โค้ด: เลือกทั้งหมด
ประเทศไทยเริ่มมีรถยนต์ที่เรียกว่า Hybrid มาจำหน่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นรถที่มีทั้งเครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine หรือ ICE) มอเตอร์ไฟฟ้าร่วมกันขับเคลื่อน แต่ก็ยังเป็นรถยนต์ระดับบนที่ราคาแพง จึงยังห่างไกลจากการที่เราจะได้เห็นรถไฟฟ้า 100% (electric vehicle หรือ EV) มาทดแทนรถ ICE ในเร็ววันนี้ แต่ผมก็ยังเชื่อว่าเราจะได้เห็นรถ ICE ถูกทดแทนด้วยรถ EV ภายในประมาณ 15-20 ปีข้างหน้านี้
ยอดขายรถ EV ก็ยังอยู่ที่ประมาณ 1 ล้านคันในปี 2018 นี้ แต่ก็น่าจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดต่อไป เพราะผู้ผลิตรายใหญ่ โดยเฉพาะจากเยอรมันจะนำเสนอรถไฟฟ้าผสม (Hybrid) มาสู่ตลาดไทยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้น บริษัทโตโยต้า ประกาศจะเร่งลงทุนผลิตแบตเตอรี่เพื่อนำไปใช้ในรถ Hybrid ที่จะเร่งขยายการประกอบและผลิตในประเทศไทย แต่เมื่ออ่านดูในรายละเอียดแล้ว กลับพบว่า แบตเตอร์รี่ที่จะผลิตในประเทศไทยนั้น เป็นประเภท Nickel Metal Hydride (NiMH) ไม่ใช่ Lithium ion (Li-ion) Ni MH นั้น เป็นแบตเตอรี่รุ่นเก่า และเป็นเทคโนโลยีที่รอการเปลี่ยนผ่าน เพราะในที่สุดแล้ว การพัฒนาให้รถ EV เป็นรถที่จะใช้กันอย่างแพร่หลายจนสามารถทดแทนรถ ICE ได้นั้น จะต้องพึ่งพาการพัฒนา Li-ion ให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และ/หรือ คิดค้นแบตเตอร์รี่ที่มีประสิทธิภาพเหนือกว่า Li-ion เช่น บริษัท โตโยต้า ประกาศว่าจะผลิต แบตเตอร์รี่ประเภท Solid State Lithium เป็นต้น
แบตเตอร์รี่ Ni MH ที่ผลิตในประเทศไทยนั้น มีข้อดีคือ ราคาถูกและสามารถทนต่ออุณหภูมิสูง (ไม่ระเบิด) จึงเหมาะสมกว่า สำหรับการนำมาใช้ในประเทศไทย แต่ผมเข้าใจว่า รถโตโยต้า ที่ผลิตขายในประเทศญี่ปุ่น และที่อื่นนั้น ใช้ Li-ion เพราะ Ni MH นั้น มีน้ำหนักมากกว่าและเก็บไฟได้น้อยกว่า Li-ion
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. Bloomberg รายงานว่า การจะให้มีการใช้รถ EV อย่างแพร่หลายนั้น จะต้องมีการลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับรถ EV มีมูลค่าสูงถึง 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยอ้างการประเมินของ Goldman Sachs กล่าวคือ รถ EV จะต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก และยังจะต้องสร้างสถานีเพื่อการชาร์จไฟให้รถ EV อย่างเพียงพอตามจำนวนรถ EV ที่มาทดแทนรถ ICE ซึ่งเงิน 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐนั้น เท่ากับ 7.5-8.0% ของ จีดีพีของโลก ดังนั้น บทความจึงสรุปว่า “Drivers will have to wait a while longer”
แต่จะต้องรออีกนานเท่าไหร่นั้น ก็ต้องบอกว่าขึ้นอยู่กับทุนการผลิตแบตเตอร์รี่เป็นหลัก กล่าวคือ ปัจจุบัน ราคา Li-ion อยู่ที่ 208 เหรียญต่อ 1 kWh ดังนั้นรถ EV จึงต้องใช้แบตเตอร์รี่ขนาด 60 kWhจึงมีต้นทุนเฉพาะในส่วนของ แบตเตอร์รี่ เท่ากับ 12,480 (412,000 บาท) หรือหากเป็นรถหรูที่ต้องใช้พลังงานมาก เช่นรถ Tesla รุ่น Model S ก็อาจมี Li-ion ที่มีขนาดใหญ่ถึง 90kWh ซึ่งจะทำให้ค่าแบตเตอร์รี่อย่างเดียวเท่ากับ 618,000 บาท เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันรถ EV ยังราคาสูงเกินกว่าที่จะขายแข่งกับรถ ICE ที่ปัจจุบันราคาคันละ 600,000บาท
อย่างไรก็ดี เริ่มมีการพัฒนาการดัดแปลงการผสมผสานพลังงาน EV กับ ICE เช่น รถนิสสัน Note ที่ปัจจุบันเป็นรถยนต์ราคาย่อมเยาว์ ที่ขายไปทั่วโลก ในราคาประมาณ 600,000 บาท และกำลังจะนำรุ่น Note e-power มาขายในประเทศไทยในปีหน้า โดยรถจะขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า 100% และพลังงานจะมาจากแบตเตอร์รี่ Li-ion ที่ซ่อนเอาไว้ใต้ที่นั่งคนขับและคนนั่งข้างหน้า เพราะมีขนาดเล็ก แต่จะไม่สามารถนำรถขับเคลื่อนไปได้ไกลมาก จึงต้องมีเครื่องยนต์ 3 สูบ 1,200 ซีซี ที่ต้องเติมน้ำมันเพื่อปั่นไฟเข้าแบตเตอร์รี่เมื่อจำเป็น โดยนิสสันประเมินว่ารถจะใช้น้ำมันน้อยมากเพราะเครื่องจะใช้งานเมื่อจำเป็นเท่านั้น
ผมคิดว่า แนวคิดและระบบนี้จะเป็นการผสมผสาน 2 ระบบ ได้ดีกว่าระบบ hybrid ปัจจุบัน ที่มีความสลับซับซ้อน นอกจากนั้น ระบบของนิสสัน มีความยืดหยุ่น สามารถลดบทบาทของเครื่องยนต์ไปได้เรื่อยๆ เมื่อ Li-ion ถูกพัฒนาให้มีน้ำหนักเบาขึ้น มีขนาดเล็กลง จนในที่สุดก็จะไม่ต้องพึ่งพาเครื่องยนต์เป็น range extender อีกต่อไป
ดังนั้น ราคาแบตเตอร์รี่ จึงจะเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนความนิยม และความแพร่หลายของ EV ในอนาคต ซึ่ง Bloomberg เองก็บอกว่าราคา Li-ion ลดลงอย่างรวดเร็วจาก 599 เหรียญต่อ 1 kWh เมื่อปี 2013 มาเป็น 208 เหรียญในปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อใดที่ราคา Li-ion ลดลงเหลือ 100 เหรียญ ต่อ 1 kWh ก็น่าจะทำให้ราคารถ EV แข่งขันได้กับรถ ICE ในทุกระดับ ซึ่งอาจใช้เวลาอีกเพียง 5 – 10 ปีก็ได้
การที่รถ EV จะมาทดแทน ICE นั้น เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน (disruptive technology) เพราะ EV จะนำไปสู่ AV (autonomous vehicle) หรือรถขับเองได้ ซึ่งผมจะกล่าวถึงในครั้งต่อไป