ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน (3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน (3)/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ครั้งที่แล้วผมประเมินว่าสหรัฐมีข้อเรียกร้องที่กดดันจีนอยู่ 4 ข้อใหญ่ ซึ่งใน 4 ข้อดังกล่าว น่าจะมีข้อสุดท้ายเป็นข้อที่ประธานาธิบดีจีนยอมรับไม่ได้ คือ การให้ยับยั้งยุทธศาสตร์ Made in China 2025 ซึ่งรัฐบาลจีนมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนและปลุกปั้นให้รัฐวิสาหกิจเป็นผู้นำในเทคโนโลยีชั้นนำ 10 ด้าน ซึ่งผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรียกว่า zero sum game คือมีผู้แพ้กับผู้ชนะ ยากที่ให้มีทางออกแบบ win-win หรือ positive sum game ได้

ผมคิดว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนนั้น หากพิจารณาเฉพาะเรื่องของการค้าจะเป็นการมองปัญหาในกรอบที่แคบเกินไป เพราะนักเศรษฐศาสตร์และนักลงจะมองเพียงว่าการทำสงครามทางการค้าเป็นเรื่องที่ทำให้ทุกฝ่ายเสียหาย กล่าวคือสหรัฐเองก็จะเสียหายในที่สุด แม้ว่าจีนจะได้รับผลกระทบมากกว่าในช่วงที่ผ่านมา หากมองปัญหาในกรอบนี้ก็จะมีข้อสรุปว่า การทำสงครามทางการค้า เป็นอะไรที่ไร้เหตุผล ดังนั้นนักวิเคราะห์หลายสำนักรวมทั้งแบงค์ ออฟ อเมริกาซึ่งเป็นพันธมิตรของภัทรฯ จึงมองว่าเมื่อการทำสงครามทางการค้าเริ่มส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อทั้งสองฝ่ายถึงระดับหนึ่งแล้วก็จะนำมาซึ่งการเจรจาและการยุติสงครามได้ภายในไตรมาส 2 ของปี 2019 แต่จะมีความตึงเครียดยืดเยื้อไปได้อีกหลายปี จึงกล่าวโดยสรุปว่าจะเกิด trade cold war ขึ้นระหว่างสหรัฐกับจีน

อย่างไรก็ดี การมองปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐแบบนักเศรษฐศาสตร์นั้นต้องยอมรับว่า ส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นการแข่งขันแบบ positive sum game กล่าวคือการแข่งขันกันในตลาด (market competition) เพื่อผลิตสินค้าที่ดีกว่าและคุณภาพถูกกว่านั้นจะเป็นผลดีกับผู้บริโภคอย่างแน่นอนและจะเป็นผลดีกับผู้ผลิตและเศรษฐกิจโดยรวมด้วย เพราะจะกดดันให้มีการเร่งการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มปริมาณและประเภทของสินค้า โดยพยายามลดต้นทุนและลดการใช้ทรัพยากร กล่าวคือนักเศรษฐศาสตร์จะมองว่าการมีคู่แข่งหรือ competitor นั้นจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม

ปัญหาคือ ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐนั้น อาจจะต้องมองในกรอบของรัฐศาสตร์ กล่าวคือการช่วงชิงอำนาจการเป็นใหญ่หรือการเป็นประเทศมหาอำนาจ ซึ่งแปลว่าการลดการขาดดุลการค้าไม่ใช่เรื่องหลักที่สหรัฐต้องการคาดคั้นจากจีน ทั้งนี้มีรายงานข่าวจาก Wall Street Journal ว่าจีนได้รวบรวมข้อเรียกร้องทั้งหมดของสหรัฐและผมว่ามีรวมทั้งสิ้น 142 ข้อ ซึ่งจีนบอกฝ่ายสหรัฐว่า จีนพร้อมเจรจาด้วยเพื่อลดความขัดแย้งใน 122 ข้อ แต่อีก 20 ข้อนั้น จีนจะไม่ยอมเจรจาด้วย ไม่มีใครทราบว่า 142 ข้อคืออะไรบ้างและ 20 ข้อที่จีนไม่ยอมเจรจานั้นคืออะไรบ้างเช่นกัน แต่ผมประเมินว่าจะสามารถแบ่งแยกความสัมพันธ์จากดีไปร้ายดังนี้

การเป็นหุ้นส่วน- Partnership

การเป็นคู่แข่ง- Competitor

การเป็นคู่แข่งแบบชิงดีชิงเด่น-Rival

การเป็นคู่ปรปักษ์-Adversary

จะสังเกตว่าผู้นำจีนมักจะพยายามเน้นว่าจีนนั้นไม่มีความทะเยอทะยานและต้องการเป็นหุ้นส่วนสหรัฐในการดูแลผลประโยชน์โดยรวมของโลก และนักเศรษฐศาสตร์+นักลงทุนก็ยังมองจีนว่าเป็นเพียงคู่แข่ง (competitor) ซึ่งก็ยังมีผลประโยชน์ร่วมกันในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจเสรี แต่หากพิจารณาให้ดีก็จะเห็นว่า ฝ่ายความมั่นคงของสหรัฐนั้น เริ่มมองจีนเป็นคู่แข่งแบบrivalry ในการขยายอิทธิพลทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง การทหารและความมั่นคงในหลายภูมิภาคของโลก โดยในขั้นแรกนั้น จีนจะพยายามเข้าไปมีบทบาทในทวีปแอฟริกาก่อน เพราะเป็นทวีปที่ประเทศพัฒนาแล้วมักจะให้ความสนใจไม่มาก และไม่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และความมั่นคงมากนัก แต่ต่อมาจีนเริ่มแพร่ขยายอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งน่าจะทำให้ประเทศเช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน สิงคโปร์ ออสเตรเลียและแม้กระทั่งนิวซีแลนด์ เริ่มจะไม่สบายใจ

ตัวอย่างเช่นเมื่อไม่นานมานี้รัฐบาลออสเตรเลียห้ามมิให้บริษัทหัวเหว่ย (Huawei) และบริษัทZTE (ซึ่งถูกสหรัฐปรับไม่ให้ทำธุรกิจในสหรัฐ เพราะส่งผ่านเทคโนโลยีให้ผู้ก่อการร้าย) เป็นผู้จำหน่ายระบบโทรคมนาคม 5G ในออสเตรเลีย โดยอ้างเรื่องของความมั่นคง ต่อมารัฐบาลนิวซีแลนด์ โดยสำนักงานความมั่นคงด้านการสื่อสาร (NZ Government Communications Security Bureau) ก็คัดค้านการที่หัวเหว่ยจะเข้าประมูลการสร้างเครือข่าย 5G โดยกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวจะ “raise significant security risks” หรือก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความมั่นคงอย่างยิ่ง รัฐบาลแคนาดา อังกฤษและญี่ปุ่นก็ได้สั่งห้ามการใช้อุปกรณ์ของหัวเหว่ย (Huawei) ในการติดตั้งระบบ 5G ในอนาคต

จะเห็นได้ว่าเริ่มมีหลักฐานและข้อมูลบ่งชี้ได้ว่าจีนกับสหรัฐและประเทศที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐนั้น มิได้มองจีนเป็นหุ้นส่วนหรือคู่แข่งหรือคู่แข่งที่ชิงดีชิงเด่น (rival) แต่มองว่าจีนอาจเป็นคู่ปรปักษ์ก็เป็นได้
[/size]
โพสต์โพสต์