อำนาจกับผู้นำองค์กร/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

อำนาจกับผู้นำองค์กร/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    สวัสดีค่ะ หลังจากแอบไปพักผ่อนและงดเขียนบทความหนึ่งสัปดาห์ ดิฉันก็กลับมาใหม่พร้อมความสดชื่น

    เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายคาลอส โกสน์ ประธานของบริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น ถูกจับด้วยข้อหารายงานรายได้ไม่ตรงกับความเป็นจริงและยังใช้เงินของบริษัทในการซื้อสังหาริมทรัพย์ให้ตัวเองไปพักอาศัยในสองประเทศ โดยที่ธุรกิจของบริษัทไม่ได้เกี่ยวข้องกับสองประเทศนั้น

    นายคาลอส โกสน์ เคยเป็นบุคคลที่วงการรถยนต์ต่างสรรเสริญว่าสามารถฟื้นฟูกิจการของบริษัทรถยนต์ของฝรั่งเศสและของญี่ปุ่นได้ กลายเป็นบุคคลพิเศษ มีหนังสือที่มีเรื่องราวของเขา ทั้งที่เขาเขียนเอง และมีผู้เขียนถึงหลายเล่ม เช่น The Ghosn Factor, Shift : Inside Nissan’s Historic Revival, Turnaround : How Carlos Ghosn Rescued Nissan ฯลฯ โดยหนังสือเหล่านี้ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆมากมาย ทั้งภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาจีน และเข้าใจว่ามีภาษาไทยด้วย

    ทำไมจึงเกิดเหตุการณ์ “ปลาตายน้ำตื้น” เช่นนี้ ดิฉันพยายามหาสาเหตุ และคิดว่าเกิดขึ้นจากการเป็นผู้นำที่มี charisma (คาริสม่า) ซึ่งหมายถึง มีเสน่ห์ มีความสามารถพิเศษ มีความน่าดึงดูดใจ มีคุณสมบัติความเป็นผู้นำสูง และทุกคนให้การยอมรับ ไม่กล้าขัดใจ จึงทำให้มีอำนาจมาก และอำนาจนี้เองค่ะ ที่ทำให้เขาเปลี่ยนไป การตรวจสอบและคานอำนาจ (check and balance) ก็อาจจะย่อหย่อนลงไป ด้วยความที่คนอื่นๆเห็นว่าเขามีคาริสม่านี่แหละค่ะ (ในบทความนี้ขอใช้คำว่าคาริสม่าทับศัพท์ในบางช่วง เพราะดิฉันเห็นว่าคำว่าเสน่ห์จะครอบคลุมไม่ครบค่ะ)

    ฝรั่งจะมีคำพูดว่า “Power corrupts” หมายถึง การมีอำนาจมากๆ ทำให้คนเปลี่ยนไป กลายเป็นคนไม่ดี แม้แต่ ท่านมหาเธร์ นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย ท่านยังกล่าวในตอนที่มาเยือนไทยเมื่อเดือนที่แล้วว่า ผู้นำที่ท่านสนับสนุนให้ขึ้นมาแทนท่านนั้น ท่านเลือกเอง เพราะเขาเป็นคนเก่ง เป็นคนดีมาก่อน แต่เมื่ออยู่ในอำนาจแล้ว เขาเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไป ท่านจึงต้องมาทวงอำนาจคืน

    แต่ไม่ใช่ทุกคนที่มีอำนาจ จะต้องทำผิด หรือจะเปลี่ยนไปนะคะ  ทำให้ชวนสงสัยว่า อะไรคือปัจจัยที่จะทำให้คนไม่เปลี่ยนเมื่อมีอำนาจ และทำอย่างไรจะป้องกันไม่ให้ผู้มีอำนาจใช้อำนาจในทางที่ผิด

    ศาสตราจารย์ ดิเร็ก ดี. รักเกอร์ จาก คณะบริหารธุรกิจเคลลอกก์ ของมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น สหรัฐอเมริกา ได้ทำการวิจัยร่วมกับ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยฮาวาย และ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย โดยการสอบถามผู้เข้าร่วมการสำรวจ 202 คน พบว่า คนส่วนใหญ่จะคาดหวังว่า ผู้มีอำนาจ จะไม่ประพฤติตัวผิดศีลธรรม  นอกจากนี้ ยังได้ทำการทดลองโดยให้แสดงบทบาทเป็นลูกค้า ที่ได้รับเงินทอนเกินมา โดยบางคนสวมบทบาทของผู้มีอำนาจสูง บางคนสวมบทบาทของผู้ไม่มีอำนาจ  และบางคนสวมบทบาทที่อยู่บนความคาดหวังของคนอื่นๆ และบางคนไม่ต้องสวมบทบาทบนความคาดหวังของใคร

    จากการทดลองพบว่า คนที่ถูกกำหนดให้สวมบทบาทของผู้มีอำนาจสูง และไม่มีความคาดหวังจากคนอื่นมากำกับ มีแนวโน้มที่จะทำผิดศีลธรรม (ไม่คืนเงินทอนที่ได้มาเกิน) มากกว่า คนที่สวมบทบาทมีอำนาจน้อย และคนที่สวมบทบาทของผู้ที่มีอำนาจสูง แต่มีความคาดหวังจากคนอื่นมากำกับ

    นอกจากนี้ยังทดลองให้โยนลูกเต๋า และให้รายงานผลของการโยน โดยผู้ได้แต้มสูงที่สุดจะได้รับรางวัล พบว่ากลุ่มที่สวมบทบาทมีอำนาจ มีแนวโน้มสูงที่จะแจ้งแต้มสูงมากกว่าที่ได้จริง  และกลุ่มที่สวมบทบาทไม่มีอำนาจ มีแนวโน้มที่จะแจ้งแต้มสูงกว่าที่ได้จริงน้อยกว่า

    อาจารย์จึงสรุปว่า อำนาจไม่ได้เป็นสิ่งที่ทำให้คนไม่ดี แต่คนมีอำนาจต้องมีจิตสำนึกที่ดี ที่จะทำในสิ่งที่ถูกต้อง  เพื่อที่จะห้ามอำนาจไม่ให้เปลี่ยนตัวเองให้ทำผิดศีลธรรม หรือผิดกฎหมาย

    ดิฉันขอสรุปบทความจาก Inc. เรื่อง “อันตรายสามประการของผู้นำที่มีคาริสม่า” (3 Dangers of Charismatic Leadership) ซึ่งเขียนเรื่องผู้นำ และวิธีจัดการกับการมีผู้นำที่มีคาริสม่าสูง เอาไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว

    เขาบอกว่า เสน่ห์ของความเป็นผู้นำอาจจะมีด้านลบ โดยชี้เอาไว้สามประการคือ

    1. ผู้นำเสพติดคาริสม่า คือผู้นำใช้เสน่ห์ของตนเองในการชักจูงผู้คน ในการแสดงวิสัยทัศน์ ในการเป็นศูนย์กลางของความสนใจ และก็รับแต่คำวิจารณ์ด้านบวก จนตัวเองก็ยังคล้อยตาม (หลงตัวเอง) วิธีแก้คือต้องให้ผู้นำเรียนรู้จักตัวเอง และพยายามปรับปรุงตัวเองโดยไม่ได้เน้นผลในการทำให้ตัวเองเด่นดัง แต่เน้นผลไปที่ทำให้องค์กรโดยรวมดีขึ้น

    2. องค์กรเสพติดผู้นำที่มีคาริสม่า ผู้นำที่มีคาริสม่ามากๆ จะทำให้ทุกคนมุ่งจุดสนใจไปที่ผู้นำ ไม่ใช่ที่องค์กร และความรับผิดชอบของคนในองค์กรจะหายไป คนจะคอยทำตามผู้นำ และไม่ทราบแนวทางที่จะเดินต่อ เสมือนกลายเป็นลัทธิ และองค์กรก็จะขาดความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

    วิธีแก้ไขคือ ผู้นำต้องคอยถามตัวเองว่า ได้ให้อำนาจคนอื่นตัดสินใจหรือไม่ หรือคนอื่นต้องรอการตัดสินใจของฉัน ฉันเข้าไปล้วงรายละเอียดเรื่องของคนอื่นมากเกินไปหรือไม่ และการกระทำของฉัน ไปสนับสนุนหรือขัดขวางคนอื่นในการรับผิดชอบงานของเขาเพิ่มขึ้น

    3. คาริสม่าโดดเด่นและองค์กรลืมเป้าประสงค์ของตนเอง ตรงนี้อันตรายค่ะ ผู้นำที่ดีจึงต้องคอยถามตัวเองว่า ฉันดึงความสนใจมาไว้ที่ตัวฉัน หรือมาไว้ที่องค์กร เพราะหลายกรณี เมื่อองค์กรสูญเสียผู้นำไป จะกระทบกับกิจการขององค์กรมากทีเดียว

    ผู้นำที่ดีต้องสร้างผู้สืบทอด  คาริสม่าเป็นสิ่งที่ต้องมีเพื่อให้คนสนใจองค์กรในช่วงต้น แต่ในระยะยาว พนักงานทุกคนคือผู้ที่จะนำพาองค์กรให้อยู่ต่อไปในอนาคต  ดิฉันมักจะพูดอยู่เสมอว่า “ลูกน้องที่เก่งทำให้เราสบายขึ้น” ดังนั้น เราต้องสร้างลูกน้องให้เก่งกว่าเราค่ะ เราจึงจะเป็นผู้นำที่ประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง
[/size]
โพสต์โพสต์