โค้ด: เลือกทั้งหมด
กีฬา “โอลิมปิก” ถือเป็นมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ โอลิมปิกฤดูร้อนสมัยใหม่จัดขึ้นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1896 ที่กรุงเอเธนส์ ประเทศกรีซ สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 30 ในปีนี้ มีเมืองสำคัญต่างๆ เช่นกรุงมาดริด นครนิวยอร์ค และกรุงมอสโคที่ผ่านการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ แต่ในที่สุด กรุงลอนดอนเฉือนชนะกรุงปารีสในการตัดสินรอบสุดท้ายและกลายเป็นเมืองแรกในโลกที่เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกถึง 3 ครั้ง ในการแข่งขันครั้งต่อไปในปี 2016 จะจัดขึ้นที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมืองสำคัญที่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพย่อมเป็นเครื่องยืนยันถึง “ศักยภาพ” และความพร้อมทุกด้านของเมืองนั้นในการจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก
มีนักกีฬาทั่วโลกเข้าร่วมชิงชัยใน “ลอนดอน 2012” จาก 26 ชนิดกีฬา รวม 39 ประเภทรุ่น ประเทศไทยส่งนักกีฬา 37 คนเข้าร่วมแข่งขันใน 16 ชนิดกีฬา แบ่งเป็นนักกีฬายกน้ำหนัก 7 คน แบดมินตัน 6 คน มวยสากลสมัคร ยิงปืน และเทคกวนโด อย่างละ 3 คน ที่เหลือมีเพียง 1-2 คนต่อชนิดกีฬา กล่าวกันว่า นอกเหนือจากความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ ความเจริญทางวัตถุ และความเป็นอยู่ทางสังคมของแต่ละประเทศแล้ว นักกีฬาโอลิมปิกยังเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถ สมรรถนะและความแข็งแกร่งทางร่างกายของคนในชาตินั้นด้วย นักกีฬา “ดีกรีเหรียญรางวัลโอลิมปิก” จึงเป็นนักกีฬาที่ดีที่สุดในโลกของแต่ละประเภทรุ่นกีฬา
หากมอง “ความสำคัญ” ของประเทศไทยซึ่งเป็นสมาชิกประเทศหนึ่งของโลก ในด้านสำคัญๆ จะพบว่า ด้านจำนวนประชากร ไทยอยู่อันดับที่ 20 มี 66 ล้านคน หรือ 0.93% ของประชากรโลก รองจากจีน (1,347 ล้านคน, 19%) อินเดีย (1,210 ล้านคน, 17%) สหรัฐอเมริกา (314 ล้านคน, 4.5%) และอินโดนีเชีย (237 ล้านคน, 3.4%) ด้านค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัวประชากร ในปี 2011 ไอเอ็มเอฟได้จัดลำดับไทยอยู่ในอันดับที่ 86 มีรายได้เฉลี่ยที่ 9,400 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี โดยมีประเทศการ์ต้าอยู่อันดับที่หนึ่งที่ 103,294 เหรียญ ตามด้วยสิงคโปร์ (59,711 เหรียญ, 3) ฮ่องกง (49,137 เหรียญ, 5) และมาเลเซีย (15,568 เหรียญ, 58)
ด้านความสามารถในการแข่งขัน สถาบัน IMD ประกาศอันดับล่าสุดประจำปี 2012 โดยไทยหล่นจากอันดับ 27 มาอยู่ที่ 30 จาก 59 ประเทศ โดยฮ่องกงได้คะแนนสูงสุด ตามด้วยสหรัฐอเมริกา (2) สวิสเซอร์แลนด์ (3) สิงคโปร์ (4) มาเลเซีย (14) เกาหลีใต้ (22) จีน (23) อินเดีย (35) อินโดนีเซีย (42) ฟิลิปปินส์ (43) และกัมพูชา (52)
หากเปรียบบริษัทจดทะเบียนไทยเสมือนนักกีฬาคนหนึ่งที่เข้าชิงชัยในกีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ ธุรกิจกลุ่มอาหารและการเกษตรอาจจะคล้ายกับกีฬายกน้ำหนักหรือมวยสากลสมัครเล่น ที่ไทยมี “ศักยภาพ” พอที่จะ “ลุ้น” เหรียญรางวัล บริษัทไทยที่โดดเด่นในเวทีโลกได้แก่ CFP และ TUF ส่วนบริษัท OISHI, S&P, PB, SORKON, TF, TVO, SSC, MALEE, TIPCO และ GFPT นั้นเป็นแชมป์ประเทศไทยที่สามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคในอนาคต
ธุรกิจกลุ่มพลังงาน ปิโตรเคมี วัสดุก่อสร้างและเหล็ก ล้วนเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าตลาดสูง ได้แก่ PTT, PTTEP, PTTGC, BCP, BANPU, GLOW, RATCH, SCC และ SCCC เป็นกิจการที่ประสบความสำเร็จ มีศักยภาพดีเยี่ยมโดยเห็นได้จากส่วนแบ่งการตลาด ขนาดของกิจการ เปรียบเสมือนแชมป์กีฬาแห่งชาติตลอดกาล มีการเติบโตไปในทิศทางเดียวกันเศรษฐกิจของประเทศ แม้บริษัทบางแห่งมีศักยภาพและเริ่มขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ แต่นักลงทุนทั่วโลกก็มีกิจการที่แข็งแกร่งอย่าง Exxon Mobile, Shell, PetroChina, BP หรือ Chevron เป็นทางเลือกในการพิจารณาลงทุนด้วยเช่นกัน
ธุรกิจธนาคาร ธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่และไอซีที คือยอดนักกีฬาชั้นนำของประเทศทั้งสิ้น ได้ผลัดกันสร้างผลงานประทับใจตามความฟิตของตนในแต่ละช่วงเวลา อย่างไรก็ตาม การเปิดกว้างของโลกทุนนิยมโดยอนุญาตให้ผู้เล่นต่างชาติเข้ามาร่วมแข่งขันมากขึ้น ธุรกิจจึงต้องเตรียมรับมือกับการแข่งขันรูปแบบต่างๆ เพื่อป้องกันการแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดภายในประเทศด้วย
ธุรกิจการแพทย์ ธุรกิจค้าปลีกและพาณิชย์ เช่น BGH, BH, KH, RAM, CPALL, BIGC, MAKRO, HMPRO, ROBINS, GLOBAL, IT, SE-ED, JMART หรือ JUBILE ล้วนเป็นแชมป์ประเทศไทยที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวและได้พัฒนารูปแบบธุรกิจให้แข็งแกร่งและต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้เล่นต่างชาติจะเข้ามาแข่งขันกับผู้เล่นปัจจุบัน คงทำได้เพียงการทุ่มทุนมหาศาลเพื่อแปลงสัญชาติของผู้เล่นเท่านั้น ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริง ผู้ถือหุ้นน่าจะมีความสุขจากส่วนเพิ่มราคาหุ้นที่ได้รับ
ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจยานยนต์ เช่น AOT, THAI, AAV, MINT, CENTEL, STANLY, SAT หรือ AH เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจุดเด่น ดังนั้น หากทำให้มีปริมาณนักท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนได้มากขึ้น ธุรกิจจะเติบโตมากกว่าการบริโภคภายในประเทศ จึงเป็นอุตสาหกรรมที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
ที่กล่าวมานั้น ต้องการวิเคราะห์ให้เห็นถึงความแตกต่างของกลุ่มธุรกิจที่มีจุดแข็ง จุดอ่อน ข้อดี ข้อด้อยแตกต่างกันไป นักลงทุนควรศึกษาธุรกิจให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนที่ตั้งไว้แม้อาจเป็นเพียงหุ้นแชมป์ระดับท้องถิ่นก็ตาม นักลงทุนบางคนเลือกลงทุนหุ้นแชมป์เอเชี่ยนเกมส์ หรือหุ้นดีกรีโอลิมปิก เพราะข้อดีของการกระจายความเสี่ยงด้านต่างๆ เช่นความเสี่ยงของประเทศ ที่ตั้ง การเมือง ค่าเงินและอัตราแลกเปลี่ยน และความโปร่งใส ความเสี่ยงดังกล่าวแม้มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย แต่ก็มีโอกาสเกิดขึ้นเช่นกัน Value Investor พันธุ์แท้จึงควรคำนึงถึง “ศักยภาพ” และ “ศักดิ์ศรี” ของแต่ละกิจการในการพิจาณาเข้าลงทุนด้วย