ช้อปปิ้งออนไลน์/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

ช้อปปิ้งออนไลน์/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    วันที่ 11 เดือน 11 เพิ่งจะผ่านไป ท่านที่เป็นขาช้อปทั้งหลายคงทราบว่าเป็นวันอะไร ส่วนท่านที่ไม่ใช่ขาช้อปก็ต้องบอกว่า ปีหน้าท่านจะต้องสนใจวันนี้เพิ่มขึ้น เพราะปีนี้การลดราคาเริ่มลุกลามมายังประเทศไทย

    จริงๆแล้ว วันจับจ่ายซื้อของที่ดังที่สุดของทางสหรัฐอเมริกา จะเป็นวันหลังวันขอบคุณพระเจ้าหรือที่เรียกว่า วันศุกร์สีดำ (Black Friday) ที่เป็นสีดำเพราะคนออกมาซื้อของลดราคาพิเศษตามห้างเยอะจนมืดฟ้ามัวดินทำนองนั้นค่ะ

    จนกระทั่ง มีการช้อปปิ้งออนไลน์เกิดขึ้น และผู้ประกอบการอยากให้มีวันที่คนจะจับจ่ายใช้สอยทางออนไลน์ด้วย จึงถือเอาฤกษ์วันที่ 11 เดือน 11 เป็นวันลดราคา ดิฉันสันนิษฐานว่านอกจากจะได้ขายตัดหน้าร้านค้าและห้างทั่วไปแล้ว ยังมีเวลาเพิ่มสำหรับส่งสินค้าอีกด้วย

    วันที่ 11 เดือน 11 ในจีนถือว่าเป็นวันคนโสดใหญ่ เพราะมีเลขเดี่ยวตั้ง 4 ตัว โดยมีวันคนโสดเล็ก คือ วันที่ 1 เดือน 1 และวันคนโสดกลาง คือ วันที่ 11 เดือน 1 และ วันที่ 1 เดือน 11

    ส่วนในเกาหลีใต้ถือว่าวันที่ 11 เดือน 11 เป็นวันแห่งความรักค่ะ มีเลขหนึ่งมายืนคู่กันตั้งสองคู่

    ข้อมูลจากเฟซบุ้ค “เริ่มเรียนภาษาจีนกัน” บอกว่า เหตุที่มี “วันคนโสด” ขึ้นมาก็เพราะว่า ในปี 1990 นักศึกษาหนุ่มจากมหาวิทยาลัยหนานจิงคนหนึ่ง คิดอยากให้มีวันของคนโสด เพื่อคนโสดจะได้มาพบปะกัน หรือถือเป็นโอกาสที่จะซื้อของขวัญให้กัน (เพื่อปีหน้าจะได้ไม่ต้องเป็นคนโสดอีก)

    และกลุ่มขายของออนไลน์ ก็ถือโอกาสนี้มาจัดลดราคาเพื่อขายของได้มากขึ้น โดยในปี 2017 คือปีที่แล้ว ภายใน 24 ชั่วโมงของวันที่ 11 พฤศจิกายน เว็ปไซต์อาลีบาบาสามารถขายสินค้าได้ถึง 25,300 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 834,900 ล้านบาท  นับว่าทำลายสถิติการขายของออนไลน์ทั่วโลก และปีนี้ก็คงจะทำลายสถิติอีกค่ะ

    การซื้อสินค้าออนไลน์ นับวันจะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลจาก Statista และกราฟฟิกที่ดิฉันแปลความมาจาก invespcro แสดงให้เห็นว่า ในปี 2017 มีคนซื้อของออนไลน์ 1,660 ล้านคนในโลก โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่มีจำนวน 1,320 ล้านคน ปี 2015 ที่มี 1,460 ล้านคน และปี 2016 ที่มี 1,520 ล้านคน และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 2,050 ล้านคน ในปี 2020

    ยอดซื้อของออนไลน์ ในปี 2017 มีมูลค่า 2.3 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 75.9 ล้านล้านบาท  คิดเป็นค่าเฉลี่ย 8.2% ของยอดค้าปลีกทั้งหมดของโลก โดยคนเอเชียแปซิฟิกมาแรงแซงโค้ง คือซื้อของออนไลน์เป็นสัดส่วนเฉลี่ยถึง 12.1% ของการค้าปลีก

    สัดส่วนการซื้อของออนไลน์นี้ เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จากปี 2014 ที่การซื้อของออนไลน์ มีส่วนแบ่ง 5.9% ของยอดค้าปลีก เพิ่มขึ้นมาเป็น 6.7% ในปี 2015 และ 7.4%ในปี 2016  ทั้งนี้คาดว่า ยอดขายปลีกออนไลน์จะมีสัดส่วนถึง 8.8% ของยอดค้าปลีกทั้งหมดในปี 2018 นี้ค่ะ

    โดยประเทศที่มียอดขายออนไลน์เป็นสัดส่วนของยอดค้าปลีกสูงที่สุดไม่ใช่สหรัฐอเมริกา แต่เป็นสหราชอาณาจักร โดยมีสัดส่วนของยอดขายออนไลน์ประมาณ 16.9% ของยอดค้าปลีกในปี 2017 และจะเพิ่มเป็น 18% ในปีนี้  รองลงมาคือจีน มีสัดส่วน 15.5% ในปีที่แล้ว คาดว่าปีนี้จะเพิ่มเป็น 16.6%  นอร์เวย์มาเป็นอันดับสามด้วยสัดส่วน 12.1% และจะเพิ่มเป็น 12.7% ส่วน ฟินแสนด์ซึ่งเคยเป็นอันดับสี่เมื่อสองปีก่อน ถูกแซงโดย เกาหลีใต้ ในปีที่แล้ว โดยเกาหลีใต้ มีสัดส่วนของการค้าปลีกออนไลน์ 11.3%ในปีที่แล้ว และคาดว่าจะมีสัดส่วน 12% ในปีนี้ค่ะ โดยฟินแลนด์ ซึ่งมีสัดส่วน 11.2% ในปีที่แล้ว คาดว่าจะมีสัดส่วน 11.5% ในปีนี้ และครองอันดับที่ห้า  ส่วนสหรัฐอเมริกามาอันดับที่ 8 ด้วยสัดส่วนการค้าออนไลน์ 8.9% ของการค้าปลีกทั้งหมด

    สำหรับมูลค่าการสั่งซื้อโดยเฉลี่ยต่อลูกค้าออนไลน์หนึ่งคนนั้น สหรัฐอเมริกามาเป็นที่หนึ่งค่ะ คือคนซื้อของออนไลน์คนหนึ่งจะมียอดซื้อเฉลี่ย 1,804 เหรียญ หรือประมาณ 59,532 บาท สหราชอาณาจักร เป็นอันดับที่สอง ยอดซื้อเฉลี่ย 1,629 เหรียญ หรือประมาณ 53,757 บาท ตามมาด้วยสวีเดน ซื้อของออนไลน์เฉลี่ย 1,446 เหรียญ หรือประมาณ 47,718 บาทต่อคน ญี่ปุ่นมาเป็นอันดับที่ 7 ด้วยยอด 968 เหรียญ และจีนมาเป็นอันดับที่ 8 ด้วยยอดซื้อเฉลี่ย 626 เหรียญต่อคน

    ท่านอาจจะอยากทราบว่า ผู้ซื้อเป็นใครกัน ดูแล้วก็มีทุกช่วงอายุค่ะ แต่ถ้าเป็นขาประจำซื้อทุกสัปดาห์ มีวัย 30-39 ปี เป็นสัดส่วนสูงที่สุด คือ คิดเป็น 37% ของลูกค้าซื้อบ่อยทั้งหมด  ถัดมาเป็นวัย 18-29 ปี มีสัดส่วน 35%  วัย 40-49 ปีมีสัดส่วน 23% วัย 50-64 ปี มีสัดส่วน 17%  และวัย 65 ปีขึ้นไปมีสัดส่วน 11%

    ท่านอาจจะคิดว่าผู้หญิงน่าจะซื้อบ่อยกว่า แต่ไม่ใช่ค่ะ 30% ของผู้ชายที่ซื้อของออนไลน์ ซื้ออย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์ อีก 32% ซื้ออย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อเดือน และ 38% ซื้ออย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปี  ส่วนผู้หญิงนั้น มีเพียง 18% ที่ซื้ออย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์  มีอยู่ 40% ที่ซื้ออย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อเดือน และ 42% ซื้ออย่างน้อยหนึ่งครั้งต่อปี

    สำหรับอุปกรณ์ที่ใช้ทำคำสั่งซื้อนั้น ส่วนใหญ่คือ 53.9% ยังใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล หรือพีซี อยู่นะคะ คงเพราะว่าจอใหญ่เห็นภาพสินค้าชัดเจน และโอกาสคีย์พลาดน้อยกว่า โดยเฉพาะใช้ซื้อของมูลค่าสูง เพราะเครื่องพีซี มีสัดส่วนในการซื้อ 76.9% ของมูลค่าสินค้าเลยทีเดียว  ส่วนโทรศัพท์มือถือ จะใช้ส่งคำสั่งซื้อมูลค่าน้อยกว่า คือ มีการใช้เป็นอุปกรณ์สั่งซื้อ 33.7%ของคำสั่ง แต่มีมูลค่าเพียง 10.7% ของมูลค่าการสั่งซื้อทั้งหมด  ส่วนที่เหลือ 12.4% ใช้แท้ปเล็ตเป็นอุปกรณ์ในการส่งคำสั่งซื้อ และมีมูลค่า 12.4% ของมูลค่าทั้งหมดด้วยค่ะ

    นำข้อมูลมาให้ดูเล่นสนุกๆค่ะ เพื่อชี้ให้เห็นว่า ผู้ค้าปลีกไม่สามารถละเลยการเปิดร้านออนไลน์ได้เลย เพราะแนวโน้มยังเพิ่มขึ้นทุกปีค่ะ
[/size]
โพสต์โพสต์