โค้ด: เลือกทั้งหมด
ระหว่างที่ดิฉันเขียนกฎลงทุนไปสี่ข้อ ตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกก็ผันผวนและปรับตัวลดลงเป็นอย่างมาก จนดิฉันต้องรีบเขียนถึงกฎข้อนี้ค่ะ
ผู้ลงทุนทุกคน ต้องเข้าใจธรรมชาติของการลงทุนว่า “การลงทุนย่อมมีความเสี่ยง” ดังนั้นความผันผวนของราคาจึงเป็นเรื่องปกติ ผันผวนมากก็หมายความว่าเสี่ยงมาก ผันผวนน้อยก็หมายความว่าเสี่ยงน้อย และไม่มีอะไรที่ไม่เสี่ยงเลยนะคะ เพราะแม้แต่ท่านถือเงินสดไว้ ท่านก็เสี่ยงต่อการที่เงินจะลดค่า อำนาจซื้อหดหายไปจากอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น
ทีนี้ เข้าใจธรรมชาติของการลงทุนแล้ว ควรทำอย่างไร
อย่างแรกเลยคือ “ทำใจ” ให้รับกับเหตุการณ์ต่างๆได้ การทำใจที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนมีหลายประเด็นค่ะ ยกตัวอย่างเช่น
- ได้กำไรแล้วไม่ได้ขาย พอราคาตกลงมา ก็ต้องทำใจว่า ไม่ต้องเสียใจ
ลงทุนแล้ว ราคาไม่ขึ้นไปตามที่คาด ก็ไม่ต้องเจ็บใจว่าเลือกผิดตัว
หลายครั้งที่เราพลาดโอกาสลงทุน เพราะซื้อไม่ทัน กลัวเกินไป หรือมัวแต่เกี่ยงราคาอยู่ ก็ไม่ต้อง “เสียดาย” โอกาสหน้ายังมีใหม่ ราคามีขึ้น ก็ต้องมีลงค่ะ อย่างน้อย ไม่ได้ลงทุนอะไรในช่วงที่ตลาดผันผวน ก็ยังมีเงินลงทุนเท่าเดิม ไม่ได้ลดหายลงไป
- บางท่านหวงหลักทรัพย์ คือชอบหลักทรัพย์นั้นมากๆ รู้สึกผูกพัน อยากเป็นเจ้าของกิจการนั้นตลอดไป หากเกิดกรณีอย่างนี้ ท่านนำอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้องมากเกินไป อาจทำให้ท่านเสียโอกาสในการทำกำไร ต้องคิดว่า “โอกาสซื้อ” มีตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าจะซื้อได้ในราคาใดเท่านั้น ดังนั้น ต้องทำใจให้ลดความผูกพันลงนะคะ
อย่างที่สองที่ควรปฏิบัติคือ “ลงทุนสวนกระแส” หมายความว่าดังนี้
- ขายทำกำไร เมื่อคนส่วนใหญ่อยากจะซื้อ (แน่นอนว่า ราคาต้องขึ้นไปแตะเต็มหรือใกล้จะเต็มตามมูลค่าพื้นฐานแล้ว)
- ซื้อเมื่อคนอื่นตกใจขาย เมื่อคนส่วนใหญ่ตกใจและเทขายหลักทรัพย์ออกมา หากเราศึกษาว่าดีแล้ว ทราบราคาเป้าหมายแล้ว เราต้องกล้าที่จะซื้อค่ะ และหากตลาดเป็นขาลง ควรทยอยซื้อเมื่อเห็นว่าราคาลงมาถึงจุดที่น่าสนใจแล้ว อย่างที่ดิฉันแนะนำไว้ ในสัปดาห์ก่อนคือ มีเผื่อเป้าหมายกำไรประมาณ 15% อย่างไรก็ดี ต้องตั้งงบประมาณในการลงทุนไว้ด้วยนะคะ ไม่ควรซื้อจนขาดสภาพคล่องหรือหมดเงินลงทุน
- ทั้งนี้ควรดูปัจจัยทางเทคนิคประกอบจังหวะในการ เข้า-ออก จากการลงทุนด้วยค่ะ เพราะปัจจัยทางเทคนิค ขึ้นอยู่กับหลักการที่ว่า “ประวัติศาสตร์ย่อมซ้ำรอย” และ ในที่สุด ทุกอย่างก็จะต้องเข้ามาสู่ดุลยภาพ หมายความว่า ตกลงไปมากเกินไห เดี๋ยวก็ต้องปรับตัวขึ้นมา และ ขึ้นไปมากเกินไป เดี๋ยวก็ต้องปรับตัวลดลง เป็นต้น แต่ขอเตือนว่า อย่าทำตามปัจจัยเทคนิคทั้งหมด ต้องยึดปัจจัยพื้นฐานไว้เป็นหลักเสมอ
มีคนถามว่า “ทำใจ” อย่างเดียวได้ไหม ไม่ต้องทำอะไรเลย
ตอบว่า “ได้” ค่ะ โดยเฉพาะตอนตลาดเป็นขาลง และไม่มีเงินซื้อแล้ว ซึ่งสิ่งที่ท่านจะเสียไปคือ เสียโอกาสเท่านั้นเอง
อย่างที่สามที่ควรปฏิบัติ คือ “ตั้งสติ” และทบทวน ต้องดูว่าปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์นั้นเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ หากไม่เปลี่ยน อาจถือลงทุนต่อ หรือหากราคาตกลงไปมากๆ อาจลงทุนเพิ่ม แต่ หากปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยนไปในทางลบ อาจต้องตัดสินใจขายขาดทุน มิฉะนั้นอาจขาดทุนเพิ่ม
บ่อยครั้งที่การ “อดทน” รอต่อสัก 1 สัปดาห์ หรือแม้กระทั่ง 1-2 วัน ช่วยไม่ให้ขาดทุนได้มาก หรืออาจจะซื้อได้ในราคาถูกลง
อย่างไรก็ดี หากปัจจัยพื้นฐานของหลักทรัพย์นั้นๆเปลี่ยน แต่ภาพรวมของตลาดไม่เปลี่ยน ผู้ลงทุนอาจจะต้องเปลี่ยนหลักทรัพย์ที่ลงทุน หรือที่ภาษาที่นักลงทุนทั่วไปใช้คือ “เปลี่ยนตัวเล่น”
แต่หากภาพรวมของตลาดเปลี่ยนด้วย ต้องทบทวนว่า อาจจะต้องปรับสัดส่วนการลงทุนไปลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เช่น ถือครองเงินสดเพิ่ม แล้วรอดูจังหวะเข้าลงทุนใหม่ เป็นต้น
ทั้งนี้ อย่างที่สี่ที่ควรปฏิบัติ และเป็นสิ่งที่สำคัญในการลงทุนคือ “มีวินัย”ค่ะ ตั้งเป้าหมายจะขาย ควรต้องขาย อยากจะซื้อก็ตั้งราคาที่เหมาะสมไว้ อาจทบทวนได้นิดหน่อยว่ามีปัจจัยอื่นเปลี่ยนแปลงในทางบวกไหม เผื่อจะปรับเป้าหมายเพิ่มนิดหน่อย แต่หากไม่มี ก็ควรทำตามเป้าหมายที่ตั้งค่ะ และการตั้งงบประมาณในการลงทุน ไม่ทุ่มลงทุนจนหมดสภาพคล่องหรือเดือดร้อน ถือเป็นวินัยในการลงทุนอย่างหนึ่ง
ในการปรับตัวของตลาดหุ้น หากราคาลดลงไป 10 ถึง 15% เราจะเรียกกันว่าเป็นการ “ปรับตัว” หรือ “ปรับฐาน” ของตลาด หรือ Market Correction ซึ่งจะใช้เวลาไม่นานในการฟื้นตัว แต่หากราคาลดลงไปเกินกว่า 20% ในทางการลงทุนถือว่าเป็นภาวะ “ตลาดหมี” หรือ Bear Market ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลานานกว่าในการฟื้นตัว
ตลาดหุ้นไทยที่ลงมาจาก 1,852.51 ในเดือนมกราคม มาถึงวันศุกร์ที่ 26 ตุลาคม ที่ 1,628.96 เท่ากับปรับตัวลดลง 12.04% ยังอยู่ในนิยาม “ปรับตัว” หรือ “ปรับฐาน” (Correction) อยู่ค่ะ