การปรับขึ้นของดอกเบี้ย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

การปรับขึ้นของดอกเบี้ย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

เวลาพูดถึงดอกเบี้ย เรามักจะนึกถึงการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนโยบาย เช่น ธนาคารกลางสหรัฐปรับดอกเบี้ยขึ้นล่าสุด ในเดือน ก.ย.อีก 0.25% ไปอยู่ที่ 2.00-2.25% ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 1.5% และธนาคารแห่งประเทศไทยส่งสัญญาณว่า ควรหาจังหวะปรับดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการคาดการณ์กันว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งต่อไปในเดือน พ.ย. หรือในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีในวันที่ 19 ธ.ค. ซึ่งตรงกับวันประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐพอดี ทั้งนี้ตลาดคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในวันดังกล่าว และเสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐเองก็ยังคาดการณ์ต่อไปอีกว่า จะต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปอีก 3 ครั้งในปีหน้า แปลว่า จากวันนี้ถึงปลายปีหน้า ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐมีแนวโน้มว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไปอีก 1% หรือไปอยู่ที่3.00-3.25% ในปลายปี 2019

แต่เรื่องของดอกเบี้ยนั้น มิได้มีเพียงแต่ดอกเบี้ยนโยบายที่มีแนวโน้มว่าจะปรับตัวสูงขึ้น เพราะข่าวสำคัญในช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา คือการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างค่อนข้างรวดเร็วของดอกเบี้ยระยะยาวได้แก่ ผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของรัฐบาลสหรัฐ ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.8-3.0% มาตั้งแต่ต้นปี 2018 จนกระทั่งเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา แต่ในเดือน ต.ค.ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วมาอยู่ที่ระดับ 3.18% ดอกเบี้ยระยะยาวนี้ น่าจะมีความสำคัญมากกว่าดอกเบี้ยนโยบายสำหรับบางกลุ่มเช่น รัฐบาลสหรัฐที่ขาดดุลงบประมาณ และต้องออกพันธบัตร (กู้ยืมเงินจากประชาชน) และบริษัทขนาดใหญ่ที่ออกพันธบัตรเช่นกัน และต้องอ้างอิงดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาล ตลอดจนประชาชนที่กู้ยืมเงินระยะยาวที่คิดดอกเบี้ยลอยตัวมาซื้อที่อยู่อาศัยเป็นต้น ที่สำคัญอีกด้านหนึ่งสำหรับประเทศไทยคือ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี ของรัฐบาลสหรัฐ นั้น น่าจะเป็นตัวแปรสำคัญในการทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวทั่วโลก ต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นไปด้วย ในกรณีของดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลไทยนั้น มีความสัมพันธ์ทางสถิติกับดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐค่อนข้างสูง คือ correlation ประมาณ 85% ทั้งนี้จากข้อมูลดอกเบี้ยรายเดือนจากปี 2000 เป็นต้นมา

ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องติดตามดูดอกเบี้ยระยะยาวพร้อมไปกับดูแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐถูกกดลงให้ต่ำผิดปกติจากนโยบายคิวอี ของธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวคือ ธนาคารกลางสหรัฐพิมพ์เงินใหม่เข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ เพื่อดันราคาพันธบัตรให้สูง (และทำให้รัฐบาลสหรัฐกู้เงินได้ที่ดอกเบี้ยต่ำ) ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ทั่วไป โดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงคือ หุ้นราคาปรับตัวสูงขึ้นไปด้วย เพื่อช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวได้โดยเร็วจากวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2007

แม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าในช่วง 2008-2016 แต่ขณะนี้ก็กำลังฟื้นตัวอย่างร้อนแรง เพราะมีแรงขับเคลื่อนจากการใช้นโยบายการคลังของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และลดทอนคิวอี (กล่าวคือ ไม่ซื้อพันธบัตรรัฐบาลอีก และยังปล่อยให้พันธบัตรรัฐบาลที่ซื้อมาก่อนหน้าหมดอายุลงไปเดือนละ 30,000 ล้านเหรียญ สำหรับพันธบัตรรัฐบาล และ 20,000 ล้านเหรียญ สำหรับพันธบัตรเอกชนที่มีอสังหาริมทรัพย์ เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ) ทั้งนี้ เป็นที่เข้าใจว่าธนาคารกลางสหรัฐจะดำเนินการลดทอนคิวอีอย่างไม่ลดละ แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวของสหรัฐ จะส่งผลลบต่อประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศ นอกจากนั้น ธนาคารกลางสหรัฐยังคาดการณ์ว่าจะต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นไปอีก 1% ใน 1 ปี ข้างหน้า ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัวสูงกว่าเกณฑ์ตลาดแรงงานตึงตัวอย่างมาก และเงินเฟ้อก็ปรับตัวสูงขึ้น ถึงเป้า คือ 2% ต่อปีไปแล้ว

บางคนคาดหวังว่า หากสหรัฐเห็นผลกระทบในทางลบต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ธนาคารกลางสหรัฐก็อาจชะลอหรือยุติการปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ผมสงสัยว่า ครั้งนี้จะถอยได้ยากเพราะเศรษฐกิจสหรัฐร้อนแรงจริงๆ ดังนั้น หากเราจะเห็นดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ10 ปี เกินกว่า 4% ภายในปลายปี 2019 ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไรเพราะดอกเบี้ยนโยบายก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ในช่วงเวลาดังกล่าว และหากมองกลับไปจากจุดต่ำสุดของดอกเบี้ยพันธบัตร 10 ปี ของรัฐบาลก็จะเห็นว่า อยู่ที่ 1.38% เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2016 และจากวันนั้นถึงวันที่ 4 ตุลาคม 2018 ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาที่ 3.18% (ปรับขึ้น รวม 1.8%) ในขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐก็ถูกปรับขึ้นจาก 0.25-0.50% ในปี 2016 อีก 7 ครั้ง โดยปรับขึ้นครั้งละ 0.25% หรือ รวมทั้งสิ้น 1.75% มาอยู่ที่ 2.00-2.25% ดังนั้น หากดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นอีก 1% และดอกเบี้ย 10 ปี ก็ปรับเพิ่มขึ้นอีก 1% เช่นนั้น ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด

บางคนอาจยังไม่พอใจกับคำอธิบายดังกล่าว เพราะอยากรู้ถึงปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต เรื่องนี้ผมขอนำเสนอในสัปดาห์หน้าครับ
[/size]
โพสต์โพสต์