เดือน ก.ย.2018 เป็นโอกาสครบรอบ 10 ปี หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้น ก่อนหน้าที่เราได้เห็นสถาบันการเงิน Lehman Brothers ของสหรัฐล่มสลาย และผลพวงจากวิศวกรรมทางการเงินที่เรียกกันว่า securitization หรือการแปลงหนี้เป็นตราสาร โดยสถาบันการเงินสหรัฐได้นำไปสู่วิกฤติที่เราเรียกกันว่า วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ แต่ในต่างประเทศมักจะเรียกกันว่า The Great Recession
ผมอยากมองไปในอนาคตว่า เศรษฐกิจโลกในอีก 10 ปีข้างหน้าจะมีแนวโน้มอย่างไร ซึ่งต้องยอมรับว่าดูแล้วไม่น่าไว้วางใจมากนัก เพราะพอจะสรุปได้ว่าเศรษฐกิจโลกปัจจุบันนั้น “แข็งนอก แต่อ่อนใน” กล่าวคือ ดูเหมือนว่า จะขยายตัวไปด้วยดีต่อไปได้ แม้จะมีข้อกังวลเกี่ยวกับนโยบายการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ อยู่บ้าง และเห็นถึงผลกระทบต่อประเทศตลาดเกิดใหม่บางประเทศจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ แต่ผมเกรงว่าเศรษฐกิจโลกนั้น ภายในอ่อนแอกว่าที่คิด ซึ่งผู้ที่มองอนาคตในแง่ลบคือ นายNouriel Roubini ในบทความ “The Making of a 2020 Recession and Financial Crisis” ซึ่งเขาสามารถหาเหตุมาอ้างได้ถึง 10เหตุผล ที่จะนำไปสู่สภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และวิกฤติทางการเงินในอีก 2 ปี ข้างหน้า สำหรับผมนั้น มองว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะเข้าสู่สภาวะถดถอยได้ภายใน 2 ปี ข้างหน้า และจะอยู่ในสภาวะที่ตกต่ำไปนาน (ไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว เช่นปี 2008) แต่ไม่น่าจะเข้าสู่สภาวะวิกฤติอย่างเฉียบพลันเช่นที่ได้เกิดขึ้นในเดือน ก.ย. 2008
ในความเห็นของผม เศรษฐกิจโลกขยายตัวได้ดีในขณะนี้ เพราะแรงกระตุ้นจากนโยบายการคลังของสหรัฐ แต่ทำผิดจังหวะ คือกระตุ้นตอนที่เศรษฐกิจขยายตัวเต็มศักยภาพแล้ว (จีดีพี ควรโต 2% ต่อปี แต่ปัจจุบันขยายตัว 3.5% ต่อปี) ในขณะที่อัตราการว่างงานต่ำเป็นประวัติการณ์ ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐสูงกว่าเป้าหมายแล้ว เศรษฐกิจสหรัฐจึงเสมือนกับการเหยียบเบรคและคันเร่งไปพร้อมกัน
แต่การปรับขึ้นดอกเบี้ยดังกล่าว กำลังจะเป็นภัยอัตรายอย่างมาก ต่อเศรษฐกิจโลกที่อาศัยช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ที่นโยบายการเงินผ่อนคลายอย่างผิดปกติทั่วโลก กู้เงินเพิ่มและมีหนี้สินมากขึ้นอย่างที่ได้เคยมีมาก่อน เห็นได้จาก ตารางข้างล่างที่ผมรวบรวมข้อมูลมาจาก Bloomberg รัฐบาลสหรัฐ และ ธนาคารโลก ซึ่งสรุปประเด็นสำคัญ ๆ ได้ดังนี้
เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวอย่างเชื่องช้าจากวิกฤติเมื่อปี 2008 กล่าวคือ จีดีพีโลกเพิ่มขึ้นเพียง 34% ในช่วง 10 ปี ระหว่าง 2008 ถึง 2018 ทำให้ต้องดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมาก (ดอกเบี้ยนโยบายที่ศูนย์ และพิมพ์เงินใหม่ ซื้อพันธบัตร หรือคิวอี) ผลที่ตามมาคือ ราคาสินคทรัพย์เสี่ยง (หุ้น) ปรับเพิ่มขึ้น ถึง 135-142% ในช่วงเดียวกัน
นอกจากนั้นดอกเบี้ยต่ำอย่างยาวนานทำให้มีการกู้ยืมเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าวิกฤติปี 2008 เกิดจากการกู้หนี้ยืมสินมากเกินไป แต่ในช่วง2008 -2018 นั้น ระบบธนาคารของประเทศชั้นนำ ถูกควบคุมอย่างหนัก จึงไม่สามารถขยายสินเชื่อได้ ทำให้หนี้สินของสถาบันการเงินเพิ่มขึ้น เพียง 5.17% จาก 58 ล้านล้านเหรียญในปี 2008 เป็น 61 ล้านล้านเหรียญ ในปี 2018
ฝ่ายที่กู้เงินและเป็นหนี้เพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วงคือ ภาครัฐบาล ซึ่งกู้หนี้เพิ่มขึ้น 91.43% (จาก 35 ล้านล้านเหรียญ มาเป็น 67 ล้านล้านเหรียญ) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลกลางสหรัฐ ซึ่งมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจาก 9.99 ล้านล้านเหรียญ มาเป็น 21.48 ล้านล้านเหรียญ กล่าวคือ เพิ่มขึ้น 115.02% และจะต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคต เพราะกำลังจะขาดดุลงบประมาณกว่า 1 ล้านล้านเหรียญ ต่อไปใน 10 ปี ข้างหน้า
อย่างไรก็ดี ภาคส่วนที่อ่อนแอที่สุดของเศรษฐกิจโลก คือ ประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งมีหนี้สินเพิ่มขึ้นจาก 16 ล้านล้านเหรียญ ในปี 2008 มาเป็น 29 ล้านล้านเหรียญ ในปี 2018 ซึ่ง คิดโดยรวม น่าจะเป็นประมาณ 140% ของ จีดีพี แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ หนี้สินที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในประเทศจีนจาก 7 ล้านล้านเหรียญ มาเป็น 40 ล้านล้านเหรียญ หรือประมาณ 250% ของ จีดีพี จีน ซึ่ง แม้ว่าหนี้สินส่วนใหญ่จะเป็นหนี้เงินหยวน แต่นโยบายการเงินของสหรัฐกำลังส่งผลให้ดอกเบี้ยต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก
ธนาคารกลางสหรัฐ กดดอกเบี้ยต่ำที่ 0-0.25% ยาวนานถึง 7 ปีเต็ม (ธันวา 2008 – ธันวา 2015) และ ตอนที่ปรับขึ้น 1% แรก ก็ใช้เวลานานถึง 1.5 ปี (ธันวาคม 2015 – มิถุนายน 2017) จึงปรับขึ้นอีก 1% ใน 1ปีข้างหน้า ถ้าปรับดอกเบี้ยขึ้นอีก 1% ซึ่งจะซ้ำเติมประเทศ(และรัฐบาล) ที่มีหนี้สินมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ครับ
เศรษฐกิจโลก 10 ปี หลังวิกฤติ : แข็งนอกแต่อ่อนใน/ดร.ศุภวุฒิ
-
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2