โค้ด: เลือกทั้งหมด
หลังจากที่เขียนหลักเกณฑ์ในการลงทุนจบไป 5 ข้อ ดิฉันก็ขอแทรกข้อคิดจากการลงทุนที่นักลงทุนระดับ “กูรู” ผู้เป็นตำนานในโลกนี้ ได้กล่าวเอาไว้ เพื่อให้ท่านได้ศึกษาค่ะ
บิลล์ กรอส (Bill Gross) อายุ 74 ปี ผู้ก่อตั้งร่วมของพิมโก ซึ่งมีเงินลงทุนภายใต้การจัดการ 1.75 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ กล่าวว่า “หาคนที่ดีที่สุด หรือองค์กรที่ดีที่สุดมาทำหน้าที่ลงทุนให้คุณ เป็นการตัดสินใจทางการเงินที่สำคัญที่สุด ที่คุณจะสามารถทำได้ในชีวิตนี้”
ปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch) อายุ 74 ปี ผู้บริหารฟิเดลิตี้อินเวสเมนท์ ซึ่งมีเงินลงทุนภายใต้การจัดการ 2.4 ล้านล้านเหรียญ กล่าวว่า “ข้อได้เปรียบในการลงทุนไม่ใช่สิ่งที่คุณได้จากผู้เชี่ยวชาญในตลาดหุ้น แต่เป็นสิ่งที่คุณมีอยู่แล้ว คุณสามารถทำได้ดีกว่าผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย หากคุณใช้ข้อได้เปรียบในการลงทุนในอุตสาหกรรมที่คุณมีความเข้าใจอยู่แล้ว” และ “ให้รู้จัก(หลักทรัพย์)ที่ลงทุน และให้รู้ว่าทำไมจึงลงทุน(ในหลักทรัพย์นั้น)”
วอร์เรน บัฟเฟตต์ วัย 87 ปี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ เบิร์กไชร์ แฮทธะเวย์ ซึ่งมีเงินลงทุนภายใต้การจัดการ 702,100 ล้านเหรียญสหรัฐ กล่าวว่า “เราเพียงแต่ต้องพยายามกลัว ในขณะที่คนอื่นๆกำลังโลภ(กล้าบ้าบิ่น) และพยายามโลภ(ใจกล้า)เฉพาะในตอนที่คนอื่นกลัว” ข้อความในวงเล็บเป็นข้อความที่ดิฉันเขียนเพื่อขยายความให้ชัดเจนขึ้นค่ะ
นอกจากนี้วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังแนะนำด้วยว่า “อย่าพึ่งพิงรายได้จากแหล่งเดียว จงลงทุนเพื่อหารายได้แหล่งที่สอง” ก็คือให้เงินทำงานนั่นเอง
จริงแล้วแนวคิดให้เงินทำงาน ดิฉันนำมาใช้ตั้งแต่เกือบสามสิบปีก่อน ตอนเข้าสู่วงการจัดการลงทุนใหม่ๆ และได้ไปพูดในงานสัมมนาและออกรายการหลายแห่ง ถึงการ “ให้เงินทำงาน” และในภายหลัง ตลาดหลักทรัพย์ โดยคุณวิเชฐ ตันติวานิช พัฒนามาเป็น โครงการ “ให้เงินทำงานผ่านกองทุนรวม” ค่ะ
เบนจามิน เกรแฮม ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 1894 ถึง 1976 “บิดาแห่งการลงทุนสมัยใหม่” และเป็นผู้ที่วอร์เรน บัฟเฟต์ และชาร์ลี มังเกอร์ รองประธานของเบิร์กไชร์แฮทธะเวย์ ยึดถือและดำเนินรอยตาม กล่าวว่า “ในระยะสั้น ตลาดเหมือนกับเครื่องนับคะแนนเสียง แต่ในระยะยาว ตลาดเหมือนเครื่องชั่งน้ำหนัก” และ “ผู้ลงทุนบุคคลควรจะทำตัวให้เป็นนักลงทุนอย่างคงเส้นคงวา ไม่ควรทำตัวเป็นนักเก็งกำไร”
ลิล์ มิลเลอร์ (Bill Miller) วัย 68 ปี อดีตประธานเจ้าหน้าที่ลงทุนของ เลกก์เมสัน แคปิตอลแมนเนจเมนท์ ซึ่งมีเงินลงทุนภายใต้การจัดการ 752,300 ล้านเหรียญ กล่าวว่า “การลงทุนแบบคุณค่า หมายถึงการถามอย่างจริงจังว่า อะไรมีคุณค่าที่สุด ไม่ใช่ทึกทักเอาว่า อะไรที่ดูแพงว่าก็เป็นของมีคุณค่า หรือสมมุติเอาว่าเพราะราคาหุ้นตกและซื้อขายกันที่ค่าพีอีต่ำ หุ้นนั้นจึงเหมือนได้ซื้อของถูก”
พอล แซมวลสัน (Paul Samuelson) บิดาแห่งวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 1915-2009 ว่ากันว่า ตำราเศรษฐศาสตร์มหภาคของท่าน เป็นตำราที่มีผู้ใช้มากที่สุด ท่านกล่าวว่า “การลงทุนควรจะเหมือนกับการรอให้สีที่ทาไว้แห้ง หรือเฝ้ารอให้หญ้าที่ปลูกไว้ยาวขึ้น (ดังนั้น)ถ้าท่านต้องการความตื่นเต้น ควรจะเอาเงินสัก 800 เหรียญแล้วเดินทางไปลาสเวกัส (เมืองที่มีบ่อนพนันถูกกฎหมายเต็มสองฝากถนน)”
เซอร์จอห์น เทมเพิลตัน (Sir John Templeton) ผู้ก่อตั้งบริษัทลงทุนเทมเพิลตัน เกลแบรธ แอนด์ ฮันสเบอร์เกอร์ (ควบรวมกับแฟรงคลิน เป็นแฟรงคลิน เทมเพิลตัน อินเวสเมนท์ส เมื่อปี 1992 ปัจจุบันมีเงินลงทุนภายใต้การจัดการ 740,000 ล้านเหรียญ) ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 1912 ถึง 2008 “สี่คำที่อันตรายที่สุดในการลงทุนคือ ‘ครั้งนี้ ไม่ เหมือน ครั้งก่อน’” เมื่อเชื่อว่าจะแตกต่าง ผู้ลงทุนจะพยายามฝืนแนวโน้มตลาด และโดยมากจะเจ็บตัว นอกจากนี้ ประโยคสำคัญที่ทำให้ท่านมีชื่อเสียงโด่งดังคือ “จงซื้อเมื่อเลือดนองตามท้องถนน” หมายถึงจังหวะเข้าลงทุนที่ดีคือเมื่อสถานการณ์เลวร้ายที่สุด
อย่างไรก็ดี คำคมเกี่ยวกับการลงทุนที่ดิฉันชอบที่สุด เป็นคำคมที่ไม่ทราบที่มาว่าใครเป็นผู้กล่าวเอาไว้ คือ “ผู้ลงทุนที่ไม่มีเป้าหมายในการลงทุน เปรียบเสมือนนักเดินทางที่ไม่มีจุดหมายปลายทาง” (An investor without investment objectives is like a traveler without a destination.)
วันนี้ท่านมีจุดหมายปลายทางในการเดินทาง หรือมีเป้าหมายในการลงทุนแล้วหรือยังคะ