โค้ด: เลือกทั้งหมด
โดยปกติดิฉันพยายามจะเขียนบทความในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการเงิน การลงทุน แต่ก็มีบางครั้งที่ข้ามไปถึงเรื่องการบริหารจัดการองค์กรและความเป็นผู้นำ ซึ่งดิฉันพบว่า บทความประเภทหลังได้รับความนิยมสูงมาก มากกว่าบทความทางการเงินเสียอีก แต่ถ้าเยนบ่อยเกินไปชื่อคอลัมน์อาจจะต้องเปลี่ยนไปเป็น Management Pro แทน และคงอยู่ในหน้านี้ไม่ได้
อย่างไรก็ดี สัปดาห์นี้ยังอยากเขียนเรื่องการจัดการอีกสัปดาห์หนึ่ง เพราะอยากให้พวกเราคนไทยได้ฉุกคิดกันหน่อยว่า เราจะปล่อยให้สังคมเราเดินไปในทิศทางนี้ต่อไปหรือ
วันนี้จะขอเขียนถึง “รูปแบบ หรือ แก่น” ซึ่ง แปลเป็นภาษาอังกฤษ ได้ว่า “Form or Substance”
ทำไมจึงต้องเขียนถึงสองคำนี้ เพราะรู้สึกว่า คนไทยเราจะยึดติดกับ คำว่า “รูปแบบ” หรือ Form จนลืม “แก่น” หรือ Substance ไป
“รูปแบบ” เป็นเรื่อง ของ“ภายนอก” เช่นภาพลักษณ์ภายนอก เอกสารหรือแบบฟอร์มที่เราต้องกรอก ต้องเติม เพื่อแจ้งหรือเปิดเผย ให้ผู้อื่นรับทราบ เช่น เมื่อสมัครเป็นสมาชิกของ ชมรม สมาคมใด ก็จะเขียนยืนยันว่า จะยึดถือและทำตามหลักเกณฑ์ของ ชมรม สมาคมนั้นเป็นแบบแผน
“แก่น” เป็นเรื่อง ของ“ภายใน” แม้เราไม่ต้องเขียนว่าเราจะทำตาม แต่หากใจเรายึดมั่นในหลักเกณฑ์นั้น เราก็จะทำตามตลอดเวลา
ท่านว่าอันไหนดีกว่ากันคะ
หาก การที่เรายึด “รูปแบบ” และเซ็นเอกสารว่า ต่อไปนี้ฉันจะทำดี ฉันจะไม่โกง แต่ใจ ไม่อยากทำดี มีแต่อยากจะหาช่องทางที่จะเอาเปรียบ หารูโหว่ที่จะลอดอยู่เรื่อยไป อย่างนี้จะถือว่าเราเป็นคนดีจริงๆหรือไม่
เหตุที่สังคมปัจจุบัน ยึด “รูปแบบ” เป็นหลัก เพราะการยึดรูปแบบ เป็นสิ่งที่ตรวจสอบง่าย ทำผิดก็จับได้ ลงโทษได้ ในขณะที่การยึด “แก่น” ตรวจสอบยาก จับผิดยาก หาหลักฐานยาก และใช้เวลา
แต่การยึด “รูปแบบ” เป็นเวลานาน ทำให้คนพอใจเพียงแค่ ทำให้ได้ตามขั้นต่ำของมาตรฐาน และสำหรับคนที่อยากหาช่องว่างเพื่อทำผิด หรือเพื่อเอาเปรียบ จะสามารถจับแนวทางได้ว่า ทำอย่างไรจึงจะไม่ได้ถูกจับได้ ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหากันทั่วโลกอยู่ทุกวันนี้
ดังนั้น การที่จะทำให้คนเป็นคนดี อยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นสุข ไม่เกิดการเอารัดเอาเปรียบกัน ไม่โกงกัน ไม่ทุจริต จึงไม่ได้อยู่ที่การมีแบบฟอร์มให้กรอก และประกาศตนเองว่า ฉันไม่มีอะไรมากมาย (เพราะฉันจัดการยักย้ายถ่ายโอนไปให้คนอื่นถือแทนฉันหมดแล้ว) แต่อยู่ที่ “แก่น” ของจิตสำนึกในการไม่เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่โกงกัน ไม่ทุจริต ต่างหาก
เขียนถึงเรื่อง “รูปแบบ”และ”แก่น”แล้ว อดไม่ได้ที่จะเขียนถึง “การส่งเสริม” ให้เกิดพฤติกรรมดๆ หรือ ยกเลิก ละเว้นจากพฤติกรรมที่ไม่ดี ซึ่งในภาษาจิตวิทยาเรียกว่า “Reinforcement”
การส่งเสริมนี้ มีทั้งการส่งเสริมในทางบวก และการส่งเสริมในทางลบ การส่งเสริมในทางบวก (Positive Reinforcement) หมายถึงการให้รางวัลกับพฤติกรรมดี เพื่อกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมดีนั้นๆอีก เช่น พนักงานที่ทำงานได้สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ จะได้รับโบนัสพิเศษ และ การส่งเสริมในทางลบ (Negative Reinforcement) หมายถึงการยกเลิกบางสิ่งบางอย่าง เพื่อเพิ่มโอกาสส่งเสริมพฤติกรรม เช่น เสียงดังเตือนน่ารำคาญในรถจะไม่หยุด หากผู้โดยสารไม่รัดเข็มขัดนิรภัย (เราคาดหวังว่ารถต้องมีความสงบ ไม่มีเสียงน่ารำคาญ) เป็นตัวอย่างของการส่งเสริมพฤติกรรมการรัดเข็มขัด
อย่างไรก็ดี บางครั้ง เราจะใช้พฤติกรรมส่งเสริมทั้งในทางบวกและในทางลบ สลับสับสนกับ “การลงโทษ” และไปเน้นการลงโทษมากกว่า โดยการลงโทษนั้น จะมีทั้งที่เป็นในทางบวก และในทางลบ
การลงโทษในทางบวก (Positive Punishment) คือการเพิ่มปัจจัยอะไรสักอย่าง เพื่อลดโอกาสเกิดพฤติกรรม (อันไม่พึงประสงค์) เช่น เพิ่มการเก็บอากรเครื่องดื่มอัลโกฮอลและบุหรี่ เพื่อ ลดการดื่ม หรือการสูบ เป็นต้น
ในขณะที่การลงโทษในทางลบ (Negative Punishment) คือการ เอาประโยชน์อะไรสักอย่างออกไป เพื่อลดการเกิดพฤติกรรม (อันไม่พึงประสงค์) เช่น หากทำผิด จะเอาอิสรภาพ ออกไป (จับติดคุก) เพื่อจะได้ทำให้คนไม่กล้าทำผิด
มีการทำการศึกษา พบว่า วิธีการที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการส่งเสริมพฤติกรรม(ดีๆ) คือการการส่งเสริมในทางบวก เช่น หากลูกเรียนดี หรือ หากลูกช่วยงานบ้าน แล้วพ่อแม่ให้รางวัล จะส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมดีๆมากขึ้นค่ะ
เมื่อนำมาใช้ในระดับนโยบาย ดิฉันเห็นว่า หลายมาตรการที่กระทรวงการคลังนำมาใช้ ได้ส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมดี เช่น การสามารถนำเงินลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว มาหักออกจากรายได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษี เป็นการส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการออมและลงทุนระยะยาวมากขึ้น
และที่เห็นชัดเจนว่า นำมาใช้ไม่ถูกต้อง คือเรื่องการยื่นแสดงและเปิดเผยทรัพย์สิน ที่มีการกล่าวขวัญถึงกันอยู่ในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมานี่แหละค่ะ นอกจากจะเป็นการยึดติดกับ“รูปแบบ”แล้ว ยังเป็นการลงโทษในทางบวก คือ เพิ่มภาระและการลงโทษ เพื่อลดโอกาสเกิดพฤติกรรมยื่นไม่ครบ แต่ไม่ได้ลดพฤติกรรมการโกงหรือคอร์รัปชั่น
จะแก้ไขการโกงจริงๆ ต้องแก้ไขที่ “ภายใน” ต้องให้คนสำนึกเรื่อง หิริโอตัปปะ ความเกรงกลัวและละอายต่อบาป และการที่สังคมลงโทษด้วยการไม่ให้เกียรติ ไม่ยกย่อง และไม่คบค้าสมาคมด้วย อย่างนี้จึงจะเป็นการส่งเสริมในทางลบ (Negative Reinforcement) ด้วยการนำความสุขในชีวิตออกไป สำหรับคนที่ประพฤติไม่ดี