บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม
-
Thai VI Article
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1593
- ผู้ติดตาม: 2
|0 คอมเมนต์
โค้ด: เลือกทั้งหมด
การเปิดเผยรายชื่อผู้ที่อยู่ในข่ายเป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีคนกลางก่อนหน้านี้ ทำให้เกิดคำถามถึงวัตถุประสงค์และอาจคิดต่อไปถึง “หลุมพราง” ทางการเมือง เพราะหลังจากที่มีการประกาศรายชื่อแล้ว มีผู้ทรงคุณวุฒิส่วนหนึ่งต่างทยอยออกมาแสดงจุดยืนและความสนใจ พร้อมปฏิเสธถึงความเป็นไปได้ต่อตำแหน่งทางการเมืองดังกล่าวทันที
แม้ว่าการยึดมั่นในแนวคิดและหลักการการลงทุน VI จะมีความสำคัญอย่างมาก แต่การปฏิบัติให้เกิดผลจริงก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน บนเส้นทางลงทุนของนักลงทุน VI แต่ละคนจึงอาจพบ “หลุมพราง” หรือ “กับดัก” ในการลงทุนดังต่อไปนี้
ข้อแรก ซื้อแล้วไม่ขาย แม้วอร์เรน บัฟเฟตต์ นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในแนวทาง Value Investing เคยกล่าวไว้ว่า แก่นการลงทุนคือ “การลงทุนในกิจการที่ยอดเยี่ยมในราคายุติธรรม แล้วถือไว้ให้นานที่สุดหรือหากเป็นไปได้ก็ถือไว้ตลอดชีวิต” ก็ตาม นักลงทุนต้องไม่ลืมว่า หากหุ้นที่ถือนั้น “ไม่ใช่” Super Stock ที่มีคุณสมบัติได้เปรียบในการแข่งขันอย่างยั่งยืนแล้ว ผลประกอบการในอนาคตอาจไม่โดดเด่นทำให้มูลค่ากิจการไม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างที่เคยเป็นมา นักลงทุนจึงควรพิจารณาเลือกลงทุนในกิจการที่โดดเด่นกว่าทั้ง “คุณภาพ” และ “ศักยภาพ” เพื่อผลตอบแทนที่เติบโตอย่างมั่นคงกว่าในระยะยาว กรณีที่ราคาหุ้นสูงขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐานมาก และพบกิจการที่ยอดเยี่ยมกว่าแต่เงินลงทุนมีจำกัด นักลงทุนจึงควรพิจารณาขายเพื่อซื้อหุ้นที่ดีกว่าเช่นกัน
การยึดติดคำพูดที่ว่า “ไม่ขายไม่ขาดทุน” คือกับดักการลงทุนชนิดหนึ่ง หากเห็นว่าเป็นการวิเคราะห์ผิด หรือพื้นฐานของกิจการเปลี่ยนแปลงจนทำให้ผลประกอบการไม่เป็นดังคาดอีกต่อไป นักลงทุนต้องตัดใจขายหุ้นเพื่อแสวงหาโอกาสผลตอบแทนที่ดีกว่า แทนการเลือกขายหุ้นดีมีกำไรแต่เก็บไว้เฉพาะหุ้นเน่าที่ยังขาดทุนอยู่ ดังคำเปรียบเปรยที่ว่า “เลือกเด็ดดอกไม้แต่เก็บวัชพืชไว้”
ข้อสอง ลงทุนหุ้น 100% ตลอดเวลาโดยไม่ถือเงินสด นักลงทุน VI ไทยส่วนใหญ่มักเลือกถือเงินสดในมือน้อยเพราะมั่นใจว่าหุ้นที่ตนถืออยู่เป็นกิจการที่ดีและราคาหุ้นยังมีโอกาสที่จะปรับเพิ่มสูงขึ้น และยังจ่ายเงินปันผลในอัตราที่ดีกว่าผลตอบแทนดอกเบี้ยเงินฝาก อย่างไรก็ตาม วอร์เรน บัฟเฟตต์ ยังเลือกถือเงินสดมากถึงสี่หมื่นล้านเหรียญสหรัฐด้วยความเชื่อที่ว่ามีโอกาสลงทุนในตลาดหุ้นเสมอ และเขามักใช้เงินสดดังกล่าวเข้าลงทุนยามตลาดหุ้นหรือกิจการที่ยอดเยี่ยมประสบภาวะวิกฤติชั่วคราวนั่นเอง
การจัดสรรสัดส่วนระหว่างการถือเงินสดและการถือหุ้นนั้นไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว การเลือกถือหุ้น 100% ตลอดเวลานั้นหากมีโอกาสลงทุนที่ยอดเยี่ยม นักลงทุนจะมีทางเลือก 3 ทางได้แก่ หนึ่ง อยู่เฉยๆ ปล่อยให้โอกาสนั้นผ่านไป สอง กล้าตัดสินใจขายหุ้นที่ถือเพื่อสับเปลี่ยนหุ้น และสาม ยอมรับความเสี่ยงเพิ่มจากการใช้วงเงินกู้มาร์จิ้น นักลงทุนแต่ละคนต้องพิจารณาเลือกกลยุทธ์ให้เหมาะกับความสามารถในการเลือกหุ้นและความสามารถในการรับความเสี่ยงของตน
ข้อสาม ซื้อหุ้นเพื่อให้มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ หลังปิดสมุดทะเบียนบริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีจำนวนหุ้นมากกว่า 0.5% ของหุ้นทั้งหมด การมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่แม้ส่งผลทางจิตวิทยานำความภูมิใจให้กับนักลงทุนนั้น แต่จะไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงต่อผลประกอบการของบริษัทเพราะปัจจัยพื้นฐานของกิจการยังขึ้นอยู่กับสินค้าและบริการ โครงสร้างและรูปแบบธุรกิจ ตลอดจนความสามารถของผู้บริหาร ซึ่งราคาหุ้นจะตอบสนองกับผลประกอบการที่เกิดขึ้นเท่านั้น
หากไม่ใช่นักลงทุนที่พอร์ตใหญ่ การซื้อหุ้นเพื่อติดผู้ถือหุ้นรายใหญ่คงทำได้เพียงหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก หากกิจการนั้นเมีศักยภาพในการแข่งขันและยังเติบโตต่อเนื่องยาวนาน นี่คือโอกาสที่จะเพิ่มความมั่งคั่งได้อย่างดี แต่หากเป็นกิจการคุณภาพปานกลางไม่โดดเด่น การเข้าลงทุนในสัดส่วนที่มีนัยสำคัญของพอร์ตนั้นจะมีความเสี่ยงด้านผลประกอบการ สภาพคล่องของหุ้นและราคาหุ้นเมื่อต้องการขาย นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับความเสี่ยงและผลตอบแทนมากกว่าการมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่
ข้อสี่ ซื้อขายหุ้นตามผู้บริหาร ข้อมูลรายวันของแบบรายงานการเปลี่ยนแปลงการถือหลักทรัพย์ของผู้บริหาร (แบบ 59-2) ส่งผลต่อจิตวิทยาการตัดสินใจซื้อขายหุ้น แม้การซื้อหุ้นของผู้บริหารมีแนวโน้มเชิงบวก นักลงทุนต้องพิจารณาขนาดธุรกรรมว่ามีนัยต่อความมั่งคั่งโดยรวมของผู้บริหารมากน้อยเพียงใด ผู้บริหารมีสัดส่วนลงทุนหุ้นต้นทุนต่ำก่อนหน้ามากน้อยเพียงใด หากติดตามแบบ 59-2 จะพบว่า ยังมีรายงานที่ผู้บริหารท่านหนึ่งซื้อขณะที่อีกท่านหนึ่งขายหุ้นในระดับราคาใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังพบว่าการซื้อขายหุ้นของผู้บริหารนั้นมักไม่มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการขึ้นลงราคาหุ้นนัก ส่วนการขายหุ้นของผู้บริหารนั้นอาจมาจากหลายสาเหตุ จึงไม่ควรสรุปว่า กิจการนั้นจะเริ่มไม่ดีเสมอไป นักลงทุนไม่ควรนำปัจจัยนี้มาใช้ในการตัดสินใจลงทุน
การตัดสินใจซื้อขายหุ้นตามนักลงทุนรายใหญ่ที่มีชื่อติดผู้ถือหุ้นรายใหญ่นั้น อาจเป็นหลุมพรางการลงทุนอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะกว่าที่รายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่จะได้รับการเปิดเผย นักลงทุนรายใหญ่นั้นอาจเข้าลงทุนก่อนหน้าด้วยต้นทุนต่ำกว่าและมี Margin of Safety มากกว่า นักลงทุนจึงควรตัดสินใจลงทุนตามพื้นฐานของกิจการ ณ ราคาที่เหมาะสมโดยไม่นำปัจจัยผู้บริหารหรือนักลงทุนรายใหญ่มาเป็นองค์ประกอบหลักเพื่อตัดสินใจลงทุน
หลุมพราง VI ที่เหลือมีอะไรอีกบ้าง ในบทความครั้งหน้า เราจะได้สรุปกันต่อ โปรดติดตามนะครับ
[/size]
-
ลูกหิน
- Verified User
- โพสต์: 1217
- ผู้ติดตาม: 0
|0 คอมเมนต์
ขอบคุณมากครับ
-
theenuch
- สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
- โพสต์: 1735
- ผู้ติดตาม: 0
|0 คอมเมนต์
ขอบพระคุณค่ะ
-
Seattle
- Verified User
- โพสต์: 1119
- ผู้ติดตาม: 0
|0 คอมเมนต์
หลุมพราง VI (2/2)/ธันวา เลาหศิริวงศ์
จากบทความที่แล้ว เรากล่าวถึงหลุมพราง VI สี่ข้อได้แก่ หนึ่ง ซื้อแล้วไม่ขาย สอง ลงทุนหุ้น 100% ตลอดเวลาโดยไม่ถือเงินสด สาม ซื้อหุ้นเพื่อให้มีรายชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และสี่ ซื้อขายหุ้นตามผู้บริหาร มาดูกันว่าหลุมพรางที่พบบ่อยมีอะไรอีกบ้าง
ข้อห้า เปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุนกันผู้อื่น เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่สังคมนักลงทุน VI ได้รับการยอมรับมากขึ้น มีการพบปะกันบ่อยขึ้น มีช่องทางติดต่อและแชร์ข้อมูลกันมากขึ้น เมื่อมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านผลตอบแทน นักลงทุนต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการรับฟังข้อมูลและการนำมาเปรียบเทียบ เพราะข้อจำกัดและเงื่อนไขการลงทุนที่เกิดจากขนาดของพอร์ต ความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมและกิจการที่เลือกลงทุน กลยุทธ์ที่รับความเสี่ยงมากขึ้นทั้งการใช้มาร์จิ้นหรือชอร์ตเชล ล้วนเป็นตัวอย่างขององค์ประกอบที่ทำให้เปอร์เซ็นต์ผลตอบแทนต่อปีแตกต่างกันได้ นอกจากนี้ผลตอบแทนของแต่ละคนอาจเป็นการคำนวณอย่างหยาบและไม่ได้รับการตรวจสอบความถูกต้องซึ่งอาจเกิดความผิดพลาดแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจในการนำเสนออีกด้วย
การเปรียบเทียบผลตอบแทนการลงทุนกับผู้อื่น อาจทำให้ไม่พอใจและไม่มีความสุขในการลงทุน ซึ่งเป็น “หลุมพราง” นำไปสู่การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ลงทุนที่ไม่เหมาะกับแนวทางการลงทุนของตน เช่น ยอมรับความเสี่ยงมากขึ้น เริ่มลงทุนนอกขอบข่ายความรู้ของตน ตัดสินใจซื้อขายหุ้นและเล่นรอบบ่อยครั้งขึ้น เป็นต้น ข้อแนะนำสำหรับผู้ที่ไม่พอใจผลตอบแทนของตนที่ได้รับ คือ เพิ่มศักยภาพการลงทุนของตนด้วยการศึกษาและเรียนรู้เพิ่มเติมเพราะนี่คือการเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุนที่ยั่งยืนกว่า
ข้อหก มั่นใจมากจึงถือหุ้นน้อยตัวเกินไป หรือ ไม่มั่นใจจึงถือหุ้นมากเกินไป (Over/Under Confidence) แม้นักลงทุนที่ดีต้องมีความมั่นใจในการตัดสินใจลงทุน แต่การถือหุ้นเพียง 1-2 ตัวอาจเป็นการให้ความสำคัญกับความเสี่ยงน้อยเกินไป แม้ธุรกิจที่ยอดเยี่ยมและมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีความเสี่ยงเลยและยังอาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ การถือหุ้นน้อยตัวเกินไปยังอาจทำให้เกิดความกังวล ไม่สบายใจและไม่มีความสุขกับการลงทุนอีกด้วย ส่วนนักลงทุนเลือกถือหุ้นกว่า 15-20 ตัวนั้น แม้จะเป็นการกระจายความเสี่ยงแต่ก็เป็นการบ่งบอกถึงความสามารถในการคัดเลือกหุ้น ความมั่นใจที่จะตัดหุ้นที่คุณภาพด้อยกว่าออก ข้อเสียของการถือหุ้นมากตัวเกินไปคือ ข้อจำกัดด้านเวลาในการติดตามข้อมูลของแต่ละกิจการเชิงลึกนั่นเอง
นักลงทุนควรกำหนดกรอบการลงทุน (check list) ที่เหมาะกับตนเอง อุตสาหกรรมและกิจการที่เข้าใจดีและเข้าข่ายการลงทุนของตน ขนาดกิจการทั้งด้านมูลค่ากิจการ ยอดขายหรือกำไร สัดส่วนลงทุนเช่น หากไม่กล้าตัดสินใจซื้อหุ้นนั้นอย่างน้อย 10% ของพอร์ตก็จะไม่เข้าลงทุนเป็นต้น นักลงทุนแต่ละคนจะรู้ดีว่า จำนวนหุ้นและสัดส่วนการซื้อหุ้นแต่ละตัวที่เหมาะกับตนเป็นอย่างไร
ข้อเจ็ด ลืมตัวชั่วคราว สิ่งที่ยากที่สุดในการลงทุนคือ การนำหลักการมา “ปฏิบัติ”ให้เกิดผลจริง เพราะนักลงทุนจะได้รับสิ่งเร้าจากภายนอกจนอาจทำให้เกิดสภาวะลืมตัวชั่วคราว เช่น เล่นรอบซื้อถูกขายแพงเพื่อทำกำไรระยะสั้นเช่นเดียวกับคนรอบข้าง กลัวตกรถจึงไล่ซื้อหุ้นโดยไม่รอราคาให้มี Margin of Safety เพียงพอ ซื้อขายหุ้นจากคำแนะนำการลงทุนจากงานสัมมนาหรือรายการวิทยุโทรทัศน์จนเกิดพฤติกรรมหมู่ (Herding) ตัดสินใจซื้อขายหุ้นเมื่อบริษัทประกาศผลประกอบการออกมาดีมากหรือแย่มากโดยไม่ศึกษารายละเอียด เป็นต้น นี่คือตัวอย่างที่ล้วนเป็นหลุมพรางทำให้นักลงทุน VI ไขว้เขวจากแนวทางการลงทุนของตน คำแนะนำก็คือ นักลงทุนจะต้องมี “สติ” และมี “วินัย” ในการลงทุนเสมอ การอยู่ห่างตลาดและสิ่งเร้าบ้างจะเป็นการช่วยให้ยึดมั่นในแนวทาง VI ของตนได้วิธีหนึ่ง
ข้อสุดท้าย ลืมเป้าหมายการลงทุน นักลงทุน VI ล้วนมีเป้าหมายในการลงทุนของตน เช่น การตั้งเป้าหมายผลตอบแทนการลงทุน 12-15% ต่อปีเพื่อสร้างความมั่งคั่งควบคู่กับการทำงานประจำ เพื่ออิสรภาพทางการเงินโดยไม่ต้องพึ่งรายได้ประจำ นอกจากนี้เป้าหมายที่ควรมีคือ ความสงบ ความสุข สบายใจและความพอใจกับผลตอบแทนและความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคง
แม้มีนักลงทุนรอบข้างที่เก่ง ขยัน มุ่งมั่นและทุ่มเทเวลาให้กับการลงทุนอย่างมาก นักลงทุน VI ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบนักลงทุนอื่นทุกประการ แต่ควรเลือกนำจุดแข็งมาใช้เพื่อเลือกลงทุนเฉพาะ “เกมที่ตนถนัด” เท่านั้น นักลงทุนต้องไม่ตก “หลุมพรางความมั่งคั่ง” จนลืมความสำคัญของสุขภาพกาย สุขภาพใจ ความสุขในการลงทุน จัดสรรเวลาให้กับคนรักรอบข้าง และทำกิจกรรมที่ตนและครอบครัวชื่นชอบด้วย
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “หลุมพราง” ที่พบบ่อยบนถนนการลงทุน คำแนะนำสำหรับ Value Investor คือการมี “ไดอารี่การลงทุน” เพื่อบันทึกเรื่องราว หลุมพราง ข้อผิดพลาดที่เคยประสบเพื่อเป็นบทเรียนและป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดซ้ำอีก
ในโอกาส “วันมหาสงกรานต์” ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทยปี 2557 นี้ ผมขอส่งความสุขและความปรารถนาดีมายังนักลงทุน VI ผู้อ่านและสมาชิกในครอบครัวทุกท่าน หากต้องเดินทางไกล ก็ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ และยังหวังว่าประเทศไทยจะผ่านพ้น “หลุมพรางทางการเมือง” และออกจากวิกฤติการเมืองเพื่อความรุ่งเรืองของประเทศและความสงบสุขของคนไทยทุกคนในเร็ววัน