โค้ด: เลือกทั้งหมด
Bualuang House View
บลจ.บัวหลวง จำกัด
12 กุมภาพันธ์ 2556
ทีมงานจัดการกองทุนบัวหลวง โดย กร ดุรงคเวโรจน์
ภารกิจพิชิต EM
เมื่อคืนก่อน CEO ของผมส่งการบ้านมาให้ทำ และบอกว่าไม่ต้องรีบ แต่ทำให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง !!! จะได้ไม่ต้องทำงานในช่วงตรุษจีน (ใจดีชะมัด)
การบ้านที่ส่งมาเป็นเรื่องเกี่ยวกับฝรั่งมองตลาดเกิดใหม่หรือ Emerging Market – EM ว่าจะเป็นอย่างไรในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งคำว่า “ตลาดเกิดใหม่” หรือ Emerging Market – EM ตามนิยามของธนาคารโลก ก็คือประเทศที่มีรายได้ประชาชาติต่อหัวไม่เกิน 11,456 ดอลลาร์ หรือประมาณ 350,000 บาท/ปี
CEO เคยบอกว่า หมั่นไส้ฝรั่งที่มาตั้งชื่อประเทศอื่นๆ เป็นตลาดเกิดใหม่ ทั้งๆ ที่หลายประเทศในตะวันตกที่เรียกตนเองว่าพัฒนาแล้วก็เพิ่งจะเกิดมาไม่นาน อย่างสหรัฐอเมริกา แถมยังเอาจำนวนเงินมาวัดความเจริญอีกด้วย
ตอนแรกผมก็อ่านอย่างเซ็งๆ เพราะกลับจากออกกำลังช่วงค่ำ แต่อ่านไป อ่านไป เอ๊ะ มันน่าสนใจ เพราะ Mckinsey & Company วิเคราะห์ว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า ตลาดเกิดใหม่จะกลายเป็นโอกาสทางการลงทุนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ทุนนิยมของโลก โดยคาดการณ์ว่า ปริมาณการบริโภคในตลาดเกิดใหม่จะมีมูลค่าเป็น 50% ของการบริโภคทั้งโลกภายในปี 2568 หรือคิดเป็นเม็ดเงินมหาศาลกว่า 30 ล้านล้านเหรียญสหรัฐต่อปี (2 เท่าของ GDP สหรัฐในปี 2012) ดังนั้น ตลาดเกิดใหม่จึงเป็นตลาดที่ธุรกิจทั่วโลกจะต้องจับตามองและหาทางเข้าร่วมให้ได้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคในตลาดเกิดใหม่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมาก และเป็นสมรภูมิซึ่งยังไม่มีการจับจองอย่างถาวรหรือมีผู้ชนะดังเช่นในตลาดพัฒนาแล้ว
ในอดีตที่ผ่านมา บริษัทข้ามชาติส่วนใหญ่มองตลาดเกิดใหม่เป็นเพียงแหล่งกระจายสินค้าของบริษัท เนื่องจากเป็นตลาดที่เล็ก กำลังซื้อไม่มาก และเป็นตลาดที่ยังไม่คุ้นเคย เราจึงมักเห็นแบรนด์ระดับโลกต่างๆ มาตั้งเพียงสำนักงานขายในประเทศตลาดเกิดใหม่ โดยอำนาจตัดสินใจเด็ดขาดมักจะอยู่ที่สำนักงานใหญ่หรือสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในประเทศตลาดพัฒนาแล้ว
แต่ Mckinsey รายงานว่า ในช่วง 5-7 ปีที่ผ่านมา บริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในประเทศตลาดเกิดใหม่นั้นเติบโตเร็วกว่าบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ในประเทศที่พัฒนาแล้วกว่า 200% และโตเร็วกว่าถึง 250% หากทั้ง 2 บริษัทต่างทำธุรกิจในประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งทั้ง 2 บริษัทไม่มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่
เหตุผลแรก มาจากบริษัทในตลาดเกิดใหม่มักมีขนาดเล็กกว่า จากมูลค่าบริษัทเฉลี่ยที่ประมาณ 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบกับขนาดเฉลี่ย 8 พันล้านเหรียญในตลาดพัฒนาแล้ว จึงทำให้เติบโตได้ในอัตราสูงจากฐานที่ต่ำกว่า
เหตุผลที่สอง คือบริษัทในตลาดเกิดใหม่มีอัตราการนำกำไรที่ได้ไปลงทุนต่อ (Reinvestment Rate) สูงกว่าในตลาดพัฒนาแล้ว จากสถิติพบว่า บริษัทในตลาดเกิดใหม่โดยเฉลี่ยมีอัตราการจ่ายเงินปันผลเพียง 39% ของกำไรแก่ผู้ถือหุ้น (เทียบกับ 80% ในตลาดพัฒนาแล้ว) โดยนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเพื่อขยายธุรกิจในอัตราที่สูงกว่า โดยสถิติแล้วบริษัทในตลาดเกิดใหม่มีการหมุนเวียนสินทรัพย์ไปยังโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ได้มากและรวดเร็วกว่าบริษัทในตลาดที่พัฒนาแล้ว 50% ถึง 100% จึงสามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจตามสภาวะเศรษฐกิจในช่วงนั้นๆ ได้ว่องไวกว่า นอกจากนี้ บริษัทในตลาดพัฒนาแล้วมักจะเน้นคุณค่าของแบรนด์สินค้า (Brand Recognition) เป็นหลักซึ่งเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีราคาขายและอัตราการทำกำไรต่อชิ้นสูงกว่า แต่สินค้าเหล่านี้มักจะมีกลุ่มเป้าหมายที่แคบและเจาะจง ในขณะที่บริษัทในตลาดเกิดใหม่มักทำธุรกิจด้วยผลิตภัณฑ์ซึ่งมีต้นทุนในการผลิตต่ำ ราคาขายไม่แพงมาก ซึ่งมักจะเป็นสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของชนชั้นกลางทั่วโลกซึ่งกำลังเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว
ดร.มาร์ค โมเบียส กูรูการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ มักจะเน้นย้ำอยู่เสมอถึงความสำคัญของฐานผู้บริโภคและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดเกิดใหม่ จากฐานประชากรที่มีกำลังซื้อจำนวนมหาศาลและกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากการขยายตัวของชุมชนเมือง (Urbanization) ที่ทำให้รายได้ของประชากรในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการใช้จ่ายบริโภค อาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ มากขึ้นตามลำดับ ประกอบกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เอื้ออำนวยของประเทศในตลาดเกิดใหม่ในปัจจุบันที่มีหนี้สาธารณะในสัดส่วนที่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีอัตราเงินเฟ้อกับอัตราดอกเบี้ยในระดับที่ไม่สูง จึงเหมาะสมแก่การเข้ามาลงทุนเพื่อทำธุรกิจป้อนสินค้าให้กับความต้องการในพื้นที่ ทำให้แหล่งผลิตทรัพยากรหรือสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ เหล่านี้ก็จะมาจากภายในตลาดเกิดใหม่นี่เอง
หากเราดูจากประวัติศาสตร์ทุนนิยมในสหรัฐ เราจะเห็นได้ว่าผู้ชนะจำนวนมากในตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคในศตวรรษที่ 19 ยังคงเป็นผู้ครองตลาดอันดับ 1 หรือ 2 ของตลาดในปัจจุบันแม้จะผ่านมาเกือบ 80 ปีแล้ว อย่างเช่น Kraft Foods ในตลาดบิสกิต อย่าง Del Monte Foods ในอุตสาหกรรมผลไม้กระป๋อง และ Wrigley ในตลาดหมากฝรั่ง โดยผู้เล่นที่ไม่สามารถจับจองพื้นที่ได้ในอดีตต่างก็เลือนหายไปตามกาลเวลา สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความสำคัญของการเข้าสนามแข่งขันให้ถูกเวลา ถูกจังหวะ และพยายามเข้าเส้นชัยก่อนคู่แข่งให้ได้
ดังนั้น Emerging Market จะไม่ใช่เป็นเพียงตลาดที่ “น่าสนใจ” เท่านั้น แต่ยังเป็นตลาดที่ “ต้องสนใจ” ซึ่งบริษัทต่างๆ จะไม่เพียงแค่ทดสอบตลาดอีกต่อไป แต่จำเป็นต้องเข้ามาแย่งชิงเพื่ออยู่รอดในเวทีโลกในระยะยาวให้ได้
ที่น่าสนใจต่อก็คือ ประเทศไทยนั้น เป็นหนึ่งในประเทศตลาดเกิดใหม่ที่ทั่วโลกให้ความสนใจมาตั้งธุรกิจมากที่สุด โดยเมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา Bloomberg ได้จัดอันดับให้ไทยเป็นที่ 3 ของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่น่าลงทุนมากที่สุด รองจากจีนและเกาหลีใต้ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนจากการขยายตัวของ GDP อัตราเงินเฟ้อ อัตราส่วนหนี้สาธารณะ และความง่ายในการเข้าไปทำธุรกิจ
อีกไม่นานนับจากนี้ ธุรกิจในประเทศไทยจะต้องเผชิญบททดสอบที่สำคัญจากการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น ทั้งผู้เล่นในประเทศหน้าเก่าและหน้าใหม่ ผู้เล่นจากประเทศเพื่อนบ้าน และผู้เล่นยักษ์ใหญ่ระดับโลก
นอกจากจะสนใจทำมาค้าขายกันเองแต่ในประเทศแล้ว ธุรกิจจะต้องพยายามขยายกิจการไปยังตลาดเกิดใหม่อื่นๆ เพื่อจับจองส่วนแบ่งเค้กก้อนใหญ่นี้ และธุรกิจที่สามารถยืนหยัดในการแข่งขันครั้งนี้ได้ก็จะกลายเป็นเป็นยักษ์ใหญ่ในเวทีโลกอย่างไม่ต้องสงสัย