนคมนาคม 20 ปี สร้างอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับทุกคน (ผู้สูงวัย คนพิการ เด็ก สตรี)
เป้าหมายที่ 10 ลดความเหลื่อมล้ำ ดิฉันเชื่อว่ารัฐบาลปัจจุบันมีความพยายามลดความเหลื่อมล้ำที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดค่ะ ไม่ว่าจะเป็นนโยบายต่างๆที่ออกมา และนำไปสู่การปฏิบัติ โดย รัฐบาลได้ช่วยเหลือโดยจัดสวัสดิการแห่งรัฐให้ และช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สิน และที่ทำกิน เพื่อให้สามารถนำไปสู่การแก้ไขที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าหมายว่า รายได้ของคนที่อยู่ 40%ล่างสุดของประชากร จะปรับเพิ่มขึ้นปีละ 15% เพื่อให้สามารถไล่ตามกลุ่มบนๆให้ทัน
เป้าหมายที่ 11 ทำให้เมืองและถิ่นฐานของมนุษย์ปลอดภัยและยั่นยืน สำหรับทุกคน โดยรัฐได้ดำเนินการหลายโครงการ หลายรูปแบบ ทั้งการจัดการกับภัยพิบัติ การพัฒนาเมือง การให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทในการช่วยดูแลการจัดการที่ดินและอาคารมากขึ้น ฯลฯ
เป้าหมายที่ 12 แผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดยนอกจากจะมีคณะทำงานดูแลในเรื่องนี้ ให้เป็นไปตามแผน 20 ปีแล้ว ยังมีการอบรมให้หยุดบริโภคในสิ่งที่ไม่จำเป็น พยายามให้สินค้า บริการ และการจัดซื้อจัดจ้าง คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และการจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพโดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย
เป้าหมายที่ 13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน พยายามลดมลพิษในอากาศ ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีโครงการอื่นๆอีกมากที่ร่วมมือกับนานาชาติ
เป้าหมายที่ 14 การอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยการเพิ่มพื้นที่ป่าโกงกาง ขึ้น 5.24% จาก 2,333.08 ตารางกิโลเมตร ในปี 2547 เป็น 2,455.34 ตารางกิโลเมตร ในปี 2557 พยายามชะลอการกัดเซาะ และฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่ง พยายามรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตในท้องทะเล ลดการประมงที่ไม่ถูกกฎหมาย และสร้างตลาดให้กับผลผลิตของการประมงพื้นบ้าน
เป้าหมายที่ 15 การปกป้อง ฟื้นฟู จัดการ และใช้ประโยชน์จากผืนป่า หยุดการเสื่อมสภาพและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าให้เป็น 40% ของพื้นที่ประเทศ (ในปี 2504 มีสัดส่วน 53.3% ลดลงเหลือ 31.6% ในปี 2557)
เป้าหมายที่ 16 ส่งเสริมสังคมที่สงบสุข ไม่แบ่งแยก ให้ความยุติธรรม และสร้างสถาบัน(ทางสังคม)ที่มีประสิทธิภาพ รับผิดชอบ สำหรับทุกคน
และเป้าหมายสุดท้าย คือ ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับโลก