ประชากรที่แก่ตัวลงของไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

ประชากรที่แก่ตัวลงของไทย/ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

ผมอ่านข่าวเกี่ยวกับสัมมนาแถลงผลการวิจัยของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อ 4 ก.ย.ที่ผ่านมาเรื่องกลยุทธการตลาด Silver Age (คนแก่) Content Marketing โดยสรุปจากผลสำรวจกลุ่มตัวอย่าง อายุ 55-70 ปี จำนวน 604 คน ซึ่งมีข้อสรุปที่น่าสนใจดังนี้

    - คนกลุ่มนี้ จะนิยมใช้ไลน์ (Line) มากที่สุดโดยเฉพาะช่วงเช้า เพื่อเช็คข้อมูลข่าวสาร และสามารถส่งต่อคอนเทนท์ได้ง่าย
    - จะเปิดทีวีทิ้งไว้เกือบตลอดวัน และ 61% ไม่ค่อยเปลี่ยนช่อง(ส่วนหนึ่งให้เป็นเพื่อนคลายเหงา) จึงยังเป็น “สื่อดั้งเดิมที่ยังคงทรงอิทธิพลต่อผู้สูงอายุ” และมาอันดับ 2 ที่ 24%
    - เฟซบุ๊คนั้นมีการใช้ 16% เป็นอันดับ 3เพราะใช้งานได้ยากกว่าไลน์ และที่สำคัญแชร์แล้วไม่รู้ว่าคนอื่นจะเห็นไหม
    - หนังสือพิมพ์นั้น อ่านน้อยลงกว่าแต่ก่อนมากเพราะตัวหนังสือขนาดเล็กอ่านยาก
    - สื่อวิทยุ ก็จะเปิดฟังเฉพาะตอนอยู่บนรถเท่านั้นส่วนบิลบอร์ดนั้น ยิ่งไม่ค่อยเห็นเพราะออกจากบ้านน้อยลง

ผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับข้อสรุปดังกล่าว โดยเฉพาะในเรื่องของ ทีวี ซึ่งผมยังดูอยู่เป็นประจำ แต่ลูกสาวไม่ดูเลยเป็นต้น แต่ที่สำคัญคือ นับวันจะเน้นสาระมากกว่าความบันเทิงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และเห็นด้วยกับที่คณะผู้วิจัยที่สรุปว่าการสื่อสารที่มีประสิทธิผลนั้น จะต้อง “โดนใจ” กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งในกรณีผู้สูงอายุนั้นจะต้อง

    - มีเนื้อหาที่มีประโยชน์ เช่น ข่าวสาร และข้อมูลความรู้ หรือข้อมูลทางวิชาการ
    - แต่ Less is more กล่าวคือ เนื้อหาต้องลดทอนให้สั้น กระชับ (คนกลุ่มนี้จะดู วิดีโอ ที่ยาวเพียง 30 วินาที เท่านั้น)
    - เลี่ยงคอนเทนท์ ที่ทำให้รู้สึกว่าแก่ ซึ่งเรื่องนี้ ผมมีข้อสังเกตว่า เมื่อใดที่มีบทความเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ก็จะต้องมีรูปคนแก่ถือไม้เท้า ใส่แว่น เดินตัวค่อม และ ผมขาว หรือ หัวล้าน ทุกครั้งไป เสมือนว่า ผู้สูงอายุคือผู้ที่สุขภาพอ่อนแอใกล้ตาย ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องที่ผู้ทำโฆษณา น่าจะทบทวนแนวคิดในการสื่อสาร เช่นนี้ เพราะคนที่อ่อนแอ ย่อมจะไม่อยากทำกิจกรรม หรือต้องการซื้อสินค้าและบริการอะไรมากนัก

การทำการตลาดและสื่อสารกับผู้สูงอายุนั้น จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสังคมไทยกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ดังเห็นได้จาก ตัวเลขที่ปรากฏในตารางข้างล่าง ซึ่ง เป็นการประเมินเบื้องต้น และอาจมีความคลาดเคลื่อนได้บ้าง เช่น บางหน่วยงานก็ประเมินว่า ประชากรไทย ในปี 2018 มีรวมทั้งสิ้น 68 ล้านคน แต่ข้อมูลของสภาพัฒน์ฯ ประเมินเอาไว้ที่ 65.7 ล้านคนในขณะที่ มหาวิทยาลัยมหิดลประเมินเอาไว้ที่ 66.2 ล้านคน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่าในช่วง 40 ปี จากปี 2000 ถึง 2040 นั้น ประชากรผู้สูงอายุ (60 ปี ขึ้นไป) เพิ่มขึ้น จาก 5.53 ล้านคน มาเป็น 20.52 ล้านคน เป็นกลุ่มประชากร (ตลาด) ที่โตเร็วที่สุด หากดูจากปัจจุบันคือปี 2018 ที่มีกลุ่มนี้ 11.68 ล้านคน ก็จะเห็นได้ว่า ขยายตัวสูงเกือบเท่าตัว ในขณะที่กลุ่มอื่น ๆ ทุกกลุ่มนั้นขนาดของตลาดหดตัวลง ดังนั้น หากไม่สามารถสื่อสารกับกลุ่มนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้าไปได้อย่างมาก

ในทางตรงกันข้าม กลุ่มที่จำนวนลดลงอย่างมาก คือ เด็กอายุแรกเกิด ถึง 14 ปี จาก 11.08 ล้านคนในปี 2018 เป็น 8.17 ล้านคน ในปี2040 แต่ในกรณีนี้ ก็เป็นไปได้ว่า พ่อ-แม่ มีลูกจำนวนน้อยคนลง จะเน้นคุณภาพและทุ่มเทให้ลูกมากขึ้นไปอีก(ลูกบังเกิดเกล้า) ซึ่ง น่าจะแปลว่า สินค้าและบริการจะต้องเน้นคุณภาพ ไม่ใช่ปริมาณ และอีกกลุ่ม ซึ่งหดตัวลงอย่างมาก คือ กลุ่มวัยรุ่น วัยเรียน ระดับสูง อายุ 15-24 ที่ลดลงจาก 8.92 ล้านคน มาเหลือเพียง 6.75 ล้านคน ซึ่งหากขณะนี้ มหาวิทยาลัยหลายแห่ง ยังบ่นว่ามี่จำนวนนักศึกษาลดลง (เพราะมีการเปิดสถาบันศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา) ก็จะยิ่งประสบปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างมากในอนาคต

นอกจากนั้น กลุ่ม อายุ 40-60 ซึ่ง น่าจะเป็นกลุ่มที่กำลังมีรายได้สูง และมีความต้องการใช้จ่ายสูงตามไปด้วย ก็ยังมีจำนวนลดลงมิได้เพิ่มขึ้น จึงจะทำให้ความต้องการสินค้าและบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องลดลงไปด้วย เช่น การใช้การบริการขนส่ง เพื่อการเดินทางไปทำงาน หรือแม้กระทั่งการซื้อรถยนต์ราคาแพงที่สมรรถนะสูง เป็นต้น

ประเด็นสุดท้าย คือ กลุ่มที่มีจำนวนมากที่สุด ในประชากรของไทย(mode) ก็จะมีอายุสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ในปี 2000 กลุ่มนี้ อายุ 25-34 ปี มีจำนวน 10.25 ล้านคน (กลุ่มทำงาน+เที่ยว) แต่มาถึงปี 2018 คนส่วนใหญ่ (10.53 ล้านคน) จะอายุ 45-54 ปี(มีรายได้สูง แต่มีรายจ่ายสูง และต้องการดูแลตัวเองมากขึ้น) และในอีกประมาณ 20 ปี ข้างหน้า (ปี 2040 คนส่วนใหญ่ จะอายุ 60-69 ปี (ทำงานน้อยลง รายได้น้อยลง และต้องดูแลสุขภาพตัวเองมากยิ่งขึ้น) ซึ่งน่าจะมีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก

ทั้งนี้ เป็นการอ้างอิงตัวเลขการคาดการณ์ ซึ่งอาจคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงในอนาคตก็ได้ ในกรณีที่

    - รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้มีลูกมากขึ้นในวันนี้ ก็อาจทำให้ประชากรโดยรวมแก่ตัวช้าลง
    - หากให้ชาวต่างชาติอายุน้อยเข้ามาทำงาน และตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ก็จะมีผลในทำนองเดียวกัน
    - ผู้สูงอายุสามารถดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรงโดยการส่งเสริมของรัฐตลอดจนการเลื่อนการเกษียณอายุให้สูงขึ้น ก็จะช่วยทำให้ผลผลิตและกำลังซื้อโดยรวมไม่รับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว
[/size]
โพสต์โพสต์