หมีน้อยปี 61/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

หมีน้อยปี 61/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    ปี 2561 ซึ่งกำลังสิ้นสุดในไม่กี่วันนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นปีที่ไม่ดีนักมองจากภาพรวมของตลาดหลักทรัพย์  เพราะดัชนีตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหรือ SET Index จนถึงวันที่ 21 ธันวาคม 2561 ปิดที่ 1595 จุด ลดลงจากสิ้นปีที่แล้วที่ 1754 จุดหรือลดลงประมาณ 9%  แต่นี่ก็ไม่ได้ดูเลวร้ายอะไรมากนัก  เพราะตลาดหุ้นไทยดีติดต่อกันมา 2 ปีแล้ว  คือปี 2559 ดัชนีปรับขึ้นถึง 19.8% และปี 60 ปรับขึ้นอีก 13.7%   ดังนั้น  การปรับตัวลงประมาณ 9% จึงเป็นเรื่อง “ธรรมดา”  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกในปีนี้ก็ล้วนแต่ปรับตัวลง  ดูเหมือนว่ามากกว่าตลาดหุ้นไทยด้วยซ้ำ  อย่างไรก็ตาม  ถ้ามองลึกลงไปในหุ้นแต่ละกลุ่ม  ภาพนี้ก็อาจจะเปลี่ยนไปมาก  ดูเหมือนว่าการปรับตัวลดลงในรอบนี้ของตลาดหุ้นไทยจะไม่เป็นไปแบบกระจายไปอย่างสม่ำเสมอ  ลักษณะที่มี “การกระจุกตัว” ของการตกลงมาของหุ้นบางกลุ่มนั้นสูงมากจนน่าจะเรียกได้ว่ามันเป็น “ตลาดหมี” หรือเกิดอาการ Panic หรือการตกใจขายหุ้นอย่างตื่นตระหนกในหุ้นกลุ่มนั้น  ลองมาดูกันว่าหุ้นแต่ละกลุ่มมีผลงานกันอย่างไร

    เริ่มตั้งแต่กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ 50 ตัวแรกซึ่งวัดจาก SET 50 Index ก็จะพบว่าดัชนีปรับลดลงจากสิ้นปีที่แล้วที่ 1135 จุด เหลือ 1067 จุดเท่ากับลดลงประมาณ 6% ซึ่งเมื่อคิดว่าหุ้นในกลุ่มนี้มักจะจ่ายปันผลค่อนข้างสูงประมาณ 3% ก็จะเห็นว่าถ้าลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ก็จะขาดทุนแค่ประมาณ 3% ซึ่งก็ถือว่าไม่มาก  ไม่มีอะไรน่าตกใจ  คนที่ลงทุนในกองทุนแบบ Passive ที่อิง SET 50 ก็คงจะไม่ถึงกับเสียใจหรือถอดใจไปกับการลงทุนในหุ้นเลย  และถ้ามองต่อไปในอนาคตว่าควรจะถือต่อไปหรือไม่โดยมองจากค่าความถูก-แพงของหุ้นจากค่า PE ก็จะพบว่าถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 61 ค่า PE ของหุ้นกลุ่มนี้ก็อยู่ที่ประมาณ 14-15 เท่า หรือถ้ากลับเศษเป็นส่วนหรือเป็น EP หรือเป็นผลตอบแทนของการลงทุนในหุ้นที่ประมาณ 7% ต่อปี  ก็จะพบว่าการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ต่อไปก็น่าจะให้ผลตอบแทนที่เหมาะสมในระยะยาวเมื่อเปรียบเทียบกับการฝากเงินหรือลงทุนในพันธบัตรที่น่าจะยังให้ผลตอบแทนที่ต่ำกว่าพอสมควร

    หุ้นกลุ่มต่อมาคือหุ้นในกลุ่มใหญ่ที่สุด 100 ตัวแรกหรือ SET 100 ซึ่งน่าจะรวมถึงหุ้นขนาดกลางที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมากกว่าหุ้นขนาดใหญ่  ดังนั้น การตกลงมาจึงสูงกว่าหุ้นในกลุ่ม SET 50 โดยดัชนีหุ้น SET 100 นั้นลดลงจาก 2543 เป็น 2346 จุดหรือลดลง 7.75% ซึ่งก็ไม่ถึงกับเลวร้ายอะไร  อย่างไรก็ตาม  หุ้นในกลุ่ม SET 100 นั้น  ดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยมีคนสนใจใช้ในการจัดตั้งกองทุน  จะมีที่ดูกันบ้างก็เวลาที่หุ้นบางตัวถูกถอดหรือได้เข้าไปอยู่ในการคำนวณเท่านั้นที่จะเป็นที่สนใจของนักลงทุนเนื่องจากราคาของหุ้นจะปรับตัวลงแรงหรือขึ้นไปมากเพราะคนคิดว่าการปรับเปลี่ยนตรงนั้นจะทำให้มีแรงขายหรือแรงซื้อเข้ามาในตัวหุ้นนั้น

    หุ้นกลุ่มที่น่าสนใจมากเพราะว่ามันเป็นหุ้นที่นักลงทุนรายย่อยชอบเล่นกันมากที่สุดก็คือหุ้นในกลุ่ม sSET ซึ่งก็คือหุ้นขนาดเล็กในตลาดหุ้น SET ซึ่งเป็นกลุ่มที่เพิ่งมีการจัดตั้งขึ้นมาเพียง 2 ปี ในวันที่ 30 ธันวาคม 2559  โดยที่ดัชนี sSET นั้นเริ่มต้นที่ 1,000 จุด  ในปีนี้ ดัชนี sSET ตกลงมาอย่างหนักจาก 1074 จุดในสิ้นปี 2560 เหลือเพียง 753 จุด หรือเป็นการตกลงมาถึง ประมาณ 30% และน่าจะนับได้ว่าเป็นแพนิกหรือ “ตลาดหมี”  ของหุ้นตัวเล็กแล้วทั้งที่ตลาดหุ้นโดยรวมและภาวะทางเศรษฐกิจโดยทั่วไปนั้นยังค่อนข้างปกติ  และนี่ก็น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ปริมาณการซื้อขายหุ้นในกลุ่มบุคคลธรรมดาลดลงมากจนเริ่มต่ำกว่านักลงทุนต่างประเทศแล้วในช่วงเร็ว ๆ  นี้

    หุ้นกลุ่มที่สี่ก็คือหุ้นกลุ่มที่ “จ่ายปันผลงาม” ที่เรียกว่ากลุ่ม SETHD ซึ่งมักจะเป็นกลุ่มที่เป็น  “Defensive Stock” หรือหุ้นที่ “ทนทานต่อภาวะเลวร้ายได้ดี”  เพราะยังไงเราก็ยังมักจะได้รับปันผลที่ดีแม้ว่าหุ้นจะไม่ไปไหน  ดัชนี SETHD เองนั้นปรับตัวลดลงจาก 1269 เป็น 1199 หรือลดลงเพียง 5.52% ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดในกลุ่มที่มีการจัดโดยตลาดหลักทรัพย์  และเมื่อคำนึงถึงว่ามันมักจะจ่ายปันผลงามน่าจะไม่น้อยกว่า 4% ด้วยแล้ว  การถือหุ้นในกลุ่มนี้ก็น่าจะขาดทุนน้อยมาก  และถ้ามองดูค่า PE ของหุ้นในกลุ่มล่าสุดก็พบว่าอยู่ที่ประมาณ 10-11 เท่า ซึ่งดูแล้วก็น่าสนใจพอสมควรกับการที่จะถือลงทุนต่อในระยะยาว  เพราะมันอาจจะให้ผลตอบแทนการลงทุนได้ถึงประมาณเกือบ 10% ต่อปี

    หุ้นกลุ่มสุดท้ายของตลาดก็คือหุ้นในกลุ่มตลาด MAI นี่คือหุ้นที่มีขนาดเล็กที่สุดที่ดูแล้วไม่ค่อยได้รับความสนใจจากนักลงทุนส่วนบุคคลแล้วหลังจากที่มันเคยรุ่งเรืองในช่วงสั้น ๆ  ไม่เกิน 3-4 ปี  หุ้นในกลุ่มนี้ประกอบไปด้วย “หุ้นเข้าใหม่” ซึ่งเพิ่งจะทำ IPO ไม่นานจำนวนมาก  หุ้นเหล่านี้ส่วนใหญ่จะมีคนสนใจซื้อขายกันในช่วงต้น ๆ  แต่หลังจากนั้นก็มักจะเงียบเหงา  เหตุผลก็เพราะว่ามันไม่ค่อยมี  “สตอรี่” หรือเรื่องราวที่น่าสนใจนัก  อาจจะเนื่องจากที่มัน “ตัวเล็กเกินไป”  ปี 2561 นั้นน่าจะเป็นปีที่เลวร้ายอีกปีหนึ่งของหุ้น MAI  เพราะดัชนีตกลงมาจาก 540 จุดเหลือเพียง 367 จุด หรือลดลงถึง 32%  หลังจากที่ไม่ดีมาหลายปีแล้ว

    ถ้าพูดถึงความน่าสนใจของการลงทุนในหุ้นตัวเล็กก็ต้องดูว่าราคาหุ้นถูกหรือแพงแค่ไหน  ในตลาดหุ้น MAI นั้น  ค่า PE ณ. ปัจจุบันเองก็ยังสูงถึง 50 เท่าแม้ว่าหุ้นจะตกลงมามาก  ในส่วนของหุ้นตัวเล็กในตลาด SET เองนั้น  ค่า PE ของ sSET ก็ยังอยู่ที่ประมาณ 22-23 เท่าซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าหุ้นตัวเล็กยังไม่น่าจะกลับมาเร็วและผมเองก็ไม่แนะนำให้เข้าไปลงทุนจนกว่าราคาหุ้นจะตกลงมาถึงจุดที่น่าสนใจ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  ผมคิดว่าปริมาณการซื้อขายหุ้นในหุ้นตัวเล็กจะน้อยลงไปมาก  ถ้าเข้าไปซื้ออาจจะมีโอกาส  “ติดหุ้นยาว”  ถ้าผลประกอบการไม่ได้น่าประทับใจจริง ๆ

    หุ้นอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มีการจัดเป็นทางการแต่เป็นกลุ่มที่ร้อนแรงมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็คือกลุ่มที่ผมเรียกว่า  “หุ้นนางฟ้า”  บางทีก็เรียกว่าเป็นกลุ่ม  “หุ้น Growth” หรือหุ้นที่เติบโตเร็ว  ซึ่งเคยสร้างผลตอบแทนระดับสุดยอด  เป็นหุ้นที่ปีเดียวก็โตขึ้นกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์  และในช่วง 3-4 ปีอาจจะโตขึ้นถึง 1,000% หรือ 10 เท่าตัวก็มี  มักเป็นหุ้นขนาดเล็กถึงกลางที่มียอดขายไม่สูงมากแต่มีกำไรที่โดดเด่นและดูเหมือนจะมีการเติบโตของกำไรที่สูงขึ้นมากในช่วงสั้น ๆ  นอกจากนั้นก็เป็นบริษัทที่มีสตอรี่ที่  “เหนือจินตนาการ” และเป็นหุ้นที่มีการกล่าวขวัญกันทั่วไปในหมู่นักลงทุนโดยเฉพาะที่เป็น  “VI” ที่เน้นการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ  ผมเองพยายามรวบรวมมาได้ 10 ตัวและดูว่าผลตอบแทนโดยเฉลี่ยในช่วงปี 2561 เป็นอย่างไรก็พบว่ามันให้ผลตอบแทน  “ติดลบ 52%”  หรือน่าจะเรียกว่าเป็น  “หายนะ” คล้าย ๆ  ช่วงวิกฤตตลาดหุ้นในปี 2540 และ 2008 ในวิกฤติซับไพร์ม  นอกจากนั้น  ค่า PE ล่าสุดหลังจากที่หุ้นตกลงมาแล้วก็ยังอยู่ที่เฉลี่ย 24.9 เท่า ซึ่งอาจจะทำให้ยังไม่ปลอดภัยที่จะเข้าไปช้อนซื้อนัก

    หุ้นกลุ่มสุดท้ายที่ก็น่าสนใจมากคือกลุ่มหุ้นยักษ์ของตลาดหุ้นไทยซึ่งผมนับแค่ 10 บริษัทที่มีขนาด Market Cap. สูงสุด  ผลตอบแทนในปี 2561 ของหุ้นกลุ่มนี้คือประมาณ -4.75%  ซึ่งถ้ารวมปันผลที่ค่อนข้างสูงด้วยแล้วก็ทำให้หุ้นกลุ่ม TOP 10 กลายเป็นกลุ่มหุ้นที่ทำผลงานได้ดีที่สุด  และด้วยค่า PE ล่าสุดที่ประมาณ 15.9% เท่า ก็ทำให้หุ้นในกลุ่มนี้ไม่แพงเกินไป  อย่างไรก็ตาม  ในภาวะที่ตลาดหุ้นโลกกำลังผันผวนอย่างหนัก  ความเสี่ยงที่จะขาดทุนในระยะสั้นก็มีไม่น้อยถ้านักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้นไทย  แต่ในระยะยาวแล้ว  ผมคิดว่าก็ยังน่าสนใจโดยเฉพาะสำหรับคนที่ยังไม่ค่อยได้ลงทุนในตลาดหุ้นเลย
[/size]
โพสต์โพสต์