สภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ฯ/ดร.ศุภวุฒิ

บทความต่างๆที่ตีพิมพ์ใน ThaiVI คุณสามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม

โพสต์ โพสต์
Thai VI Article
สมาชิกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า
โพสต์: 1593
ผู้ติดตาม: 2

สภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่ฯ/ดร.ศุภวุฒิ

โพสต์ที่ 1

โพสต์

โค้ด: เลือกทั้งหมด

สภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศตลาดเกิดใหม่และไทย    ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นในประเทศตลาดเกิดใหม่ และอัตราแลกเปลี่ยนปรับตัวลงอย่างมากโดยความผันผวนของประเทศอินเดียและอินโดนีเซียเป็นข่าวใหญ่ที่นักลงทุนติดตามอย่างใกล้ชิด ในส่วนของประเทศไทยนั้นก็ดูเสมือนว่าจะมีแต่ข่าวในเชิงลบ เช่น

1. ประเทศไทยเข้าสู่สภาวะถดถอย “ในเชิงเทคนิค” กล่าวคือ เศรษฐกิจหดตัวติดต่อกันสองไตรมาส โดยคำนวณจีดีพีจากไตรมาส 4 มาไตรมาส 1 และไตรมาส 2 ทั้งนี้ ทางการไทยอธิบายว่าเศรษฐกิจขยายตัวสูงมากในปลายปีที่ผ่านมาทำให้มีการชะลอตัวลงบ้างในครึ่งแรกของปีนี้ โดยเชื่อมั่นว่าจีดีพีจะขยายตัวดีขึ้นในครึ่งหลังของปีนี้ เพราะเศรษฐกิจสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่นและจีนมีแนวโน้มดีขึ้น

2. หุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยลดลงถึง 20% จากจุดสูงสุดของปี และราคาหุ้นต้นปีถึงปัจจุบันลดลง 8% ในทำนองเดียวกันเงินบาทปรับค่าลดลงประมาณ 8% ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาและลดลงประมาณ 5% จากต้นปี

3. การส่งออกของไทยขยายตัวต่ำกว่าคาดตลอดในรอบ 18 เดือนที่ผ่านมา กล่าวคือ การส่งออกฟื้นตัวน้อยมากหลังประเทศไทยประสบวิกฤติน้ำท่วมในปลายปี 2011 หากจำได้รัฐบาลเคยเชื่อว่าการส่งออกจะขยายตัว 15% ต่อปีในปี 2012 แต่กลับขยายตัวเพียง 4% และในครึ่งแรกของปีนี้ก็ขยายตัวเพียง 1% (คิดเป็นเงินดอลลาร์) การส่งออกที่ขยายตัวช้าทำให้ปีนี้มีความเป็นไปได้ว่าประเทศไทยจะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด

4. ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการลดทอนคิวอีนั้นย่อมเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดความผันผวนของเศรษฐกิจ อัตราแลกเปลี่ยนและตลาดหุ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศตลาดเกิดใหม่รุนแรงมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วเสียอีกดังที่ได้กล่าวข้างต้น นอกจากนั้นนักลงทุนบางกลุ่มก็ยังมีความเป็นห่วงว่าความกังวลเกี่ยวกับคิวอีนั้นอาจทำกำลังทำให้เกิด negative feedback loop หรือวัฏจักรขาลง กล่าวคือ ความกังวลเกี่ยวกับการลดทอนคิวอีทำให้เกิดการขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวสูงขึ้น (ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปีได้ปรับเพิ่มจาก 1.7% เป็น 2.8% ในปัจจุบัน) ส่งผลให้ดอกเบี้ยระยะยาวของประเทศกำลังพัฒนา เช่นไทย ปรับตัวสูงขึ้นด้วย (พันธบัตรรัฐบาลไทย 10 ปีดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.2% เป็น 4.1%) ซึ่งเป็นผลลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจและการลงทุน นอกจากนี้ การถอนเงินลงทุนจากประเทศกำลังพัฒนาเพื่อดึงเงินกลับไปประเทศพัฒนาแล้วยังซ้ำเติมให้ค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาอ่อนตัวลงอย่างฉับพลันและเมื่อ ธนาคารกลางของประเทศกำลังพัฒนาออกมาตรการต่างๆ มาดูแลเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน ก็ทำให้เกิดข้อกังวลว่าประเทศดังกล่าวจะต้องขายพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่ตนถือเป็นทุนสำรองออกมาเพื่อนำเงินไปแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน แต่การขายพันธบัตรสหรัฐก็จะยิ่งทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับสูงขึ้น ทำให้เกิดการถอนเงินออกจากประเทศกำลังพัฒนาอีกรอบหนึ่ง ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงต่อไปอีก

ขณะนี้ประเทศที่กำลังได้รับผลกระทบมากที่สุดน่าจะเป็นประเทศอินเดีย โดยมีประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาเช่นกันได้แก่ อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ บราซิล ตุรกี นอกจากนั้น ยังได้มีนักวิเคราะห์บางคนกล่าวเตือนว่าประเทศเช่น มาเลเซีย และไทย ก็อาจถูกมองว่ามีความเสี่ยงในทำนองเดียวกัน สำหรับกรณีอินเดียนั้น เป็นกรณีตัวอย่างซึ่งนิตยสารอีโคโนมิสต์ได้วิเคราะห์ไว้อย่างชัดเจนว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากปัจจัยสำคัญ ได้แก่

1. การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียลดลงอย่างมาก จากที่เคยเฉลี่ยปีละ 8% เหลือเพียง 4-4.5% ต่อปีในขณะนี้

2. อินเดียขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงถึง 7% ของจีดีพีเมื่อปีแล้วและแม้คาดว่าจะขาดดุลลดลงเหลือ 4-5% ของจีดีพีในปีนี้ แต่ก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูง

3. อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงประมาณ 10%

4. รัฐบาลขาดดุลงบประมาณสูง

5. ทุนสำรองมีอยู่ 270,000 ล้านดอลลาร์ แต่มีหนี้ระยะสั้นและดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายในปี 2014 เท่ากับ 240,000 ล้านดอลลาร์

เมื่อมีปัจจัยเศรษฐกิจมหภาคดังกล่าวข้างต้นก็จะเห็นได้ว่าทางการอินเดียมีความยืดหยุ่นในการดำเนินนโยบายน้อยมาก กล่าวคือภาระหนี้และดอกเบี้ยในระยะสั้นสูงเกือบเท่ากับทุนสำรอง ค่าเงินจึงตกต่ำ (เงินรูปีลดค่าลงจาก 55 รูปี/ดอลลาร์ มาเป็น 68 รูปี/ดอลลาร์ ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา) และเมื่อเงินรูปีอ่อนค่าก็ทำเงินเฟ้อปรับสูงขึ้น กดดันให้ธนาคารกลางต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น แต่การปรับขึ้นดังกล่าวย่อมจะส่งผลในทางลบกับเศรษฐกิจทำให้ความมั่นใจเสื่อมถอยกดดันให้เงินทุนไหลออก และเมื่อรัฐบาลพยายามออกกฎเกณฑ์จำกัดการนำเงินออกนอกประเทศของคนอินเดีย ก็ทำให้ต่างชาติกลัวว่าจะถูกข้อจำกัดเช่นเดียวกัน จึงรับนำเงินออกทำให้เงินทุนไหลออกอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นที่น่าสนใจคือประเทศไทยมีความเสี่ยงในลักษณะดังกล่าวหรือไม่เพียงใด ซึ่งคำตอบสั้นๆ คือประเทศไทยไม่ได้อยู่ในข่ายของความเสี่ยงดังกล่าว แต่อาจมีจุดอ่อนหลักคือการส่งออกที่ต่ำกว่าคาดอย่างมาก ทำให้ไทยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 และในเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุด ปรากฏว่าการส่งออกนั้นมูลค่าเพียง 19,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้ขาดดุลการค้ามากถึง 2,400 ล้านดอลลาร์ (การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะน้อยกว่านี้มาก เพราะมีรายได้จากบริการท่องเที่ยวและวิธีการคำนวณมูลค่าสินค้านำเข้าที่แตกต่างกัน) กล่าวคือหากการส่งออกของไทยยังทำได้เพียง 19,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือนถึงปลายปีนี้ (แทนที่จะสูงถึง 20,000 ล้านดอลลาร์ต่อเดือน) ประเทศไทยก็จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัดหลายพันล้านดอลลาร์และจีดีพีคงจะขยายตัวต่ำกว่า 4% อย่างแน่นอนและเงินบาทก็อาจจะอ่อนค่าลงไปอีกก็ได้

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าหากการส่งออกของไทยฟื้นตัวได้ดีก็จะตอบโจทย์ทุกประการ กล่าวคือ การส่งออกที่สูงทำให้จีดีพีสูงขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะทำให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะช่วยให้เงินบาทมีเสถียรภาพ ช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อและทำให้ธนาคารกลางไม่จำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น ผมเห็นว่าในสภาวการณ์ที่การส่งออกขยายตัวช้านั้น หากเรากระตุ้นกำลังซื้อในประเทศที่ทำให้ส่งออกได้น้อยลงและนำเข้าเพิ่มขึ้นก็จะยิ่งทำให้การขาดดุลการค้าขยายตัวสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถบรรลุถึงวัตถุประสงค์ที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ประเด็นที่สำคัญคือประเทศไทยไม่มีปัญหาเรื่องหนี้ต่างประเทศ กล่าวคือไทยมีทุนสำรองกว่า 170,000 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่หนี้ต่างประเทศรวมทั้งสิ้น 140,000 ล้านดอลลาร์ เป็นหนี้ระยะสั้นประมาณ 60,000 ล้านดอลลาร์ นอกจากนั้น พันธบัตรรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยรวมทั้งสิ้นประมาณ 6 ล้านล้านบาทนั้น ต่างชาติถือครองประมาณ 740,000 ล้านบาท ทำให้การไหลออกของเงินทุนมีมูลค่าที่จำกัดน้อยกว่าประเทศอื่นๆ เช่น อินเดีย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ต่างชาติถือครองพันธบัตรมีสัดส่วนสูงถึง 30-50% ของพันธบัตรทั้งหมดในประเทศดังกล่าวครับ
ที่มา นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 2/9/56
[/size]
โพสต์โพสต์