ธนาคารเวลา/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

ธนาคารเวลา/วิวรรณ ธาราหิรัญโชติ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

    หลังจากเขียนเรื่องของการเตรียมตัวเพื่อการเกษียณอายุงาน และได้พูดถึงเรื่องงานที่จะให้ผู้สูงอายุทำ ก็มีเหตุให้ดิฉันต้องสนทนาเรื่องนี้ในอีกหลายวงสนทนา และหนึ่งในนั้นคือ เรื่องของ “ธนาคารเวลา” ที่จะเขียนถึงในสัปดาห์นี้

    “ธนาคารเวลา” เป็นหนึ่งแนวทางการดูแลประชากรสูงวัย ที่อาศัยบริการจากผู้สูงวัยที่ยังแข็งแรง ช่วยดูแลผู้สูงวัยที่อ่อนแอกว่า และเก็บสถิติเวลาสะสมไว้ เสมือนหนึ่งเราออมเงินในบัญชีธนาคารของเรา  โดยเวลาในการดูแลผู้สูงวัยอื่นที่ฝากเอาไว้ สามารถถอนมาใช้ได้เมื่อเราต้องการ เช่น ยามต้องการเพื่อนคุย ยามล้มป่วย หรือเมื่อช่วยตัวเองไม่ได้ และไม่มีญาติพี่น้องหรือคนใกล้ชิดที่สามารถมาดูแลได้ โดยผู้ร่วมโครงการ จะเป็นทั้ง “ผู้ให้” และ “ผู้รับ”

    แนวคิดเรื่องธนาคารเวลา ซึ่งรับฝากเวลาแทนเงิน (ส่วนของข้อมูลเกี่ยวกับประวัติของธนาคารเวลาในญี่ปุ่น เรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก ของ Elizabeth Jill Miller ที่เสนอต่อ Australian National University เมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ. 2008) เริ่มครั้งแรกในโลกเมื่อปี 1973 โดยกลุ่มแม่บ้านในโอซาก้า นำโดย เทรุโกะ มิซุชิมะ อยากสร้างสกุลเงินที่สามารถนำมาแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในชุมชนได้  โดยงานทุกอย่างจะถือว่าเท่าเทียมกัน และคิดตามระยะเวลาที่ทำทั้งหมด ซึ่งเวลาที่ฝากไว้นี้ อาจจะใช้เลย หรือสะสมไว้ใช้ในภายหลังได้ เธอให้เหตุผลว่าคนที่ลำบากจะได้มีงานทำและอยู่รอด ทั้งยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และได้รับความนับถือจากคนอื่นในสังคมด้วย เนื่องจากหลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ประชากรญี่ปุ่นเกิดความยากลำบาก และความไม่มั่นคงในชีวิตเป็นอย่างมาก

    คุณเทรุโกะ เขียนแนวคิดนี้ เรียกว่า “Time Bank” หรือ “ไทมุ บางขุ” (taimu banku) ชนะการประกวดและได้ลงหนังสือพิมพ์ตั้งแต่ปี 1950 และเผยแพร่แนวคิดสู่สาธารณะทั้งเป็นบทความทางหนังสือพิมพ์ ทางวิทยุและโทรทัศน์ โดยเธอให้เหตุผลว่า ผู้สูงวัยที่ผ่านสงครามมา(ซึ่งในตอนนั้นยังมีจำนวนไม่มาก) ผ่านความยากลำบากมามาก และสมควรได้รับการดูแลจากสังคม โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้รับประโยชน์จากการพัฒนาประเทศ ดังนั้น นอกจากจะแลกเวลากันเองแล้ว สมาชิกวัยกลางคนจนถึงวัย 60 ปี ควรสละเวลาสัปดาห์ละ 2 ชั่วโมงเพื่อมาดูแลผู้สูงวัยเหล่านี้ด้วย

    อย่างไรก็ดี เธอไม่ได้ลงมือทำจนกระทั่งลูกๆของเธอแต่งงานมีครอบครัวไป และเธอมีเวลามากขึ้น จึงเกิดการแลกเปลี่ยนแรงงานระหว่างสมาชิกขึ้น งานทุกอย่างเป็นงานอาสาสมัคร และพอถึงปี 1979 กลุ่มของเธอของมีสาขาอยู่ในทุกจังหวัดของประเทศญี่ปุ่น

    ในช่วงทศวรรษ 1980 เกิดธนาคารเวลาในการดูแลผู้สูงวัย และเนื่องจากจำนวนผู้สูงวัยในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จึงเริ่มมีการออมทั้งเวลา และอาจคำนวณเป็นเงินจำนวนหนึ่งด้วย

    รัฐบาลญี่ปุ่น ได้เข้ามาสนับสนุนแนวคิดในเรื่องนี้ เพราะเล็งเห็นปัญหาของสังคมสูงวัย มีการสนับสนุนให้จัดตั้งกลุ่มเหล่านี้ขึ้นทั่วประเทศ แต่ก็มีอาสามสัครส่วนหนึ่งเกิดความกังวลว่า ในอนาคตอาจจะไม่สามารถ ขอเบิกเวลามาใช้ โดยให้คนอื่นมาดูแลได้ แต่เมื่อมีอาสาสมัครเพศชายเข้ามาช่วยตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 ซึ่งเป็นจุดที่ฟองสบู่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นแตก สถานการณ์ก็ดีขึ้น

    ผู้มีบทบาทในการสนับสนุนให้เกิด ธนาคารเวลาอย่างเป็นรูปธรรมในญีุ่ป่น คือ คุณซุโตะมุ ฮอตตะ อดีตผู้พิพากษาและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กับคุณ ไคอิชิ ทากาฮาตะ ซึ่งตั้งองค์กรธนาคารเวลาขึ้น หลังจากที่ทั้งสองท่านเกษียณ โดยผู้ชายสูงวัย สามารถเป็นผู้ดูแลผู้อื่นได้ด้วย

    ญี่ปุ่นจึงเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการ “ธนาคารเวลา” เป็นหนึ่งในวิธีการรับมือกับสังคมสูงวัย

    ในปี ค.ศ. 2012 สวิสเซอร์แลนด์ได้เริ่มมีธนาคารเวลาเพื่อรับมือกับประชากรสูงวัยเช่นกัน โดยเริ่มที่เมือง St. Gallen ณ ขณะนั้น สวิสเซอร์แลนด์มีประชากรสูงวัย (อายุเกิน 65ปี) 1 คนในจำนวนประชากร 6 คน

    ในขณะที่ประเทศจีน ก็เป็นประเทศที่กังวลเรื่องสังคมสูงวัย เพราะการใช้นโยบายลูกคนเดียว ทำให้จำนวนประชากรวัยทำงาน เข้าสู่จุดสูงสุดในระยะเวลาสั้นมาก และปัจจุบัน ประชากรวัยทำงานเริ่มลดลง จีนก็เตรียมตัวเข้าสู่สังคมสูงวัยเช่นเดียวกัน ที่มณฑลเจียงซู โดยเมืองหนานจิง เปืนเมืองแรกของมณฑลนี้ที่นำ “ธนาคารเวลา”มาดำเนินการในปี 2015 ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ สหราชอาณาจักร นำมาใช้เช่นกัน

    ในสหรัฐอเมริกา ก็มีการนำมาใช้ เช่นกัน แต่ดิฉันค้นไม่พบว่า นำมาใช้ในปีไหน

    ล่าสุด ฮ่องกง เริ่มใช้ “ธนาคารเวลา”ในปี 2017 หรือในปีที่แล้ว

    หลายประเทศในตะวันตก เช่นในสหรัฐอเมริกา การใช้ธนาคารเวลา จะใช้เป็นรูปแบบของ Time Credit และสามารถนำไปใช้แลกเปลี่ยนเป็นสินค้าหรือบริการ หรือเป็นทริปไปพักผ่อนได้ ถือเป็นการผสมผสานเข้ากับบริการอื่นๆที่ผู้สูงวัยต้องการ

    สำหรับประเทศไทย เมื่อกลางปีที่แล้ว มีข่าวว่า กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังศึกษาเพื่อนำรูปแบบมาปรับใช้กับประเทศไทย โดยในปัจจุบัน ไทยมีโครงการอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน (อผส.) อยู่แล้ว แต่ยังไม่มีการให้ผู้สูงอายุมาช่วยดูแลผู้สูงอายุคนอื่นค่ะ

    ประโยชน์ของการอาสาสมัครในโครงการ “ธนาคารเวลา” ในด้านของผู้สูงวัยที่เป็นผู้อาสา คือ มีงานทำ ไม่เหงา ได้ทำประโยชน์ มีสังคม และมีการเรียนรู้เรื่องการสูงวัย ทำให้สามารถเตรียมตนเองเพื่อรับมือกับภาวะสูงวัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ดีขึ้น การดูแลอาจจะเป็นการดูแลให้ใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เข็นรถเข็นพาผู้สูงวัยไปเดินเล่น พาไปซื้อของ พาไปพบแพทย์ตามนัด พาไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ฯลฯ แต่ก็จะมีส่วนที่ช่วยบริบาลผู้สูงวัยด้วยค่ะ

    สำหรับประเทศ “ธนาคารเวลา”จะแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะดูแลผู้สูงวัย เพราะโดยทั่วไป การดูแลผู้สูงวัยหนึ่งคน จะใช้คนดูแลถึงสองคน

    ก็หวังจะให้เกิดขึ้นเร็วๆนะคะ
[/size]
โพสต์โพสต์